คิดใหม่ ทำใหม่

โอลิมปิกปารีส 2024 กับการเตรียมงานกว่า 10 ปี เพื่อวาดปารีส เศรษฐกิจ และชีวิตเมืองขึ้นใหม่

สิบปีก่อน ปารีสก็เหมือนเมืองใหญ่ๆ ในยุโรปและอเมริกา คือเป็นเมืองที่ผู้คนทั่วโลกหลงรัก เป็นเมืองที่ดีกับการท่องเที่ยว แต่ในมุมของผู้อยู่อาศัย เมืองแห่งนี้กลับไม่เป็นมิตรเท่าไหร่ เพราะปารีสทั้งรถติด มลพิษเยอะ และบ้างก็มองว่าสกปรก 

ภายใต้การนำของนายกเทศมนตรีหญิง แอนน์ ฮิดัลโก (Anne Hidalgo) ฮิดัลโกประกาศว่าจะไม่มีอีกแล้วปารีสที่ผิดพลาด เพราะปารีสต้องเป็นเมืองที่ยืดหยุ่น ยั่งยืน ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และใช้ชีวิตกลางแจ้งได้โดยไม่ต้องง้อรถยนต์ 

วิสัยทัศน์นี้เองที่ส่งผลต่อการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2024 นี้ เพราะโอลิมปิกเป็นโอกาสที่จะได้สื่อสารภาพปารีสในมุมใหม่ ถือเป็นการจัดอีเวนต์สำคัญที่ไม่ได้จบแค่วันงาน เพราะปารีสต้องเตรียมปรับเมืองให้พร้อมรับแขกจากทั่วโลกไว้ก่อน ผลผลิตจากการปรับเมืองเพื่อรองรับโอลิมปิกนี้เองที่จะกลายเป็นมรดกของงานและกลายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองให้ยั่งยืน  

ไอ้การ ‘ทำอะไร’ ของปารีสเพื่อเตรียมเมืองรับโอลิมปิกและเตรียมปารีสไปสู่วันพรุ่งนี้ เรียกได้ว่าทำถึงและทำมาก นอกจากการทำความสะอาดแม่น้ำ ทำให้แถวๆ หอไอเฟลและฌ็องเซลิเซ่เป็นสวนขนาดยักษ์ ปิดถนน สร้างทางจักรยาน สร้างโครงข่ายรถไฟสายใหม่แล้ว ในปี 2014 ปารีสยังได้ออกอภิมหาโปรเจกต์ชื่อ Reinvent Paris คือคิดปารีสขึ้นใหม่ เป็นการเปิดพื้นที่ในครอบครอง 23 แห่ง ชวนนักออกแบบและกลุ่มนักธุรกิจจากทั่วโลกมาสร้างพื้นที่ไปถึงย่าน ที่จะคิดจินตนาการการอยู่อาศัยใหม่ๆ ขึ้น

คอลัมน์ ‘ทรัพย์คัลเจอร์’ ในครั้งนี้ จะชวนไปดูมรดกของกรุงปารีสที่สร้างไว้โดยมีงานโอลิมปิกเป็นหมุดหมาย จากพื้นที่บ้านพักนักกีฬาที่จะกลายเป็นย่านชานเมืองใหม่ริมแม่น้ำแซน ถึงโปรเจกต์ใหญ่ที่ได้นักออกแบบแนวหน้าของโลกไปเปลี่ยนอาคารมรดก พื้นที่รกร้าง ไปสู่ย่านซีโร่คาร์บอน โรงแรมแนวกีฬา และโครงการอาคารพักอาศัยที่เติบโตไปพร้อมๆ กับผู้อยู่อาศัย

งานจบ เมืองไม่จบ 

ถ้าเรามองย้อนไป ปัญหาสำคัญของการจัดงานกีฬาระดับโลก คือการลงทุนพัฒนาพื้นที่กายภาพของเมืองที่เมื่อจบงานแล้ว สาธารณูปโภคหรือเมืองใหม่ที่ขยายตัวออกไปมักถูกทิ้งร้าง กลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม 

ระยะหลัง เมืองส่วนใหญ่จึงพยายามวางแผนให้พื้นที่จัดงานใช้ได้จริง เช่น สนามกีฬาที่ใช้เป็นพื้นที่สุขภาพของผู้คน อาคารที่ยืดหยุ่นปรับไปใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ได้ หรือพัฒนาโดยสัมพันธ์กับแผนการขยายตัวของเมือง

ถ้าเราดูการลงทุนพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา งานกีฬาส่วนใหญ่มักเกี่ยวกับการลงทุนสร้างสเตเดียมหรือพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อรองรับนักกีฬาและนักท่องเที่ยว เช่น โอลิมปิกที่จีน หรือเอเชียนเกมส์ที่หางโจว จีนซึ่งเป็นเจ้าพ่อการลงทุนสร้างอาคารใหญ่ๆ เองก็พยายามทำให้อาคารเป็นส่วนหนึ่งของย่านใหม่ เป็นพื้นที่ฟื้นฟู อาทิ พื้นที่ริมน้ำ ตัวอาคารทั้งหลายถูกปรับเป็นพื้นที่วัฒนธรรมหรือพื้นที่ส่งเสริมสุขภาพของผู้คน 

สำหรับปารีส เรียกได้ว่าจริงจังและซับซ้อนกว่านั้น ปารีสบอกว่างานโอลิมปิกครั้งนี้จะจัดผสานไปกับบริบทประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของปารีส พื้นที่มรดกใจกลางและบางส่วนนอกปารีสจะกลายเป็นสนามแข่งขันและพื้นที่จัดงาน 

แม้การจัดการพื้นที่เพื่อแข่งกีฬาและรองรับคนนับหมื่นต่อจุดเป็นเรื่องที่ยาก แต่หากทำได้ ภาพของปารีสจะดูมีชีวิตขึ้น เป็นเหตุผลที่ปารีสจะไม่สร้างสนามกีฬาใหญ่ขึ้นใหม่ และจะจัดพิธีเปิดและปิดในแม่น้ำแทน ตรงนี้เองที่ทำให้ทั่วโลกตื่นเต้นกับการว่ายน้ำในแม่น้ำแซน สนามแข่งขันที่กระจายจากหอไอเฟลไปถึงพระราชวังแวร์ซาย 

หมู่บ้านนักกีฬากับการสร้างย่านใหม่

ถึงเราจะบอกว่าปารีสต้องการจัดงานอย่างยั่งยืนและปรับปรุงพื้นที่ประวัติศาสตร์และพื้นที่เมือง แต่ด้วยขนาดและสาธารณูปโภคที่จำเป็น ปารีสก็มีการลงทุนสร้างพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับหลายจุด

นอกจากสนามกีฬาอย่างสนามกีฬาทางน้ำใหม่ ปารีสก็ต้องลงมือสร้างบ้านพักนักกีฬา พื้นที่ใหม่ที่ปารีสสร้างขึ้นนี้เป็นการพัฒนาขนาดใหญ่ในระดับย่าน โดยเฉพาะหมู่บ้านนักกีฬาที่วางไว้ว่าจะให้เป็นที่อยู่อาศัยหรือชุมชนใหม่ขนาด 6,000 คน

การสร้างย่านขึ้นใหม่ของหมู่บ้านนักกีฬาตั้งอยู่ที่ชานเมืองปารีสทางตอนเหนือ ตัวหมู่บ้านมีขนาดใหญ่ราว 300,000 ตารางเมตร กินพื้นที่สามเขตเทศบาลแถวๆ เขตที่เรียกรวมๆ ว่า แซ็งเดอนี (Saint-Denis) พื้นที่ที่ถูกนำมาพัฒนาเคยเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเดิมที่เสื่อมโทรมลง ทว่าตัวพื้นที่นอกจากจะอยู่ห่างจากกลางเมืองปารีส ประมาณ 9 กิโลเมตรแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแซนที่สวยงามและทำเลดี

ความน่าสนใจคือปารีสไม่ได้สร้างแค่หมู่บ้าน แต่ออกแบบให้หมู่บ้านนักกีฬาใหม่เป็นเหมือนย่านขนาดใหญ่ที่จะเปิดรับผู้อยู่อาศัยหลังจากงานจบลง ตัวพื้นที่จึงประกอบด้วยกลุ่มอพาร์ตเมนต์ที่เมื่อมองจากริมฝั่งแม่น้ำจะมีหน้าตาเหมือนอาคารพักอาศัยทั่วไปในยุโรป ตัวอพาร์ตเมนต์ออกแบบให้ปรับเปลี่ยนจากห้องพักนักกีฬาไปสู่ยูนิตเพื่อการอยู่อาศัย มีการวางศูนย์กลางของย่านเป็นสวนขนาดใหญ่ และมีแม่น้ำเป็นองค์ประกอบของการอยู่อาศัย 

นอกจากกลุ่มที่พักอาศัยยังเน้นการออกแบบสัดส่วนของพื้นที่สำคัญอื่นๆ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต สำนักงาน บริการสุขภาพ และโรงเรียนสองแห่ง พื้นที่อย่างแซ็งเดอนี เกี่ยวข้องกับการวางโครงข่ายขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ มีการขยายสายรถไฟ 14 สายที่วิ่งจากสนามบิน Orly และต่อขยายไปยังสถานีใหม่ Saint-Denis Pleyel

Paris, France – 08 17 2023: Paris 2024 new Olympic infrastructure. Exterior view of the Stade de France building in Saint-Denis

มรดกของวัฒนธรรมจักรยาน 

อีกประเด็นของการเปิดปารีสรับโอลิมปิกคือการที่ปารีสอยากเป็นเมืองแห่งความเคลื่อนไหว เป็นดินแดนแห่งชีวิตชีวา ประกอบกับทิศทางการพัฒนาเมืองของปารีสที่อยากก้าวไปสู่ความยั่งยืน ไม่อยากพึ่งพารถยนต์ จักรยานจึงเป็นสาธารณูปโภคที่ปารีสต้องการให้เป็นวัฒนธรรมและการสัญจรหลัก  

ไม่ใช่แค่นักกีฬาที่จะได้มาแข่งขันกัน แต่ปารีสบอกว่างานในครั้งนี้ คนทั่วไปจะสามารถขี่จักรยานไปในทุกพื้นที่การแข่งขันได้ ปารีสจึงเปิดโครงข่ายจักรยานระยะทาง 60 กิโลเมตร เป็นโครงข่ายสีฟ้าที่มีป้ายนำทางสีสันสดใส นอกจากจะเป็นการวางโครงข่ายจักรยานไว้ในพื้นที่แล้ว ยังเชื่อมโยงยังย่านใหม่แถบแซ็งเดอนีด้วย 

นอกจากทางจักรยานแล้วยังมีพื้นที่อื่นๆ เช่น อุปกรณ์ความปลอดภัยของเลนจักรยาน ราวสำหรับจอดจักรยานที่จะเพิ่มขึ้นหลักหมื่นราว ไปจนถึงการพัฒนาระบบจักรยานเช่ายืมอัตโนมัติ ที่ทำให้เรามีจักรยานใช้และนำไปจอดตามจุดต่างๆ เมื่อใช้เสร็จ ถือได้ว่าแผนโครงข่ายจักรยานของปารีสถือเป็นแผนขยายสาธารณูปโภคจักรยานขนาดใหญ่ไม่น้อย 

ภาพความคึกคักของงานโอลิมปิก การออกไปใช้เวลากลางแจ้ง จึงเป็นภาพสดใหม่ของปารีสที่นำไปสู่ความเคลื่อนไหวของเมืองนับจากนี้

Reinventing Paris
เปิดกิจการใหม่ด้วยโปรเจกต์ยักษ์

ความพิเศษและชาญฉลาดของปารีส ภายใต้การนำของนายกเทศมนตรีหญิงคือการเปิดความร่วมมือผ่านการแข่งขัน Reinventing Paris ที่เริ่มอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคมของปี 2015 การแข่งขัน Reinventing Paris เป็นการประกวดแบบเสนอความคิดระดับนานาชาติ คือปารีสจะเปิดพื้นที่ 23 แห่งที่เมืองครอบครองให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเสนอแผนการพัฒนา 

พื้นที่ 23 แห่งนั้น มีทั้งที่ดินเปล่าๆ พื้นที่ร้างๆ ส่วนหนึ่งของวงเวียน พื้นที่ริมถนนวงแหวน สถานีรถไฟเก่า สถานีการไฟฟ้าเก่า ไปจนถึงตึกสำนักงานของรัฐ หลายแห่งเป็นอาคารมรดก ไปจนถึงการพัฒนาย่านขึ้นใหม่ 

เป้าหมายของการพัฒนาหรือโปรเจกต์ที่เสนอเข้ามาคือการคิด จินตนาการการอยู่อาศัยใหม่ ในภาพรวม การพัฒนาจำนวนหนึ่งจึงเน้นพัฒนาเพื่อรองรับคนรุ่นใหม่ เช่น หอพักสำหรับนักวิจัย นักศึกษา เชฟ ไปจนถึงการพัฒนาสถานีไฟฟ้าเก่าไปสู่โรงหนังที่เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม 

ผู้ชนะการประกวดจำนวนหนึ่งเป็นสตูดิโอออกแบบระดับโลกที่ต่างพาพื้นที่กายภาพไปสู่จินตนาการของพื้นที่สาธารณะ รวมถึงกิจการและย่านใหม่ๆ ในบรรดาโปรเจกต์เหล่านั้น มีบางส่วนที่สร้างเสร็จแล้ว บางส่วนอาจติดปัญหาด้านงบประมาณ เช่น โปรเจกต์ Mille Arbres ที่ต้องการสร้างพื้นที่สาธารณะที่มีโรงแรมและสำนักงาน พร้อมๆ กับต้นไม้พันต้นบนอาคาร

หลายส่วนเป็นการเปิดพื้นที่เชิงทดลองและเป็นกิจการที่ไม่เน้นแสวงผลกำไรแต่ขยายจินตนาการของพื้นที่ธุรกิจและการอยู่อาศัย เช่น โครงการบ้านพักอาศัย Edison Lite Apartment Building เป็นอพาร์ตเมนต์ที่ให้ผู้ซื้อเข้ามาร่วมออกแบบห้องได้ตั้งแต่ก่อนสร้างและเป็นอพาร์ตเมนต์ที่ออกแบบให้มีผิวดิน มีกระถาง และสวนหลังคา เพื่อให้ประกอบอาหารในที่พักอาศัยได้ ผลคือทำให้อาคารพักอาศัยแห่งนี้ราคาถูกกว่าพื้นที่รอบๆ 30% และมีคนสนใจซื้อนับพันราย

หนึ่งในโปรเจกต์ที่เป็นรูปเป็นร่างคือย่านที่มีชื่อว่า Îlot fertile ย่านพัฒนาใหม่ที่นับเป็นย่านซีโร่คาร์บอนแห่งแรกของปารีส ตัวย่านแห่งนี้พัฒนาจากพื้นที่รูปสามเหลี่ยมที่เคยเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและถูกทิ้งร้าง ปัจจุบันย่านใหม่นี้ถือว่าสร้างโดยมองคนรุ่นใหม่เป็นผู้อยู่อาศัยสำคัญ 

เพราะมีทั้งอาคารพักอาศัยสำหรับนักเรียนและคนทำงานอายุน้อย มีโรงแรมราคาประหยัดสำหรับนักท่องเที่ยว ตัวพื้นที่ถือว่าทำเลดีมากเพราะเห็นวิวหอไอเฟล ทว่าด้วยความที่เป็นย่านยั่งยืนที่ใช้พลังงานหมุนเวียนทำให้ค่าสาธารณูปโภคและค่าใช้จ่ายภายในย่านมีราคาต่ำกว่า

นอกจากการเป็นพื้นที่พัฒนาเพื่อการอยู่อาศัยและนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่แล้ว ย่านแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงแรมกีฬาแห่งแรกของกรุงปารีส ซึ่งเป็นโฮสเทลราคาประหยัดที่บริหารงานโดย UCPA หรือสหพันธ์ส่งเสริมกีฬากลางแจ้ง อันเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับชาติของฝรั่งเศส 

ตัวโรงแรมกีฬาจะเป็นโรงแรมที่ทั้งบริการที่พัก และมีพื้นที่บริการเกี่ยวกับกีฬาและการออกกำลังกาย เช่น มีฟิตเนส 24 ชั่วโมง ผาจำลอง รวมถึงสนามกีฬาในร่มประเภทต่างๆ แน่นอนว่าโรงแรมกีฬาน่าจะเป็นอีกกิจการเล็กๆ ที่รองรับนักท่องเที่ยววัยรุ่นในช่วงโอลิมปิก นอกจากสาธารณูปโภคแล้วโรงแรมกีฬายังจะมีการจัดทัวร์เมืองปารีสแบบแอ็กทีฟๆ เช่น วิ่งชมเมือง และเที่ยวเมืองด้วยจักรยานและโรลเลอร์เบรด ราคาที่พักอย่างเตียงในห้องพักรวมเริ่มต้นที่ไม่ถึง 1,500 บาท

สุดท้าย งานปารีสโอลิมปิกที่กำลังจะมาถึงเป็นอีกหนึ่งงานใหญ่งานโตซึ่งปารีสเองก็น่าจะถนัด ทั้งการสานต่อรากเหง้าเรื่องราวที่ตัวเองภูมิใจ การหันเหการพัฒนาไปสู่เมืองและวิถีชีวิตแบบใหม่ที่จะมีเวทีโอลิมปิกเป็นเวทีที่ทั่วโลกร่วมรับรู้และมองเห็น ไปจนถึงการพาผู้คนจากทั่วโลกเข้าแข่งขันและช่วยกันคิดพื้นที่เล็กๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมือง

การแข่งโอลิมปิกจึงไม่ใช่แค่การแข่งขัน แต่คือจังหวะโอกาสที่ปารีสจะได้ฉายภาพความเป็นเมืองระดับแนวหน้าที่กำลังก้าวไปสู่นิยามใหม่ ทั้งยังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความสดใส และการประดิษฐ์คิดค้นที่ชวนเราคิดถึงการมีชีวิตในรูปแบบใหม่ๆ ต่อไป

อ้างอิง

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

ชื่อกล้วยค่ะ banana blah blah เป็นนักวาด บางวันจับเม้าส์ปากกา บางวันจับลูกกลิ้งทำภาพพิมพ์ สนใจ Art therapy และการวาดภาพเพื่อ Healing เชื่อว่าการทำงานที่ดีต้องทำให้เราอิ่มทั้งกายและใจ ได้มองเห็นตัวเองเติบโตภายใน

You Might Also Like