The Art of Water

Sprinkle น้ำดื่มไทยที่เล่นสนุกกับการออกแบบแพ็กเกจจิ้งจนกลายเป็นที่จดจำระดับโลก

เมื่อนึกถึงงานดีไซน์ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ หลายคนอาจคิดถึงการนำ ‘ไอเดีย’ การออกแบบแปลกๆ ใหม่ๆ ไปใช้กับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เทคโนโลยี แฟชั่น และอีกมากมาย 

ผลิตภัณฑ์อย่าง ‘น้ำเปล่า’ น่าจะเป็นสิ่งท้ายๆ ที่ใครจะนึกถึง

อาจเพราะความเคยชินกับขวดน้ำใสแจ๋วที่มองเห็นน้ำบริสุทธิ์ด้านในก็คงเพียงพอแล้วที่เราจะหยิบมันออกจากเชลฟ์วางขายในร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ตโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก

อาจเพราะขวดน้ำดื่มคงไม่ใช่สิ่งที่เราจะกวาดสายตาเพื่อดูความสวยงามของมัน ดังนั้นการลงทุนใส่ความคิดหรือไอเดียเพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างขวดน้ำจึงอาจเป็นเรื่องเสียเวลาเมื่อมองผ่านสายตานักธุรกิจ

แต่ช้าก่อน หากคุณได้เห็น ‘ขวดน้ำ’ ของสปริงเคิล (Sprinkle) บริษัทแบรนด์น้ำดื่มที่อยู่คู่กับคนไทยมากว่า 30 ปี คุณอาจเปลี่ยนความคิดได้

นับตั้งแต่การเข้ามารับไม้ต่อสืบทอดธุรกิจแบรนด์น้ำดื่มสปริงเคิลของครอบครัว เบียร์–กฤตวิทย์ เลาหธนาพร ผู้ที่เรียนจบ Product Design ก็นำวิชาที่ร่ำเรียนมา ‘รีแบรนด์’ น้ำดื่มรุ่นเก๋านี้ให้กลายเป็นแบรนด์ที่ ‘ทันสมัย’ และเต็มไปด้วยลูกเล่น ความสนุก จากการใส่ไอเดียในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงคิดโปรเจกต์สนุกๆ ในการคอลแล็บกับภาคส่วนต่างๆ ผลิตขวดน้ำแบบ ‘ลิมิเต็ด’ ที่ทำให้หลายคนต้องตระเวนหาซื้อมาเก็บไว้ 

ถ้าคุณเคยเห็นขวดน้ำเปล่าคอลเลกชั่น Star Wars หรือคอลเลกชั่น One Piece นั่นคือส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ที่สปริงเคิลเคยทำ

และในวาระที่สปริงเคิลเพิ่งเปิดตัวบรรจุภัณฑ์ใสดีไซน์ใหม่ล่าสุด คอลัมน์ Product Champion จึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเบื้องหลังวิธีคิดโปรดักต์ของแบรนด์น้ำดื่มแบรนด์นี้ เพื่อหาเหตุผลว่าทำไมแบรนด์น้ำดื่มรุ่นเก๋านี้จึงยังคงเต็มไปด้วยไอเดียสดใหม่อยู่เสมอ แม้ผลิตภัณฑ์ที่ขายจะเป็นเพียงผลิตภัณฑ์แสนเรียบง่ายอย่างน้ำเปล่า

จุดเริ่มต้นธุรกิจที่ไม่ได้มาจากน้ำ

จุดเริ่มต้นของธุรกิจสปริงเคิลไม่ได้มาจากเรื่องของ ‘น้ำ’ แต่เป็น ‘นม’

ย้อนกลับไปในอดีต บริษัทมิลค์โก้เป็นบริษัทเทรดดิ้งที่นำเข้านมผง ซึ่งยังไม่สามารถผลิตในประเทศไทยได้ หลังจากนั้นจึงมีการเสนอขายโรงน้ำดื่มบริเวณดอนเมือง ซึ่งบริษัทมองว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ จึงซื้อมาสร้างเป็นสปริงเคิลโดยมี พิสัย เลาหธนาพร เป็นผู้บริหาร และหุ้นส่วนอีกท่านบริหารบริษัทมิลค์โก้แยกการดำเนินธุรกิจเป็นสองขา

ในสมัยนั้นน้ำบรรจุถังจะเป็นถังสีขาวขุ่น แต่ทางสปริงเคิลได้บุกเบิกนำถังใสเข้ามาขาย ขณะที่เจ้าตลาดน้ำถังคือ โพลาริส โดยทางสปริงเคิลเริ่มขายจากกลุ่มโรงงาน ก่อนจะขยับมาขายลูกค้าที่เป็นบ้านที่อยู่อาศัย และเริ่มผลิตเป็นน้ำขวด ทั้งขวดขุ่นและขวดแบบปกติที่พันฉลากสปริงเคิล

หลังดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลานาน และกลายเป็นหนึ่งในเจ้าตลาดน้ำถัง จุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัทก็มาถึง ภายหลังการเข้ามารับไม้ต่อของ เบียร์–กฤตวิทย์ เลาหธนาพร ผู้เป็นลูกชาย ใน พ.ศ. 2553 ที่เรียนจบทางด้าน Product Design และไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าจะต้องมารับไม้ต่อเนื่องจากสุขภาพที่ไม่ค่อยแข็งแรงของผู้เป็นพ่อ 

เบียร์เข้ามารับตำแหน่งกรรมการบริหาร ดูแลฝ่ายการตลาด ในเวลานั้นสปริงเคิลยังไม่ได้เน้นการทำตลาดมากนัก แต่จะเน้นการขายเป็นหลัก โดยมีสินค้าหลักเป็นน้ำถังและน้ำขวด และมี คมยุทธ เมษินทรีย์ เพื่อนของพ่อที่เป็นหุ้นส่วนบริษัทมิลค์โก้เข้ามาช่วยดูเรื่องการบริการจัดส่งน้ำถัง

สองปีแรกในการทำงานเบียร์ใช้เวลาไปกับการเรียนรู้ว่าการทำน้ำถังเป็นยังไง รวมถึงออกไปพบลูกค้ากับทีมขาย ในเวลานั้นมีข่าวว่ามีสองแบรนด์ยักษ์ใหญ่กำลังจะเข้ามาสู่ตลาดน้ำถังด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นแบรนด์ที่ทำน้ำขวดสำเร็จมาแล้วทั่วโลก

นั่นคือโจทย์สำคัญที่ทำให้เบียร์คิดว่า แม้สปริงเคิลจะเป็นผู้นำตลาดน้ำถัง แต่ก็เป็นเพียงแบรนด์เล็ก หากมีแบรนด์ใหญ่เข้ามาจะอยู่รอดได้ยังไง

“เราไม่มีเงินทำการตลาดเยอะแยะ แล้วจะทำยังไงให้อยู่รอดในธุรกิจได้ ผมจึงมาคิดว่าเรารีแบรนด์ดีไหม ให้แบรนด์ดูพรีเมียมขึ้น ทันสมัยขึ้น”

นั่นคือที่มาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยการนำความรู้จากสิ่งที่ร่ำเรียนในสาขา Product Design มาใช้ในการนำเรื่องของการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์มาเป็นตัวขับเคลื่อน และสินค้าที่เบียร์มองว่าเหมาะสมในการนำเสนอเข้ากับไอเดียดังกล่าวคือน้ำขวด เนื่องจากเป็นสินค้าที่เข้าถึงคนง่าย ซื้อในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว น้ำขวดจึงเป็นสินค้าสำคัญที่จะช่วยสร้างภาพจำของแบรนด์ให้คนรู้จัก ซึ่งท้ายที่สุดก็จะสะท้อนกลับมาที่สินค้าอย่างน้ำถังได้เช่นกัน

Sprinkle ‘Red dot Award 2014’
พ.ศ. 2557

ภาพแรกที่คนจำได้จากขวดสปริงเคิลหลังการรีดีไซน์คือขวดรูปทรงผลึก ที่ดูเรียบง่าย แต่มีเอกลักษณ์ ซึ่งเบื้องหลังของการออกแบบไม่ใช่เรื่องง่าย

หลังจากมีไอเดียในการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ เบียร์ทำงานร่วมกับกลุ่มอาจารย์และรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนายกสมาคมนักออกแบบผลิตภัณฑ์ประเทศไทยในเวลานั้นซึ่งเคยทำงานร่วมกันมาก่อน โดยให้ทางทีมทำรีเสิร์ชทั้งในและนอกองค์กร เพื่อออกแบบขวดใหม่มานำเสนอ

โจทย์ในการออกแบบขวดใหม่คือเบียร์มองว่าขวดน้ำดื่มที่เห็นในตลาดเวลานั้นจะมีลักษณะเป็น ‘ปล้อง’ จึงคิดว่าจะออกแบบให้สวยยังไง ไอเดียเขาคือการค้นคว้าว่าปล้องที่ว่าทำมาเพื่ออะไร ซึ่งก็ได้คำตอบว่าปล้องเปรียบเสมือนโครงสร้างกระดูกที่ทำให้ขวดพลาสติกแข็งแรง เพราะหากขวดพลาสติกเรียบจะทำให้โครงสร้างนิ่ม

เมื่อมองเห็นปัญหา เบียร์จึงคิดว่าจะออกแบบยังไงเพื่อหลบปล้องที่ว่า สุดท้ายเขาไม่ได้คำตอบ แต่กลับได้คำถามสำคัญที่ว่า ‘ทำไมไม่เอาปล้องออกให้หมดเลย แล้วออกแบบโครงสร้างปล้องขึ้นมาใหม่’ นั่นจึงเป็นที่มาของขวดผลึกรูปทรงยุคใหม่ของขวดน้ำสปริงเคิล

ไอเดียของรูปทรงขวดใหม่คือการที่ทีมนักออกแบบนำรูปทรงต่างๆ ที่เกี่ยวกับน้ำมาออกแบบเป็นโครงสร้าง เช่น วงกระเพื่อมของน้ำ น้ำแข็ง น้ำตก กระทั่งสรุปได้ว่าโครงสร้างที่เป็นภูเขาน้ำแข็งลงตัวที่สุด 

เบียร์เล่าเกร็ดเล็กน้อยให้ฟังว่า แรกสุดทีมออกแบบทำมาเสนอ 12 แบบ แต่พอเขาเห็นแบบที่เป็นภูเขาน้ำแข็งก็บอกเลยว่า ‘ใช่’ เพียงแต่ในร่างแรกลายภูเขาน้ำแข็งจะมีผลึกที่ถี่กว่า และมีตัวขวดเป็นทรงขวดไวน์ จึงให้การบ้านไปพัฒนาต่อจนออกมาเป็นขวดน้ำทรงที่เราได้เห็น

ขวดน้ำทรงผลึกน้ำแข็งได้รับความสนใจจากความแปลกใหม่ และไปไกลถึงขั้นได้รับรางวัล Best of the Best Packaging Design จากสาขา Packaging Design หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ในเวที Red Dot Award ใน พ.ศ. 2014 หลังจากเอาชนะคู่แข่งอีกนับพันแบรนด์ที่ส่งประกวด

“ผมว่าเราได้รางวัลเพราะเราตีโจทย์ที่โครงสร้าง เนื่องจากแบรนด์ที่ส่งประกวดตัวผลิตภัณฑ์ขวดน้ำในปีนั้นไม่มีใครพูดถึงเรื่องการทำโครงสร้างใหม่ขึ้นมาเป็นการออกแบบแต่ยังมีความเป็นปล้องๆ ริ้วๆ ขวดน้ำของเราจึงใหม่มาก การได้รางวัลเป็นสิ่งที่เกินคาด มันเป็นตัวบ่งบอกว่างานออกแบบที่เราทำได้รับการยอมรับในระดับโลก”


Sprinkle ‘Unlimited Inspiration’
พ.ศ. 2561

แม้สปริงเคิลจะพาขวดผลึกใสดีไซน์ใหม่ไปคว้ารางวัลจากเวทีระดับโลก แต่หลังวางขายไป 2-3 ปีก็ยังมีปัญหาเมื่อวางขายในเซเว่น อีเลฟเว่น เพราะตัวขวดใสมากจนทำให้คนมองไม่เห็นโลโก้จนกลืนไปกับขวดน้ำดื่มของแบรนด์อื่น และนั่นจึงนำมาซึ่งการตั้งคำถามครั้งใหม่ของเบียร์ที่ว่า จะทำยังไงให้ขวดสปริงเคิลเด่นขึ้นมาเมื่ออยู่บนเชลฟ์

“ผมคิดว่าทำไมขวดน้ำต้องใส ถ้าอย่างนั้นเราทำขวดสีไปเลยได้ไหม เพราะคนบอกว่าการมีขวดใสน้ำจะได้ดูสะอาด แต่น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ก็เป็นขวดทึบ คนก็ยังซื้อ แต่จะทำขวดสียังไงให้มันเด่น”

จากโจทย์ดังกล่าวจึงทำให้เบียร์ตามหาดีไซเนอร์ที่เก่งในการใช้สี จนได้รู้จักกับ เอิ้น–ศริญญา ลิมป์ทองทิพย์ ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ SRINLIM และชักชวนให้มาออกแบบในโปรเจกต์ Sprinkle ‘Unlimited Inspiration’ ซึ่งเป็นการทำขวดน้ำ 30 สี จากแรงบันดาลใจต่างๆ เพื่อออกขายทั้ง 12 เดือน ทั้งหมด 6 คอลเลกชั่น

Blossom Me คอลเลกชั่นเกี่ยวกับดอกไม้ในช่วงวาเลนไทน์ ซึ่งแบ่งเป็นสีของดอกไม้ 6 สี 

Blissful Summer คอลเลกชั่นสีของทะเล 6 สี มีชายหาดที่เป็นสีชมพู สีม่วง น้ำทะเลที่สิมิลัน เป็นสีน้ำทะเล สีชายหาดที่เก๋ๆ ก็เอามาทำเป็นสีขวด

Art Collection ที่เป็นการนำภาพศิลปะอันโด่งดัง เช่น โมนาลิซ่า หรือ The Starry Night มาถอดรหัสสีเพื่อทำเป็นสีขวดน้ำ

Japanese Autumn แรงบันดาลใจจากสีของฤดูใบไม้เปลี่ยนสีของญี่ปุ่น แต่ละสีก็จะเป็นสีของใบไม้

การเปลี่ยนขวดเป็นสีครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนจำรูปทรงของสปริงเคิลได้ชัดเจนขึ้น และเกิดการแชร์ต่อจนทำให้มีลูกค้าหลายคนพยายามซื้อเก็บไว้

“ผมใช้เวลาออกแบบ 1 ปี หาซัพพลายเออร์ 1 ปี ทำขายทั้งปี ปีนั้นขาดทุนยับเลย (หัวเราะ) เพราะขวดแพงมาก แต่มันคือการตลาด”

ความสำเร็จจากการรีดีไซน์ทำให้เบียร์ตั้งธงไว้ว่า ขวดสปริงเคิลต้องเป็นไอคอนิกของแบรนด์ โดยมองว่า ขวดสปริงเคิลเป็นเหมือนผ้าแคนวาสเปล่าๆ ที่สามารถไปคอลแล็บกับใครก็ได้ ผ่านแกนหลักในเรื่องของ movie, anime, game, music, culture และ fashion ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบและสนใจ

ในหนึ่งปีเขาตั้งใจจะออกแคมเปญใหญ่ที่เป็นแบบลิมิเต็ด ขณะเดียวกันก็จะมีแคมเปญเล็กๆ ออกมาด้วย โดยแคมเปญเล็กที่ว่าส่วนใหญ่ก็จะอิงกับเรื่องของเทศกาล เนื่องจากระยะเวลาที่จำกัดของเทศกาล เช่น วาเลนไทน์

Sprinkle x SRINLIM
พ.ศ. 2564

ขวดคอลเลกชั่นสงกรานต์เป็นการร่วมงานกับเอิ้น SRINLIM ซึ่งเชี่ยวชาญในเรื่องสิ่งทอ (textile) อีกครั้ง โดยโจทย์ที่เบียร์ให้กับเอิ้นคือการออกแบบลายไทยขึ้นมาใหม่ โดยตีความจากวัฒนธรรมปัจจุบัน เนื่องจากเอิ้นมีโอกาสเดินทางไปศึกษาวัฒนธรรมพื้นถิ่นมาหลายแห่ง ท้ายที่สุดเอิ้นจึงออกแบบมาเป็น 4 ลวดลาย และใช้สีให้พิเศษขึ้นกว่าสีลายไทย เพื่อให้มีความจัดจ้าน มีความแฟชั่นขึ้น ดูเป็นลายไทยที่โมเดิร์น

ความพิเศษของขวดคอลเลกชั่นนี้ยังมีการเพิ่มเทคนิคของ ‘ศิลปะลวงตา’ หรือ optical art เข้าไป เพื่อเพิ่มมิติและความรู้สึก ‘ลวงตา’ ของชั้นสีที่ซ้อนกัน ทำให้ขวดมีลวดลายสีสันที่น่าสนใจและสนุกขึ้น

Sprinkle x Star Wars
พ.ศ. 2562

หนึ่งในคอลเลกชั่นสร้างชื่อและเป็นที่จดจำของสปริงเคิล กับการทำคอลแล็บร่วมดิสนีย์ เพื่อนำภาพยนตร์ชุดชื่อดังอย่าง Star Wars มาทำเป็นลวดลายบนขวด

เบื้องหลังที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้สำหรับคอลเลกชั่นนี้คือ ไอเดียแรกสุดไม่ใช่การนำ Star Wars มาทำเป็นลายบนขวด แต่เป็น Marvel ทว่าในช่วงเวลาดังกล่าว Star Wars ภาค Star Wars: The Rise of Skywalker กำลังจะเข้าฉายพอดี จึงคิดว่าไทม์ไลน์อาจจะเหมาะสมกว่า และนั่นก็เป็นความคิดที่ถูกต้อง เพราะเมื่อลงมือดีไซน์ เบียร์พบว่าคาแร็กเตอร์ของ Star Wars ลงตัวกับขวดอย่างยิ่ง

ในเวลานั้นทางดิสนีย์เจ้าของลิขสิทธิ์ Star Wars รู้จักสปริงเคิลจากขวดสีทึบแล้ว จึงยินดีจะร่วมงานด้วย โดยทางดิสนีย์จะมีข้อบังคับที่เข้มงวด ทั้งการตรวจโรงงานน้ำดื่ม โรงงานซัพพลายเออร์ที่ผลิตขวด รวมถึงเรื่องความปลอดภัยต่างๆ เมื่อตรวจเสร็จแล้วก็ต้องซื้อลิขสิทธิ์เพื่อมาออกแบบ หลังจากการออกแบบก็ต้องส่งให้ทางดิสนีย์อนุมัติอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ต่อหนึ่งแบบ ยังไม่นับเวลาของการแก้ไขงาน การผลิต การโฆษณา ที่ต้องให้ทางดิสนีย์อนุมัติทุกขั้นตอน กระบวนการต่างๆ จึงใช้เวลานับปี

นอกจากนี้ยังมีความยากในแง่ของการออกแบบ ที่ขวดของสปริงเคิลสามารถสกรีนได้เพียง 3 สี จึงต้องลดทอนสีทั้งหมด เพื่อให้สามารถสกรีนลงบนขวดได้

อย่างไรก็ดี หลังผ่านกระบวนการที่ยาวนาน ผลงานที่ออกมาก็นับว่าสวยงามลงตัวและได้ผลตอบรับที่ดี โดยคอลเลกชั่น Star Wars จะแบ่งเป็น 2 คอลเลกชั่น คอลเลกชั่นละ 6 แบบ ได้แก่ ขวด R2-D2, ดาร์ธ มอล, ดาร์ธ เวเดอร์, สตอร์มทรูปเปอร หรือโคลน ทรูปเปอร์

Sprinkle X One Piece Limited Collection
พ.ศ. 2563

คอลเลกชั่นเอาใจสาวกอนิเมะชื่อดังอย่าง วันพีซ (One Piece) ผ่านการจับมือกับ DEX โดยการนำคาแร็กเตอร์ของตัวละครหลักในเรื่องมาสกรีนลงขวดอย่างครบครัน ทั้งลูฟี่, โซโล, นามิ, ซันจิ, อุซป และช็อปเปอร์ โดยเบียร์บอกว่า สิ่งที่ทำให้เขาเลือกวันพีซ นอกจากเป็นมังงะที่เขาชื่นชอบแล้ว เรื่องที่เลือกมาต้องมีเรื่องราวมายาวนาน มีแฟนเหนียวแน่น ฐานแฟนใหญ่ อย่างวันพีซเองก็มีแฟนหลายช่วงอายุ และไม่ใช่แค่แฟนทั่วไป แต่คนทั่วไปก็รู้จัก

เบื้องหลังในการทำงานร่วมกับฝั่งญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากจะมี key guide เป็นเล่มมาให้ โดยข้างในระบุว่า ผู้ซื้อลิขสิทธิ์จะใช้อะไรได้บ้าง ใช้ได้แค่ไหน ห้ามใช้อะไร ซึ่งทำให้ทีมสปริงเคิลต้องมาออกแบบเพิ่ม เพราะไม่ต้องการแค่ซื้อคาแร็กเตอร์แล้วนำมาแปะบนขวดเฉยๆ

แต่เนื่องจากขวดสกรีนได้เพียง 3 สี จึงต้องมีการออกแบบเพิ่มเพื่อให้สามารถสกรีน 3 สีแล้วยังสวยเมื่ออยู่บนขวด ซึ่งทางเจ้าของลิขสิทธิ์ฝั่งญี่ปุ่นจะไม่ขายลายเส้นมังงะ แต่ให้เป็นลายเส้นของอนิเมะมา เบียร์จึงออกแบบใหม่โดยนำเทคนิคลายเส้นมังงะมาวาด พร้อมเติมสีลงไปเท่าที่ทำได้ แต่เมื่อส่งไปให้ทางญี่ปุ่นดู ปรากฏว่าทางญี่ปุ่นชอบและอนุมัติให้ทำได้

นอกจากคาแร็กเตอร์หลักที่กล่าวไป สปริงเคิลยังทำขวดที่เป็น easter egg เป็นลายวีวี่และกาลูด้วย

“ผมทำขวดลิมิเต็ด คือลิมิเต็ดจริงๆ ถ้าบอกว่าทำ 600,000 ขวดก็ทำเท่านั้น ต่อให้มันขายดีแค่ไหนก็ตาม ผมไม่ได้คิดว่าอันไหนขายดีก็ทำเพิ่ม” เบียร์ซึ่งชื่นชอบตัวละครโซโลเป็นพิเศษเล่าให้ฟัง

Sprinkle X Pomme Chan 
พ.ศ. 2565

ขวดที่เป็นคอลเลกชั่นพิเศษที่น่าสนใจของสปริงเคิลยังมีอีกหลายแบบ หนึ่งในนั้นคือการคอลแล็บร่วมกับศิลปินดังอย่าง Pomme Chan หรือ ปอม–ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง ช่วงคริสต์มาสเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และเป็นเทศกาลแห่งความสุขที่คนน่าจะชอบ โดยในเวลานั้นเบียร์มีโจทย์ในหัวอยู่แล้วว่าอยากได้ลายเส้นที่มีความพลิ้วไหว แต่ยังหาคนที่มีลายเส้นแบบที่ต้องการไม่ได้ จึงนึกถึง Pomme Chan ให้มาช่วยออกแบบ

หลังจากการทำงานร่วมกัน ขวดสปริงเคิลทั้ง 3 ลายที่สะท้อนถึงเทศกาลแห่งความสุขก็เสร็จสิ้นออกมา ได้แก่ ลายกวางเรนเดียร์, ต้นคริสต์มาส และสโนว์โกลบ นอกจากนี้ยังมีลูกเล่นพิเศษที่เบียร์อยากใช้สีเรืองแสง จึงมีการใช้เทคนิคสีเรืองแสงในการพิมพ์ลงบนขวดทั้ง 3 ลาย ทำให้ขวดคอลเลกชั่นนี้เป็นที่ชื่นชอบ ทั้งลายเส้นที่ละเอียดประณีตของ Pomme Chan ที่เมื่ออยู่บนขวดแล้วลงตัวพอดี

Sprinkle ‘Redesign to Reduce’
พ.ศ. 2566

ในช่วงปลายปีนี้สปริงเคิลเตรียมปล่อยคอลเลกชั่นใหม่อีกครั้งกับแคมเปญ ‘Redesign to Reduce’ แต่คราวนี้เป็นการขยายไปมากกว่าแค่พูดเรื่องการออกแบบ แต่เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เทรนด์สำคัญที่แทบทุกแบรนด์ทั่วโลกต่างตระหนักถึง ที่สำคัญ นี่จะเป็นการเปลี่ยน ‘รูปทรง’ ของขวดน้ำอย่างถาวรอีกครั้งของสปริงเคิลเลยทีเดียว

ไอเดียดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาของ ‘ขวดสี’ เนื่องจากมีเสียงกังวลเรื่องปัญหาขยะพลาสติก พูดง่ายๆ ว่ายิ่งคนอยากได้ก็ยิ่งเป็นการทำให้คนใช้พลาสติกเพิ่มขึ้น และอีกปัญหาคือ ขวดสีและขวดสกรีนรีไซเคิลได้ยากทำให้ซาเล้งไม่ค่อยรับซื้อเพราะขายไม่ค่อยได้ราคา สุดท้ายกลายเป็นว่าตัวขวดไม่ถูกกลับเข้าไปกระบวนการรีไซเคิล 

โจทย์ครั้งนี้ของสปริงเคิลและเบียร์คือการทำให้ขวดรีไซเคิลได้ง่าย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังคงความสร้างสรรค์ในฉบับของสปริงเคิล ซึ่งหนึ่งในเทรนด์ของโลกออกแบบขวดน้ำดื่มปัจจุบันคือ ‘ขวดไร้ฉลาก’ นั่นจึงเป็นข้อสรุปของการออกแบบขวดใหม่ในครั้งนี้ โดยการทำงานร่วมกับ แชมป์–สมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ก่อตั้งบริษัทออกแบบบรรจุภัณฑ์ Prompt Design 

“ตอนแรกผมให้โจทย์ว่าอยากทำขวดไร้ฉลาก จึงลองให้แชมป์ไปลองคิดออกแบบอย่างอิสระเลย แต่ต้องคงเอกลักษณ์ของสปริงเคิลไว้ด้วย สุดท้ายก็ได้คอนเซปต์เรื่องโลกร้อนกัน”

คอนเซปต์โลกร้อนที่ว่าคือการมองว่าปัจจุบันสภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น ใกล้ตัวมากขึ้น และหากสปริงเคิลทำขวดไร้ฉลากแล้วก็อยากส่งข้อความนี้ให้ผู้บริโภคด้วย เพื่อให้ตระหนักถึงเรื่องสภาวะโลกร้อนและช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม

คอนเซปต์และโจทย์ดังกล่าวนำมาสู่การออกแบบขวดที่ ‘เล่าเรื่องโลกร้อน’ ได้ ซึ่งก็คือ ‘ธารน้ำแข็งขั้วโลก’ ทั้ง 3 แบบ ที่เป็นตัวแทนในการสะท้อนปัญหา เนื่องจากปัจจุบันธารน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น

ขวดแรก เป็นขวดที่น้ำแข็งยังไม่ละลาย

ขวดที่สอง จะเห็นลวดลายธารน้ำแข็งที่เริ่มละลายเป็นน้ำ

ขวดที่สาม เป็นลวดลายเมื่อธารน้ำแข็งละลายหมดแล้ว เหลือเพียงน้ำแข็งแผ่นสุดท้ายตรงบริเวณโลโก้

ขวดทั้งสามแบบจะเล่าว่าจากธารน้ำแข็งที่ยังไม่ละลาย มันค่อยๆ ละลายจนกลายเป็นน้ำ เพื่อให้คนเห็นภาพว่าตอนนี้อุณหภูมิโลกมันร้อนขึ้น แต่อันนี้คือเปลี่ยนถาวรเลยนะ ไม่กลับมาเป็นอันนี้แล้ว ไม่ใช่ลิมิเต็ด เปลี่ยนเลย เพราะขวดเก่ามันเป็นสกรีน มันก็รีไซเคิลยากอยู่ดี

ที่สำคัญขวดรุ่นใหม่นี้จะเป็นการปั๊มโลโก้ลงบนขวดเลย ส่วนข้อความบนฉลากที่อิมพอร์ตจากเยอรมนีที่มีราคาสูงสามารถล้างออกด้วยกระบวนการรีไซเคิล และหมึกที่ถูกล้างออกมาจะไม่เป็นพิษ ทำให้ขวดรุ่นใหม่นี้สามารถรีไซเคิลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ตามกระบวนการ recyclability โดยขวดรุ่นใหม่นี้จะเป็นการเปลี่ยนดีไซน์อย่างถาวร โดยเริ่มวางขายตุลาคมนี้

นอกจากเรื่องของการดีไซน์ ‘น้ำ’ ถือเป็นหัวใจหลักและหัวใจสำคัญสำหรับธุรกิจของสปริงเคิล ในส่วนนี้เบียร์เล่าว่า สปริงเคิลให้ความสำคัญกับคุณภาพน้ำอยู่แล้ว เพราะผลิตจากกระบวนการ RO+UV ฆ่าเชื้อด้วยโอโซน และในกระบวนการผลิตจะมีระบบคุณภาพมาตรวจน้ำในทุกขั้นตอน ทุก 2 ชั่วโมง จนได้น้ำออกมาและเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไว้ 2 ปีเพื่อถ้ามีปัญหาก็สามารถเอามาตรวจได้ 

“ความจริงธุรกิจเราคือน้ำถัง ส่วนน้ำขวดเป็นตัวสร้างชื่อ ตัวน้ำถังจะพูดเรื่องความสะอาดเป็นหลัก อย่างตัวขวดน้ำ ผมไม่เคยทำโฆษณาว่าน้ำเราสะอาด เพราะมองว่าดีไซน์ต้องนำฟังก์ชั่นพื้นฐานไปหมดแล้ว คือเห็นแพ็กเกจจิ้งแล้วรู้สึกว่าน้ำสะอาด”

ถึงตอนนี้ไม่มีใครปฏิเสธว่าวิธีการนำไอเดียความคิดสร้างสรรค์มาผสานกับสินค้า ทำให้สปริงเคิลกลายเป็นแบรนด์ที่คนจดจำได้ไปแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาความสดใหม่ และทำให้แบรนด์สปริงเคิลยังคงรักษาความเป็น Product Champion ในตลาดน้ำดื่มไทย และยังคงน่าติดตามอยู่เสมอว่าสปริงเคิลจะมีโปรเจกต์เจ๋งๆ อะไรออกมาเขย่าวงการน้ำดื่มอีก

“ความสำเร็จในตัวสินค้าของเราประกอบขึ้นมาจากหลายส่วน ทีมผู้บริหารที่ช่วยวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ทำให้ได้ไอเดียใหม่ๆ ช่วยให้งานเดินได้อย่างโพซิทีฟ คนทำก็สนุก อีกส่วนที่สำคัญคือทีมงานซัพพลายเออร์ เราต้องมีซัพพลายเออร์ที่เชื่อใจว่าทำขวดนี้ได้ดี เราทำ R&D เยอะมาก แต่ก็ลุยไปด้วยกัน เขาเต็มที่กับเรา เช่นเดียวกับทีมงานของสปริงเคิล ทั้งหมดนี้ทำให้เราได้ผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์” เบียร์สรุปถึงปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จ

และถึงวันนี้คงไม่มีคำถามแล้วว่าความคิดสร้างสรรค์และงานดีไซน์สำคัญแค่ไหนกับโลกธุรกิจ แม้กระทั่งผลิตภัณฑ์แสนเรียบง่ายอย่างน้ำเปล่า

Writer

ชาวเชียงใหม่ผู้ย้ายมาทำงานในเมืองกรุง เคยเจอยูเอฟโอ 2 ครั้ง ช่วงปลายปี 2019 และต้นปี 2023

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like