The Heart of Oasis Sea World

Oasis Sea World จากโลมาติดอวนสู่โชว์โลมาไร้เสียงนกหวีด ที่ใช้ ‘หัวใจ‘ ฝ่าฟันทุกวิกฤต

นอกจากผลไม้ ทะเล หรือป่าเขาลำเนาไพร หากถามคนจันทบุรีกันเอง อีกสิ่งที่คนจันทบุรีอาจบอกได้ว่าภาคภูมิใจคือสถานที่ตรงหน้าเรา 

Oasis Sea World

พื้นที่แห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแหลมสิงห์ ห่างจากตัวเมืองจันทบุรีออกไปราว 30 นาที เป็นสถานที่ที่คนภายนอกอาจมองว่าคือสวนน้ำทั่วไปแต่หากถามผู้ก่อตั้งอย่าง วิชัย วัฒนพงศ์ และทายาทรุ่นปัจจุบันอย่าง วณิชชา วัฒนพงศ์ ทั้งสองจะตอบว่า Oasis Sea World คือบ้านของโลมาไทย

“มันเริ่มจากการที่คุณพ่อเห็นน้องโลมาติดอวนที่ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง เขาจะถูกนำไปแล่เนื้อขายกิโลกรัมละแค่ไม่กี่สิบบาท ณ เวลานั้น คุณพ่อมีบ่อกุ้งอยู่ เลยช่วยชีวิตเขามา แต่เราจะรักษาบาดแผลเขาได้ไหม เขาจะทานอาหารหรือเปล่า มันเป็นสิ่งที่อาจจะไม่ได้คิดในวินาทีนั้น แค่รู้สึกว่าทำยังไงก็ได้ให้เขารอดก่อน

“พอเราได้เขามาอยู่ในบ่อก็ค่อยๆ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ระยะเวลาหนึ่งเขาก็เริ่มไว้ใจ โยนอาหารให้ก็เริ่มทาน จนวันนึง เขาไว้ใจพอจะเข้ามาทานอาหารกับมือได้ มันเลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรักและความผูกพันที่เกิดขึ้น”

Oasis Sea World ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 2533 วิชัยเริ่มต้นจากโลมาไทย 2 ตัว จนปัจจุบันมีโลมาทั้งหมด 7 ตัว 2 สายพันธุ์ คือโลมาปากขวดสีชมพู และโลมาหัวบาตรหรืออิรวดี ซึ่งกว่าจะดำเนินธุรกิจได้จนถึงทุกวันนี้ ทายาทรุ่นปัจจุบันเอ่ยว่าไม่ง่าย 

โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ทำให้รายรับเป็นศูนย์ รวมถึงประเด็นการใช้งานและเลี้ยงสัตว์คุ้มครอง ทั้งที่ Oasis Sea World เริ่มต้นดูแลโลมาก่อนกลายเป็นสัตว์คุ้มครอง และการแสดงโชว์โลมาโดยไม่ใช้เสียงนกหวีดเช่นที่อื่นๆ ได้นั้นก็ต้องอาศัยความเชื่อใจ ความผูกพันระหว่างครูฝึกและโลมาทุกตัว 

แต่ก็เพราะจุดเริ่มต้นอันแสนจริงใจอีกนั่นแหละ ที่มีคนพร้อมออกมาช่วยให้ข้อมูลที่ถูกต้องและบอกเล่าความตั้งใจอันแท้จริงของผู้ก่อตั้งเสมอ จนทำให้ชื่อของ Oasis Sea World ไม่เคยจางหายไปจากลิสต์สถานที่ท่องเที่ยวที่พ่อแม่ผู้ปกครองทั่วไทยอยากพาลูกๆ มาเช็กอิน

“สิ่งที่ทำให้เรารอดมาได้ทุกสถานการณ์ก็คือความจริงใจและความรักของทุกคน เราว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจากความฉลาดหรือว่าความสามารถอื่นใดในเชิงการบริหารธุรกิจเลย” 

เสียงกล่าวต้อนรับของผู้นำโชว์กึกก้องกังวาน เป็นสัญญาณบอกให้ผู้คนพร้อมรับชมการแสดง 

ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจทำธุรกิจ แล้ว Oasis Sea World เกิดขึ้นได้ยังไง

หลายคนเคยดูหนังที่มีโลมา แล้วรู้สึกว่าโลมาเป็นสัตว์ที่น่ารัก พอเขาได้ยินว่าคุณพ่อช่วยเหลือและนำมาเลี้ยงไว้คนก็เริ่มขอเข้ามาดู จุดเริ่มต้นเป็นแบบนั้น โดยที่เราไม่ได้คิดว่าจะต้องทำเป็นธุรกิจหรือเปิดให้บริการอันใด  

วันที่มีการเก็บสถิติคือคนเข้ามาชมกว่า 20,000 คนภายในวันเดียว แล้วเป็นช่วงระยะเวลาที่ไม่นานนับจากวันที่ 1 มิถุนายน 2533 ที่เราเปิด สถานที่ ณ เวลานั้น คือดินแดงๆ ที่ยังไม่มีความพร้อมอะไรเลย เรามีแค่บ่อโลมา และเพียงน้องโลมาว่ายขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำนิดนึง ผู้คนก็เฮกันทั้งขอบบ่อแล้ว 

จากนั้นเราเลยต้องทำที่จอดรถ ห้องน้ำ อาคาร เพื่อดูแลความสะดวกให้กับคนที่เดินทางมา ตอนนั้นถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นำคนเข้ามาในจังหวัดจันทบุรีได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งเลย 

ธุรกิจประเภทนี้มีคู่แข่งเหมือนธุรกิจอื่นๆ บ้างไหม

จริงๆ ต้องบอกว่าโชคดีมากที่ในเมืองไทยมีผู้ที่เลี้ยงโลมาอยู่ไม่กี่ที่ แต่ธุรกิจใกล้เคียงอย่างสวนสัตว์ สวนสนุกนั้นมีอยู่เยอะมาก 

แต่เราก็มองว่าเรามีจุดขายที่ค่อนข้างชัดเจน อย่างถ้าใน Sea World ทั่วไปก็จะเห็นว่าเขาใช้นกหวีดในการส่งสัญญาณ เพื่อบอกให้โลมาทำท่าต่างๆ แต่ที่นี่เทรนเนอร์ทุกคนรักโลมามากพอที่จะคุยกับโลมาได้ 

เราใช้ความรัก ความผูกพัน สัญญาณมือและภาษาไทยปกตินี่แหละสั่งให้กระโดดหรือให้เขาขึ้นมากินอาหาร

ยากไหม

เราจะคุยกับโลมาให้รู้เรื่องได้ยังไง จังหวะไหนที่เขาจะกระโดดแล้วจังหวะจะโคนมันจะไม่แม่นเป๊ะ 

บางวันเขาอาจจะอยากเล่นกันเองในน้ำมากกว่า ถ้าใช้สัญญาณนกหวีดมันก็สั่งทางไกลได้ แต่พี่เทรนเนอร์เราก็ต้องรู้จังหวะที่จะสื่อสารให้เขารู้ว่าเราแสดงให้คนดูอยู่นะ

เราถึงคิดเสมอว่าถ้านับมาตั้งแต่ต้น คนที่ต่อสู้เยอะที่สุดคือในสมัยของคุณพ่อ  

จากวันที่คนเข้ามากว่า 20,000 คน มีวันที่คนขาดหายไปบ้างหรือเปล่า

หลังจาก 20,000 คนวันนั้น เราก็เจอวิกฤตมาเรื่อยๆ นะ

วิกฤตแรกเลยที่เจอคือการทำถนนระหว่างจันทบุรีไปถึงแกลง สมัยก่อนการทำถนนจะไม่ได้แบ่งเลนให้คนเดินทาง แต่เป็นการรื้อถนนแล้วสร้างใหม่ นั่นแปลว่านักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางมาจันทบุรีได้เลย เราก็ดำเนินธุรกิจแบบกระท่อนกระแท่นมาก 

พอถนนดีได้สักปีเศษๆ ก็เจอวิกฤตต้มยำกุ้งที่ต้องต่อสู้กันไป ต่อมาอีกไม่ถึง 10 ปีดี เราก็เจอพายุงวงช้างเข้าในพื้นที่ ภาพที่จำได้คือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรามันหายวับไปกับตา โครงสร้างต่างๆ พังทลาย เราต้องเดินข้ามกองซากปรักหักพัง และต้นไม้ที่โค่นลงมานอนกับพื้น

วันนั้นโชคดีว่าพระยังคงอวยพรเราอยู่ ที่บ่อโชว์โลมาไม่ได้รับความเสียหายอะไร สิ่งแรกที่ทำคือเช็กว่าน้องโลมาปลอดภัยไหม ทุกตัวตื่นตกใจ แต่ว่าปลอดภัยก็ให้พี่เลี้ยงไปหาเขา ส่วนพวกเราที่อยู่ตรงนั้นก็ตกใจร้องไห้ ทำอะไรไม่ถูก

แต่อ้าว ด้านหน้าประตูจำหน่ายบัตรมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจากเชียงใหม่ 1 รถบัสและนั่งรอที่จะเข้าชม แต่เขาไม่เห็นว่าด้านในเกิดอะไรขึ้น พ่อก็โทรมาบอกว่าทำยังไงก็ได้ เราต้องไม่ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมารู้สึกผิดหวัง อย่างน้อยเขาต้องได้เห็นโลมา 

เราก็เคลียร์เศษซากทั้งหมดให้เปิดทำการแสดงได้ เพื่อนพี่น้องในจังหวัดจันทบุรีก็ระดมคนมาช่วยกัน ไม่ถึงเดือนเราสามารถเคลียร์ทุกอย่างให้กลับมาสู่สภาวะปกติ นั่นคือวิกฤตที่ทำให้เราช็อกที่สุดครั้งหนึ่ง 

แต่ก็ยังไม่มากเท่าวันที่เราเจอโควิด-19  

ตอนนั้นคุณรู้สึกยังไง

มันก็เป็นอะไรที่ใจหาย หัวใจล่มสลาย 

เพราะเป็นวิกฤตเดียวที่เราต้องปิดประตูรั้วบ้านของ Oasis Sea World จากคำสั่งรัฐบาลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคจากการรวมตัวของผู้คน

แล้วการปิดประตูในวันนั้นมันเหมือนปิดลมหายใจ เพราะไม่เคยมีสักวันที่เราไม่มีรายได้เข้ามาเลยแม้แต่บาทเดียว แปลว่าเราจะต้องใช้เงินเท่าที่เรามีในการประคับประคองพื้นที่ แต่สถานที่ของเรามันไม่ได้ปิดเหมือนปิดเครื่องเล่น

ที่นี่ต้องใช้ไฟฟ้ากรองน้ำทำออกซิเจนเพื่อลมหายใจของทุกชีวิตในน้ำ เรายังต้องให้อาหารพวกเขา ยังมีน้องกวางที่เราเลี้ยงอยู่ เราไม่สามารถให้พนักงานหยุดทั้งหมดได้ ณ เวลานั้นทุกคนจะต้องมาช่วยดูแลสิ่งที่มีชีวิตในบ้านหลังนี้ 

มันบีบหัวใจมาก แล้ววันที่มันรู้ว่าจะหายใจได้อีกแค่ไม่กี่วัน ครอบครัวเราก็เลยมาคุยกันว่าจะทำยังไงต่อ มันมี 2 ทางเลือก ทางเลือกแรกคือปิดที่นี่ถาวรไปเลย หรือทางเลือกที่สองคือขายที่ดินแปลงหนึ่งที่ครอบครัวตั้งใจเก็บไว้ในบั้นปลายชีวิต 

สุดท้าย เราตัดสินใจขายที่ แล้วเอาเงินทั้งหมดมาประคองให้รอดวิกฤตโควิด-19 มาได้  

อะไรทำให้ครอบครัวเลือกที่จะเก็บ Oasis ไว้ 

โลมา (ตอบทันที)

ถ้าเราไม่มีเงินไปจ่ายค่าไฟ เขาก็จะไม่มีออกซิเจนหายใจ ความรู้สึกมันเหมือนกับวันแรกที่เราเห็นเขาติดอวนมา แล้วเรารู้ว่าอีกไม่กี่นาทีเขาจะต้องตาย 

เขาคือสมาชิกในครอบครัวของเรา เราก็เลยเลือกเดินหน้าต่อ แต่มันจะไปต่อแบบไหน มันจะมืดมนหรือเปล่าก็เป็นเรื่องของอนาคต เพราะตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าโควิด-19 มันจะจบตอนไหน หรือเราจะรอดจริงๆ หรือเปล่า

วิกฤตที่หนักหนาขนาดนี้สอนอะไรคุณบ้าง

เรารู้เลยว่ามันไม่มีอะไรแน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้ 

เราเลยหันกลับมามองว่าสิ่งที่เรามีพอจะสร้างประโยชน์อะไรได้อีกบ้าง งานวิจัยในต่างประเทศพบว่าโลมามีคลื่นเสียงที่ทำให้มนุษย์ผ่อนคลาย ในเมืองไทยยังไม่มีงานวิจัยและเป็นสิ่งที่เราไม่กล้าทำมาโดยตลอด เพราะเรามองว่าเราไม่มีนักวิจัย 

แต่วันนี้ เราคิดว่าเราเริ่มเลยดีกว่า เราไม่มีนักวิจัยไม่เป็นไร แต่เราสามารถให้เทรนเนอร์ช่วยกันทำคลาสที่เปิดให้คนได้สัมผัสกับโลมา ได้ลองให้โลมาใช้คลื่นเสียง ได้ลองเรียนรู้เกี่ยวกับโลมาจริงๆ ที่ไม่ใช่ในหนังสือหรือคลิปวิดีโอ 

มันเป็นสิ่งที่เราคิดว่า Oasis Sea World น่าจะเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของไทยที่เปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้และรู้จักโลมาจริงๆ 

หากตัดเรื่องความรัก แพสชั่น หรือความผูกพันที่มีให้กับโลมา คิดว่าอะไรทำให้ธุรกิจนี้อยู่มาจนถึงวันนี้ได้

คน 

คนที่จะรักโลมาเหมือนที่เรารัก 

เรามองว่าการบริหารทีมเป็นเรื่องสำคัญที่สุดอีกเรื่องเหมือนกัน เราต้องบอกว่าเราโชคดีมากๆ ที่ทีมงานของเราทุกคนรักโลมาและภูมิใจในความเป็น Oasis Sea World 

โดยเฉพาะอาจารย์ศักดิ์ชัย ที่เริ่มต้นมาพร้อมคุณพ่อ และพี่พิศมัย สัตวบาลที่ใส่ใจโลมาในทุกอณู หรือน้องๆ ที่อาจจะไม่ได้ดูแลสัตว์ก็สื่อสารความรักที่เรามีต่อโลมาให้กับนักท่องเที่ยวหรือคนที่มาเข้าใจได้

อีกสิ่งที่สำคัญคือหัวใจนะ พวกเรา Oasis Sea World เป็นบ้านที่มีความแข็งแกร่งแล้วก็มีหัวใจแห่งการต่อสู้ทรหด ทีมงานก็เดือดร้อนไม่ต่างจากเรา แต่ทุกคนพร้อมที่จะลำบากและเดินจับมือไปด้วยกันมาโดยตลอด เรามองว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เราเดินหน้าต่อได้ 

แล้วในความรักในบ้านเกิดอย่างจันทบุรีนี่แหละที่ก็ทำให้เรารอดมาได้อีกเหมือนกัน เพราะเหตุการณ์โควิด-19 ตอบได้เลยว่าเราจะรอดมาไม่ได้เลย ถ้าพี่น้องคนจันท์และคนไทยไม่ยื่นมือเข้ามาช่วย หลายท่านป้อนอาหารน้องทางออนไลน์ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นตัวจริง ทุกคนช่วยซื้อของที่ระลึก ช่วยซื้อตุ๊กตาโลมาเท่าที่ทุกคนจะทำได้ ช่วยแชร์ความน่ารักของโลมาและความทรงจำ ณ วันที่เขาเคยมาตอนเด็ก 

 นี่แหละค่ะคือหัวใจของการทำสิ่งที่เราดำเนินอยู่ 

What I’ve Learned

“ในแต่ละวิกฤตนั้นสอนบทเรียนให้เราเสมอ เราต้องหาวิธีการต่อสู้กับความท้าทายไม่เหมือนกัน แต่ทุกครั้งที่ผ่านมาได้เพราะเรารู้ว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรกันมาบ้าง แล้วเราเดินหน้าต่อเพื่ออะไร”

Tagged:

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

You Might Also Like