MAT(CH) MAKING

จากแสงเงายามเย็นที่บาร์เซโลนาสู่ ‘La sombra’ เสื่อจาก PDM x TUNA Dunn

THE BRAND

PDM BRAND คือแบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านที่ก่อตั้งในปี 2557 โดยแมนรัตน์ สวนศิลป์พงศ์ และดุลยพล ศรีจันทร์ สองพาร์ตเนอร์ผู้อยากสร้างความแปลกใหม่ในการแต่งบ้านให้คนไทย ด้วยความเชื่อของแบรนด์ว่า Product Design Matters พวกเขาสร้างสรรค์ไอเทมดีไซน์สวย คุณภาพดี วางมุมไหนของบ้านก็ดูมีรสนิยม

เริ่มต้นจากเสื่อที่ฉีกกฎเสื่อแบบไทยๆ ด้วยกราฟิกลวดลายเก๋ไก๋ ทนทานเพราะสร้างจากวัสดุที่คัดแล้วคัดอีก แถมยังมีหลายฟังก์ชั่นอย่างการใช้ได้สองด้าน กันน้ำ กันฝุ่น พ่วงสรรพคุณอีกสารพัด แต่เพราะมันสวยและทน (เกินไป) นี่แหละทำให้ลูกค้าไม่ได้มาซื้อซ้ำบ่อยๆ PDM BRAND จึงต้องปล่อยโปรดักต์ใหม่ๆ มาให้แฟนคลับเจ้าประจำพรีออร์เดอร์กันทุกไตรมาส ซึ่งนอกจากเสื่อหลายรูปทรง ยังมีเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้านอย่างเก้าอี้สตูล โต๊ะญี่ปุ่น ร่ม ชุดผ้ารองจาน และสารพัดของใช้ในบ้าน

นอกจากจะมีดีไซเนอร์ประจำ PDM BRAND ยังขยันชักชวนคนในแวดวงดีไซน์มาออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกันเพื่อสร้างมิติใหม่ให้สินค้าบ้านๆ อยู่เสมอ

หนึ่งในนั้นคือ TUNA Dunn

THE ARTIST

TUNA Dunn เป็นชื่อในวงการของ ตุล–ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต ศิลปินไทยที่หลายคนอาจรู้จักในฐานะนักวาดการ์ตูนผู้บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ผ่านลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งที่เผยแพร่ในสื่อโซเชียลฯ และหนังสือของสำนักพิมพ์แซลมอน อย่าง I LIKE LIKE YOU, BEST BEFORE ฯลฯ

แต่ความจริงแล้วตุลยาเป็นมากกว่านักวาดการ์ตูน เธอเคยเป็น Visual Designer ที่ฟังใจอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะบินไปเรียนต่อปริญญาโทที่อังกฤษ แล้วกลับมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัวที่ไทย พร้อมแพสชั่นในการทดลองสิ่งใหม่ๆ ในเขตแดนที่เธอไม่เคยก้าวถึงซึ่งพกมาเต็มกระเป๋า ทั้งการจัดนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว และการกระโดดไปจอยกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อพัฒนาโปรดักต์ร่วมกัน

หนึ่งในนั้นคือ La sombra เสื่อที่เธอออกแบบร่วมกับ PDM BRAND

บ่ายวันแดดร่ม เราจึงนัดกับทีมผู้อยู่เบื้องหลังเสื่อผืนสวยที่ว่า อันประกอบไปด้วยตุลยา, จิ๊บ–รัตติยา บุญรินทร์ และเจอร์รี่–พัชรภรณ์ พิกุลแก้ว Communication Designer ประจำ PDM BRAND เพื่อพูดคุยกันถึงโปรเจกต์นี้

PDM BRAND x TUNA Dunn

ก่อนหน้านี้ PDM BRAND ไปชวนดีไซเนอร์หลายๆ คน มาออกแบบสินค้าร่วมกัน การกระโดดไป collaboration กับดีไซเนอร์เหล่านั้นสำคัญกับแบรนด์ยังไง

รัตติยา : PDM เราค่อนข้างเปิดกว้าง ทุกคนในทีมจะมีความเป็นดีไซเนอร์ในตัวเองอยู่แล้ว และเราจะชื่นชอบดีไซเนอร์ที่เก่งๆ ที่มีเอกลักษณ์ในงาน  

เราเสพงานทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นงานของนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ กราฟิกดีไซน์ นักวาดภาพประกอบ PDM ชอบทั้งหมด และตัวแบรนด์เราพยายามตามหาไวบ์ใหม่ๆ เข้ามาสร้างสีสัน อย่างช่วงหลายปีมานี้เราคอลแล็บกับหลายแบรนด์ มีดีไซเนอร์หลายคนออกแบบโปรดักต์ให้ นอกจากแค่ลายเสื่อที่เป็นโปรดักต์หลักของ PDM ก็จะมีพวกเฟอร์นิเจอร์ที่เราให้ดีไซเนอร์ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งชิ้นเลย

เรามองว่าถ้าเราออกแบบกันเองในทีม สินค้าของ PDM จะมีแค่มิติเดียว และมาจากมุมมองของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่การมีดีไซเนอร์ใหม่ๆ ทำให้โปรเจกต์ของเราหลากหลาย แถมงานของดีไซเนอร์แต่ละท่านเขาก็จะยูนีก มีกลิ่นอายไม่เหมือนกัน ทำให้โปรดักต์แต่ละตัวไม่น่าเบื่อ น่าสนใจขึ้น สนุกขึ้น ลูกค้าก็ได้เห็นอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาด้วย

อะไรทำให้ PDM BRAND สนใจร่วมงานกับ TUNA Dunn

รัตติยา : เรามีลิสต์ของศิลปินที่อยากทำงานด้วย เป็นลิสต์ที่ฝันไว้แต่ไม่รู้จะได้ทำงานด้วยกันหรือเปล่า (ยิ้ม) ซึ่งคุณทูน่าอยู่ในลิสต์นั้น น้องๆ ในทีมของเราชอบงานคุณทูน่าอยู่แล้ว จิ๊บเลยลองติดต่อไป ตอนแรกไม่มั่นใจด้วยว่าจะได้ร่วมงานไหม เขาอาจจะงานเยอะหรือเปล่า พอเขาตอบตกลงก็ตื่นเต้นมาก รอชมผลงานมาก

แล้ว PDM BRAND ในสายตาของ TUNA Dunn เป็นยังไง อะไรทำให้คุณตอบตกลง

ตุลยา : จริงๆ ก็ติดตาม PDM มาตลอด อยากได้เฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นมาก (หัวเราะ) ก็รู้สึกดีใจที่เขามาชวนไปทำงานด้วยกัน

ทั้งๆ ที่ PDM BRAND มีสินค้าหลายตัว ทำไมถึงเลือกทำเสื่อร่วมกัน

ตุลยา : ตอนแรกทาง PDM อยากให้ทำเป็นคอลเลกชั่นแคนวาสเหมือนที่เคยคอลแล็บกับศิลปินท่านอื่นๆ แต่พอดีเราอยากทำโปรดักต์ที่เป็นไลน์อื่นด้วย และเสื่อหรือพรมของ PDM ก็ค่อนข้างเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว

รัตติยา : แรกเริ่ม เราแชร์มุมมองให้คุณตุลว่ามีโปรดักต์ไหนของ PDM ที่พอจะ apply กับงานออกแบบได้บ้าง ข้อจำกัดของโปรดักต์แต่ละตัวเป็นยังไง เล่นสีได้มากแค่ไหน และคิดว่าไหนๆ คุณตุลก็ออกแบบงานให้แล้วก็น่าชวนมาออกแบบเสื่อ เพราะเสื่อเป็นไอเทมที่เราคิดว่าอิมแพ็กต์ดี คุณตุลน่าจะยังไม่เคยทำ ถ้าเราเอาภาพของคุณตุลมาทอลงเสื่อจะเป็นยังไง

โจทย์ที่ให้กับ TUNA Dunn คืออะไร

รัตติยา : เราให้อิสระ เพราะเราชอบงานของคุณตุลอยู่แล้วเลยอยากให้เป็นงานสไตล์คุณตุลเลย ก่อนออกแบบก็บอกแค่ว่าเทคนิคการทอมันเป็นยังไง สีใช้ได้กี่สี แล้วเราก็ส่งวัสดุไปให้คุณตุลเลือก นอกจากนั้นก็อยากให้คุณตุลทำงานที่สามารถ apply ได้หลายโปรดักต์ โจทย์มีแค่นี้เลย

ธงที่ TUNA Dunn ตั้งไว้ในใจระหว่างออกแบบคืออะไร

ตุลยา : สิ่งที่ต้องคิดอยู่ตลอดระหว่างการทำงานคือพอมันอยู่ในพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า มันก็จะให้อารมณ์เหมือนทำงานแคนวาส แต่เราก็ไม่ได้อยากทรีตให้มันเป็นแค่แคนวาส แต่อยากให้มันถูก adapt ไปเป็นของแต่งบ้าน 

สิ่งที่อยู่ในหัวตอนที่ทำก็คือไม่ได้อยากออกแบบอะไรที่เหมือนแค่วาดภาพหนึ่งภาพแล้วมันกลายเป็นเสื่อ แน่นอนว่าเรามีคอนเซปต์ เรามีเรื่องที่จะเล่า แต่เราก็อยากให้มันเป็นของแต่งบ้านชิ้นหนึ่งโดยที่ไม่ต้องถูกทรีตว่าเป็นอาร์ตเวิร์กขนาดนั้นด้วย

ก่อนหน้านี้ TUNA Dunn ก็เคยไปจับมือออกแบบผลงานให้แบรนด์อื่นมาแล้ว แล้วความรู้สึกในการคอลแล็บครั้งนี้ต่างจากครั้งที่ผ่านมายังไง

ตุลยา : ก่อนหน้านี้เราออกแบบเสื้อผ้าก็จะคำนึงถึงงานในมุมที่ต่างไป เราต้องคิดว่าลายนี้คนจะใส่ไหม คุยกับแบรนด์ว่ามันดูเข้ากันไหม มีข้อจำกัดอะไรเรื่องการตัดเย็บ แต่ครั้งนี้กับแบรนด์ PDM มันค่อนข้างชัดอยู่ว่างานจะออกมาบนพื้นที่แบนๆ ซึ่งส่วนมากเป็นซับเจกต์ เราก็ต้องคิดว่าถ้ามันไปอยู่ในบ้านคนจะโอเคไหม เรื่องวัสดุก็ไม่เหมือนกัน บางแบรนด์เอางานของเราไปสกรีน บางแบรนด์เอาไปพิมพ์ดิจิทัลลงบนผ้า แต่ PDM เอาไปทอ ซึ่งเป็นวัสดุใหม่ที่เราไม่เคยได้ทำ 

รัตติยา : โชคดีที่ PDM มีโรงงานที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว เราเลยพยายามทำให้ชิ้นงานออกมาเหมือนกับที่ดีไซเนอร์ต้องการถ่ายทอดมากที่สุด ก่อนเริ่มงานเราชี้แจงคุณตุลให้เข้าใจว่าการทอเสื่อมันได้มากสุดแค่ 4 คู่สีนะ และลายอาจจะซับซ้อนมากไม่ได้ ลายเส้นคนเล็กๆ อาจจะทำไม่ได้ ควรเป็นกราฟิกที่ไม่ซับซ้อนมาก แถมเส้นพลาสติกก็จะไม่ได้เป็นสีทึบ แต่จะมีความโปร่งอยู่เล็กน้อย การผสมแต่ละสีก็จะทำให้เกิดเอฟเฟกต์ที่ต่างกัน ซึ่งตรงนี้คือความรู้ที่เราเก็บสะสมประสบการณ์มาจากการทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ท่านอื่นๆ ด้วย

รู้มาว่าลวดลายของเสื่อผืนนี้มาจากประสบการณ์การท่องเที่ยวของคุณที่บาร์เซโลนา ประสบการณ์ครั้งนั้นสำคัญกับคุณยังไงถึงได้หยิบมาถ่ายทอดในงานชิ้นนี้

ตุลยา : เพราะไม่ได้เที่ยวเลยในช่วงโควิด ทำให้เราคิดถึงช่วงเวลาที่ได้ไปเที่ยวค่อนข้างเยอะ ตอนไปเรียนต่อปริญญาโทที่อังกฤษ เรามีโอกาสได้ไปบาร์เซโลนา ซึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ไปเที่ยวต่างประเทศคนเดียว ไม่ได้ไปกับเพื่อน 

เรารู้สึกว่าการอยู่กับตัวเองมันอิสระมาก ไม่เคยไปเที่ยวแล้วรู้สึกอิสระขนาดนี้มาก่อน วันที่ไปเราไม่ได้จัดตารางท่องเที่ยวให้แน่น มันเลยมีเวลาว่างระหว่างวันคือก่อนจะถึงเวลาอาหารเย็น เราไม่ได้ทำอะไรเลย ไปเดินริมหาดคนเดียว แกล้งเล่นบทคนในพื้นที่ จังหวะนั้นเราเห็นแสงตกกระทบตรงรั้วทางเดินด้านบนเกิดเป็นเงา รู้สึกว่ามันสวยมากเลยถ่ายคลิปเก็บไว้ รู้สึกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่มีค่าพอๆ กับตอนที่ไปแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เลย

เราหยิบโมเมนต์ตรงนั้นมาตีความออกมาเป็น La sombra (แปลว่า เงา) ซึ่งในเงาที่ตกสะท้อนนั้นมันซ่อน silhouette ของคนไว้อยู่ เงานั้นก็เหมือนได้สะท้อนตัวตนของเราไปพร้อมกัน

แฟนๆ ของ TUNA Dunn หลายคนจำคุณได้ในฐานะคนวาดคอมิกที่มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์ ทำไมงานชิ้นนี้ถึงเลือกเล่นลวดลายเกี่ยวกับแสงและเงา ไม่ใช่ลายเส้นที่คนเห็นแล้วจำได้เลยว่าเป็นคุณ

ตุลยา : ถ้าคิดจาก logic ก่อนก็คืองานสไตล์นั้นแต่งบ้านยาก (หัวเราะ) หลังๆ เราก็ไม่ค่อยทำงานสไตล์นั้นอยู่แล้ว จริงๆ มันก็เสี่ยงนิดหน่อย ตอนแรกที่ทำส่ง PDM ไปเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะบางทีเวลาเราทำงานอะไรที่มันค่อนข้างแอ็บสแตรกท์ ลูกค้าบางที่เขาก็อาจจะไม่ได้อยากได้แบบนี้ แต่เราก็รู้สึกว่ามันน่าจะเวิร์กกับ PDM ได้ ด้วยไดเรกชั่นของงานที่เรากำลังเดินหน้าเข้าหาอยู่ตอนนี้ โชคดีที่ PDM ชอบหมดเลย (หัวเราะ) เราคิดว่ามันก็เหมาะสมกับการที่มันเป็นงานออกแบบของแต่งบ้านมากกว่า

ความพิเศษของเสื่อผืนนี้ที่แตกต่างจากเสื่อในตลาดคืออะไร

พัชรภรณ์ : นอกจากลายที่ออกแบบโดย TUNA Dunn แล้ว PDM จะใช้เส้นพลาติกรีไซเคิลในการทอ เส้นพลาสติกนี้เวลาทอจะทำให้เสื่อที่เราเราทอแน่นกว่าเสื่อทั่วไป 30 เปอร์เซ็นต์

รัตติยา : เราเริ่มพัฒนาเส้นพลาสติกชนิดนี้มาตั้งแต่ตอนก่อตั้งแบรนด์ จากความคิดว่าเราจะทำเสื่อบ้านๆ ให้มันดีขึ้นได้ยังไงเพราะว่าบ้านเราเป็นเมืองร้อน ไม่เหมาะกับพรม เราเลยเพิ่มสารกันยูวีเข้าไปทำให้ใช้งานได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน กันน้ำ กันฝน กันแดด การทอแน่นขึ้นทำให้เสื่อหนา ทน เหนียว ไม่กรอบแตกง่าย อีกข้อดีคือเสื่อของเราสามารถพลิกใช้งานได้ทั้ง 2 ด้าน พอพลิกไปอีกด้านสีกับลายจะมีการ mirror กัน ตอนลูกค้าเอาไปใช้เขาจะรู้สึกว่าคุ้ม

สำหรับ La sombra ดีไซน์นี้ด้านหนึ่งจะเป็นสีเขียวเข้ม อีกด้านหนึ่งจะออกโทนสว่างกว่าหน่อย ใช้เปลี่ยนบรรยากาศได้ นอกจากนี้เราเย็บขอบเสื่อด้วยวัสดุที่ถูกใช้กับเฟอร์นิเจอร์บนเรือยอชต์ ทำให้ลูกค้าไม่ต้องกังวลเรื่องฝุ่นหรือเชื้อรา อีกอย่างที่เพิ่มเติมเข้ามาคือสารช่วยหน่วงการติดไฟ เพราะลูกค้ากลุ่มหนึ่งของเราคือรีสอร์ตและโรงงานที่มักจะกังวลว่าถ้าสมมติมีประกายไฟเกิดขึ้นแล้วมันจะลุกลาม ซึ่งเสื่อของเราผ่านมาตรฐานว่าถ้าโดนไฟแล้วจะไม่ลามค่ะ

PDM BRAND และ TUNA Dunn คาดหวังอะไรจากการคอลแล็บครั้งนี้

ตุลยา : หวังว่าคนจะไม่ตกใจกับความแอ็บสแตรกท์ของงานมากเกินไป (หัวเราะ) แต่เราว่าชิ้นงานนี้ก็ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราทำในปัจจุบันมากๆ เลย เป็นการ express ไดเรกชั่นของงานเราในตอนนี้ และเป็นวิธีที่จะนำงานเราไปอยู่ในบ้านได้โดยที่ไม่ใช่รูปแบบ traditional หรือซื้อรูปเสมอไป มันเป็นการนำเสนอให้เห็นงานเราสามารถอยู่บนพื้นผิว อยู่บนโปรดักต์อื่นๆ ที่ไม่ใช่กระดาษแคนวาสหรือหน้าจอ แต่สามารถแทรกเข้าไปในบ้านและไม่ได้แย่งความสนใจกับของอย่างอื่นๆ มากเกินไป

รัตติยา : ถ้าเป็น PDM เราก็หวังว่าแฟนๆ จะได้เห็นดีไซน์ใหม่ๆ มู้ดใหม่ๆ บรรยากาศใหม่ และหวังว่าแฟน TUNA Dunn จะชอบ PDM เหมือนกัน แน่นอนว่าการคอลแล็บกันทำให้เราขยายฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น มีคนรู้จักแบรนด์เราเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันทุกคนก็ได้เห็นงานที่แปลกใหม่ของดีไซเนอร์ทั้งไทยและต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วยเหมือนกัน

core value หลักของ PDM ที่เราคำนึงถึงเสมอตอนทำโปรดักต์แต่ละตัว คือเรามองว่าการทำธุรกิจมันคงไม่จบที่ของชิ้นเดียวแน่ๆ เราพยายามเสิร์ฟลูกค้าทั้งในแง่ของโปรดักต์ที่แก้ pain point หรือโปรดักต์ที่ทำให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องรีโนเวตบ้านทั้งหลังหรือต้องแต่งบ้านใหม่ทั้งหมด แต่เป็นของที่เขาเอาไปวางได้ง่ายๆ แล้วก็สวยได้ง่ายๆ อะไรแบบนี้ค่ะ

ติดตามและพรีออร์เดอร์เสื่อ La sombra ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กของ PDM BRAND  

Tagged:

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน