Future Furniture
Not Too Virgin Design Lab สตูดิโอที่เปลี่ยนฝาขวดน้ำเหลือใช้เป็นของแต่งบ้านดีไซน์ดี
ใครหลายคนนิยามว่าดีไซเนอร์คืออาชีพ ‘นักแก้ปัญหา’
แรกเริ่มมันอาจหมายถึงการแก้ปัญหาเชิงดีไซน์และฟังก์ชั่นเป็นหลัก แต่ในโลกยุคปัจจุบันที่สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันรักษา ดีไซเนอร์หลายคนจึงกลายมาเป็นนักแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านงานออกแบบที่พวกเขาถนัด
หนึ่งในนั้นคือ Not Too Virgin Design Lab ดีไซน์สตูดิโอที่ผลิตของใช้ในบ้านตั้งแต่ที่รองแก้ว ถาดใส่เครื่องประดับ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ ทั้งหมดทำจากวัสดุที่เป็นมิตรกับโลกอย่าง ‘Jesmonite’ และฝาขวดน้ำพลาสติกรีไซเคิล แถมสองผู้ก่อตั้งสตูดิโอยังตั้งใจว่าจะสนับสนุนให้ดีไซเนอร์คนอื่นๆ เลือกใช้วัสดุรักโลกมากขึ้นด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่าย Jesmonite อย่างเป็นทางการในประเทศไทย
แล้ว Jesmonite คืออะไร–หลายคนคงมีคำถาม
ไปรู้จักวัสดุนี้พร้อมๆ กับที่รู้จัก Not Too Virgin Design Lab แบรนด์ที่ตั้งใจแนะนำวัสดุใหม่ๆ ให้เป็นทางเลือกของคนไทย
Not the Conventional Materials
ไอซ์–ศิรดา กุลไพศาล และ เก้–ขวัญจันทร์ สงขกุล คือสองสาวผู้ก่อตั้งสตูดิโอ ทั้งคู่เรียนจบปริญญาตรีทางด้าน design communication และได้เจอกันครั้งแรกตอนไปเรียนปริญญาโทที่อังกฤษ ที่นั่น ไอซ์เลือกเรียนด้าน design management ส่วนเก้เลือกเรียนด้าน art direction
ทั้งคู่นิยามตัวเองว่าเป็นคนดีไซน์ ไม่ว่าจะไปเที่ยวหรือช้อปปิ้งที่ไหนดีไซน์คือสิ่งที่อยู่ในสายตาเสมอโดยเฉพาะของใช้ในบ้านและเฟอร์นิเจอร์ กระทั่งการสังเกตทำให้ได้เจอวัสดุใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็น
“พอเราไปอยู่ที่เมืองนอก ได้เห็นโปรดักต์ใหม่ๆ เราก็ตกใจมากว่าของที่สวยๆ หลายอย่างมันทำมาจากขยะ ทำมาจากเศษพลาสติกหรือวัสดุทางเลือกที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน” เก้เล่า
“มีอยู่วันนึงเราไปช้อปที่ร้าน designer brand ร้านหนึ่งแล้วก็เห็นเคาน์เตอร์สีสันสดใสมาก เราก็ไปเคาะอยู่นั่น ไปสัมผัสว่ามันทำมาจากอะไร ไม่เคยเห็นเลย ทำไมสวยจัง พนักงานก็เข้ามาบอกว่ามันทำมาจากฝาพลาสติก มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสนใจวัสดุทางเลือก จริงๆ ที่นั่นเขามีนวัตกรรมวัสดุรีไซเคิลเยอะแยะมากมาย เช่น เอาพลาสติกมาผลิตเป็นเส้นใยต่างๆ แต่เพราะเราสนใจเฟอร์นิเจอร์พอเราเห็นของใหญ่ๆ แบบนั้นมันก็ตื่นตาตื่นใจ
“อีกวัสดุที่เราได้เจอคือ Jesmonite เราไปเดินเล่นกันแล้วบังเอิญไปเจอเวิร์กช็อปการใช้วัสดุชื่อ Jesmonite ซึ่งมันคืออะไร ไม่เคยรู้จักมาก่อนแต่ว่าน่าสนใจดีนะ ปรากฏเวิร์กช็อปแพงมาก เราเป็นคนหาทำ ชอบทำงานประดิษฐ์อยู่แล้วก็เลยสั่งซื้อวัสดุมาเปิดยูทูบเรียนเองแล้วก็ลองทำนู่นทำนี่”
เก้อธิบายว่า Jesmonite คือวัสดุชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นโดยดีไซเนอร์ชื่อ Peter Hawkin ในช่วงต้นยุค 1980s มีลักษะเป็นผงที่ต้องนำมาผสมกับของเหลวเพื่อนำไปขึ้นรูปในแม่พิมพ์ เมื่อแห้งแล้วจะแข็งแรง ทนทาน คล้ายกับคอนกรีตหรือเรซิ่น แต่สิ่งที่ทำให้ Jesmonite แตกต่างจากวัสดุไหนๆ คือสีสันสดใสและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“พอเราใช้เองเราถึงรู้ว่าข้อดีของมันคืออะไร หนึ่ง Jesmonite มีสีสันสดใสมาก ไม่มีวัสดุไหนที่มีสีแบบนี้ด้วยตัวของมันเองโดยไม่ต้องผสมสี สองคือมันไม่มีสารพิษ คอนกรีต เรซิ่น ปูนซีเมนต์ พวกนี้ใช้สารเคมีเยอะมาก ถ้าเคยใช้จะรู้ว่ามันเหม็น อันตรายกับคนใช้” นอกจากนั้น Jesmonite ยังมีน้ำเป็นส่วนผสมหลักซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าสารทำละลายอื่นๆ และไม่มีสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ที่ก่อมลพิษทางอากาศด้วย
“เราเป็นคนที่ชอบดีไซน์ ชอบเฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้านทั้งคู่ จำได้ว่าวันนึงคุยกันว่าอยากได้เฟอร์นิเจอร์กลับไปแต่งคอนโดที่เมืองไทย แล้วก็ เอ๊ะ ทำไมเราไม่ทำขึ้นมาล่ะ” ไอซ์เล่า
“แต่ถ้าจะทำ ถามว่าเราเรียนทางด้านออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ออกแบบโปรดักต์มาหรือเปล่า ก็เปล่า แล้วเราจะไปสู้คนที่เขาทำเฟอร์นิเจอร์กันมาเป็นสิบๆ ปีได้ยังไง
“อยู่ดีๆ เราก็คิดว่า นี่ไง เราสู้ด้วยแมตทีเรียล”
Not Quite a Design Studio
“ด้วยความที่เราทั้งคู่ไม่ได้จบด้านออกแบบเฟอร์นิเจอร์หรือออกแบบโปรดักต์ เราอาจจะไม่สามารถตีตลาดเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป ไปแข่งกับแบรนด์ที่มีอยู่แล้วได้ เราเลยเราเลือกตีโจทย์อีกทาง เลือกวัสดุที่ในไทยยังไม่มีและเป็นวัสดุที่น่าสนใจ
“ความตั้งใจของเราคือ เราอยากทำเฟอร์นิเจอร์และของใช้จากวัสดุใหม่ๆ ที่สามารถช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้” ทั้งคู่ช่วยกันเล่า
วัสดุแรกที่พวกเธอมีในใจคือ Jesmonite ที่เก้ทดลองใช้จนชำนาญ (แถมเพราะบริษัท Jesmonite ขายวัสดุเป็นแพ็กใหญ่เท่านั้นเธอจึงใช้มันทำถาดใส่ของกระจุกกระจิกขายในเว็บไซต์ Etsy ซะเลย)
“การใช้งาน Jesmonite นี่อลังการงานสร้างมาก ในต่างประเทศเขาใช้วัสดุนี้ทำตึกด้วยซ้ำ ใช้ทำภาพปูนเปลือย ใช้ทำรูปปั้นใหญ่ๆ ที่ Tate Modern ที่ลอนดอน ใช้เป็นกำแพง เป็นหลังคาโรงแรม”
ด้วยความยืดหยุ่นขนาดนี้ Not Too Virgin จึงเอามาใช้ทำโปรดักต์ชิ้นเล็กได้สบายๆ ตั้งแต่ถาดใส่ของกระจุกกระจิกรุ่นคลาสสิกแบบเดียวกับที่เคยขายใน Etsy กระถางต้นไม้ หรือจะเป็นเชิงเทียนสุดน่ารักที่สามารถคัสตอมส่วนประกอบเองได้
วัสดุที่สองคือ ‘พลาสติกรีไซเคิล’
“เราสนใจพลาสติกรีไซเคิล ก็ไปรีเสิร์ชเกี่ยวกับมันจนได้เจอองค์กรที่มีชื่อว่า Precious Plastic เป็นองค์กรที่พยายามสร้างคอมมิวนิตี้ในแต่ละประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก”
วิธีการของ Precious Plastic คือพวกเขาเน้นให้ความรู้ชุมชนเรื่องการแยกขยะและผลักดันให้ชุมชนสร้างรายได้จากขยะด้วยการนำเครื่องจักรรีไซเคิลพลาสติกไปตั้งไว้ในชุมชน เช่น เครื่องบดพลาสติกเป็นชิ้นเล็กๆ เครื่องอัดพลาสติกเป็นแผ่น หรือเครื่องฉีดขึ้นรูป ทั้งหมดเพื่อให้ชุมชนนำไปขายได้ ส่วนใครที่อยากมีเครื่องนี้เป็นของตัวเอง Precious Plastic ก็แจกพิมพ์เขียวไว้ในเว็บไซต์ด้วย
Not Too Virgin คือหนึ่งในคนที่ดาวน์โหลดพิมพ์เขียวของพวกเขามาใช้ต่อยอดสร้างเครื่องจักร Sheetpress ของตัวเอง มันคือเครื่องจักรที่จะกดและหลอมละลายเศษพลาสติกให้กลายเป็นแผ่นจากนั้นก็สามารถนำมาตัดและประกอบเป็นโปรดักต์ต่างๆ ตามใจ
“วิธีการคือเราไปซื้อฝาขวดน้ำพลาสติกที่บดและแยกสีแล้วมาจาก Precious Plastic พอเข้าเครื่องจักรบีบออกมาจะได้แผ่นพลาสติกความกว้างประมาณ 90×90 เซนติเมตร upcycle ฝาขวดน้ำได้ถึงประมาณ 20,000 ฝา” เก้บอก
เช่นกันกับ Jesmonite แผ่นพลาสติกเหล่านี้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นโปรดักต์หลายอย่าง มีทั้งที่รองแก้ว เก้าอี้ ไปจนถึงโต๊ะเล็กๆ ตามความฝันอยากทำเฟอร์นิเจอร์ของทั้งสอง ทั้งยังเปิดบริการ bespoke service ให้ลูกค้าสั่งทำสินค้าได้ด้วย
แต่ไม่ว่าจะทำผลิตภัณฑ์อะไร ไอซ์บอกว่าหัวใจสำคัญคือการใช้วัสดุหลักเพียงหนึ่งชนิดต่อหนึ่งชิ้นงาน
“สิ่งสำคัญที่เราคำนึงถึงคือการใช้วัสดุพลาสติกชนิดเดียวกันในทุกๆ งานฉะนั้นมันจะเอาไป recycle ต่อได้” ดังนั้นถ้าย้ายบ้านแล้วไม่รู้จะเอาเฟอร์นิเจอร์ไปไว้ที่ไหนหรือเบื่อๆ อยากเอาของเก่าไปแปลงเป็นของใหม่ พลาสติกเหล่านี้สามารถหลอมแล้วขึ้นรูปได้ใหม่ไม่รู้จบตามจินตนาการ
คุณสมบัติการเอาของเก่ามาทำใหม่นี้แหละคือที่มาของชื่อแบรนด์ “เราเริ่มต้นจากการเอาวัสดุที่ผ่านการใช้งานมาแล้วอย่างฝาขวดน้ำมาอัพไซเคิล คือมันไม่ซิงแล้ว ก็เลยเป็นที่มาของชื่อ Not Too Virgin” ไอซ์เล่าก่อนที่เก้จะอธิบายว่าทำไมพวกเธอเรียกตัวเองว่า design lab ไม่ใช่ design studio
“เราชอบ explore เราไม่ได้เชี่ยวชาญการออกแบบเฟอร์นิเจอร์แต่เราเน้นวัสดุที่มาพร้อมกับการทดลอง ดังนั้นกระบวนการของพวกเรามันเลยเหมาะกับคำว่าแล็บมากกว่า มันคือการทดลองไปเรื่อยๆ บางทีก็เวิร์ก บางทีก็ไม่เวิร์ก หรืออย่างขาโต๊ะตัวนี้” เก้ชี้ไปที่ขาด้านหนึ่งของโต๊ะที่เรานั่งคุยกันอยู่ซึ่งมีลักษณะฟูฟ่องเหมือนก้อนเมฆ “มันเกิดขึ้นจากความผิดพลาดค่ะ เราอยากทำขาโต๊ะกลมๆ แต่แม่พิมพ์แตกมันเลยทะลักออกมา กลายเป็นว่าพอเสร็จแล้วเราก็มองว่ามันน่ารักดี”
การทดลองนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง การเปิดแบรนด์ Not Too Virgin ก็นำไปสู่ด้านอื่นๆ ของธุรกิจที่พวกเธอไม่ได้วางแผนไว้เช่นกัน
Not Just Designers
ตามความตั้งใจแรก Not Too Virgin คือแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ดี ทำขึ้นจากวัสดุทางเลือกที่ทั้งสวย ทั้งแปลกใหม่ และดีต่อโลก
แต่ทำไปทำมา ยังไม่ทันได้เปิดตัวไลน์สินค้าเฟอร์นิเจอร์ (แต่จะปล่อยออกมาเร็วๆ นี้) พวกเธอก็ต่อยอดธุรกิจไปในด้านต่างๆ มากมาย
“หนึ่ง–เราขายโปรดักต์ สอง–เราเป็นตัวแทนจำหน่ายวัสดุ Jesmonite สาม–เราทำเวิร์กช็อป แล้วเราก็กำลังทำความคุ้นเคยกับการทำของชิ้นใหญ่ๆ เพื่อออกไลน์สินค้าเฟอร์นิเจอร์” เก้นับนิ้ว
“ตอนแรกเราไม่ได้คิดจะเป็น distributor เราสั่งของมาทำโปรดักต์เฉยๆ พอทำแล้วคนก็เริ่มสนใจวัสดุ เริ่มทักมาถามว่ามีวัสดุขายหรือเปล่า” ไอซ์เล่าโดยมีเก้ช่วยเสริม
“แต่ว่ากฎของ Jesmonite คือห้ามแบ่งขายเป็นชุดเล็กๆ ต้องขายเซตที่เขาทำมาเท่านั้น สุดท้ายเราเลยลองเขียนอีเมลไปด้วยความจริงใจว่าเราเป็นใคร เราใช้วัสดุนี้มันดีมากนะ มีคนติดต่อมาอยากซื้อแต่เราขายให้เขาไม่ได้ เราอยากเป็น distributor ได้ไหม จากประมาณ 8 เจ้าที่ติดต่อเขาเข้าไปเขาก็เลือกให้เป็น distributor น่าจะเป็นเพราะเราใช้จริงๆ แล้วก็มีแพสชั่นกับมันจริงๆ”
ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายแล้วใช่ว่าเส้นทางจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะอุปสรรคถัดไปคือความเข้าใจวัสดุนี้ที่ถือว่าเป็นของใหม่ในเมืองไทย
“ความท้าทายหลักๆ คือการให้ความรู้เรื่องวัสดุเลย คนส่วนใหญ่ที่ซื้อไปแล้วมักจะยังทำไม่เป็น เขาก็จะมีคำถามเยอะ หรือบางคนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมันแพงจัง เราก็ต้องคอยให้คำปรึกษากับเขาเรื่อยๆ” ไอซ์ว่า
จากให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว พวกเธอเริ่มทำคลิปให้ความรู้เรื่อง Jesmonite แต่คำถามก็ยังหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสายทั้งคู่จึงก้าวเข้าสู่บริการใหม่คือจัดเวิร์กช็อปสอนวิธีการใช้ซะเลย
“มีหลายๆ คนที่เห็นของเราสวยก็ทักมาว่าถามมันคืออะไรเหรอคะ แต่พออธิบายเป็นคำพูดบางทีเราก็นึกไม่ค่อยออกเลยเกิดเป็นเวิร์กชอปขึ้นมา ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนตอนนี้น่าจะสอนไปเป็นร้อยคนแล้ว สุดท้ายมันช่วยธุรกิจของเราค่อนข้างเยอะเลยเพราะพอคนเริ่มได้ลองแล้วติดใจก็มีหลายคนที่กลับมาซื้อบ่อยๆ หลายคนก็เอาไปเริ่มธุรกิจของตัวเองได้”
สองผู้ก่อตั้งเล่าว่าตั้งแต่แรก target ลูกค้าที่พวกเขามองไว้มีสองกลุ่มหลักๆ หนึ่ง–คือกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่มาซื้อโปรดักต์ สอง–คือกลุ่มนักออกแบบที่จะมาซื้อวัสดุหรือสั่งทำสินค้า custom-made สำหรับโปรเจกต์งานออกแบบต่างๆ
ตั้งแต่เปิดเวิร์กช็อปพวกเธอเหมือนแก้โจทย์การขายให้ลูกค้าทั่วไปได้อีกขั้น แถมยังได้ลูกค้ากลุ่ม corporate ที่ทำ CSR เรื่องสิ่งแวดล้อมชวนไปจัดเวิร์กช็อปอยู่เรื่อยๆ แต่โจทย์การแนะนำวัสดุให้ดีไซเนอร์ยังคงอยู่ นิทรรศการเล็กๆ ชื่อ Pop the Cherry จึงเกิดขึ้น
งานนี้จัดโดยชาว Not Too Virgin ก็จริงแต่คนที่จัดแสดงไม่ได้มีแค่เก้และไอซ์ พวกเธอต่างไปชักชวนดีไซเนอร์หลายๆ สาขาที่รู้จักกันมาลองใช้ Jesmonite และเล่นกับพลาสติกรีไซเคิลเพื่อทำโปรดักต์ชนิดต่างๆ ขึ้นมา
“เราอยากให้คนรู้จักวัสดุ ได้เห็นและได้สัมผัสมัน แล้วเราก็ทำของเล็กๆ มาสักพักแล้ว เราอยากให้คนทั่วไปหรืออินทีเรียร์ดีไซเนอร์ได้มาเห็นของใหญ่ เห็นความเป็นไปได้ของวัสดุว่ามันเอาไปทำอะไรได้บ้างแต่ลำพังตัวเราเองเราทำโปรดักต์ทุกอย่างไม่ได้ ความถนัดของเราก็คือทำพลาสติกออกมาเป็นแผ่น เราเลยชวนเพื่อน คนรู้จัก ที่มีความถนัดที่แตกต่างกันมาใช้วัสดุของเรา ให้โจทย์ไปว่าทำอะไรก็ได้จากวัสดุเหล่านี้” เก้เล่าให้ฟัง
ด้วยโจทย์กว้างแสนกว้าง โปรดักต์ที่ได้จึงมีตั้งแต่ปฏิทินพลาสติก ชั้นวางของ ไปจนถึงชุดโต๊ะและม้านั่งอลังการ
“หลังจากทำงานนี้ก็มีบริษัทอินทีเรียร์ติดต่อเข้ามาเหมือนกัน ล่าสุดก็มีอินทีเรียร์ที่จะทำร้านรีเทลขอตัวอย่างพลาสติกของเราไปดูว่าทำอะไรได้บ้าง เพราะคนเดี๋ยวนี้ก็เริ่มสนใจวัสดุพวกนี้มากขึ้น
“ดีไซเนอร์ที่มาร่วมจัดนิทรรศการก็ตอบรับกับวัสดุในทางบวก เขาเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ เช่น บางคนเคยใช้วัสดุหินอ่อนซึ่งมันมีข้อจำกัด เช่น มีสีให้เลือกน้อยและหนักมาก พอลองใช้ Jesmonite มันก็เปิดช่องทางให้เขาได้ทำงานอีกหลายสีที่เขาอยากทำ”
สำหรับตอนนี้ ใครอยากเห็นว่า Jesmonite และพลาสติกรีไซเคิลนำไปใช้กับร้านค้าจริงๆ แล้วเป็นยังไง สองสาวกระซิบว่าสามารถไปดูได้ที่ร้าน CHAND ซอยสุขุมวิท 31, ร้าน Shaka สาขา The Promenade และร้าน hidey.house สุขุมวิท 54 ส่วนโปรเจกต์อื่นๆ จะตามมาเร็วๆ นี้
Not Just Eco Products
ไหนๆ ก็ตั้งใจทำโปรดักต์ที่ดีต่อโลกแล้ว ชาว Not Too Virgin ลงความเห็นว่าสตูดิโอของพวกเขาก็ควรจะดีต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
“เราไม่ใช่คนกรีนจ๋าแต่เราพยายามทำเท่าที่ทำได้ อย่างเศษ Jesmonite ที่เอามาทำลายหินอ่อนหรือว่าเศษที่เหลืออยู่ตามขอบถ้วยเราก็เอามารวมกันเอาไปใช้ใหม่ ทั้งเราใช้เองหรือใช้ในเวิร์กช็อป ถาดบางอัน ถ้าเราทำแล้วมันไม่เวิร์กเราก็เอามาทุบแล้วก็เอามาประกอบเป็นถาดอันใหม่ หรือเวลาจะทิ้งน้ำเสียเราก็กรองก่อน พยายามเท่าที่ทำได้” ทั้งคู่ผลัดกันเล่า
“ถ้าเข้าไปที่สตูดิโอก็จะรู้สึกว่าเหมือนขยะเยอะมากเลยเพราะเราไม่อยากทิ้ง ใช้แล้วใช้อีก อย่างพวก bubble wrap เราไม่ได้ซื้อมานานมากแล้ว ลูกค้าทุกคนที่สั่งของไปก็อาจจะได้ bubble wrap ที่หน้าตาไม่ค่อยสวยเท่าไหร่แต่ว่ามันเป็นของที่เราไม่ได้ซื้อใหม่”
ถ้าเป็นไม่กี่ปีก่อนการนำวัสดุใช้แล้วมาห่อสินค้าใหม่ให้ลูกค้าอาจเป็นเรื่องที่บางคนไม่เข้าใจ แต่เพราะเทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังมา แบรนด์ต่างๆ หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ลูกค้าจึงเข้าใจธุรกิจที่มีวิถีเช่นนี้มากขึ้น
เทรนด์คือโอกาสแต่ในขณะเดียวกันก็สร้างคู่แข่งด้านสินค้าสายกรีนขึ้นมามากมาย ถึงอย่างนั้นหลังจากทำธุรกิจมาเกือบๆ สองปี แม้จะยังเป็นสตูดิโอเล็กๆ แต่ Not Too Virgin ก็สร้างความแตกต่างได้สำเร็จ
หนึ่ง–สินค้าดีไซน์ดี แตกต่าง โดยเฉพาะการใช้วัสดุใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีใครใช้มากนัก
“เราบวกคำว่า sustainability กับดีไซน์เข้าด้วยกัน เน้นออกแบบให้ใช้ได้จริง สวย และ sustainable”
สอง–ธุรกิจของสตูดิโอไม่ได้มีแค่โปรดักต์แต่ต่อยอดไปอีกมากมาย เป็นทั้งตัวแทนจำหน่ายวัสดุ ผู้จัดเวิร์กช็อป ผู้จัดนิทรรศการ นอกจากมีรายได้หลายทางทั้งหมดยังตอบโจทย์ใหญ่ของแบรนด์คือการแนะนำวัสดุทางเลือกใหม่ๆ สู่ตลาดประเทศไทย
“เราเน้นเรื่องวัสดุมากๆ ถ้าถามว่าวันนี้เราจะกลับมาใช้คอนกรีตมั้ย ไม่ เราก็จะมีจุดยืนว่าเราจะหาวัสดุใหม่ๆ มาใช้เสมอ ไม่ใช่แค่ Jesmonite กับพลาสติก ถ้าวันนี้เราเจออะไรที่น่าสนใจเราก็จะหาทำอีก” ทั้งคู่ยืนยัน