นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

กำแพงเมืองจีน

เมื่อจีนจัดระเบียบไม่ให้ธุรกิจแตกแถว แล้วต่างชาติจะก้าวข้ามกำแพงการค้านี้ไปอย่างไร

Lazada, Tencent, Xiaomi, Huawei, Oppo การส่งออกแบรนด์สินค้าเหล่านี้ไปยังทั่วโลก เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นอีกประเทศมหาอำนาจโลกของจีน 

ทว่าไม่เพียงแต่ส่งออกไป เพราะความเป็นมหาอำนาจนี้ยังรวมไปถึงการที่นานาประเทศส่งวัฒนธรรม สินค้า และอัตลักษณ์ของตัวเองเพื่อมาจับกลุ่มคนจีนด้วยเช่นกัน ถือเป็นการ ‘ง้อคนจีน’ หนักมาก ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีใต้ที่ตั้งใจปั้นศิลปินมาเพื่อเจาะเสิร์ฟคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ, แบรนด์หรูระดับโลกอย่าง Louis Vuitton ที่หันมาทำการตลาดเพื่อเอาใจคนจีนมากขึ้น หรือไม่ต้องเอาไกลตัวที่ไหน อย่างในช่วงก่อนโควิด ไทยเองก็มีนักท่องเที่ยวจีนเป็นลูกค้าหลักอีกกลุ่มหนึ่งด้วยเช่นกัน

บรรยากาศเศรษฐกิจของจีนกำลังเป็นไปอย่างสดใสดึงดูดใจให้เหล่านักลงทุนเข้ามาได้อย่างคึกคัก ทั้งยังทำให้ผู้ประกอบการจากนานาชาติเข้าไปหาโอกาสในการทำธุรกิจมากมาย แต่อยู่ๆ จีนก็ออกมาประกาศนโยบายที่สร้างความมึนงงให้กับคนทั้งโลกในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

เป็นนโยบายที่ต้องการจัดระเบียบไม่ให้ผู้คนและธุรกิจแตกแถวจากเส้นทางที่ทางการได้ขีดเขียนเอาไว้ 

เริ่มตั้งแต่การออกนโยบายปราบปราม Big Tech ทั้งหลาย ถ้าข่าวใหญ่ที่หลายคนอาจจำกันได้ก็อย่าง Ant Group ฟินเทคที่อยู่ในเครือ Alibaba ของ Jack Ma ซึ่งกำลังจะกลายเป็น IPO ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกโดนเบรกกะทันหันจนทำให้ต้องพักแผนเข้าระดมทุนออกไปก่อน 

DiDi Chuxing แอพเรียกรถที่คล้ายๆ Grab ในบ้านเรา ก็ถูกกดดันจากรัฐบาลจีนอย่างหนัก หลังจากนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นของอเมริกา จนท้ายที่สุดถึงกับโดนสั่งให้แพลตฟอร์มที่ใช้โหลดแอพทั้งหลายถอด DiDi ออกเพื่อไม่ให้ผู้ใช้หน้าใหม่ดาวน์โหลด ด้วยเหตุผลในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งาน

ส่วนกับวงการเกม ที่ทางการจีนออกกฎเหล็กคุมเข้มไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมเกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และกฎเหล็กที่ว่าก็ส่งผลต่อราคาหุ้น Tencent (เจ้าของเกมอย่าง RoV) ร่วงลงอย่างหนักในช่วงเวลานั้น 

ไม่เว้นแม้แต่วงการบันเทิงที่ได้ออกมาแบนผู้ชายหน้าสวยไม่ให้ออกสื่อ หรือแบนแอ็กเคานต์ของแฟนคลับที่ชอบศิลปินเกาหลีเป็นอย่างมาก ก็เป็นสิ่งที่กระทบกับวงการ K-pop อย่างชัดเจน

การออกนโยบายที่เกินความคาดหมายของใครหลายคนส่งผลกระทบต่อความมั่นใจและบรรยากาศการลงทุนที่เปลี่ยนไปจากเดิม ความคึกคักเริ่มแปรเปลี่ยนมาเป็นความกังวลใจ เพราะไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่ลงทุนลงแรงไป วันใดวันนึงจีนก็อาจจะออกมาประกาศนโยบายที่ทำให้ธุรกิจเจอกับอุปสรรคโดยไม่ทันได้ตั้งตัวก็เป็นได้ 

ทั้งยังนำมาสู่ความสงสัยของใครหลายคน ว่าการลุกขึ้นมาออกนโยบายจัดระเบียบนี้ดูจะเป็นสิ่งที่สวนทางกับการขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกหรือไม่ เพราะถึงอย่างไร ‘เงิน’ ก็ยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจ’ 

แล้วแบบนี้เรื่องราวจะดำเนินยังไงต่อไป ประเทศที่เคยพึ่งพาการค้าจีนเป็นหลักต้องทำยังไงต่อ capital พกหลายข้อสงสัยที่ว่าไปถาม ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีนคนหนึ่ง

แม้บรรยากาศการลงทุนไม่สดใสเหมือนอย่างอดีต แต่โอกาสในตลาดจีนก็ยังมีอีกมาก

ดร.อาร์มเริ่มฉายภาพกว้างให้เห็นว่า จีนยังเป็นประเทศที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับที่ถึงแม้จะบอกว่าต่ำลงมามากแล้ว แต่ก็ยังสูงกว่าในตลาดของประเทศอื่นๆ รวมถึงจำนวนประชากรที่มีกว่า 1,400 ล้านคน จีนก็ยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่และเต็มไปด้วยโอกาสอีกมากมาย

ความน่าสนใจอีกอย่างคือภายในจำนวน 1,400 ล้านคนนั้น กว่า 400 ล้านคนเป็นประชากรที่เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งจีนก็ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนประชากรชนชั้นกลางมากขึ้นเรื่อยๆ

“จีนมีนโยบายที่จะยกระดับคนชนชั้นกลางอย่างชัดเจน โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2035 จะมีคนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านคน คิดเป็นการเพิ่มแบบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปัจจุบัน การยกระดับที่ว่าเริ่มตั้งแต่การศึกษา อุตสาหกรรม มีการสร้างงานที่มีรายได้เพิ่มสูงมากขึ้น และเป็นงานที่อยู่ในเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น

“ถ้านโยบายเหล่านี้ประสบผลสำเร็จ ก็จะทำให้คนจีนมีรายได้เพิ่มขึ้น และนั่นก็จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้นเช่นกัน จากที่เคยให้ความสนใจสินค้าปัจจัย 4 เป็นหลัก เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น คนกลุ่มนี้ก็จะเริ่มมองหาสินค้าที่มีแบรนด์ดิ้งมากขึ้นตามไปด้วย

“เพราะฉะนั้นหลายบริษัทระดับโลกที่ต้องการจะเติบโต ถึงยังไงแล้วก็ยังมีความจำเป็นจะต้องเกาะตลาดจีนอยู่ดี”

ลองคิดตามอย่าง ดร.อาร์มว่า เอาแค่จำนวนประชากรชนชั้นกลาง 400 ล้านคนในปัจจุบัน ก็เป็นจำนวนที่มากกว่าประชากรไทยทั้งประเทศกว่า 5-6 เท่าตัวเลยทีเดียว

ไม่ได้ปิดประเทศ แต่ใช้นโยบายสองหมุนเวียน

ด้วยนโยบายการจัดระเบียบต่างๆ ที่จีนออกมาประกาศ จึงไม่แปลกที่หลายคนจะเกิดคำถามขึ้นมาในใจ ว่าจีนกำลังเริ่มปิดประตูทางเข้าประเทศให้แคบลงหรือไม่

แต่ ดร.อาร์มก็บอกว่าไม่ใช่อย่างนั้น จีนไม่ได้จะปิดประเทศ เพียงแต่กระแสชาตินิยมบวกกับปัจจัยความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้ากับฝั่งตะวันตก จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะรู้สึกว่าจีนให้ความสำคัญกับภายในประเทศมากกว่าภายนอก

“บรรยากาศการจะไปค้าขายหรือลงทุนในจีนมันอาจจะดูไม่สดใสเหมือนในอดีต แต่ว่าจริงๆ แล้วผมมองว่ามันอาจจะแล้วแต่เซ็กเตอร์ แล้วแต่สินค้าแต่ละประเภทด้วย อย่างปีที่ผ่านมายอดขายไอโฟนในจีนก็เป็นอะไรที่เติบโตมาก กลับมาเป็นสมาร์ตโฟนที่ขายดีที่สุดของจีน และหากมองดีๆ ก็จะเห็นว่าทางจีนเองเริ่มปรับกฎหมายที่เอื้อให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขี้นด้วย

ตอนนี้จีนไม่ได้ปิดประเทศ แต่ใช้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ‘สองหมุนเวียน’ (dual circulation) เข้ามาบริหาร ซึ่งหมายถึงการหมุนเวียนภายในและภายนอกประเทศควบคู่กัน

เพราะในอดีตเศรษฐกิจจีนพึ่งพาการส่งออกเป็นอย่างมาก แต่ด้วยสงครามการค้า ทำให้จีนต้องเริ่มกระจายความเสี่ยงและหันมาพึ่งพาการบริโภคภายในมากขึ้น การใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศก็จะทำให้จีนยังสามารถพึ่งพาตัวเองอยู่ได้ภายใต้ความเสี่ยงและความผันผวนของตลาดภายนอก

ส่วนหมุนเวียนที่สองคือหมุนเวียนภายนอก เป็นเหมือนยุทธศาสตร์ที่ใช้เชื่อมต่อให้โลกไม่สามารถตัดขาดจีนออกไปได้ โดยมีตลาดประชากรหลักพันล้านคนเป็นเหมือนแต้มต่อที่ทำให้นานาชาติยังคงต้องพึ่งพาการค้าขายกับตลาดจีน         

ดังนั้นบริษัทใหญ่ๆ ที่ผลิตสินค้าในระดับชั้นนำของโลก หากอยากเติบโตก็ยังคงต้องมีจีนเป็นตลาดเป้าหมายหนึ่งอยู่ ซึ่งก็มีหลายบริษัทที่เมื่อตีตลาดจีนได้ก็สามารถพลิกผลกำไรให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด”

จีนยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ แต่ต้องกระจายความเสี่ยงมากขึ้น

ทั้งนี้ ดร.อาร์มยังให้คำแนะนำที่น่าสนใจในการลงทุนหรือทำธุรกิจกับกลุ่มตลาดคนจีนเอาไว้ว่า

“ผมว่ามันมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง โอกาสคือถ้าคุณสามารถตีตลาดจีนได้สำเร็จ เท่ากับว่าบริษัทคุณจะมียอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเลย ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงไม่น้อย เพราะถ้าคุณพึ่งพาตลาดจีนมากเกินไป แล้วมันเกิดอะไรขึ้นมา มันก็จะกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจเป็นอย่างมาก คือถ้าตอนนี้ธุรกิจไหนมีสัดส่วนลูกค้าจีนเกินครึ่งก็เริ่มน่ากลัวแล้ว

“ส่วนตัวแล้วผมว่าธุรกิจที่มีคนจีนเป็นลูกค้าหลักอาจจะต้องมองหาวิธีกระจายความเสี่ยงให้มากขึ้น ควรจะบาลานซ์พอร์ตธุรกิจให้ดี และอีกเรื่องนึงที่สำคัญไม่แพ้กันคือต้องดูว่าสินค้าที่เอาเข้าไปขายมันมีจุดเด่นในเรื่องของอัตลักษณ์ เรื่องของแบรนด์ดิ้งไหม เพราะมันเคยมีตัวอย่างของบริษัทที่ไปลงทุนในจีน ปีสองปีแรกยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่พอมีสินค้าจากจีนมาวางขายเป็นคู่แข่ง ก็ทำให้บริษัทนั้นๆ เจอกับปัญหาอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน” ดร.อาร์มกล่าวทิ้งท้าย

จะว่าไปแล้วทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้ก็เป็นสิ่งที่วนกลับมายังพื้นฐานของการทำธุรกิจให้อยู่รอดในระยะยาวได้ คือการกระจายความเสี่ยง ไม่หวังพึ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป เป็นเหมือนการหาแผนสองธุรกิจที่หากวันใดวันหนึ่งเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือวิกฤตอะไรขึ้นมา ก็ยังทำให้ธุรกิจมีทางออกอีกหนึ่งทางให้เดินต่อไปได้

Tagged:

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

Illustrator

Just another graphic designer

You Might Also Like