นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

What’s Next in Media 

10 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับโฆษณาและโซเชียลมีเดีย เมื่อผู้ประกอบการต้องฝ่าพายุ พิชิตยอดขาย 

หลังบาดเจ็บจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่ทันที่ธุรกิจจะฟื้นตัวได้เต็มที่ ก็ต้องเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจ และสงครามที่ตามมาอีก ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก และอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาก็เป็นหนึ่งในนั้น

ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วราวกับเรือที่ถูกลมพัดอยู่ในทะเล ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องทยอยขึ้นฝั่งและหาจุดยึดให้เร็วที่สุด

เราจึงชวน ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด หรือ MI GROUP มาพูดคุยกันถึงภาพรวมของธุรกิจสื่อโฆษณาออนไลน์และออฟไลน์ในปี 2024 ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด และผู้ประกอบการ นักการตลาดจะมีเทคนิคการทรงตัวยังไงให้อยู่รอดปลอดภัยในปีนี้

1. สื่อดิจิทัลค่อยๆ หายใจรดต้นคอสื่อโทรทัศน์

เมื่อสิ้นสุดปี 2023 ทาง MI GROUP ได้ประเมินตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาไว้ที่ 84,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 4.4% และในปี 2024 คาดการณ์ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาในไทยไว้ที่ 87,960 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 4% โดยมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเติบโตของสื่อออนไลน์ และสื่อนอกบ้าน (out of home)

ภวัตเล่าว่า จริงๆ แล้วในช่วงปลายปี 2022 เราคาดการณ์ว่ามูลค่าโฆษณาไทยจะโต 8-10% เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ที่ดำดิ่งมาหลายปี แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2023 ผู้บริโภคยังมีข้อจำกัดในเรื่องการใช้จ่าย ผู้คนยังไม่มีกำลังซื้อมากนัก ทำให้ในปี 2024 เราคาดการณ์การเติบโตไว้เพียง 4% อยู่ที่ 87,960 ล้านบาท เพราะจากการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทย มีปัจจัยบวกมาจากเรื่องการท่องเที่ยว และดิจิทัลวอลเล็ตส่วนปัจจัยลบมีเต็มไปหมด ทั้งเรื่องหนี้ครัวเรือนที่แตะระดับ 90% ของขนาด GDP ประเทศ ค่าครองชีพสูงขึ้น หรือแม้แต่ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำลง จนทำให้เกษตรกรไม่สามารถซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์สำหรับการเกษตรได้  

ในส่วนของภาพรวมการใช้สื่อ แน่นอนว่าสื่อหลักยังคงเป็นสื่อโทรทัศน์ แต่เม็ดเงินโฆษณากลับมีแนวโน้มลดลงติดต่อกัน ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้ถูกแบ่งไปยังสื่อที่โตขึ้นเรื่อยๆ อย่างสื่อดิจิทัล และสื่อนอกบ้าน ทำให้มูลค่าสื่อโฆษณาตลอดปี 2023 จบที่ 84,549 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • สื่อโทรทัศน์ 36,199 ล้านบาท (ปี 2022–36,726 ล้านบาท)
  • สื่อดิจิทัล 28,999 ล้านบาท (ปี 2022–25,729 ล้านบาท)
  • สื่อนอกบ้าน 12,101 ล้านบาท (ปี 2022–11,002 ล้านบาท)
  • สื่ออื่นๆ (สิ่งพิมพ์ โรงภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุ) 7,250 ล้านบาท (ปี 2022–7,531 ล้านบาท)

จากข้อมูลข้างต้น แม้เวลานี้สื่อโทรทัศน์จะยังเป็นอันดับ 1 ทว่า สื่อดิจิทัลอยู่ในจุดที่หายใจรดต้นคอสื่อโทรทัศน์ ส่วนสื่อประเภทอื่นๆ อย่างสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโรงภาพยนตร์ มูลค่าสื่อโฆษณาค่อยๆ ลดลงไปทุกที หากคนสื่อเหล่านี้ไม่ปรับตัวก็อาจอยู่ไม่ได้ เพราะทุกวันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคล้วนอยู่ในโลกออนไลน์ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ภวัตมองว่ามูลค่าสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ยังไงก็ไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิม เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว

เมื่อเจาะลึกไปยังเม็ดเงินโฆษณาของสื่อออนไลน์ในไทย แน่นอนว่าแพลตฟอร์มภายใต้การดูแลของ Meta อย่าง Facebook และ Instagram ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่แบรนด์นิยมใช้มากที่สุด อาจมีเม็ดเงินโฆษณาอยู่ที่ประมาณ 8,183 ล้านบาท (อ้างอิงจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล) รองลงมาคือ YouTube ที่มีมูลค่าประมาณ 4,700 ล้านบาท คาดว่าปี 2024 เม็ดเงินที่เคยหลั่งไหลเข้าสู่ 2 แพลตฟอร์มนี้จะถูกแชร์ไปยัง TikTok และ affiliate marketing มากขึ้น

2. คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน

เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ เวลานี้พฤติกรรมการใช้สื่อของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างมาก คนทุกเพศทุกวัยถูกบังคับให้ต้องใช้งานดิจิทัลมากขึ้น คนรุ่นใหม่ในกลุ่มเจนฯ Z และเจนฯ Y อาจไม่ต้องปรับตัวเยอะเพราะเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่ตัวแปรสำคัญคือเจนฯ X และ Baby Boomer ที่ต้องเรียนรู้การใช้งานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์มากที่สุด ทั้งการซื้อสินค้า การวิดีโอคอลล์เพื่อสื่อสารกับลูกหลาน หรือแชตคุยกับเพื่อน ส่งสติ๊กเกอร์สวัสดีวันจันทร์ หรือใช้เฟซบุ๊กเพื่อติดตามข่าวสารต่างๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ได้กลายเป็นความเคยชินมาจนถึงตอนนี้

ปัจจุบันคนไทยอยู่กับอินเทอร์เน็ตมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งมากกว่าปี 2022 ที่ใช้ประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน แสดงให้เห็นว่า ผู้คนใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากขึ้นและดูทีวีน้อยลง จากข้อมูลล่าสุดพบว่าทุกวันนี้เราดูทีวีไม่ถึง 3 ชั่วโมงต่อวัน โดยเวลาที่เหลือจึงอยู่ที่หน้าจอมือถือ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ยิงยาวมาตั้งแต่ช่วงโควิด 

3. ทุกเจเนอเรชั่นมีแพลตฟอร์มของตัวเอง

แต่ก่อนเราอาจเคยได้ยินว่าคนรุ่นใหม่ใช้ X (Twitter) เพื่อหนีพ่อแม่ แต่ปัจจุบันคนทุกเจเนอเรชั่นกระจายอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม และแต่ละเจเนอเรชั่นมีคอมมิวนิตี้ของตัวเอง 

“ถ้าถามว่าตอนนี้แพลตฟอร์มไหนมาแรงที่สุด ก็ต้องเป็น TikTok ที่ร้อนแรงมาตลอดตั้งแต่เปิดตัว และสามารถแย่ง eyeball จากแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ แต่ถ้าพูดถึงแพลตฟอร์มที่ทรงพลังที่สุดไม่เคยจางหายคือเฟซบุ๊ก

“ที่น่าสนใจคือพฤติกรรมการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของแต่ละเจเนอเรชั่นก็มีความแตกต่างกัน เช่น กลุ่มเจนฯ Z และเจนฯ Y ในไทยใช้ TikTok เพื่อทำคอนเทนต์ เสพความบันเทิง และไลฟ์ขายของ ใช้ X เพื่อติดตามศิลปินเกาหลี และเกาะกระแสข่าวการเมือง ส่วน Baby Boomer ใช้ไลน์และเฟซบุ๊กเพื่อติดตามข่าวสารและสื่อสารกับคนในครอบครัวและเพื่อน หรือในกรณีที่เป็นสายเกมเมอร์ แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมคือ Discord หรือ Twitch ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มทุกคนก็มีตัวตนและสังคมของตัวเอง”

ดังนั้นในมุมของการทำตลาดและธุรกิจ คุณต้องหาให้ได้ว่าจริงๆ แล้วกลุ่มเป้าหมายอยู่ในแพลตฟอร์มไหน เป็นคนยังไง มีความชอบในเรื่องใด หรือภาษาที่ใช้คุยกันเป็นยังไง แล้วค่อยวางกลยุทธ์การสื่อสารในแพลตฟอร์มนั้น 

4. โซเชียลมีเดียเป็นสื่อกระแสหลัก 

ปัจจุบันโซเชียลมีเดียหรืออินเทอร์เน็ตกลายเป็นสื่อกระแสหลักที่มีอิทธิพลต่อคนไทยอย่างมาก ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ทุกคนต่างมีตัวตนอยู่บนโลกออนไลน์ เมื่อคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น ย่อมได้รับอิทธิพลของโซเชียลมีเดียเต็มๆ 

“เดิมทีคนไทยจะเปิดรับข่าวสารจากโทรทัศน์ จะแสดงความคิดเห็นหรือความชอบโดยมีสารตั้งต้นจากรายการข่าวเป็นหลัก ทำให้ความคิดเห็นมักไปในทางเดียวกัน แต่เดี๋ยวนี้ต่างออกไป เพราะโซเชียลมีเดียได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกระแสหลัก ผู้คนเปิดรับข่าวสารจากออนไลน์ เพราะฉะนั้น กระแสในโลกออนไลน์เป็นไปในทิศทางไหน ผู้คนก็จะคล้อยไปตามทิศทางนั้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ชัดเจนตั้งแต่ช่วงโควิดจนกระทั่งถึงปีนี้” ภวัตอธิบาย

กระแสโซเชียลยังลามไปถึงการช้อปออนไลน์ ที่ผู้บริโภคจะหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต อ่านรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์หรือผู้ใช้งานจริง แล้วค่อยตัดสินใจซื้อ จึงเกิดเป็นโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า affiliate marketing 

5. การใช้อินฟลูเอนเซอร์เปลี่ยนไป จากใช้เพื่อสร้างแบรนด์มาเป็น affiliate marketing

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในกลยุทธ์ที่แบรนด์ต่างๆ ใช้คือ อินฟลูเอนเซอร์เป็นกระบอกเสียงในการสร้าง word of mouth แต่สำหรับในปี 2024 ทิศทางการใช้อินฟลูเอนเซอร์จะเปลี่ยนไป จากการใช้เพื่อสร้างแบรนด์ เป็นการสร้างยอดขาย

ภวัตเล่าว่า “พลังของโซเชียลมีเดียถูกส่งต่อไปถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ถ้าวันนี้นักการตลาดยังทำโฆษณาแบบเดิม ก็อาจอยู่รอดในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วได้ยาก อินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนวิธีการซื้อ-ขายของคนรุ่นใหม่ไปอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้เวลาเราอยากซื้อของก็ต้องหาข้อมูลหรืออ่านรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ก่อน ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ก็จะเชียร์ขายแบบสุดใจขาดดิ้น เพราะทุกการขายของเขาได้ส่วนแบ่ง ทำให้เทรนด์การใช้อินฟลูเอนเซอร์ขยับไปเป็น affiliate marketing”

ปี 2024 คำว่า affiliate marketing จะยิ่งชัดเจนขึ้น งานที่อินฟลูเอนเซอร์ได้รับจะยิ่งละเอียดขึ้น แบรนด์หรือนักการตลาดจะลงดีเทลกับการรีวิวมากขึ้นไปด้วย ทั้งหมดนี้เกิดจากอิมแพกต์ของโซเชียลมีเดีย และสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ 

6. ก่อนขายสินค้าให้ตั้งหลักด้วยคำถามว่า “กำลังขายของให้ใคร”

เมื่อพฤติกรรมการเสพสื่อและการใช้โซเชียลมีเดียของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการหรือคนทำธุรกิจต้องตั้งหลักด้วยคำถามว่า กำลังขายสินค้าให้ใคร เพราะถ้าเล็งกลุ่มเป้าหมายผิด ก็มีโอกาสที่จะขายไม่ได้เลยสักชิ้น เช่น แบรนด์แชมพูที่ทำโฆษณาทางโทรทัศน์หว่านแหไปยังกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ คุณอาจสร้างการรับรู้ได้ แต่จะแน่ใจได้ยังไงว่าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าจริงๆ ในทางกลับกัน ถ้าขายแชมพูโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาที่ไว้ผมยาว คุณจะรู้ว่าควรออกแบบหรือทำโฆษณาบนแพลตฟอร์มไหนให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด และรู้ว่าควรเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์คนไหนที่จะช่วยปิดการขายได้

ดังนั้นผู้ประกอบการต้องทำการบ้านให้ดี ว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง มีการวางแผนและตีโจทย์ให้ได้ว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายหลัก ใครคือกลุ่มเป้าหมายรอง เพราะแต่ละแบรนด์มีงบการตลาดจำกัด การทำโฆษณาแบบ one for all หรือใช้โฆษณาชิ้นเดียวเพื่อเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี อย่าลืมว่าผู้บริโภคแต่ละกลุ่มมีภาษา ความชอบ ความสนใจ และปัญหาแตกต่างกัน คุณต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เพราะปีหน้าผู้บริโภคจะมีความเฉพาะตัวและกระจายตัวไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้น

7. ทำโฆษณาออฟไลน์-ออนไลน์ ถ้าจะให้ดี ต้องทำคู่กัน

แม้ทุกวันนี้เราจะก้าวเข้าสู่โลกการค้าออนไลน์กันมาหลายปี แต่ก็ยังมีคำถามคาใจของนักการตลาดว่า จะทำโฆษณาออฟไลน์หรือออนไลน์ดี ถ้าทำโฆษณาออฟไลน์อย่างเดียวได้ไหม หรือทำออนไลน์อย่างเดียวได้ไหม

ภวัตตอบคำถามนี้ว่า เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะต้องดูว่าเป้าหมายที่ต้องการคืออะไร และทั้งออฟไลน์และออนไลน์ก็มีฟังก์ชั่นการใช้งานต่างกัน ถ้าต้องการสร้าง awareness เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากและรวดเร็วในครั้งเดียวก็ต้องใช้โทรทัศน์หรือสื่อนอกบ้าน แต่ถ้าต้องการกระตุ้นยอดขายก็ต้องใช้แพลตฟอร์มออนไลน์และอินฟลูเอนเซอร์

หากมองในทฤษฎี marketing funnel ที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ upper funnel การรับรู้, middle funnel การดึงดูดความสนใจ และ lower funnel การซื้อ ปีนี้ผู้ประกอบการหรือนักการตลาดยังต้องโฟกัสที่ upper funnel และ middle funnel ต้องสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ รู้จัก และสนใจสินค้าหรือบริการ ซึ่งการทำ TVC ทางโทรทัศน์ หรือยิงโฆษณาออนไลน์ pre-roll ในยูทูบจะทำให้เกิดการรับรู้ได้จริง แต่อาจไม่ทำให้เกิดรายได้ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นหน้าที่ของ lower funnel ที่เน้นการสร้างแคมเปญให้เกิดยอดขาย ทั้งคูปอง ส่วนลด โปรโมชั่น เพื่อคัดกรองกลุ่มเป้าหมายให้เหลือแค่คนที่เป็นลูกค้าจริงๆ 

อย่างไรก็ตาม ในการทำโฆษณาไม่ใช่ว่าทำแค่ช่องทางใดช่องทางหนึ่ง แต่อยากให้มองเป็นช่องทางเดียว ทำออนไลน์และออฟไลน์ไปคู่กัน และมองที่ consumer journey เป็นหลัก 

8. consumer journey ไม่เป็นเส้นตรงเสมอไป

ที่ผ่านมาเราอาจคุ้นเคยกับการทำโฆษณา ยิงแอดเรียกความสนใจ ต้อนคนเข้าเว็บไซต์ ดึงดูดด้วยโปรโมชั่น และเกิดการสั่งซื้อ หรือทำโฆษณาทางทีวี ขึ้นป้ายบิลบอร์ด โปรโมตในหนังสือพิมพ์ เพื่อให้ผู้บริโภคไปห้างสรรพสินค้า และฟัง BA ประจำบูทอธิบายข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำให้เกิดความสนใจ ก่อนจะตบท้ายด้วยโปรโมชั่น

ภวัตเล่าว่า “นี่เป็น consumer journey แบบเดิม แต่ตามตำราของ MI ได้แบ่ง consumer journey ออกเป็น 7A ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการวางกลยุทธ์การสื่อสาร จากภาพจะเห็นว่า consumer journey ไม่ได้เป็นเส้นตรงอีกต่อไป แต่ทุก touch point ล้วนมีความจำเป็นและฟังก์ชั่นการใช้งานที่ต่างกัน โดยแบรนด์ไม่จำเป็นต้องใช้ครบทุก A แต่ควรพิจารณาตามโจทย์ของแบรนด์นั้นๆ” 

7A Consumer Journey ฉบับ MI ประกอบด้วย 

  • Ask: ผู้บริโภคค้นหาข้อมูล เมื่อมีปัญหา แบรนด์ควรมีคำตอบ หรือโซลูชั่นเพื่อตอบปัญหาลูกค้า
  • Aware: สร้างการรับรู้และรู้จักในแบรนด์
  • Associate: แบรนด์เริ่มเป็นตัวเลือกที่จะสามารถตอบความต้องการของผู้บริโภค
  • Appeal: แบรนด์เข้าไปอยู่ในการพิจารณาของลูกค้าแล้ว
  • Act: ผู้บริโภคซื้อหรือลงทะเบียน (take action)
  • Adore: ซื้อแล้วชอบ ใช้แล้วชอบ ใช้แล้วรัก
  • Advocate: ใช้แล้วชอบ ภูมิใจจนอยากบอกต่อ

ปัจจุบันเส้นทางของ consumer journey ไม่ใช่เส้นตรงแบบเดิมเสมอไป แต่ละขั้นตอนสามารถกระโดดไปมาได้ และไม่ใช่เส้นทางที่ผ่านครั้งเดียวแล้วจบ แต่ในบาง touch point อาจต้องย้ำซ้ำๆ เพื่อให้เคลื่อนจากขั้นตอนหนึ่งไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่ง เช่น แบรนด์น้ำยาปรับผ้านุ่มกลิ่นกุหลาบ แรกเริ่มผู้บริโภคอาจยังไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องใช้ แต่เมื่อเห็นโฆษณาจากสื่อนอกบ้านบนบีทีเอส และเห็นอินฟลูเอนเซอร์รีวิวในยูทูบก็ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีความอยากได้ หรือในขั้นตอนที่อยากได้สินค้าแต่ไม่รู้จะซื้อยี่ห้อไหน นักการตลาดต้องทำให้พวกเขารู้ว่าสินค้าของคุณโดดเด่นยังไง ด้วยการ aware สร้างการรับรู้ และการ adore โดยให้อินฟลูเอนเซอร์รีวิวการใช้งาน ซึ่งในแต่ละ touch point นักการตลาดต้องออกแบบและสร้างประสบการณ์ระหว่างทางที่ดี 

9. การทำโฆษณาออนไลน์ต้องมีศาสตร์และศิลป์

สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจและต้องการยิงแอด คนที่ยังไม่เคยทำอาจรู้สึกไม่กล้าที่จะลงเงินซื้อโฆษณาออนไลน์ เกิดความไม่มั่นใจว่าแอดที่ทำอยู่มาถูกทางหรือไม่

“สมมติว่าคุณทำธุรกิจขายกำไลข้อมือสายมู ต้องรู้ก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร หากบอกว่ากลุ่มเป้าหมายคือผู้หญิงที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย มี 2 เรื่องหลักๆ ที่ต้องรู้คือศาสตร์และศิลป์”

ศาสตร์ในที่นี้ ภวัตอธิบายว่า หมายถึงเทคนิคในการตั้งค่าโฆษณา ซึ่งคุณต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายจริงๆ คือใคร ซึ่งบางทีอาจไม่ใช่แค่กลุ่มนักศึกษา แต่คนทั่วไปก็สนใจเรื่องมูเตลูเช่นกัน แทนที่จะโฟกัสเรื่อง demographic ลองเปลี่ยนเป็นการเจาะกลุ่มเป้าหมายตามไลฟ์สไตล์หรือความชอบ คุณต้องหาให้ได้ว่าใครบ้างที่สนใจเรื่องโชคลาง เคยเช็กอินตามวัดดัง หรือแฝงตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มสายมูต่างๆ เพื่อดูว่ากลุ่มเป้าหมายชอบหรือไม่ชอบอะไร ถ้าหาความเชื่อมโยงเหล่านี้เจอ คุณจะรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ได้มีแค่นักศึกษา แต่ยังมีอีกหลายคนที่สนใจเรื่องมูเตลู หลังจากนั้นจึงเป็นเรื่องของการยิงแอด

สำหรับศิลป์ เป็นเรื่องของการทำคอนเทนต์ ความสวยงาม ศิลปะ และภาษา ทำยังไงให้โฆษณาน่าสนใจ และโฆษณาแต่ละชิ้นต้องสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น โฆษณาสำหรับนักศึกษาอาจใช้ภาพและข้อความที่สื่อถึงเรื่องการเรียน ความรัก และโฆษณาสำหรับผู้สูงอายุต้องใช้เน้นเรื่องสุขภาพ อายุยืน ซึ่งบริบทการสื่อสารของคน 2 กลุ่มนี้แตกต่างกัน 

สำคัญที่สุดคือต้องหากลุ่มเป้าหมายให้เจอ อย่าโฆษณาแบบหว่านแห อย่าเพิ่งคิดว่าต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ ให้เริ่มจากการเจาะแค่คนที่ใช่เท่านั้น แล้วพุ่งเป้าไปที่คนกลุ่มนี้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ไม่ต้องใช้เงินเยอะเกินไป 

10. ทำโฆษณาต้องถูกคน ถูกใจ ถูกที่ ถูกเวลา

โดยสรุป คัมภีร์การทำโฆษณาสำหรับปี 2024 ไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์ ต้องถูกคน ถูกใจ ถูกที่ ถูกเวลา 

  • ถูกคน คือหากลุ่มเป้าหมายให้เจอ ทุกวันนี้นักการตลาดไม่ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายว่าต้องเป็นเพศหญิงหรือชาย รายได้เท่าไหร่ แต่จะดูจากความสนใจหรือไลฟ์สไตล์
  • ถูกใจ คือใช้ภาษาเดียวกับกลุ่มเป้าหมาย
  • ถูกที่ คือรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายอยู่ในแพลตฟอร์ม แล้วยิงแอดไปให้ถึง
  • ถูกเวลา คือทำให้พวกเขาเห็นโฆษณาในช่วงที่สนใจ

“สำหรับการทำโฆษณาในปีนี้ บอกเลยว่าไม่ง่าย เพราะคุณไม่ได้เจอแค่คู่แข่งทางตรง แต่ยังเจอคู่แข่งทางอ้อมอย่างสภาพเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือน และกำลังซื้อที่ลดลง ผู้ประกอบการต้องตั้งรับและปรับตัวให้ทัน เตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น ทุกชิ้นงานโฆษณาไม่ว่าจะหน้าบ้านหรือหลังบ้านต้องละเอียดขึ้น” ภวัตกล่าวทิ้งท้าย

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like