นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Twists and Turns

นามบัตร 11 ใบของ ดร.สันติธาร เสถียรไทย กับชีวิตการทำงานที่เต็มไปด้วย Twists and Turns

“ที่ผ่านมาชีวิตการทำงานมี Twists and Turns ทุกตอนเลยแล้วแต่ช่วงชีวิต” 

หากบอกว่า ดร.สันติธาร เสถียรไทย เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เข้าร่วม World Economic Forum และพบปะผู้นำระดับโลก เคยดำรงตำแหน่งทั้งผู้บริหารระดับสูงของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ที่ดูแลเศรษฐกิจทั้งอาเซียนและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยูนิคอร์นอย่าง Sea มีบทบาทเป็นผู้ร่างกฎหมายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศ เป็นกรรมการที่ปรึกษาให้ธุรกิจที่สร้างอิมแพกต์เพื่อสังคมมากมาย แถมยังเป็นผู้เขียนหนังสือขายดี ‘Twists and Turns คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม’

ทั้งหมดนี้คุณอาจคิดว่าเป็นความสำเร็จตามแบบฉบับคนหัวกะทิที่ได้มาด้วยพรสวรรค์ แต่ตำแหน่งในหลายบทบาทเหล่านี้ของ ดร.สันติธารจะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่ทุ่มสุดพลังเพื่อให้เกิด Twists and Turns ในการย้ายงานเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของชีวิตในแต่ละช่วง 

หากพลิกเบื้องหลังนามบัตรแต่ละใบและเล่าเรื่องราวทั้งหมดใหม่อีกครั้งให้ละเอียดขึ้น ก่อนจะมีประวัติการทำงานยาวเหยียดเป็นนามบัตรถึง 11 ใบ เขาคือคนที่เชื่อใน The Eleventh Hour หรือการไม่ยอมแพ้จนถึงวินาทีสุดท้าย

เขาคือคนเดียวกันกับที่บอกว่าสมัยเรียนเกลียดวิชาการเงินที่สุดและเรียนไม่รู้เรื่องถึงขั้นรู้สึกว่าเข็นไม่ขึ้น

สมัครเรียนปริญญาเอกไม่ผ่านหลายครั้งและเมื่อนำเสนอวิทยานิพนธ์ชิ้นสำคัญกับศาสตรจารย์รางวัลโนเบลในครั้งแรกก็ได้ฟีดแบ็กว่างานนี้ไม่ได้ไปต่อ 

ถูกปฏิเสธในการสมัครงานนับไม่ถ้วนตอนย้ายสายงานจากภาคนโยบายไปภาคการเงิน

ทุ่มเททำงานเต็มที่เพื่อเอาตัวรอดจากวัฒนธรรมองค์กรแบบ Squid Game ที่คัดคนออกต่อเนื่อง

หลายครั้งที่สมัครงานใหม่ในบริษัทใหม่ก็ไม่มีการตอบรับกลับมาในตอนแรก จนกระทั่งลองเขียนอีเมลขอบคุณหรือทักกลับไปในวินาทีสุดท้ายถึงได้พบว่าความจริงองค์กรเหล่านั้นก็อยากต้อนรับมาทำงานด้วยอยู่แล้วแต่ขาดการประสานงานไป และยังเคยผ่านช่วงที่รู้สึกไม่ค่อยมีความสุขกับความสำเร็จและสับสนกับเป้าหมายในชีวิตที่เปลี่ยนไป   

ทุกวันนี้ ดร.สันติธารใช้ประสบการณ์ทำงานทั้งหมดที่มีในการ connect the dots เพื่อออกแบบการทำงานรูปแบบใหม่ที่ได้สวมหลายหมวกทั้งบทบาทด้านนโยบาย การศึกษา สังคม เอกชน และธุรกิจ โดยทุกความสำเร็จที่ผ่านมาล้วนเป็นจุดต่อจุดร้อยเรียงกันที่ทำให้เขาเข้าใจอินไซต์ขององค์กรจากหลายภาคส่วน  

“บางครั้งก็เหมือนที่สตีฟ จอบส์ บอกไว้ว่า ‘You can’t connect the dots looking forward คุณไม่รู้หรอกว่าจุดบางจุดมันโยนมาให้เราเพื่อสานต่อบางอย่างได้ในอนาคต”

Economist Ministry of Finance of Thailand

ถ้าต้องนิยาม chapter แรกของชีวิตคงเรียกรวมๆ ได้ว่าเป็นนักวิจัยสายวิชาการและนักเรียน หลังเรียนจบปริญญาโทใบแรกด้านเศรษฐศาสตร์ที่อังกฤษก็เริ่มงานแรกที่กระทรวงการคลัง มีหน้าที่ช่วยคิดวิเคราะห์ วิจัยนโยบายเศรษฐกิจและทำงานควบเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ตอนนั้นประเทศไทยอยู่ในช่วงเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีกับอเมริกา งานสำคัญที่กระทรวงการคลังจึงเป็นการเจรจาครั้งใหญ่เพื่อเปิดภาคการเงินไทยให้ธนาคารต่างประเทศเข้ามาได้

“ความจริงสมัยเรียนผมเกลียดวิชาการเงินมาก ตอนเรียนคือเข็นไม่ขึ้นจนรู้สึกว่าวิชานี้ขอไม่เรียนอีกแล้ว เรียนไม่รู้เรื่อง แต่พอทำงานกลับรู้สึกสนุกกว่าที่คิดและเข้าใจขึ้นเยอะจากการศึกษาเอง จนวิชาการเงินกลายเป็นจุดแข็งของเราตอนกลับไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในเวลาต่อมา

“หลังจากทำงานอยู่ราว 2 ปีกว่าก็ไปเรียนปริญญาโทที่ Harvard Kennedy School และสมัครเรียนต่อปริญญาเอกสาขานโยบายสาธารณะ (public policy analysis) สมัครอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่ได้สักทีจึงคิดว่าวิธีที่ช่วยให้แข่งขันกับคนอื่นได้ในการสมัครเรียนคือการเป็นผู้ช่วยวิจัยของศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิตส์ (Joseph Stiglitz) อาจารย์ชื่อดังและนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ด้วยความที่เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ดังมาก ต้องบินไปเจอรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก เขาเลยไม่มีเวลาให้เราเลย หลังจากให้งานเราไว้หนึ่งงานแบบกว้างๆ ในวันแรกแล้วก็ไม่เจอกันอีกเลย

“ผมมีเวลา 2 เดือนที่จะสร้างความประทับใจจากเขา พอทำงานที่เขาให้ผมทำเสร็จมันก็เหลือเวลา ตอนนั้นรู้สึกว่านี่คือโอกาสสุดท้ายในการสมัครเรียน เลยไปนั่งคิดว่าเขาน่าจะอยากได้อะไรมากกว่าที่เขาขอเราหรือเปล่าก็เลยทำงานในแฟ้มสีน้ำเงินอีกอันหนึ่งเก็บแยกไว้ต่างหาก 

“สามวันก่อนหมดเวลาทำงานกับเขา พอคุยงานเสร็จก็พบว่างานที่เขาสั่งให้ทำมันตัน เราก็ทำตามที่เขาบอกแหละแต่ว่ามันไม่ใช่คำตอบ เขาบอกว่าเสียดายแล้วก็อาจจะล้มเลิกงานนี้ไป โชคดีที่ก่อนเขาจะลุกไป เขาถามว่าคุณมีอะไรจะมานำเสนออีกไหม ผมก็เลยหยิบแฟ้มสีน้ำเงินออกมาและมันก็กลายเป็นจุดพลิกชีวิตเพราะว่ามันคือสิ่งที่เขาต้องการที่สุด 

“งานวิจัยชิ้นนั้นกลายเป็นโฮมรัน เพราะทำให้ได้ recommendation letter จากเขาจนเข้าปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ดได้และได้ทุนการศึกษา 2 ทุน ซึ่งพลิกชีวิตและพลิกความคิด กลายเป็นที่มาของคำที่ผมใช้จนทุกวันนี้ คือ ‘Luck is what happens when preparation meets opportunity.’ 

“เพราะผมเตรียมแฟ้มสีน้ำเงินนั่นอยู่ตลอด ไม่ล้มเลิกจนถึงวันที่โอกาสมาก็เลยทำให้เกิดความโชคดีครั้งนั้นแล้วก็กลายเป็นคติทุกครั้งว่าเวลาจะยอมแพ้อะไรหรือคิดว่าไม่มีทางแล้ว รออีกสักนิดหนึ่ง ในเสี้ยววินาทีสุดท้ายหรือที่เรียกว่า The Eleventh Hour มันอาจจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ถ้าเราไม่ยอมแพ้” 

Head of Emerging Asia Economics – Credit Suisse

“หลังจากเข้าใจภาคการเงินและนโยบายมาระดับหนึ่งแล้วก็อยากทำงานภาคเอกชนเพราะรู้สึกว่า ‘ไม่เข้าถ้ำเสือ ไม่ได้ลูกเสือ’ ถ้าไม่เคยทำงานในองค์กรภาคการเงินจะไม่เข้าใจมุมมองของคนในสายงานนี้อย่างแท้จริงทั้งมายด์เซตและวัฒนธรรมองค์กร

“ตอนนั้นเริ่มสังเกตเห็นเทรนด์โลกว่ากระแสเศรษฐกิจแถบอาเซียนกำลังมา คิดว่าถ้าทำงานที่ไทย อย่างเก่งเราจะได้ดูแค่ตลาดไทยอย่างเดียวซึ่งจะไม่ครอบคลุมทั้งเอเชียก็เลยเลือกทำงานที่สิงคโปร์ แต่การสมัครงานที่สิงคโปร์ก็ยากกว่าที่คิด สมัครแล้วถูกปฏิเสธกระจุยเพราะเปลี่ยนสายงานจากภาคนโยบายและวิชาการมาภาคธนาคาร 

“เราก็พยายามปิดจุดอ่อนของตัวเองด้วยการบอกว่าลงเรียนวิชาการเงินมาแล้วหลายตัวเลย แต่มาค้นพบทีหลังว่ามันเป็นความผิดพลาด ในการสมัครงานไม่ควรปกปิดจุดอ่อนแต่ควรจะไฮไลต์จุดแข็ง พอสัมภาษณ์แล้วถูกปฏิเสธไปเยอะก็พบว่าการ pitch ตัวเองว่าจบจาก Kennedy School และเข้าใจว่าภาครัฐคิดยังไง นโยบายรัฐจะขยับยังไง และมีผลกระทบกับภาคการเงินยังไงทำให้ได้เปรียบและแตกต่างจากคนอื่น กลายเป็นจุดพลิกที่ทำให้ได้งานที่ธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ที่สิงคโปร์ 

“ต้องเล่าว่าภาคการเงินระหว่างประเทศใน regional หรือ global headquarters มีวัฒนธรรมองค์กรที่ผมเรียกว่า Squid Game หรือ ‘up or out’ ถ้าคนในทีมได้เลื่อนตำแหน่งขึ้น เพื่อนร่วมงานที่ทำงานด้วยกันมาก็ต้องออก ตอนนั้นเป็นยุคหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของอเมริกาที่ภาคการเงินมีความไม่มั่นคงสูง ผมเข้าไปทำงานไม่นานก็มีข่าวออกมาว่าจะต้องมีการลดคนในทีมนี้ ซึ่งทีมผมตอนนั้นมีแค่ 4 คน แล้วผมเป็นคนสุดท้ายที่เพิ่งเข้าไป มันก็ชัดว่าคนใหม่สุดน่าจะต้องโดนออกก่อนหรือเปล่า (ขำ)

“สุดท้ายครั้งนั้นผมรอดซึ่งก็น่าเสียดายที่เพื่อนในทีมถูกออกแทน แล้วหลังจากนั้น wave การคัดคนออกก็จะเวียนกลับมาเรื่อยๆ ใบมีดนี้จะหายไปแป๊บหนึ่งแล้วสักพักจะวนกลับมาใหม่ หลายคนก็เลือกจัดการกับความโหดนี้ในวิธีต่างกัน บางคนก็ถอดใจทำงานแบบไม่เต็มที่ อีกแบบหนึ่งคือคนที่พยายามไต่เต้าไปหางานบริษัทอื่น ส่วนแบบที่สามซึ่งก็คือสิ่งที่ผมทำคือใช้มันเป็นโอกาส

“ปัจจุบันจะมีคำว่า quiet promotion คือการเลื่อนตำแหน่งขึ้นและเพิ่มงานแต่ได้เงินเท่าเดิมซึ่งคนส่วนใหญ่จะมองว่ามันแย่แต่ผมมองเป็นโอกาส ถ้างานเราเพิ่มขึ้นแล้วเป็นงานที่สำคัญกับองค์กร วันหนึ่งองค์กรจะต้องพึ่งเรา จากเดิมที่เป็น quiet promotion มันจะกลายเป็น promotion จริงแล้ว เพราะว่าแบงก์อื่นก็เริ่มอยากซื้อตัวเราทำให้แบงก์เราต้องอัพเงินเดือนให้ไม่งั้นเขาจะเสียเราให้คนอื่น แทนที่จะนั่งท้อใจก็เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวก 

“ผมเลยได้ขึ้นตำแหน่งค่อนข้างเร็วและมีตำแหน่งสุดท้ายเป็น Head of Emerging Asia Economics หน้าที่คือเป็นคนวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งอาเซียนและให้คำแนะนำนักลงทุนในทุกเศรษฐกิจที่ครอบคลุมประเทศในอาเซียนทั้งหมด รวมถึงอินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง

“ถ้าเปรียบเทียบกับการแพทย์ งานของเราคือการวินิจฉัยว่าเศรษฐกิจของประเทศนี้เป็นโรคอะไร แล้วแนะนำว่าโรคทางเศรษฐกิจแบบนี้ควรลงทุนด้านไหนดี อีกด้านหนึ่งคือเราต้องเดาใจคุณหมอของรัฐบาลหรือแบงก์ชาติของแต่ละประเทศว่าถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้คุณหมอจะให้ยายังไง จะขึ้นหรือลดดอกเบี้ยกับภาษี จะปรับค่าเงินยังไง มันเป็นการเดาใจผู้บริหารซึ่งเราก็ต้องรู้จักคาแร็กเตอร์ของผู้บริหารด้วย”

Group Chief Economist and Managing Director – Sea

“พอผมเชี่ยวชาญเศรษฐกิจอาเซียน คนก็มักจะจำว่าถ้าอยากรู้เกี่ยวกับอาเซียนต้องมาคุยกับคนนี้ ก็เลยมีแบรนด์กลายเป็น ‘มิสเตอร์อาเซียน’ ที่ทำให้นักลงทุนและนักธุรกิจมักจะเรียกผมไปคุย หนึ่งในนั้นคือผู้ก่อตั้งบริษัท Sea ที่กำลังจะเข้าตลาดนิวยอร์กและต้องไปคุยกับนักลงทุนต่างประเทศกับกองทุนต่างๆ ซึ่งผมคุยกับคนเหล่านี้อยู่แล้วเป็นประจำ เขาก็อยากรู้ว่าเศรษฐกิจอาเซียนเป็นยังไง นักลงทุนมองอาเซียนยังไง อะไรเป็นจุดที่นักลงทุนมองหาและกังวล

“พอได้คุยกันผมรู้สึกว่าบริษัทนี้น่าสนใจดี มันมีทั้งเกมและอีคอมเมิร์ซอยู่ในบริษัทเดียวกัน ตอนนั้นบริษัทในอาเซียนที่เป็นยูนิคอร์นแทบจะไม่มีเลย ผมก็เลยพูดเล่นๆ ไปว่าสนใจจ้างนักเศรษฐศาสตร์ไหมครับ เขาก็บอกว่าไม่มีตำแหน่งนี้ แต่คุณอยากลองไปเขียนดูไหมว่าถ้าจะสร้างตำแหน่งนี้ขึ้นมาใหม่ มันควรจะหน้าตาเป็นยังไง พูดง่ายๆ คือเขียน job description ของตัวเองแล้วก็กลับมาคุยกัน ผมก็กลับไปศึกษาว่าเขาน่าจะอยากได้อะไร อะไรเป็นสิ่งที่ Sea มีและขาด แล้วก็เขียน proposal ประมาณ 5-6 หน้าเพื่อเสนอว่าเราจะเติมเต็มอะไรให้ได้บ้าง 

“ชื่อตำแหน่งคือ Group Chief Economist and Managing Director แต่ความจริงไม่ค่อยมีความเป็น economist เท่าไหร่ มันคืองานผู้บริหารที่มีโปรเจกต์อะไรก็ทำอันนั้น Sea เป็นบริษัทใหญ่ที่มีดีเอ็นเอความเป็นสตาร์ทอัพสูงมาก เหมือนทีมฟุตบอลที่ขาดคนตรงไหนคุณก็เล่นตำแหน่งนั้น 

“ผมมีไมล์สโตน 3 อย่างที่ทำที่นี่ หนึ่ง คือช่วยผลักดันธุรกิจธนาคาร Virtual Bank ในต่างประเทศเพราะตอนนั้น Sea มีทั้งเกมและอีคอมเมิร์ซแต่ธุรกิจการเงินยังมีไม่เยอะมาก สอง คือการสร้างโปรไฟล์ให้บริษัทด้วยการไปร่วมที่ World Economic Forum หรือการประชุมดาวอสเป็นการประชุมที่มีสุดยอดผู้นำทางเศรษฐกิจ ประธานาธิบดี รวมถึงนายกรัฐมนตรีประเทศต่างๆ ไป ด้วยความที่มีเวทีอื่นๆ ในงานมากมายเลยทำให้บริษัทได้โอกาสร่วมมือทำ joint project ด้วยกันด้วย 

“หน้าที่ผมคือเอาบทเรียนและข้อคิดจากประเทศที่เวิร์กมาทำในอีกประเทศหนึ่ง เช่น นโยบายนี้ที่อินโดนีเซียทำเวิร์กมากเลย ไทยอยากขอมาทำด้วย หรือถ้าอะไรที่ทำในไทยเวิร์กก็จะแนะนำว่าไปทำในประเทศอื่นได้ไหม ตอนนั้นพอกลับจากดาวอสแล้วรู้สึกว่านักลงทุนทุกคนให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมาก เลยกลับมาตั้งหน่วยที่ทำนโยบายด้านความยั่งยืนให้องค์กรเป็นไมล์สโตนอย่างที่สาม  

“สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือการให้ความสำคัญและวัดในสิ่งที่เมื่อก่อนองค์กรอาจจะวัดหรือไม่วัดบ้าง เช่น การปล่อยคาร์บอนเป็นยังไง มีผลกระทบทางสังคมยังไงบ้าง รวมไปถึงเรื่อง governance (ธรรมาภิบาล) และ diversity (ความหลากหลาย) ต่างๆ ที่ต้องทำรายงานประจำปีและพัฒนาว่าจะทำยังไงให้ดีขึ้นทุกปี

“ต้องบอกว่าคำว่า ‘สร้างโปรไฟล์’ หมายถึงการทำจริงและสร้างอิมแพกต์ต่อสังคมที่ตรงกับ purpose ขององค์กร พอองค์กรใหญ่ถึงระดับหนึ่งถ้าไม่พูด purpose ให้ชัดเจนคนอื่นจะใส่ให้เรา เช่น คนจะเข้าใจว่า Sea เป็นบริษัทเกมหรือบริษัทขายของดี ของถูก 

“แต่ความจริง purpose ของบริษัทคืออยากสร้างโอกาสให้คนตัวเล็กซึ่งคนตัวเล็กอาจเป็นเด็กชอบเล่นเกมที่ได้โอกาสเติบโตไปเป็นนักเล่นเกมมืออาชีพ, SME บน Shopee หรือคนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในภาคการเงิน เพราะฉะนั้นมันจะมีหลายโครงการที่ผมผลักดันในประเทศต่างๆ  ทั้งโครงการที่ช่วย SME ไทย ช่วยคนที่ไม่มีความรู้ดิจิทัลให้เข้าถึงดิจิทัลได้ ซึ่ง purpose ขององค์กรจะทำให้เข้าใจธีมที่เชื่อมโยงกันในธุรกิจที่หลากหลายเหล่านี้

“โดยรวมการทำงานที่ Sea เต็มไปด้วย Twists and Turns ทั้งหมดเลย เข้าใจถึงกระดูกดำเรื่อง agile มันเป็นงานบริหารองค์กรที่ต้องปรับตัวให้เร็วเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ตอบโจทย์โลก สมมติตอนนี้อยู่ที่ตึกชั้น 5 แล้วทีมเราคิดว่าอยากสร้างชั้นใหม่ของตึกด้วยกันเป็นชั้น 7 ถึงชั้น 10 แต่พรุ่งนี้โลกเปลี่ยน เราก็ต้องปรับตามโลก อย่างเช่น ตอนแรกเราอาจจะคิดว่าหน้าตาธุรกิจอีคอมเมิร์ซควรจะเป็นแบบนี้แต่ปรากฏว่ายุคเปลี่ยน กลายเป็นเน้น live commerce มากขึ้น พอไม่ใช่อย่างที่คิด แผนที่ทำมาก็ต้องเปลี่ยนทั้งหมด ยึดติดกับอันเก่าไม่ได้ แล้วมันจะเป็นแบบนี้ตลอดเวลา 

“คุณต้องกล้าทิ้งกล้าเสีย กล้าเริ่มใหม่จากศูนย์ถ้าคิดว่าแผนใหม่ถูกกว่า มันต้องเด็ดขาดอย่างนั้นเลย แล้วต้องมีความใจแข็งใจเด็ดด้วย เวลา win มันจะ win big แต่เวลาโลกเหวี่ยงทีมันก็เหนื่อยมาก ถ้าสร้างไม่สำเร็จก็ไม่มีที่ให้ไป ถ้าสร้างสำเร็จมันคือการสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน”

Career Portfolio 

“ผมเป็นคนที่ชอบเปรียบเทียบชีวิตเหมือนคนขับรถ F1 คือคนที่ชอบแข่งให้ชนะ พอชนะเสร็จปุ๊บ ดีใจแป๊บหนึ่งแล้วก็ไปสู่การแข่งขันต่อไป เหมือนนักปีนเขาที่ต้องปีนภูเขาลูกใหม่ตลอดเวลา แล้วก็จะเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ ถ้าเริ่มมีอุปสรรคว่ามันยาก ทำไม่สำเร็จจะไม่เคยให้ตัวเอง give up

“แต่สิ่งที่ผมเจอในช่วงปีท้ายๆ ของ Sea มันเป็นอีกความรู้สึกหนึ่งซึ่งมันแตกต่างออกไป มันไม่ใช่ว่าฝ่าฟันอุปสรรคไม่สำเร็จเพราะยาก แต่เป็นเรื่องที่พอเราชนะแล้วชัยชนะไม่หอมหวานเหมือนเดิม ทำสำเร็จแต่ทำไมรู้สึกไม่ค่อยแฮปปี้ รสชาติของชัยชนะมันเปลี่ยน เป็นครั้งแรกที่เริ่มจากรู้สึกไม่ค่อยมีความสุขกับการทำงาน 

“เมื่อก่อนถ้ามีอุปสรรคที่ยากจะเปรียบเหมือนอยู่ในอุโมงค์ที่มืดมิดแต่ก็เห็นแสงสว่างอยู่ไกลๆ ถ้ากัดฟันเดี๋ยวก็ไปถึง แต่ก่อนพอใช้สูตรนี้มันจะผ่าน แต่สูตรแบบนี้มันใช้ไม่ได้อีกแล้ว มันใช้เวลาอยู่นานเหมือนกับการมานั่งดูตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา สุดท้ายก็พบว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในชีวิตซึ่งเป็นเรื่องปกติ

“ผมว่ามนุษย์เรามี purpose หรือตัวตนเปลี่ยนไปตามอายุและจังหวะเวลาพอสมควร ช่วงที่ผ่านมา purpose ของตัวเองเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่เดิมผมอาจเหมือนกับคนทำงานทั่วไปคืออยากมีอิสระทางการเงิน เก็บเงินส่งลูกเรียนถึงปริญญาตรีได้ อยากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานระดับหนึ่ง พิสูจน์ตัวเองในต่างประเทศว่าคนไทยก็ทำได้ในเวทีโลก

 “แต่ตอนท้ายผมรู้สึกว่า purpose พวกนี้ไม่ใช่จุดประสงค์หลักแล้วในการทำงาน มันกลายเป็นโจทย์ว่าแล้วเรากลับไปทำอะไรที่สร้างอิมแพกต์ให้ประเทศเราได้ไหมและโจทย์ที่เริ่มอยากมีอิสระในชีวิตมากยิ่งขึ้นในการเป็นนายตัวเองมันก็เริ่มมา 

“แล้วจริงๆ มันมี agenda ลับอีกอันหนึ่ง คือเป็นคนชอบทดลองสิ่งใหม่กับตัวเอง ผมมีความเชื่อว่าในอนาคตอาชีพของคนจะไม่ได้มีอาชีพเดียว มันจะมีหลายอาชีพ หลายตัวตน หลายหมวกพร้อมกันในคนเดียวที่ผมเรียกว่าเป็นการทำอาชีพแบบพอร์ตโฟลิโอ เลยอยากทดลองทำดูว่าจะเป็นยังไง ก็เลยเป็นที่มาของการกลับประเทศไทยและทำงานหลายหมวกในปัจจุบันซึ่งแบ่งเป็น 4 ด้านคือ ด้านนโยบาย การศึกษา สังคม ด้านเอกชน และธุรกิจ”

ด้านนโยบาย  
Monetary Policy Committee of Thailand – Bank of Thailand
Future Economy Advisor – Thailand Development Research Institute (TDRI)
Advisor on National Artificial Intelligence (AI) Strategy – Parliament of Thailand

“ด้านนโยบายก็กลับสู่สมัยที่เรียน Kennedy School ว่าเราอยากทำนโยบายช่วยประเทศชาติ บทบาทแรกคือการได้เป็น 1 ใน 7 คนของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดูแลเรื่องดอกเบี้ยซึ่งเป็นคนที่เด็กที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ได้ทำตำแหน่งนี้ คณะกรรมการทั้ง 7 คนจะประชุมกันแล้วโหวตว่าจะขึ้น-ลด หรือคงดอกเบี้ย เมื่อก่อนตอนทำงานแรกเราเป็นคนเดาว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางหรือแบงก์ชาติของแต่ละประเทศจะปรับค่าเงินยังไง แต่ตอนนี้เราเป็นคนตัดสินใจว่าเราจะทำอะไร เมื่อก่อนเราแปะหูไว้อยู่ใต้โต๊ะเขา แต่ตอนนี้เราเป็นคนนั่งอยู่ที่โต๊ะ   

“บทบาทที่สองคือการเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคตที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) งานของ TDRI คือให้คำปรึกษาด้านนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงิน ดิจิทัล เทคโนโลยีเทรนด์แห่งอนาคต สื่อสารเรื่องนโยบายที่คนทั่วไปรู้สึกว่าเข้าใจยากให้เข้าใจง่ายและเข้าถึงคนวงกว้างได้มากขึ้น   

“ส่วนงานที่สามคือที่ปรึกษาด้าน AI ให้คณะกรรมการของสภาประเทศซึ่งก็จะพยายามใส่เทคโนโลยีเข้าไปเวลาเขียนกฎหมาย โดยปกติคนเขียนนโยบายที่มีหน้าที่เขียนกำกับกฎหมายต่างๆ มักจะอยู่ในโลกของภาครัฐแต่ผมเป็นคนที่เคยถูกกำกับมาก่อน การเป็นมนุษย์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่เคยทำทั้งฝั่งเอกชนและธุรกิจแล้วมาทำฝั่งนโยบายทำให้เข้าใจว่าเมื่อก่อนคนที่นั่งอีกด้านหนึ่งของโต๊ะคิดยังไง มองภาครัฐยังไง

“บางทีภาคธุรกิจและภาคนโยบายพูดคนละภาษาแล้วไม่เข้าใจกัน มองคนละมุม การสลับบทบาทมาอยู่อีกด้านของโต๊ะช่วยให้เกิด empathy เข้าใจซึ่งกันและกัน สร้างมูลค่าได้เยอะและเกิด synergy ที่ส่งเสริมกัน”

ด้านการศึกษา  
Writer

Board of Governor – Rugby School Thailand

“ในด้านนี้ผมเป็นผู้ให้ความรู้ด้านการศึกษา มีงานเขียนหนังสือ อบรม จัดเวิร์กช็อป ส่วนใหญ่จะพูดเรื่องปรับองค์กรให้พร้อมสู่อนาคตและเป็นบอร์ดของโรงเรียนนานาชาติรักบี้ (Rugby School Thailand) โรงเรียนอินเตอร์จากอังกฤษที่พัทยา 

“ผมสนใจด้านการศึกษาด้วย 2 เหตุผลใหญ่ อย่างแรกคือ ยุคของ AI เกิดผลกระทบต่อการศึกษาเยอะว่าเด็กจะตกงานกันหมดไหม ต้องพัฒนาทักษะไหนถึงจะอยู่รอดและการศึกษาแบบไหนที่จะเทรนทักษะให้คนพันธุ์ใหม่ในยุค AI ได้ 

“ข้อดีของโรงเรียนอินเตอร์คือความยืดหยุ่นสูง ไม่ยึดติดอยู่กับกฎของกระทรวงศึกษาธิการทำให้สามารถปรับตัวได้เร็วมาก เช่น สอนวิชา coding สอนการใช้ ChatGPT โดยในกลุ่มผู้บริหารโรงเรียนรักบี้จะถกร่วมกันกับผู้บริหารจากอังกฤษและเนื่องจากโรงเรียนรักบี้มีสาขาในประเทศอื่นอีกก็จะมาเปรียบเทียบกันว่าโรงเรียนที่ประเทศอื่นทำยังไง อีกเหตุผลคือลูกเราก็เรียนโรงเรียนอินเตอร์อยู่ด้วย ไม่ได้เรียนที่รักบี้แต่ทำให้เกิดความอยากรู้ว่าโรงเรียนอินเตอร์บริหารกันยังไง” 

ด้านสังคม    
Adviser – TaejaiDotcom

“คนจะรู้จักเทใจ (Taejai) ในนามของแพลตฟอร์มออนไลน์บริจาคเงินแต่ความน่าสนใจของเทใจมีสิ่งสำคัญกว่านั้นคือสามารถเป็นองค์กร sandbox ที่ช่วยทดลองหาโซลูชั่นเพื่อช่วยคนกลุ่มเล็กๆ ที่ถูกมองข้ามแล้วนำโครงการที่มีประโยชน์ไปขยายผลต่อทีหลังได้

“ปัญหาของการวางนโยบายคือบางทีมันกว้างมาก คิดขึ้นมาสำหรับคนส่วนใหญ่หรือคนบางกลุ่ม แต่จะมีกลุ่มที่หลุดไปเลยและไม่ได้ประโยชน์จากตรงนี้ เช่น มีนโยบายเพื่อการศึกษาเยอะมากแต่ไม่ค่อยมีใครทำนโยบายเพื่อเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา เทใจก็จะมีโครงการหรือองค์กร NGO ที่เข้าใจ pain point และทำโครงการเพื่อกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

“ที่ผ่านมาผมจะเป็นที่ปรึกษาช่วยดูโครงการในเทใจว่าน่าทำโครงการไหน ทำอะไรแล้วน่าจะเวิร์ก โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมาจะค่อนข้างแอ็กทีฟ เพราะมีกลุ่มคนที่ตกหล่นอยู่เยอะ สิ่งที่ทำคือแทนที่จะคิดทีละโครงการก็ทำพอร์ตขึ้นมาเลยว่ามีคนกลุ่มไหนบ้างที่ควรคำนึงถึง 

“ทั้งคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด คนที่หลุดจากระบบการศึกษา ผู้สูงอายุที่ป่วย คนที่ตกงานจากภาคการท่องเที่ยว คนที่มีสุขภาวะทางจิต ซึ่งโครงการเหล่านี้ก็ช่วยเหลือคนตัวเล็กที่ถูกมองข้ามได้ดีมาก” 

ด้านเอกชน
Business Adviser and Investors
Co-founder and Director – Academy of Changemaker Excellence (ACE) 

“บทบาทสุดท้ายคือเป็นที่ปรึกษาและลงทุนธุรกิจในไทยและต่างประเทศ หนึ่งในงานสำคัญคือการสร้าง Academy of Changemaker Excellence หรือ ACE ไอเดียคือจับมือกับ ต้อง–กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร และ Cariber (คอร์สเรียนออนไลน์สอนโดยผู้นำของทุกวงการ) เพราะอยากสร้างคอมมิวนิตี้พื้นที่ปลอดภัยให้ผู้นำรุ่นใหม่ รวม changemaker ที่พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรหรือสังคมในทางที่ดี

“โครงการเราไม่เน้นปาร์ตี้  มีผู้ใหญ่ไม่กี่ท่านที่เชิญมาพูดและเมื่อมาพูดก็ไม่ได้สอน แต่เน้นมาแชร์ประสบการณ์ของตัวเองและเรียนรู้จากกันและกันว่าเวลาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเจออะไรมาบ้าง มันเป็นที่ที่เราไม่ได้มาอวดกันเรื่องความสำเร็จ ส่วนใหญ่มาแชร์ความเปราะบางว่าเราเจออะไรยากๆ ในชีวิตมาบ้าง อะไรเป็นจุดที่เราท้อและเหนื่อย เพราะทุกคนใน ACE จะมีทั้งถ้วยรางวัล บาดแผล และความเหงา เป็นสามจุดร่วม

“แต่ละคนต่างเคยพยายามทำสิ่งที่ประสบความสำเร็จแต่กว่าจะได้รางวัลมาก็มีแผลเยอะเหมือนกัน และมีความเหงาที่พอเติบโตขึ้นมาถึงจุดหนึ่งแล้ว คนในองค์กรที่เคยเป็นเพื่อนเราก็อาจจะคุยด้วยไม่ได้แล้ว ระยะเวลาคอร์สแค่ 2 เดือนแต่พอเรียนจบแล้ว มันกลายเป็นคอมมิวนิตี้ที่ยังเจอกันและช่วยเหลือกันต่อ คอมมิวนิตี้แบบนี้คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเติมความรู้และเติมไฟให้แก่กันและตอนนี้ก็ทำมาถึงรุ่นที่ 2 แล้ว”

บทส่งท้าย 

“การทำงานในภาครัฐและเอกชนมีความแตกต่างกันมากและมีข้อดีคนละอย่าง ภาครัฐมีข้อดีคือเห็นภาพใหญ่ว่าแต่ละส่วนเชื่อมโยงกันยังไง ข้อเสียของภาครัฐคือไม่เข้าใจภาคเอกชนและธุรกิจ ผมเปรียบเทียบเหมือนกับครูที่ลืมไปว่าตอนตัวเองเป็นนักเรียนเป็นยังไงหรืออาจไม่เคยเป็นนักเรียนทำให้เวลาออกกฎกติกาไม่เข้าใจว่านักเรียนคิดยังไง นี่คือความท้าทายของภาครัฐซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะยุคนี้เปลี่ยนเร็วด้วยและมักมีวัฒนธรรมองค์กรที่ระวังความเสี่ยงมาก 

“ส่วนภาคเอกชนมีข้อดีคือกล้าเสี่ยง พร้อมขยับและปรับตัวเร็วกว่า มีตัววัดที่ชัดเจน แต่ก็มีข้อเสียคือบางทีมองไม่เห็นภาพใหญ่ เข้าใจสิ่งที่องค์กรตัวเองทำแต่ไม่เข้าใจอีกมุมหนึ่ง เช่น วัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างหรือการสร้างอิมแพกต์ของภาคส่วนอื่น แต่มันก็มีข้อดีที่มาเสริมซึ่งกันและกัน

“ที่ผ่านมาชีวิตการทำงานมี Twists and Turns ทุกตอนเลยแล้วแต่ช่วงชีวิต แต่ตอนที่ท้าทายที่สุดคือช่วงสุดท้ายตอนออกจากงานประจำมาทำงานแบบพอร์ตโฟลิโอเพราะมันเป็นความท้าทายที่ไม่เคยมีใครบอกเราว่าต้องทำยังไง 

“ช่วงแรกของการเซตอัพพอร์ตการทำงานเหล่านี้จะมีความยากนิดนึง อาชีพอื่นเป็นเหมือนเซตเมนูที่มีมาให้แล้วและมีความคาดหวังที่ตรงไปตรงมาว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง แต่ตอนนี้มันเหมือนเราทำทุกอย่างที่ออกนอกคู่มือหมด มันเป็นงานเฉพาะที่เขียนหน้าที่ขึ้นมาเอง

“ความยากคือมี freedom เยอะแต่ไม่มี free time เท่าไหร่ มันยุ่งมากแต่เป็นการยุ่งที่มีความสุขเพราะว่ามีอิสระในสิ่งที่ตัวเองทำ เราทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกเพื่อประเทศ เพื่อสังคม เพื่อการสร้างอิมแพกต์โดยไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผมคิดว่าสิ่งนี้ช่วยให้มีความสุขและเบาใจ”    

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like