Surprise Palette

Raw Color สตูดิโอออกแบบสีสันที่เปลี่ยนโฉมคอลเลกชั่นแบรนด์ดังด้วยพาเลตต์สีสุดเซอร์ไพรส์

ไม่นานมานี้ IKEA ได้เปิดตัวคอลเลกชั่น TESAMMANS ที่มีพาเลตต์สีสันสดใสอย่างโดดเด่นและมีผู้ให้ความสนใจสินค้ารุ่นนี้อย่างมาก หลายคนน่าจะรู้จัก IKEA กันอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่รู้จักทีมผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบสีสันในคอลเลกชั่นนี้ซึ่งเป็นสตูดิโอออกแบบชื่อ Raw Color 

Raw Color เป็นสตูดิโอของนักออกแบบชาวดัตช์ที่เมืองไอนด์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากผลงานที่คอลแล็บกับ IKEA แล้ว สินค้าของสตูดิโอและผลงานโปรเจกต์ต่างๆ ยังมีความโดดเด่นด้านการออกแบบสีจนทำให้ได้ร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกมากมาย เช่น Adidas, Samsung, Puig ผู้ผลิตน้ำหอมหลายแบรนด์อย่าง Prada และยังได้ร่วมงานกับแบรนด์ท้องถิ่นและพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง

สตูดิโอออกแบบแห่งนี้ ก่อตั้งในปี 2008 โดย Christoph Brach และ Daniera ter Haar ความถนัดของสตูดิโอคือการทำงานแบบรวมศาสตร์หลายแขนง (interdisciplinary) ในสาขาออกแบบกราฟิก ภาพถ่าย และออกแบบผลิตภัณฑ์โดยมีหัวใจสำคัญคือการออกแบบสี ผลงานของพวกเขามีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ให้สวยงามมากขึ้นด้วยสีแปลกตา สร้างประสบการณ์ใหม่และผลิตภัณฑ์คอนเซปต์ใหม่ด้วยสี ใช้สีและกราฟิกนำเสนอข้อมูล ไปจนถึงสร้างสรรค์นิทรรศการแนวคิดใหม่จากสีในงานออกแบบ

งานของ Raw Color แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ และพลังของสีที่สร้างความเซอร์ไพรส์ให้ผู้คน ใครที่ประทับใจคอลเลกชั่น TESAMMANS น่าจะตกหลุมรักผลงานอื่นๆ และวิธีคิดงานของสตูดิโอออกแบบนี้ด้วยเช่นกัน

1.  ชื่อสตูดิโอมาจากชื่อโปรเจกต์แรกที่สร้างระบบสีจากผัก 

ความจริงแล้ว Raw Color เป็นชื่อโปรเจกต์แรกที่คริสตอฟและดาเนียราร่วมงานกัน ทั้งคู่ริเริ่มโครงการของตัวเองด้วยงานวิจัยเกี่ยวกับสีของผักโดยสร้างระบบสีของตัวเองคล้ายๆ กับการสร้างระบบสีของ Pantone เมื่อได้รับผลตอบรับที่ดีทั้งสองคนจึงจัดนิทรรศการเพื่อเล่าเรื่องระบบสีที่คิดขึ้นเอง ผลงานนี้ทำให้ผู้คนส่วนมากจดจำพวกเขาได้จากชื่อโปรเจกต์และเข้าใจว่าเป็นชื่อของสตูดิโอ จนเมื่อมีคนถามหาสตูดิโอด้วยชื่อนี้หลายครั้ง ทั้งคู่จึงตัดสินใจใช้ชื่อนี้เป็นชื่อสตูดิโอจริงๆ ตามที่คนส่วนมากเข้าใจซะเลย ด้วยเหตุนี้คริสตอฟจึงกล่าวว่าชื่อสตูดิโอเป็นฝ่ายเลือกพวกเขา ไม่ใช่พวกเขาเป็นคนเลือกชื่อนั้น

ดาเนียราบอกว่าเหตุผลที่เธอชอบคำว่า raw เพราะคำนี้แปลว่าสิ่งบริสุทธิ์หรือสิ่งสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอให้ความสำคัญในทุกโปรเจกต์ที่ทำ กระบวนการคิดงานของทีมมักโฟกัสที่การสื่อสารคอนเซปต์สำคัญออกมาอย่างเรียบง่าย ส่วนคำว่า color ก็แทนความเชี่ยวชาญและความสนใจในการทำงานหลายแขนงของทั้งคู่ที่มีทั้งกราฟิกดีไซน์, รูปภาพ, textile ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะทำงานรูปแบบไหน สีก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในภาพที่ทำให้คนจดจำเอกลักษณ์ของ Raw Color ได้เสมอ 

ที่ผ่านมาทั้งคู่ยังบอกว่าลูกค้าแบรนด์และองค์กรต่างๆ มักติดต่อเข้ามาหาพวกเขาเองและมีน้อยครั้งมากที่พวกเขาจะออกไปหาลูกค้าด้วยตัวเอง นั่นเป็นเพราะแบรนดิ้งและสไตล์ผลงานของสตูดิโอมีความชัดเจนมาก ทั้งคู่จะริเริ่มไอเดียโปรเจกต์ต่างๆ จากความสนใจและความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองเท่านั้น

ดังเช่นโปรเจกต์แรกที่คิดค้นระบบสีจากผัก พวกเขาชอบตั้งโจทย์ สนุกกับการตั้งคำถามและสร้างสรรค์ผลงานรูปแบบใหม่ที่สนใจจริงๆ โดยไม่เคยริเริ่มโปรเจกต์ด้วยการคำนึงถึงการต่อยอดรับงานจากลูกค้าเป็นหลักเลย ซึ่งทำให้ผลงานของสตูดิโอมักเต็มไปด้วยความหลงใหล แพสชั่น และสดใหม่จนดึงดูดลูกค้าที่สนใจในสไตล์แบบเดียวกันเข้ามาเอง

2. คอลเลกชั่นล่าสุดพา IKEA ออกนอกคอมฟอร์ตโซนด้วยการกล้าเลือกสีป๊อปๆ 

ดาเนียราบอกว่าคนส่วนใหญ่มักกลัวที่จะใช้สีสันและไม่รู้ว่าจะใส่สีเข้าไปในการตกแต่งบ้านยังไงดี ที่มาของคอลเลกชั่นกับ IKEA คืออยากให้ผู้คนเปิดใจใช้สีสันในบ้านมากขึ้น แทนที่จะซื้อของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์เฉพาะสีขาว-ดำหรือเทาเท่านั้น โดยเหตุผลที่ตั้งชื่อสินค้ารุ่นนี้ว่า TESAMMANS (แปลว่า together หรืออยู่ด้วยกันในภาษาสวีเดน) เพราะสื่อถึงการจับคู่สีสันหลายโทนให้อยู่ด้วยกันทั้งหมดในสินค้าแต่ละชิ้น  

วิธีคิดงานของสตูดิโอสัญชาติเนเธอร์แลนด์แห่งนี้คือการรีเสิร์ชอย่างลงลึกว่าเฉดคู่สีไหนที่เมื่อจับมาอยู่ด้วยกันแล้วจะออกมาน่าสนใจและเป็นคู่สีที่เซอร์ไพรส์คนได้มากที่สุดจนสุดท้ายก็ได้ออกมาทั้งหมด 15 เฉดสีสำหรับสินค้า 18 ชิ้นในคอลเลกชั่นนี้ซึ่งจะเน้นไปที่เฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็ก โคมไฟ และของตกแต่งบ้านต่างๆ ในคอนเซปต์ ‘not the most typical home objects’ ที่เปลี่ยนโฉมของใช้หน้าตาธรรมดาให้ดูพิเศษด้วยสีสันสดใส 

สินค้ามีหลากหลายประเภทตั้งแต่รถเข็นสำหรับวางข้าวของ 3 เฉดสีที่เล่นแสงและเงาแตกต่างกันไปตามตำแหน่งของพระอาทิตย์ในช่วงเวลานั้น พรมและผ้าคลุมลายตาราง โคมไฟที่ไล่สีจากเฉดเข้มไปอ่อนโดยสีที่อ่อนที่สุดอยู่ที่ฐานซึ่งมีแสงสว่างแรงที่สุด โมบายทรงเรขาคณิตสีสันแปลกตา หม้อและแจกันเซรามิกที่เมื่อหมุนต่างมุมจะเห็นแถบสีที่ต่างกันออกไป แก้วและถ้วยแบบสองสี ไปจนถึงถาดโลหะลาย grid ที่สร้างลวดลายต่างๆ เมื่อวางซ้อนกัน 

งานนี้ทั้งทีม IKEA และ RAW color ใช้เวลาทำด้วยกันกว่า 2 ปีและทำให้เห็นว่าเพียงจับคู่สีที่แตกต่างจากเดิมก็สามารถเปลี่ยนมู้ดแอนด์โทนและเปลี่ยนลุคของแบรนด์ได้ 

3. รับโจทย์แทบไม่ซ้ำกันจากแบรนด์หลายอุตสาหกรรมในยุโรป  

ทางสตูดิโอยังเคยออกแบบสินค้าให้แบรนด์ท้องถิ่นแถบยุโรปมากมาย เช่น คอลเลกชั่น Link & Loop ที่ทำร่วมกับ Sancal แบรนด์เฟอร์นิเจอร์เก่าแก่ที่สเปน โจทย์ของคอลเลกชั่นนี้คือการสร้าง ‘joyful way of sitting’ หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำให้ประสบการณ์นั่งพักผ่อนเกิดความรื่นรมย์มากขึ้นในช่วงโควิด-19 

รุ่นของสินค้าแบ่งออกเป็น 2 รุ่น ได้แก่ Link โซฟาที่มีทรงคล้ายโซ่เพื่อให้หลายคนสามารถนั่งด้วยกันได้ในโซฟาตัวเดียวกันโดยยังสามารถเว้นระยะห่างต่อกันได้ ส่วนรุ่น Loop มีจุดเด่นตรงตามชื่อสินค้าคือรูปทรงคล้ายหลอดซึ่งสามารถแยกชิ้นส่วนระหว่างส่วนเบาะนั่งกับพนักพิงออกจากกันและเอามาประกอบกันได้ เอกลักษณ์คือผ้าทอหุ้มเบาะหลากสีสันที่ออกแบบมาถึง 20 เฉดสี บางชิ้นก็ไล่สีโทนเดียวกัน เช่น สีเหลืองอ่อนและเหลืองเข้ม หรือผสมต่างโทนสีอย่างลงตัว เช่น สีเหลือง, สีเหลือง ochre, สีชมพู และสี aubergine (น้ำตาลม่วง)

หลายครั้งเบื้องหลังการออกแบบสินค้าตกแต่งบ้านเหล่านี้มักมีกระบวนการก่อนหน้านั้นคือการคัดเลือกสีวัสดุก่อนทำเป็นสินค้า เช่น การออกแบบพาเลตต์สีสำหรับผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ (upholstery textile) สำหรับแบรนด์ Kvadrat Febrik แบรนด์ textile ที่เนเธอร์แลนด์ในชื่อโปรเจกต์ว่า Planum กระบวนการคือคัดโทนสีจากสีเพนต์มือ 350 สีให้เหลือเพียง 20 สีสำหรับนำมาเป็นสีผ้า ซึ่งการเลือกจากสีทำมือก่อนจะทำให้เจอโทนสีธรรมชาติที่แตกต่าง

ในบางครั้งแบรนด์ที่ติดต่อทางสตูดิโอเข้ามาก็มีบรีฟให้ออกแบบสินค้าที่คาดไม่ถึงและพบเห็นไม่ได้บ่อยนักอย่างการออกแบบขวดใส่น้ำหอมกระดาษและกระดาษดมน้ำหอมสำหรับแบรนด์น้ำหอม Puig จากสเปนซึ่งเป็นบริษัทที่ออกแบบน้ำหอมให้แบรนด์ดังอย่าง Prada, Dries Van Noten และ Jean Paul Gaultier ในการออกแบบจะคำนึงถึงประสบการณ์ในการดมน้ำหอมให้เกิดความประทับใจและได้สัมผัสกลิ่นอย่างเต็มที่ นอกจากสีสันของกระดาษที่สวยงามแล้วยังคำนึงถึงทรงกระดาษที่ทำให้อากาศหมุนเวียนและอำนวยให้สูดกลิ่นน้ำหอมได้สะดวกอย่างเต็มที่ 

นอกจากนี้ สตูดิโอนี้ยังเคยมีโอกาสได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Adidas โดยแผนกเฉพาะของแบรนด์คือ Adidas Colour & Materials Department ได้ชวนทางสตูดิโอมาจัดเวิร์กช็อปให้ทีมดีไซน์ของ Adidas เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตและคัดเลือกสีสันสำหรับสินค้า Adidas ให้เกิดความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น 

4. Index, Solids & Strokes, Grid Objects ฯลฯ เป็นชื่อคอลเลกชั่นที่เล่นกับเทคนิคกราฟิก

หากเป็นคอลเลกชั่นในนามของแบรนด์เองเลย ทางสตูดิโอมักเล่นกิมมิกที่ล้อกับหลักการกราฟิกดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกับลายเส้น ดัชนีสี เทคนิคการพิมพ์ภาพกราฟิก 

ตัวอย่างเช่น คอลเลกชั่น Index ที่นำดัชนีสีมาทำเป็นผ้าเช็ดมือและผ้าห่ม โดยมีทั้งแบบ monotone (สีเดียวกันทั้งหมด), duotone (สองสี) และ multitone (หลายสีในผืนเดียวกัน) โดยใส่สีในกล่องสี่เหลี่ยมแบบไล่สีตั้งแต่ความเข้ม 10% ถึง 100% ตามระดับดัชนีสี


ส่วน Solids & Strokes เป็นการทำภาพพิมพ์ที่เล่นสีสันกับทรงกราฟิกและเทคนิคการพิมพ์ ใช้รูปทรงพื้นฐานอย่างสี่เหลี่ยมทึบและสี่เหลี่ยมเส้นพิมพ์ทับซ้อนกันด้วยสีสันหลากหลาย โดยใช้ชุดสี 16 เฉดสีในการออกแบบเป็นชุดภาพพิมพ์ขนาดเล็กกว่า 200 ชิ้นและภาพพิมพ์ขนาดใหญ่ 8 ชิ้น

อีกเทคนิคหนึ่งของนักออกแบบกราฟิกดีไซน์คือการใช้ลาย Grid ซึ่งทางสตูดิโอได้ใช้เทคนิคนี้ในการทำ Grid Objects ออกมาเป็นวัตถุที่สามารถเป็นได้ทั้งแจกัน ที่ใส่ของ ศิลปะ หรือสิ่งตั้งประดับ โดยใช้กระบวนการผลิตที่ผสมผสานระหว่างเครื่องจักรและงานฝีมือ แปลงสีและกราฟิกเป็นวัตถุ 3 มิติและเล่นกับคุณลักษณะต่างๆ ของสี เช่น ความหนาแน่น สัดส่วน เฉดสี ความโปร่งแสง และการเบลนด์สี

และตัวอย่างสุดท้ายคือซีรีส์ Hue Boxes กล่องอะคริลิกแบบขุ่นที่เล่นกับเฉดสี Hue ตามหลักการกราฟิกในเฉดที่แตกต่างกันในแต่ละด้าน โดยสินค้าส่วนใหญ่ทั้งหมดนี้ผลิตในเนเธอร์แลนด์ และบางชิ้น เช่น Hue Boxes ยังทำจากการรีไซเคิล 100% ด้วย

5. สร้างนิยามใหม่ให้ของใช้ในชีวิตประจำวันผ่านสินค้าและนิทรรศการ

จะเห็นได้ว่าผลงานของสตูดิโอแห่งนี้ส่วนใหญ่ใช้หลักการเปลี่ยนของใช้ธรรมดาให้มีคอนเซปต์ใหม่จากของที่ใครหลายคนคิดว่าเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปก็สร้างคำนิยามให้ของชิ้นนั้นใหม่ ตัวอย่างเช่น คอลเลกชั่น Graphic Time ที่ให้นิยามนาฬิกาว่าเป็น abstract clocks หรือศิลปะเคลื่อนไหว มีที่มาจากการสังเกตว่าในยุคนี้ผู้คนมักใช้นาฬิกาในแง่ฟังก์ชั่นเพื่อดูเข็มชั่วโมง นาที และวินาทีตลอดเวลา ทางทีมจึงอยากออกแบบนาฬิกาที่ทำให้คนได้เห็นความสวยงามในการเคลื่อนไหวของเส้นสายกราฟิกในรูปแบบที่แตกต่างออกไปเพื่อเป็นประติมากรรมที่สวยงามให้ผู้ที่ดูเวลารู้สึกรื่นรมย์ในชีวิตประจำวัน

อีกผลงานที่มีคนให้ความสนใจอย่างมากคือนิทรรศการชื่อ The Fans ในปี 2014 งานนี้นำเสนอการเปิดพัดลมสีสันสดใส ใช้หลักการเคลื่อนไหวคล้ายนาฬิกาที่ทำให้เห็นความสวยงามของสีที่แตกต่างกันขณะพัดลมกำลังหมุน

ทั้งนี้จุดมุ่งหมายของการจัดนิทรรศการในหลายครั้งคือการให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วมในการได้สัมผัสโลกแห่งสี เช่น นิทรรศการ The Chromatology ที่มีเครื่องย่อยกระดาษในงาน ทุกครั้งที่มีคนมาเข้าชมนิทรรศการเพิ่มขึ้นก็จะมีกองกระดาษหลากสีสันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนผู้เข้าชม

ทาง Raw Color บอกว่าเคล็ดลับในการริเริ่มไอเดียสร้างสรรค์ทั้งหมดนี้คือการผสมผสานระหว่างการเปิดกว้างในการทดลองสิ่งใหม่อย่างอิสระกับการสร้างกรอบกฎเกณฑ์ในการออกแบบ พยายามหาจุดสมดุลระหว่างความไม่ตายตัวจนเกินไปกับการมีกรอบอย่างเคร่งครัดจนเกินไป

6. ใช้กราฟิกและสีสื่อสารดาต้าในเรื่องที่อยากสร้างการตระหนักรู้ผ่านสินค้า

ใครคิดว่าสีช่วยแค่เรื่องความสวยงามอาจต้องคิดใหม่ เพราะพวกเขาได้ขยายพลังของสีด้วยการสร้างสรรค์งานที่นำเสนอข้อมูลและสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องที่พวกเขาอยากรณรงค์ งานเด่นคือ temperature textiles ที่ทำออกมาในรูปแบบผ้าห่ม ผ้าพันคอ และถุงเท้าในลวดลายอินโฟกราฟิกโดยสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั้งอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนไป ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และข้อมูลก๊าซเรือนกระจก

คริสตอฟมองว่าธรรมชาติของงานกราฟิกดีไซน์มีองค์ประกอบในการนำเสนอข้อมูลด้วยเส้น สี และกราฟอยู่แล้ว ดังนั้นการออกแบบให้กลายเป็นลายแพตเทิร์นที่นำเสนอข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องยาก ทางสตูดิโอยังมองว่าการนำข้อมูลอย่างอินโฟกราฟิกมาอยู่บนผืนผ้าอย่างถาวรจะทำให้ข้อมูลเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้นอีกด้วยแทนที่จะเห็นข้อมูลชั่วคราวจากแค่ในจอเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อผู้คนได้ใช้สอยและมีปฏิสัมพันธ์กับของใช้เหล่านั้นบ่อยๆ จะทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น 

ผลงานชิ้นใหญ่ที่สุดในคอลเลกชั่นนี้อย่างผ้าห่มเป็นผ้าทอนิตติ้งซึ่งนำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจาก The United Nations Intergovernmental Panel on Climate Change และใช้เส้นแต่ละเส้นแทนข้อมูลในแต่ละปีตั้งแต่ปี 2000-2010 ส่วนถุงเท้าที่มีขนาดเล็กกว่าก็แสดงข้อมูลของระดับน้ำทะเลและพยากรณ์ข้อมูลที่คาดว่าน่าจะเป็นไปจนถึงปี 2050 งานนี้มีการปรึกษาเรื่องการนำข้อมูลมานำเสนออย่างจริงจังจาก The Royal Netherlands Meteorological Institute และยังทำร่วมกับ TextileLab และ KNITWEAR LAB ที่เนเธอร์แลนด์ โดยคิดค้นกระบวนการผลิตให้เหลือวัสดุเหลือใช้น้อยที่สุดเพื่อให้ตรงคอนเซปต์สินค้าที่อยากสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม  

7. มีหลักจริยธรรมในการออกแบบคือนึกถึงคนอื่นและโลกที่ดีขึ้นเสมอ

คริสตอฟและดาเนียรายังเชื่อในการทำดีได้ดี ทั้งคู่เคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Metal Magazine ว่า “เราคิดว่าการดูแลทีมงานของเราอย่างดี ให้พวกเขามีอิสระและความยืดหยุ่นเพียงพอในการทำงานของตัวเองนั้นสำคัญมาก การได้คิดตกตะกอนกับตัวเองก่อนที่จะสร้างเกณฑ์การตัดสินในโปรเจกต์ใดๆ รวมถึงมีการสื่อสารที่ดีกับลูกค้าก็เป็นเรื่องดีเช่นกัน ทุกครั้งที่เราเสนอไอเดียอะไรบางอย่าง มันมักจะเกิดบทสนทนาระหว่างเราสองคนที่อาจเสนอไอเดียแตกต่างกันแต่สามารถพูดคุยกันได้และพยายามทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าไปด้วยเสมอ ดังนั้น empathy กับทีมงานของเราและลูกค้าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเรา”

“พวกเรายังสอนที่ Design Academy ในไอนด์โฮเวนด้วย และผมอยากจะบอกว่าหลักการเดียวกันนี้ใช้ได้กับนักเรียนของเราด้วย ผมปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเคารพไม่ต่างจากที่ผมอยากให้คนอื่นปฏิบัติต่อตัวเอง แน่นอนว่าเราควรสามารถวิจารณ์กันและกันอย่างซื่อสัตย์ได้ แต่ผมคิดว่าการเคารพและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นก็สำคัญเสมอเช่นกัน”

ในฐานะนักออกแบบที่สร้างสรรค์และผลิตสิ่งของใหม่มากมายอยู่เสมอ ทั้งคู่บอกว่าพวกเขาตั้งคำถามว่าการผลิตสินค้าใหม่ในทุกวันนี้ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหน มุมมองความยั่งยืนสำหรับทีมสตูดิโอที่พวกเขาตกตะกอนได้คือ หากมีความทุ่มเทในการพัฒนาบางสิ่งอย่างจริงจัง ทำออกมาอย่างดีที่สุดและมั่นใจว่าสิ่งที่สร้างสรรค์ออกมาจะอยู่ต่อไปได้นาน หากใช้กระบวนการคิดแบบนี้ก็สามารถนำไปสู่ความยั่งยืนได้แล้ว เพราะความยั่งยืนไม่ได้หมายความว่าไม่ควรซื้อหรือไม่ควรผลิตอะไรอีกต่อไป แต่เป็นการออกแบบได้ดีจนผู้คนเห็นคุณค่าและทิ้งข้าวของเครื่องใช้ที่มีสีสันสวยงามเหล่านี้ไม่ลงนั่นเอง  

อ้างอิง

Writer

Craft Curator, Editor-in-Cheese, Chief Dream Weaver, Wicker Expressionist, Design Researcher, Entrepreneur Crybaby 'Instagram : @rata.montre'

Illustrator

แล้วแต่จะคิด ชีวิตคนละแบบ

You Might Also Like