What Have We Learned From The Olympic Games?

คนทำธุรกิจเรียนรู้อะไรบ้างจากการดูโอลิมปิกเกมส์ 2024

สิ้นแสงไฟจากกระถางคบเพลิงที่ตั้งตระหง่านกลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นสัญญาณเตือนว่า โอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 ได้รูดม่านปิดฉากเป็นที่เรียบร้อย

ตลอดระยะเวลา 17 วัน นอกจากการจัดงานสุดอลังการตั้งแต่พิธีเปิดจนถึงพิธีปิด สมฐานะเจ้าภาพที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้นำด้านแฟชั่นอันดับ 1 ของโลก และเป็นเมืองที่เปี่ยมมนตร์ขลังด้านวัฒนธรรม ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้โอลิมปิกเวอร์ชั่นปารีส 2024 น่าจดจำ คือ ‘โมเมนต์ประทับใจ’ จากนักกีฬาระหว่างการแข่งขัน 

บ้างมาพร้อมกับลีลาคาดไม่ถึงจนกลายเป็นมีมบนโลกโซเชียลฯ บ้างมาพร้อมกับการสร้างสถิติโลกน่าตกตะลึง บ้างมาพร้อมมาตรฐานสมฐานะแชมเปี้ยน บ้างก็สู้สุดใจจนวินาทีสุดท้าย และบ้างขอแค่ได้เข้าร่วมก็ถือเป็นเกียรติประวัติความสำเร็จในชีวิต

หลากโมเมนต์ข้างต้นยังถูกส่งต่อถึงผู้ชมทางบ้านได้คิดตามว่า โอลิมปิกเป็นมากกว่าเกมกีฬา เป็นมากกว่าการแข่งขันเพื่อเอาชนะ แต่ยังสะท้อนแนวคิดแง่บวกหลายข้อ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต ไม่เว้นแม้แต่คนทำธุรกิจ

แต่แง่คิดจากการดูกีฬาโอลิมปิกผ่านมุมมองของคนธุรกิจจะมีอะไรบ้างนั้น Capital ขอชวนหาคำตอบไปพร้อมกันจากคอลัมน์ Recap ตอนนี้

เทนนิส–พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ

ประเภทกีฬา : เทควันโดหญิง (รุ่น 49 กิโลกรัม)

You Must Be Number 1 (ต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแข่งขันกีฬาแต่ละชนิดในโอลิมปิกเกมส์ ตัวแทนจากประเทศไทยมักถูกจัดอยู่ในหมวด ‘ม้ามืด’ มากกว่าจะเป็นตัวเต็งนอนมาเหมือนชาติมหาอำนาจรายอื่น ไม่เว้นแม้กระทั่งกีฬามวยสากล ซึ่งในอดีตเป็นประเภทกีฬาที่ไทยเราเชื่อมือได้มากสุด

จนกระทั่งการเดบิวต์ของ เทนนิส–พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักเทควันโดหญิง รุ่น 49 กิโลกรัม ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2016 ได้ทลายความเชื่อเก่านั้นไป 

พาณิภัคพัฒนาตนเองจากดาวรุ่งฝีมือน่าจับตามอง ภายใต้การฝึกฝนจาก ‘โค้ชเช–ชเว ยอง-ซอก’ เธอค่อยๆ ฝึกปรน เคี่ยวกรำประสบการณ์ จนคว้าแชมป์ทุกรายการตั้งแต่ระดับชิงแชมป์โลก เอเชียนเกมส์ ชิงแชมป์เอเชีย และซีเกมส์ ก่อนจะมาคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกในชีวิต ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ กรุงโตเกียว ปี 2020 

กระทั่งโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เธอประกาศกร้าวว่า นี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่เธอจะรับใช้ทีมชาติไทย และเธอยินดีแลกทุกสิ่งทุกอย่างที่มีเพื่อป้องกันเหรียญทองให้ได้ หลังที่ผ่านมาต้องแบกรับอาการบาดเจ็บเรื้อรัง 

จากฝีมือที่สั่งสมมาไม่มีตก ผนวกกับแรงใจเต็มเปี่ยม นั่นทำให้สื่อแทบทุกสำนักพร้อมใจยกพาณิภัคเป็นตัวเต็งอันดับหนึ่ง ซึ่งเธอโชว์ให้ผู้คนทั่วโลกเห็นแล้วว่า เธอคือที่หนึ่ง และเป็น greatest of all time ของเทควันโดหญิง รุ่น 49 กิโลกรัม จากการไล่ต้อนคู่แข่งอย่างใสสะอาดในทุกรอบ ก่อนจะป้องกันเหรียญทองโอลิมปิกตามที่ตั้งเป้าไว้สำเร็จ

ในมุมมองของคนทำธุรกิจ กรณีของพาณิภัคก็ไม่ต่างจากการสร้างสินค้าหรือการบริการ ที่เมื่อทำแล้วก็ต้องทำให้สุดฝีมือ เพื่อให้ผู้บริโภคมองแบรนด์ของเราเป็นอันดับหนึ่ง พูดให้เห็นภาพก็เหมือนกรณีของ ‘มาม่า’ แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จที่อยู่คู่กับคนไทยมาเนิ่นนาน ซึ่งสามารถส่งออกสินค้าไปยัง 68 ประเทศทั่วโลก พร้อมกับครองตำแหน่งอันดับ 1 ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และฟินแลนด์ 

วิว–กุลวุฒิ วิทิตศานต์ และโค้ชเป้–ภัททพล เงินศรีสุข 

ประเภทกีฬา : แบดมินตันชายเดี่ยว

The Great Partnership (พาร์ตเนอร์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง)

“พี่บอกแล้วไง เอ็งจะหาประสบการณ์อย่างนี้ไม่ได้แล้ว เอ็งจะแพ้ชนะไม่เป็นไร เอ็งเอาความรู้ ความรู้สึก วิธีคิดวิธีเล่นเอาไปใช้ เรียนรู้จากเขา เขาคือสุดยอด เราต้องเรียนรู้จากเขา โอเคปะ”

ประโยคสั้นๆ แต่เปี่ยมด้วยกำลังใจนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ วิว–กุลวุฒิ วิทิตศานต์ พ่ายให้กับวิคเตอร์ แอ็กเซลเซน ในการแข่งขันแบดมินตันชายเดี่ยว รอบชิงชนะเลิศ โอลิมปิกเกม 2024 ไปอย่างน่าเสียดาย โดยเจ้าของประโยคคือ โค้ชเป้–ภัททพล เงินศรีสุข ผู้ฝึกสอนของกุลวุฒิ และอดีตนักกีฬาแบดมินตันคนแรกจาก ‘บ้านทองหยอด’ ที่ได้สัมผัสกับเวทีโอลิมปิก เมื่อปี 2003 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โค้ชเป้พูดให้กำลังใจกุลวุฒิข้างสนาม เพราะตั้งแต่รอบแรกจนถึงนัดชิง ทัศนคติแง่บวกจากโค้ชเป้ถูกส่งไปถึงศิษย์ของเขาอยู่เสมอ ไม่ว่าสถานการณ์จะถูกคู่แข่งไล่ต้อนจนเป็นฝ่ายตาม หรือสกอร์ขึ้นนำ โค้ชเป้ก็มักจะพูดว่า ‘เป็นแค่เกมเกมหนึ่ง’ ซึ่งกุลวุฒิจะต้องซึมซับประสบการณ์และผ่านไปให้ได้ 

นอกจากจะเป็นการให้กำลังใจ คำพูดของโค้ชเป้ยังช่วยให้กุลวุฒิรู้สึกผ่อนคลาย เห็นได้ชัดจากนัดชิงที่ตามหลังคู่แข่งชาวเดนมาร์ก กุลวุฒิยังคงเล่นด้วยความสนุกในแบบของตัวเอง และต่อให้ไปไม่ถึงเหรียญทองกุลวุฒิก็ยินดียืดอกยอมรับความพ่ายแพ้ โดยไม่แสดงความผิดหวังให้เห็น 

หากเป็นโลกของธุรกิจโค้ชเป้น่าจะเป็นคู่พาร์ตเนอร์หรือเจ้านายที่ใครก็อยากร่วมงานด้วย แน่นอนว่า สัจธรรมของการทำงานคือการไปให้ถึงความสำเร็จ แต่ระหว่างทางย่อมต้องเผชิญกับนานาอุปสรรค ดังนั้นการให้กำลังใจกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรหลีกเลี่ยง และต่อให้ไปไม่ถึงเป้าหมาย คำพูดปลอบประโลมก็จะกลายเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจให้พาร์ตเนอร์หรือทีมลุกขึ้นมาสู้ต่อได้อีกครั้ง

วิเวียน กง (ฮ่องกง)

ประเภทกีฬา : ฟันดาบหญิง ประเภทเอเป้

Never Give Up  (อย่ายอมแพ้จนวินาทีสุดท้าย)

อีกหนึ่งแมตช์ประวัติศาสตร์แห่งการแข่งขันโอลิมปิกที่ต้องจารึกไว้ กับการแข่งฟันดาบหญิงรอบชิงชนะเลิศ โอลิมปิก 2024 ระหว่าง วิเวียน กง นักดาบสาวจากฮ่องกง และโอริยอง มาลโล-เบรตง จากฝรั่งเศส ที่หากใครได้ดูถ่ายทอดสดน่าจะต้องหยิบยาดมมาสูดหายใจลึกๆ เพราะแมตช์นี้เต็มไปด้วยความตื่นเต้นเร้าใจแทบทุกวินาที

แม้จะเป็นมือวางอันดับหนึ่งของโลก แต่เปิดฉากมากลับเป็นฝ่ายชาติเจ้าภาพที่ไล่ต้อนวิเวียน กง ด้วยสกอร์นำโด่ง 7-1 เช่นเดียวกับบรรยากาศและเสียงเชียร์จากคนดูในสนามกร็องปาแล ล้วนแล้วแต่เป็นใจแก่โอริยอง มาลโล-เบรตง ไปเสียหมด

อย่างไรก็ตาม ด้วยหัวจิตหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ของวิเวียน กง เธอกัดฟันทำคะแนนตีตื้นคู่แข่งไล่มา 9-6 ก่อนจะไล่หายใจรดต้นคอมาเป็น 10-8 และเสมอ 10-10 ได้สำเร็จฉิวเฉียด นำไปสู่การแข่งขันช่วงต่อเวลาพิเศษและเป็นฝ่ายวิเวียน กง แซงเอาชนะ โอริยอง มาลโล-เบรตง ไปได้ 13-12 คะแนน สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองเหรียญแรกให้กับฮ่องกงหรือไชนีส ไทเป เป็นครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิก 

หลังจบเกม วิเวียน กง หลั่งน้ำตาแห่งความยินดีระหว่างรับเหรียญรางวัล สาเหตุเพราะในการแข่งขันโอลิมปิกสองครั้งที่ผ่านมา เธอยุติเส้นทางได้แค่รอบ 16 คน และรอบ 8 คนเท่านั้น แต่ด้วยความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้เธอจึงมายืนอยู่ตรงนี้ได้สำเร็จ พร้อมกับสะท้อนแง่คิดให้เราเห็นว่า ตราบใดที่ไม่ยอมแพ้ สักวันต้องมีวันที่เป็นของเราแน่นอน

โนวัค ยอโควิช (เซอร์เบีย)  

ประเภทกีฬา : เทนนิสชายเดี่ยว

Always Maintain Standards (‘มาตรฐาน’ คือคำตอบเดียวที่ถูกต้อง)

คอกีฬาต่างรู้ดีว่า โนวัค ยอโควิช คือหนึ่งในนักเทนนิสมือพระกาฬ ผู้กวาดรางวัลแกรนด์สแลมมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่มีเพียงสิ่งเดียวที่เขาไม่เคยทำสำเร็จมาก่อน คือการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก เฉียดใกล้สุดคือเหรียญทองแดง จากโอลิมปิก ปักกิ่ง ปี 2008

หลายคนคาดการณ์ว่า การมาโอลิมปิกครั้งนี้ของยอโควิช คือการมาเพื่อปลดล็อกความสำเร็จสุดท้ายในฐานะนักเทนนิสอาชีพ ทว่าก้างขวางคอชิ้นโตที่รอยอโควิชอยู่ตรงหน้า คือเด็กหนุ่มวัย 21 ปี ชาวสเปน นามว่า คาร์ลอส อัลคาราซ ที่มีดีกรีเป็นนักเทนนิสมือวางอันดับ 2 ของโลก และเจ้าของฉายา นิว ราฟาเอล นาดาล

ด้วยสภาพร่างกายอันแข็งแกร่งและฟอร์มร้อนแรงของอัลคาราซตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบชิง จึงไม่แปลกใจที่จะมีคนคิดว่า เด็กหนุ่มคนนี้คือคนที่จะมากระชากยอโควิช ในวัย 37 ปี ลงจากบัลลังก์ ทว่าผลการแข่งนัดชิงชนะเลิศ ยอโควิชสอนเชิงเอาชนะอัลคาราซไปได้สบายๆ 2 เซตรวด ทำสถิติเป็นนักเทนนิสชายอายุเยอะที่สุดที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก

ในมุมของธุรกิจ ยอโควิชก็เปรียบเสมือน ‘สินค้า’ หรือ ‘แบรนด์ดังแบรนด์หนึ่ง’ ที่ผู้คนชื่นชอบและให้การตอบรับดีเสมอมา และแม้จะเผชิญกับคู่แข่งน้องใหม่ที่มาพร้อมกับสินค้าน่าสนใจ ซึ่งเปรียบเสมือนตัวของอัลคาราซ แต่สุดท้ายการรักษามาตรฐานไม่มีตกนี้เอง จึงทำให้ยอโควิชเป็นผู้ชนะและยืนระยะได้ต่อไป 

ฉะนั้นคนที่ทำธุรกิจควรหมั่นรักษามาตรฐานตัวเองและตอบรับฟีดแบ็กของผู้บริโภคอยู่เสมอ เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมจนยากที่ใครจะเลียนแบบ ดังเช่นที่นักเทนนิสชาวเซอร์เบียรายนี้แสดงให้เราเห็น

เจิ้ง จื้ออิง (จีน-ชิลี)

ประเภทกีฬา : ปิงปองหญิงเดี่ยว 

No One Is Too Old To Succeed (ไม่มีใครแก่เกินประสบความสำเร็จ)

58 ปี คืออายุที่ ‘เจิ้ง จื้ออิง’ หรือ ‘ทาเนีย’ ลงแข่งขันกีฬาปิงปองในโอลิมปิก 2024 ในฐานะตัวแทนจากชิลี 

หากเป็นคนปกติ ในวัยดังกล่าวถือเป็นช่วงเตรียมพร้อมสู่ชีวิตหลังเกษียณ แต่ไม่ใช่กับเจิ้ง จื้ออิง ที่ใช้ช่วงเวลานี้ตามล่าความฝันอีกครั้ง หลังเคยตัดสินใจหันหลังให้กับกีฬาปิงปองไปเมื่อปี 1986 ขณะที่เธอมีอายุเพียง 20 ปี เนื่องจากอัตราการแข่งขันกีฬาปิงปองในประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่เธอถือกำเนิดมีการแข่งขันเข้มข้น พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของกติกาสากลที่เปลี่ยนแปลงไปไวจนเธอตามไม่ทัน ก่อนจะตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปใช้ชีวิตใหม่ ณ เมืองอิกคีเค ประเทศชิลี พร้อมกับเปิดธุรกิจร้านขายเฟอร์นิเจอร์เลี้ยงชีพ

แต่หลังจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เธอมีโอกาสจับไม้ปิงปองอีกครั้ง จากงานอดิเรกระหว่างล็อกดาวน์ กลับจุดประกายความฝันของเธออีกครั้งในวัย 57 พร้อมกับกวาดทุกรางวัลที่มีอยู่ เถลิงเป็นนักกีฬาปิงปองหญิงมือหนึ่งของประเทศชิลี และได้ก้าวมาแข่งขันกีฬาโอลิมปิกตามที่เธอใฝ่ฝัน

แม้สุดท้ายจะไม่ผ่านการแข่งขันรอบแรก แต่เจิ้ง จื้ออิง ทำให้คนดูทั่วทั้งสนามยืนขึ้นปรบมือ สดุดีแก่ความพยายามของเธอ และนักปิงปองชาวจีน-ชิลียืนยันว่า การมาแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้เปรียบเสมือนรางวัลล้ำค่าที่สุดในชีวิตเธอ 

กรณีของเจิ้ง จื้ออิง ยังสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นเกมกีฬาหรือเกมธุรกิจ ย่อมไม่มีใครแก่เกินกว่าที่จะประสบความสำเร็จ ทุกคนต่างมีช่วงเวลาผลิบานแตกต่างกัน ยกตัวอย่างกรณีอันโด่งดังของ ‘ผู้พันแซนเดอร์ส’ ที่กว่าจะประสบความสำเร็จสร้างแฟรนไชส์ไก่ทอด KFC อายุก็แตะหลัก 65 ปี หรือเกินครึ่งชีวิตไปแล้ว 

ยูซุฟ ดิเคช (ตุรกี) 

ประเภทกีฬา : นักกีฬายิงปืนสั้นระยะ 10 เมตร ชาย

Know Yourself (ไม่มีใคร ‘รู้’ ตัวเราดีไปกว่าเรา)

อีกหนึ่งโมเมนต์เรียกเสียงฮือฮาประจำโอลิมปิก 2024 คงต้องยกให้ ยูซุฟ ดิเคช นักกีฬายิงปืนสั้นระยะ 10 เมตร ชาวตุรกี ที่มาในมาดนิ่ง มือหนึ่งล้วงกระเป๋า อีกมือหนึ่งบรรจงลั่นไกเข้าเป้า คว้าเหรียญเงินกลับบ้านไปชนิดที่หลายคนแซวว่า เจ้าตัวแค่ใช้เวลาว่างแวะมาแข่งขันเฉยๆ 

ต่อมาไม่นาน ภาพขณะกำลังลงแข่งขันของยูซุฟกลายเป็นมีมไปทั่วโลกโซเชียลฯ บ้างก็นำไปตัดต่อคู่กับตัวละคร จอห์น วิค ที่แสดงโดยคีอานู รีฟส์ บ้างก็นำไปตัดต่อคู่กับตัวละคร จูลส์ ที่แสดงโดย ซามูเอล แอล. แจ็กสัน จากภาพยนตร์เรื่อง Pulp Fiction หนักสุดคือนำไปวาดเป็นคาแร็กเตอร์ตัวการ์ตูนในมาดสายลับ

ถึงกระนั้น ในความฮากลับมีแง่คิดที่น่าสนใจ เมื่อ Euronews สำนักข่าวจากตุรกีถามยูซุฟว่า เหตุใดจึงไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริม เช่น กระบังหน้า ที่ครอบหู หรือแว่นสายตาล้ำสมัยเหมือนกับนักกีฬายิงปืนรายอื่นๆ คำตอบที่ได้จากยูซุฟคือ เขาเป็นนักกีฬายิงปืนโดยธรรมชาติ เขารู้ดีว่าตัวเองเหมาะกับอะไรและไม่เหมาะกับอะไร สั้นๆ เรียบง่าย ได้ใจความ

หากสืบสาวประวัติของนักแม่นปืนชาวตุรกีรายนี้เพิ่มเติมจะรู้ว่าเขาคือนักกีฬาแม่นปืนประสบการณ์เจนจัด ผู้เคยคว้ารางวัลระดับโลกและยุโรปมาครอง ทั้งยังเคยรับราชการนายทหารชั้นประทวนแห่งกองกำลังกึ่งทหารตำรวจ ประเทศตุรกีมาก่อน ข้อมูลเหล่านี้น่าจะช่วยคลี่คลายความสงสัยว่า ทำไมคนที่ดูภายนอกแสนจะธรรมดาอย่างยูซุฟถึงได้เก่งกาจปานนี้

ขณะเดียวกัน คำตอบจากยูซุฟน่าจะเป็นข้อคิดที่ดีสำหรับคนทำธุรกิจหรือคนทำงานว่า ให้มองสิ่งที่ตนเองถนัดที่สุด และนำสิ่งที่ถนัดนั้นมาใช้งานอย่างถูกวิธี เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด ว่าง่ายๆ ก็คือ ก่อนจะออกไปแข่งขันกับคนอื่นให้สำรวจตนเองอย่างถ่องแท้เสียก่อน เพราะสุดท้ายแล้วย่อมไม่มีใคร ‘รู้’ ตัวเราดีไปกว่าเรา

อาร์ม็องด์ ดูพลานติส (สวีเดน)

ประเภทกีฬา : กระโดดค้ำถ่อชาย 

Redefine Your Limits (ทลายขีดจำกัดของตัวเอง) 

ในวงการกีฬาค้ำถ่อชาย ณ เวลานี้คงไม่มีใครสุดยอดเกินไปกว่า อาร์ม็องด์ ดูพลานติส จากสวีเดน ในวัย 24 ปี ที่ก่อนจะเริ่มการแข่งขันโอลิมปิก 2024 เขาคือเจ้าของสถิติความสูง 6.24 เมตร เป็นความสูงที่เหนือกว่ามนุษย์รายใดในโลกเคยทำมาก่อนจากการค้ำถ่อ

ก่อนเกมดูพลานติสคือตัวเต็งอันดับหนึ่ง และเมื่อถึงเวลาแข่งจริงเขาก็ทำผลงานได้ตามคาด กับการกระโดดครั้งแรกได้ในระดับความสูง 5.70 เมตร เป็นการกระโดดครั้งเดียวที่แทบการันตีเหรียญทองโอลิมปิก

แต่ดูเหมือนโอลิมปิกครั้งที่ 2 ในชีวิตของดูพลานติสจะไม่ใช่แค่การมาป้องกันเหรียญทอง เพราะในการกระโดดครั้งถัดมา หนุ่มชาวสวีเดนรายนี้ทำลายสติความสูงเดิมซึ่งเป็นสถิติโลก ด้วยระดับความสูง 6.25 เมตร และนับเป็นการทุบสถิกระโดดค้ำถ่อเป็นครั้งที่ 9 ในชีวิตของเจ้าตัว หลังเคยสร้างสถิติโลกครั้งแรกเมื่อปี 2022 ด้วยความสูง 6.19 เมตร

นอกไปจากความมหัศจรรย์เกินมนุษย์ อีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนมาถึงคนทำธุรกิจ คือการตั้ง ‘บาร์มาตรฐาน’ ของตนเองให้สูงอยู่เสมอ และต่อให้ถึงบาร์มาตรฐานนั้น ก็ต้องสร้างบาร์ใหม่ที่มาตรฐานสูงกว่าเดิม เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและเติมเชื้อไฟในการทำธุรกิจตลอดเวลา จากเดิมที่ทำเต็มที่ 100% ลองขยับเป็น 120% ทีละเล็กทีละน้อยจนกลายเป็นความเคยชิน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโมเมนต์น่าจดจำจากการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่เราคัดเลือกมานำเสนอผู้อ่าน ยังมีอีกหลายโมเมนต์สร้างแรงบันดาลใจจากเหล่าฮีโร่โอลิมปิก ที่นำไปปรับใช้ในการทำธุรกิจและดำเนินชีวิตประจำวัน  

ขอให้สนุกกับการทำธุรกิจและใช้ชีวิตอย่างมีความหวังในทุกๆ วัน ก่อนอีก 4 ปีข้างหน้าจะกลับมาพบกันใหม่ในโอลิมปิก 2028 ที่ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐฯ 

Writer

นักเขียนผู้หลงใหลโลกของฟุตบอล สนีกเกอร์ และกันพลา

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like