‘Womenomics’ นโยบายผลักดันแรงงานผู้หญิงในประเทศวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ที่ไปไม่ถึงฝั่งฝันของ ชินโซ อาเบะ

โลกยังคงช็อกไม่หายจากข่าวการลอบยิงอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) จนถึงแก่ความตายในวันที่ 8 กรกฎาคม 2022 ระหว่างขึ้นปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครวุฒิสมาชิกที่จังหวัดนารา ด้วยวัยเพียง 67 ปีเท่านั้น อาเบะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของญี่ปุ่น เข้ารับตำแหน่งช่วงปี 2006-2007 และอีกสมัยช่วง 2012-2020 ก่อนที่จะประกาศลาออกในวันที่ 28 สิงหาคม 2020 เนื่องจากปัญหาสุขภาพ

สำหรับประเทศญี่ปุ่นเรื่องนี้ถือว่าสร้างความกังวลไม่น้อย เพราะจากสถิติแล้วอาชญากรรมจากการใช้อาวุธปืนในญี่ปุ่นนั้นถือว่าต่ำมาก โดยเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตไม่ถึง 10 รายต่อปี (ในปี 2017 มีเพียง 3 ราย) เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองปืนนั้นเข้มงวดอย่างมาก ทำให้ระบบการรักษาความปลอดภัยไม่ได้เข้มงวด จนประชาชนสามารถเข้าถึงตัวอาเบะได้ไม่ยากนัก หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ ต่อไปการหาเสียงโดยนักการเมืองคงจะมีความเข้มงวดและเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ต้องสงสัย 

สาเหตุของการลอบสังหารครั้งนี้ ผู้ต้องสงสัยให้การหลังจากถูกจับกุมบอกว่าแรงจูงใจไม่ได้เกิดจากความเห็นทางการเมือง แต่แค้น ‘องค์กรหนึ่ง’ ที่เขาเชื่อว่าอาเบะมีความเกี่ยวพันอยู่ (ซึ่งระหว่างที่เขียนบทความนี้ วันที่ 9 กรกฎาคม 2022 ยังไม่มีรายงานเพิ่มเติมมากกว่านี้)

บรรดาผู้นำระดับโลกต่างออกมาแสดงความโศกเศร้ากับการสูญเสียบุคคลสำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศ เขาเป็นผู้ที่พยายามพลิกเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ประสบกับภาวะเงินฝืดและการลงทุนภาคเอกชนซบเซามาสองทศวรรษให้กลับมาคึกคักอีกครั้งด้วยยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่รู้จักกันทั่วโลกว่า ‘อาเบะโนมิกส์ (Abenomics)’ ในช่วงการกลับมาดำรงตำแหน่งสมัยที่สองในปี 2012 เป็นต้นมา แม้กระทั่งหลังจากที่เขาลาออกแล้วผลกระทบของยุทธศาสตร์นี้ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่

อาเบะใช้มาตรการ ‘ธนูสามดอก’ (Three Arrows of Abenomics) โดยมี 

ธนูดอกที่ 1 – นโยบายการเงิน (Monetary Policy) เพื่อแก้ปัญหาเงินฝืด เพิ่มปริมาณเงินเข้าระบบ ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง

ธนูดอกที่ 2 – มาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มความเชื่อมั่นด้วยการใช้จ่ายภาครัฐ นำงบประมาณรายจ่ายมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

ธนูดอกที่ 3 – การปฏิรูปโครงสร้าง (Structural Reforms) เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจภาคเอกชน ส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น (Womenomics)  ลดอัตราการว่างงาน

ผลของการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลดีในปีแรก GDP ขยายตัว 2% อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 2.76% ตลาดหุ้น Nikkei ปรับตัวสูงขึ้น 30% จำนวนผู้ว่างงานลดลง นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ดูเหมือนความหวังของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่จะกลับมาเฟื่องฟูอยู่ไม่ไกลแล้ว แต่กลายเป็นว่าระยะยาวไม่ได้ประสบผลสำเร็จสักเท่าไหร่เนื่องจากหลายๆ สาเหตุ ตั้งแต่ความเชื่อมั่นในระยะยาวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ไม่มากเพียงพอ ทำให้ธนาคารเอกชนไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ค่าเยนอ่อนทำให้ต้นทุนสินค้าและน้ำมันที่นำเข้ามามีต้นทุนสูงขึ้น ประชาชนไม่กล้าใช้จ่ายเพราะแม้ว่าจำนวนอัตราว่างงานจะลดลง แต่บริษัทส่วนใหญ่ลดต้นทุนโดยการเลิกจ้างพนักงานประจำ (ซึ่งค่าใช้จ่ายสูง) และหันมาจ้างพนักงานชั่วคราวแทน บางทีจ้างพนักงานที่เกษียณอายุที่ต้องการทำงานด้วยค่าจ้างที่ต่ำกว่าปกติด้วย เพราะฉะนั้นจำนวนคนมีงานเพิ่มขึ้นก็จริง แต่กลับไม่กล้าใช้จ่ายเพราะไม่มั่นใจว่าจะมีเงินใช้ในอนาคตหรือเปล่า

เป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ไปไม่ถึงดวงดาวของอาเบะโนมิกส์นั้นยังไม่น่าเสียดายเท่ากับนโยบาย ‘Womenomics’ ที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะความพยายามส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นนั้นนอกจากจะส่งผลทางบวกต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศแล้ว มันยังช่วยปรับมุมมองวัฒนธรรมความเชื่อที่หยั่งรากลึกในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้หญิงที่อยู่ในประเทศด้วย แต่ตลอดช่วงเวลา 7 ปีที่นโยบายนี้ถูกผลักดันมันยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ แม้ว่าจะมีผู้หญิงถูกจ้างงานเพิ่มหลายล้านคน แต่งานก็ไม่ใช่งานที่มีคุณภาพ และพอเข้าสู่ช่วงโควิดส่วนใหญ่ก็กลับไปว่างงานอีกครั้งหนึ่ง

จริงอยู่ว่านี่ไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้กันง่ายๆ เพราะรากของมันหยั่งลึกมานานแล้วตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หญิงจะถูกจัดให้รับผิดชอบงานในบ้าน ทำความสะอาด ทำอาหาร เลี้ยงดูลูก ดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ในขณะที่ผู้ชายทุ่มเทชีวิตเพื่อทำงานฟื้นฟูประเทศชาติหลังสงครามจนทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก สร้างวัฒนธรรม ‘salaryman’ ที่ผู้ชายจงรักภักดีกับบริษัทและแทบไม่แตะงานบ้านช่วยภรรยาเลย

เมื่อประเทศเจริญมากขึ้น แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้เริ่มเปลี่ยนไป ผู้หญิงจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกว่าการเป็นแม่หรือแต่งงานทำหน้าที่ภรรยาเหมือนแบบเดิมคือกับดักชีวิต สิ่งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับอัตราการเกิดของเด็กที่ลดลง (เพราะผู้หญิงไม่อยากแต่งงานและมีลูก) และทำให้ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์

อาเบะพยายามผลักดัน Womenomics ให้เกิดขึ้นเพื่อทดแทนจำนวนแรงงานที่หดตัวลงเรื่อยๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการอำนวยความสะดวกให้กับผู้หญิงที่เป็นแม่ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย ทั้งเรื่องกฎหมายการลาคลอดที่ต้องปรับตัว การเพิ่มสถานรับเลี้ยงเด็กให้เพียงพอต่อจำนวนเด็ก โดยการพยายามผ่อนคลายกฎระเบียบสำหรับการเปิดสถานรับเลี้ยงเด็กที่ใหม่ๆ ไปจนถึงการจัดการความไม่เท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานอย่างจริงจังด้วย แม้การที่อาเบะออกมาต่อต้านอุดมการณ์ที่กดขี่เพศหญิงอันฝังรากลึกมานานหลายศตวรรษไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นความพยายามที่น่ายกย่องไม่น้อย (แม้จะมีบางกลุ่มคนที่มองว่าเป็นเรื่องของการเมืองก็ตาม)

ทว่าโครงการนี้ต้องเผชิญกับปัญหามาตลอด ในรายงานของสำนักข่าว The Washington Post ปี 2016 พบว่ามีผู้ชายกว่า 45% เชื่อว่า ‘ผู้หญิงควรอยู่ที่บ้าน’ ทำหน้าที่ภรรยาเหมือนอย่างที่ผ่านมา ฟังดูเหมือนว่าประเทศญี่ปุ่นจะยังไม่พร้อมให้ผู้หญิงเข้ามาสู่ตลาดแรงงานที่สามารถสร้างความแตกต่างได้ โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้บริหารของบริษัท เป้าหมายที่อาเบะวางเอาไว้คือมีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งผู้บริหาร 30% ภายในปี 2020 แต่เอาเข้าจริงจำนวนผู้หญิงที่อยู่ในบอร์ดบริหารในปีนั้นมีเพียงแค่ 10.7% ในบริษัทมหาชนที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ 26.7% และถูกจัดอยู่อันดับที่ 120 จากทั้งหมด 156 ประเทศใน World Economic Forum 2021 ของประเทศที่กำลังพยายามขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ

จนถึงตอนนี้ในปี 2022 ช่องว่างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงในตลาดแรงงานยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศอยู่ รายงานจากสำนักข่าว Nikkei Asia บอกว่าผู้หญิงนั้นทำงานน้อยกว่าผู้ชายโดยเฉลี่ยแล้วอาทิตย์ละกว่า 10 ชั่วโมง แถมผู้หญิงได้รายได้น้อยกว่าผู้ชายเกือบ 25% ซึ่งเป็นช่องว่างที่ใหญ่ที่สุดในระดับประเทศ G7 (แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา) และจากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นบอกว่า 41% ของผู้หญิงที่ไม่ได้ทำงานประจำจะบอกว่างานที่อยากได้คืองานที่ ‘ไม่รบกวนกับภาระงานบ้าน’  ที่ต้องดูแลอยู่ แสดงให้เห็นว่าแม้จำนวนผู้หญิงจะเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นงานที่รายได้น้อย ส่วนใหญ่เป็นงานพาร์ตไทม์ แม้บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Toyota พยายามที่จะจ้างผู้หญิงเข้ามาในตำแหน่งผู้บริหารมากขึ้น แต่มันก็ถือว่าเป็นส่วนน้อยมากๆ 

ช่วงที่อาเบะดำรงตำแหน่งเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ได้พยายามมากพอเกี่ยวกับเรื่องนี้ ระหว่างทางไม่ได้มีความพยายามแก้ไขให้มันดีขึ้น กฎต่างๆ ก็ไม่มีการปรับเปลี่ยนให้รวดเร็ว ซึ่งมีการประมาณการณ์เอาไว้ว่าถ้าญี่ปุ่นสามารถแก้ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสังคมและตลาดแรงงานให้ดีขึ้นได้ GDP ของประเทศจะเพิ่มขึ้นกว่า 550,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

มันน่าเสียดายที่คำสัญญาของอาเบะกลายเป็นเพียงความฝันที่ไม่เกิดขึ้น แต่ถึงยังไงก็ตาม มันก็เป็นประกายแห่งความหวังเล็กๆ ที่พยายามผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมในรูปแบบที่ชัดเจน ขับเคลื่อนประเทศที่เพศหญิงถูกมองว่าด้อยกว่ามาหลายร้อยปี ปลุกระดมให้ผู้หญิงกว่า 65 ล้านคนในประเทศให้กล้าที่จะออกไปทำในสิ่งที่อยากทำ กล้าฝันถึงอนาคตที่ต้องการ สามารถเป็นอะไรได้มากกว่าแค่ ‘แม่บ้าน’ ถ้าพวกเขาต้องการ ถึงจะไม่สำเร็จตามเป้าหมาย อย่างน้อยมันก็เป็นการปูทางสู่อนาคตที่ดีขึ้นกว่าเดิม แม้จะช้าสักหน่อยก็ตาม

อ้างอิง

Writer

คุณพ่อลูกหนึ่งจากเชียงใหม่ที่รักการเขียน การอ่าน และการดองหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจและเป้าหมายการทำงานที่เป็นมากกว่าแค่ผลกำไรและทำงานหนักจนลืมความหมายของการมีชีวิตอยู่

You Might Also Like