นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

มนุษยทำ

HUMAN MADE แบรนด์ที่นำความรักทั้งชีวิตของมนุษย์นามว่า NIGO มาทำผลิตภัณฑ์จนคนรักตาม

ในแวดวงสตรีทแฟชั่นปัจจุบัน HUMAN MADE น่าจะเป็นแบรนด์อันดับต้นๆ ในใจชาวไทยแม้จะยังไม่มีสาขาในบ้านเราสักสาขา สังเกตได้จากราคารีเซลที่แม้จะพุ่งสูงแต่ก็ยังมีคนโหยหา–อยากคว้ามาครอบครอง

ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ในระดับโลกแบรนด์ HUMAN MADE ก็ถือเป็นแบรนด์ที่ทรงอิทธิพลและยึดพื้นที่สื่อในโลกออนไลน์ได้เสมอยามออกคอลเลกชั่นใหม่หรือมีโปรเจกต์สำคัญ สินค้าที่วางขายบนโลกออนไลน์หลายไอเทมก็ขึ้นป้าย sold out ในหลักนาที-วินาที

ไม่ว่าจะมองด้วยแว่นคนทำธุรกิจหรือสายตานักสร้างสรรค์ ความสำเร็จของ HUMAN MADE ก็น่าศึกษาและค้นหาที่มาที่ไป

คำถามสำคัญคือ อะไรผลักดันให้แบรนด์ที่โลโก้เป็นรูปหัวใจสีแดงแบรนด์นี้ขึ้นมายืนหยัดอยู่แถวหน้าในสมรภูมิแฟชั่นอันแสนดุเดือดอย่างประเทศญี่ปุ่น และไม่มีทีท่าจะร่วงหล่นได้ง่ายๆ

การจะย้อนทำความเข้าใจความสำเร็จของ HUMAN MADE ว่ามีที่มาจากอะไร เราอาจจะต้องย้อนสำรวจชีวิตและการเติบโตของ NIGO ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและควบคุมทิศทางแบรนดิ้งทั้งหมด

คงไม่เกินเลยไปนัก ถ้าจะบอกว่า HUMAN MADE คือตัวอย่างของการเอาความรักทั้งหมดในชีวิตมาเทลงไปในงานที่ทำ

‘ทั้งหมดในชีวิต’ ที่หมายรวมถึงสิ่งสำคัญที่สั่งสมมา ทั้งความคลั่งไคล้ รสนิยม มิตรภาพ คุณค่าที่ยึดถือ และอีกหลายสิ่งที่ไม่มีใครลอกเลียนได้

และเมื่อเราเข้าใจชีวิตเขา เราย่อมรู้ว่า ‘Human’ ในชื่อแบรนด์ไม่ใช่ใคร

เขาคือมนุษย์ผู้มีนามแฝงว่า NIGO

NIGO MADE

“งานของคุณและความสนใจส่วนตัวของคุณดูเหมือนจะเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น มันเป็นอย่างนั้นใช่มั้ย”

ครั้งหนึ่ง Fraser Cooke อีกหนึ่งผู้ทรงอิทธิพลในโลกสตรีทแฟชั่นเคยตั้งข้อสังเกตต่อชีวิตของ NIGO ในบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ใน System Magazine

“ผมก็แค่เปลี่ยนงานอดิเรกมาเป็นงาน ก็เท่านั้น”

คำตอบนี้ของ NIGO สะท้อนวิธีคิดในการทำงานของเขาตั้งแต่วันแรก

NIGO มีชื่อจริงที่หลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นว่า Tomoaki Nagao เขาคือหนึ่งในบุคคลที่ยืนระยะในแวดวงแฟชั่นและงานสร้างสรรค์มานาน โดยเส้นทางชีวิตของเขาทาบทับกับดีไซเนอร์ระดับหัวแถวในแดนปลาดิบมากมายหลายชีวิต

นากาโอะเกิดที่เมืองมาเอะบาชิ จังหวัดกันมะ สิ่งที่หล่อหลอมความสนใจงานศิลปะและการออกแบบส่วนหนึ่งมาจากสื่อที่เขาได้เสพ ผลงานจำนวนมากที่เขาสร้างสรรค์เมื่อเติบใหญ่สะท้อนความสนใจของเขาเมื่อวัยเด็ก เขาหลงใหลภาพยนตร์อย่าง STAR WARS และ Planet of the Apes ในมุมแฟชั่นเขาหลงใหลและได้แรงบันดาลใจจาก American vintage & workwear ในยุค 50s-60s

ด้วยความสนใจด้านแฟชั่นและการออกแบบทำให้เขาเลือกศึกษาที่ Bunka Fashion College ซึ่งเป็นสถาบันแฟชั่นชั้นนำในแดนปลาดิบที่สร้างดีไซเนอร์ชั้นนำมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Yohji Yamamoto, Rei Kawakubo, Kenzo Takada, Hiroshi Fujiwara หรือ Junya Watanabe และเป็นสถาบันแห่งนี้เองที่สร้างสายสัมพันธ์อันมีส่วนสำคัญให้เขาเติบใหญ่ในเส้นทางแฟชั่น

นากาโอะเริ่มต้นเส้นทางสายแฟชั่นด้วยการเป็นผู้ช่วยของฮิโรชิ ฟูจิวาระ ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น godfather of streetwear โดยฟูจิวาระคือผู้บุกเบิกแบรนด์ที่เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของสตรีทแฟชั่นในย่านฮาราจูกุ อย่าง GOODENOUGH ก่อนที่ต่อมาหลายคนจะจดจำเขาในฐานะผู้ก่อตั้งแบรนด์ Fragment Design

ฟูจิวาระถือเป็นไอดอลคนสำคัญของนากาโอะ อาจกล่าวได้ว่าเขารับอิทธิพลทางด้านแฟชั่นและไลฟ์สไตล์จากฟูจิวาระมาเต็มๆ หนึ่งในสิ่งที่ทรงอิทธิพลกับเขาคือคอลัมน์แฟชั่นล้ำยุคที่ชื่อ Last Orgy ในนิตยสาร Takarajima ซึ่งฟูจิวาระเป็นผู้เขียนร่วมกับ Kan Takagi

รสนิยมและสไตล์ของนากาโอะเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างจากสื่อที่เขาเปิดรับในช่วงวัยหนุ่ม ก่อนที่หลังจากนั้นเขาจะได้เขียนคอลัมน์ในนิตยสาร POPEYE ในชื่อ Last Orgy 2 ซึ่งถือเป็นการสานต่อคอลัมน์ Last Orgy ที่เคยเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในช่วงหนึ่งของชีวิต

จากความสนใจและหน้าตาที่คล้ายกัน ทำให้คนรอบตัวในเวลานั้นเรียกเขาว่า ‘Fujiwara No.2’ และนั่นคือที่มาของชื่อเล่นในวงการที่ทุกคนเรียกขานอย่าง ‘NIGO’ ซึ่งแปลว่าหมายเลขสอง

และเขาก็น้อมรับนามนี้ไว้เพื่อแสดงถึงความเคารพต่อฟูจิวาระมาจนกระทั่งปัจจุบัน

APE MADE

ในปี 1993 NIGO ได้เริ่มต้นสร้างบางสิ่งที่ทรงอิทธิพลต่อโลกสตรีทแฟชั่นในแดนปลาดิบ ด้วยการจับมือกับรุ่นพี่ของเขาที่ Bunka Fashion College อย่าง Jun Takahashi ซึ่งขณะนั้นได้ก่อตั้งแบรนด์ UNDERCOVER แล้ว เปิดร้านขายเสื้อผ้าในแบบที่ทั้งสองหลงใหลในชื่อ NOWHERE ที่ย่านฮาราจูกุ

ด้วยความสดใหม่และความแม่นยำในการเลือกสินค้าเข้าร้านของทั้งสอง รวมถึงได้รับการซัพพอร์ตอย่างดีจากฟูจิวาระ NOWHERE จึงใช้เวลาไม่นานก้าวขึ้นมาเป็นเสมือนฮับของวงการสตรีทแฟชั่นในโตเกียว

ไม่ใช่แค่ในแวดวงแฟชั่น แต่ NIGO ยังสนใจในวัฒนธรรมดนตรีฮิปฮอปแบบลงลึก

ในช่วงวัยหนุ่มเขาเป็นดีเจเปิดเพลงฮิปฮอป ก่อนที่หลังจากนั้นเขาจะเหยียบขาข้างหนึ่งเข้ามาในวงการฮิปฮอปในบทบาทโปรดิวเซอร์ดูแลศิลปิน เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มฮิปฮอปญี่ปุ่นที่ชื่อ Teriyaki Boyz ซึ่งหลายคนน่าจะจดจำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Fast and the Furious 2: Tokyo Drift ที่พวกเขาทำได้ นอกจากนั้นเขายังมีผลงานร่วมกับศิลปินระดับโลกมากมาย

อาจกล่าวได้ว่าเขาคือผู้ที่หลอมรวมวัฒนธรรมฮิปฮอปและสตรีทแฟชั่นเข้าด้วยกัน และสิ่งนี้ก็เป็นอีกต้นทุนสำคัญของเขาในการสร้างแบรนด์ของตัวเองโดยที่ ณ ขณะนั้นเขาเองก็อาจจะไม่รู้ตัว

โดยตำนานบทสำคัญได้ถูกเขียนหลังจากเขาลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์ของตัวเองเต็มตัวร่วมกับ SK8THING ในชื่อ A Bathing Ape หรือ BAPE ในปี 1993 

โดยแบรนด์นี้เขาได้เอาสิ่งที่หลงใหล คลั่งไคล้ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นชื่อที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง Planet of the Apes และวลีญี่ปุ่นอย่าง A Bathing Ape in Lukewarm Water ที่ใช้เสียดสีวัยรุ่นญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตสุขสบาย นอกจากนั้นในแง่การออกแบบต่างๆ ยังได้รับอิทธิพลจากแฟชั่นฮิปฮอป ป๊อปคัลเจอร์ และการ์ตูน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่เป็นตัวตนของเขา

BAPE ใช้กลยุทธ์ที่ ณ ขณะนั้นถือว่าเหนือชั้นและล้ำสมัย นั่นคือแทนที่จะผลิตแบบ mass production เหมือนแบรนด์แฟชั่นทั่วๆ ไป เขาเลือกที่จะผลิตแบบจำนวนจำกัด และใช้สายสัมพันธ์อันแข็งแรงของเขาในวงการดนตรี แฟชั่น และวัฒนธรรมฮาราจูกุ ขยายการรับรู้ถึงสินค้าออกไป นอกจากนั้นยังมีการกระจายเสื้อกราฟิกที่ผลิตอย่างจำกัดไปให้เพื่อนๆ และเซเลบในโตเกียวเพื่อสร้างกระแส ทำให้แบรนด์เป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ

สุดท้าย BAPE ได้กลายเป็นไอเทมสุดไฮป์ที่คนในวงการสตรีทแฟชั่นทุกคนอยากได้ มูลค่าในตลาดรีเซลพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และในช่วงปลายยุค 90s BAPE ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของสตรีทแฟชั่นญี่ปุ่น รวมถึงเป็นแบรนด์ที่อยู่ใน top-of-mind เมื่อพูดถึงแบรนด์แฟชั่นที่เกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมฮิปฮอป

แต่คล้ายสัจธรรม ทุกอย่างมีขึ้นและลง มีจุดสูงสุดและตกต่ำ

BAPE เริ่มเขาสู่ช่วงที่ธุรกิจมีปัญหาการเงินด้วยหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขยับขยายจนทำให้แบรนด์เสียสมดุลในการรักษาจุดเด่นเดิมของแบรนด์กับการขยายจำนวนการผลิต มีสินค้าลอกเลียนแบบในวงกว้างและหาซื้อได้ทั่วไป หรือการเริ่มมีแบรนด์สตรีทแวร์ใหม่ๆ เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ในหัวใจเหล่าแฟนๆ ร่วมถึงส่วนแบ่งการตลาด

สุดท้ายด้วยปัญหาทางการเงินและไฟที่เริ่มมอดทำให้ในปี 2011 NIGO ตัดสินใจขาย BAPE ให้กับ I.T Group กลุ่มธุรกิจค้าปลีกจากฮ่องกง ด้วยมูลค่า 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ณ ตอนนั้นหลายคนคงมีคำถามว่า เส้นทางใหม่ของมนุษย์ผู้สร้างแบรนด์ที่มีโลโก้เป็นวานรจนยิ่งใหญ่จะเป็นยังไง

แล้วมนุษย์เราจะก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิตได้กี่ครั้งกัน

HUMAN MADE

ในปี 2010 หรือหนึ่งปีก่อนที่ NIGO จะตัดสินใจขายแบรนด์ที่สร้างมาให้กลุ่มทุนจากฮ่องกง เขาได้เริ่มสร้างแบรนด์เอาไว้แบรนด์หนึ่ง คล้ายตั้งใจถางเส้นทางใหม่ไว้รองรับหากวันหนึ่งตัดสินใจหยุดในเส้นทางเดิม

เขาตั้งชื่อแบรนด์ใหม่ว่า HUMAN MADE

หากสังเกตจากชื่อแบรนด์จะเห็นว่า จาก ‘วานร’ แบรนด์ใหม่นี้ก็ได้วิวัฒนาการเป็น ‘มนุษย์’

ไม่ใช่แค่ตั้งชื่อเพื่อล้อเฉยๆ แต่มันยังสะท้อนการเติบโตของเขาในแง่รสนิยมและความสนใจ เมื่อเทียบกับ BAPE จะเห็นว่าเสื้อผ้าของ HUMAN MADE นั้นมีความเป็นผู้ใหญ่กว่าและให้ความสำคัญกับเรื่อง craftsmanship แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงความป๊อป เข้าถึงง่าย ซึ่งสะท้อนความสนใจในป๊อปคัลเจอร์ของเขาได้เป็นอย่างดี

ด้านลวดลายกราฟิกต่างๆ NIGO ได้ยอดดีไซเนอร์อย่าง ‘Sk8thing’ ที่ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่สมัยทำ BAPE มาช่วยออกแบบทำให้ดีไซน์รวมถึงอาร์ตเวิร์กต่างๆ ของแบรนด์แข็งแกร่งตั้งแต่วันแรก

คอนเซปต์อันเป็นหัวใจของแบรนด์ที่ปรากฏอยู่ในทั้งเว็บไซต์และบนผลิตภัณฑ์คือ ‘The Future Is In The Past’ หรืออนาคตอยู่ในอดีต อันมีที่มาจากความหลงใหลในสไตล์อเมริกันวินเทจยุค 50s-60s ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าสไตล์ military, สไตล์ workwear และสไตล์ Americana โดยโลโก้รูปหัวใจก็ออกแบบด้วยฟอนต์อักษรพิมพ์ดีดเพื่อคงกลิ่นอายความวินเทจ แต่ก็ออกแบบให้ดูร่วมสมัย

การออกแบบของ HUMAN MADE สะท้อนปรัชญาความเป็นญี่ปุ่น นั่นคือเน้นความเรียบง่ายแต่ในขณะเดียวกันก็ใส่ใจกับรายละเอียดและคุณภาพ และนี่คือสิ่งที่ทำให้แบรนด์โดดเด่น แตกต่าง จากบรรดาแบรนด์สตรีทแวร์ทั่วๆ ไป โดย HUMAN MADE ได้ผลิตเสื้อผ้าที่ WAREHOUSE & CO. ในโอซาก้า ซึ่งขึ้นชื่อด้านการผลิตเสื้อผ้าคุณภาพสูง โดยใช้วัสดุระดับพรีเมียมและเทคนิคการตัดเย็บที่พิถีพิถัน เพื่อให้ได้เสื้อผ้าที่กลิ่นอายย้อนยุคแต่ยังคงมาตรฐานระดับสูงในปัจจุบัน

“…We are sending various items to the world by interweaving Japan’s uncompromising manufacturing spirit and Tokyo-like playfulness.” 

บางวรรคในหน้า About ของเว็บไซต์ humanmade.jp สรุปชัดเจนถึงการเชื่อมโยงจิตวิญญาณแห่งการผลิตอย่างพิถีพิถันของญี่ปุ่นเข้ากับความสนุกแบบโตเกียว

ด้วยการดึงเอาเสน่ห์ของกลิ่นอายเสื้อผ้าสไตล์วินเทจมาผสมผสานกับลายพิมพ์น่ารักและสนุกสนานนี้เองที่ทำให้ HUMAN MADE เข้าไปนั่งในใจมนุษย์ผู้รักสตรีทแวร์อย่างรวดเร็ว

ในมุมธุรกิจ HUMAN MADE ใช้กลยุทธ์คล้าย BAPE ในช่วงเริ่มต้น นั่นคือการวางจำหน่ายแบบเอกซ์คลูซีฟ และจำกัดจำนวนสินค้า ยกตัวอย่างคอลเลกชั่นแรกในปี 2010 ตอนที่ยังไม่มีหน้าร้านของตัวเอง เขาเลือกวางขายแบบเอกซ์คลูซีฟที่ BEAMS JAPAN ร้านมัลติแบรนด์สโตร์ระดับท็อปในญี่ปุ่น

สำหรับการออกคอลเลกชั่น สินค้าของ HUMAN MADE ก็จะไม่ได้วางขายเป็นซีซั่นแบบแบรนด์แฟชั่นที่เราคุ้นเคย แต่จะทยอยวางจำหน่ายเป็นช่วงๆ (drop releases) ในเวลาที่กำหนดและจำนวนที่จำกัด ไม่แปลกที่แทบทุกดร็อปสินค้าจะ sold out อย่างรวดเร็ว

ด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ก็ยังสนุกไม่น่าเบื่อ คุณภาพของสินค้าที่ผลิตอย่างประณีต บวกกับกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ทำให้คุมให้ supply มีมากกว่า demand ทำให้เหล่าสินค้าที่มีโลโก้หัวใจปรากฏอยู่เป็นที่ต้องการทั้งในกลุ่มคนในวัฒนธรรมฮิปฮอปที่ตาม NIGO มาตั้งแต่ BAPE, คนที่คลั่งไคล้สตรีทแฟชั่น รวมถึงเหล่าพ่อค้ารีเซลล์และร้านรับหิ้วต่างๆ

แม้จะขายดีจนมีโอกาสที่จะขยายสาขาหรือกำลังการผลิต แต่ NIGO ก็พยายามรักษาสมดุลระหว่างตัวตนของแบรนด์กับจังหวะการเติบโต เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์สมัยทำ BAPE วนกลับมาซ้ำรอย

โดยปัจจุบันหน้าร้าน HUMAN MADE ก็ยังมีเพียง 7 สาขาในญี่ปุ่น, 1 สาขาในเกาหลี, 3 สาขาในจีน และอีก 1 สาขาในฮ่องกง แม้อันที่จริงแล้วจะมีผู้คนทั่วโลกต้องการผลิตภัณฑ์ของพวกเขามากมายมหาศาลก็ตาม

SOUL MADE

คงไม่เกินเลยไปถ้าจะบอกว่า HUMAN MADE คือการเอาสิ่งที่รัก ประสบการณ์ทั้งชีวิต และจิตวิญญาณของ NIGO มาใส่ลงไปในแบรนด์

เราจะเห็นร่องรอยความเป็น NIGO อยู่ในทุกสิ่งที่เป็นหน้าตาของแบรนด์เสมอ

เสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ของ HUMAN MADE มีกลิ่นอายสไตล์อเมริกันยุค 50s-60s ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาหลงใหล ที่สำคัญแบรนด์นี้ยังคงเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมดนตรีฮิปฮอปซึ่งเป็นอีกหนึ่งแพสชั่นของเขา มีศิลปินฮิปฮอประดับโลกมากมายที่เลือกสวมใส่ HUMAN MADE และยังร่วมงานกับแบรนด์ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ Pharrell Williams, Lil Uzi Vert และ Tyler, the Creator

หรือความรักในภาพยนตร์ในวัยเด็กก็ยังสะท้อนผ่านคอลเลกชั่นที่คอลแล็บกับ Star Wars ที่วางจำหน่ายเมื่อปี 2023 และหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว ยังไม่นับการตกแต่งหน้าร้านสาขาต่างๆ ที่ผสานทั้งกลิ่นอายย้อนยุคแบบอเมริกันวินเทจ มีทั้งความมินิมอลแบบญี่ปุ่น และความสนุกขี้เล่นแบบโตเกียว

ยังไม่นับแนวคิดทางธุรกิจที่เขาได้นำเอาข้อดีและข้อควรระวังจากสมัยที่สร้างแบรนด์ BAPE ขึ้นสู่จุดสูงสุดและตกสู่จุดตกต่ำ

ทุกวันนี้ HUMAN MADE ไม่ได้ขายแค่เสื้อผ้า แต่มีสินค้าไลฟ์สไตล์มากมายออกมาขายให้เหล่าสาวกได้แย่งชิง และ NIGO เองก็ไม่ได้มองว่าแบรนด์ของเขาเป็นแค่แบรนด์แฟชั่นทั่วไป

HUMAN MADE ‘s vision is to be a hub for creativity and ideas that are pulsing around the world. It will be an utopia for creators of all cultures and around the world, and for young people who will lead the future.

วิสัยทัศน์นี้ที่ป่าวประกาศไว้ในเว็บไซต์สะท้อนถึงการให้ความหมายต่อแบรนด์ที่เขาทำได้ชัดเจน

ในแวดวงแฟชั่นที่ ‘เทรนด์’ คล้ายเป็นไดเรกชั่นที่แต่ละแบรนด์ก้าวเดินตามๆ กัน HUMAN MADE เป็นกรณีศึกษาที่ดีของการตั้งใจทำในสิ่งที่หลงใหลอย่างแท้จริงให้ดี ย้อนสำรวจข้างในแทนที่จะวิ่งตามสิ่งที่อยู่ข้างนอก จนวันนี้ NIGO ได้พาแบรนด์ของเขาก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์สตรีทแวร์อันดับต้นๆ ของโลกตอนนี้ และเติบโตอย่างยั่งยืนแข็งแรงโดยไม่ต้องเกาะไปกับเทรนด์ใดๆ

วันนี้ NIGO ได้คอลแล็บกับแบรนด์และศิลปินระดับโลกมากมาย ทั้งในนามแบรนด์ HUMAN MADE หรือในนามตัวเขา เช่นการร่วมมือกับ Adidas, KAWS, Levi’s, Girls Don’t Cry หรือ Blue Bottle Coffee และทุกโปรเจกต์ล้วนได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งจากแฟนๆ และพ่อค้าแม่ค้าที่หวังซื้อไปเก็งกำไร

โดยหนึ่งในโปรเจกต์ที่ฮือฮาคือคอลเลกชั่นพิเศษ ‘LV²’ Louis Vuitton x NIGO ในปี 2020 ที่เขาได้ร่วมงานกับ Virgil Abloh ซึ่งขณะนั้นเป็น Artistic Director ฝั่งเสื้อผ้าผู้ชายของหลุยส์ วิตตอง

ด้วยความที่หยิบจับอะไรก็ป๊อปไปหมด ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายแบรนด์จะหมายปองอยากทำงานร่วมกับ NIGO ในอีกบทบาทนอกจากทำแบรนด์ HUMAN MADE เขาจึงได้รับการทาบทามไปดูแลด้านความคิดสร้างสรรค์ให้กับแบรนด์ต่างๆ อย่างเมื่อปี 2021 ที่เขาได้รับการแต่งตั้งเป็น Artistic Director ของแบรนด์แฟชั่นของฝรั่งเศสอย่าง KENZO ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่แบรนด์เลือกนักออกแบบจากแดนปลาดิบมาดูแลทีมด้านงานสร้างสรรค์ หรืออย่างข่าวล่าสุดที่เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Creative Director ของ Family Mart ประเทศญี่ปุ่น

ถึงวันนี้ NIGO พิสูจน์แล้วว่ามนุษย์เราขึ้นสู่จุดสูงสุดได้มากกว่าหนึ่งครั้ง และสิ่งที่พาเขามาอยู่ ณ จุดนี้ก็ไม่ใช่อะไรเลยนอกจากสิ่งที่เขาสั่งสมมาทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวตั้งแต่วัยเด็ก เป็นสิ่งที่ใครจะลอกเลียนก็ไม่เหมือน อยากทำตามก็ไม่ได้

The Future Is In The Past อันเป็นคอนเซปต์ของ HUMAN MADE และปรากฏชัดอยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงหน้าร้านน่าจะนิยามชีวิตของชายผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

“ผมสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ด้วยแนวคิด ‘อนาคตอยู่ในอดีต’ ซึ่งครอบคลุมถึงไลฟ์สไตล์ในด้านต่างๆ ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าเท่านั้น ปีนี้เป็นปีที่ 10 ของแบรนด์ และตอนนี้มันกำลังเข้าใกล้สิ่งที่ผมวาดฝันไว้มากขึ้นเรื่อยๆ”

และนั่นคือคำอธิบายถึงชีวิตและการงานของ ‘มนุษย์’ คนหนึ่งถึงสิ่งที่เขา ‘ทำ’

อ้างอิง

Writer

บรรณาธิการบริหาร Capital เจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 6 เล่ม เล่มล่าสุดชื่อ Between Hello and Goodbye ครู่สนทนา

You Might Also Like