แม่บ้านทองหยอด

คุยกับแม่ปุกแห่ง ‘บ้านทองหยอด’ จากโรงงานขนมไทยที่ใช้ไข่แสนฟองสู่โรงเรียนผลิตแชมป์โลก

ภาพตรงหน้าคือพื้นที่ประมาณ 5 ไร่กว่าๆ บนถนนพุทธมณฑลสาย 3 มีสิ่งปลูกสร้างเป็นเรือนอาคารดูมั่นคง ด้านในอาคารเป็นคอร์ตแบดแยกซ้าย-ขวารวมทั้งหมด 18 คอร์ต ส่วนตรงกลางอาคารเป็นโรงอาหารและที่พักสำหรับนักกีฬาและนักเรียน 

ที่นี่คือโรงเรียนสอนแบดมินตันที่ร้อนแรงที่สุดของประเทศในนาทีนี้ เราเชื่อว่าถนนทุกเส้นของทุกคนในประเทศนี้ตอนนี้ที่ฝันอยากจะเป็นนักกีฬาแบดมินตันมืออาชีพล้วนมุ่งตรงมาที่โรงเรียนแห่งนี้ 

โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด

บรรยากาศโดยปกติของโรงเรียนกีฬาก็คึกคักด้วยรถราของผู้ปกครองที่พาเด็กๆ มาเรียนอยู่แล้ว แต่หลังจาก วิว–กุลวุฒิ วิทิตศานต์ จากโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดสามารถคว้าเหรียญเงินโอลิมปิกได้ที่โอลิมปิกปารีส 2024 ซึ่งถือเป็นเหรียญโอลิมปิกแรกของประเทศไทยในกีฬาแบดมินตัน ณ ตอนนี้เราจึงได้เห็นความคึกคักและสดใสมากขึ้นไปอีกในบ้านทองหยอด

“ขอโทษทีที่ให้รอ พอดีแม่เพิ่งได้กินข้าว เมื่อคืนนี้เที่ยงคืนยังคุยเรื่องกำหนดการอยู่เลย พวกเขาที่ไปแข่งที่ปารีสก็ไม่ได้นอนเหมือนกันเมื่อคืนนี้ นี่บ่ายสองแม่เพิ่งได้กินข้าว ช่วงนี้ยุ่งมาก ขนาดหมอฟันนัดเอาไว้ตั้งหลายวันแล้วแม่ยังไม่มีเวลาไปตามนัดเลย” กมลา ทองกร หรือที่ใครๆ ในโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดรวมทั้งสื่อมวลชนเรียกเธอว่า ‘แม่ปุก’ ทักทายและอธิบายด้วยรอยยิ้มระหว่างที่เราและทีมงานเดินเข้ามาในห้องทำงาน

จากการสังเกตด้วยสายตา นอกจากสารพัดอุปกรณ์จำเป็นสำหรับกีฬาแบดมินตัน ทั้งลูกขนไก่ รองเท้า และไม้แบดมินตัน รวมถึงถ้วยรางวัลมากมายที่ฉายภาพความสำเร็จ ตอนนี้มีช่อดอกไม้และกล่องของขวัญมากมายวางเรียงรายอยู่ด้านหน้า แต่ละช่อแต่ละกล่องล้วนเป็นสิ่งแทนใจจากคนที่ทั้งดีใจทั้งขอบคุณที่วิวและโรงเรียนกีฬาบ้านทองหยอดสามารถทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศนี้ให้เกิดขึ้นได้ในวันนี้

ยิ่งย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน ความฝันในการเข้ารอบชิงชนะเลิศมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้ ด้วยความพร้อมของบ้านเราที่ตามหลังชาติมหาอำนาจทางกีฬาหลายช่วงตัว

“เมื่อก่อนนี้คอร์ตแบดมันหายากมาก ขอแค่จะมีคอร์ตให้เล่นยังยากเลย นี่แหละคือปัญหา โรงเรียนนี้เกิดจากความไม่พร้อมของสนามกีฬาที่มันหาไม่ได้ในตอนนั้น” แม่ปุกเกริ่นเล่าถึงที่มาของโรงเรียนแห่งนี้

ถึงไม่ฉายภาพให้ดูเชื่อว่าหลายคนก็น่าจะนึกภาพออกว่าศาสตร์ความรู้หรือบุคลากรที่จำเป็นในช่วงหลายสิบปีก่อนที่เกี่ยวกับแบดมินตันในประเทศไทยเป็นเรื่องไกลตัวแค่ไหน

แต่ใครจะเชื่อว่าสุดท้ายนี่คือสถานที่ปลุกปั้นแชมป์โลกแบดมินตันถึง 2 คน คนแรกคือ เมย์–รัชนก อินทนนท์ ส่วนอีกคนคือวิว กุลวุฒิ นั่นเอง

และอย่างที่บอกไว้นับตั้งแต่แบดมินตันเคยถูกบรรจุในการแข่งขันโอลิมปิกมาในปี 1992 นี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเหรียญจากกีฬาประเภทนี้

32 ปีแห่งการรอคอย ในที่สุดคนไทยก็ทำได้สักที

“ตั้งแต่วันแรกที่สร้างที่นี่ แม่เคยพูดกับหนังสือพิมพ์เอาไว้ เขาถามว่าแม่คิดยังไงถึงมาสร้างโรงเรียนแบดมินตัน คือแม่สร้างโรงเรียนแบดมินตันนี้มาเป้าหมายก็คืออยากสร้างนักกีฬาของไทยให้ไปสู่ระดับโลก ระดับโอลิมปิก และก็หวังว่าอยากจะได้เหรียญโอลิมปิก แม่ฝันไกลเลย”

แต่การจะสร้างนักกีฬาที่เก่งที่สุดในประเทศ และสามารถเลยไปไกลถึงการเป็นนักกีฬาที่เป็นมือวางอันดับต้นๆ ของโลกไม่ได้อาศัยเพียงแค่พรสวรรค์ของนักกีฬาเพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้น กว่าจะได้ไปยืนบนโพเดียมรับเหรียญ เบื้องหลังของนักกีฬาเหล่านั้นยังมีอีกหลายสิ่งและอีกหลายคนที่อยู่เบื้องหลังคอยผลักดันนักกีฬาให้ขึ้นไปยืนอยู่ ณ จุดนั้นได้

อย่างความสำเร็จล่าสุดของวิว กุลวุฒิ ในโอลิมปิกเกมที่ปารีส หลายคนและหลายสิ่งที่ว่า นอกจากความมุ่งมั่นส่วนตัวและครอบครัวที่หนุนหลัง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สังกัดที่บ่มเพาะตั้งแต่วัยเยาว์จนส่งเขาให้ไปถึงแชมป์โลกและคว้าเหรียญเงินโอลิมปิกมาคล้องคอคือเบื้องหลังสำคัญ และที่แห่งนั้นคือโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด

และผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญของที่แห่งนี้คือ ‘แม่ปุก’ ของทุกคนในโรงเรียน

ชีวิตไม่หวานของแม่ค้าขนมหวาน

ด้วยชื่อเสียงเรียงนามของ ‘บ้านทองหยอด’ อาจทำให้หลายคนสงสัยว่าทำไมสโมสรกีฬาและโรงเรียนแบดมินตันจึงมีชื่อขนมไทยอยู่ในนั้น ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีอะไรซับซ้อน–แม้อาจฟังดูน่าประหลาดใจ

โรงเรียนแบดมินตันแห่งนี้มีจุดเริ่มต้นและหล่อเลี้ยงด้วยธุรกิจโรงงานผลิตขนมไทยที่ชื่อ บ้านทองหยอด

“เมื่อก่อนบ้านแม่จนมาก” แม่ปุกย้อนเล่าเมื่อเราชวนคุยถึงเรื่องราวในอดีต “จนมากขนาดที่ว่าผักบุ้งกำนึงถ้าจะผัดเราไม่สามารถซื้อน้ำมันมาผัดได้นะ ไม่มีตังค์ซื้อ คือจนมากๆ ตอนนั้นคุณพ่อเป็นเซลส์ขายรถ แต่มันไม่พอเลี้ยงครอบครัว เพราะครอบครัวเราลูกเยอะ รายจ่ายของครอบครัวก็ค่อนข้างสูง คุณแม่ก็รับจ้างทำขนม เป็นลูกมือคนอื่นเขา ตอนนั้นเราเองก็ทำทุกอย่างที่ได้เงิน อะไรก็ได้ที่ได้เงิน ทำทั้งนั้น มีไปรับจ้างถูบ้านวันละ 2 บาทหลังเลิกเรียนด้วยนะ

“ทีนี้คุณแม่ที่รับจ้างทำขนมต้องเดินทางจากบางขุนเทียนไปสี่แยกบ้านแขกทุกวัน รายได้ที่ได้หักลบกับค่าเดินทางมันก็ไม่ค่อยได้อะไรมากพอที่จะมาเลี้ยงลูกได้ ประกอบกับตอนนั้น คุณแม่เขาก็มีรับขนมมาขายเองตอนเช้าที่ตลาดพลู ทีนี้ท่านก็เลยคิดว่า ลองทำขนมขายเองดีกว่า ตัวแม่ปุกเลยต้องช่วยคุณแม่ทำขนมขายมาตั้งแต่เด็กๆ ทำมาตั้งแต่ 9 ขวบ”

ด้วยความจนและความจริงทำให้ต้องอยู่กับชีวิตที่ไม่ได้สุขสบาย ในวัยที่เพื่อนๆ ต่างได้เล่นสนุกสมวัย แม่ปุกต้องตอกไข่วันละ 50 ฟองเพื่อช่วยที่บ้านทำขนมไทยโดยเริ่มจากการทำฝอยทอง แม่ปุกต้องตอกไข่ หยอดไข่ให้เป็นสาย และใส่ไข่ให้เป็นหยดลงในน้ำเชื่อมอยู่อย่างนั้นเรื่อยมา กิจการที่บ้านเป็นไปได้ด้วยดี ขนมขายได้ ร้านเปิดตี 4 แต่คนมาต่อคิวซื้อตั้งแต่ก่อนตั้งร้านเสียอีก ของก็ขายหมดทุกวัน แต่เงินกำไรที่ได้มาจากการขายขนมก็ต้องเก็บเล็กผสมน้อยเรื่อยมา พร้อมๆ ไปกับการเลี้ยงดูจุนเจือค่าใช้จ่ายในบ้าน

ชีวิตประจำวันของเด็กหญิงปุกในวันนั้นจึงเป็นการตื่นมาช่วยที่บ้านทำขนม พอเช้าตรู่ก็ไปโรงเรียน เลิกเรียนกลับบ้านมาทำขนมต่อถึงสี่ห้าทุ่มกว่าจะได้เข้านอน เข็มนาฬิกาชีวิตของเธอหมุนอยู่เพียงแค่เท่านี้ แต่แม้จะมีภาระอื่นที่ต้องโฟกัสแต่เธอก็เป็นเด็กเรียนดี สอบปลายปีเมื่อไหร่ก็ได้อันดับไม่เคยเกินที่ 1, 2 หรือ 3 

นอกจากเรื่องเรียนหนังสือและทำขนม เด็กหญิงปุกเป็นคนชอบทำกิจกรรม เธอร่วมแทบทุกกิจกรรมที่โรงเรียนมีทั้งดนตรีและกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเล่นกีฬา เธอสนใจยิมนาสติก บาสเกตบอล แต่เธอจะฝันได้ไกลสักแค่ไหนเชียว เพราะเลิกเรียนเธอก็ต้องรีบกลับบ้านไปหยอดขนมแล้ว แถมเสาร์-อาทิตย์ก็ต้องไปช่วยแม่ขายขนมอีก 

“ตอนเด็กตอนที่เรียนหนังสือ แม่ชอบทำกิจกรรม ชอบเล่นกีฬา เล่นทุกอย่างเลย ทั้งบาส วอลเลย์บอล”

“แล้วได้เล่นแบดไหม” เราถามโดยเดาว่าน่าจะเป็นสิ่งที่เธอหลงใหลตั้งแต่ตอนนั้น

“ไม่ได้เล่น อยากเล่นแต่ไม่มีเงินซื้อไม้ ไม่มีเงินไปเช่าสนาม ตอนนั้นอยากเล่นแบด แต่มันไม่มีเงินจะเล่น ก็เลยเลือกเล่นกีฬาที่มันไม่ต้องใช้อุปกรณ์ ไม้แบดมันก็เป็นอุปกรณ์ ลูกแบดก็เป็นอุปกรณ์ เงินทั้งนั้นนะนั่น แต่ลูกบาส ลูกวอลเลย์บอล มันก็แค่ลูกเดียว หลายๆ คน แบ่งกันเล่นก็ได้ แม่เล่นยิมนาสติกด้วยนะ ถือว่าทำได้ดีนะตอนนั้นในระดับโรงเรียน ตอนนั้นครูบอกว่าครูจะให้เธอไปเรียนที่ กกท. เอาไหม ไอ้เราก็ไม่มีเงินซื้อชุดอีก ไม่มีเงินที่จะเดินทาง พ่อแม่ก็ไม่มีเวลาที่จะพาเราไปที่ กกท. ก็เลยจบไป”

จากแม่ค้าขายปลีกสู่การเป็นแม่ปุกขายส่ง

แม่ปุกในวันนั้นจึงไม่ได้เอาดีทางด้านกีฬา แต่เอาดีทางด้านขนมไทยแทน เพราะเป็นแหล่งรายได้ของครอบครัว 

กิจการขนมไทยของเธอและคุณแม่มีลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยคุณภาพของสินค้าจนมีลูกค้ามายืนรอหน้าร้านก่อนร้านเปิดทุกวัน  ทองหยอดที่ขายได้เป็นวันละหลักร้อยลูกเขยิบมาเป็นหลักพัน จากวันละหลักพันขยับขึ้นมาเป็นหลักหมื่น

เมื่อกิจการขนมไทยมีแนวโน้มไปได้ดี แม่ปุกจึงสามารถเก็บเงินซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อขยายเป็นโรงงานทำขนมไทยเล็กๆ ได้ในเวลาต่อมา

“ตอนนั้นแม่เช่าบ้านอยู่ซอยวุฒากาศ 56 พอทำไปเรื่อยก็เก็บเงิน เก็บเล็กผสมน้อย แล้วพอขายดีขึ้นที่ผลิตมันเริ่มไม่พอ เพราะเราก็คิดว่าถ้าเราอยากทำขนมมากขึ้น เราต้องมีคนงานมาช่วย มันก็จะอึดอัดไปหมด ที่มันเริ่มแคบสำหรับการมีคนงานเข้ามาในบ้าน คือจริงๆ ตอนนั้นแค่คนในครอบครัวก็พักกันไม่ค่อยจะพอแล้ว เพราะบ้านหลังนิดเดียว เราเลยซื้อที่ข้างหลังบ้านโดยที่ผืนนั้นก็แค่ข้ามคูหลังบ้านไปเองนั่นแหละ ใกล้ๆ บ้านเดิม ที่ตรงนั้นก็ 100 ตารางวา ก็สร้างเป็นที่ทำงาน คือจะเรียกโรงงานก็อาจจะไม่ได้ เพราะมันไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น ก็มีคุณยาย แม่ปุก พี่น้องกันเอง หลักๆ ก็แค่นี้”

การทำขนมไทยนอกจากเรียกร้องทักษะและแรงกายแล้วมันยังพรากเวลาเธอไปจากครอบครัว และเมื่อคนรักของแม่ปุกไม่อยากให้เธอสูญเสียเวลากับครอบครัวไป จุดเปลี่ยนสำคัญจึงเกิดขึ้น

“คุณพ่อพี่เป้เขาฉลาด เป็นคนที่มีความรู้เรื่องช่างในหัว แกไม่ได้เรียนเยอะอะไรนะ แต่แกเป็นคนใฝ่รู้ ชอบทดลอง ประดิษฐ์ เมื่อก่อนแม่นี่นั่งหยอดทองหยอดทั้งวัน หยอดจนมือซีด แกก็นั่งดูแล้วมาคิดว่าเราจะทำยังไงให้มันเป็นเครื่องได้ แกก็ทำเครื่องจำลองการหยอดของแม่ขึ้นมา เอามอเตอร์มาใส่ จากวันนึงที่แม่ทำได้แค่หมื่นลูก หมื่นลูกนี่คือนั่งทำตั้งแต่เช้าถึงเย็นแล้วนะ ทำงานหนักมากแล้ว พอมีเครื่องนี่กลายเป็นว่าเราสามารถทำได้วันๆ นึงเป็นแสนลูกขึ้นไป ตอนนั้นเลยกลายเป็นว่า เราเป็นร้านที่ขายทองหยอดได้ดีที่สุดในประเทศไทยก็แล้วกัน ทุกคนต้องมาขอซื้อเราเพื่อไปขอติดยี่ห้อของตัวเอง” 

ทั้งที่ทางก็ใหญ่โตกว้างขวางขึ้น กำลังการผลิตก็เพิ่มขึ้น ลูกค้าก็ขยายฐานออกกว้างมากขึ้น จากเดิมที่เคยขายขนมแบบปลีกแค่ในตลาดเช้า กลายเป็นร้านขายส่งให้ร้านค้าระดับประเทศ

“คือใครอยากจะซื้อของเราไปติดยี่ห้อนี่ได้เลย เราเป็นผู้ผลิต เมื่อก่อนที่ขายทั้งในประเทศทั้งส่งออก คือไม่ได้ติดยี่ห้อตัวเองเลย อย่างลูกค้าเราก็มีร้าน พรชัย บางลำพู ปากคลองตลาดทั้งตลาด ปังเว้ยเฮ้ย ขนมบ้านสวย และร้านศรีฟ้าตรงแถวๆ เมืองกาญจน์ที่ดังเรื่องเค้กฝอยทอง”

หลังจากนั้นแม่ปุกจึงขยับขยายสร้างโรงงานผลิตขนมไทยบ้านทองหยอด จากเด็กหญิงปุกในจุดเริ่มต้นที่นั่งตอกไข่วันละ 50 ฟอง ก็กลายเป็นแม่ปุกของวงการขนมไทย สามารถซื้อที่ดินสร้างโรงงานขนมไทยบ้านทองหยอด มีลูกค้าขนมอยู่ทั่วประเทศ

“ทุกวันนี้เราใช้ไข่วันละแสนฟองขึ้นไปค่ะ ถ้าเป็นช่วงเทศกาลก็มากกว่านั้นอีก เลยแสนฟองต่อวัน ทีนี้เราก็เริ่มทำให้ครบวงจรเพิ่มขึ้น ลูกชายก็ใช้ที่ใกล้ๆ โรงงานที่เราไปสร้างใหม่ในการเลี้ยงเป็ด เพื่อให้เราได้ไข่ที่สดขึ้น เรียกได้ว่า พอไข่ออกมาจากก้นเป็ดก็เอามาทำขนมเลย สดแน่นอน ไม่มีสดกว่านี้แล้ว แต่ก็เลี้ยงเท่าที่เลี้ยงได้นะ ยังคงต้องซื้ออยู่ แต่ส่วนนึงคือเลี้ยงเองด้วย” 

อย่างที่ทุกคนคงได้เห็นในโซเชียลว่าทุกวันนี้หากอยากอุดหนุนขนมไทยบ้านทองหยอด พวกเราสามารถอุดหนุนแม่ปุกได้แล้วในร้านสะดวกซื้อชื่อดังทั่วประเทศ จากเด็กหญิงปุกที่ตื่นเช้ามาขายขนมในตลาดพลูกลายเป็นแม่ปุกที่ขายขนมไทยส่งทั่วประเทศแถมทุกคนสามารถซื้อขนมเธอได้ในร้านสะดวกซื้อชื่อดังกว่าหมื่นสาขาทั่วประเทศ

ในมุมธุรกิจ ชีวิตเธอก็ดูน่าจะมีความสุขและบทความนี้สามารถเขียนว่า จบบริบูรณ์ ได้แบบในนิทานก่อนนอนทั่วไป

แต่ชีวิตของเธอกลับไม่ได้ตั้งเป้าหมายเพียงแค่นั้น และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราเดินทางมาพบเธอในวันนี้

จากผู้ผลิตขนมไทยสู่ผู้ผลิตทีมชาติไทย

ว่ากันว่ามนุษย์เรามักตามหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปในชีวิตอยู่เสมอ เช่น คนขาดทรัพย์มักตามหาเงิน คนอยู่ในวงการมายามักตามหาคนจริงใจ 

ไม่มีเงินที่จะซื้อไม้แบด

ไม่มีเงินที่จะซื้อลูกแบด 

ไม่มีเงินที่จะเช่าคอร์ตตีแบด

พอจังหวะชีวิตเริ่มอยู่ตัว มีโรงงานทำขนม มีสามีและลูกที่น่ารัก แม่ปุกจึงพยายามเติมหลุมในใจที่เคยมีตั้งแต่เด็ก นั่นคือการไปเล่นแบดมินตัน

“พอแม่มาทำงาน แต่งงาน มีลูก และพอมีเวลาว่างตอนเย็นๆ แบบสักทุ่มนึง ก็สามารถมีเวลาไปตีแบดเล่นกับเพื่อนๆ ได้แล้ว และลูกเราก็ชอบตีแบด เราก็พาเขาไปเล่นด้วย ตีไปตีมามีคนมาบอกเราว่าลูกคุณมีแววนะ ไอ้เราได้ยินแบบนี้ก็ฮึกเหิมสิ อยากผลักดันเขา อยากส่งให้เขาไปให้ได้ไกลที่สุด เพราะตอนเด็กๆ เราไม่มีโอกาส เราอยากเล่นแบดมินตัน เราอยากเล่นยิมนาสติก เราเล่นไม่ได้ ที่บ้านแม่ไม่มีเงินซื้อชุด

“พอมาถึงคราวลูกเรา เรามีปัญญาแล้วนี่ เราก็เอาสิ” จังหวะทิ้งท้ายประโยคของแม่ปุกฟังแล้วชวนปลุกใจ

โดยลูกที่แม่ปุกพูดถึง คือ เป้–ภัททพล เงินศรีสุข, เป๊ก–ภาณุวัฒก์ เงินศรีสุข และมุก–คณิศรา เงินศรีสุข

ซึ่งใครที่ติดตามวงการแบดมินตันอย่างใกล้ชิดย่อมรู้ว่าในเวลาต่อมาทั้งเป๊กและเป้ต่างเอาดีและจริงจังในเรื่องแบดมินตันจนติดทีมชาติและเป็นมือวางอันดับต้นๆ ของประเทศ ส่วนมุกเองก็ลงท้ายที่การไปเรียนวิชา Sport Management จากอเมริกาและได้กลับมาดูเมย์–รัชนก อินทนนท์ ในเวลาต่อมา

การสนับสนุนของแม่ปุกในยามนั้นเข้มข้นจริงจังขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้เลยว่ามันจะนำไปสู่ปลายทางที่เปลี่ยนวงการแบดมินตันไทยไปตลอดกาล เธอเริ่มพาเป๊กและเป้ลูกชายทั้งสองไปตีแบดเป็นประจำกับเพื่อนๆ ที่มีลูกชอบตีแบดเหมือนกัน เริ่มจ้างโค้ชชาวไทยอย่างอาจารย์พรโรจน์ บัณฑิตพิสุทธิ์ มาฝึกสอนลูกๆ ก่อนจะเริ่มติดต่อจ้างโค้ชชาวจีนอย่างเซี่ยจื่อหัว มาสอนลูกๆ ผ่านสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ

และเป็นธรรมดาของการเล่นกีฬาที่อยากจะเอาตัวเราไปประลองฝีมือกับคนอื่นดูบ้าง

“ตอนที่ลูกเริ่มเล่นแบดแล้วลูกยังไม่เก่งก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ 7-8 คน ทีนี้พอลูกเริ่มตีได้ ลูกก็อยากจะแข่ง พออยากจะแข่งแม่ก็จะไปสมัครแข่งให้ลูก ทีนี้กฎของสมาคมคือคนที่จะแข่งได้ต้องมีสโมสร มีสังกัด อ้าว แล้วแม่จะใช้สังกัดอะไร ในเมื่อตอนนั้นลูกแม่ยังไม่เก่งก็ยังไม่มีใครหรือสังกัดไหนให้ใช้ชื่อ แล้วเราจะทำยังไงเราถึงจะสมัครแข่งได้ 

“งั้นเราก็ตั้งสังกัดเองเลยสิ เราก็ไปสมัครเป็นสมาชิกสมาคมแบดมินตันเองเสียเลย แล้วมันต้องตั้งชื่อ ทีนี้ไม่รู้จะตั้งชื่อว่าอะไร เราก็ลองพูดๆ ชื่อไป เอาอันนั้นไหม อันนี้ไหม เพื่อนๆ ก็บอกว่าในเมื่อทุกคนก็เรียกเราว่า ‘บ้านทองหยอด’ อยู่แล้ว เราก็ใช้ชื่อนี้แหละ ไม่ต้องตั้งใหม่เลย

“เราก็เลยใช้ชื่อว่า บ้านทองหยอด”

พอเริ่มเป็นชมรมแบดมินตันและได้ตระเวนพาลูกไปแข่ง สองพี่น้องจากชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอดเฉิดฉายในวงการแบดมินตันไทยได้อย่างร้อนแรง และเป็นกำลังสำคัญของกีฬาแบดมินตันชายไทยในตอนนั้น

“เมื่อก่อนตอนที่ชิงกันชายคู่เนี่ย จะเป็นคู่พี่เป้กับพี่เต่า–สุดเขต ประภากมล ที่ได้ที่ 1 แล้วก็มีคู่พี่เป๊กกับ ณัฐพล นาคทอง หรือ ทรงพล อนุกฤตยาวรรณ คือ 4 คู่ในรอบรองชนะเลิศประเภทคู่ 8 คนเป็นนักกีฬาของบ้านทองหยอดไปแล้ว 7 คน ตอนนั้นถือว่าดังมาก ซึ่งตอนหลังพี่เป๊กเลิกเล่นก่อนพี่เป้เพราะมันตันตรงพี่เป้นี่แหละ ทำยังไงก็ไม่ผ่านเป้ ไม่ชนะเป้สักที เป็นที่มาที่ไปว่า ทำไมพี่เป้ได้บริหารโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ส่วนพี่เป๊กไปบริหารโรงงานทำขนม 

“เพราะคุณถนัดตรงนั้น เขาถนัดไม่เหมือนกัน”

เบิกทางวงการแบดมินตันไทยสู่ระดับโลก

นอกจากการผลักดันให้ลูกได้ฝึกซ้อม จัดตั้งชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอดขึ้นมา เราอาจจะเรียกได้ว่าแม่ปุกเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญยิ่งคนหนึ่งของการนำพาและเชื่อมต่อให้ทีมแบดมินตันไทยได้โค้ชจากประเทศที่เก่งอันดับต้นๆ ของโลกอย่างประเทศจีนมาเทรนนักกีฬาไทย

“พอจบรุ่น 15 ปี แม่ส่งเป้กับเต่าไปฝึกซ้อมกับกับทีมชาติจีน โดยโค้ชเซี่ยเป็นคนส่งไป เพราะเขาเคยอยู่ทีมชาติจีนมาก่อน เขาก็มีคอนเนกชั่นกับทีมชาติจีน ก็เลยฝากทางนั้นว่าขอให้ลูกศิษย์ไปซึมซับบรรยากาศไปซ้อมด้วย 1 เดือน คือไปถึงสู้เขาไม่ได้เลยนะ แม้กระทั่งตีกับผู้หญิง เพราะเมื่อก่อนประเทศเราซ้อมเบากว่าเขา เขาก็ให้ไปซ้อมและให้โค้ชที่ชื่อโค้ชหลิวมาดูแลความสะดวกช่วงที่อยู่จีน

“พอกลับมาปุ๊บแม่มาเล่าให้ท่านกร ทัพพะรังสี ฟังซึ่งตอนนั้นท่านเป็นนายกสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ก่อนจะไปเป็นนายกสมาคมแบดมินตันโลก ท่านกรถามว่าแล้วเราต้องการแบบไหน ต้องการให้โค้ชจีนมาสอนที่เมืองไทยเลยไหมล่ะ เด็กไทยคนอื่นๆ ก็จะได้การฝึกซ้อมจากโค้ชจีนด้วย คือถ้าเราส่งเป้กับเต่าไปอยู่จีนซึ่งใช้เงินปริมาณเท่าๆ กัน แต่เราฝึกนักกีฬาไทยได้แค่ 2 คนเท่านั้นเอง ท่านกรก็แนะนำมาอย่างนั้น เราก็เลยว่า งั้นเอาตามแบบที่ท่านกรว่า คือเอาโค้ชจีน 2 คนมาช่วยที่ไทย”

การนำเอาโค้ชจีนมาจัดระบบและฝึกซ้อมให้นักกีฬาแบดมินตัน ถือเป็นการนำเข้าเอาระบบฝึกที่เข้มข้นแบบนักกีฬาระดับโลกเข้ามาสู่ประเทศไทย และอาจกล่าวได้ว่านั่นคือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้วงการแบดมินตันไทยก้าวเท้าข้างหนึ่งเข้าสู่เวทีแบดมินตันโลก

ที่ดิน 5 ไร่ เงิน 500,000 และหนี้ร้อยล้าน

ด้วยชื่อเสียงของชมรมกีฬาแบดมินตันบ้านทองหยอด จำนวนนักกีฬาที่มาร่วมซ้อมก็ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ จนมีนักกีฬาในสังกัด 70 คน จำเป็นต้องไปเช่าหอประชุมโรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรีเพื่อฝึกซ้อม แต่หลังจากนั้นสถานที่ฝึกซ้อมก็เริ่มไม่เพียงพอ ประกอบกับโรงเรียนเองจำเป็นต้องใช้หอประชุมในการทำกิจกรรมอื่นๆ ของโรงเรียน แม่ปุกจึงเริ่มคิดการใหม่และคิดการใหญ่ โดยเธอตั้งใจสร้างสถานที่เพื่อฝึกซ้อมแบดมินตันเองเสียเลย

แต่การจะสร้างคอร์ตแบดให้เพียงพอจำนวนนักกีฬาแบดมินตันในตอนนั้นก็ต้องมีพื้นที่ที่กว้างขวางเพียงพอ

“ตอนนั้นก็มาเจอที่ดินผืนนี้ที่ราคาที่แม่จ่ายไหว แล้วการได้ที่มานี่ก็เหลือเชื่อและเหนือจริงมาก คือเจ้าของที่เขาโดนจับตัวไปเพราะเป็นหนี้ แล้วเขาก็บอกนายหน้าของแม่ว่าถ้าหาเงินมาให้เขาได้ 500,000 บาทตอนนี้ เดี๋ยวเขาจะขายที่ให้ นายหน้าแม่ก็โทรมาหาแม่ว่า เชื่อใจไหม ลองดูไหม ถ้าเอาเงิน 500,000 ไปให้เขา เขาจะขายที่ให้เราในราคาที่เคยคุยกันว่าแม่จ่ายไหว แม่ก็เลยเอาเงินไปให้เขาเดี๋ยวนั้นเลย 500,000 แม่เลยได้ที่ตรงนี้มาในราคาที่ไม่น่าจะเป็นไปได้”

สุดท้ายพื้นที่กว่า 5 ไร่จึงกลายเป็นของเธอในราคาที่ถูกกว่าราคาปกติ หากแต่การสร้างคอร์ตแบดมินตันจำเป็นต้องใช้เงินอีกก้อนใหญ่ แม่ปุกจึงยอมเป็นหนี้กว่าร้อยล้าน ไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อลงทุนสร้างอาคารและคอร์ตแบด รวมถึงเอาเงินมาเป็นทุนในการบริหารจัดการ ลงทุนจ้างโค้ชแบบเต็มเวลามาสอนนักกีฬา และลงทุนพานักกีฬาไปแข่งต่างประเทศเพื่อเก็บประสบการณ์ตั้งแต่อายุยังน้อย

จากเรื่องราวที่เล่าจะพบว่าไม่มีขั้นตอนใดที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ กว่าจะกลายมาเป็นโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด 

“แล้วตอนจะสร้างตรงนี้มันเป็นเขตพื้นที่สีเขียว เขาอนุญาตให้สร้างได้เฉพาะโรงพยาบาลและโรงเรียน แม่เลยสร้างที่นี่และทำเรื่องขอให้ที่นี่เป็นโรงเรียน จากชมรมกีฬาแบดมินตันบ้านทองหยอด เลยกลายเป็น โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดอย่างทุกวันนี้”

โค้ชที่ดีคือโค้ชที่ดี

วันนี้ เป้ ภัททพล ลูกชายคนโตของแม่ปุกหรือที่ทุกคนในประเทศต่างเรียกเขาว่า ‘โค้ชเป้’ ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด

เขาคือโค้ชผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จและผู้ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ในสนามของแชมป์โลกทั้งสองคน ทั้งเมย์ รัชนก และวิว กุลวุฒิ

“ตอนที่เขาดูแลน้องเมย์ รัชนก แล้วมีอยู่ช่วงนึงน้องเมย์ไม่นิ่ง เป้เขายอมไปบวชเลยที่วัดเทวราชกุญชรฯ ไปบวชเพื่อเรียนรู้การทำสมาธิ เขาไปเรียนรู้กับอาจารย์ที่สอนนั่งวิปัสสนา เขาอยากจะรู้ว่าทำยังไงถึงจะมีสมาธิ บวชไปพรรษานึงเต็มๆ พอเขาสึกมาเขาก็กลับมาคุมเมย์ ได้มาสอนน้องเมย์ช่วง 3 แชมป์พอดีเลย

“มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เมย์เขาตีผิดฟอร์ม คำว่าผิดฟอร์มก็คือปกติตีกับมือแบบนี้เขาต้องชนะอยู่แล้ว แต่เขาก็แพ้ สรุปคือเมย์เขาจัดการกับตัวเองไม่ได้ เป้เขาก็เอาตรงนี้มาสอนเมย์ เวลาเมย์ไม่มีสมาธิ เวลาสมาธิหลุด เขาต้องจัดการกับตัวเองยังไง ช่วงนั้นก่อนลงสนามเมย์จะนั่งสมาธิก่อน ก่อนที่จะวอร์ม ซึ่งตรงนี้เขาได้รับการถ่ายทอดมาจากโค้ชเป้”

เรื่องการที่คนเป็นแม่ไปจัดตั้งชมรม ไปกู้เงินร้อยล้าน ไปจัดหาโค้ชจากจีนก็ว่าสุดทางแล้ว เรื่องลูกชายทุ่มเทกับการเป็นโค้ชถึงขั้นสละเวลาและชีวิตส่วนตัวไปบวชเพื่อเรียนรู้การทำสมาธิ แล้วเอามาส่งต่อให้กับนักกีฬาก็เป็นเรื่องสุดทางอีกเรื่องของคนเป็นลูกและเป็นโค้ชเช่นกัน

แต่การพัฒนาก็ไม่มีคำว่าสิ้นสุด จากการสอนเมย์ รัชนกในวันนั้นเรื่องการจัดการสมาธิ สู่สีหน้าที่ยิ้มแย้มผ่อนคลายข้างสนามเมื่อดูแลวิว กุลวุฒิในวันนี้ โค้ชเป้ได้พัฒนาและเรียนรู้เรื่อยมาจากประสบการณ์ทั้งสิ้น

“ตอนน้องเมย์เราไม่รู้ว่าเราต้องรับมือยังไง เพราะเราไม่เคยดูแลนักกีฬาระดับโลก พอตอนวิวเรารู้แล้ว เราก็ดูแลเขาด้วยความผ่อนคลาย ทำให้เขาผ่อนคลายมากขึ้นไปอีก เราเอาทุกอย่างที่เราเรียนรู้จากเมย์มาใช้กับวิว”

วิชาบางอย่างเขาว่ากันว่าเรียนรู้กันเอาเองด้วยตัวเองก็ได้ แต่กับบางเรื่องเราจำเป็นต้องมีครู จำเป็นต้องมีโค้ชเพื่อคอยชี้แนะแนวทางให้เราเดินไปทั้งในและนอกสนาม 

ไม่ว่าจะในสนามกีฬาและสนามชีวิต โค้ชที่ดีคือสิ่งสำคัญ

นับหนึ่งถึงโอลิมปิก

ภาพที่เห็นในวันนี้นั้นสวยงาม ทุกคนต่างชื่นชมชอบพอในทุกอย่างที่โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดทำ แต่มองย้อนกลับไปวันแรกที่ก่อตั้งโรงเรียน หรือแม้แต่ก้าวแรกที่ก่อตั้งขึ้นมาเป็นชมรมไม่ว่าจะมองมุมไหนการยอมเป็นหนี้กว่าร้อยล้านเพื่อมาลงทุนกับสิ่งที่มองไม่เห็นว่ามันจะงอกเงยออกมาเป็นดอกผลตามที่เราตั้งใจไว้หรือไม่ก็ดูเป็นความเสี่ยงมหาศาล

สิ่งที่เราสงสัยคือเธอเห็นภาพปลายทางอยู่แล้วไหมว่าวันหนึ่งผลตอบแทนของสิ่งที่ทำจะเป็นสิ่งที่เราเห็นกันในวันนี้

“ใช่ เห็นตั้งแต่วันแรกเลย มันเป็นเป้าหมายของแม่อยู่แล้ว ตั้งแต่วันแรกที่สร้างที่นี่ อยากสร้างนักกีฬาของไทยให้ไปสู่ระดับโลก ระดับโอลิมปิก และก็หวังว่าอยากจะได้เหรียญโอลิมปิก

“แม่เคยพูดกับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเอาไว้ แม่อาจจะต้องไปหาหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นมา ไม่รู้ว่าเก็บไว้ที่ไหน เขาถามว่าแม่คิดยังไงถึงมาสร้างโรงเรียนแบดมินตัน วันนั้นที่เขาถามบ้านทองหยอดยังไม่มีแชมป์ในระดับโลกเลย เรามีแต่แชมป์ในระดับประเทศ แต่เราฝันไกล คือตอนนั้นถ้าเราจะพูดว่านักกีฬาไทยจะไปหยิบเหรียญโอลิมปิกในแบดมินตันเนี่ย คือมันยังมองไกลอยู่ เพราะฉะนั้นเป้าหมายของแม่คือ สร้างนักกีฬาดีๆ เหล่านี้ให้มีโอกาสไปให้ถึงตรงนั้น”

จากหนี้สินร้อยล้านที่แม่ปุกกู้มาในวันนั้น วันนี้แม่ปุกสามารถใช้เงินคืนธนาคารจนหมดสิ้นแล้ว แต่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าหากเธอไม่ตัดสินใจทำโรงเรียนในวันนั้นแล้วเอาเงินไปลงทุนทำอย่างอื่น มันอาจให้ผลตอบแทนในแง่เงินทองที่มากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ยังไม่นับเรื่องเวลาที่ใช้ไปซึ่งถือเป็นสิ่งที่ตีมูลค่าไม่ได้

แล้วสิ่งที่เธอได้ตอบแทนคืออะไร มันคุ้มไหมกับสิ่งที่เธอได้รับกลับมาในวันนี้–เราสงสัย

“เราได้ใจ ถามว่าคุ้มไหม ไม่รู้เหมือนกันว่าจะตอบยังไงดี เพราะแม่ไม่ใช่นักธุรกิจ ไม่ได้มองกีฬาเป็นธุรกิจ แม่มองว่ามันคือความรู้สึกที่ดีที่เราได้มันกลับมา ตอนแม่เด็กบ้านแม่จน ไม่มีเงิน อยากเปิดโรงเรียนเพราะตอนเด็กๆ ชอบเรียนหนังสือแต่ก็ไม่มีโอกาสได้เรียนสูงๆ เหมือนคนอื่น วันนี้ก็ได้เปิดโรงเรียน ตอนเด็กๆ อยากตีแบดก็ไม่ได้ตีเพราะไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ วันนี้ก็ได้ทำโรงเรียนแบดมินตัน 

“วันนี้แม่ทำให้เด็กคนอื่นที่ไม่มีเงินไม่ต้องมาอดเล่นแบดเหมือนแม่ ถ้าไม่มีเงินเหรอ มาสิ เดี๋ยวเราดูแลให้ 

“อย่างนี้เรียกว่าคุ้มไหม” 

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like