Your Creative Sidekick

‘Spacely AI’ แพลตฟอร์มที่ใช้ GenAI แก้ปัญหาการทำงานดีไซน์จนมีผู้ใช้งาน 50 ประเทศทั่วโลก 

2-3 ปีให้หลังมานี้ บทสนทนาเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (artificial intelligence) กลายเป็นหัวข้อที่ทุกวงการต่างพูดถึง ทั้งการมาถึงของ ChatGPT, Gemini และเครื่องมือ AI มากมายต่างเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาช่วยในการทำงานของผู้คน

แต่ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีอีกหลายวงการที่ยังมองการมาถึงของ AI เป็นเรื่องไกลตัว บ้างก็ยังไม่ยอมรับในความอัจฉริยะของเทคโนโลยีตัวนี้ บ้างก็ตั้งคำถามว่าการมาถึงของปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาดิสรัปต์การคิดสร้างสรรค์มากเกินไป กระทั่งข้อกังวลที่ว่าหากหันไปใช้ AI อาจทำให้มนุษย์ตกงาน 

แม้ AI จะยังไม่เป็นที่ยอมรับในทุกแวดวง และยังต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจกันอีกมาก แต่ด้วยเชื่อว่าความอัจฉริยะของเจ้าปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้เกิดมาแทนที่คนทำงาน หากแต่เกิดมาช่วยให้คนทำงานได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกับสายงานดีไซน์ ปี 2023 สตาร์ทอัพสัญชาติไทยนาม Spacely AI จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อใช้ Generative AI เป็น design tool ที่มาช่วยให้อินทีเรียร์ สถาปนิก และนักออกแบบทำงานได้สะดวกรวดเร็ว พร้อมอุดช่องโหว่ของการทำงานดีไซน์แบบเดิม

จากความกล้าที่จะทลายกรอบความคิดเก่าของสายงานดีไซน์ ทำให้แม้จะเปิดตัวมาไม่นาน แต่ Spacely AI กลับมีผู้ใช้บริการมากกว่า 400,000 คน รวมกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ที่สำคัญผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ยังเป็นนักออกแบบจากฝั่งอเมริกาและยุโรป

ในวันที่บทสนทนาของสังคมเต็มไปด้วยเรื่อง AI คอลัมน์ Micro Wave ตอนนี้จึงชวน มิ้ง–ธนัชชา พจน์ทวีเกียรติ Co-founder และ Head of Growth, ม.แม–ภคพร จุลวัลลิภะ UI/UX Designer, มิตา–ปารมิตา ตันกำแหง UI/UX Designer และเมจิ–นวินดา หาญรัตนะ Marketing ของ Spacely AI เหล่าผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาเทคโปรดักต์ของไทยให้นักออกแบบทั่วโลกได้ใช้งาน มาพูดคุยตั้งแต่เรื่อง pain point ของสายงานดีไซน์ ความคิดและความเชื่อที่พวกเขามีต่อโลกเทคโนโลยี ไปจนถึงอนาคตและโอกาสต่อไปของ AI กับงานออกแบบ

จาก traditional way สู่ big move วงการดีไซน์ 

ในมุมการทำงานของดีไซเนอร์ ม.แมอธิบายว่ากระบวนการทำงานของดีไซเนอร์แบบเก่านั้นมีหลายขั้นตอน เริ่มจากการรับบรีฟลูกค้า เช่น ลูกค้าอยากได้ประมาณนี้ ดีไซเนอร์ก็ต้องทำคอนเซปต์ ขึ้น 3D Model และหาเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาไม่น้อย นอกจากนั้นยังมีขั้นตอนการใส่ material จัดแสง ซึ่งต้องใช้โปรแกรม SketchUp, Rhino จากนั้นจึงค่อยเรนเดอร์ออกมาให้ลูกค้าเห็นภาพ 

แต่ละขั้นตอนการทำงานที่ว่ามา กว่าจะได้ภาพให้ลูกค้าเห็นและตรงตามบรีฟคือความท้าทายที่ดีไซเนอร์ต้องเจอในทุกๆ โปรเจกต์ มิ้งเล่าว่าการทำงานแบบเก่านั้นกว่าจะได้ขึ้น 3D Model ทำงานได้แค่ 1:1 หากลูกค้าอยากแก้มันจะถูกตีกลับมา process เดิม 

“สมมติใช้แพลตฟอร์มเรา ถ้าลูกค้ามีบ้านอยู่แล้ว แต่อยากเห็นว่าจะจัดห้องนั่งเล่นหรือห้องนอนแบบไหนได้บ้าง ดีไซเนอร์สามารถถ่ายรูปภาพไซต์ตรงนั้น แล้วอัพลงบนแพลตฟอร์มและเลือกสไตล์ที่ลูกค้าอยากได้ได้เลย ระบบก็จะให้ข้อมูลภาพมาในแค่ไม่กี่นาที ดีไซเนอร์ไม่ต้องไปลงดีเทล หรือขึ้น 3D แบบแต่ก่อน ว่าง่ายๆ มันคือการทำให้เห็นภาพได้เร็วขึ้น แต่ถ้าเรนเดอร์แบบเดิมจะใช้เวลา 2 ชั่วโมงถึงจะเสร็จ

 “วงการดีไซน์ค่อนข้าง conservative กับวิธีคิดและการทำงานแบบเก่าเหมือนกัน pain point หนึ่งคือในสายงานออกแบบค่อนข้างจะมีมายด์เซตว่าคนที่ใช้ AI คือคนที่ไม่เก่ง เคยลงโฆษณาแล้วมีคนมาคอมเมนต์ว่าขุดหลุมฝังศพตัวเอง เหมือนเอา AI มาทำลายวงการของเรา แต่จิรู้สึกว่าการ pick-up สกิลใหม่มาใช้ เราไม่เสียอะไร มันไม่ใช่แค่วงการออกแบบ แต่มันคือสิ่งที่คนในทุกวงการต้องทำเพื่อให้เราตามโลกให้ทัน” เมจิเสริม

ถึงจะเจออุปสรรคทางความคิดและดีไซเนอร์ส่วนใหญ่ยังปิดกั้นการนำ AI ไปใช้ แต่พวกเขายังคงเชื่อว่ามีอีกหลายคนที่ต้องการใช้มัน และเชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการดีไซน์ได้ 

จากมนุษย์สู่ปัญญาประดิษฐ์

มิ้งเล่าว่าเวลาแนะนำแพลตฟอร์มให้คนเป็นดีไซเนอร์ คนมักจะเข้าใจว่า AI จะทำแทนได้ทุกอย่าง แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น สิ่งที่ Spacely AI ทำคือการนำความรู้และความเชี่ยวชาญของดีไซเนอร์มาสร้างสรรค์โปรดักต์ แม้จะมีนวัตกรรมอัจฉริยะออกมาให้ใช้งาน แต่มนุษย์ดีไซน์ยังเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมนี้ 

“เรายังต้องการ expertise ของดีไซเนอร์ เรายังต้องการความรู้ของคุณในการ input ข้อมูลเข้าไป เนื่องจาก input มันมีผลกับผลลัพธ์มากๆ อย่างพวกเราเบสสถาปัตย์ เวลาเราเขียน prompt เข้าไป กับเวลาคนเป็นโปรแกรมเมอร์เขียน prompt ห้องมันก็จะออกมาคนละแบบกัน”

“ดีไซเนอร์ด้วยกันยังมีองค์ความรู้ไม่เหมือนกัน สมมติคนนึงมีความรู้ทางด้าน modern design กับอีกคนมีความรู้เรื่อง history of art เวลาเขาเขียน prompt ผลลัพธ์ก็ออกมาไม่เหมือนกัน สิ่งนี้ไม่ได้มาแทนที่ เราว่าคนที่จะได้เปรียบที่สุดในอุตสาหกรรมนี้ก็คือคนที่เป็นดีไซเนอร์และใช้ AI เป็น แต่ไม่ได้หมายความว่าดีไซเนอร์ที่ไม่ใช้ AI จะอยู่ไม่รอดนะ แต่ว่าการที่เรา adopt สิ่งนี้มาใช้ได้เปรียบกว่า” มิตาเสริม

ปัจจุบัน Spacely AI พัฒนาโปรดักต์ออกมาให้เหล่าดีไซเนอร์ได้ทดลองใช้หลากหลายฟีเจอร์ ทั้ง AI Design Tools ที่เข้ามาช่วยย่นเวลาการออกแบบ Spacely Research ที่เขียน prompt หรือชุดคำสั่งเกี่ยวกับข้อมูลที่ต้องการให้ AI ช่วยค้นคว้า 

หากออกแบบและ fill in เฟอร์นิเจอร์ตามความต้องการลูกค้าแล้ว แพลตฟอร์มยังสามารถออก BOQ (ใบแสดงรายการวัสดุและค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้าน) ให้ได้ทันที ในขณะที่ถ้าเป็นแบบดั้งเดิม ดีไซเนอร์จะต้องคีย์ข้อมูลเฟอร์นิเจอร์ด้วยตัวเอง ซึ่งต้องทำทีละอย่าง ทีละขั้นตอน 

Generated by Spacely.ai

มิ้งเล่าว่าถ้าขายงานลูกค้าผ่าน ได้ภาพเรนเดอร์และแบบตามที่ลูกค้าต้องการ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการส่งต่องานให้ผู้รับเหมาเริ่มการก่อสร้าง ซึ่งในส่วนนี้ของแต่ละโปรเจกต์จะใช้เวลา 1-2 ปี และกว่าจะได้ซื้อเฟอร์นิเจอร์ ของชิ้นนั้นอาจจะ out of stock ไปแล้ว 

“แต่ถ้าคุณใช้ Spacely AI เราจะไปช่วยหาเฟอร์นิเจอร์ที่คล้ายกันในตลาดที่มี ณ เวลานั้น แล้วก็ลิสต์ราคามาเป็นหลายระดับให้ลูกค้าได้เลือกตามบัดเจ็ตที่ต้องการได้”

นอกจากช่วยเรื่องการทำงานดีไซน์ ทีม Spacely AI ยังพยายามพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้ชีวิตคนทำงานดีไซน์ง่ายขึ้นในทุกมิติ ล่าสุดได้พัฒนา Portfolio+ โปรดักต์ที่เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยดีไซเนอร์ให้รวบรวมผลงานออกแบบและเพิ่มข้อมูลติดต่อของตัวเองลงบนแพลตฟอร์มได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องดีไซน์พอร์ตโฟลิโอขึ้นใหม่ให้ยุ่งยาก หากต้องการส่งข้อมูลพอร์ตโฟลิโอให้ลูกค้าก็ก๊อปลิงก์ส่งได้ทันที 

“แพลตฟอร์มนี้เราไม่ได้อยากให้มันมาแล้วก็ไป เราอยากทำให้มันยั่งยืน เลยคิดว่ามันควรต้องแก้ปัญหาอะไรสักอย่างได้ และคนสามารถใช้มันในชีวิตประจำวันได้” มิ้งมองว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคฯ ของวงการออกแบบไม่ใช่แค่การสร้างขึ้นแล้วจบไป ที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นฟีเจอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มของ Spacely AI เรื่อยมา 

จากไทยสู่โลกวงการออกแบบ 

แม้ทีมพัฒนาส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยและเป็นสตาร์ทอัพของคนไทย แต่ด้วยเชื่อว่า pain point ที่เจอเป็นสิ่งที่คนในอุตสาหกรรมดีไซน์เจอกันทั้งโลก ตั้งแต่เดย์วัน Spacely AI จึงเจาะตลาดไปที่กลุ่มลูกค้าระดับโลก โดยเน้นการใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงแพลตฟอร์มนี้ได้ ก่อนจะค่อยๆ กลับมาตีตลาดไทยในช่วงหลัง 

จากการตั้งเป้าหมายไปในตลาดโลก ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่กว่า 90% ของแพลตฟอร์มกลายเป็นฝั่งอเมริกาและยุโรป และมีผู้เข้าใช้งานแพลตฟอร์มกว่าหลักแสนคนในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก  

“คนที่มาใช้แพลตฟอร์มเรามีประมาณ 50 ประเทศ แปลว่าคนเหล่านี้เจอปัญหาแบบเดียวกับเรา แม้แพลตฟอร์มเราจะแก้ปัญหาให้เขาได้ไม่ทั้งหมด แต่เชื่อว่ามันช่วยบางส่วนของกระบวนการการทำงานออกแบบได้ เขาเลยเข้ามาใช้มันเรื่อยๆ” มิ้งเล่าอินไซต์กลุ่มลูกค้าที่มาใช้แพลตฟอร์มซึ่งสะท้อนความต้องการและโอกาสของธุรกิจเทคโนโลยีสำหรับวงการอกแบบ

“ไทยเพิ่งเริ่มเอาไปใช้ช่วงหลังๆ เป็นตอนที่เราเริ่มใช้อินฟลูเอนเซอร์ไทยช่วยโปรโมต แต่ก่อนหน้านั้นที่ไม่ได้ทำการตลาดกับคนไทยก็แทบจะไม่มีเลย ซึ่งอีกเหตุผลที่ยังไม่ทำการตลาดกับคนไทยเพราะเหมือนคนไทยติดภาพว่า AI มันใช้ไม่ได้ ถ้าเรียงอันดับจริงๆ ไทยเพิ่งจะมาติด Top 5 ช่วงนี้” 

ในมุมมองของคนที่คลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมออกแบบมา คิดว่าในอนาคตมันจะเปลี่ยนแปลงไปในทางไหน–เราเอ่ยถามคำถามสุดท้าย

“วงการดีไซน์อยู่กับการเป็น labor work มายาวนาน ต้องโหมทำงานหนักเพื่อให้มีงานส่งลูกค้า ซึ่งถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีการทำงาน เราไม่เปลี่ยนเครื่องมือที่เราใช้ทำงานมันก็จะอยู่ประมาณนี้แหละ แต่ถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เราใช้วิธีที่ต่างออกไป เราก็จะได้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไปเหมือนกัน มันไม่ได้มีผลดีแค่กับคุณภาพการทำงาน แต่มันยังดีกับคุณภาพชีวิตของคนในวงการ“ มิ้งตอบ

หากอยากทดลองการออกแบบผ่าน Spacely AI สามารถลองได้ที่ www.spacely.ai/tools

Writer

nochnichterdbeeren ig : ploimanee.sir

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like