มาหาอำนาจทางเรือ

‘Navegador’ ประสิทธิภาพในยุคล่าอาณานิคม

ระหว่างศตวรรษที่ 15 และ 16 หลายร้อยปีก่อนที่โลกจะรู้จักคำว่า ‘โลกาภิวัตน์’ หลายประเทศในยุโรปส่งนักผจญภัยข้ามมหาสมุทรไปสำรวจและตีดินแดนใหม่ๆ นอกทวีปเป็นอาณานิคม กลายเป็นยุคที่ได้สมญา ‘ยุคแห่งการสำรวจและค้นพบของยุโรป’ ในยุคนี้ประเทศเล็กๆ สุดขอบตะวันตกของยุโรปอย่างโปรตุเกส กลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเรือที่ค้นพบดินแดนใหม่ๆ เกินขนาดของประเทศตัวเองไปนับพันนับหมื่นเท่า โดยอาศัยพัฒนาการของเทคโนโลยีการทำแผนที่และอุปกรณ์เดินเรือที่เอื้อต่อการเดินทางข้ามทวีป ยิ่งออกสำรวจก็ยิ่งสะสมองค์ความรู้มหาศาลเกี่ยวกับการเดินเรือและภูมิศาสตร์ทั่วโลก ตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ไกลถึงญี่ปุ่นในทะเลจีนใต้

นักเดินเรือ (navegador ในภาษาโปรตุเกส) มีแรงจูงใจที่จะออกไปเสี่ยงภัยในทะเล เพราะการค้นพบเส้นทางค้าขายเครื่องเทศซึ่งเป็นสินค้า ‘พรีเมียม’ ในยุคนั้นจะช่วยให้โกยกำไรงามๆ ที่คุ้มค่าความเสี่ยง เหล่า navegador ค้นพบเส้นทางมากกว่านักเดินทางชาติอื่นในยุคแห่งการสำรวจ ถึงแม้โลกอาจรู้จักพวกเขาไม่มากเท่าคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักเดินเรือที่ไม่ใช่ชาวโปรตุเกสแต่เดินทางไปพบทวีปอเมริกาด้วยเงินของกษัตริย์โปรตุเกส

ความเกรียงไกรของโปรตุเกสเริ่มต้นจาก บาร์โทโลมิว ดิอาซ ผู้ล่องเรือข้ามแหลมกู๊ดโฮป สุดขอบทวีปแอฟริกาตอนใต้ได้สำเร็จใน ค.ศ. 1488 จากนั้นสิบปีต่อมา วาสโก ดากามา นักเดินเรือผู้กลายเป็นตำนาน ก็ล่องเรือไปถึงอินเดีย ถัดมาอีกเพียงสองปีคือ ค.ศ. 1500 ไม่ว่าจะด้วยความบังเอิญหรือจงใจก็ตามแต่ เปโดร อัลวาเรซ คาบราล ก็เดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปขึ้นฝั่งดินแดนในทวีปอเมริกาใต้ซึ่งต่อมาจะชื่อ บราซิล 

ภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งศตวรรษ โปรตุเกสสร้างป้อมปราการ โรงงานแปรรูปและสถานีค้าขายจำนวนมากในพื้นที่ทั้งที่ตีเป็นอาณานิคมและไม่เป็น ตลอดชายฝั่งดินแดนทุกทวีปที่พวกเขาค้นพบ เชื่อมเมืองหลวงลิสบอนในโปรตุเกสเข้ากับชายฝั่งแอฟริกา ตะวันออกกลาง อินเดีย และเอเชียตะวันออกไกลถึงนางาซากิ เมืองท่าสำคัญในญี่ปุ่น เครือข่ายเส้นทางค้าขายและการล่าอาณานิคมนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโปรตุเกสเติบโตอย่างก้าวกระโดดนานสามร้อยปีระหว่างปี 1500-1800 และสร้างรายได้ราว 1 ใน 5 ของรายได้ชาวโปรตุเกสในยุคนั้น 

มรดกของโปรตุเกสตกทอดมาถึงปัจจุบันในแง่วัฒนธรรมมากมาย ภายหลังจากที่คนในพื้นที่อาณานิคมต่างทยอยประกาศเอกราช ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม อาหาร และภาษา ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ภาษาโปรตุเกสมีคนใช้มากเป็นอันดับ 6 ของโลก มีคนพูดมากกว่า 240 ล้านคนโดยเฉพาะในบราซิล

boardgamegeek.com

Navegador บอร์ดเกมเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุดเกมหนึ่ง นำแรงบันดาลใจจากยุคทองของโปรตุเกสมาสร้างเป็นเกมสนุกสำหรับ 2-5 คน รับบทเป็นพ่อค้าและนักเดินเรือในยุคนั้น เราจะส่งกองเรือจากโปรตุเกสไปยังอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชียใต้ สุดท้ายไปจบที่เอเชียตะวันออก เกมจะจบเมื่อมีใครสักคนแล่นเรือไปถึงเมืองท่านางาซากิในญี่ปุ่น หรือสร้างอาคารหลังสุดท้ายที่มีให้สร้าง (ปกติจบแบบแรก) 

ผู้เล่นทุกคนในเกมเริ่มต้นเท่ากันด้วยเรือ 2 ลำ ลอยอยู่ในน่านน้ำนอกชายฝั่งโปรตุเกส คนแรกที่แล่นเรือเข้าไปสำรวจพื้นที่ทะเลใหม่ๆ จะต้องเสียเรือ 1 ลำ (สะท้อนความเสี่ยงสูงมากของการเดินเรือในยุคนั้น) แต่จะได้โทเคน ‘สำรวจ’ ซึ่งมีมูลค่าเป็นคะแนนตอนจบเกม และได้โบนัสเป็นเงินสดเท่ากับมูลค่าของพื้นที่อาณานิคมที่น้อยที่สุดในบริเวณนั้นๆ

หลังจากที่พื้นที่ทางทะเลแต่ละช่องได้รับการบุกเบิกแล้ว (ไม่มีโทเคน ‘สำรวจ’ ในน่านน้ำนั้นแล้ว) ทุกคนก็จะแล่นเรือเข้าไปได้โดยไม่จม และก่อตั้งอาณานิคมชายฝั่งตามทวีปต่างๆ ได้

ความเจ๋งของ Navegador อยู่ที่ความเรียบง่ายของกลไกตลาด ในเกมนี้มีสินค้า 3 ชนิดตามประวัติศาสตร์ที่ทำเงินงามๆ ให้กับพ่อค้าโปรตุเกสในยุคทอง ได้แก่ น้ำตาล (ผลิตโดยอาณานิคมในอเมริกาใต้) ทองคำ (แอฟริกา) และเครื่องเทศ (เอเชีย) ก่อนจะขายได้เราต้องล่องเรือไปให้ถึงพื้นที่ที่เราอยากจับจองเป็นอาณานิคม มีทรัพยากรคนและเรือมากพอ (อย่างน้อย 2 คนในลิสบอน และเรือ 1 ลำในพื้นที่ที่จะตั้งอาณานิคม) จากนั้นจ่ายเงินแล้วเอาแผ่นอาณานิคมนั้นๆ มาอยู่กับตัว

boardgamegeek.com

แผ่นอาณานิคมให้สิทธิเราขาย ‘วัตถุดิบ’ ที่ผลิตโดยอาณานิคมในพื้นที่ แต่ถ้าจะขาย ‘สินค้า’ (จากการแปรรูปวัตถุดิบนั้นๆ) เราต้องใช้อีกแอ็กชั่นสร้าง ‘โรงงาน’ ผลิตสินค้า ซึ่งเราสามารถสร้างโรงงานสินค้าชนิดใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องไปตั้งอาณานิคมผลิตวัตถุดิบชนิดนั้นก่อน

ยิ่งเราขายวัตถุดิบเข้าตลาดมากเท่าไหร่ ราคาตลาดของมันยิ่งลดลง แต่ในทางกลับกันยิ่งราคาวัตถุดิบลดลง ราคาสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากวัตถุดิบนั้นๆ ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น (วัตถุดิบขาดตลาด ทำให้สินค้าแพงกว่าเดิม) ดังนั้นความสนุกส่วนหนึ่งในเกมจึงอยู่ที่การวางแผนว่าจะทำอาณานิคมวัตถุดิบอะไร สร้างโรงงานผลิตอะไร และจากนั้นก็คอยตามดูและคาดเดาการซื้อ-ขายของผู้เล่นคนอื่นๆ เพื่อมองหาโอกาสเก็งจังหวะขายวัตถุดิบหรือสินค้าที่เราจะได้กำไรสูงสุด

(กติกาใน Navegador ไม่อนุญาตให้เราทำกำไรแบบจับเสือมือเปล่า นั่นคือ ทั้งซื้อและขายวัตถุดิบและสินค้าชนิดเดียวกันในตาเดียวกัน) 

คะแนนใน Navegador นับครั้งเดียวตอนจบเกม คะแนนมาจากหลายทางด้วยกันไม่ว่าจะเป็นการต่อเรือ สร้างอู่ต่อเรือ (ลดต้นทุนการต่อเรือแต่ละลำ) สร้างโบสถ์เผยแผ่ศาสนาคริสต์ในอาณานิคมโปรตุเกส (ลดต้นทุนการจ้างคนทำงาน) สร้างอาณานิคม สร้างโรงงาน การสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ ในทะเล ฯลฯ แต่วิธีทำคะแนนทั้งหมดนี้ต้องแลกมาด้วยเงิน รวมถึงการส่งคนเข้าวังไปประจบประแจงกษัตริย์ เพื่อเอา ‘royal favor’ หรืออภิสิทธิ์จากวัง ซึ่งรูปธรรมในเกมนี้ก็คือแผ่นตัวเลขที่จะเอามาเพิ่มตัวคูณคะแนนตอนจบเกม และตอนเลือกอภิสิทธิ์ก็จะได้โบนัสเงินสดด้วย

boardgamegeek.com

ในเมื่อวิธีทำคะแนนทุกวิธีต้องใช้เงิน และวิธีได้เงินหลักๆ ก็คือการขายน้ำตาล ทองคำ เครื่องเทศ ไม่ว่าจะในรูปของวัตถุดิบหรือสินค้าสำเร็จรูป Navegador จึงบังคับให้เราทำตัวเป็นพ่อค้าที่ทั้งต้องวางแผนระยะสั้นและมองการณ์ไกลในระยะยาว แอ็กชั่นในเกมนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรเมื่อไรก็ได้ที่ต้องการ แต่ใช้ระบบ rondel คือเลือกแอ็กชั่นจากรอบหน้าปัด ถ้าจะเลือกแอ็กชั่นที่ไกลจากแอ็กชั่นเดิมมากกว่า 3 ช่อง ต้องทำลายเรือในทะเลซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก ดังนั้นการวางแผนว่าจะทำอะไรก่อนหลังดีจึงเป็นกลยุทธ์ที่ขาดไม่ได้ในเกมนี้

Navegador เป็นเกมที่เรียบง่ายแต่เอาชนะไม่ง่าย สื่อสารหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานเรื่องอุปสงค์-อุปทานได้อย่างสง่างามผ่านกลไกตลาดเรียบหรู และเป็นเกมเศรษฐศาสตร์น้อยเกมที่จบได้ภายในเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงถ้าเล่นครบ 5 คน การแข่งขันเข้มข้นในทุกมิติเพราะทุกอย่างมีจำกัดตั้งแต่จำนวนอาณานิคมในแต่ละพื้นที่ จำนวนโรงงาน เรื่อยไปจนถึงจำนวนอภิสิทธิ์จากวัง ธีมของเกม และระบบทุกระบบสอดรับประสานกันอย่างกลมกลืน เล่นได้ไม่รู้เบื่อไม่ว่าจะกลับมาเล่นใหม่กี่รอบ

สิ่งที่ผู้เขียนมองว่าเป็นจุดอ่อน หรืออย่างน้อยก็เป็นเรื่อง ‘น่าเสียดาย’ เพียงข้อเดียวเท่านั้นของ Navegador คือด้านกลับของจุดแข็งของเกม นั่นคือ เกมนี้ช่วยให้เรามองเห็นประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจสูงลิบของโปรตุเกสในยุคทองอย่างเด่นชัด แต่กลบเกลื่อน ‘ต้นทุน’ ทางสังคมสูงลิบที่อยู่เบื้องหลังประสิทธิภาพของเจ้าอาณานิคมยุโรปทุกประเทศ

นั่นคือ ต้นทุนของการรุกรานและล่าอาณานิคมในพื้นที่ห่างไกล ฉวยใช้ช่วงชิงทรัพยากรของชนชาติอื่นโดยไม่ขออนุญาต ปราบปรามและกดขี่บีฑาชนพื้นเมืองอย่างรุนแรง

เรายังคงต้องรอบอร์ดเกมที่จะนำความรุนแรงทางประวัติศาสตร์มาสร้างเป็นกลไกเกมที่โดดเด่นและเรียบง่าย–เรียบง่ายไม่แพ้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและกลไกตลาดที่เกมอย่าง Navegador ช่ำชองแต่ก็ต้องแลกมาด้วยการมองข้ามความรุนแรงของลัทธิล่าอาณานิคม

boardgamegeek.com

Writer

นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน ที่สนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ธุรกิจที่ยั่งยืน การเงินเพื่อสังคม และสิทธิเสรีภาพออนไลน์ สฤณีเรียกตัวเองอย่างภาคภูมิใจว่า “เกมเมอร์” โดยเล่นเกมมาแล้วหลายพันเกมตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งเกมตู้ เกมคอมพิวเตอร์ และบอร์ดเกม ช่วงทศวรรษ 1998-2008 สฤณีมีชื่อเสียงระดับโลกในวงการเกมเมอร์ในฐานะผู้ก่อตั้งและรันเว็บไซต์ Home of the Underdogs กรุเกมเก่าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น ซึ่ง ณ จุดสูงสุดมีเกมให้ดาวน์โหลดมากกว่า 4,000 เกม ส่องประสบการณ์การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ของเธอได้จากเพจ Fringer on Computer Games และบอร์ดเกมได้จากเพจ Fringer on Board Games

Illustrator

Just another graphic designer

You Might Also Like