Wall of Frame

คุยกับเฮียเหลา ถึงเบื้องหลังความสำเร็จของ ‘แสงชัยโภชนา’ ร้านข้าวต้มที่รูปคนดังเต็มกำแพง

สำหรับคนที่ชอบดื่ม กิน เที่ยว เย็นย่ำร่ำราตรี คุณคงมีลิสต์ร้านข้าวต้มยามดึกอยู่ในใจมากมาย เพราะร้านข้าวต้มมักเป็นหมุดหมายที่นักเที่ยวพากันไปนัดพบ ไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังการตระเวนค่ำคืน

สำหรับร้านข้าวต้มรอบดึกในกรุงเทพฯ เสน่ห์ของแต่ละร้านอาจจะแตกต่างกันออกไป บางร้านมีดีที่ที่ตั้ง บางร้านมีดีที่รสชาติ บางร้านมีดีที่ราคา บางร้านมีดีที่เมนู บางร้านมีดีที่บรรยากาศ

แต่ถ้าเราพูดถึงร้านข้าวต้มบนถนนสุขุมวิทย่านทองหล่อ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงไม่มีใครไม่คิดถึง และไม่มีใครไม่รู้จักร้านข้าวต้มร้านนี้ ที่ไม่ได้มีดีเพียงแค่รสชาติ ทำเล เมนู แต่ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะทั้งส่งเสริมและลงตัวกันเป็นอย่างดีไปเสียหมด

เกียมบ๊วยต้มหมูสับร้อนๆ ปูเนื้อแน่นนึ่งนมสด เป็ดพะโล้หอมๆ กับข้าวต้มอุ่นเบาสบายท้อง คือเมนูแรกๆ ที่เรานึกถึงเมื่อคิดถึงร้านข้าวต้มร้านนี้

ร้านข้าวต้มที่ชื่อ ‘แสงชัยโภชนา’

ใครที่เคยมาเยือนแสงชัยโภชนาย่อมรู้ดีว่าสิ่งที่จะบันเทิงเรานอกจากอาหารจานเด็ดที่วางตรงหน้า ยังมีรูปภาพของคนดังมากมายหลายวงการที่ติดเรียงรายอยู่เต็มกำแพงสองฝั่งของร้าน เนื่องจากร้านเปิดมาหลายสิบปี คนดังหลายยุคหลายสมัยต่างเวียนผ่านมาฝากท้องยามดึกที่นี้ทั้งสิ้น มองดูไป กำแพงของร้านแสงชัยโภชนาจึงเป็นคล้ายพิพิธภัณฑ์เก็บภาพประวัติศาสตร์ของวงการคนดังเมืองไทยยังไงยังงั้น

นอกจากจุดเด่นที่ว่ามา อีกสิ่งที่เป็นเสน่ห์ของร้านแสงชัยคือชายผู้เป็นเจ้าของร้าน อย่าง เฮียเหลา–สมชาย จิตรเจริญวิรกุล

ชายหนุ่มรุ่นใหญ่ ผมสีดอกเลา รูปร่างสันทัด ท่าทางกระฉับกระเฉงคนนี้ทำหน้าที่ทั้งเดินเสิร์ฟ ยืนสั่งการ ยืนคิดเลข เดินวนเวียนอยู่ในร้านแสงชัยทุกวันทุกคืนที่ร้านเปิด เขาคนนี้เป็นทั้งเจ้าของร้าน เป็นแคชเชียร์ เป็นเด็กเสิร์ฟ เป็นพ่อครัว และเป็นคนที่เห็นการเติบโตของแสงชัยโภชนา มาตั้งแต่วันแรกๆ ที่ร้านนี้เปิดกิจการ 

ว่าแล้วเราก็เริ่มสั่งเมนูที่คิดถึงและข้าวต้ม ก่อนบทสนทนากับเฮียเหลาจะเริ่มขึ้น

เสื่อผืนหมอนใบในเสือป่า

บทสนทนาเริ่มต้นด้วยคำถามที่ร้านข้าวต้มตรงทองหล่อร้านนี้เปิดมามานานหรือยัง เพราะในความทรงจำเราพบว่าร้านนี้อยู่ที่นี่มาตั้งแต่แรกรู้จัก

 “โอ๊ย ร้านแรกไม่ได้เปิดตรงนี้ ร้านแรกเปิดแถวปทุมวัน ถ้าให้เล่านี่ยาวเลยนะ” เฮียเหลาตอบด้วยน้ำเสียงกระฉับกระเฉง ก่อนภาพในอดีตจะถูกฉายบนโต๊ะที่อาหารเริ่มทยอยมาเสิร์ฟ

“ร้านนี้เปิดก่อนผมเกิด 1 ปี ผมเกิด 2508 คุณพ่อเปิดร้านข้าวต้ม ปี 2507 ก็เปิดมา 59 ปีแล้ว เส้นทางก็ โอ้โห อย่าให้เหลาเลย” เล่าถึงตรงนี้เฮียเหลาก็หัวเราะเสียงดัง “เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นตอนที่ผมยังเด็ก ผมก็อาศัยฟังเอามาจากพี่สาวและคุณแม่นะ ก่อนอื่นต้องเกริ่นก่อนว่า ครอบครัวของผมทั้งคุณพ่อและคุณแม่นั่งเรือสำเภามาจากเมืองจีน พูดภาษาไทยไม่ได้เลย ตอนเด็กๆ ผมจำความได้ผมก็อยู่ในบ้านเช่าเล็กๆ แถวปทุมวัน แล้วคุณพ่อก็ไปเป็นบริกรที่ร้านอาหารร้านหนึ่งในย่านเสือป่า ซึ่งสมัยก่อนนั้นร้านนี้ถือเป็นร้านที่ดังมาก ลูกค้าประจำคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 

“ตอนนั้นที่พ่อผมทำงาน คุณพ่อเขามีเพื่อนร่วมงานที่สนิทกันคนนึง สนิทกันมาก ถึงขั้นขนาดที่ว่ามาลงทุนเปิดร้านด้วยกัน ก็ลงทุนเปิดตอนปี 2507 ปีที่ผมยังไม่เกิดนั่นแหละ พี่สาวเล่าให้ผมฟังว่า ตอนนั้นพ่อผมกับเพื่อนไปลงทุนเปิดร้านด้วยกันตรงข้ามช่างกลปทุมวัน ข้างๆ สนามกีฬาศุภชลาศัย แล้วก็ไม่เวิร์ก”

“ตอนนั้นทำไมไม่เวิร์ก” เราถามด้วยความสงสัย

“เพราะสมัยก่อนร้านอาหารแบบนี้ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่ แล้วก็เปิดถึงแค่เที่ยงคืนก็ไม่มีลูกค้าแล้ว ขายได้เพียงแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้นเอง จากนั้นก็ขยับย้ายไปเรื่อย แต่ยังอยู่ในย่านรองเมือง ปทุมวัน 

“แต่ถ้าจะเอาตอนที่ผมจำความได้ ก็กระโดดมาที่สุขุมวิทแล้ว”

ประชาชนชาวสุขุมวิท

คะเนเอาคร่าวๆ ด้วยสายตาและความไม่รู้ของเรา ราคาของที่ดินตรงย่านสุขุมวิทโดยเฉพาะอย่างยิ่งโซนแถบตอนกลาง ทั้งอโศก พร้อมพงษ์ ทองหล่อ เอกมัย คงสูงลิบลิ่ว เราจึงสงสัยว่ากับร้านข้าวต้มที่เฮียเหลาเองก็ออกตัวว่ายัง ‘ไม่เวิร์ก’ ขายยังไม่ดี ทำไมจึงกล้าย้ายมาอยู่ในย่านที่ราคาที่ดินและค่าเช่าที่แพงขนาดนี้

“โอ๊ย ตอนนั้นไม่แพงเลย สมัยนั้นกลางคืนทองหล่อมืดมาก เปลี่ยวมาก ทุ่มนึงไม่มีใครเข้าไปแล้ว ปากซอย 55 ยังเป็นกระต๊อบอยู่เลย มีแค่ไฟนีออนดวงเล็กๆ เงียบมากๆ พระโขนงนี่ยังเป็นป่าอยู่เลยนะ สุขุมวิทซอย 22 ซอย 24 ที่เราเห็นว่ามันเจริญๆ ไปได้แค่ครึ่งซอยเท่านั้น อีกครึ่งซอยที่เหลือเป็นป่ากก เข้าไปไม่ได้

“ตอนนั้นเรามาเปิดที่ก่อนถึงปากซอยทองหล่อไม่กี่คูหา เปิดเป็นร้านข้าวต้มสไตล์อย่างนี้ แต่สมัยนั้นอาหารจะมีไม่กี่อย่าง จะมีก็แค่เป็ดพะโล้ จับฉ่าย หน่อไม้ ก็คืออาหารพื้นๆ กินกับข้าวต้ม สมัยก่อนจะมีลูกค้า 2 ช่วงเวลา ตอนเช้าถึงเที่ยง แล้วก็จะหยุดพัก แล้วจะมาเปิดอีกทีคือช่วงเย็น เปิดจนถึงตี 2 ตี 3 กุ๊กที่ผัดกับข้าวก็คือคุณแม่ แล้วคนเตรียมของที่อยู่หน้าร้านก็คือพ่อของผม เพราะสมัยก่อนหาลูกน้องยากมาก ได้ลูกน้องมาแค่ 2-3 คนเอง แล้วสมัยก่อนพูดตรงๆ ว่า ถ้าเขาไม่ถูกใจเรา เราว่าเขาคำนึง เขาไปเลย ก็เลยลุยกันสองคน ขายอยู่ตรงนี้ได้สัก 5-6 ปีก็หมดสัญญา แต่พ่อผมเริ่มเห็นแล้วว่าเราเริ่มมีลูกค้าแล้ว”

“แต่เฮียบอกว่า สมัยก่อนสุขุมวิท แถวทองหล่อเป็นถนนเงียบๆ แล้วลูกค้าที่ร้านเป็นใคร” เราถามเฮียด้วยความสงสัย

“ลูกค้ารอบดึกของผมสมัยก่อนจะเป็นกลุ่มคนขับแท็กซี่ สามล้อ สมัยนั้นแท็กซี่ยังไม่มีมิเตอร์เลย ก่อนเขาจะเอารถส่งอู่ ก่อนจะเข้ากะ เขาจะมารวมๆ กัน กินเหล้าหนึ่งแบน กินอาหาร 4-5 อย่าง แล้วก็แชร์ๆ กัน พอเริ่มจับจุดลูกค้าได้แล้วหมดสัญญา คุณพ่อก็คิดว่าทำยังไงดี พอดีว่าแถวนั้นมีอีกคูหานึงเขาให้เช่าให้เซ้ง คุณพ่อก็ย้ายมาขายตรงนี้แทน ตอนนั้นก็เริ่มใช้ชื่อร้านโดยมีคำว่า ‘แสง’ แล้ว”

แสงไฟ แสงฟ้า และแสงชัย (โภชนา)

จากทองหล่อที่เป็นป่ากก ปีแล้วปีเล่าที่ผ่านไปนอกจากแสงไฟจากทางหลวงเริ่มสาดส่องเข้ามายังซอยสุขุมวิทให้สว่างไสวขึ้นเรื่อยๆ ยังมีอีกแสงหนึ่งที่คอยส่องทางสว่างให้ย่านสุขุมวิท-ทองหล่อเช่นกัน แต่แสงนี้ไม่ได้ส่องแค่ให้ความสว่าง แต่ยังให้ความคึกคักเกิดขึ้นแก่ปากซอยสุขุมวิท-ทองหล่ออีกด้วย

“เมื่อก่อนชื่อร้านจะใช้คำว่า อมร, อมรมิตร, มิตรเจริญ อะไรประมาณนี้ พอย้ายมาคูหานี้พ่อเริ่มใช้คำว่า ‘แสง’ รู้สึกจะเป็นชื่อ แสงฟ้า คุณพ่อก็อยู่ที่คูหานี้ได้ประมาณ 3 ปี ก็หมดสัญญาอีก แล้วเจ้าของตึกเขาก็มาบอกกะทันหันว่ามีคนมาขอซื้อตึกนี้ ทีนี้เราก็เคว้ง ต้องปล่อยลูกน้องหมดเลย แต่โชคดี มีเพื่อนคุณพ่อที่เป็นเจ้าของตึกแถวนี้ ซึ่งเป็นตึกที่ปัจจุบันนี้เราใช้เตรียมอาหารกันนี่แหละ เมื่อก่อนมันเป็นร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างมาก่อน ก็ไม่รู้อะไรดลใจให้เขามาคุยกับพ่อผม เขามาบอกว่าเขาจะย้ายไปอยู่ที่อ่อนนุช-ลาดกระบังนะ ตึกตรงนี้เขาจะขาย แต่เขาขอเวลา 1 ปี ซึ่งช่วงเวลาก่อนเขาจะย้ายออก 1 ปีนั้นเป็น 1 ปีที่แสนสาหัสมาก”

“แสนสาหัสยังไง”

“ปกติเราขายอาหาร ข้าวเราไม่ต้องซื้อ น้ำแข็งเราก็ไม่ต้องซื้อ นี่เราหยุด 1 ปี แม้แต่น้ำแข็งถ้าเราจะกินเรายังต้องซื้อเลย สมัยก่อนน่ะน้ำแข็งซื้อกันที่ 50 สตางค์ แล้วเราไปซื้อแค่ 50 สตางค์ คนแถวนี้เขาก็ไม่ค่อยอยากจะขาย”

ช่วงเวลาที่ต้องรอจนครบ 1 ปี เป็นช่วงเวลาที่แสนลำบากของครอบครัวเพราะขาดทั้งรายได้ และยังมีรายจ่าย ทั้งการซ่อมแซม ตกแต่งเตรียม และแปลงโฉมคูหาทั้งหมดจากร้านขายวัสดุก่อสร้างให้พร้อมเปิดเป็นร้านข้าวต้มซึ่งต้องใช้เงินก้อนโต

“ตอนนั้นพ่อผมก็คิดว่าจะทำยังไงดี คือพ่อผมเขาเคยไปยืมเงินพ่อตามา ซึ่งตอนนั้นที่ไปยืมเงินพ่อตามา พ่อผมก็โดนตำหนิมาแล้วรอบนึง ตำหนิว่าจะทำได้เหรอ ไม่มีเงินแบบนี้จะทำได้เหรอ ซึ่งนั่นก็เป็นแรงฮึดสู้ที่ทำให้พ่อผมไม่เคยถอยจากการทำร้านข้าวต้ม แต่พอเงินก้อนนั้นหมดแล้วต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในการทำร้านอีก คุณพ่อผมก็ไปเล่าให้เพื่อนสนิทคนนึงฟัง เขาก็ให้เงินก้อนนึงมาปรับปรุงร้าน ก็ต้องขอบคุณเพื่อนพ่อผมคนนี้มากเลย เขาชื่อว่า อาจิวเจ็ก เขาไม่คิดดอกเลย มีก็จ่าย ไม่มีก็ไม่เป็นไร เขาก็ให้เงินมาเปิดร้าน”

เราก็อนุมานความเอาเองว่าการตั้งร้านใหม่ของพ่อเฮียเหลาคราวนี้ ครอบครัวเฮียเหลาอาจถือเป็นฤกษ์ดีในการตั้งชื่อร้านใหม่ จากชื่อ ‘แสงฟ้า’ เป็น ‘แสงชัย’ หรือเปล่า

“ไม่ใช่” เฮียเหลาตอบทันที

“จุดเปลี่ยนที่ทำให้เปลี่ยนชื่อจาก แสงฟ้า เป็น แสงชัย คือเมื่อ 22 ปีที่แล้ว

“ตอนที่พี่ชายผมเสีย”

พี่ชายที่แสนดี

ถ้าว่าเอาตามเนื้อเพลง พี่ชายที่แสนดี ของ รวิวรรณ จินดา พี่ชายจะคอยคุ้มภัยเมื่อมีใครมารังแกน้อง สิ่งใดที่น้องใฝ่ฝันจะเอื้อมมือไปหยิบจับ หรือทางไหนที่น้องฝันจะเดินไปให้ถึง พี่ชายจะยอมแบกรับน้ำหนักให้น้องขี่คอพี่ให้สูงชันแล้วก้าวเดินไปเอง ความสัมพันธ์แบบพี่ชาย-น้องชายที่แสนดี ของเฮียเหลากับพี่ชายเองก็ไม่ได้ไกลเกินไปกว่าเนื้อเพลงของคุณรวิวรรณเลย

“ผมมีพี่ชายกับน้องชาย พ่อผมมีลูกชาย 3 คน ผมเป็นคนกลาง น้องชายคนเล็กผมปลีกตัวไปเปิดร้านขายยางรถยนต์แถวพุทธมณฑล ทีนี้ร้านนี้เราก็ลุยกันมาสองคน ผมกับพี่ชาย ทำร้านข้าวต้มที่ไปยืมเงินอาจิวเจ็กมาเปิดนี่แหละ แต่ช่วงแรกที่ทำร้านมันก็ยังไม่ดี ”

เขาว่ามาตรฐานคำว่า ‘ดี’ ของคนเรามักแตกต่างกัน เราจึงถามเฮียเหลาให้ขยายความสักหน่อย ว่าคำว่า ‘ไม่ดี’ ที่ว่าหมายความว่ายังไง

“เรียกว่าไม่ได้เรื่องเลยดีกว่า ขายไม่ได้เลย เชื่อไหมครับ ผมกับพี่ชายเราสองคนผลัดกันขับรถเล่นเวลาไม่มีลูกค้า แต่เราสองคนจะใช้คำว่าเซอร์เวย์ แบบ เฮ้ย เดี๋ยวขอไปเซอร์เวย์ก่อนนะ คือบางทีมันก็ขี้เกียจทำงาน ผมก็จะขับรถออกไปจอดนอนข้างทางเป็นชั่วโมงๆ แล้วพี่ชายก็เฝ้าร้านไป แล้วบางทีก็เป็นพี่ชายออกไปขับรถสลับกันแบบนี้ คือมันไม่มีคนเลย

“ตอนนั้นเป็นผมกับพี่ชายผมสองคนดูแลร้านข้าวต้ม แกก็ทำมาหลายสิบปีแล้วแกก็วางมือ แต่ยังต้องไปแจงรายรับ-รายจ่ายให้แกฟังทุกวัน ซึ่งคุณพ่อกับพี่ชายผมไม่ค่อยจะกินเส้นกัน สรุปคือต้องเป็นผมที่เป็นคนไปสรุปให้คุณพ่อฟัง 

“เชื่อไหม ผมกับพี่ชาย พี่น้องสองคนต้องเอาเงินตัวเองใส่เข้าไปทุกวันเลย เพราะไม่อยากให้พ่อผมเครียด ไม่อยากให้พ่อรู้ว่าเราขายไม่ค่อยได้ นี่ขนาดผมสองคนเติมเงินเข้าไปแกยังบ่นเลย ว่าขายยังไง วันนึงได้แค่นี้ แต่เรากับพี่ชายก็คิดว่า ลองดู ลองทำต่อ ผมนี่ต้องไปนั่งปรึกษาเฮียคนนึง เขาเปิดร้านแถวหนามแดง แล้วผมเห็นเขาขายดี ผมก็ไปปรึกษาเขา ไปนั่งปรับทุกข์ ร้องไห้กับเขา เขาก็บอกว่าเขาก็ไม่รู้จะให้คำปรึกษายังไงเพราะมันก็อยู่ที่ดวงด้วย ถ้าใจรักก็สู้ไปเหอะ สักวันนึงมันก็จะดี ผมก็กลับมาเล่าให้พี่ชายฟัง 

“พอทำไปทำมา ทำท่าว่าจะดี แล้วพี่ชายผมก็เสีย”

จะโอบรับไว้ ไม่ให้เธอร่วงหล่น

นอกจากคุณพ่อที่บุกเบิกกรุยทางร้านข้าวต้มมาให้เฮียเหลา และพี่ชายที่แสนดี ที่ร่วมกันฟันฝ่าทุกความลำบากมาด้วยกันกับเฮียเหลา ทั้งโต้คลื่นแห่งความผิดหวังและเสียใจในวันที่ไร้ลูกค้ามาจนถึงวันที่กิจการเริ่มเข้าที่เข้าทางขึ้น ชีวิตของเฮียเหลายังมีผู้โอบรับไว้ไม่ให้เฮียเหลาร่วงหล่นอีกคนในวันที่ท้อใจ 

คนคนนั้นคือหญิงสาวผู้เป็นภรรยา

“ตอนพี่ชายผมเสีย ผมไม่เอาอะไรเลย ผมไม่เอาอะไรเลยจริงๆ ตอนนั้นผมบอกกับคุณพ่อว่าผมจะเลิก พ่อก็ย้อนถามย้ำกับผมว่า ผมจะเอายังไง ผมนี่ไม่พูดไม่จาเป็นอาทิตย์เลยนะ จะเลิกอย่างเดียว พ่อก็ถามผมอีกว่าแล้วลูกน้องล่ะ จะเอายังไง ผมก็บอกว่าผมไม่รู้ ผมไม่มีความคิดอะไร ผมจะเลิกอย่างเดียว ตอนนั้นแฟนผมก็บอกว่า อย่าเลย ให้ลองดูสักตั้งก่อน เพราะเส้นทางสายร้านอาหารนี่เราก็เดินทางมาเกือบจะทั้งชีวิตของเราแล้วนะ ไอ้ผมก็คิดว่าเมื่อก่อนทำกันมาสองคน ดูแลลูกน้องมา 20 กว่าคน แล้วมาตอนนี้เหลือเราคนเดียว เราจะดูแลไหวไหม”

จะด้วยความเสียใจที่ผสมปนเปกับความไม่มั่นใจในตัวเองเพราะขาดคู่หูคนสนิทอย่างพี่ชายไป หรือทั้งสองเหตุผลก็ตามแต่ แต่กำลังใจที่สำคัญจากภรรยาเฮียเหลาก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผลักดันและพยุงให้เฮียเหลาไม่ร่วงหล่นไปกับกองความเศร้ายามเมื่อเสียพี่ชายไป และตัดสินใจเดินหน้ากิจการแสงชัยโภชนาต่อ

“ผมก็ลองทำคนเดียวดู มันก็พอได้”

บทเรียนร้านข้าวต้ม

“เฮียคิดว่าจุดเปลี่ยนจากที่ไม่มีคนเลย เป็นร้านที่ขายดีขึ้นมาได้คืออะไร” เราเริ่มสงสัยว่ามันน่าจะมีอะไรบางอย่างที่มันเปลี่ยนไปหรือไม่กับการบริหารงานของเฮียเหลา

“ผมคิดว่ามันมีหลายจุดนะที่ทำให้ขายดี ที่ผมจับจุดได้ชัดๆ คือเด็กที่ร้าน สมัยก่อนเด็กที่ร้านนี่เปลี่ยนบ่อยมาก เราว่าเขาไม่ได้ ว่าไปเขาก็ลาออก ว่าไปเขาก็ลาออก ทีนี้ลูกค้าก็ตำหนิมาว่า ทำไมร้านข้าวต้มเฮียเปลี่ยนเด็กบ่อยมากเลย มันไม่ดีนะ เพราะจริงๆ แล้วเด็กที่ร้านนี่คือหัวใจหลักของร้าน เพราะพวกเด็กที่ร้านเขาจะรู้ว่าลูกค้าคนนี้มา เขาจะกินอะไร เขาจะรู้ ถ้าเราเปลี่ยนบ่อยมันก็ไม่ดี ทีนี้เด็กชุดนี้ของผมตอนนี้นี่อยู่มานาน และเด็กชุดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นญาติกัน คือเราดูแลเด็กที่ร้านเหมือนเขาเป็นพี่น้องกับเรา นี่คือเรื่องจริง”

“ดูแลยังไงที่ว่าดูแลเหมือนพี่น้องกัน” เราถาม

“อย่างแฟนผมตอนเขาไปต่างจังหวัด เขาจะบอกแล้วว่า เดี๋ยวจอดรถตรงนี้หน่อยๆ เขาจะซื้อของฝากให้เด็กที่ร้านนะ ซื้อมาพะรุงพะรังเลย แล้วเวลาเราขออะไรเด็กบ้างเขาก็ยอมฟังเรานะ เช่น เราขอเขาว่าถ้าจะกลับบ้าน ขอให้บอกก่อน อย่าไปแบบปุบปับ เราจะได้หาคนมาแทน แต่เชื่อไหม ทุกวันนี้ผมไม่ต้องหาคนมาแทนแล้ว เพราะถ้าเด็กเขาจะกลับบ้าน เขาจะไปหาญาติไปหาคนมาแทนให้ผมเองเลย แล้วก็ฝากฝังกันว่า อยู่กับเจ๊อยู่กับเฮีย อย่างอแงนะ เพราะเจ๊กับเฮียเขาดูแลดีนะ”

“นอกจากพนักงานที่อยู่กับเรานานขึ้น ทนขึ้น เฮียคิดว่ามีเหตุผลอื่นอีกไหมที่ทำให้เฮียขายดีขึ้น” เราถามต่อ

“ผมว่าเป็นเพราะเราใช้ของที่มีคุณภาพดีขึ้น คือสมัยก่อนตอนนั้นเราขายไม่ค่อยดี พอขายไม่ดีเราก็ไม่มีทุน เราก็เลยต้องใช้ของถูกหน่อย โดยเฉพาะของทะเล อันนี้ผมก็ยอมรับว่าช่วงนั้นเราใช้ของเกรดต่ำๆ แต่ตอนนี้เราก็ใช้ของเกรดเอ คือเราบอกที่ตลาดเลยว่าราคาเราไม่เกี่ยง แต่ขอให้เป็นของดี ถ้าของไม่ดีนี่เราตีคืนนะ

“และผมว่าอีกอย่างคือ ลูกค้าที่มาที่ร้านแสงชัย ทุกคนจะรู้ว่าผมจะเป็นคนที่ดูแลลูกค้าเองทุกโต๊ะ ทุกโต๊ะจริงๆ ผมลงมาที่ร้าน 5 โมงเย็นจนถึงผมปิดร้าน ผมวิ่งหาลูกค้าทุกโต๊ะ ผมว่าลูกค้าติดใจเพราะตรงนี้ จริงๆ มีอยู่วันนึงลูกชายคนโตผมทักว่า ป๊า ทำไมป๊าต้องวิ่งขนาดนี้ ทำไมป๊าไม่พัก ทำไมป๊าไม่นั่งคิดตังค์ที่เคาน์เตอร์อย่างเดียว 

“คือเราโตมาอย่างนี้ เราเหนื่อยนะ แต่ผลที่มันได้รับกลับมามันคุ้มค่ามาก เราก็คิดอย่างนี้ ทุกวันนี้ข้อขาผมไม่ค่อยดีนะ แต่เรายังสนุกกับการทำงาน ให้ผมนั่งอยู่เฉยๆ ผมทำไม่เป็นหรอก”

Wall of Frame, Wall of Fame

กำแพงร้านทั่วไปอาจสวยงามด้วยวอลเปเปอร์หรือลวดลายของกระเบื้อง แต่กำแพงของร้านแสงชัยงดงามด้วยภาพของลูกค้าคนดังมากมายของเฮียเหลาและร้านแสงชัย

“มีคนดังมากินข้าวที่ร้านเยอะแบบนี้เราเกร็งบ้างไหม” เราถามเฮียขณะซดน้ำข้าวต้มไปด้วย

“ยอมรับว่าตอนแรกก็เกร็งเหมือนกันนะ อย่างอาทิตย์ที่แล้วมีรัฐมนตรีท่านหนึ่งมากินข้าว เราก็เกร็ง แต่เราก็เข้าไปบริการท่านปกติ ไปทักนั่นทักนี่ เพราะตัวเราคือตัวเรา คือคนดังมาเราก็บริการเหมือนลูกค้าทั่วไป”

“แล้วว่ากันถึงกำแพงของร้านเฮียที่มีแต่รูปคนดังมันมีที่มายังไง” เราสงสัย

“ทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากหลานผม เขาพูดประจำเลยว่า ทำไมอากู๋ไม่ขอถ่ายรูปดาราที่มาร้าน คือผมเป็นคนขี้อายมาก อายมากๆ เลยนะ นี่เล่าไปก็เสียดาย ผมไม่ได้ถ่ายรูปกับศิลปินกลุ่มนึง ตอนนั้นเขาดังมาก ดังมากๆ จากเรื่อง สามหนุ่มสามมุม กบ มอส แท่ง คุณรู้จักไหม ตอนนั้นดังมาก และกำแพงผมยังไม่มีรูปใครเลยสักคน แต่ผมก็ไม่กล้าขอเขาถ่ายรูป เล่าไปแล้วก็เสียดาย 

“สรุปแล้วคนแรกที่ผมไปขอเขาถ่าย คือ พี่ปุ๊–อัญชลี จงคดีกิจ คือพี่ปุ๊เขาสนิทกับผมมาก เขามานั่งทาน ผมก็คิด เอาไงดีวะ ไอ้ผมก็เขิน ผมก็เดินไปบอกเขาว่า พี่ปุ๊ ถ้าผมจะขออนุญาตถ่ายรูปกับพี่ปุ๊จะได้ไหม พี่ปุ๊ก็งง เพราะยังไม่รู้จุดประสงค์ ผมก็เลยต้องบอกว่า คือผมจะขอถ่ายรูปพี่ปุ๊แล้วเอารูปพี่ปุ๊มาติดกำแพงได้ไหม พี่ปุ๊บอกว่า ยินดีค่ะ (ลากเสียงยาว)”

และจากภาพแรกภาพนั้น ก็กลายเป็นกำแพงที่เต็มไปด้วยภาพถ่ายอย่างในปัจจุบัน

วันงาน Big Mountain = วันหยุดร้านแสงชัย

ร้านก็เริ่มมีลูกค้าประจำหลั่งไหลมามากมาย นอกจากจำนวนลูกค้าที่ผลัดเปลี่ยนมาชิมอาหารรอบดึกของเฮียเหลาอย่างไม่ขาดสายทุกวัน รูปภาพบนกำแพงของร้านแสงชัยก็การันตีว่าคนดังจำนวนมากก็เป็นแฟนของร้านแสงชัยมากมายด้วยแล้ว เราสงสัยต่อว่ามีอะไรอีกไหมที่เฮียฝันอยากจะทำ เพราะเหมือนกับว่าทั้งชีวิตของเฮียตั้งแต่เกิดจนปัจจุบันเฮียผูกพันกับการทำงานร้านข้าวต้มมาตลอดชีวิต 

“ถ้าบอกตรงๆ เลยนะ อยากมีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น ต้องการเวลาพัก ชีวิตผมเป็นชีวิตที่ขาดช่วงนะ ผมไม่มีชีวิตช่วงวัยรุ่น เพราะคุณพ่อผมนี่เฮี้ยบมาก ผมเป็นเด็กปทุมคงคา ท่านตั้งเวลาเลยนะ โรงเรียนเลิก 3 โมงครึ่ง ถ้า 4 โมง ผมไม่ถึงบ้านนี่โดนไม้เรียวนะ แล้วผมทำงานตรงนี้ เวลาผมเดินไปเก็บตังค์ลูกค้า ผมได้ยินลูกค้าที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นพูดกันก่อนจะไปปาร์ตี้ว่า มาไหม กูอยู่นู่น กูอยู่นี่ คำพูดพวกนี้สะกิดใจผมมากเลย

“คุณเชื่อไหมชีวิตผมไม่เคยมีแบบนี้นะ ไม่เคยได้เที่ยวแบบนี้ ไม่เคยแม้แต่จะได้ทานข้าวร่วมโต๊ะกับเพื่อน ไม่มีนะ นี่ผมอายุจะ 60 แล้ว ผมไม่เคยทานข้าวกับเพื่อน ชีวิตผม เรียนหนังสือเสร็จต้องกลับบ้าน กลับถึงบ้านต้องทำงาน พอวันนี้ที่เรามาเป็นพ่อค้าเต็มตัวยิ่งไปกันใหญ่ ครึ่งวันทำงาน ครึ่งวันนอน ไม่มีเวลากับเพื่อน มีแต่โทรศัพท์คุยกันเท่านั้น” 

“ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ไปไหนมาไหนกับเพื่อนเหรอ” เราถามต่อด้วยความสงสัย

“ไม่มี ไม่ได้ไป เพื่อนเขาไปต่างจังหวัดกันเป็นก๊วน ก็พยายามมาชวน เราก็ไม่อยากไป ผมไปไม่ได้ เพราะถ้าแสงชัยเปิดต้องมีเฮียเหลา และถ้าเราไปแล้วทิ้งให้ลูกน้องทำงานหนัก เราไม่เอา ถ้าเราจะสบาย เด็กที่ร้านต้องสบายด้วย ผมถึงตีว่าถ้าวันไหนเราอยากจะเที่ยว ผมปิดร้านเลย ทุกคนต้องได้หยุด ถ้าเราไปเที่ยวสนุกเฮฮา แล้วลูกน้องเราวิ่งงาน ผมบอกตรงๆ ผมไม่มีความสุข ผมเคยไปงานวันเกิดเพื่อนที่สนิทกันคนนึง อันนั้นผมเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เพราะเขามาดึงตัวเราไป ผมไม่มีความสุขเลยนะ คิดว่าเด็กจะเป็นยังไง เขาจะเหนื่อยไหม คือผมไม่มีความสุข”

“เฮียแทบไม่ได้หยุดเลยตั้งแต่เด็กจนโต เฮียคิดว่ามันคุ้มไหมกับสิ่งที่แลกมากับทั้งหมดนี้ในทุกวันนี้” เรายิงคำถามสุดท้ายพอดีกับข้าวต้มคำสุดท้ายในชาม

“คุ้มนะ เวลาที่ผมสูญเสียไปในช่วงวัยรุ่นทั้งหมด ผมเอามาใช้กับตัวเองในการเลี้ยงลูก ทุกวันนี้ลูกผมโตแล้ว เรียนปี 4 แล้ว แต่เวลาไปไหนมาไหนกัน เรากอดกัน จูงมือกันได้ ผมนี่ไปรับ-ส่งลูกทุกวันตั้งแต่เรียนอนุบาลกุ๊กไก่จนเรียนมัธยมที่กรุงเทพคริสเตียน ถ้าวันไหนแฟนผมไม่ให้ผมไปส่งนี่ผมจะงอแง เหมือนขาดอะไรไปอย่าง ทุกวันนี้ผมกับลูกนี่แฮปปี้มาก คุณคิดดูผมนี่สนิทกับลูกไหม ผมนี่วัยรุ่นจ๋าอยู่นะ ไปดู Big Mountain ทุกปีนะครับ

“ลูกผมเป็นคนชวนผมไปดู Big Mountain คือลูกผมขอผมไปดู Big Mountain ตั้งแต่ตอนที่เขาอยู่กรุงเทพคริสเตียน เขาบอกว่าเพื่อนเขาไปเยอะ เขาอยากไปดู ผมเลยสัญญากับลูกว่า ถ้าเขาโตขึ้นจะให้ไป แต่ต้องขอให้ปาป๊าหม่าม้าไปด้วยนะ คือผมขอไปด้วย เริ่มไปปีแรกเลยตอนลูกคนโตผมอยู่ ม.6 คนเล็กอยู่ ม.5 นั่นคือการนับหนึ่งกับการไป Big Mountain และจากนั้นมาเราก็ไปด้วยกันทุกปี 

“นี่ไง ดูสิ (ชี้ไปที่กำแพง) ยังมีรูปที่เราถ่ายที่ Big Mountain กับ Slot Machine อยู่เลย”

“แบบนี้เฮียต้องปิดร้านไหมตอนไปดู Big Mountain” เราถามเฮียพร้อมอมยิ้มให้ความน่ารักของคุณพ่อหัวใจยังหนุ่มอย่างเฮียเหลา

“ปิดร้านเลย ปิดร้านไป Big Mountain ทุกปีร้านแสงชัยจะปิดร้านตรงกับวันจัดงาน Big Mountain นะครับ (หัวเราะไปพลางอมยิ้ม) ลูกค้าจะรู้กันครับ พอใกล้ๆ ปลายปี ลูกค้าจะถามแล้ว เฮีย ปีนี้ไป Big Mountain ไหม ลูกค้าจะรู้ แล้วเขาจะรู้ด้วยว่าผมสนิทกับลูกเพราะลูกนี่มาช่วยงานผมตลอด เพื่อนผมก็รู้ เพราะฉะนั้นจะย้อนไปตอบตอนแรกที่คุณถามว่ามันคุ้มไหมกับเวลาผมที่หายไปตอนวัยรุ่น ผมว่าคุ้ม”

ถึงเฮียเหลาจะบอกว่าไม่ค่อยได้ใช้เวลากับเพื่อน แต่เท่าที่มองเห็นได้ด้วยตากกับภาพของหมู่มวลมิตรที่แสดงถึงมิตรภาพบนกำแพงของร้านเฮียเหลา เราเชื่อแล้วว่าที่เฮียเหลาบอกว่า เวลาทั้งชีวิตที่แลกไปกับการทำร้านข้าวข้าวต้มแสงชัย เป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่าจริงๆ

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like