แรงผักดัน

คุยกับ ‘โอ้กะจู๋’ จากแปลงผักในเชียงใหม่ขนาด 180 ตร.ม. สู่ 380 ไร่ และขยายสาขาสู่กรุงเทพฯ

เป็นเพื่อนกันอย่าทำธุรกิจด้วยกัน

เรามักได้ยินประโยคนี้ที่ใครต่อใครชอบพร่ำบอกกันเสมอ

ฟังดูเหมือนย้อนแย้ง เป็นเพื่อนกัน รักใคร่ชอบพอสนิทสนมกัน แล้วทำไมจึงไม่ควรทำธุรกิจด้วยกัน แต่หากคุณเคยมีประสบการณ์การมองเห็นเพื่อนคู่หูหลายคู่หลายคนที่ทำธุรกิจแล้วเกิดแตกคอกันไปคนละทิศคนละทาง บางคนถึงขั้นไม่มองหน้า บางคนถึงขั้นเลิกคบหา หลังร่วมตัดสินใจลงขันเปิดกิจการบางอย่าง คุณคงจะเข้าใจประโยคดังว่าเป็นอย่างดี

จึงดูเหมือนจะเป็นไบเบิลของเพื่อนรักส่วนใหญ่ว่า หากรักใครอย่าชวนกันทำธุรกิจ 

แต่ประโยคดังว่าดูเหมือนจะใช้ไม่ได้กับสองหนุ่ม อู๋–ชลากร เอกชัยพัฒนกุล และโจ้–จิรายุทธ ภูวพูนผล เจ้าของร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ‘โอ้กะจู๋’ ที่นอกจากมาทำธุรกิจด้วยกันแล้วไม่แตกคอกัน ยิ่งไปกว่านั้นธุรกิจของทั้งคู่ยังไปได้ดีจนน่าชื่นใจ

ภาพคิวแถวต่อยาวเรียงรายจากหน้าร้าน โอ้กะจู๋ เป็นภาพที่ทุกคนน่าจะได้เห็นกันจนชินตา จากการปลูกผักเพราะรักแม่ในโรงเรือนขนาด 180 ตารางเมตรขยายสู่แปลงปลูกผัก 380 ไร่ เพื่อใช้เสิร์ฟผักออร์แกนิกให้ลูกค้าในร้านโอ้กะจู๋ทุกสาขา

หลายคราวเรายังแอบปลื้มใจแทนสองหนุ่มที่เห็นกิจการไปได้ดี แถมยังคิดดีใจที่ได้เห็นภาพคนไทยมารอต่อแถวเพื่อกินร้านอาหารของพวกเขา ร้านอาหารที่ทราบกันดีในกิตติศัพท์ว่า ผักสลัดเป็นผักออร์แกนิกที่ปลูกเองและอาหารน่าจะเกือบทุกเมนูของร้านนี้จะต้องมีสลัดเป็นเครื่องเคียงและส่วนประกอบมาในจาน

ทั้งการตั้งชื่อร้านที่น่าสนใจในอารมณ์ขันด้วยการผวนคำจากชื่อเล่นของทั้งสอง เรื่องราวการทำธุรกิจอาหารจากสาขาแรกที่เชียงใหม่สู่การขยายสาขามายังกรุงเทพฯ ชีวิตของการเป็นเกษตรกรที่เรียนการเกษตรมาและพัฒนาสวนผักของตนเอง ไปจนถึงมิตรภาพที่เขาทั้งสองต่างพูดกันเป็นทำนองเดียวกันว่า ชาติหน้าก็อยากเกิดมาเป็นเพื่อนกันอีก

บทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างเรากับ ‘อู๋กะโจ้’ ต่อจากนี้ นอกจากเรื่องความความสดใหม่ในการทำธุรกิจปลูกผัก เรื่องความจริงใจและมิตรภาพของทั้งคู่ ดูไปก็ออร์แกนิกเหมือนผักที่เขาปลูกจริงๆ

ถ้าชวนย้อนมองกลับไปในวันแรก อะไรเป็นต้นทุนที่สำคัญที่นำพาคุณมาถึงตรงนี้ได้

อู๋ : ถ้าถามผม ผมว่ามันประกอบไปด้วยหลายๆ อย่าง ด้วยจังหวะชีวิตที่ทำให้เราได้มาเจอกัน ทำให้เราได้เป็นเพื่อนกัน แล้วเราก็ได้เริ่มทำอะไรเล็กๆ ด้วยกัน อันนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้มแข็งและทำให้เรามาถึงทุกวันนี้

โจ้ : นอกจากที่อู๋บอกไป ผมคิดว่าอาจจะมีเพิ่มเติมนิดนึง คือครอบครัวของเราทั้งสองคน คือเราทั้งสองได้โอกาสจากครอบครัวของพวกเรา เพราะต้องยอมรับว่างานที่เราทำอยู่มันอาจจะเป็นงานที่ครอบครัวเขาก็อาจจะเป็นห่วง มาทำงานด้านการเกษตร มาปลูกผักขายอย่างนี้ มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่หลายๆ คนเขาอยากจะให้ลูกเป็น แต่เขาก็ให้โอกาสเราได้ทดลองทำในสิ่งที่เราฝันไว้

รู้มาว่าคุณโตมากับครอบครัวเกษตรกร

อู๋ : โดยพื้นฐานแล้วก็ใช่ อย่างที่บ้านผม ตั้งแต่สมัยอากง อาม่า ก็จะดองผัก ดองอะไรขายที่ตลาด

โจ้ : ผมนี่เด็กบ้านนอกเลย โตมาจากที่ชานเมืองของจังหวัดลำพูน เพราะฉะนั้นแน่นอน คนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของที่นั่นก็เป็นเกษตรกรอยู่แล้ว แต่ก็เป็นเกษตรเคมีรูปแบบเก่า ผมเองก็เคยเห็นพ่อแม่ไปทำสวนลำไย ปลูกหอม ปลูกกระเทียมมาตั้งแต่เด็กแล้ว เราก็ไม่รู้จะไปไหน ก็ติดตามเขาไป ไปเล่นดิน เล่นโคลน เล่นทราย มันก็เลยติดตามาตั้งแต่เด็ก

มาจากครอบครัวเกษตรทั้งคู่ คุณมองอาชีพเกษตรกรในไทยยังไงบ้าง

อู๋ : ตั้งแต่เด็กๆ เราก็จะเห็นตามข่าวทุกปีว่า เกษตรกรได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำ โน่นนี่นั่น เราก็รู้สึกว่ามันน่าจะมีวิธีสิ ที่พอจะช่วยให้หลีกเลี่ยงเรื่องพวกนี้ได้บ้าง พอเราได้มาทำจริงๆ เราก็รู้ว่าบางอย่างมันก็พอหลีกเลี่ยงได้ บางอย่างมันใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้

โจ้ : ถ้าเอาตรงๆ สำหรับผม ผมมองว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่น่าสงสาร เป็นอาชีพท้ายๆ เลยที่สมมติคนไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรแล้วถึงอยากเป็น โชคดีที่ประเทศไทยเรามีผืนดินที่อุดมอยู่ พอไม่รู้จะไปทำอะไร มองไปรอบๆ ตัวมีที่ดินอยู่ มันก็จำเป็นต้องไปทำอาชีพนี้ 

คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าเกษตรกรในประเทศไทยเป็นอาชีพที่ไม่น่าจะร่ำรวย ไม่น่าจะลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ขนาดนั้น

แล้วไปมายังไงถึงเริ่มทำกิจการ ‘โอ้กะจู๋’ ด้วยกันได้

อู๋ : ต้องเล่าย้อนไปตั้งแต่ช่วง ม.ต้น คือผมกับโจ้อยู่ห้องเดียวกันตั้งแต่ ม.3 พอขึ้น ม.ปลายเราก็อยู่สายวิทย์ด้วยกัน ทีนี้ตอน ม.5 มันจะมีวิชาแนะแนว โรงเรียนก็พาไปที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็พาไปดูว่าถ้าเข้าคณะไหนต้องเรียนยังไง พาไปดูคณะบริหาร เกษตร นิติศาสตร์ วิศวฯ ไปดูคณะที่คนสมัยนั้นเขาเข้ากันเยอะๆ  แล้วเราสองคนก็ไปดูที่คณะเกษตร แล้วก็คุยกันว่า เออ ถ้าในอนาคตมันจะมีอะไรที่เราทำแล้วทำให้เราอยู่ด้วยกันได้ มันก็น่าจะดี

คือโรงเรียนที่พวกผมอยู่ เมื่อก่อนมันเป็นโรงเรียนหญิงล้วน แล้วพวกผมเป็นผู้ชายรุ่นที่ 4 ที่เข้ามาเรียน เพราะฉะนั้นผู้ชายมันก็จะมีน้อย เราก็เลยจะสนิทกัน ตอนนั้นเราก็เลยคุยกันเล่นๆ ประมาณนี้ จนสุดท้ายโจ้เขาก็ตัดสินใจไปเรียนเกษตร ส่วนผมไปเรียนการตลาด แล้วพอจบมาก็ทำอย่างที่เห็นทุกวันนี้

เขาสอนอะไรบ้างที่คณะเกษตร

โจ้ : ก็เรียนตั้งแต่พื้นฐานเลย เรียนว่าถ้าพืชแต่ละชนิดจะเจริญเติบโตมันจะมีปัจจัยใดที่เกี่ยวข้องบ้าง บางวิชาก็อาจจะลงลึกไปถึง Physiology สรีรวิทยาของพืช แต่ส่วนตัวผม ผมมุ่งไปทางพืชสวน แต่จริงๆ แล้วคณะเกษตรเขาหลากหลายนะ มีพืชไร่ พืชสวน มีปศุสัตว์ แต่ผมตั้งใจว่าอยากปลูกผักขาย ผมเลยมุ่งมาทางด้านพืชสวน

คือคุณตั้งใจจะมาทางเกษตร เพราะเรื่องที่คุยกันไว้ตั้งแต่ ม.5 ใช่ไหม

อู๋ : (ยิ้ม) คือตอนนั้นมันเป็นการคุยกันเล่นๆ แต่พอเราเรียนจบโจ้เขาก็มาถามว่า ที่เราคุยกันในตอนนั้นยังสนใจอยู่ไหม

โจ้ : ผมมีพาเขาไปดูงานก่อนด้วยนะ เพราะเขาไม่ได้เรียนเกษตรมา คือตอนที่ผมเรียน ผมตั้งใจไว้อยู่แล้วว่า ไหนๆ ก็เรียนคณะนี้มาแล้ว เดี๋ยวผมจะไปปลูกผักขาย แต่ผมก็เห็นภาพของผมคนเดียว คิดของผมคนเดียว ผมเลยพาเขาไปที่โครงการหลวงหนองหอย ที่แม่ริม ให้เขาดูพวกการปลูกผัก การเพาะเมล็ด ก็คือพาเขาไปอินกับเรานิดนึงนั่นแหละ

แล้วคุณอินไหม

อู๋ : ก็โอเคนะครับ อย่างที่บอกนั่นแหละ เราอยากหาอะไรทำด้วยกัน ที่จะยึดเหนี่ยวกลุ่มเพื่อนๆ เอาไว้ด้วยกัน คือต้องบอกก่อนว่าในระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยเราก็ยังสนิทกัน ไปเที่ยวด้วยกัน ไปทำอะไรด้วยกันตลอด ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนมันก็ยังมีอยู่ แล้วด้วยความที่เขาจบด้านนี้มา เราก็เชื่อมือเขาในระดับหนึ่ง เราก็เลยไปปรึกษาคุณพ่อผม บอกท่านว่าเราอยากจะปลูกผักขาย คุณพ่อผมก็บอกว่า ก็ได้ งั้นพ่อมีที่อยู่แปลงนึง ก็ให้เราลองไปทำตรงนั้นแล้วกัน เราก็ไปเริ่มจากโรงเรือนหลังเล็กๆ ตรงนั้น โรงเรือนหลังแรกก็ขนาด 6×30 เมตร

เริ่มจากทำกันแค่สองคน

โจ้ : ทำกันแค่สองคน แต่ก็มีคนงานมีอะไรด้วย

ตอนนั้นคิดโมเดลธุรกิจปลูกผักแล้วขายไว้ยังไงบ้าง

อู๋ : ตอนนั้นไม่ได้คิดเลย คือตอนนั้นเราแค่อยากจะทดลองก่อนว่าปลูกได้จริงไหม เราทำได้จริงไหม เพราะต้องยอมรับว่าในแต่ละที่อย่างที่โจ้บอก พืชแต่ละตัว ผักแต่ละตัวมันก็แตกต่างกันไป ตอนนั้นเราก็เริ่มปลูกผักสวนครัวกันเป็นหลัก พวกถั่วพู แตงกวาญี่ปุ่น ถั่วฝักยาว แล้วก็มีผักสลัดนิดหน่อย ช่วงนั้นจะเป็นแบบผักที่ใช้ทานในชีวิตประจำวัน เราก็ทดลองไปเรื่อยๆ

ทดลองอยู่นานไหม

อู๋ : ก็เกือบ 3 ปีนะกว่าจะเปิดร้าน

พวกคุณปลูกผักในโรงครัวอยู่ 3 ปี

โจ้ : ครับ (ยิ้ม)

อู๋ : ในช่วงครึ่งปีแรก เราก็ปลูกเพื่อดูว่าปลูกได้ไหม หลังจากนั้นเราก็เริ่มปลูกมากขึ้นๆ แล้วก็เริ่มขายส่งแล้วครับ จากเดิมที่ปลูกแค่ในโรงเรือนขนาด 6×30 เมตร ต่อมาโจ้เขาก็เริ่มไปปลูกข้างนอกโรงเรือน เริ่มขึ้นแปลงผักแล้ว ลองปลูกมากขึ้นสิ ปลูกแบบไม่มีหลังคา ลองไปเรื่อยๆ หลากหลายรูปแบบ

โจ้ : แล้วก็มีผักที่ปลูกได้ไปขาย ไปขายให้ร้านอาหารในเชียงใหม่ ลองไปติดต่อเขาดู มีวอล์กอินเอาผักสลัดไปเสนอเขาบ้าง มีคนรู้จักแนะนำกันต่อๆ บ้าง ก็ขายได้ แต่ก็โดนปฏิเสธมาเยอะเหมือนกัน

ก็คือช่วง 3 ปีนี้คุณเริ่มเอาผักที่ปลูกได้มาขายแล้ว

อู๋ : ส่วนหนึ่งเราเอาไปขาย ส่วนหนึ่งเราเอาไปแจกจ่ายให้ชุมชน บางทีก็มีเอากลับไปที่บ้านของพวกเราเอง เอากลับไปกินกันเอง คือด้วยความที่เรายังกะไม่ถูกว่ามันจะได้ผลผลิตมากน้อยแค่ไหน อะไรยังไง เราก็ขายบ้าง แต่นับว่าเราเทสต์ระบบดีกว่า ช่วงนั้นเจออุปสรรคบ้างนะ แต่เราก็แก้กันไป

อุปสรรคที่เจอช่วงนั้นคืออะไร

โจ้ : คือปีแรกที่ทำ เนื่องจากผมก็ยังใหม่อยู่กับพื้นที่ตรงนั้น ยังไม่รู้จักธรรมชาติของพื้นที่โดยทั่วไป ครั้งแรกที่โดนที่ผมจำได้คือ พายุฝนลง พอมันลงคืนนึงผมก็ยังไม่ได้ทำระบบระบายน้ำอะไร ปรากฏว่าน้ำท่วม โอ้โห แปลงผักที่เราปลูกไปนี่กลายเป็นบ่อปลาเลย (ยิ้ม) แต่ยังโชคดีที่พวกที่ผมปลูกในโรงเรือนผมปลูกบนโต๊ะ ใช้รางพีวีซีที่ผมผ่าเองไปผสมกับวัสดุอินทรีย์แล้วก็ปลูกผักขึ้นมา อันนั้นยังรอด แต่ผ่านมาอีกสักเดือนสองเดือนก็เจอพายุเข้าอีกรอบ เพราะปีนั้นพายุฤดูร้อนเข้าเชียงใหม่ โรงเรือนก็ไม่ไหว พังล้มระเนระนาดไปหมดเลย

อู๋ : ฝนตกทีนี่ลุ้นมากเลยตอนนั้น

โจ้ : คือตอนนั้นเรายังไม่ได้เตรียมอะไรไว้เลยไง ไม่รู้เลยว่าตรงนี้น้ำมันจะท่วมนะ

แล้วตอนไหนที่ตัดสินใจโดยแน่แล้วว่าเราจะปลูกผักเพื่อขาย

อู๋ : สักประมาณต้นปี ’56 ซึ่งตอนนั้นเราก็เปลี่ยนไปปลูกผักสลัดสักประมาณ 80% แล้วนะ ช่วงนั้นโจ้เขาก็มาคุยว่า เออ เราน่าจะเปิดคาเฟ่กันนะ ขายพวกกาแฟและสลัด เพราะเราก็ปลูกผักเอง แล้วก็เหมือนเดิม ไปปรึกษาคุณพ่อ คุณพ่อก็โอเค อยากทำก็ทำ ซึ่งอย่างที่บอกว่าเป็นความโชคดีของพวกเราด้วยที่คุณพ่อคุณแม่พวกเราเขาให้โอกาสพวกเรา จริงๆ ตอนหลังเขาก็มีบอกว่าเขาคิดยังไง เขาบอกว่าเขารู้สึกเหมือนส่งเราเรียนปริญญาโท แต่ผ่านการลงมือทำจริงๆ ให้เจอปัญหาจริงๆ ให้ได้ลองแก้ปัญหากันเองดูจริงๆ

ก็เลยเริ่มสร้างร้านเล็กๆ ขึ้นมา ตอนนั้นน่าจะมีอยู่สักประมาณ 10 ที่นั่ง ก็เริ่มจากมีกาแฟขาย แล้วก็มีสลัดเลย ร้านก็อยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่เราปลูกผักนี่แหละ ที่สันทราย ห่างจากที่เราปลูกผักกันสักประมาณ 50 เมตร คือยังมองเห็นสวนผักเราได้

เริ่มจากขายกาแฟและสลัด?

อู๋ : ใช่ ขายกาแฟและสลัดแบบ 4 steps คืออยากทานสลัดผักอะไร น้ำสลัดอะไรก็ติ๊กเอาเลย

โจ้ : ตอนนั้นรู้สึกว่าเมนูจะมีแค่หน้าเดียว คือหน้านึงเป็นเมนูอาหาร อีกหน้าเป็นเมนูเครื่องดื่ม แค่นี้เอง

อู๋ : ต้องไปประมาณกลางปี ’57 โน่น ถึงจะเริ่มมีสเต๊กเข้ามา

จากปลูกผักเฉยๆ ข้ามไปเปิดร้านขายสลัดและคาเฟ่เลย คุณต้องปรับตัวยังไง

อู๋ : ช่วงเริ่มต้นตรงนั้นเราก็มีทีมงานคอยช่วยเรา มาช่วยกันคิด แต่เมนหลักมาจากพวกเรานี่แหละ มาระดมความคิดกัน ทำเทสต์กันเองว่าชอบไหม ถ้าไม่ชอบก็ปรับ แล้วตอนนี้นี่แหละที่เป็นช่วงที่ชื่อร้านมา ชื่อโอ้กะจู๋ มาแถวๆ ช่วงๆ นี้นี่แหละ

โจ้ : เฮ่ย จริงๆ ชื่อนี้มาตั้งแต่ตอนปลูกผักขายแล้ว

อู๋ : เออๆ ใช่ๆ (หัวเราะ) ชื่อมาตั้งแต่ตอนปลูกผักแล้ว เรามีสติ๊กเกอร์ร้านว่าโอ้กะจู๋แล้ว

ใครเป็นคนคิดชื่อโอ้กะจู๋

โจ้ : ตอนนั้นก็แค่นั่งคุยกันไปเรื่อยๆ ก็แค่คิดว่าต้องมีชื่อแบรนด์ให้ลูกค้าเขารับรู้และรู้จักแบรนด์เราได้ง่ายขึ้นเนาะ ก็คิดว่า เออ ถ้าผวนคำมันก็น่าจะสะดุดหูคนนิดนึง เลยคิดว่าใช้คำอะไรที่มันแปลกๆ ดีกว่า

แล้ว tagline ปลูกผักเพราะรักแม่มาตอนไหน

อู๋ : ปลูกผักเพราะรักแม่มาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเลย คือครอบครัวพวกเราจะมีคุณแม่เป็นจุดศูนย์กลางของครอบครัว

ถามว่าถ้าเราไปเดินตลาดแล้วเราจะกล้าไปซื้อคะน้าที่มันมีสารเคมีกลับมาให้แม่หรือให้คนที่บ้านเรากินไหม เราก็เลยคิดว่า เฮ่ย ถ้างั้นเราปลูกเองดีกว่า เราเลยปลูกโดยไม่ใส่สารเคมี ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ไม่ใส่ยาฆ่าแมลง เราปลูกผักแบบนี้ให้คนที่เรารัก ให้คนที่บ้านเรา ให้แม่เรากินผักแบบนี้แล้วอยู่กับเราไปนานๆ อันนั้นเป็นที่มาตั้งแต่เริ่มแรกเลย ก็เลยเป็นกิมมิกของเราที่เป็นที่มาของคำว่า ‘ปลูกผักเพราะรักแม่’ แล้วคำนี้ก็เป็นชื่อบริษัทของเราด้วย

เราปลูกผักไม่ใส่สารเคมีและยาฆ่าแมลง แล้วเรามีปัญหากับแมลงไหม

โจ้ : มีอยู่แล้วครับ แต่เราใช้เรื่องชีวภัณฑ์ในการป้องกันและกำจัดโรค เช่น พวกโรคแมลงทั่วๆ ไป ปกติเขาก็จะใช้ยาฆ่าแมลงกันใช่ไหม ใช้แล้วจบ แต่ที่เราใช้คือชีวภัณฑ์ ซึ่งมันคือเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียที่มาจากธรรมชาติ ซึ่งมันจะมีหัวเชื้ออยู่ พวก BT หรือ BS อะไรพวกนี้ เราก็เลี้ยงหัวเชื้อพวกนั้นแหละ แล้วก็เอามาละลายน้ำแล้วก็ฉีดพ่นไปที่ผักของเรา ชีวภัณฑ์พวกนี้มันจะไปช่วยกำจัดโรคแมลงต่างๆ คือใช้สิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติไปป้องกันนั่นแหละ แต่แน่นอนครับมันไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนเคมีอยู่แล้ว

เคมีนี่ถ้าฉีดไปวันนี้ พรุ่งนี้ก็อาจจะเห็นผลทันที ทันตาเลย แต่อันนี้ที่เราใช้ก็คือ ทั้งแสดงผลช้าด้วยและต้องฉีดอย่างต่อเนื่องด้วย แต่ก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ดีอย่างที่บอก เพราะฉะนั้นเราก็ทำใจไว้ตั้งแต่แรกเลยว่าคนแรกที่จะได้อุดหนุนผักที่เราปลูกคือแมลงต่างๆ นั่นแหละ ด้วง หนอนทั้งหลาย คุณก็เอาไปกินกันก่อนเลยครับ (ยิ้ม) แล้วถ้าเหลือเท่าไหร่ค่อยแบ่งมาให้พวกเราแล้วกัน

ตอนนั้นตั้งใจอยากให้คอนเซปต์ร้านเป็นยังไง

อู๋ : มีอะไรก็ขายอันนั้นแหละครับ (หัวเราะ) ล้อเล่นครับ

โจ้ : หลักๆ เอาที่ผมจำได้นะ คือ Farm to Table นั่นแหละ เราอยากเสิร์ฟสิ่งที่เราปลูก ก็คือสลัดออร์แกนิกแบบหลากหลายชนิดที่ปลูกแบบสดใหม่จากฟาร์ม ที่ปลูกแบบจากข้างหลังร้านเลย เอามาเสิร์ฟให้กับคุณนี่แหละ

ตอนเปิดร้านโอ้กะจู๋ที่เป็นแบบคาเฟ่ วันแรกบรรยากาศเป็นยังไง

อู๋ : เงียบเหงานะ (หัวเราะ)

โจ้ : เฮ่ย วันแรกยังโอเคอยู่ เพราะว่าเพื่อนๆ มาอุดหนุน แต่หลังจากนั้นสิ (มองหน้ากัน) ของจริง 

อู๋ : ของจริง คือทำกินกันเองครับส่วนใหญ่ คือมันก็เงียบอยู่อย่างนั้นสัก 3-4 เดือน สักพักใหญ่ๆ คือเราไม่มีความรู้เรื่องร้านอาหารเลย แล้วเรามาเริ่มเปิดร้าน มันก็เหมือนกับว่าเรานับหนึ่ง ตรงนี้เราเลยมองว่ามันคือการเรียนรู้ คือเราไม่ได้ไปเครียดว่าถ้าขายไม่ได้อีกเดือนจะปิดแล้วนะ เราสองคนก็มาคิดกันว่า เออ ทำยังไงดี ในระหว่างนั้นเราก็คิดว่าจะหารายได้เพิ่มทางไหนดี หรือเราจะเพิ่มลูกค้า ทำให้ลูกค้ารู้จักยังไง ก็คุยกัน มันก็ถือเป็นโชคดีของเราอีกในช่วงนั้น เพราะเราเปิดร้านพฤษภาฯ เนาะ พอเข้าช่วงปลายฝนนักท่องเที่ยวก็จะไปเชียงใหม่เยอะ เพราะหลังฝนส่วนใหญ่คนจะไปทำบุญออกพรรษากัน ทีนี้พอมีคนมาก็จะมีกลุ่มลูกค้าเขาแวะถ่ายรูป แล้วตอนนั้นสักช่วงปลายปี ’56 อินสตาแกรมกำลังดังเลยตอนนั้น ก็มีคนเช็กอินถ่ายรูปเยอะ

พอช่วงปลายปีที่เป็นช่วงไฮซีซั่นนักท่องเที่ยวก็มาอีก ก็ถ่ายรูปเช็กอินกัน ลูกค้าเขาก็มากันเยอะอยู่ ทีนี้พอช่วงปลายปีเราขายดีปุ๊บ พอข้ามปีเราก็เริ่มมีลูกค้าที่เริ่มรู้จักเรามากขึ้น และส่วนหนึ่งก็เป็นลูกค้าที่มากินแล้วติดใจ เขาก็กลับมา ก็คือเริ่มมีลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากช่วงนั้น

ซึ่งระหว่างนี้คุณยังปลูกผักส่งร้านอื่นๆ อยู่

โจ้ : ใช่ครับ

แล้วตอนไหนถึงตัดสินใจว่าไม่ส่งคนอื่นแล้ว

โจ้ : ก็ปีถัดมาจากที่เราเปิดคาเฟ่นี่แหละครับ ประมาณปี ’57 เพราะเราส่งคนอื่นไม่ไหวแล้ว (ยิ้ม)

อู๋ : คือตอนนั้นเรายังไม่ได้ปลูกเยอะด้วย ทั้งจำนวนแปลงและพื้นที่ปลูกก็ไม่ได้เยอะมาก

แล้วมันขายดีขั้นไหน จนตัดสินใจว่าจะไปเปิดสาขา 2

อู๋ : สาขา 2 นี่เราไปเปิดแถวๆ สนามบิน อยู่ที่เชียงใหม่เหมือนกัน ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิดสาขา 2 เราเปิดตอนปี ’58 คือตอนนั้นเราอยากลองขยายสาขาไปที่อื่นดูบ้าง เพราะเราคิดว่า เออ น่าจะลองดูนะว่าถ้าเกิดว่ามีคนมาขอซื้อแฟรนไชส์ เราจะจัดการยังไง เราก็เลยมองสาขา 2 เสมือนหนึ่งว่าเป็นแฟรนไชส์ของสาขาหนึ่ง แล้วก็มามองดูการจัดการภายในของเราว่ามันได้ไหม อะไรไหม ก็เลยเป็นที่มาของการเปิดสาขา 2 ณ ตอนนั้นนะ

แต่เนื่องจากเราก็ลูกทุ่งๆ เราไม่เคยทำร้านอาหารมาก่อน เราก็ไม่รู้ว่าถ้าเป็นแฟรนไชส์มันจะต้องเป็นยังไง ต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง หนึ่ง สอง สาม สี่ มันก็เลยอาจจะยังไม่ได้กลายไปเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ในตอนนั้น

แล้วตอนนี้คุณยังคิดจะขายแฟรนไชส์อยู่ไหม

โจ้: ตอนนี้ยังไม่มีนะครับ (ยิ้ม)

คุณตัดสินใจเอาโอ้กะจู๋เข้ากรุงเทพฯ ตอนไหน

อู๋ : หลังจากที่เปิดสาขา 2 ที่เชียงใหม่แล้ว สาขา 3 คือ กรุงเทพฯ คือด้วยความที่เราเปิดทั้งสองสาขาแรกที่เชียงใหม่แล้ว แบบทั้งสองร้านอยู่คนละมุมของเชียงใหม่เลย เราเลยคิดว่า เออ เชียงใหม่น่าจะพอแล้ว ในตอนนั้นนะ บวกกับตอนที่เราเปิดร้านที่สาขาหนึ่ง ประมาณช่วงปลายปี ’57 ก็มีลูกค้ามาถามว่า เออ ทำไมไม่เปิดที่กรุงเทพฯ จะมากรุงเทพฯ เมื่อไหร่ เราก็ดื้อไม่ไปอยู่หลายปี จนตัดสินใจไปเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ ปี ’59

ตอนนั้นเราลองคุยกันว่า ลองมาหาพื้นที่กันดูไหม ก็เลยมาหาที่กันในกรุงเทพฯ กว่าจะได้ที่ก็มีสตอรีเยอะ คือพวกผมก็เด็กบ้านนอกเนาะ เป็นคนเชียงใหม่ เราก็คิดว่าตอนเด็กๆ ที่เรามากรุงเทพฯ เขาก็จะพาเราไปสยามเนาะ เราเลยไปเดินหาที่กันแถวสยาม ปรากฏว่ามันว่างอยู่แค่โซนเดียวที่เดียวเลยตอนนั้น

เราไปกัน 2 คน ขึ้นลิฟต์ไปถามที่ตึกออฟฟิศของจุฬาฯ ที่ชั้น 13 ถามเขาว่า พี่ๆ ถ้าจะเปิดร้านในสยามตรงที่ตรงนั้นที่ว่าง ค่าเช่าเท่าไหร่ พอเขาปรินต์ราคาออกมาให้ดูเท่านั้นแหละ (สูดหายใจ)

โจ้ : นึกว่าเขาปรินต์เลข 0 เกินมา (หัวเราะ)

อู๋ : ก็เลยกลับไปตั้งหลักกันสักพักใหญ่ๆ เพราะเราก็ไม่มีความรู้ว่าถ้าเราอยู่เชียงใหม่แล้วถ้าเราจะมาเปิดกรุงเทพฯ มันจะมีค่าใช้จ่ายอะไรอีกหลายๆ อย่างที่เราต้องดู ไม่ว่าจะเรื่องผัก เรื่องโลจิสติกส์ เรื่องคุณภาพอาหารด้วย สุดท้ายเราก็เลยกลับไปตั้งหลัก แล้วก็คุยกันว่าเอาไงดีอะ โจ้เขาบอกว่า “ลอง” ผมก็ โอเค ลองก็ลอง

แล้วมันขยายต่อเป็นสาขาอื่นๆ ได้ยังไง

อู๋ : หลังจากนั้นก็ไหลแล้ว มีคนเอาโลเคชั่นต่างๆ มาเสนอ เราก็พยายามเลือกโลเคชั่นที่มันมี traffic นะ แต่ถ้าเป็นตอนนี้คือเรามีพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมแล้วเนอะ และเขาเป็นบริษัทที่อยู่ในมหาชน เราก็จะไม่ได้ดูแค่โลเคชั่นและใช้แค่ฟีลลิ่งอย่างเดียวแล้ว

เมื่อก่อนเหมือนพวกเราใช้แค่ฟีลลิ่งอย่างเดียว เดี๋ยวนี้เราเริ่มดูจุดคุ้มทุน เวลาคืนทุนด้วย เพราะมันเริ่มเป็นระบบมากขึ้น เริ่มมีระบบมาจับแล้ว

คุณคิดว่าการเป็นทั้งเจ้าของร้านอาหารและเจ้าของซัพพลายเออร์ (แปลงผัก) เองด้วยเป็นเรื่องยากไหม

อู๋ : ถ้าถามว่ายากไหม มันก็ยาก คือถ้าเทียบกับคนอื่นที่เขาทำร้านอาหารอย่างเดียว ถ้าเขาอยากได้ผัก 10 กิโลฯ เขาก็แค่เดินไปซื้อผัก 10 กิโลฯ ปุ๊บเขาก็กลับมาทำได้เลย แต่เราเนี่ยเราดูตั้งแต่ต้นกระบวนการมาเลย คือตั้งแต่เพาะปลูกจนได้ผลผลิต แล้วก็ค่อยไปเสิร์ฟบนจาน

โจ้ : คือมันเป็นสิ่งที่เราอยากจะทำ และเราก็อยากจะเป็นแบบนี้ตั้งแต่แรกแล้ว

ตอนนี้โอ้กะจู๋มี 23 สาขา คุณใช้ผักของคุณเองทั้งหมดเลยไหม

โจ้ : ก็ 90% ตอนนี้เรามีแปลงปลูกผักอยู่ประมาณ 380 ไร่

คุณเป็นเจ้าของแปลงผัก 380 ไร่เลยเหรอ

อู๋ : เช่าเขาเอาสิครับ (หัวเราะ) อยากจะปลูกสักพันไร่ยังได้เลย เช่าเอาเลย

แปลงผักทั้ง 380 ไร่ อยู่ที่เชียงใหม่ทั้งหมดเลยไหม

โจ้ : ใช่ครับ 

อู๋ : ตอนนี้เราเน้นปลูกผักสลัดเนาะ

โจ้ : ก็มี 5 กลุ่มที่ปลูก รวมๆ แล้วก็น่าจะมีผักสัก 30 ชนิด ก็จะมีผักสลัด, กลุ่มสมุนไพร, กลุ่มผักกรีนต้นเล็กๆ, กลุ่มดอกไม้ทานได้, แล้วก็เป็นพวกผักผล อย่างเช่น พวกมะเขือเทศ พริกหวาน ฟักทองญี่ปุ่น เมลอน ซึ่งทั้งหมดก็จะเป็นอินทรีย์ทั้งหมดเลย

คุณตัดสินใจยังไงว่าจะปลูกผักชนิดไหนมากน้อยเท่าไหร่

โจ้ : ผมคิดว่าคนไทยชอบกินผัก ผมเองก็ชอบกินผัก แต่ส่วนใหญ่ผมคิดว่าพวกผักผลไม้หาทานแบบอินทรีย์ยากมากๆ เราก็เลยตั้งใจมากๆ ว่าจะทดลองค้นคว้าปลูกโดยวิถีอินทรีย์ เพื่อที่จะได้เป็นผลผลิตอินทรีย์ออกมา ก็คือดูว่าเราชอบอะไรและลูกค้าเราชอบอะไร 

คุณจัดการยังไงให้มีผักเพียงพอในร้านทุกๆ สาขา

โจ้ : อันนี้เป็นอะไรที่เราเก็บข้อมูลละเอียดมากๆ เลย แน่นอนว่าปีแรกเราเจอปัญหาอยู่แล้ว แต่พอทุกอย่างมันเริ่มทำจนต่อเนื่องมาเรื่อยๆ พอเราเริ่มเก็บตัวเลขอย่างสม่ำเสมอ แต่ละสาขาใช้ผักเท่าไหร่ เปิดสาขาใหม่ใช้ผักเท่าไหร่ ฐานข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เราก็เก็บไว้ค่อนข้างละเอียดพอควรเลย และใดๆ ก็ตามเราเก็บสถิติหมด แม้กระทั่งว่าแต่ละฤดูกาลแต่ละร้านใช้ผักเท่าไหร่ แล้วเราปลูกผักได้เท่าไหร่เราก็เก็บตัวเลขตรงนี้ เพื่อที่จะได้คำนวณให้ปริมาณมันเพียงพอที่จะเสิร์ฟหน้าร้าน

ฟาร์มผักอยู่เชียงใหม่แล้วคุณจัดการยังไงเรื่องขนส่งผักมายังกรุงเทพฯ

อู๋ : เราขนผักมาทุกวันจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ คือจริงๆ ต้องบอกว่านโยบายเรา นับเวลาตั้งแต่ตัดผักจนถึงจานลูกค้า รวมเวลาแล้วต้องไม่เกิน 28 ชั่วโมง สมมติเราตัดทุ่มนึง จากนั้นเราส่งไปที่ห้องล้าง ห้องล้างก็ล้างคืนนั้นเลย ทำงานคืนนั้นเลย จากนั้นตอนสายๆ รถห้องเย็นก็มารับ แล้วรถก็วิ่งจนมาถึงตี 5 ของอีกวันนึง แล้วก็กระจายผักไปยังหน้าสาขา แล้วผักพวกนี้เราก็ให้ใช้ให้หมดภายใน 1 วัน เพราะเราส่งทุกวันอยู่แล้ว

ได้ข่าวว่าคุณไปให้ความรู้ชาวบ้านด้วยเรื่องการปลูกผัก

โจ้ : เป็นเรื่องที่ภูมิใจมากๆ คือเมื่อก่อนนี้เนี่ยเราไม่เคยถ่ายทอด know-how อะไรให้ใครเลย มีอะไรก็อยากทำกันเองแค่ภายในของเรา แต่ตอนนี้เราถ่ายทอด know-how ถ่ายทอดวิธีการทำเกษตรแบบอินทรีย์ต่างๆ ให้กลุ่มเกษตรกรที่เขามีอุดมการณ์อยากจะเป็นเกษตรอินทรีย์เหมือนเราอะไรยังงี้ครับ

อะไรทำให้คุณมีความคิดที่อยากจะแบ่งปันความรู้ให้คนอื่น

โจ้ : เรื่องนี้ย้อนไปยาวเลย เรื่องมาตั้งแต่ตอนที่ผมรู้จักกับอู๋ คือที่บ้านอู๋เขาเป็นครอบครัวที่ป๊าอู๋เขาเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเขาก็ทำงานหนัก ก็ไม่ได้สบาย แต่พอทำธุรกิจมาเรื่อยๆ จนมาอีกเจนฯ นึงที่ป๊ามีลูก และลูกเริ่มโต ป๊าเขาก็คงรู้สึกว่าเขาเริ่มมีความมั่นคงในชีวิต ตรงนี้แหละมั้งที่ป๊าเขาคงรู้สึกว่าเขาพอแล้ว เขาอยากแบ่งปันให้คนอื่นบ้าง คือป๊าของอู๋เป็นคนที่ทำโรงทานบ่อยมากๆ เลย ตั้งแต่สมัยที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยแล้วอู๋ก็ลากผมไปผัดหมี่ซั่วอยู่นั่นทุกเทศกาลเจ เป็นอาทิตย์เลย ไปอยู่ทุกปี

ตอนนั้นผมก็ไม่ได้คิดอะไรเยอะ ก็คือไปอยู่กับเพื่อน ไม่ได้คิดจะไปแบ่งปันอะไร อันนี้ตอบตามตรงนะผมว่าตั้งแต่ตอนนั้นมันเลยเป็นอะไรที่ติดตัวเรามา คือเราได้เห็นภาพคนที่เขาประสบความสำเร็จ แล้วเขาก็มาแบ่งปัน ทีนี้พอเราเคยเริ่มทำจากจุดเล็กๆ พอมาตอนนี้เราเติบโตมากขึ้นแล้วเราก็คิดว่าเราก็อยากจะแบ่งปันบ้าง อยากให้คนอื่นเขาได้มีโอกาสแบบที่เราเคยได้โอกาสในช่วงแรกๆ ที่เราเพิ่งเริ่มต้นบ้าง

เราใช้อะไร เราทำยังไง เราก็ถ่ายทอดทั้งหมดเลย อะไรที่เราเคยทำแล้วล้มเหลวมา เคยเจอปัญหามา เราก็เอามาถ่ายทอดให้เกษตรกรที่เขามีความมุ่งมั่นตั้งใจจะทำเกษตรอินทรีย์

เราถ่ายทอดทั้งหมดแล้วเราไม่กลัวเขามาเป็นคู่แข่งเราเหรอ

อู๋ : สิ่งที่เราทำที่เราไปส่งเสริมเกษตรกรที่อยากทำอินทรีย์จริงๆ เราทำมาหลายปีแล้ว แต่มันอาจจะเพิ่งเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปีสองปีที่ผ่านมา ถามว่าเรากลัวไหมเราก็ไม่กลัวนะ เพราะว่าเกษตรกรพวกนี้เขาน่าสงสารนะครับ เราเคยมีโอกาสขึ้นไปที่แม่แจ่ม ซึ่งเป็นแหล่งที่ปลูกกะหล่ำปลีอันดับหนึ่งในประเทศไทย เราก็ถามเขาว่าทำไมคุณต้องใช้ยาใช้สารเคมีด้วย ทำไมไม่ปลูกแบบอินทรีย์

เขาพูดกลับมาประโยคนึงแล้วผมก็สะอึกไป เขาบอกว่าทำไมคนในเมืองโง่จัง รู้ทั้งรู้ว่าผักมันมียาก็ยังกิน มันก็เลยทำให้เรารู้ว่าจริงๆ โดยพื้นฐานแล้วเขาไม่ได้อยากจะใช้พวกนี้นะ เพียงแต่ว่าถ้าเขาปลูกเป็นอินทรีย์มามันอาจจะไม่มีคนมารับซื้อจากเขาเพื่อไปขายต่อ อันนี้จึงเป็นที่มาว่าถ้าเรามีโอกาส เรามี know-how แล้ว เราก็ไปแบ่งให้เขาบ้าง บอกเขาว่าถ้าปลูกเป็นแบบอินทรีย์เป็นแบบทานผลได้ ปลูกแล้วส่งมาให้เราได้นะ เผื่อว่าเราจะช่วยยังไงได้บ้าง

เรื่องที่ยากของการทำโอ้กะจู๋คืออะไร

อู๋ : ไม่รู้จะตอบยังไงเลย เพราะมันมีมาเรื่อยๆ เลย (หัวเราะ) ผมว่ามันคือการแก้ปัญหานะ พอมีเรื่องอะไรยากๆ เข้ามา เราก็มาคิดว่าเราจะแก้ปัญหานั้นยังไงดี แต่ถ้าถามมาเรื่องความยาก ผมคิดว่ามันอาจจะเป็นเรื่องการสื่อสารระหว่างเจนฯ อย่างน้องๆ ที่เขาอาจจะเด็กกว่าเราก็ต้องดูให้ดีเรื่องของการสื่อสารกันเองภายใน

โจ้ : ผมคิดเหมือนเขานะครับ คิดเหมือนกันเลย

คุณสองคนดูสนิทกันมาก

อู๋ : รู้จักกันมาตั้งแต่ ม.3 นะ

โจ้ : รู้จักกันมาเกินครึ่งชีวิตแล้วครับ

แล้วตอนทำงานแบ่งหน้าที่กันยังไง

อู๋ : เราแบ่งกันชัดเจนอยู่นะ คือทีม C-level ของเราที่เป็นระดับ management จะมีอยู่ประมาณ 5 คน เราก็แบ่งกันชัดเลยว่าคนไหนดูโอเปอเรชั่น คนไหนดูบัญชีการเงิน คนไหนดูโลจิสติกส์ อย่างโจ้เขาจะดูเรื่องฟาร์มกับการขยายสาขา อย่างผมก็ดูภาพรวม

ทำงานกับเพื่อนมีปัญหาไหม

อู๋ : ถามว่ามีไหมมันก็มีแหละ แต่ด้วยความที่เราสนิทกันมากและเรารู้พื้นฐานอยู่แล้วว่าเขาเป็นยังไง แล้วต่างฝ่ายต่างก็ไม่ได้คิดร้ายต่อกัน แล้วเราก็มองผลประโยชน์ของร้านเป็นสำคัญด้วยว่ามันจะไปทิศทางไหน คือเรามี goal ที่ชัดเจนและเราเห็น goal เดียวกัน เพราะฉะนั้นระหว่างทางจะมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างก็เป็นเรื่องปกติ แต่เราก็ให้เกียรติและเคารพกัน ถ้าอะไรที่มันอยู่ในอำนาจการตัดสินใจของเขาเราก็จะไม่เข้าไปก้าวก่าย

คุณเรียนรู้อะไรจากการทำโอ้กะจู๋

โจ้ : หลักๆ เลยคือเรื่องมิตรภาพ คือการมีเพื่อนแท้ เพื่อนแท้นี่มันเอาเงินซื้อไม่ได้นะ มันเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลากว่าที่จะพิสูจน์มาได้ว่า ใช่ เพื่อนแท้หรือเปล่า

คุณว่าคุณเป็นคนโชคดีไหม

โจ้ : ก็โชคดีนะครับ

อู๋ : ผมก็ว่าผมก็โชคดีนะ

โจ้ : คนไทยเราก็เชื่อเรื่องบุญวาสนาเนาะ ผมก็คิดว่า เออ ชาติที่แล้วเราอาจจะเคยทำบุญอะไรร่วมกันมา เราก็เลยต้องทำมันต่อไปเนาะ ชาติหน้าจะได้เจอกันอีก เป็นเพื่อนกันอีก ส่วนถ้าเป็นเรื่องการทำงาน ผมว่าเราได้เรียนรู้เรื่องการมีวินัย ความอดทน การที่เราต้องสู้กับปัญหาต่างๆ แน่นอนว่าในทุกช่วงชีวิต 10 กว่าปีที่ผ่านมาปัญหามันก็อาจจะคนละรูปแบบกัน ตอนทำร้านใหม่ๆ ก็ปัญหาแบบนึง ตอนนี้ก็เป็นปัญหาอีกรูปแบบนึง เพียงแต่ว่าเราก็ต้องสู้กับมัน อย่าไปย่อท้อ ถ้าเราเจอปัญหาอะไรก็ตามแล้วเราไม่ท้อนะ ผมว่ารอด คือไม่มีใครสามารถเติมกำลังใจให้เราได้ดีเท่าตัวเราเองหรอก

มองภาพอนาคตของโอ้กะจู๋ไว้ยังไงบ้าง

อู๋ : ก็มองไว้หลายส่วน ทั้งเรื่องการขยายสาขา เรื่องไปประเทศเพื่อนบ้านแถบ CLMV เรื่องการเข้าระดมทุนก็คิดไว้ และที่สำคัญคือเราอยากให้องค์กรเราอยู่ได้แบบยั่งยืนด้วย คือเราเริ่มมาจากการที่มีกันแค่ 6-7 คน จากสาขาแรกจนมาตอนนี้มันก็ทวีคูณ จำนวนพนักงานก็ทวีคูณมาเป็นร้อยเท่า เราก็รู้สึกว่า เออ เรามีคนที่อยู่ข้างหลังที่ต้องดูแลอีกเยอะเลย เราก็เลยพยายามคิดว่าจะทำยังไงให้มันเป็นบ้านที่เขาอยู่แล้วเขารู้สึกมั่นคง

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด

You Might Also Like