นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

J.League Mascot

‘J.League Mascot’ ตัวนำโชคที่โลกต้องรัก

Match : ฟูจิซูเปอร์คัพ 2024 วิสเซล โกเบ 0-1 คาวาซากิ ฟรอนตาเล
Date : 17 กุมภาพันธ์ 2024

ในทุกปีก่อนจะเริ่มฟุตบอลเจลีกฤดูกาลใหม่  ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่เคร่งครัดของฟุตบอลญี่ปุ่น จะต้องมีการเชิญทีมแชมป์มาชนแชมป์เพื่อเป็นเกมเปิดม่านการแข่งขันเสมอ ซึ่งในปีนี้เป็นการพบกันระหว่างวิสเซล โกเบ แชมป์เจ 1 ลีก ปะทะกับคาวาซากิ ฟรอนตาเล แชมป์เอ็มเพอเรอร์คัพ (ซึ่งมีศักดิ์ศรีเท่ากับเอฟเอคัพ) 

เกมในสนามจบลงด้วยชัยชนะของฟรอนตาเล ทีมรักเก่าของชนาธิป สรงกระสินธ์ นักฟุตบอลเบอร์หนึ่งของแฟนชาวไทย ที่เฉือนเอาชนะไปได้ 1-0 

เพียงแต่สงครามที่ดุเดือดไม่ได้จบลงแค่เกม 90 นาทีเท่านั้น เพราะความสนุกของจริงตามมาหลังจากนั้น เมื่อเหล่าตัวนำโชคหรือ ‘มาสคอต’ ของทุกสโมสรในเจลีกต่างลงมาวาดลวดลายเหลือร้าย ส่ายไปส่ายมาดุ๊กดิ๊กบ้าง ยียวนกวนโมโหบ้าง เพื่อเตรียมที่จะมาชิงความเป็นหนึ่งในการประกวดมาสคอตประจำปีนี้

นั่น! หมี น้องหมา ปลาโลมา เทพเจ้าสายฟ้า เล่นอะไรกันไม่รู้ปั่นป่วนไปหมดแล้วข้างสนาม

ที่ประเทศญี่ปุ่นเราจะได้เห็นบรรดาตัวการ์ตูนน่ารักน่าเอ็นดูมากมายปรากฏกายอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะตามสถานีรถไฟ ในห้างสรรพสินค้า ตามแหล่งช้อปปิ้งต่างๆ โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่เพียงในเขตเมืองใหญ่เท่านั้น เพราะเมืองเล็กก็มีเหมือนกัน เรียกได้ว่าไปที่ไหนก็จะได้เห็นอยู่เสมอ แม้กระทั่งคุกก็มีเหมือนกัน!

ตัวการ์ตูนเหล่านี้คือ ‘มาสคอต’ หรือตัวนำโชค ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้นำมาเพียงแค่โชคลาภ แต่ยังนำมาซึ่งชื่อเสียงและเงินทองด้วย โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นที่โอบกอดเหล่าตัวนำโชคเหล่านี้ด้วยความรักและความยินดี

พวกเขายอมรับและยอมรักมากจนทำให้เกิดวัฒนธรรมมาสคอตเฉพาะของญี่ปุ่นเองที่เรียกว่า ‘Yuru-Chara’ ซึ่งมีกฎ 3 ข้อง่ายๆ ด้วยกัน

1. มาสคอตจะต้องเป็นตัวแทนความรักของเมืองบ้านเกิดหรือภูมิภาคบ้านเกิด

2. มาสคอตจะต้องมีท่าทางหรือพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ต้องไม่นิ่ง ดูแตกต่าง

3. มาสคอตจะต้องไม่จริงจังหรือเป็นพวกสบายๆ 

สิ่งที่จุดประกายกระแสนี้ขึ้นมาคือ ‘โดโมคุง’ (Domo-Kun) มาสคอตประจำสถานีโทรทัศน์ NHK ที่เกิดขึ้นมาฉลองครบรอบ 10 ปีของสถานีในปี 1998 และ Hello Kitty ตัวละครดังที่เป็นมาสคอตของการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นในปี 2008

แต่ถ้าถามถึงมาสคอตที่โด่งดังที่สุด หลายคนน่าจะรู้จักคือ ‘คุมะมง’ (Kumamon) เจ้าหมีสีดำตากลมแก้มแดง ที่ยียวนกวนประสาทเป็นที่สุด แต่ก็น่ารักจนกลายเป็นตัวละครที่มีคนรู้จักทั่วโลก และทำให้คนได้รู้จักกับเมืองคุมาโมโต (Kumamoto) เมืองบ้านเกิดของเจ้าคุมะมงไปด้วย

แถมให้อีก 2 ตัวคือเจ้า ‘ดองเพน’ (Donpen) กับ ‘ดองโกะ’ (Donko) เพนกวินน้อยที่ใครไปห้างดอง ดอง ดองกิ ต้องเคยเห็นอย่างแน่นอน

แต่ความจริงแล้วก่อนหน้าจะมีตัวละครเหล่านี้ ในประเทศญี่ปุ่นมีกลุ่มอัศวินมาสคอตผู้โด่งดังและยืนอยู่แถวหน้าของวงการมาโดยตลอด (ฟังดูเท่ชะมัด!) นั่นคือเหล่ามาสคอตของสโมสรฟุตบอลเจลีก

‘โดเลคุง’ นกฮูกแห่งทีมคอนซาโดล ซัปโปโร 

‘ชิคาโอะ’ กวางเขาเหล็กแห่งทีมคาชิม่า แอนต์เลอร์ส

‘กัมบะบอย’ เด็กสายฟ้าแห่งทีมกัมบะ โอซาก้า

‘แกรมปัสคุง’ เจ้าวาฬเพชฌฆาตแห่งทีมนาโกย่า แกรมปัส เอต

เจ้านกนางนวล ‘มาริโนสุเกะ’ แห่งทีมโยโกฮาม่า เอฟ. มารินอส

และเจ้ากระต่ายสีส้ม ‘พัลจัง’ แห่งทีมชิมิซุ เอส-พัลส์

เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายคนน่าจะเคยได้เห็นผ่านตากันมาบ้าง หรือดีไม่ดีอาจจะมีตุ๊กตา ของใช้ ของที่ระลึกเก็บสะสมกันบ้างใช่ไหม

แต่ถ้ายังไม่รู้จักก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร ขอเวลาสักไม่เกิน 10 นาทีนับจากตัวอักษรนี้ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังนะครับ 🙂

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักและเข้าใจกับสิ่งไม่มีชีวิตแต่มีชีวาอย่าง ‘มาสคอต’ กันพอสังเขปครับ

มาสคอตนั้นไม่ได้เป็นสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมใหม่อะไรของโลก แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ตามบันทึกประวัติศาสตร์ มาสคอต (mascot) นั้นแท้จริงแล้วมาจากคำว่า ‘mascotte’ ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส มีความหมายถึง ‘ตัวนำโชค’

ที่มาที่ไปนั้นจริงๆ แล้วเป็นคำสแลงที่คนเมืองน้ำหอมเขาใช้กันในเวลาเล่นพนัน (เพราะคำว่า masco นั้นหมายถึงผู้วิเศษหรือแม่มด) 

คำว่า mascotte มีการบันทึกว่าถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 1867 โดย เอ็ดมงด์ โอดราน (Edmond Audran) ที่แต่งบทประพันธ์ La mascotte และมีการนำมาแสดงเป็นละครโอเปราในปี 1880 ก่อนที่อีกหนึ่งปีถัดมาคนอังกฤษได้มีการบัญญัติคำว่า mascot ขึ้น โดยให้ความหมายถึงสิ่งมีชีวิตที่เป็นตัวแทนขององค์กรในรูปของสัญลักษณ์หรือโลโก้ที่มีชีวิต

ในยุคแรกนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตจริงๆ เช่น สัตว์นำโชค หรือในอังกฤษมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ยังมีถึงทุกวันนี้คือเด็กนำโชคที่จะเดินนำทีมฟุตบอลลงสนาม

ก่อนที่วงการมาสคอตจะค่อยๆ พัฒนาขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับอิทธิพลจากการแสดงหุ่นกระบอกดังอย่าง จิม เฮนสัน (Jim Henson) ผู้สร้าง ‘The Muppets’ และซิดแอนด์มาร์ตีครอฟต์ (Sid and Marty Krofft) จนนักการตลาดเกิดปิ๊งไอเดียนำมาต่อยอดจนกลายเป็นตัวนำโชคที่น่ารักสดใสในแบบปัจจุบัน

เพราะนักการตลาดมองเห็นพลังในตัวของมาสคอตที่สามารถเป็นตัวแทนในการถ่ายทอดเรื่องราวได้ดีและแยบยลที่สุดอย่างหนึ่ง

และแน่นอนว่าวงการที่เอามาใช้สร้างสีสันกันอย่างแพร่หลายที่สุดก็คือวงการกีฬานั่นเอง ซึ่งถ้าใครเคยดูอเมริกันเกมอย่างอเมริกันฟุตบอล NFL, บาสเกตบอล NBA หรือเบสบอล MLB ก็จะเห็นความป่วนมันฮาของเหล่ามาสคอตที่เล่นใหญ่ระดับจ้างร้อยเล่นล้านเสมอ

แต่สำหรับที่ญี่ปุ่น โดยเฉพาะในฟุตบอลเจลีกแล้วมาสคอตของพวกเขามีความแตกต่างและมีอิทธิพลที่มากกว่านั้น

สำหรับฟุตบอลเจลีก มาสคอตถูกมองว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญสำหรับการสร้างแบรนด์เจลีกตั้งแต่วันเริ่มก่อตั้งเลยทีเดียว

เรื่องราวต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 90 หรือร่วม 30 ปีที่แล้ว หลังจากที่มีการประกาศว่าจะมีการก่อตั้งลีกฟุตบอลอาชีพอย่างจริงจังในประเทศญี่ปุ่น โดยในรูปแบบและโครงสร้างได้ส่งคนไปศึกษาที่บุนเดสลีกาในประเทศเยอรมนี อีกสิ่งที่ถูกมองว่าสำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของแบรนด์

เพื่อให้เจลีกสะดุดตาและสะดุดใจผู้ชม ได้มีการว่าจ้างมืออาชีพเข้ามาดูแลเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ ซึ่งนอกจากจะมีการกำหนดธีม (theme) สีสันของแต่ละทีม ที่จะต้องสอดคล้องเข้ากับเมืองที่ตั้งของทีมอันเป็นหัวใจของลีกฟุตบอลอาชีพ เพราะเดิมสโมสรฟุตบอลญี่ปุ่นก็คือสโมสรของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ แต่หลังการศึกษาแล้วพวกเขาเชื่อว่าทีมฟุตบอลอาชีพควรเป็นทีมของท้องถิ่น เป็นสมบัติของชาวเมืองจึงจะยั่งยืน

แต่เพื่อจะสร้างความผูกพันระหว่างสโมสรกับแฟนฟุตบอลเข้าด้วยกัน จำเป็นที่จะต้องมีสิ่งที่จะเป็นสะพานประสานใจ คนที่นอกจากจะเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของสโมสรที่ต้องการจะสื่อออกไปแล้ว ยังต้องเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นที่รักของทุกคน 

หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาช่วยสร้างประสบการณ์ (brand experience) การรับชมฟุตบอลเจลีก ซึ่งสิ่งนั้นคือมาสคอตหรือตัวนำโชคนั่นเอง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้การออกแบบมาสคอตของเจลีกจึงเป็นวาระใหญ่ระดับชาติทันที และงานนี้คนที่มาออกแบบก็ต้องเป็นยอดฝีมือระดับซามูไรขั้นเทพเหมือนกัน

หนึ่งในคนที่ได้มาร่วมออกแบบมาสคอตของ 10 สโมสรแรกในเจลีกที่เรียกกันว่า ‘The Original 10’ คือกาย กิลคริสต์ (Guy Gilchrist) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมออกแบบตัวละครให้ The Muppets รายการหุ่นเชิดขวัญใจเด็กๆ ทั่วโลก และมีส่วนร่วมในการออกแบบ Teenage Mutant Ninja Turtles หรือ ‘เต่านินจา’ (หรือจะนินจาเต่าก็ได้) 

จริงๆ การมีส่วนร่วมของกิลคริสต์กับเจลีกก็ถือเป็นเรื่องบังเอิญ เพราะในปี 1991 เขาเดินทางมาญี่ปุ่นเพื่อขายผลงานหนังสือเด็กชุด ‘Tiny Dinos’ และพบกับสมาคมเบสบอลญี่ปุ่นเพื่อหารือเกี่ยวกับการร่วมมือกันสร้างผลงาน แต่ปรากฏว่าไปๆ มาๆ กลับได้มีโอกาสพบกับทีมการตลาดของ Dentsu และฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาของ Sony แทน

“ช่วยออกแบบตัวละครสำหรับทีมฟุตบอลใหม่ที่จะตั้งในเมืองชิซูโอกะให้พวกเราหน่อยได้ไหม” คือคำขอที่กิลคริสต์ก็ไม่ได้คาดไว้

ทาง Dentsu และ Sony ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เหมือนทุกสโมสรที่จะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ช่วยในแต่ละเมือง มีโจทย์ในใจเอาไว้ก่อนแล้วว่าพวกเขาอยากได้ตัวละครที่เป็นผู้ชาย วาดลายเส้นในสไตล์แบบเดียวกับมังงะแนวโชเน็น 

กิลคริสต์ฟังแล้วก็คิดในใจ แค่ตอบตกลงไปก็รับเงินก้อนโตสบายๆ แล้ว แต่เขาเลือกที่จะปฏิเสธไป

“ไม่ ไม่ ไม่”

ทางฝ่ายญี่ปุ่นถึงกับอุทานว่า “เหหหหหห”​ ด้วยความงุนงงว่าทำไมถึงเป็นไปไม่ได้ ก่อนที่นักออกแบบชาวอเมริกันที่เป็นหนึ่งในศิษย์ของปรมาจารย์อย่างจิม เฮนสัน ได้พยายามอธิบายให้เข้าใจถึงคอนเซปต์การดีไซน์มาสคอตที่ยั่งยืนในใจคน

“ถ้าคุณออกแบบตัวละครแบบนั้น เด็กผู้หญิงก็จะแยกไม่ออก แล้วก็ผู้คนมีความหลากหลายและหลากสีสันนะ” กิลคริสต์พยายามอธิบาย ซึ่งบุญรักษาที่ล่ามช่วยแปลสิ่งที่เขาต้องการจะบอกได้อย่างครบถ้วน

“เหตุผลที่บักส์บันนี่ (Bugs Bunny) และมิกกี้เมาส์ (Mickey Mouse) ได้รับความนิยมก็เพราะพวกเขาไม่มีอายุ ไม่แบ่งเพศด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ทุกคนรักมัน เพราะมันน่ารัก กล้าหาญ และแสดงความเข้มแข็งได้ในเวลาที่ต้องการ ฉลาด และมันก็เหมือนกับพวกเราทุกคนนี่แหละ มันก็ต้องพยายามเหมือนกัน”

กิลคริสต์ปิดท้ายว่า ถ้าจะให้เขาออกแบบตัวละครนี้ นี่คือสิ่งที่เขาอยากจะใส่มันลงไปในตัวละครนั้น

“ผมอยากจะสร้างมิกกี้เมาส์ในแบบของพวกเราเอง”

และมิกกี้เมาส์สำหรับเจลีกในแบบของกิลคริสต์ก็คือ ‘พัลจัง’ (Pul-chan) มาสคอตของทีมชิมิซุ เอส-พัลส์ ซึ่งเป็นกระต่ายสีส้มมีหูเป็นปีก และมีรอยยิ้มที่สดใส

สีส้มคือสีประจำสโมสร 

หูที่ยาวเหมือนปีกมีความหมายถึงการพาทีมโบยบิน

ส่วนคำว่า ‘พัล’ ก็มาจากคำว่า ‘S-Pulse’ ชื่อของทีม และคล้องจองกับคำว่า ‘Pal’ ที่แปลว่าเพื่อนนั่นเอง

พัลจังกลายเป็นหนึ่งในมาสคอตที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ด้วยบุคลิกความน่ารักสดใส ทำให้ไม่ใช่เฉพาะแฟนทีมชิมิซุ เอส-พัลส์เท่านั้นที่หลงรัก แต่ยังได้รับความรักจากแฟนบอลทีมอื่นๆ และลามไปถึงแฟนฟุตบอลในต่างประเทศด้วย

ในขณะที่มาสคอตที่เหลืออีก 9 ตัวของเจลีกในตอนนั้นก็ได้รับความนิยมเช่นกัน เพราะมีความโดดเด่นในแบบที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งความน่ารักและความเท่ในเวลาเดียวกัน 

สีสันจากมาสคอตเหล่านี้เป็นหนึ่งในแรงดึงดูดสำคัญที่เชิญชวนให้แฟนๆ มาเชียร์ฟุตบอลในสนามกัน แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือการผลิตสินค้าที่ระลึก (merchandise) ของมาสคอตเหล่านี้ออกมาวางจำหน่ายอย่างมากมาย ซึ่งเป็นของถนัดของชาวญี่ปุ่นอยู่แล้ว

ของที่ทำออกมาล่อลวงเงินในกระเป๋าของพวกเรานั้นมีทุกอย่างจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นของพื้นฐานอย่างเสื้อ กระเป๋า ตุ๊กตา ไปจนถึงปากกา ดินสอ ยางลบ พวงกุญแจ แม่เหล็กติดตู้เย็น ธงราว รองเท้า ของเล่น กาชาปอง อะไรก็ตามที่ผลิตขายได้ก็จะถูกนำมาผลิตขายให้แฟนๆ ได้จับจ่ายสนุกสนานที่หน้าสนาม 

แน่นอนใครไปเจลีกก็อดใจไม่ไหวที่จะซื้ออะไรติดไม้ติดมือกลับมาบ้าง แม้กระทั่งตัวผู้เขียนเองก็เคยมีประสบการณ์ตรงที่เคยไปชมเกมฟุตบอลเจลีกมา 2 ครั้ง และล้มละลายหน้าสนามทุกครั้งไป (แต่ก็สนุกมาก และบันเทิงมากกับการเดินหาของกินหน้าสนาม)

เงินรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเหล่านี้จะกลับมาช่วยเหลือสโมสร และจะเป็นการช่วยเหลือเมืองในทางอ้อมเพราะเกมฟุตบอลที่ได้รับความนิยมหมายถึงการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ชาวเมืองตามไปด้วย (ซึ่งในเวลาต่อมากระแสเครซีมาสคอต เกิดมาสคอตประจำเมืองขึ้นมากมายรวมถึงคุมะมงผู้โด่งดังด้วย ) 

โดยในปี 2022 มีการเปิดเผยข้อมูลรายได้จากการจำหน่ายสินค้าอย่างเดียวสามารถสร้างรายได้ให้แก่สโมสรฟุตบอลในระดับ เจ 1 (ดิวิชั่นสูงสุด) ได้ถึง 7.51 พันล้านเยน หรือร่วม 1,800 ล้านบาทเลยทีเดียว 

และหากรวมกับในระดับเจ 2 และ เจ 3 ที่ทำรายได้อีก 2.58 พันล้านเยน (617 ล้านบาท) และ 0.92 พันล้านเยน (220 ล้านบาท) หมายถึงมีเงินสะพัดจากการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกมากกว่า 1.1 หมื่นล้านเยน หรือ 2,630 ล้านบาทเลยทีเดียว

เพียงแต่หน้าที่ของมาสคอตไม่ได้มีแค่นี้ เพราะยังสามารถใช้ในการโปรโมตกิจกรรมต่างๆ ของสโมสร ซึ่งรวมถึงกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) และใช้ในการการดูแลแฟนบอล (CRM) ได้ด้วย

หนึ่งในเรื่องเล่าน่ารักๆ คือเรื่องราวของโคยานง (Koyanon) มาสคอตเสริมของทีมซานเฟรซเซ ฮิโรชิม่า ที่เป็นรูปหน้าชายหนุ่มแนวๆ ซาลารีมังหรือมนุษย์เงินเดือน ซึ่งเป็นมาสคอตที่แฟนบอลของทีมซานเฟรซเซรักอย่างยิ่ง

นั่นเพราะโคยานง มาจากตัวตนของคาโอรุ โคยาโนะ อดีตหนุ่มธนาคารที่ผันตัวมาเป็นผู้จัดการทั่วไปของสโมสรฟุตบอลซานเฟรซเซ ซึ่งแม้จะเคยได้แชมป์เจลีกในปี 2012 แต่หลังจากนั้นผลงานตกต่ำ ความนิยมดำดิ่ง รายรับนิ่งไม่ไหวติง สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะถูกถอนใบอนุญาต

เพื่อช่วยเหลือทีมโคยาโนะ จึงพยายามพบปะและพูดคุยกับแฟนฟุตบอลเสมอ ไม่ว่าจะช่วงก่อนเกม ที่สถานีรถไฟ ซึ่งแม้จะไม่ได้รับความร่วมมือนักแต่โคยาโนะซังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ตามตื๊อจนได้ข้อมูล (insight) ถึงเหตุผลที่แฟนๆ ไม่ยอมซื้อตั๋วชมแบบปีของสโมสรที่เป็นรายได้หลัก

ความเอาใจใส่และตั้งใจจริงของโคยาโนะชนะใจแฟนบอลได้ในที่สุด และกลายเป็นการกำเนิดมาสคอตเสริมของทีมที่เรียกว่าโคยานง ซึ่งไม่ว่าจะผลิตของอะไรออกมาขายก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างสโมสรกับแฟนบอลกลับมาดีอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เรียกได้ว่ามาสคอตคือผู้ช่วยดูแลแบรนด์ของสโมสรฟุตบอลที่ทรงพลังทางใจเป็นอย่างยิ่ง

มาสคอตเหล่านี้จึงช่วยเพิ่มสีสันและความสนุกสนานให้กับแฟนๆ และเป็นสตาร์ในตัวของพวกเขาเองด้วย เพราะแฟนๆ เองก็อยากเจอ อยากถ่ายรูปคู่ อยากเล่นกับมาสคอต ซึ่งบางตัวดังยิ่งกว่านักเตะในสโมสรเสียอีก

ในภาพใหญ่มาสคอตยังเป็นหมุดเล็กๆ ที่ช่วยวางรากฐานที่มั่นคงให้กับวงการฟุตบอลญี่ปุ่นได้อย่างน่ามหัศจรรย์ 

เพราะหากย้อนไปที่แผนยุทธศาสตร์ 100 ปีของเจลีก (J.League 100 Year Vision) ซึ่งนอกจากจะต้องการยกระดับวงการฟุตบอลญี่ปุ่นให้ครองโลกให้ได้ในอนาคต ยังมีเป้าหมายที่สำคัญอีกอย่างคือ “ต้องการทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีความสุขมากยิ่งขึ้นผ่านเกมกีฬา”

เจลีกเองจึงไม่ได้เป็นแค่เกมกีฬา แต่เป็นมากกว่านั้น เป็นเรื่องของเมือง เรื่องของชุมชน ที่ครอบครัวจะได้ใช้เวลาที่มีความหมายร่วมกันในช่วงสุดสัปดาห์ 

ปัจจุบันมาสคอตของเจลีกไม่ได้มีแค่ 10 ตัว เพราะจากวันแรกในปี 1993 จนถึงวันนี้ (ที่ผ่านการต่อสู้อย่างหนักไม่น้อย) ปัจจุบันมีมาสคอตของสโมสรฟุตบอลใน 3 ดิวิชั่นของเจลีกรวมกันถึง 55 ตัวด้วยกัน 

โดยที่มาสคอตเหล่านี้ก็มีการเติบโตตามวันเวลา หลายสโมสรไม่ได้ยึดติดกับมาสคอตดั้งเดิม บางตัวก็เกษียณตัวเองไปเป็นมาสคอตกิตติมศักดิ์แทน เช่น เวอร์ดี้คุง มาสคอตของทีมโตเกียวเวอร์ดี้ หรือบางทีก็มีการสร้างเรื่องสร้างราวเข้าไปให้สนุกขึ้น เช่น บางตัวก็มีแฟน บางตัวมีลูก หรือบางตัวก็ปรับหน้าตาให้เป็นมิตรขึ้น เช่น เจ้าหมีซานเซ (Sancce) ของทีมซานเฟรซเซ ฮิโรชิม่า ที่เดิมมีหน้าตาเหมือนหลุดมาจากหนังสยองขวัญไปหน่อย ตอนนี้หน้าตาน่ารักประหนึ่งหมีแคร์แบร์เลย

ทีนี้เพื่อให้เรื่องราวมันสนุกและจริงจังขึ้นอีกนิดก็เลยเกิดไอเดียให้มีการจัดประกวดความนิยมกันปีละครั้งว่ามาสคอตของใครจะโดนใจแฟนบอลที่สุด คนที่โหวตก็คือแฟนๆ นี่แหละที่จะร่วมกันส่งคะแนนให้โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นทีมตัวเองเท่านั้น (แต่ก็แน่นอนแหละว่างานนี้ไม่มีใครอยากให้สโมสรตัวเองเสียหน้าอยู่แล้วถูกไหม!)

มาสคอตตัวไหนได้ที่ 1 ก็จะได้รับเกียรติให้อยู่ตรงกลางภาพหมู่ประจำปีที่จะถ่ายร่วมกัน โดยพิธีการประกาศอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในเกมฟูจิซูเปอร์คัพ ที่นอกจากจะเป็นการเปิดม่านฤดูกาล ก็ยังถือเป็นการพบปะสังสรรค์กันระหว่างมาสคอตกับมาสคอต และมาสคอตกับแฟนฟุตบอลไปด้วย

เป็นสีสันความน่ารักแบบญี่ปุ๊นญี่ปุ่นที่หาไม่ได้จากที่ไหน 

ใครอยากรู้ว่ามาสคอตเจลีก ‘สุโก้ย’ จริงไหม อยากแนะนำให้ลองหาโอกาสแวะไปดูสักนัดนะครับ! (พกเงินไปเยอะๆ ด้วยนะ!)

Match facts

  • ในบรรดามาสคอตของ 10 สโมสรผู้ก่อตั้งเจลีก มีเพียงแค่โทบิมารุ (Tobimaru) มาสคอตของทีมโยโกฮาม่า ฟลูเกลส์ ที่ไม่ได้ไปต่อ เพราะสโมสรถูกยุบรวมเข้ากับทีมโยโกฮาม่า มารินอส (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโยโกฮาม่า เอฟ. มารินอส ที่ใช้จนถึงปัจจุบัน)
  • ส่วนใหญ่แล้วมาสคอตของทีมเจลีกจะเป็นสัตว์ประจำท้องถิ่น (เช่น ชิคาโอะ ของทีมคาชิม่า แอนต์เลอร์ส) แต่มาสคอตที่เหนือชั้นที่สุดคือ คิซูรุ (Kizuru) ของทีมอิวาเตะ กรุลลา โมริโอกะ ที่เป็นนกกระเรียนกระดาษที่พับในแบบโอริกามิ
  • มาสคอตตัวที่เข้าถึงยากที่สุดคือ เรเดีย (Redia) สุนัขนำโชคของทีมอุราวะ เรด ไดมอนด์ส ซี่งมีนโยบายเข้มๆ ว่าสนามฟุตบอลเป็นที่ที่จริงจัง! ทำให้นานๆ เรเดียจะโผล่มาทีนึง และต่อให้โผล่มาก็จะไม่ยอมทำกิจกรรมร่วมกับแฟนๆ ด้วย จริงจัง!

ที่มา

Writer

นักเตะสมัครเล่นที่พอเขียนหนังสือได้นิดหน่อย เชื่อในพลังของตัวหนังสือที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้ มีเพจเล็กๆของตัวเองชื่อ Sockr และเคยแปลหนังสือ เมสซี vs. โรนัลโด: คู่ปรับฟ้าประทาน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: y.pongtorn@gmail.com

You Might Also Like