ประเพณีบะเก่าของเฮาสืบมา

‘ลูกหลานป้อจาย’ กลุ่มนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ผู้ขับเคลื่อนประเพณีเก่าแก่ล้านนา 

“ในสังคมชนบทของภาคเหนือ เวลาวัดจะจัดงานบุญขึ้นมาสักงาน และต้องการแรงงานมาช่วยจัด เขามักจะประกาศออกเสียงตามสายว่าขอแรง ‘ลูกหลานป้อจาย’ มาช่วยกันหน่อย 

“คำว่า ‘ป้อจาย’ เนี่ยเป็นคำเมืองแปลว่าผู้ชาย ซึ่งที่เขาต้องการให้ผู้ชายมาช่วยเนี่ย ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นงานที่ต้องใช้แรง และอีกส่วนคือพอเป็นพิธีกรรมทางศาสนา บางวัดเขาจะมีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าพื้นที่บางส่วน ซึ่งนั่นล่ะ พอเราคิดถึงชื่อกลุ่มในการทำงานด้านศาสนา ชื่อทีมงานลูกหลานป้อจายจึงปรากฏขึ้นเป็นชื่อแรก” แต้มเล่า

“มันน่ารักดีนะ เมื่อมองกันว่าทีมงานลูกหลานป้อจายส่วนใหญ่เป็นกะเทย” ไดซ์เล่าเสริมพร้อมรอยยิ้ม 

ทีมงานลูกหลานป้อจาย คือชื่อของทีมงานออร์แกไนซ์พิธีกรรมและประเพณีด้านพุทธศาสนา อันเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมรุ่นใหม่ นำโดย แต้ม–ทศพร นันต๊ะ นักออกแบบเครื่องประดับและเครื่องสักการะล้านนา และ ไดซ์–ดนัย วรพิศาล ครีเอทีฟจาก Indeed Creation Co., Ltd. 

ทีมงานของพวกเขาอยู่เบื้องหลังการจัดประเพณีสำคัญๆ ของวัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร และวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร สองวัดหลวงเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งไม่เพียงเป็นประเพณีอันวิจิตรตามแบบแผนดั้งเดิม หากยังมีการผสมผสานความร่วมสมัย เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยวได้ซึมซับขนบธรรมเนียมโบราณอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

“กลุ่มของพวกเราไม่ใช่บริษัท แต่เป็นการรวมตัวกันเพื่อทำงานเป็นวาระๆ ไปมากกว่า พี่ไดซ์จะทำด้านออร์แกไนซ์ ส่วนผมทำเรื่องงานออกแบบเป็นหลัก และเราก็ชวนเพื่อนที่เป็นช่างฟ้อน คนทำเครื่องสักการะ คนออกแบบเครื่องแต่งกาย ช่างแต่งหน้า-ทำผม หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่นๆ มาร่วมงานด้วย หรือมองอีกมุมคือมาร่วมสังสรรค์กันมากกว่า” แต้มเล่า

จุดเริ่มต้นของทีมงาน มาจากการที่แต้มได้รับว่าจ้างจากวัดพระสิงห์ฯ ให้ออกแบบและจัดสร้างราชรถสำหรับอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ในเทศกาลปีใหม่เมือง (สงกรานต์) เมื่อ 4 ปีก่อน เมื่อราชรถเสร็จสิ้น ทางวัดก็ชวนให้เขาออร์แกไนซ์พิธีกรรมและขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำทั่วเมืองไปด้วย แต้มจึงชวนไดซ์ รุ่นพี่ที่สาขาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ ผู้เคยร่วมกับคณะอาจารย์และนักศึกษาจัดพิธีแห่พระบรมธาตุศรีจอมทองเข้าเวียงเชียงใหม่ เมื่อปี 2559 และงานอื่นๆ มาร่วมออกแบบและควบคุมกระบวนการนี้ 

ขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ในปีนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี พวกเขาจึงได้รับความไว้วางใจจากวัดให้รับผิดชอบการจัดพิธีกรรมสำคัญๆ ของวัดตั้งแต่สงกรานต์ ยี่เป็ง (ลอยกระทง) และอื่นๆ ตลอดปีตั้งแต่นั้น 

ชื่อเสียงของพวกเขายังไปเข้าหูคณะศรัทธาวัดดังอีกแห่งอย่างวัดเจดีย์หลวงฯ ก่อนจะชวนพวกเขาให้เป็นผู้จัดพิธีอัญเชิญพระเจ้าฝนแสนห่าในประเพณีบูชาเสาอินทขิล อีกหนึ่งประเพณีเก่าแก่ของล้านนาที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งทีมงานรับผิดชอบงานนี้ต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว

“เราอยู่กับสิ่งนี้มาตั้งแต่เด็ก” ไดซ์เล่า “ในภาคเหนือจะมีประเพณีทางพุทธศาสนาเฉพาะของแต่ละวัดให้เราได้ซึมซับ บวกกับที่พวกเราเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์วิถี พานิชพันธ์ ผู้เป็นหนึ่งในผู้ฟื้นฟูศิลปะล้านนาคนสำคัญของประเทศ เราเลยมีโอกาสได้เรียนรู้งานออกแบบพุทธศิลป์ล้านนาอย่างลงลึก รวมถึงได้เป็นทีมงานจัดพิธีและงานแสดงล้านนาต่างๆ มาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว” 

ขอบเขตงานของทีมงานลูกหลานป้อจายครอบคลุมตั้งแต่การจัดรูปแบบพิธีกรรม การทำเครื่องสักการะ การจัดขบวนฟ้อนรำสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการแสดงประกอบงาน 

ไดซ์เล่าต่อว่าเวลาทำงานด้านประเพณีเหล่านี้ หัวใจสำคัญคือการกลับไปสำรวจรูปแบบและองค์ประกอบของประเพณีอย่างลึกซึ้ง 

“คิดว่าคนเมื่อสามร้อยกว่าปีก่อนเขาจะจัดงานกัน เขาต้องทำอะไรบ้าง เราก็จะทำแบบนั้นโดยประยุกต์องค์ประกอบให้มันสอดรับกับปัจจุบัน” 

พวกเขาศึกษารายละเอียดเหล่านี้จากเอกสารโบราณ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ไปจนถึงองค์ความรู้เรื่องพิธีกรรมและเครื่องแต่งกาย เพื่อทำให้ภาพของพิธีกรรมที่พวกเขาจัดตรงตามประวัติศาสตร์มากที่สุด

“บางคนมักตั้งแง่ว่าเพราะผู้จัดอย่างพวกเราเป็นกะเทย ประเพณีดั้งเดิมจึงมีความเว่อร์วังเกินจริง แต่เดี๋ยวก่อน ทุกองค์ประกอบเรามีการอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้หมด ยิ่งงานเกี่ยวกับศาสนายิ่งต้องสำรวม อย่างไรก็ดี เมื่องานมันถูกจัดในบริบทปัจจุบัน เราจึงไม่ได้คิดถึงแค่เฉพาะการทำขบวนแห่เพื่อสักการะ แต่ยังคิดถึงการดึงดูดให้คนมาร่วมชมงาน รวมถึงการทำเรฟเฟอเรนซ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมสำหรับงานต่อๆ ไป” 

ไดซ์ยกเครดิตให้กับงานไหว้สาแม่ฟ้าหลวง ณ ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ที่ริเริ่มโดยอาจารย์นคร พงษ์น้อย มาตั้งแต่ปี 2527 ในฐานะแบบเบ้าของการจัดขบวนพิธีล้านนาอันยิ่งใหญ่ อันส่งผลทำให้หลายจังหวัดในภาคเหนือหันมารื้อฟื้นศิลปวัฒนธรรมของตัวเอง รวมถึงการจัดขบวนวัฒนธรรมประจำจังหวัด 

“เราว่ามันไม่ใช่แค่การจัดงานสวยๆ ตามประเพณีแล้วจบไป แต่ความที่ทรัพยากรและบุคลากรในการจัดงานทุกอย่างมาจากชุมชนเมืองของเรานี่แหละ ทั้งช่างทอผ้า ช่างฟ้อน ช่างฝีมือต่างๆ รวมถึงชุมชนดั้งเดิมที่มาช่วยกันจัดงาน 

“โดยเฉพาะในเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางของคนทำงานด้านนี้ของภาคเหนือด้วย การจัดประเพณีขึ้นมาจึงหมายถึงการหมุนเวียนรายได้ให้ผู้คนและชุมชน ที่สำคัญยิ่งมีการจัดงานต่อเนื่อง มันยังช่วยส่งต่อองค์ความรู้ไปยังคนรุ่นใหม่ไม่ให้มรดกทางวัฒนธรรมสูญหาย” ไดซ์กล่าว

“อีกเรื่องที่สำคัญคือ ถ้าไม่มีกะเทย แวดวงศิลปวัฒนธรรมของเมืองอาจมาไม่ถึงจุดนี้ก็ได้นะ” แต้มเสริม “ไม่ใช่บอกว่าพวกเราทำได้ดีกว่า แต่มันอาจไม่มีคนละเอียดอ่อนใส่ใจอย่างลงลึก และจริงจังกับการทำให้สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกลับมามีชีวิตชีวาในยุคปัจจุบัน เพราะกะเทยนี่แหละคือผู้นำทางจิตวิญญาณล้านนา” เขาทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม 

Writer

นักเขียนและนักแปลอิสระ บางครั้งก็หันมาเขียนวรรณกรรม ทำงานศิลปะ และบทภาพยนตร์บ้าง ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เชียงใหม่

Photographer

ชีวิตผม ชอบการเดินทาง ชอบทำอาหาร และรักการบันทึกความทรงจำด้วยภาพถ่าย

You Might Also Like