Everything Has Own Story
Memoriesbrand ร้านเสื้อผ้าวินเทจในบ้านหลังเล็ก ที่เกิดขึ้นจากความหลงใหลล้วนๆ
ว่ากันว่าเทรนด์แฟชั่นหมุนเปลี่ยนเป็นวงกลม อะไรที่เคยฮิตในยุคก่อนก็กลับมาฮิตอีกครั้ง ยังไม่นับว่าบางไอเทมนั้นไร้กาลเวลา จึงไม่แปลกถ้าหลายคนจะสนุกกับการแต่งตัวแบบวินเทจ หรือสวมใส่เสื้อผ้าเก่าที่มีดีไซน์ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีเรื่องราวความเป็นมาในแต่ละชิ้น
ถ้าอยากสัมผัสกลิ่นอายความวินเทจและสินค้าที่มีเอกลักษณ์ ห่างจากรถไฟใต้ดินสถานีศูนย์วัฒนธรรมไม่กี่นาที ลัดเลาะเข้าสู่รัชดาซอย 10 แยก 11-4 เกือบสุดซอย ซึ่งเป็นที่ตั้งของคลังเสื้อผ้าวินเทจและของที่น่าสนใจในขนาด 1 ห้องแถวที่ปกคลุมไปด้วยร่มไม้ และภายในอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวของสินค้าแต่ละชิ้นอย่างลงตัวในชื่อ Memoriesbrand สถานที่ซึ่งรวบรวมเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน หรือไอเทมต่างๆ มากมาย
ณ สถานที่แห่งนี้ ไม่ใช่ที่ที่ใครจะเดินผ่านหรือบังเอิญเจอได้ง่ายๆ แต่เป็นสถานที่ที่ทุกคนล้วนตั้งใจมา
“ปีหน้าผมจะจดทะเบียนบริษัทแล้วครับ” เต๋า–นพเก้า เหมวิจิตร ผู้ก่อตั้ง Memoriesbrand บอกกับเราเป็นสิ่งแรกก่อนจะเริ่มการพูดคุย
ด้วยความที่ Memoriesbrand มีอายุอานามกว่า 7-8 ปี และเป็นที่รู้จักในแวดวงวินเทจเลิฟเวอร์อย่างมาก เหตุใดจึงมีแผนจดทะเบียนบริษัทอย่างจริงจัง
สำหรับคำตอบนี้ คงต้องย้อนไปยังจุดเริ่มต้น เต๋าเล่าว่า เดิมทีตนเองก็เป็นเพียงมนุษย์เงินเดือนปกติทั่วไป แต่งตัวตามสมัยนิยมของในเวลานั้น จนวันหนึ่งบังเอิญไปทำธุระแถวเอสพลานาดรัชดา ในช่วงเวลานั้นมีตลาดรถไฟ และได้เจอร้านเสื้อผ้าวินเทจร้านหนึ่ง ซึ่งเป็นวันที่เขาได้รู้จักกับเสื้อผ้าวินเทจเป็นครั้งแรก
“การได้ไปตลาดนัดรถไฟในครั้งนั้นทำให้เราได้เห็นเสื้อผ้าในแบบที่ไม่เคยเห็น เป็นเสื้อผ้าที่แตกต่าง มีเอกลักษณ์ในตัวเอง จำได้ว่าวันนั้นผมซื้อเสื้อ vintage french workwear หรือเสื้อที่คนงานฝรั่งเศสใส่ เป็นโทนสีน้ำเงินที่ไม่เคยเห็น การตัดเย็บต่างๆ ที่มีความวิจิตรสวยงาม คอบัวใหญ่บรรจบสวย ทั้งหมดเป็นเสื้อผ้าที่เราหาไม่ได้จากร้านทั่วไป จึงทำให้เริ่มรู้สึกชอบ ต่อยอดความรู้ด้วยการศึกษาถึงแหล่งที่มา และพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 8 และต้องการเดินทางสายนี้อย่างจริงจังไปอีกขั้นด้วยการจดทะเบียนบริษัท”
จากความชอบ ผันเปลี่ยนเป็นอาชีพ
ระยะเวลา 5 ปีแรก เต๋ายังคงเป็นพนักงานประจำ ควบคู่กับการเป็นพ่อค้าขายเสื้อผ้าวินเทจมือสอง ที่เน้นการขายเสื้อผ้าที่ตัวเองใส่เป็นหลัก และจึงพัฒนามาสู่การซื้อเสื้อผ้าที่ไม่ใช่ไซส์ตัวเอง ยิ่งขับเคลื่อนแพชชั่นด้านเสื้อผ้าวินเทจให้ทวีคูณขึ้น ประกอบกับรายได้จากการขายของก็ไม่ต่างจากพนักงานประจำมากนัก จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้เขาตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง
ด้วยความหลงใหลในเสื้อผ้าวินเทจ เต๋าเริ่มศึกษาที่มาของสินค้าแต่ละชิ้นอย่างลึกซึ้ง ทำให้รู้ว่าเสื้อผ้าเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อทหารที่อิงกับเรื่องสงครามและปัญหาต่างๆ ในแต่ละประเทศว่าทำไมเขาถึงรบกัน เสื้อผ้าที่สะท้อนสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของผู้คนในยุคนั้น โดยเรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นที่มาของคอนเซปต์ร้าน
“Memoriesbrand มีคอนเซปต์ว่า Everything Has Its Own Story สินค้าทุกชิ้นมีเรื่องราว ทุกอย่างมีเรื่องเล่า ยิ่งเราอยู่กับสิ่งเหล่านี้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งศึกษาและหลงใหลมากเท่านั้น การที่เรารู้ถึงกระบวนการความคิด ความเป็นมา เบื้องหลังการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุต่างๆ มันชัดเจนว่าเราต้องการทำสิ่งนี้ต่อไป” เต๋าเล่า
สนุกจนลืมเหนื่อย
เชื่อว่าสำหรับทุกคนแล้ว การได้ทำในสิ่งที่ชอบคือสิ่งที่ดีที่สุด กับเต๋าเองก็เช่นกัน แม้จะเหนื่อยจนสายตัวแทบขาดกับงานประจำ แต่ความเหนื่อยนี้ก็ถูกลดทอนด้วยความสนุกของการเป็นพ่อค้าเสื้อผ้าวินเทจในเวลาเดียวกัน
“ตอนนั้นทำงานประจำวันจันทร์ถึงศุกร์ พอถึงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็เป็นเวลาของงานอดิเรก ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อย แต่ขณะเดียวกันก็สนุกจนลืมเหนื่อยไปเลย ในวันหยุดผมจะตื่นเช้ามากกว่าวันทำงานเพื่อไปสวนจตุจักร เพื่อตามหาของเก่าวินเทจโดยอยู่ตั้งแต่เช้าตรู่ถึงเย็น ไม่ใช่ว่าเราอยากไปเพื่อแย่งชิงของกับคนอื่นแต่เราไปเพราะอยากไปจริงๆ และรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อต้องไปหาของ ซึ่งบางครั้งก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหาอะไร เราแค่คุ้ยหาไปเรื่อยๆ
“ผมทำอย่างนั้นอยู่ 5 ปีก่อนจะตัดสินใจมาทำร้านเต็มตัว เพราะเวลาที่เราเสียไปกับงานประจำก็ไม่น้อย ครั้นจะให้จริงจังกับงานประจำเพื่อดันให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นก็ยาก เลยกลายเป็นทางแยกที่ต้องถามตัวเองว่า จริงๆ แล้วเราชอบอะไร หรืออยากทำอะไรในอนาคต”
ทำงานประจำ ขายเสื้อผ้าวินเทจ และการศึกษาค้นคว้าข้อมูล กลายเป็นสิ่งที่วนเวียนอยู่ในชีวิตของเต๋ามากว่า 5 ปี
“วันนั้นที่ตัดสินใจลาออกก็เป็นการตัดสินใจที่ยากวันหนึ่งในชีวิต เราเข้าใจในความเสี่ยง ว่าการทำธุรกิจตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีรายได้อะไรมารองรับ และรู้ว่าแค่ขยันยังไม่พอ เพราะต่อให้ขยันสุดๆ ก็อาจมีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะขายไม่ได้เลย บวกกับเศรฐกิจที่ไม่ค่อยดีนัก วันนั้นก็เป็นวันที่ตัดสินใจยาก แต่เราก็ตัดสินใจเลือกเส้นทางของตัวเอง และค่อยๆ ทำร้านนี้ขึ้นมา”
เมื่อเทียบกับคนรุ่นเดียวกัน เต๋าถือว่าเป็นหนึ่งคนที่ไปได้สวยกับการทำงานประจำ “ตอนนั้นอายุประมาณ 22-23 ปีเป็นวัยที่รู้สึกว่าถ้าจะล้มก็ล้มได้เลย ยังมีเวลาให้แก้ตัว รู้ว่าถ้าเลือกทางงานประจำนี้จะดี แต่อีกทางเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผลลัพธ์จะเป็นยังไง แต่สิ่งที่รู้แน่ๆ คือรู้ว่าชอบ ผมกล้าเสี่ยง และรักมัน ทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนที่เราต้องจริงจัง”
“ตอนเริ่มคิดจะทำธุรกิจจริงจัง ด้วยความที่ผมเรียนด้านการตลาด การบริหาร และโลจิสติกส์มา ซึ่งตอนนั้นผมทำอยู่ที่บริษัทสัญชาติเยอรมัน ดูแลเรื่องการนำเข้าส่งออกชิ้นส่วนหรืออะไหล่ต่างๆ เลยพอมีความรู้เล็กๆ น้อยๆ ติดตัวมาด้วย”
นับตั้งแต่ปักหมุดเปลี่ยนเข็มทิศตัวเองเลือกเส้นทาง และเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำตามความฝัน ลงลึกกับความชอบเสื้อผ้าวินเทจอย่างลึกซึ้ง และพบว่าการทำธุรกิจของตัวเองไม่ง่าย
“ตอนแรกที่ทำ เราไม่ได้มองเรื่องตลาดเลย เราโฟกัสที่ตัวเอง ใช้ความชอบหลัก เรารู้ว่ามันจะยาก จริงๆ เรื่องคู่แข่งถ้ามองจากภายนอกเหมือนจะมีคู่แข่งน้อย แต่ความเป็นจริงตลาดนี้ก็มีผู้เล่นในฝั่งของคนขายเยอะประมาณนึง แต่ด้วยความที่ธุรกิจนี้ไม่มีต้นแบบหรือร้านที่ทำแบบจริงจังมากนัก การสร้างแบรนด์และการบริหารก็เป็นเรื่องใหม่ที่ท้าทายอยู่ไม่น้อย”
เต๋าอธิบายความยากในการเริ่มต้นธุรกิจว่าไม่ได้เอาเรื่องคู่แข่งมาคิดเลย เพราะใช้แพสชั่นในการทำธุรกิจเป็นหลัก เน้นแข่งกับตัวเอง พยายามศึกษาเกี่ยวกับเสื้อผ้าวินเทจอยู่ตลอด จนทำให้เรื่องราวเหล่านี้อยู่ในหัว และไม่สามารถเอาออกได้จนถึงทุกวันนี้
หากถามว่าอาการหลงใหลของวินเทจเป็นหนักแค่ไหน ก็คงหนักขนาดที่ว่า
“ผมนอนข้างกองผ้าแล้วหลับไปเลย ในขณะที่มือก็จับผ้าอยู่ ”
นอกจากการบาลานซ์ระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวแล้ว ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเขาต้องเผชิญกับปัญหาที่หลายธุรกิจเจอ นั่นคือโควิด ที่ทำให้เขาไม่สามารถออกเดินทางเพื่อตามหาเสื้อผ้าใหม่ๆ ได้
เต๋าจึงใช้โอกาสนี้เปลี่ยนบ้านที่อยู่ในปัจจุบันให้เป็นโชว์รูมร้านเสื้อผ้าวินเทจเล็กๆ ที่แม้ว่าจะไม่มีลูกค้ามาซื้อหน้าร้าน แต่การรีโนเวตครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมและทำควบคู่ไปกับการบริหารคลังสินค้าให้รองรับกับการขายออนไลน์มากขึ้น
“พอมีโควิดเข้ามาผมว่าทุกคนก็ช็อกกันหมดรวมถึงผมเองด้วย หลังจากที่ตั้งสติได้ สิ่งแรกที่คิดที่จะทำในเวลานั้นคือการทำแบรนดิ้งควบคู่ไปกับการทำระบบ จัดสต็อกของ มีการแยกประเภทสินค้า ทำรหัส SKU (stock keeping unit) ให้ละเอียดมากขึ้น พัฒนาระบบหลังบ้านทั้งหมดเท่าที่จะสามารถทำได้ ณ เวลานั้น รวมถึงการปรับพื้นที่ภายในบ้านบริเวณชั้น 1 ให้เป็นโชว์รูมย่อมๆ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับลูกค้าในอนาคตได้ ”
ใช้เวลารีโนเวตอยู่สักพัก Memoriesbrand ที่มีหน้าร้านก็ถือกำเนิดขึ้น ในช่วงแรกยังเป็นการขายออนไลน์เป็นหลัก เน้นการขายส่งให้ลูกค้าในต่างประเทศที่ต้องการซื้อเสื้อผ้าเราเพื่อไปขายต่อซะส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่หลายคนมักมองว่าเป็นศูนย์กลางของเสื้อผ้าวินเทจ ซึ่งจริงๆ แล้วสินค้าบางส่วนก็มาจากบ้านเรา ส่วนการขายให้คนไทยในช่วงนั้นเน้นเป็นการขายปลีกออนไลน์ พอเริ่มมีระบบการขายส่งที่ดี ทำให้ในช่วงโควิดร้านมียอดขายพีคที่สุดเท่าที่เคยทำมา
หลังจากนั้นเต๋าและทีมงานก็เริ่มศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าอย่างจริงจัง ปรับกลยุทธ์ไปสู่ออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากสถานที่ตั้งของร้านไม่ใช่จุดที่คนพลุกพล่านหรือจะบังเอิญผ่านมาเห็น จึงต้องใช้โซเชียลมีเดียเพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก
แบ่งลูกค้าตามความชอบผ่านอินสตาแกรม
ด้วยความที่ Memoriesbrand ขายผ่านทางอินสตาแกรมเป็นหลัก หลายคนอาจไม่รู้ว่า ภายใต้แบรนด์ Memoriesbrand มีแอ็กเคานต์อินสตาแกรมมากถึง 5 แอ็กเคานต์ ถ้าคุณเป็น 1 ในสาวกของวินเทจเชื่อว่าอย่างน้อยต้องฟอลโลว์สักแอ็กเคานต์ “ปัจจุบันเรามีสินค้าหลากหลายที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม หากมองในมุมของผู้บริโภคสมมติว่าเขาเป็นผู้หญิงที่ชอบเสื้อผ้าวินเทจ การติดตามอินสตาแกรมหลักกว่าจะเจอสินค้าที่ชอบอาจใช้เวลานานจนไม่อยากซื้อ เราจึงแยกหมวดหมู่สินค้าออกเป็น 5 แอ็กเคานต์ ประกอบด้วย แอ็กเคานต์หลักเป็นของวินเทจแรร์ไอเทม แอ็กเคานต์สำหรับผู้ชายที่มีงานออกแบบที่สวย แอ็กเคานต์สำหรับผู้หญิงที่หลงใหลในการแต่งตัว และแอ็กเคานต์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์สำหรับคนที่ชื่นชอบกิจกรรมกลางแจ้งและการแต่งตัวในแนวนี้ และแอ็กเคานต์ของตกแต่งบ้านต่างๆ”
หากมองในมุมการตลาด การมีอินสตาแกรมหลายช่องทางทำให้แบรนด์รู้ว่าลูกค้ามีความหลากหลายแค่ไหน แบรนด์ไหนได้รับความนิยม เช่น ลูกค้าที่ติดตามแอ็กเคานต์สินค้าเอาต์ดอร์ ชอบไปแคมป์ปิ้ง จะเอนเกจกับแบรนด์จำพวก The North Face, L.L.Bean, Patagonia ฯลฯ ที่สุด ส่วนของผู้หญิงก็ชัดเจนว่าชอบเสื้อผ้าวินเทจที่กระแสแฟชั่นหน่อยๆ หรือในแอ็กเคานต์หลักที่รวมของหายาก ของแรร์ไอเทม ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ชอบสินค้าวินเทจอยู่แล้ว ซึ่งการแยกแอ็กเคานต์จะช่วยให้ลูกค้ารู้ว่าควรติดตามแอ็กเคานต์ไหนที่เหมาะกับสไตล์ตัวเองมากที่สุด
ทุกชิ้นในร้านผ่านการคัดสรรมาเป็นอย่างดี
เมื่อความชอบของแต่ละคนแตกต่างกัน ความยากจึงตกอยู่ที่เจ้าของร้าน ว่าจะทำยังไงให้คัดเลือกสินค้าในสไตล์ต่างๆ มาไว้ในร้านได้ในสัดส่วนที่พอดี
“เราแตกต่างจากร้านเสื้อผ้าอื่นๆ เพราะเรามักจะไม่ซื้อเป็นกระสอบ ทุกชิ้นในร้านล้วนผ่านมือเรามาแล้วทั้งนั้น ทำให้ราคาต้นทุนสูงกว่าในท้องตลาดที่ขายเป็นกระสอบ ผมจะคัดก่อนว่าสินค้าแต่ละชิ้นเป็นรุ่นที่ต้องการไหม มีตำหนิมากน้อยแค่ไหน มีเรื่องราวอะไรที่น่าหลงใหล น่าสนใจบ้าง หลังจากนั้นจะส่งต่อให้บริษัทมืออาชีพเรื่องการทำความสะอาด เพื่อให้สินค้าพร้อมใส่มากที่สุด ลูกค้าไม่ต้องกังวลเรื่องความสกปรกเลยครับ”
เต๋าเสริมถึงวิธีคัดเลือกสินค้าในร้านว่า “ทางร้านพยายามเลือกสินค้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ไม่ซ้ำใคร และมีความเฉพาะตัวสูง บางอย่างอาจเป็นของที่ไม่เคยเห็น ก็ต้องหาข้อมูลเพิ่ม แต่จะใช้เซนส์และสายตาที่เห็นแล้วรู้สึกว่าของชิ้นนี้มีเรื่องราว และสามารถเชื่อมโยงกับประวัติความเป็นมาได้”
Good Product, Good Story
ด้วยประสบการณ์การตามล่าของวินเทจมากว่า 8 ปี ทำให้เต๋ามีดีลเลอร์และคอนเนกชั่นจากทั่วโลก บางครั้งบางชิ้นสามารถสั่งออนไลน์ได้ แต่บางชิ้นการไปเห็นด้วยตา สัมผัสด้วยมือ และฟังเรื่องราวจากบุคคลที่รู้จริงย่อมดีกว่าเป็นไหนๆ
เต๋าเล่าว่า “โดยปกติจะหาข้อมูลเกี่ยวกับของวินเทจใน 3 วิธีหลักๆ คือ อินเทอร์เน็ต หนังสือ และประสบการณ์ ซึ่งหลายอย่างก็ไม่มีในหนังสือ เสิร์ชในอินเทอร์เน็ตก็ไม่เจอ ดังนั้นการได้คุยกับคนที่มีความรู้จริงๆ ย่อมดีกว่า เพราะไม่ใช่ทุกอย่างที่เราจะค้นคว้าได้เองจากอินเทอร์เน็ต ยังมีดีเทลเล็กๆ ที่ไม่ถูกระบุไว้ในตำราเล่มไหน แต่อยู่ในสมองของคนคนนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อไปถึงหน้างานก็ต้องฟังหูไว้หู หรือเก็บข้อมูลที่ได้นำมาศึกษาต่อ แล้วนำความรู้ทั้งหมดมาต่อจิ๊กซอว์ให้สมบูรณ์แบบ”
กว่าจะได้ของวินเทจมารวมไว้ในร้านเล็กๆ แห่งนี้ ต้องเสาะแสวงหาจากหลายแหล่ง ล่าสุดเต๋าเดินทางไปตามชนบทในทวีปยุโรปในหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ไปประเทศฝรั่งเศสเพื่อพบดีลเลอร์วินเทจและตามล่าหาของ หรือบุกโกดังที่เปิดมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ในอิตาลี โดยออกเดินทางตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศอิตาลี ไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ ถึงมิลาน และลิยง ปารีส และอีกมากมาย ในแต่ละที่ที่ไปเขาได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้คนในสถานที่นั้นๆ ดำดิ่งไปกับเรื่องราวของของแต่ละชิ้น ทำให้ในทุกทริป Memoriesbrand ได้ของติดไม้ติดมือกลับมาเพียบ
คุณได้เรียนรู้อะไรจากการเดินทางหลายประเทศ “เสื้อผ้าเป็นเครื่องแต่งกายที่บ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศนั้นๆ ซึ่งผมดันหลงใหลกับความเป็นเอกลักษณ์เหล่านั้น ชอบในกระบวนการความคิดและดีไซน์ ชอบที่ใส่แล้วมีเอกลักษณ์ ทำให้เราเป็นตัวเอง ไม่มีกรอบของการแต่งตัว และเวลาเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ เจอของใหม่ๆ ก็ยังตื่นเต้นอยู่ตลอด เราแทบไม่เคยเบื่อกับเรื่องเหล่านี้เลย”
จากความตั้งใจดังกล่าว อดทำให้เราสงสัยไม่ได้ว่า ในพาร์ตของธุรกิจคุ้มค่ากับที่ลงทุนไปหรือไม่
“ก็พออยู่ได้ครับ อนาคตเราอาจจะไม่ได้เป็นคนรวยอะไรมากมาย แต่ว่ามันก็ทำให้ธุรกิจเติบโตในแบบที่ควรจะเป็น”
หากใครอยากเห็นการเดินทางของเต๋า สามารถรับชมได้ที่ YouTube: Memoriesbrand
การเริ่มต้นธุรกิจด้วยแพสชั่นเป็นเรื่องดี แต่พอถึงจุดนึงแพสชั่นอาจไม่พอ เต๋าก็คิดไม่ต่างกัน
“ที่เราอยู่ได้มาจนถึงวันนี้ เพราะเราพยายามที่จะเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอครับ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก (ก ไก่ล้านตัว เต๋าย้ำ) ถ้าไม่มี 2 สิ่งนี้ ในวันหนึ่งผมอาจกลายเป็นคนที่เข้าใจว่าตัวเองรู้ไปหมดทุกอย่าง เป็นคนน้ำเต็มแก้ว ซึ่งมันไม่ดีและมันก็จะทำให้ธุรกิจและตัวผมเองไม่เติบโตด้วย”
ฟังถึงตรงนี้เราสงสัยว่าแล้วเขาปรับตัวยังไง
“คำว่าปรับตัวของผมคือทุกๆ อย่างเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้า รูปแบบการขายรวมถึงการนำเสนอสินค้าในรูปแบบใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น การทำยูทูบ เมื่อก่อนผมก็เป็นคนนึงที่ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าออกกล้อง ไม่กล้าพูด ไม่กล้าถ่ายรูป แต่ด้วยเรารู้ถึงวัตถุประสงค์ที่อยากให้ธุรกิจเติบโต ผมก็พยายามเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับบริบทในช่วงเวลาต่างๆ”
ของทุกชิ้นมีเรื่องราว
หลายที่มักบอกว่าของวินเทจต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีลงไป ถ้านับจากตอนนี้ก็คงเป็นของที่มีอายุน้อยกว่าปี 2003 เต๋าบอกเราว่า จริงๆ แล้วตนเองไม่ค่อยโฟกัสกับคำว่าวินเทจหรือการนับปีเท่าไหร่ เพราะของแต่ละชิ้นมีเรื่องราวและมูลค่าของตัวเองอยู่แล้ว ถ้าเป็นของที่ไม่ผลิตซ้ำหรือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่วนตัวผมแล้ว ผมว่าของเหล่านั้นก็น่าหลงใหลแล้วละครับ
ก่อนจะจบบทสนทนาที่ว่าด้วยเรื่องของวินเทจ เต๋าเกริ่นถึงอนาคตอันใกล้ของ Memoriesbrand ให้ฟังว่า “ปีหน้ามีแพลนจะเพิ่มสาขา ขยับเข้าไปอยู่ในเมือง เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนใหม่ๆ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่เซ็นทรัลชิดลม และอาจที่อื่นๆ เพิ่มเติม”
และในก้าวต่อไปของอนาคตอันไกล Memoriesbrand มีแผนขยายไปสู่กลุ่มสินค้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหอมท้องถิ่น รวมถึงแบรนด์เสื้อผ้าท้องถิ่นในแต่ละประเทศที่ไป ของแต่งบ้าน รองเท้า งานคราฟต์ต่างๆ และสินค้าอื่นๆ ที่มีเอกลักษณ์ ที่เราเลือกและคัดสรรให้มาอย่างดีที่สุด ในแบบฉบับของ Memoriesbrand
“เราอยากเป็นอีกสถานที่ของคนที่มีความชอบแบบเดียวกัน อยากให้ลูกค้าที่มาร้านสามารถพูดคุยกันได้อย่างเป็นธรรมชาติแม้จะไม่รู้จักกันมาก่อน เป็นร้านของคนที่ชอบสไตล์นี้ มาที่นี่แล้วรู้สึกเหมือนได้เจอเพื่อน”
ก่อนจากกันเราชวนให้เต๋าเลือกสินค้าในร้าน 3 ชิ้นที่มีเรื่องราวและรู้สึกภูมิใจ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
“จริงๆ แล้วของทุกชิ้นในร้านน่าสนใจและมีเรื่องราวทุกชิ้นเลยครับ แต่ถ้าให้เลือกสัก 3 ชิ้นในร้าน ผมแบ่งออกเป็น 3 หมวดใหญ่ๆ นะครับ ชิ้นแรกเป็นชิ้นที่มีความผูกพันกับเรื่องราวการเดินทางส่วนตัว ชิ้นที่ 2 เป็นเรื่องราวประวัติของสินค้าที่สอดคล้องกับแบรนด์ และชิ้นที่ 3 เป็นที่มาและความหมายในการสร้างของชิ้นนั้นขึ้นมาละกันนะครับ”
“เริ่มต้นด้วยชิ้นแรกเป็นกางเกงผ้าคอตตอนสีขาวที่ผมได้ที่ร้านขายของเก่าประเทศญี่ปุ่น พอผมลองใส่แล้วมันพอดีมากๆ ทั้งขนาดเอวและความยาว ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ยากประมาณนึงเลยครับในการเจอกางเกงวินเทจที่มีขนาดที่พอดีกันตัวเองขนาดนี้ เมื่อได้สัมผัสเนื้อผ้าแล้ว จากประสบการณ์ผมคิดว่ากางเกงตัวนี้ผลิตในปี 1940 เป็นแบรนด์สปอร์ตในยุคนั้น ด้วยความเก่าและสภาพของเนื้อผ้าที่ค่อนข้างจะบาง กางเกงตัวนี้อาจจะไม่ใช่กางเกงที่สามารถใส่ได้ในทุกวัน แต่ทุกครั้งที่ได้จับกางเกงตัวนี้มาใส่ผมก็จะมีภาพความทรงจำในช่วงเวลานั้นอยู่เสมอครับ
ราคาถ้าจำไม่ผิดน่าจะประมาณ 1,500 บาท จริงๆ แล้วไม่ใช่กางเกงที่มีราคาแพงหรือคนส่วนใหญ่นิยมอะไรเลย แต่เป็นกางเกงที่ได้มาด้วยความบังเอิญตอนผมอยู่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เมืองที่ผมตัดสินใจเดินทางคนเดียวใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นประมาณ 3 เดือน
เหตุผลที่ผมตัดสินใจไปอยู่ญี่ปุ่นในตอนนั้นก็เพื่อเรียนภาษาญี่ปุ่น เพราะผมรู้ว่าฐานลูกค้าต่างชาติของเราส่วนหนึ่งเป็นลูกค้าคนญี่ปุ่น และเราต้องการสื่อสารกับพวกเขาด้วยตัวเอง ผมศึกษาที่ไทยก่อน 3 เดือนและอยู่ที่ญี่ปุ่นอีก 3 เดือน การอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นไม่ใช่ว่าไปเพื่อเรียนรู้ภาษาอย่างเดียวนะครับ ผมอาศัยการเรียนครึ่งวัน และอีกครึ่งวันก็ออกเดินทางไปตามร้านเสื้อผ้ามือสองวินเทจต่างๆ ในญี่ปุ่น การเดินทางในครั้งนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งพฤติกรรม ความชอบ ความต้องการ รูปแบบการขาย และแน่นอนภาษาญี่ปุ่นครับ”
อะไรคือเสน่ห์ของร้านเสื้อผ้ามือสองในญี่ปุ่น
“ผมมองว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ค่อนข้างเปิดกว้างเรื่องการแต่งตัว มีความหลากหลาย และคนญี่ปุ่นที่ผมรู้จัก เวลาเขาชอบหรือทำอะไรสักอย่างเขาจะศึกษาอย่างจริงจังและลึกซึ้ง เคยมีพี่คนนึงเล่าให้ผมฟังว่า เบื้องหลังของวินเทจ บางครั้ง คนญี่ปุ่นบางคนเขาศึกษาลึกลงไปในเส้นทางการเดินทางรบของทหาร เพื่อออกเดินทางตามเส้นทางนั้น เสาะแสวงหาของเก่าของวินเทจ ผมว่านี่มันสุดยอดเลยครับ”
“ชิ้นที่สองเป็น 1940s American Art Hand Drawn Memory Work Jacket ความพิเศษของเสื้อตัวนี้อยู่ที่ลวดลายที่อยู่บนเสื้อ เป็นการเขียนด้วยมือทั้งหมด เพราะเป็นเสื้อที่บันทึกเรื่องราวความทรงจำมากมาย ผมได้มาจากร้านวินเทจในประเทศญี่ปุ่น จากลักษณะของวัสดุต่างๆ แล้วไม่ว่าจะเนื้อผ้า กระดุม การตัดเย็บ คิดว่าน่าจะผลิตในช่วงยุค 1940s หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าลายเส้นแต่ละอันไม่เหมือนกัน แต่ล้วนมีความหมายทั้งหมด นอกจากตัวเสื้อจะมีที่มาที่น่าสนใจแล้วยังมีความใกล้เคียงและสอดคล้องกับแบรนด์ทั้งในแง่ของชื่อ ความหมาย และเสื้อตัวนี้ก็หายากมากขึ้นทุกวัน เป็นเสื้อที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบสุดๆ และแน่นอนครับว่ามันมีแบบนี้ ลายนี้ แค่ตัวเดียวในโลกเท่านั้นครับ”
เดินทางมาถึงชิ้นสุดท้ายแล้ว ชิ้นนี้จะเป็น Cir. 1940’s Military ‘We Welcome You’ cotton flag ธงที่น่าจะอยู่ในประมาณช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นธงที่เหล่าผู้คนในช่วงเวลานั้นประดับไว้ต้อนรับเหล่าทหารที่เดินทางกลับมาที่หมู่บ้าน
“สำหรับธงผืนนี้ ผมยกให้เป็นธงประจำร้านเลยครับ ส่วนตัวผมชอบทั้งตัวคำพูด ที่เมื่อลูกค้าเห็นข้อความ We Welcome You ที่หน้าประตูก็สามารถทำหน้าที่ในการต้อนรับลูกค้าที่เข้ามาในร้าน เขาจะรู้สึกถึงความเป็นมิตรว่าเราพร้อมต้อนรับคนที่เข้ามา ไหนจะเรื่องราวและความหมายของธงที่บางครั้งส่วนตัวผมเองเวลาออกไปทำงานตามล่าหาของเหนื่อยๆ กลับมาแล้วเห็นธง ก็เปรียบเสมือนผมไปรบ (ยิ้ม) แล้วกลับเข้าบ้าน เหมือนการต้อนรับกลับบ้านจากการทำงานเช่นกัน ”