meb’s gala
การบริหารความเสี่ยงของ meb แพลตฟอร์มอีบุ๊กที่คนอ่านรักจนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้
เราอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า การทำธุรกิจนั้นไม่มีทางลัด นักธุรกิจหลายคนที่เราเคยคุยกันบอกให้เราต้องศึกษา ลงทุน เดิมพัน ลงมือทำ ถึงล้มเหลวก็ต้องลุกขึ้นใหม่มาทำต่อเรื่อยๆ
meb คือหนึ่งในธุรกิจที่เป็นตัวอย่างนั้นได้ดี จากธุรกิจอีบุ๊กเล็กๆ ที่ก่อตั้งโดย ไช้–รวิวร มะหะสิทธิ์ และ โก๋–กิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม ในปี 2554 meb เริ่มต้นแบบเตาะแตะด้วยสมองและสองมือของผู้ชายสองคนที่รักวงการสิ่งพิมพ์ไทย พวกเขาเห็น pain point ของสำนักพิมพ์และคนทำหนังสือตัวเล็กที่น่าจะมีเหมือนกัน และคิดว่าน่าจะทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขมันได้จากความถนัดด้านซอฟต์แวร์ที่ตัวเองมี
ก่อนหน้านั้นไช้กับโก๋คือเพื่อนร่วมรุ่นจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่เรียนจบแล้วก็อยากมาทำธุรกิจด้วยกัน พวกเขาทำทั้งสำนักพิมพ์ ซอฟต์แวร์พิสูจน์อักษรขายวงการสำนักพิมพ์ และทำซอฟต์แวร์เฮาส์ที่รับผลิตซอฟต์แวร์ทั่วราชอาณาจักร
“พอถึงจุดหนึ่งเราก็คิดว่าสิ่งที่เลี้ยงเราได้จริงๆ คือธุรกิจซอฟต์แวร์เฮาส์ที่เราเหมือนเป็นมือปืนรับจ้าง เราเลยอยากใช้ความรู้ที่มีทำแพลตฟอร์ม จุดนั้นก็ตัดสินใจหยุดธุรกิจเดิมและมาเริ่มตัวใหม่ ซึ่งก็คือ meb” ไช้เล่าย้อนความกลับไป

meb ไม่ได้เป็นบริษัทสตาร์ทอัพ ไม่ได้ก่อตั้งจากการระดมทุน แถมช่วงที่ก่อตั้งยังมีแอพฯ อีบุ๊กน้อยใหญ่เกิดขึ้นมาท้าชนมากมาย แม้จะไร้แต้มต่อทางธุรกิจใดๆ แต่ไช้กับโก๋ก็เชื่อเรื่องการทำธุรกิจอย่างตั้งใจ ค่อยเป็นค่อยไป และทำให้ดี ในความหมายที่ว่าตอบโจทย์ผู้ใช้ให้ได้รับประสบการณ์การอ่านที่ดีที่สุด
วันนี้ผ่านไป 11 ปี meb กลายเป็นแอพฯ ที่ครองใจนักเขียนนักอ่าน สำนักพิมพ์ และคนทำหนังสือแทบทุกคนอยากมาลงอีบุ๊กที่แพลตฟอร์มนี้ แถมยังมีแพลตฟอร์มสุดฮิตอย่าง readAwrite และ LunarWrite เว็บไซต์อ่านนิยายภาษาอังกฤษที่พาวรรณกรรมไทยไปสู่สายตาของนักอ่านทั่วโลก
ที่สำคัญ meb เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อปี 2566 พิสูจน์แล้วว่า การเป็นปลาตัวเล็กที่เอาตัวรอดในมหาสมุทรใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แม้จะค่อยๆ ว่ายแต่ถ้าฝึกว่ายให้ดี ปลาตัวเล็กก็กลายเป็นปลาตัวใหญ่ที่ว่ายน้ำได้อย่างเก่งกาจ
คอลัมน์ Play Risk คราวนี้เราชวนสนทนากับไช้และโก๋ถึงการเติบโตของปลาตัวนี้ รวมถึงความเสี่ยงรายทางที่พวกเขาต้องเจอ
ก่อนที่คุณจะก่อตั้ง meb ในไทยมีแพลตฟอร์มสำหรับอีบุ๊กอยู่แล้วหรือเปล่า
ไช้ : แพลตฟอร์มสำหรับอีบุ๊กมีมาก่อนหน้านั้น แต่องค์ประกอบต่างๆ ก็ไม่ถึงพร้อมที่จะทำให้มันเกิดได้ มีคนเอาไฟล์อีบุ๊กมาใส่บนเว็บไซต์ มีระบบสมาชิก ระบบดาวน์โหลด แต่คนต้องโหลดอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เขาก็ไม่สะดวก การอ่านมันต้องเป็นการควักอุปกรณ์ออกมาอ่านสักพักหนึ่ง อ่านได้สักพักก็เก็บ
ตอนที่เราทำ meb คือยุคที่มีอุปกรณ์ที่ทำให้อ่านอีบุ๊กได้ง่ายขึ้นแล้ว เรามีไอโฟน ไอแพด และมีคำว่าแท็บเล็ตเข้ามา อุปกรณ์เหล่านี้ทำให้คนขึ้นรถเมล์ รถตู้ รถไฟฟ้าก็ควักออกมาอ่านได้ง่ายๆ
โก๋ : ปี 2554 เป็นปีที่น้ำท่วมพอดี หลายคนรู้สึกว่าการเก็บหนังสือเป็นเล่มๆ อาจไม่ปลอดภัย แต่เหตุการณ์ที่สำคัญสุดคือพอสตีฟ จอบส์ เปิดตัวไอแพด ตอนนั้นก็มีหลายคนแห่กันมาทำเว็บอีบุ๊ก มีเปิดก่อนเราหลายคนนะ ร้านหนังสือหลายร้านหันมาเปิดอีบุ๊กของตัวเอง ช่องโทรทัศน์แข่งกันเปิดอีบุ๊กสโตร์ ใครจะไม่หวั่น (หัวเราะ)


รับมือกับความหวั่นใจนี้ยังไง
ไช้ : สำหรับผม ผมไม่ได้รู้สึกหวั่นใจกับตรงนั้น เพราะจริงๆ เราไม่ได้เล่นในตลาด blue ocean ที่คนเขาเล่นกันเยอะขนาดนั้น และเราก็ไม่ได้คาดหวังว่าเรามาถึงแล้วจะตูมตาม ยืนหนึ่ง
เราไม่ได้มีแต้มต่อ ไม่ได้ใช้โมเดลสตาร์ทอัพที่ระดมทุน เราเริ่มต้นด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัวว่าเรามีทุนเท่านี้ สเกลเท่านี้ เราทำอะไรได้บ้าง สถานการณ์บีบให้เราตั้งโพซิชั่นตัวเราให้ชัดเจนว่าเราจะอยู่ตรงไหน
อย่างร้านหนังสือขนาดใหญ่เขาก็มีคู่ค้าจำนวนมากที่ทำให้เขาขายได้ง่ายๆ สตาร์ทอัพขนาดใหญ่เขาก็มีคอนเนกชั่นจากคนที่ระดมทุนและมีผู้สนับสนุนเป็นนิตยสารต่างๆ พอเราไม่มีตรงนี้แล้วเราจะอยู่ยังไง มันเป็นโจทย์ที่ท้าทาย
ความตั้งใจในการทำ meb วันแรกกับวันนี้ต่างกันไหม
โก๋ : วันแรกเราต้องการทำร้านหนังสือ ในขณะที่คนอื่นเขาต้องการทำร้านนิตยสารเสียเยอะ เพราะสตีฟ จ็อบส์ เขายกตัวอย่างการอ่านนิตยสารจากไอแพด เราตั้งใจเป็นร้านหนังสือตั้งแต่แรกเพราะเราเคยทำสำนักพิมพ์มาก่อน
เรารู้กระบวนการว่าเมื่อผลิตหนังสือสักเล่ม เราต้องเอาไปฝากขายกับสายส่ง แล้วสายส่งก็จะฝากขายตามร้านหนังสือ ตอนวางขายวันแรกเขาจะหันปกให้เห็นบนชั้นหนังสือ ถ้า 1-2 สัปดาห์แล้วยอดขายไม่ดี เขาจะเริ่มหันสันออก ผ่านไป 1-2 เดือน ถ้ายอดยังไม่ไปอีกเขาจะตีสต็อกกลับมา หนังสือก็จะกลับมากองที่สำนักพิมพ์ เราก็ไม่รู้จะทำยังไงกับมัน
เราเห็นปัญหาเรื่องภาระสต็อกของสำนักพิมพ์เล็กๆ และการไม่มีอำนาจต่อรองกับสายส่ง ไม่มีช่องทางการจำหน่ายอื่นเพราะเมื่อก่อนไม่มีอีคอมเมิร์ซ นอกจากนั้นยอดขายยังเป็นสิ่งที่ตามเช็กยาก พิมพ์มาแล้วเราไม่รู้เลยว่าเล่มไหนจะขายดีหรือขายไม่ดี นั่นคือ pain point ที่เราอยากแก้ และสมัยนั้นเป็นสมัยที่สำนักพิมพ์เล็กกำลังรุ่งเรือง เราคิดว่าทุกคนก็ต้องมี pain point เหมือนเรา เพราะฉะนั้น meb จึงเป็นแพลตฟอร์มที่แก้ pain point ตรงนี้
ระบบของเราจึงต้องใส่หนังสือเข้ามาได้ง่าย ดูยอดขายได้ด้วยตัวเอง จ่ายเงินเร็วๆ ไม่ต้องใช้ระบบวางบิลล่วงหน้าเป็นเดือน เรียกว่าตัดความยุ่งยากและสิ่งที่เราเคยเจอแล้วเราไม่ชอบออกไปให้หมด

นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนวันนี้ คุณเห็นวงการอีบุ๊กเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง
ไช้ : ต่างกันเยอะเหมือนกัน ยุคแรกๆ เราต้อง educate เจ้าของผลงานว่าอีบุ๊กเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเผยแพร่ผลงานของเขา จริงๆ ยุคนั้นเป็นยุคที่คนมองว่าถ้ามีอีบุ๊กเข้ามา หนังสือเล่มจะตายหรือเปล่า แต่มองกลับไป ผมว่าอีบุ๊กเป็นสิ่งที่ค้ำจุนให้หนังสือยังอยู่ได้ ไม่ว่าจะรูปแบบกระดาษหรือรูปแบบอีบุ๊ก เวลาผ่านไปอีบุ๊กก็พิสูจน์ให้เห็นว่าถ้าอีบุ๊กไม่เกิด หนังสือเล่มอาจจะตายไปแล้วก็ได้
โก๋ : จริงๆ มีสถิติตัวเลขออกมา อย่างในญี่ปุ่น ยอดขายมังงะเขาต่ำลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2010 จนปี 2018-2019 เขาเริ่มกลับมาได้เพราะมีอีบุ๊กมาช่วย พอรวมกับยอดขายหนังสือเล่มก็ทำให้ตลาดกลับมาโตได้อีกครั้ง เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่เขาติดจอ เขานิยมเล่นเกม เล่น TikTok กัน หนังสือเล่มแค่ไม่ได้ตามเขาไปตรงนั้น แปลว่าคู่แข่งของหนังสือก็ไม่ใช่อีบุ๊ก แต่เป็นสิ่งอื่นๆ ที่มาดึงความสนใจของเราไป
โก๋ : จริงๆ หนังสือเล่มกับอีบุ๊กเป็นสิ่งที่ส่งเสริมกันเอง คู่แข่งคือสิ่งอื่นที่มาแย่ง eyeballs และความสนใจคนไปต่างหาก
แล้วคุณทำยังไงให้เอาตัวรอดได้ในยุคที่มีสิ่งต่างๆ มาดึงความสนใจเราได้ตลอดเวลา
ไช้ : ผมว่ามันตรงไปตรงมา คือเราต้องหาคอนเทนต์ที่ดีมาเผยแพร่ในแบบอีบุ๊กให้ได้มากเพียงพอ การตลาดที่ดีจะไม่ช่วยเลยถ้าเราไม่มีอะไรให้อ่าน แต่ถ้าเรามีของที่ดี สุดท้ายเราก็จะมีแง่มุมทางการตลาดมาให้เล่น
สิ่งที่เราทำคือเราสรรหาสำนักพิมพ์และเจ้าของผลงานที่จะเอาคอนเทนต์มาเผยแพร่ในแพลตฟอร์มของเราในรูปแบบที่ง่าย สบาย และแฟร์กับทุกฝั่ง
โก๋ : ยกตัวอย่างนักเขียนอายุมากที่เขาทำออนไลน์ไม่เป็นเลย เราก็ช่วยไปสอนเขาเพื่อให้ได้อีบุ๊กมาขายในร้านของเรา
เราตั้ง position ตัวเองเป็นห้องสมุด คนอ่านก็คาดหวังว่าเขาเปิดมาแล้วจะเจอเรื่องที่อยากได้ การที่จะทำให้เราแข็งแกร่งคือเราต้องมีทุกเรื่องเท่าที่ทำได้นี่แหละ ซึ่งตอนนี้เรามีนิยายไทยค่อนข้างครบ ส่วนพวกที่ต้องซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการซื้อลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์

หนังสือที่วางขายบน meb เป็นหนังสือประเภทไหน
ไช้ : เราเจาะกลุ่มหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก เพราะมีทั้งสำนักพิมพ์เล็ก-ใหญ่และนักเขียนอิสระที่ทำ เพราะเราเข้าใจ pain point ของเขา คิดว่าน่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เขาได้ รวมถึงคนที่ทำคอนเทนต์เฉพาะกลุ่ม (niche) นักอ่านกลุ่มไม่ใหญ่เท่าไหร่ก็มาเผยแพร่ในแพลตฟอร์มเราได้ เพราะเราไม่ต้องมีค่าเริ่มต้นหรือค่าสมาชิกรายปีหรือรายเดือน
ทั้งๆ ที่มีแพลตฟอร์มเกิดขึ้นมากมาย เคล็ดลับที่ทำให้นักเขียน นักอ่านยังเลือกใช้ meb มาตลอดคืออะไร
ไช้ : เราตั้งใจจะทำแพลตฟอร์มอีบุ๊กที่ดี ก่อนหน้านี้จะเห็นว่าในตลาดอีบุ๊กมีคนเข้ามาตลอด ในช่วงยุคแรกๆ ของอีบุ๊กมีสื่อใหญ่ ช่องโทรทัศน์ สตาร์ทอัพ สายส่ง และร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่มาทำอีบุ๊ก ทุกคนคิดว่าตัวเองมีจุดแข็งคนละอัน และเขาใช้จุดแข็งนั้นในการทำธุรกิจนี้
ส่วนเราไม่มีจุดแข็งอะไรเลย ข้อดีคือเราไม่ต้องแคร์อะไรเหมือนกัน อย่างสำนักพิมพ์และสายส่งรายใหญ่เขาอาจจะไม่ค่อยอยากทำอีบุ๊ก เพราะจะไปเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจหลักของเขา แต่ไม่ทำก็ไม่ได้ เลยกลายเป็นเหมือนทำครึ่งๆ กลางๆ หรือสตาร์ทอัพเขาก็มีเป้าหมายที่จะสร้างบริษัทให้เติบโต ไม่ใช่การสร้างแพลตฟอร์มอีบุ๊กให้เติบโต โฟกัสก็จะไปคนละทาง
เราตั้งใจจะทำแพลตฟอร์มอีบุ๊กที่ดี โฟกัสของเราอยู่ตรงนั้น สิ่งที่ทำให้เราต่างจากแพลตฟอร์มอื่นคือเราเข้าใจวงการหนังสือจริงๆ เราทำจริง และไม่ได้ใช้วงการหนังสือเพื่อเป็นทางผ่าน เราอยากอยู่กับสิ่งนี้ เป็นเสาหลักของวงการและคนอ่าน ซึ่งเวลาก็พิสูจน์แล้วว่าถึงแม้เราจะเป็นรายเล็ก แต่หากมีความเข้าใจในการทำธุรกิจที่ดี ทำสิ่งนั้นจริงจัง รายใหญ่ก็สู้ยากอยู่เหมือนกัน
อีกปัจจัยคือประสบการณ์ในการอ่านและความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์ม เวลาคุณซื้อหนังสือสักเล่ม คุณซื้อจากร้านไหนก็ได้โดยไม่สนหรอกว่าร้านนั้นจะเจ๊งเมื่อไหร่ แต่อีบุ๊กเป็นของที่จับต้องไม่ได้ เราโหลดมาใส่ในอุปกรณ์ วันหนึ่งถ้าอุปกรณ์พังเราจะอ่านต่อได้ไหม เพราะฉะนั้นความเชื่อมั่นที่มีต่อแพลตฟอร์มก็เป็นเรื่องสำคัญ

มีวิธีการออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้ยังไงให้ตอบโจทย์พวกเขาได้
โก๋ : ใช้เอง (หัวเราะ) ปัญหาของผมเกี่ยวกับแพลตฟอร์มทั่วไปคือเจ้าของไม่ยอมใช้ กว่าจะไปถึงมือลูกค้าต้องผ่านลูปการทำงานที่ยาวมาก วิธีแก้คือทำให้ลูปนี้อยู่ในคนเดียวกัน
ไช้ : ฟีเจอร์บางอย่างที่เราเห็นไม่ได้มีตั้งแต่วันแรก ตอนแรกหน้าตาแอพฯ ก็ตลกๆ ฟีเจอร์หลายอย่างเราก็เจอจากประสบการณ์จริง บางอย่างก็รู้จากนักอ่าน แต่นักอ่านเขาไม่ได้บอกว่าเขาจะเอาฟีเจอร์อะไรตรงๆ นะ บางทีเขาบอกว่าเขาไม่สะดวกอะไร เราก็ต้องมาตีความว่าสิ่งนั้นคืออะไร
ยุคนี้มีความท้าทายอย่างหนึ่ง สมมติมีคนใช้แพลตฟอร์มเรา 10 กว่าล้านราย แล้วมีเสียงจากคนประมาณ 1 รายในโซเชียลมีเดียว่าอยากให้ปรับอะไร เราก็ต้องตีความสิ่งนั้นให้ออกว่ามันคือสิ่งที่เราต้องปรับจริงหรือเปล่า ถ้าคุณตามใจ 1 คนนั้นแต่คนอีกล้านรายอาจไม่แฮปปี้สุดๆ ก็ได้ เป็นเรื่องที่ต้องบาลานซ์มากว่าคนที่เงียบอยู่เขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
อะไรคือความเสี่ยงทางธุรกิจที่ต้องเจอตั้งแต่ day 1 จนถึงปัจจุบัน
ไช้ : รูปแบบความเสี่ยงเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา
โก๋ : ความเสี่ยงช่วงแรกคือบริษัทเราเล็กมาก และมีบริษัทใหญ่ๆ เปิดแพลตฟอร์มด้วย ตอนเปิดคือช่วงที่เสี่ยงมากที่สุด เพราะตอนนั้นเรามีเงินในกระเป๋าที่อยู่ได้ประมาณ 6 เดือนนับตั้งแต่ตอนเปิด เราก็นั่งนับตลอดว่าเรามีชีวิตเหลืออยู่อีกกี่เดือน (หัวเราะ) เพราะเราตัดสินใจหยุดธุรกิจอื่นหมดแล้ว ทุบหม้อข้าวตัวเอง แต่พอเปิดไปเราก็ใจชื้นขึ้นมาว่า โอเค เดือนหน้าก็ยังเหลือ 6 เดือนว่ะ เฮ้ยมันเพิ่มเป็น 7 เดือนแล้ว
ไช้ : ในระยะกลาง พอเราเริ่มโตขึ้น ความเสี่ยงคือยอดขายของเราโตเร็วกว่าโครงสร้างบริษัท มีลูกค้าเพิ่มขึ้น คู่ค้าเพิ่มขึ้น ความท้าทายคือการขยายทีมให้ทัน เวลามีงานให้ทำมากขึ้น ถ้าคุณคิดแบบไม่อุตสาหกรรมคือจ้างคนมาเยอะกว่าเดิมใช่ไหม แต่ถ้าคุณคิดแบบอุตสาหกรรมคือคุณต้องทำระบบหรือเครื่องจักรบางอย่างเพื่อให้คนทำงานสามารถทำแล้วได้ผลผลิตเยอะขึ้นมากๆ มันก็เป็นความท้าทายที่เราต้องบาลานซ์
การดูแลลูกค้าของเรา เราก็ไม่อยากเอา AI หรือบอตมาตอบ เพราะลูกค้าอยากคุยกับคน แต่ระบบจัดการอื่นๆ เช่น ระบบการเงิน การบัญชี เราก็สามารถใช้ระบบอัตโนมัติ ทำโครงสร้างให้เป็นระบบระเบียบ ทุกอย่างก็จะขยายขึ้นได้โดยที่เราไม่ต้องเพิ่มคนโดยขาดสติ
ปัจจุบันเราก็โตขึ้นเป็นบริษัทมหาชน ตอนบริษัทเราเล็กๆ จะไม่ค่อยมีกฎระเบียบอะไรเข้ามายุ่ง แต่พอเป็นบริษัทมหาชน การทำอะไรทุกอย่างก็ต้องเป๊ะๆ หมด เรามีกระบวนการที่ต้องทำมากขึ้น มีความเป็นทางการมากขึ้น ทำให้บางอย่างเราขยับตัวได้ช้าลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่างที่ย้ำว่าในธุรกิจอีบุ๊ก คนเขาซื้อของที่จับต้องไม่ได้ การที่เราเป็นบริษัทมหาชนก็แสดงถึงความจริงจังและความมั่นคงของบริษัท ยืดหยุ่นน้อยลง เทอะทะขึ้นนิดหน่อย แต่คุณก็ได้ความเชื่อมั่นจากลูกค้า

มีความเสี่ยงไหนที่เปลี่ยนชีวิตหรือมุมมองของคุณในฐานะนักธุรกิจบ้างไหม
ไช้ : ไม่เคยมีอะไรมากระแทกแรงๆ จนทำให้เปลี่ยนเลย เหมือนชีวิตเราไม่ได้ต้องการความเร้าใจ หรือวันหนึ่งเรากดสูตรติดแล้วทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไป มันไม่ได้มีสิ่งนั้น
โก๋ : เคล็ดลับการทำธุรกิจของเราเหมือนเรื่องกังฟูแพนด้า เคล็ดลับคือเราไม่มีเคล็ดลับ เราทำสิ่งที่เป็นพื้นฐานไปเรื่อยๆ ทำให้แน่น ทำให้ดี เราพัฒนาของเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่างที่เรารู้สึกว่ามันพัฒนาได้ เหมือนการชกมวยที่ไม่ต้องมีท่าไม้ตายแต่คุณต้องซ้อมพื้นฐานให้แน่นที่สุด ออกหมัดแต่ละหมัดให้มันดีที่สุดเท่านั้นเลย นั่นคือวิธีการของเรา
อะไรคือสิ่งที่ผู้บริหารแพลตฟอร์มอีบุ๊กต้องมี
โก๋ : เราจะทำตัวหาญกล้าเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมคงไม่ได้ คงบอกได้แค่ว่าในฐานะเราเอง เราควรจะมีอะไร
ไช้ : อย่างแรกคือควรจะอ่านอีบุ๊ก (หัวเราะ) อ่านเป็นระยะๆ ผมว่านี่คือพื้นฐาน เพราะถ้าจะบอกว่าเราขายให้เป็นคนล้านๆ อ่านแต่เจ้าของไม่ยอมอ่าน อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องคิดนิดหนึ่ง
โก๋ : ผมว่าการทำธุรกิจควรจะมี empathy กับคู่ค้าและลูกค้า สมัยแรกๆ ที่เราต้องซัพพอร์ตลูกค้าเอง เสาร์-อาทิตย์เราก็ต้องทำ ลูกค้าบางคนมาบอกว่าเขาจ่ายเงินมาแล้วแต่หนังสือยังไม่เข้าระบบ เราต้องแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด แต่ถ้าคุณเป็นบริษัทที่รันทุกอย่างตามเวลาบริษัท คุณอาจต้องบอกลูกค้าว่าให้ติดต่อมาเวลาทำการ หรือรอเวลาทำการสิ อะไรแบบนี้ ผมว่าการมี empathy อาจทำให้ธุรกิจเข้าถึงคนได้ดีกว่า

คุณเป็นนักธุรกิจที่ play risk หรือ play safe
โก๋ : เป็นนักธุรกิจที่กดเครื่องคิดเลขก่อน จริงๆ คำว่า risk หรือ safe คืออะไร สมมติว่าผมลงทุน 10 ล้านได้ 1 ล้าน แต่แต้มต่อการชนะ 80% กับผมลง 1 ล้านแต่มีแต้มต่อ 100% มันอยู่ที่ว่าแต้มต่ออันไหนสูงกว่ากัน เราจะเล่น ผมคิดว่าถ้าคำนวณออกมาแล้วมันเท่ากัน เราจะ play safe มากกว่า แต่ในชีวิตจริงมันไม่เท่าเป๊ะหรอก
ไช้ : สิ่งหนึ่งที่ผมใช้เสมอคือเราเสี่ยงอะไรก็ได้แต่อยู่บนพื้นฐานที่เรารับผลของความเสี่ยงนั้นได้ มันอยู่ที่ว่าหน้าตักเรามีเท่าไหร่ ถ้าคุณทำร้านอาหารแล้วลงทุนหมดหน้าตัก ถ้าร้านเจ๊งแล้วที่บ้านคุณอดตายกันหมด ทุกวันคุณจะทำอาหารด้วยความเครียดมาก แต่ถ้าคุณบอกว่าทำร้านหนึ่งแล้วลงทุนเยอะประมาณหนึ่ง หากมีช่วงขายไม่ดี คุณก็ยังกินอิ่ม นอนได้ จ่ายค่าเทอมลูกได้ ไม่เครียดจนเกินไป ผมว่านั่นจะทำให้คุณทำธุรกิจได้จริงๆ
คุณมองอนาคตของ meb ไว้ยังไง
ไช้ : ตั้งแต่ที่เราทำ meb จนมาถึง readAwrite และ LunarWrite เราก็อยากเป็นตัวจริงของแพลตฟอร์มการอ่านในเมืองไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ยังมีความท้าทายในการหาแนวทางที่จะทำให้คนบริโภคการอ่านการเขียนในรูปแบบใหม่ๆ ได้ไหม อ่านโดยไม่ใช้มือแต่ scroll ขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ไหม หรือให้หนังสืออ่านให้ฟังได้ไหม นั่นคือในมิติของการอ่านที่เรามุ่งมั่นจะพัฒนาสิ่งนั้นให้ยอดเยี่ยมอยู่เรื่อยๆ
บางคนอาจมองว่าแอพฯ เราหน้าตาสวยหรือไม่สวยกว่าแอพฯ อื่น แต่ความสวยเป็นเรื่องที่แล้วแต่คน ถ้าหากสวยแต่ใช้ไม่ดีมันก็ช่วยไม่ได้เหมือนกัน แต่การมอบประสบการณ์ที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ
ความท้าทายอีกข้อคือเรื่องการนำคอนเทนต์ของคนไทยไปสู่สายตาชาวโลกให้ได้ เราว่าตอนนี้กำลังมีทิศทางที่ดีที่จะพาของดีของเราไปให้ชาวโลกเขาได้รับรู้ เราทำสำเร็จแล้วกับการพานักอ่าน นักเขียน และคนทำหนังสือมาเจอกันบนแพลตฟอร์ม แต่การเข้าใจ pain point แบบถึงลูกถึงคน และทำให้ผู้ใช้ได้ใช้งานง่ายๆ นี่คือความท้าทายถัดไปของเรา
________________________________________________
PLAYBOOK
บันทึกการผ่านด่านสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิต หรือส่งผลต่อชีวิตจนปัจจุบัน
MISSION : การเริ่มต้นธุรกิจ
YEAR : 2011
EVENT : ตอนเริ่มทำ meb ต้องทิ้งธุรกิจเดิมทั้งหมด เหมือนทุบหม้อข้าวตัวเองแล้วมาโฟกัสกับ meb บริษัทใช้เวลาหนึ่งปีเต็มๆ ในการพัฒนาแอพฯ ขึ้นมา และตอนเปิดมาก็มีเงินสำรองเพียง 6 เดือน นอกจากนั้นยังมีคู่แข่งอยู่เต็มไปหมด
PLAN : ทำแอพฯ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่ดีที่สุด ทำพื้นฐานของธุรกิจให้แน่น ลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ
SCORE : มี 10 ต้องให้ 10 มี 100 ต้องให้ 100
QUIT or RESTART : สิ่งที่ได้มาคือบทเรียนที่ทำให้ไม่ล้มเลิก ย้อนเวลากลับไปไม่ได้ ถึงย้อนได้ก็ไม่อยากแก้ไขอะไรเลย เพราะทุกอย่างเป็น butterfly effect สิ่งหนึ่งจะส่งผลต่อสิ่งหนึ่งเสมอ ณ ตอนนั้นก็ทำสิ่งที่ดีที่สุดในเวลานั้นแล้ว