Art Flare

คุยกับผู้ก่อตั้ง Mango Art Festival หนึ่งในเทศกาลศิลปะที่ครบเครื่องที่สุดในไทย

เมื่อพูดถึงงานอาร์ตแฟร์หรืองานอาร์ตเฟสติวัล มิตรรักคอศิลปะส่วนใหญ่อาจรู้จักกันว่าเป็นงานแสดงและค้าขายศิลปะที่เหล่าบรรดาศิลปิน, แกลเลอรี, ภัณฑารักษ์, ผู้ค้างานศิลปะ และผู้คนในวงการศิลปะต่างๆ หลากหลาย ร่วมกันจัดเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจศิลปะทั้งในประเทศและนานาชาติมาเข้าชมและซื้อหางานศิลปะ โดยส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในเมืองสำคัญต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นงาน Art Basel ที่จัดขึ้นที่เมืองบาเซล สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะขยายไปจัดที่เมืองไมอามี สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง, งาน Formosa Art Fair ที่จัดขึ้นที่เมืองไทเป ประเทศไต้หวัน และงาน Art SG ที่สิงคโปร์ เป็นต้น

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเราเองก็เกิดกระแสการจัดงานอาร์ตแฟร์กันอย่างคึกคัก หนึ่งในนั้นคืองาน Mango Art Festival ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเทศกาลศิลปะที่ครบเครื่องที่สุดในประเทศไทย

 Mango Art Festival ได้รวมเอาความหลากหลายของงานศิลปะหลากแขนงมารวมกัน ในหลากสาย ลักษณะ สีสัน รูปแบบ และเทคนิค ทั้งงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, สตรีทอาร์ต, อาร์ตทอย ไปจนถึงงานออกแบบ งานหัตถกรรม ดนตรีและศิลปะแสดงสด

งาน Mango Art Festival 2023 ครั้งล่าสุดจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ที่ River City Bangkok ภายใต้ธีม ‘Rise’ ที่เน้นการแสดงผลงานของศิลปินรุ่นใหม่สู่สายสาธารณชน รวมถึงมีศิลปิน แกลเลอรี และผู้จัดอาร์ตแฟร์จากต่างประเทศเข้าร่วมแสดงผลงาน เพื่อเชื่อมโยงและขยายพรมแดนทางศิลปะ รวมทั้งนำเสนอประสบการณ์ใหม่อันน่าตื่นเต้นให้กับวงการและผู้เข้าร่วมชมงาน

เรามีโอกาสได้สนทนากับผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการ Mango Art Festival อย่าง คุณบี–สุชาย พรศิริกุล ถึงที่มาที่ไปของหนึ่งในเทศกาลศิลปะที่ครบเครื่องและเปี่ยมสีสันที่สุดในบ้านเรา 

ส่วนวิธีคิดของเขาเป็นยังไง มาร่วมรับฟังไปพร้อมๆ กัน

ย้อนกลับไปคุณเริ่มสนใจงานศิลปะตั้งแต่เมื่อไหร่

ก่อนอื่นขอเกริ่นก่อนว่า จริงๆ ผมไม่ได้เรียนทางสายศิลปะมา แต่เรียนมาทางสายโบราณคดี คือสมัยก่อนมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ผมเรียนจะมี 4 คณะที่วังท่าพระ คือคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์, คณะสถาปัตยกรรม, คณะมัณฑนศิลป์ และคณะโบราณคดี ผมเรียนที่คณะโบราณคดี วิชาเอกโบราณคดี วิชาโทประวัติศาสตร์ศิลปะ เพราะฉะนั้นก็จะมีอาจารย์คณะจิตรกรรมฯ หลายท่านมาสอน ผมก็ซึมซับบรรยากาศในรั้วศิลปากรนี่แหละ แล้วในมหาวิทยาลัยก็จะมีหอศิลป์ของมหาวิทยาลัย ท้องพระโรง ตำหนักกลาง วังท่าพระ หอศิลป์คณะจิตรกรรม ผมก็ได้ดูงานดีๆ มาตลอด หรือศิลปินชั้นครูหลายคนที่มีงานที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน ผมก็ได้สัมผัสกับหลายท่านในมหาวิทยาลัย ทั้งอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ, อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ หรืออาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ เวลาเดินผ่านคณะจิตรกรรมฯ ผมก็คุ้นเคยกับบรรยากาศของแวดวงศิลปะ 

การที่เราได้เรียน 4 ปีในรั้วศิลปากร และเรียนวิชาโทประวัติศาสตร์ศิลปะ ทำให้ผมมีพื้นเพทางศิลปะมาบ้าง ถึงแม้พอเรียนจบ ผมจะไปทำธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับสิ่งทอ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับศิลปะ แต่ผมก็สะสมงานศิลปะมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว เพราะสมัยนั้นงานศิลปะที่ราคาสูงมากๆ ในปัจจุบัน อย่างงานของอาจารย์สุเชาว์ นั้นขายให้แกลเลอรีในราคา 3,000-4,000 บาท เท่านั้น เพราะอาจารย์ฐานะไม่ค่อยดี ไม่มีเงินซื้อแคนวาสวาดภาพก็ใช้แคนวาสเก่า หรือแคนวาสขนาดเล็กๆ วาดแทน หรือสมัยเรียน เพื่อนรุ่นเดียวกันกับผมก็มีศิลปินอย่างสมโภชน์ ทองแดง และอีกหลายๆ คนในรุ่น ผมก็ได้เก็บสะสมงานของพวกเขา บางทีเขาก็คิดราคาแบบเพื่อนๆ กัน เป็นค่าแคนวาส ค่าซื้อสี บางชิ้นใหญ่ๆ ผมได้มาหลักพันบาทก็มี

ตอนผมทำธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับสิ่งทอ ก็จะมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศ ไปงานแฟร์เกี่ยวกับแฟชั่นที่ปารีส, เซี่ยงไฮ้, ฮ่องกง ทุกๆ ครั้งถ้ามีโอกาส มีช่วงวันว่าง เราก็จะไปตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เพราะตอนเรียน อาจารย์สุมน ศรีแสง ที่คณะจิตรกรรมฯ ท่านฉายสไลด์ให้นักศึกษาดู เมื่อก่อนยังไม่มีเครื่องโปรเจ็กเตอร์ ก็ปิ้งฟิล์มสไลด์ให้ดูภาพวาดของโมเนต์ (Claude Monet), มาเนต์ (Édouard Manet), แวน โกะห์ (Vincent van Gogh) งานของศิลปินระดับโลกในยุคต่างๆ ผมก็จดจำเอาไว้ว่า ถ้ามีโอกาสต้องไปดูงานจริงให้ได้สักครั้งในชีวิต พอผมได้ไปปารีสครั้งแรก น่าจะช่วง พ.ศ. 2535 ก็มีโอกาสได้ไปพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre), พิพิธภัณฑ์ออร์แซ (Musée d’Orsay) ผมรู้สึกเหมือนได้เปิดโลก ได้เห็นงานดีๆ เยอะมาก แล้วก็เป็นงานที่ผมเคยเรียนมาแล้วด้วย ก็เลยกลายเป็นแพสชั่นส่วนตัวว่าต้องไปดูงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกไปเรื่อยๆ ให้ได้

แล้วจุดไหนที่ทำให้คุณเริ่มต้นทำ Mango Art Festival

พอดีมีช่วงหนึ่งผมได้มีโอกาสพบกับศิลปินแห่งชาติท่านหนึ่ง ชื่ออาจารย์ชวลิต เสริมปรุงสุข และได้มีโอกาสสะสมผลงานของอาจารย์ เพราะผมรู้จักหลานของอาจารย์ ได้ผลงานมาชุดใหญ่สมัย พ.ศ. 2542 ปกติอาจารย์จะอยู่ที่อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ 9 เดือน อยู่ที่เมืองไทยประมาณ 3 เดือน พอเวลาอาจารย์กลับมาเมืองไทยผมก็มีโอกาสได้เจอท่าน ได้พูดคุยเรื่องศิลปะกับอาจารย์มาโดยตลอด

จนมีช่วงหนึ่ง ผมมีความคิดว่าศิลปะน่าจะอยู่ในชีวิตประจำวันของคน ประจวบกับผมได้มีโอกาสทำพื้นที่แสดงศิลปะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ช่างชุ่ย พอดีผมได้เจอคุณลิ้ม–สมชัย ส่งวัฒนา ผู้ก่อตั้ง ซึ่งเป็นลูกค้าสิ่งทอของผม ได้พูดคุยกัน ก็เลยได้ทำอาร์ตสเปซที่ช่างชุ่ยในชื่อ ‘สมบัติ ผลัดกันชม’ และที่ SO Gallery เพราะผมอยากจะเอางานศิลปะหรือพื้นที่ทางศิลปะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ชุมชน ที่คนชอบมาเดิน เหมือนเดินไปดูอย่างอื่นแล้วก็แวะมาดูศิลปะ ไม่ต้องตั้งอกตั้งใจไปดู ก็มีจัดแสดงผลงานประติมากรรมของศิลปินอย่าง วัชระ ประยูรคำ คนก็ไปดูกันเยอะมาก ช่วงหลังก็จะเน้นจัดแสดงผลงานของศิลปินหน้าใหม่ หรือศิลปินที่อยากหาพื้นที่แสดงงาน

ในช่วง 3-4 ปีที่ทำที่ช่างชุ่ยก็น่าจะจัดไปเกือบ 30 นิทรรศการ ตอนหลังผมก็ไปเปิดอีกพื้นที่หนึ่งที่ล้ง 1919 เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์อายุ 100 กว่าปี เป็นหอศิลป์สไตล์จีน ชื่อ ‘ยู่หยวน อาร์ต แอนด์ แอนทีค’ พอช่วงหนึ่งโควิดระบาด ร้านค้าในล้ง 1919 ปิดกันไปเยอะ ก็มีพื้นที่ว่าง ตรงไหนว่างผมก็เอางานศิลปะไปแสดงหมด คุยกับศิลปินรุ่นใหม่ๆ ว่าใครอยากจะเอางานมาแสดงก็เข้ามาจัดแสดงกันแต่ละห้องๆ จนในช่วงนั้น ล้ง 1919 กลายเป็นหมุดหมายหนึ่งของคนรักงานศิลปะในกรุงเทพฯ มีศิลปินรุ่นใหญ่มาแสดงงาน อย่างอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ และอีกหลายๆ ท่านมาจัดแสดงงานกันเยอะมาก น่าจะถึง 40-50 นิทรรศการ

ช่วงระหว่างทำที่ล้ง 1919 ผมก็คุยกับผู้บริหาร คุณเปี๊ยะ (รุจิราภรณ์ หวั่งหลี) ว่าเรามาลองจัดอาร์ตเฟสติวัลกันสักครั้งไหม คุณเปี๊ยะก็ไฟเขียวให้ผมทำทันที จนเกิดเป็นล้ง 1919 อาร์ตแฟร์ 2020 ขึ้นมา คนก็ตื่นเต้นกันมาก เพราะพื้นที่สวยมาก

หลังจากนั้นผมก็ได้เจอกับคุณหน่อง (วิรคุณ บุณยรัตพันธุ์) ผู้บริหาร Joyman Gallery และคุณท็อป (ไผทวัฒน์) จ่างตระกูล ที่เคยทำ Hotel Art Fair มาก่อน ซึ่งคุณท็อปอยากจะจัดอาร์ตแฟร์รูปแบบใหม่ขึ้นมา เราสามคนก็คุยกันว่าเราจะทำในรูปแบบของล้ง 1919 อาร์ตแฟร์ แต่จะทำให้ครบเครื่อง โดยมีศิลปะทุกแขนง มีงานศิลปะ งานดีไซน์ มีงานคราฟต์ มีศิลปะการแสดง มีดนตรี และมีพื้นที่เล็กๆ ให้ศิลปินอิสระ ก็เลยกลายเป็นที่มาของ Mango Art Festival ครั้งแรก

ทำไมถึงใช้ชื่อ Mango Art Festival เกี่ยวอะไรกับมะม่วง

ชื่อนี้มาจากคุณท็อป จ่างตระกูล เพราะเขาเคยคิดจะใช้ชื่อ Bangkok Art Festival แต่เขาคิดว่าอาจจะมีข้อจำกัดในการจัด ถ้าเราติดคำว่า Bangkok ลงไป เราก็จะไปจัดที่เชียงใหม่ ภูเก็ต หรือไปจัดในต่างประเทศก็ไม่ได้ ก็เลยเลือกชื่อที่เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งขึ้นมา ที่เป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลาย เหมือนกับศิลปะที่มีความหลากหลาย มีความสุก ความดิบ มีทั้งศิลปินรุ่นเยาว์ รุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก มามิกซ์แอนด์แมตช์ในเฟสติวัลนี้ เราก็นึกถึง ‘มะม่วง’ ขึ้นมา และมะม่วงเองก็เป็นสินค้าส่งออกของประเทศไทยด้วย เราก็วางเป้าหมาย ว่าเราจะเอาศิลปินและงานศิลปะของไทยไปสู่ต่างประเทศ โดยเริ่มจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน

ตั้งใจพาศิลปะไทยโกอินเตอร์?

ใช่ เพราะศิลปินไทยไม่แพ้ชาติใดในเอเชียอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องมีคนที่เชื่อมโยง พาเขาออกไปสู่สากล หรือไม่ก็พาแกลเลอรีเมืองนอกเข้ามาเจอพวกเขา ก็กลายเป็นที่มาของงาน Mango Art Festival ครั้งแรก พอจัดขึ้นมาก็กลายเป็นไวรัลเลย คนมากันถล่มทลาย ที่จอดรถที่ล้งไม่พอ ต้องไปจอดกันที่ ICONSIAM หรือที่ River City แล้วนั่งเรือข้ามฟากมา ตอนนั้นคนพูดถึงงาน Mango Art Festival ครั้งแรก ว่าเป็นเทศกาลศิลปะที่ครบเครื่อง เพราะเมื่อก่อนเวลาจะไปดูงานศิลปะก็ต้องไปแกลเลอรี ซึ่งจะมีแค่งานของศิลปินคนเดียวหรือกลุ่มเดียว แต่เรามีทั้งหมดเลย ทั้งแกลเลอรี ทั้งศิลปินที่มาออกบูทกันหลากหลาย

พอพูดถึงงานอาร์ตแฟร์แบบนี้ก็ทำให้นึกไปถึงงานอย่าง Art Basel ที่มีแกลเลอรีและศิลปินต่างๆ มาออกบูทกัน

ใช่ แต่ที่ Art Basel เขาจะเน้นที่งานศิลปะอย่างเดียว ไม่มีพวกดนตรีหรือศิลปะการแสดงแบบของเราที่มีศิลปะแตกต่างหลากหลายแขนงมารวมกัน 

หลังจากจัดงานที่ล้ง 1919 ครั้งแรกเสร็จ เราก็ทราบจากทางผู้บริหารว่าเขาจะต้องส่งมอบพื้นที่ให้กับทาง ThaiBev ที่มาทำสัญญาเช่าต่อ เราก็มองกันว่าจะหาที่จัดงานที่ไหนกันดี ก็เล็งเอาไว้หลายที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ BACC (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) หรือศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่ช่วงนั้นศูนย์ประชุมสิริกิติ์ปิดซ่อม เราก็มามองที่ River City Bangkok ก็ไปคุยกันจนตกลงกันได้ว่าจะทำที่นี่ โดยทำสัญญา 3 ปี คือปี 2565, 2566, 2567 ซึ่งทาง River City เองก็ให้เราใช้พื้นที่ในราคาที่สามารถจับต้องได้ ทำให้เราเปิดให้เช่าพื้นที่ได้ในราคาไม่แพง ศิลปินหน้าใหม่ๆ ก็สามารถมาร่วมงานในราคาที่เขารับได้

ตอนจัดปีแรกที่ River City ผลตอบรับดีมาก แต่เราอาจจะไปเน้นกิจกรรมบนเวทีเยอะไปหน่อย แต่ในปี 2566 นี้เรากลับมาดูแลแกลเลอรีและศิลปินที่มาจัดแสดงผลงาน โดยทางเราพาผู้ซื้อเข้ามาเยี่ยมชมงาน และจัดให้มีทัวร์พิเศษสำหรับนักสะสมหรือกลุ่มผู้ซื้องานศิลปะต่างๆ ที่สนใจ ด้วยความที่พื้นที่ตรงนี้อยู่กลางเมือง มีที่จอดรถ เดินทางมาก็สะดวก ทั้งทางเรือ รถไฟฟ้าใต้ดิน และยังอยู่ในย่านชุมชน ซึ่ง River City ก็เป็นหมุดหมายที่นักท่องเที่ยวต้องมาอยู่แล้ว ในปีที่สอง งาน Mango Art Festival ก็ประสบความสำเร็จและเป็นที่พูดถึงกันมาก คนมากันเยอะมาก จนทำให้ในปี 2023 มีศิลปินอยากจะเข้าร่วมงาน Mango Art Festival กันมากจนพื้นที่เราไม่พอ ทำให้ศิลปินพลาดโอกาสไปประมาณ 30 กว่ารายที่เราไม่สามารถให้พื้นที่เขาได้

นอกจากจัดงาน Mango Art Festival ที่กรุงเทพฯ คุณก็ยังมีการไปจัดงานอาร์ตแฟร์ที่จังหวัดอื่นด้วย

คือในปี 2565 เราได้มีโอกาสจัดงาน Mango Art Festival ขนาดย่อมร่วมกับโรงแรม Public House ซึ่งเป็นโรงแรมเปิดใหม่ที่อยู่ใจกลางสุขุมวิท 31 ในชื่องานว่า Urban Collectibles โดยเราจัดแสดงงานกันในห้องพักโรงแรมและล็อบบี้ ซึ่งเน้นไปที่งานแบบสตรีทอาร์ต, คาแร็กเตอร์อาร์ต และอาร์ตทอย เพราะเราอยากจะให้มีรูปแบบที่แตกต่างจาก งาน Mango Art Festival ตัวหลัก เลยจัดเป็นงานแบบชิคๆ หน่อย แต่ศิลปินสตรีทอาร์ตหลายกลุ่มที่เข้ามาร่วมก็เป็นศิลปินสตรีทอาร์ตเบอร์ต้นๆ ของประเทศไทย

พอช่วงปลายปี 2565 เดือนธันวาคม คุณเอก (อนุศักดิ์ พาณิชยากรณ์) และคุณเก๋ (อัญชลี ศรีวิภาสถิตย์) ผู้บริหารของ De Siam Antiques Chiangmai ร้านขายของเก่าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาได้มาชมงานนี้แล้วชอบ เขาก็เลยชวนผมให้ไปจัดงาน Mango Art Festival ที่โกดัง De Siam Antiques ที่จังหวัดเชียงใหม่ของเขา ซึ่งมีพื้นที่ 100 กว่าไร่  มีหลองข้าว (ยุ้งข้าว) โบราณ มีต้นไม้อายุ 200 ปี เราก็จัดทีมขึ้นไปเที่ยวชมโกดัง De Siam ที่เชียงใหม่ ทีมงานก็ว้าวกันมาก แต่ก็เป็นโจทย์ที่ยากมากด้วย ว่าจะเอางานศิลปะเข้าไปอยู่ในนั้นได้ยังไง ก็คุยกันหลายรอบ กว่าจะลงตัว โดยเราใช้พื้นที่ในโกดังเก็บเฟอร์นิเจอร์เก่าเป็นพื้นที่แสดงงานด้วย จนเกิดเป็นงานอาร์ตแฟร์ที่ชื่อว่า Treasure Discover ที่คุณท็อปเป็นคนตั้ง โดยเราคิดเลือกศิลปินจากภาคเหนือ โดยเน้นที่เชียงใหม่ ให้เขาเสนอผลงาน และจัดงานในช่วง Chiang Mai Design Week เรามีรถโบราณจัดแสดงในงาน เรามีดนตรีเล่นสดในสวน มีศิลปินเบอร์ต้นๆ ของเชียงใหม่ ไม่ว่าจะ C.A.P Studio ของ กิติก้อง (ติลกวัฒโนทัย) แกลเลอรี Seescape ของ ต่อลาภ ลาภเจริญสุข มีโซนโกดังที่คิวเรตโดย มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ จาก Toot Yung Art Center ส่วนในโซนหลองข้าว เราได้รับเกียรติจากศิลปินรุ่นใหญ่ และศิลปินแห่งชาติอย่างหอศิลป์อาจารย์อินสนธิ์ วงค์สาม, หอศิลป์อาจารย์จรูญ บุญสวน, Museum of Something (MOS) และศิลปินจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่อาร์ตมิวเซียม, หอศิลป์สันกำแพง รวมถึงศิลปินสตรีทอาร์ตอย่างกลุ่ม Dream Space Gallery, ศิลปินเซรามิก และศิลปินรุ่นใหม่อีกมากมาย

ศิลปินที่มาออกงาน Mango Art Festival มีผลตอบรับยังไงบ้าง

ศิลปินที่มาออกงานส่วนใหญ่มียอดขายที่ดี เพราะว่างานนี้เป็นหมุดหมายของการซื้อ-ขายงานศิลปะในบ้านเรา บางบูทก็ Sold Out ตั้งแต่วันแรกเลย แต่ฟีดแบ็กโดยรวมเราก็ยังไม่รู้ว่ามีแค่ไหน เพราะเราอาจจะยังไม่มี KPI (ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ) ตรงนั้น แต่พองาน Mango Art Festival ปี 2565 จบเดือนพฤษภาคม เราให้จองบูทสำหรับปี 2566 ในเดือนสิงหาคม-กันยายนก็จองกันเต็มหมดแล้ว จนเราต้องมาคุยกับทาง River City ให้หาพื้นที่ว่างเพิ่มให้เรา จนในที่สุดเราก็ได้พื้นที่มาประมาณ 30 กว่าสเปซ 

นี่น่าจะเป็นเครื่องยืนยันว่าการซื้อ-ขายเกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นแค่การขายกันเองภายในประเทศเท่านั้น เพราะปีที่แล้วการระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศไม่สะดวกแบบปีนี้ ในปีนี้เรามีทั้งศิลปินต่างชาติ แกลเลอรีต่างชาติ มีการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยน หรือการเชื่อมโยงที่จะดึงศิลปินไทยไปแสดงในต่างประเทศ หรือศิลปินต่างประเทศเข้ามาแสดงที่เมืองไทย ผมว่าดีกว่าปีที่แล้วแน่นอน เนื่องจากปีนี้การระบาดทั่วของโควิด-19 จบไปตั้งแต่ปลายๆ ปีที่แล้ว เราก็มีบูทจากต่างประเทศ ทั้งฟิลิปปินส์, ไต้หวัน, มาเลเซีย, เยอรมนี หรือศิลปินต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งเมียนมา สหรัฐอเมริกา และศิลปินจากยุโรปในหลายๆ ประเทศที่เข้าร่วมในงานนี้ ที่สำคัญคือมีผู้จัดเทศกาล Formosa Art Fair ที่ไทเป ไต้หวัน มาร่วมออกบูทกับเราด้วย โดยเป็นการแลกเปลี่ยนกัน เราให้บูทเขาจัดแสดงที่นี่ แล้วเขาก็จะให้เราไปออกบูทของ Mango Art Festival ที่ไทเป ไต้หวัน ในเดือนสิงหาคมนี้ ตอนนี้เรากำลังคัดเลือกกันว่าเราจะชวนศิลปินท่านไหนไปจัดแสดงที่นั่น

อีกอย่างเรายังได้รับความร่วมมือจากกระทรวงศิลปวัฒนธรรมของประเทศจีนให้เซ็น MOU ร่วมกัน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนการออกบูทในงานอาร์ตแฟร์ที่ประเทศจีนเช่นเดียวกัน จุดประสงค์ที่ผมกับคุณท็อปคุยกันก็คือ ที่ผ่านมาเราเดินทางไปดูงานอาร์ตแฟร์ในหลายประเทศ ทั้ง Art Jakarta ที่ฟิลิปปินส์, Art SG ที่สิงคโปร์, Art Basel ที่ฮ่องกงและสวิตเซอร์แลนด์ เราไปดูกันทุกที่ เราคิดว่าเมืองไทยเรามีศักยภาพพอที่จะเป็น Unique Art Festival หรือ Unique Lifestyle Festival ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในอนาคต ถ้าเราทำแพลตฟอร์มตรงนี้ให้แข็งแรง เราลับคมศิลปินหน้าใหม่ให้เข้มแข็ง เราก็จะโกอินเตอร์ได้ไม่อยาก คุณท็อปเองก็มีโครงการที่จะพาศิลปินไปออกงานอาร์ตแฟร์ที่สหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งจะเป็นขั้นตอนต่อไป

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยไม่ค่อยมีงานอาร์ตแฟร์แบบนี้เกิดขึ้น คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร 

ผมว่าสมัยก่อนระบบนิเวศของวงการศิลปะไทยอาจจะไม่ได้คึกคักแบบทุกวันนี้ เหมือนที่คุณพิริยะ ผู้ก่อตั้ง The Art Auction Center เคยพูดว่า ในบ้านเราสมัยก่อนงานศิลปะเป็นของสูงส่ง คนที่เก็บงานศิลปะต้องเป็นคนในชนชั้นหนึ่งเท่านั้น แต่ผมว่าในช่วงหลายๆ ปีนี้ ในรอบสิบปีก็แล้วกัน สิ่งเหล่านี้ค่อนข้างเปลี่ยนไป มีคนรุ่นใหม่ในความสนใจศิลปะ หรือว่าศิลปะเข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้น มีแกลเลอรีเล็กๆ ใหญ่ๆ เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด สิ่งนี้ทำให้วงการศิลปะบ้านเราเติบโตขึ้น แล้วพอมีงานศิลปะก็มีผู้เสพ ผู้ชมเข้าไปดู ก็เชื่อมโยง เลยทำให้วงการศิลปะมีความคึกคัก และในปัจจุบันงานศิลปะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะเรามีโซเชียลมีเดีย มีเฟซบุ๊ก มีอินสตาแกรม เมื่อก่อนจัดกันที่ไหน? เราจะแจ้งคนดูยังไง? ต้องไปออกทีวีเหรอ? เดี๋ยวนี้ลงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ เราก็รู้แล้ว คนก็ตามไปดูกัน ผมว่าโซเชียลมีเดียนี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศของวงการศิลปะขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว และศิลปินก็ใช้สื่อพวกนี้ในการโพสต์งานตัวเองไปสู่ต่างประเทศใช่ไหม ตอนนี้ศิลปินทุกคนใช้อินสตาแกรมกันหมด

คุณมีเป้าหมายจะผลักดันให้งาน Mango Art Festival ไปถึงไหน

เราตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ปีแรกว่าเราจะไม่ทำให้เป็นอาร์ตแฟร์ที่ดีที่สุดทันที แต่เราจะค่อยๆ ทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จะมีความหลากหลาย มีอะไรพิเศษขึ้นมาทุกปี คือทุกปีต้องไม่เหมือนเดิม ต้องมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามา แต่เราจะไม่บอกว่าคืออะไร ต้องติดตามกันต่อไปครับ

คุณคิดว่าตลาดศิลปะของบ้านเราสามารถเทียบชั้นระดับสากลได้หรือยัง

ผมคิดว่าฝีมือหรือความคิดสร้างสรรค์ของคนทำงานในบ้านเรานั้นไม่แพ้ใครเลย แต่ว่าตลาดเรายังไม่ถึงระดับนั้น ด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง อย่างในสิบปีที่ผ่านมา ทุกคนก็ต้องคิดถึงเรื่องปากท้องกัน จะทำงานสร้างสรรค์ ปากท้องก็ต้องอิ่มก่อนใช่ไหม เราก็ทำราคางานศิลปะให้สูงได้ยาก อย่างในต่างประเทศ งานของศิลปินหน้าใหม่ๆ เขาก็ไปไกลถึงหลักล้านแล้ว แต่ในบ้านเรายังไปไม่ถึงตรงนั้น ในตลาดศิลปะของอินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือแม้กระทั่ง เวียดนาม ราคาเขาไปไกลกว่าเราเยอะ หลัก 100 ล้านก็ยังมี ของเราแพงที่สุดเท่าที่ได้ยินก็ 20 กว่าล้าน เรายังไม่เคยเห็นงานของศิลปินไทยขึ้นไปถึงระดับ 100 ล้านเลย

เพดานเรายังไม่สูง?

แต่ศิลปินบางคนถ้าเกิดไปอยู่ในสังกัดที่ดี ขั้นตอนการทำงานที่ดี อย่างเช่น นที อุตฤทธิ์ นี่อีกหน่อยผมว่าราคาก็จะไต่สูงไปถึงระดับนั้นได้ แต่ถ้ายังอยู่แต่ในบ้านเราก็คงไปได้แค่ 20-30 ล้านก็เยอะที่สุดแล้ว

ท้ายสุด คุณคิดว่าจะทำงาน Mango Art Festival ไปถึงเมื่อไหร่

ใจจริงก็อยากให้มีไปตลอด มีไปเรื่อยๆ แต่เราก็ต้องดูผลตอบรับจากการจัดงานแต่ละครั้งด้วย ถ้าหากทุกคนในวงการศิลปะบ้านเราเห็นว่า Mango Art Festival ควรจะอยู่ต่อไป ก็อยากให้ยื่นมือเข้ามาช่วยๆ กัน อย่าปล่อยให้เราโดดเดี่ยว แต่ยังไงเราก็ทำต่ออยู่แล้ว เพราะว่าเป้าหมายของเราไม่ใช่ธุรกิจเป็นหลัก แต่คือความหลงใหล สัดส่วนของเราคือแพสชั่น 70% ธุรกิจ 30% แต่อย่างไรก็ตามมันก็ต้องเลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงทีมงานได้ด้วย เราอยากให้ Mango Art Festival เข้าไปอยู่ในระบบนิเวศของศิลปะในบ้านเรา เป็นฟันเฟืองเล็กๆ อันหนึ่งที่อยู่คู่กับระบบนิเวศของวงการศิลปะในประเทศไทย

Writer

คอลัมนิสต์ นักเขียน นักสัมภาษณ์ พ่อบ้านลูกสอง ผู้เบื่อหน่ายระบบการศึกษาในสถาบันศิลปะ แต่สนใจการผสมผสานศิลปะหลากสื่อต่างแขนงเข้าด้วยกัน และมุ่งมั่นในการสลายเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างศิลปะ ดีไซน์ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมร่วมสมัย และเรื่องราวรอบๆ ตัวทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like