นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Fall in Passion All Over Again  

Horse Unit & Woot Woot ร้านวินเทจในโกดังของคู่รักนักสะสมที่เปลี่ยนแพสชั่นเป็นธุรกิจ

การตกหลุมรักในแพสชั่นเดิมซ้ำๆ จนสร้างธุรกิจที่มีสไตล์เฉพาะจากความชอบของตัวเองนั้นทำยังไง น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนสงสัยและใฝ่ฝัน

Horse Unit ของ บาส–ธรรมนูญ ใหม่พิมพ์ กำลังเดินทางสู่ขวบปีที่หก

Woot Woot ของ ตวง–พันธ์นันท์ ธนินเตชพัฒน์ มีอายุก้าวย่างสู่ปีที่สี่ในปีนี้

โกดังวินเทจที่ Warehouse 30 ย่านเจริญกรุงน่าจะเป็นที่สะดุดตาของใครหลายคนที่ได้ไปเยือน แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าข้าวของที่สะสมด้วยความรักในโกดังแห่งนี้มาจากความหลงใหลที่ผสมกันของชายหญิงสองคน

ทั้งคู่เป็นคู่รักที่เริ่มพบกันจากความชอบในของวินเทจ ขยับขยายจากการเป็นนักสะสมสู่การขายเป็นงานอดิเรกก่อนปักหลักเปิดร้านโดยแบ่งพื้นที่ให้โกดังชั้น 1 ขายงานวินเทจสไตล์ Military, Workwear, Tool ของบาสและชั้น 2 เป็นที่ที่มีกลิ่นอายของงานคราฟต์และเต็มไปด้วยของกระจุกกระจิกอย่างเครื่องเขียน เครื่องประดับ เซรามิก ฯลฯ ที่ตวงชื่นชอบ แบ่งปันจักรวาลแห่งสมบัติที่แต่ละคนหลงใหลแก่เหล่าคนรักของวินเทจ

‘ถ้าเรารักอะไรสักอย่าง มันจะพาเราไปสักที่’ ประโยคนี้ไม่เกินจริงสำหรับบาสและตวงที่แพสชั่นในของวินเทจเปิดทางให้เจอโอกาสทางธุรกิจและความรัก 

เนื่องในเดือนกุมภาพันธ์ ขอชวนคนที่ใฝ่ฝันถึงการเปลี่ยนสิ่งที่ตกหลุมรักมาเป็นธุรกิจหรือคนที่มีพาร์ตเนอร์เป็นคู่รักมาฟังเรื่องราวความรักที่บาสและตวงมีแด่ข้าวของแต่ละชิ้นรวมถึงการดูแลโกดังของหัวใจที่ทั้งคู่อยู่ดูแลเคียงข้างกันมายาวนานพอๆ กับระยะเวลาที่ดูแลความสัมพันธ์

แรกรักของนักสะสม

เวลารู้จักคนที่มีแพสชั่นหลงใหลคลั่งไคล้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างจริงจัง คำถามที่อยากชวนคุยคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้หวั่นไหวในสิ่งนั้นคืออะไร

สำหรับบาส รสนิยมจากการทำงานในสายกราฟิกดีไซเนอร์ของเขาทำให้เริ่มต้นค้นพบความชอบของวินเทจจากความประณีตของตัวอักษรที่สลักไว้บนสิ่งของหลากหลายแบบทั้งกล่องไม้ กล่องอาหาร กล่องเหล็ก ป้ายแบรนด์ ป้ายโฆษณา ร่มโฆษณาสมัยเก่า กระป๋องน้ำมัน ฯลฯ 

“เมื่อก่อนเคยออกแบบตัวอักษรด้วยเลยชอบงาน typography เวลาไปเดินตามตลาดของเก่าแล้วไปเห็นตัวอักษรที่อยู่บนสิ่งของและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ รู้สึกว่าสวยดี ชอบเลยซื้อมาเพราะผูกพันกับตัวหนังสืออยู่แล้ว”

เสน่ห์ของงาน typography คือการออกแบบฟอนต์และลวดลายที่บาสยกตัวอย่างว่ากระป๋องน้ำมันยุคก่อนจะมีความโดดเด่นของอัตลักษณ์แบรนด์ ใช้โลโก้และคู่สีที่สวยเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละยี่ห้อ เช่น โลโก้โมบิลรูปม้าบิน โลโก้เชลล์รูปหอย ทำให้เป็นที่จดจําง่าย แม้ดูเรียบง่ายและคลาสสิกแต่ถูกออกแบบการจัดวางองค์ประกอบไว้หมดซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานออกแบบสำหรับเขาด้วย

จากความชื่นชอบในลวดลาย typography นี้เองทำให้บาสชอบเดินตลาดวินเทจและแตกความชอบเป็นเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือช่างวินเทจเพิ่มขึ้นอีกมากมายในภายหลัง 

ส่วนตวงเรียนออกแบบเครื่องประดับที่มหาวิทยาลัยศิลปากร จากความหลงใหลในแร่หินดิบที่ไม่ได้ผ่านการเจียระไนสำหรับนำไปทำเครื่องประดับทำให้เธอค้นพบความชอบอื่นๆ จากการหาวัสดุและของตกแต่งสำหรับทำเป็นพร็อพสำหรับเครื่องประดับในโปรเจกต์สมัยมหาวิทยาลัย 

“นอกจากหินแล้วเราเจอของเล็กๆ น้อยๆ ที่เจ้าของร้านสะสมหรือใช้ตกแต่งร้าน เริ่มจากแท่นวางหินและเครื่องราง ทำให้เปิดมุมมองใหม่ของเราว่ายังมีของที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง”
ตวงเริ่มต้นซื้อพินหรือเข็มกลัด 2-3 อันจากการไปเดินตลาดวินเทจในช่วงแรกด้วยความรู้สึกที่น่าจะคล้ายกับคนที่หลงใหลในสิ่งของที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน

“เราคิดว่าถ้าไม่ซื้อของชิ้นนี้ต้องเสียดายแน่ เลยซื้อมาสะสมไว้ พินแต่ละอันมีเสน่ห์ไม่เหมือนกันและเก็บความทรงจำทำให้นึกถึงมุมต่างๆ เวลาเราไปเที่ยว”

พรหมลิขิตที่เกิดจากแพสชั่น

จากความชอบแบบงานอดิเรกในฐานะผู้สะสมงอกงามเป็นความอยากแบ่งปันข้าวของที่หลงรักแก่คนที่ถูกใจในสิ่งเดียวกัน

พอซื้อของวินเทจมาเยอะแยะเราก็เอามากองไว้ เพื่อนเห็นแล้วสนใจ เริ่มมีคนขอซื้อ จังหวะพอดีกับได้เจอพี่ที่จัดงาน Made by Legacy เขาเห็นผมมีของอยู่แล้วเลยชวนไปขาย เป็นงานที่ได้ผลตอบรับดีเลยเป็นจุดเริ่มต้นแรกจากตอนนั้น” บาสย้อนเล่าถึงหมุดหมายที่เป็นจุดเปลี่ยน

หลังจากขายของตามตลาดวินเทจไปสักพัก บาสก็ได้รับการชักชวนให้มาเปิดร้านที่ Warehouse 30 ซึ่งตอนแรกร้านของเขายังไม่ใช่โกดังขนาดใหญ่เท่าปัจจุบันแต่เริ่มจากโซนหนึ่งในโกดัง

ส่วนตวงที่ชื่นชอบการเดินเล่นตลาดของเก่าทำให้มีโอกาสได้เจอบาสหลายครั้งจนได้เริ่มบทสนทนาในแพสชั่นที่ทั้งคู่มีตรงกัน เราไปเดินงาน Union Camp ที่พี่บาสไปออกบูทขายของ วันรุ่งขึ้นก็ชวนเพื่อนมาเดินเล่นที่ Warehouse 30 ตอนนั้นเป็นโกดังเพิ่งเปิดใหม่ที่คนยังรู้จักไม่เยอะเท่าไหร่ มาซื้อของพี่บาสเหมือนลูกค้าทั่วไป รู้สึกว่าคนนี้หน้าคุ้นเป็นคนที่เราเพิ่งเจอเมื่อวานที่งานวินเทจ” 

บทสนทนากับคนรักงานวินเทจที่แต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกันเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้เจ้าของร้านอย่างบาสได้รู้จักลูกค้าแต่ละคนมากขึ้น ส่วนใหญ่ลูกค้าผม ถ้ามาคุยกันแล้วเราจะรู้ว่าคนนี้ชอบของวินเทจจริง ตวงเปิดรูปให้ดูว่าสะสมพินอยู่ ผมคิดว่าของน่าสนใจ เป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับร้านผม เลยชวนว่าอยากลองมาฝากขายที่ร้านไหม”

ร้านวินเทจของบาสจึงมีของสะสมเพิ่มเป็นพินนับตั้งแต่นั้น ทั้งคู่ชวนกันไปเดินหาของดิสเพลย์สำหรับวางขายพินที่ตลาดและเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ทั้งในแง่พาร์ตเนอร์คนขายของและคู่รักจากจุดนั้น    

ตวงเล่าที่มาที่ไปในการแตกร้านเป็นแบรนด์ของตัวเองว่า พอความชอบของเรามีเยอะขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มปะปนกับเขาเยอะเกินไป ก็เริ่มเกรงใจพี่บาสเลยแยกเป็นสัดส่วนของตัวเองไปเลย”  

หากใครเป็นแฟนตัวยงที่มีโอกาสได้มาเยี่ยมเยียนร้านเมื่อสมัยเปิดใหม่จะจำได้ว่าใกล้ๆ กับโซนสินค้าทหารและเครื่องมือช่างมีบ้านหลังเล็กสีขาวที่เต็มไปด้วยแร่หินและพินซึ่งเป็นพื้นที่ของตวง

หลังจากขายมาราวสามปีทั้งคู่ก็ขยับขยายมาเป็นโกดังใหม่ที่กว้างขว้างขึ้นที่ Warehouse 30 แห่งเดิมซึ่งเป็นที่ปัจจุบันโดยวางแผนกันไว้ตั้งแต่แรกว่าจะแบ่งพื้นที่กันชัดเจนเป็นชั้นล่างในนาม Horse Unit ของบาสและชั้นบนในนาม Woot Woot ของตวง

“จังหวะมันได้ โกดังนี้ว่างพอดี พอพื้นที่ใหญ่ขึ้น ของก็ค่อยๆ เยอะขึ้นตามไปด้วย เราต้องมาคิดว่าจะทำยังไงให้ของเติมเต็มพื้นที่ได้” หลายครั้งที่บาสเล่าว่าโอกาสที่ได้มาเพราะจังหวะเป็นใจแต่พรหมลิขิตคงไม่อาจเกิดขึ้นได้หากเขาและเธอไม่มีแพสชั่นอย่างจริงจังจนความหลงใหลนั้นดึงดูดโอกาสเข้ามา

การออกแบบในยุคสงครามผ่านความสนใจของ Horse Unit 

Horse Unit เป็นชื่อแบรนด์ที่บาสตั้งให้คล้องจองกับ Duck Unit บริษัทออกแบบที่เขาเคยตั้งชื่อไว้กับเพื่อน “อยากเก็บคำว่า unit ไว้ให้เชื่อมโยงกัน อยากได้ชื่อสัตว์ที่เป็นพยางค์เดียวเลยนึกถึงม้าที่วิ่งเร็วปราดเปรียว กระฉับกระเฉง”

ทุกวันนี้บาสนิยามสไตล์ของวินเทจในความชอบของเขาชัดเจนเป็น Vintage, Military, Workwear, Tool มีของหลายประเภททั้งเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน อุปกรณ์ช่าง ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นของจากอเมริกาเป็นหลัก เบื้องหลังความชอบงานวินเทจของเขาไม่ใช่แค่รูปลักษณ์แต่เป็นเสน่ห์เบื้องหลังการออกแบบเหมือนเมื่อครั้งเริ่มต้นชอบงาน typography

หมวด Military มีความโดดเด่นคือลายพรางของชุดทหารเรียกว่า camouflage ซึ่งมีชื่อลายเฉพาะของแต่ละลายแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศและฤดูกาลรบ บาสบอกว่าลาย camouflage นั้นลึกซึ้งมากและมีหนังสือที่เล่าเรื่องราวการออกแบบอย่างละเอียด

“ลวดลายและลักษณะของแถบที่อยู่บนเสื้อจะบอกประวัติหมดว่ามาจากปีไหน ประเทศไหน ดีไซเนอร์จะคิดมาเลยว่าตอนนั้นทหารไปรบที่ประเทศอะไร สภาพภูมิอากาศเป็นยังไง ควรใช้ผ้าแบบไหน ถ้าอากาศหนาวหน่อย ผ้าก็จะหนา ถ้าต้องพรางตัวอยู่ในป่า ควรเป็นลายแบบไหนที่เอามาใช้งานจริงได้ บางทีมีลายแตกต่างกันอยู่สองฝั่งของเสื้อตัวเดียวกันด้วยสำหรับสลับใช้ในสนามรบแต่ละที่”

ความชอบสินค้าในหมวด Military ทำให้บาสบอกว่ามีของกระจุกกระจิกที่เกี่ยวพันกับยุคสงคราม
เยอะมากทั้งหนังสือพิมพ์ แฟ้มทหาร ถุงผ้า โปสเตอร์ และแผนที่สมัยเก่า ปฏิทินเก่าแฝงฟังก์ชั่นคลาสสิกที่สมัยนี้ไม่มีคนทํา

กระดุมและเข็มกลัดวินเทจส่วนใหญ่ก็เป็นเครื่องประดับที่ใช้กับเสื้อทหารด้วยเช่นกัน บางส่วนผลิตสำหรับเป็นที่ระลึกเพื่อสะสม ได้มาจากทั้งฝรั่งเศสและอเมริกา บาสชี้ให้ดูว่าเขาคัดเลือกของมาเองจากความชอบไม่ว่าจะเป็นตรายูเอฟซีเมอร์ลินของทหาร เข็มกลัดรูปจักรยานจากความชอบยานพาหนะ

เขาสรุปประวัติศาสตร์ผ่านของสะสมให้ฟังว่าสไตล์งานวินเทจของแต่ละยุคมีความแตกต่างกัน

“ยุคที่คนนิยมเล่นของวินเทจกันคือยุค ’40 ช่วงสงครามโลก, ยุค ’50 เป็นสงครามเกาหลี, ยุค ’60 คือสงครามเวียดนาม เสื้อผ้ายุคสงครามโลกครั้งที่สองจะป๊อปปูลาร์เป็นพิเศษ” 

ช่างซ่อมหนุ่มที่รู้จริงในฟังก์ชั่นและการจัดดิสเพลย์ 

เฟอร์นิเจอร์อย่างเก้าอี้และโต๊ะของ Horse Unit ส่วนมากนําเข้าจากอเมริกา พระเอกเด่นในร้านคือเก้าอี้โทเลโดสำหรับใช้เขียนแบบในสมัยก่อนที่มีเอกลักษณ์ของทรงเก้าอี้ที่คนเห็นแล้วจดจำได้ทันที 

ข้าวของที่มีจำนวนเยอะขึ้นและชิ้นใหญ่ขึ้นทำให้บาสมีอุปกรณ์ซ่อมมากขึ้นตามมาโดยปริยาย

“หมวดช่างจะเป็นอุปกรณ์ช่างเก่าๆ สำหรับใช้มิกซ์กับเสื้อผ้า workwear เวลาเราซื้อเก้าอี้มาจะได้อุปกรณ์สำหรับซ่อมมาด้วย เลยทําแผงเครื่องมือช่างไว้สำหรับใช้เองให้พร้อมหยิบใช้ง่าย บางทีก็ใช้เครื่องมือช่างซ่อมของที่ร้าน เวลาได้โคมไฟเก่ามาก็ซ่อมแซมเพื่อเซอร์วิสให้ใช้งานได้ก่อนที่จะขาย”

ดิสเพลย์เครื่องมือช่างที่เรียงรายอัดแน่นเหมือนโรงช่างไม้สมัยเก่าเกิดจากไอเดียของบาสที่อยากเรียงของให้เป็นระเบียบเพื่อหยิบใช้งานง่าย มองเห็นของที่อยากหยิบใช้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องเปิดกล่องว่ามีของอะไรบ้าง

บาสบอกว่าของหลายหมวดล้วนเชื่อมโยงกันหมด เครื่องมือช่างอย่างผ้ากันเปื้อน ผ้าช่างสมัยเก่า สินค้าช่างไม้ กล่องไม้ ลังไม้ รวมถึงตะกร้า กล่องใส่ขวดนม ต่างก็มีเสน่ห์ของการเล่น typography ที่เป็นความชื่นชอบแรกของเขาในสายตาของนักออกแบบ เมื่อเริ่มสะสมกระป๋องน้ำมันลายคลาสสิก สิ่งที่ซื้อตามมาก็แตกออกไปเป็นตู้หัวจ่ายน้ำมันที่อยู่ตามปั๊มสมัยเก่า เครื่องเล่นแผ่นเสียงมาคู่กับแผ่นเสียงไวนิลจากเพื่อนที่เป็นคอเพลงสายแอนะล็อก โต๊ะวินเทจมาพร้อมกับการซื้อเครื่องประดับบนโต๊ะอย่างโคมไฟวินเทจที่ปรับระดับได้และลูกโลกแก้วเรืองแสงที่ตั้งโชว์ไว้แต่ไม่ได้ขาย

บรรยากาศในร้านที่ร้อยเรียงเป็นสไตล์เดียวกันคือสิ่งที่บาสพยายามทำ เขาเลือกรางแขวนเสื้อผ้ารุ่น Dry Cleaning – Storage Conveyors by White Mach. Co. Kenilworth, N.J., U.S.A จากร้านซักรีดสมัยเก่าที่เลื่อนรางได้และมีตัวเลขที่รางคล้ายไม้วัดเพื่อให้เข้ากับสไตล์ของเสื้อผ้าวินเทจที่แขวนไว้

เมื่อตัดสินใจว่าอยากเอาตู้ถ่ายรูปสติ๊กเกอร์มาตั้งในร้าน บาสกับตวงยังให้เพื่อนผู้สร้างสรรค์ผลงานออกแบบตัวอักษรอย่าง บึก–สุชาล ฉวีวรรณ มาเพนต์ตู้ให้เป็นสไตล์วินเทจเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศร้าน 

“พอเอาตู้มาตั้งก็คิดว่าจะทำยังไงให้ตู้มีความวินเทจเหมือนร้าน เราไปรีเสิร์ชเรฟเฟอร์เรนซ์มาจากหนังเก่าที่มีตู้โฟโต้บูทแล้วรู้สึกว่าถ้าติดสติ๊กเกอร์ตกแต่งตู้จะไม่ได้ฟีลลิ่ง เลยเพนต์สดด้วยมือซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับการเพนต์ชื่อร้านแบบปิดทองที่หน้าร้าน” ตวงเล่าถึงรายละเอียดที่คิดมาอย่างดี

การขุดสมบัติที่เจียระไนผ่านสายตาของ Woot Woot

ส่วน Woot Woot เป็นพื้นที่สะสมงานคราฟต์ที่เกิดจากความชอบในงานแฮนด์เมดและของที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติจากศิลปินท้องถิ่นที่ตวงเล่าว่าเริ่มสะสมตั้งแต่สมัยเรียนออกแบบเครื่องประดับ 

“ตอนนั้นเรียนทุกอย่างตั้งแต่วาด ออกแบบ ขึ้นรูป เชื่อม ขัด ดุน ปั้น เคาะ ฝังเพชร ที่เป็นพื้นฐานของการทําจิวเวลรีทั้งหมด ช่วยเปิดโลกเรื่องความคิดสร้างสรรค์ การจัดวางคอมโพส การเลือกวัสดุต่างๆ พอเรียนเองเลยรู้ว่างานคราฟต์ที่ไม่ได้ผ่านโรงงานอุตสาหกรรมทำยากมาก กว่าจะออกมาเป็นของแต่ละชิ้น เลยสนใจงานพวกนี้เป็นพิเศษ”  

การเรียนออกแบบทำให้ตวงมีสายตาเฉียบคมที่มองเห็นความพิเศษและรายละเอียดในข้าวของสิ่งละอันพันละน้อย แม้ทุกวันนี้เธอไม่ได้สร้างสรรค์ผลงานเองแล้วแต่ก็รวบรวมผลงานเครื่องประดับของเพื่อนพ้องที่ออกแบบเองมาวางขายที่ร้าน ผลงานจิวเวลรีที่เธอคัดสรรมามีทั้งงานออกแบบที่เป็นงานอดิเรกและวางขายในจำนวนจำกัดไปจนถึงแร่หินธรรมชาติที่ลูกค้าต่างชาตินิยมซื้อพกไว้ด้วยความเชื่อเรื่องพลังงานบำบัดและโชคลาง

ทั้งนี้ตวงบอกว่านิยามคำว่า ‘สมบัติ’ ของเธอยังรวมถึงของอีกหลายหมวดนอกเหนือจากเครื่องประดับ

“ตอนเห็นโกดัง เรานึกถึงคําว่า cabinet of curiosity อยากให้ทุกมุมของร้านเรามีสมบัติต่างๆ ที่ซ่อนอยู่และรอให้คนมาค้นหา บางทีลูกค้าบอกว่าเขาตามหาของชิ้นนี้มานานและไม่คิดเลยว่าจะได้เจอที่นี่ มาที่ร้านแล้วดีใจมากเลยที่เจอ บางครั้งคนอเมริกามาเจอของวินเทจจากเมืองเขาแล้วรู้สึกขอบคุณมาก ข้าวของเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ทําให้รู้สึกมีความสุขได้”

ความสามารถพิเศษของเธอคือการมองเห็นมูลค่าในของเก่าที่หลายคนอาจมองผ่านไป ทั้งหนังสือและรูปภาพอาร์ตพรินต์ที่รวบรวมใบไม้และดอกไม้นานาพันธ์ุ รังไหมและเส้นใยจากโรงงานทอผ้า หรือแม้แต่กรอบรูปเก่า 

“อย่างกรอบรูปไม้นี้ได้มาจากโรงงานกรอบรูปเก่า โรงงานเขาคิดว่าไม่มีใครชอบและเก่าแล้วเลยอยากโละทิ้งแต่เรามองเห็นว่ามันคือสมบัติ เลยเอามาทํากระดานใหม่แต่ยังคงลวดลายของกรอบรูปวินเทจที่คงโครงไม้ดั้งเดิมและมีความคลาสสิก ด้วยเทคนิคการทำที่ละเอียด คงหาใครมานั่งทำกรอบรูปแบบนี้ในสมัยนี้ยากแล้ว พอเราเห็นก็ตื่นตาตื่นใจมาก บางทีไม่ได้เจอของพวกนี้จากตลาดวินเทจแต่บังเอิญเจอจากชาวบ้าน ต้องหมั่นสังเกต สอบถาม พูดคุยกับเขา หลายที่มักมีของซ่อนไว้ข้างหลัง”   

หากมาเดินเล่นที่ร้านจะพบว่าสมบัติของ Woot Woot ถูกซุกซ่อนไว้ทุกมุม ด้วยการตกแต่งร้านที่เน้นความคราฟต์ไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะที่ดิสเพลย์สินค้ามีทั้งโต๊ะจากช่างไม้ไทยและเคาน์เตอร์ตัดเย็บสมัยเก่าที่ตวงบอกว่าลูกค้าขอซื้อเยอะแต่ไม่ได้ขาย หรือมุมหนึ่งของร้านที่มีอุปกรณ์ลักษณะคล้ายเครื่องมือช่างวางอยู่ที่พื้น ซึ่งตวงเฉลยว่าเป็นที่ทําสมุดซึ่งเธอเอามาประยุกต์ใช้เป็นที่ทับดอกไม้แห้ง  

คิวเรเตอร์สาวที่ชวนเพื่อนมาแสดงผลงานที่รัก

ความตั้งใจหนึ่งของตวงคืออยากสร้างคอมมิวนิตี้ art & craft ด้วยการชวนนักสร้างสรรค์มาขายของ
ด้วยกัน

“เราชวนเพื่อนและพี่ที่ทำแบรนด์น่าสนใจมาวางขายที่ร้านเรา เขาอาจไม่ได้จำเป็นต้องมีชื่อเสียงมากหรือโปรโมตมากมายอะไร แต่เรามองเห็นเอกลักษณ์ของแบรนด์เหล่านี้ มองเห็นโอกาสที่เราสามารถเป็นสื่อกลางในการทําให้ลูกค้าเห็นและสามารถต่อยอดให้เขาได้ไปต่อ”

คณะมัณฑนศิลป์ที่ตวงเรียนแตกออกเป็นหลายภาควิชา เธอจึงมีเพื่อนที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองในหลายศาสตร์ นอกจากเครื่องประดับแล้วยังมีเซรามิก ประยุกต์ศิลป์ เพนต์ และอีกมากมาย สามารถทำความรู้จักผลงานของพวกเขาได้ที่ Woot Woot 

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจก็อย่างเช่น สีน้ำธรรมชาติ craft colour ที่ศึกษาวิธีการทำสีน้ำธรรมชาติขึ้นมาเองจากการแพ้สีเคมี, printwood stamp ตัวปั๊มที่ออกแบบลายเส้นเองตามเทคนิคการทำตัวปั๊มผ้าสมัยโบราณของอินเดีย มีความพิเศษคือคอลเลกชั่นตัวปั๊มที่ออกตามฤดูกาล ช่วงคริสต์มาสมีรูปต้นคริสต์มาส เกล็ดหิมะ ช่วงฮัลโลวีนมีรูปหัวกะโหลก มีรูปช้างที่เป็นที่นิยมสำหรับชาวต่างชาติที่อยากซื้อเป็นที่ระลึก, แบรนด์เซรามิก mamo & things ที่ปั้นเซรามิกชิ้นต่อชิ้นด้วยมือทำให้แต่ละชิ้นออกมาไม่เหมือนกันเลย, สมุด dibdee.binder ของเพื่อนจากเชียงใหม่ที่เย็บสมุดเอง ทํามือเองหมดทุกขั้นตอน มีทั้งปกหนังและปกไม้สักโดยแต่ละเล่มมีเทคนิคการเย็บที่แตกต่างกัน, ไม้กวาด Baan Boon (บ้านบูรณ์) ที่ชวนมาขายเป็นที่แรกในช่วงโควิด-19 และเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เป็นงานอดิเรกของคุณลุงบ้านบูรณ์  

นอกจากของกระจุกกระจิกทำมือจากเพื่อนแล้ว ตวงยังนำเข้าเครื่องเขียนสไตล์วินเทจจากต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ทำให้เธอนิยามความเป็น Woot Woot จากแง่มุมที่เธอประทับใจในของวินเทจด้วยคำว่า nostalgia

“เวลาคนมาที่ร้านแล้ว ของวินเทจมักทำให้นึกถึงความทรงจำในอดีต บางทีสมาชิกครอบครัวสามเจเนอเรชั่น คุณตาคุณยาย คุณพ่อคุณแม่และรุ่นหลานมาด้วยกัน พอมาที่ร้านแล้วคุณตาคุณยายเห็นของที่รู้สึกเชื่อมโยงและนึกถึงเรื่องราวความทรงจำในอดีต เขาก็เล่าสตอรีของชิ้นนั้นให้หลานฟัง รู้สึกว่าสิ่งของชิ้นหนึ่งเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างวัยได้ เราว่าสตอรีเหล่านี้เป็นความพิเศษที่น่าสนใจ”

อยากเป็นตัวเองที่คลาสสิกมากกว่าวิ่งไล่ตามเทรนด์ 

เมื่อถามตวงและบาสว่ามีวิธีตามเทรนด์ของวินเทจยังไง ทั้งคู่ตอบอย่างใจตรงกันว่าอยากตั้งใจเลือกของที่ชอบและสื่อตัวตนของแบรนด์เป็นหลักมากกว่าตั้งใจตามเทรนด์หรือตามกระแส

ตวงมองว่าแม้บางช่วงจะมีสินค้าฮิตที่คนนิยมแต่ก็ไม่จำเป็นต้องตามเทรนด์เสมอไป “ถ้าตามกระแสทุกครั้งจะทำให้เหนื่อยและไม่มีคาแร็กเตอร์ของตัวเอง การมีจุดยืนที่ชัดเจนของตัวเองในการพรีเซนต์สินค้าทำให้เวลาคนเห็นในในโซเชียลมีเดียแล้วรู้เลยว่าสไตล์นี้คือ Woot Woot” 

ส่วนบาสมองว่าของวินเทจคือความคลาสสิกที่อยู่ได้เรื่อยๆ ความนิยมในสินค้ามีขึ้นและลงขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นคนนิยมเล่นอะไรกัน ชิ้นที่ผู้คนชอบสะสมเยอะจะมีราคาแพง หากจำนวนผลิตน้อยและหาซื้อยาก ราคาจะยิ่งพุ่งสูงขึ้น ส่วนชิ้นไหนที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม ราคาก็จะถูกลง แฟนคลับงานวินเทจนั้นมีความชอบจำเพาะของแต่ละคน การมีของหลายหมวดและแบ่งพื้นที่เป็นหลายโซนทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าที่มีความชอบหลากหลาย

ทั้งนี้การไม่เน้นตามกระแสเทรนด์ไม่ได้แปลว่าแบรนด์หยุดนิ่งหรือไม่เสาะหาของใหม่ ทั้งคู่ต่างมีความชอบที่สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลาและหมั่นศึกษาเรื่องราวเบื้องหลังข้าวของแต่ละชิ้นเพิ่มเติมเพื่อเล่าสตอรีเหล่านั้นให้ลูกค้าฟัง 

สำหรับบาสการได้สัมผัสงานวินเทจอย่างลงลึกเหมือนได้เรียนประวัติศาสตร์ รายละเอียดเบื้องหลังของแต่ละชิ้นที่ไม่เหมือนกันทำให้ตกหลุมรักซ้ำๆ ในขณะที่ตวงก็ประทับใจเสน่ห์และสตอรีของแต่ละแบรนด์ที่ตั้งใจนําเสนอความพิเศษในแบบของตัวเอง  

จากวันแรกที่หลงใหลของวินเทจจนถึงวันนี้ เมื่อถามว่าการตกหลุมรักในสิ่งเดิมซ้ำๆ มันเป็นยังไง ความชอบในสิ่งเดิมที่ชอบมานานหลายปีเปลี่ยนไปยังไงบ้างไหม ทั้งคู่ต่างบอกว่าความชอบโดยพื้นฐานยังเหมือนเดิม ตวงบอกว่าทุกวันนี้ยังพบสิ่งที่ชอบเพิ่มขึ้นเวลาออกเดินทางแล้วเจอสิ่งที่น่าสนใจ 

“เราสองคนชอบเที่ยวญี่ปุ่นเพื่ออัพเดตสินค้าใหม่และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเดินทางเพราะญี่ปุ่นมีความเร็วเรื่องแฟชั่นวินเทจ พอเห็นอะไรน่าสนใจก็กลับมาศึกษาต่อ”

โกดังของหัวใจ

ตวงบอกว่าการตัดสินใจย้ายมาอยู่โกดังที่ใหญ่ขึ้นเป็นอีกสเตปหนึ่งของการเติบโตที่ทำให้ทั้งคู่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในการทำงานและรู้จักกันมากขึ้นทั้งในแง่พาร์ตเนอร์แบบคู่รักและธุรกิจซึ่งเป็นการรู้จักกันในคนละมุม

“ถ้าไม่ได้ทำธุรกิจด้วยกันจะไม่ได้รู้จักอีกฝ่ายในเรื่องการตัดสินใจ มุมมองเวลาต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า วิธีการดีลกับลูกค้า” 

ทั้งคู่บอกว่าแม้จะอยู่ในโกดังเดียวกันแต่สไตล์การทำงานและความชอบของแต่ละคนแตกต่างกันตั้งแต่สไตล์การจัดดิสเพลย์ในร้าน ความชอบในสินค้าคนละหมวด ไปจนถึงคาแร็กเตอร์และสิ่งที่แต่ละคนถนัด

สิ่งเล็กๆ ที่ต่างทำให้กันทุกวันคือการช่วยสนับสนุนกันทุกเรื่องในโกดังหลังใหญ่แห่งนี้ โดยตวงยกตัวอย่างให้ฟังว่า “เวลาได้เฟอร์นิเจอร์มาเพิ่มจะช่วยกันคิดว่าวางตรงไหนดี บางทีของขนาดใหญ่มาเพิ่มชิ้นหนึ่งก็ต้องจัดวางของใหม่ทั้งร้าน เป็นความสนุก หรือเวลาตู้ชิ้นหนึ่งขายไป ทุกอย่างก็ต้องถูกจัดใหม่หมดว่าอะไรจะขึ้นมาอยู่แทนที่เดิม เราจัดร้านใหม่กันเกือบทุกเดือน เวลาทำคอนเทนต์ออนไลน์ การถ่ายและตัดต่อวิดีโอก็จะช่วยกันทำ พี่บาสเป็นคนถ่าย เราเป็นฝ่ายตัดต่อ นามบัตรของทั้งสองแบรนด์และตู้โฟโต้บูทก็ช่วยกันออกแบบ”  

ทั้งนี้บาสบอกว่าแม้ Horse Unit และ Woot Woot มีความแตกต่างกันแต่มีความเชื่อมโยงกันอยู่

“ส่วนที่แยกกันชัดเจนคือชื่อแบรนด์และเพจในโซเชียลมีเดียเพราะแยกกันทําสินค้าคนละหมวด แต่มีกลุ่มลูกค้าที่ผสมกันและเชื่อมโยงกันอยู่ อย่างเคาน์เตอร์จ่ายเงินเราก็ใช้ร่วมกัน”

สำหรับคนที่ได้เจอกันทุกๆ เวลาตวงบอกว่า “เวลากลับบ้าน เราสองคนต้องมีช่วงเบรกที่หยุดพูดเรื่องงานก่อน ไม่คุยและคิดเรื่องงานตลอด 24 ชั่วโมง มีช่วงรีแลกซ์ ใช้ชีวิตและมีเวลาส่วนตัวของแต่ละคนบ้าง”  

เมื่อเป็นตัวของตัวเองจึงช่วยเติมเต็มกันและกันให้เป็นจักรวาลแห่งสมบัติที่กว้างใหญ่ขึ้น สร้างโกดังของหัวใจที่มีความหมาย รวมความหลงใหลในของวินเทจเป็นฝันเดียวกัน

Add to cart
6 สินค้าภูมิใจนำเสนอของ Horse Unit & Woot Woot 

Horse Unit :

  1. 1940s Vintage O.C. White Desk Lamp โคมไฟวินเทจปรับระดับได้จากอเมริกา 
  2. 1950s Coca Cola Vending Machine Cavalier CM-51V ตู้เย็นแช่โค้กที่ใช้งานได้จริง
  3. 3. Toledo Chair เก้าอี้โทเลโด เป็นเก้าอี้ที่นิยมใช้เขียนแบบในยุคก่อน 

Woot Woot : 

  1. Baan Boon’s Broom ไม้กวาดบ้านบูรณ์ ไอเทมที่คนนิยมซื้อ
  2. Printwood Stamp ตัวปั๊มแสตมป์รูปดอกไม้ ต้นไม้ สัตว์ ผีเสื้อ และอื่นๆ
  3. Ceramic from Mamo & Things เซรามิกที่ทุกชิ้นมีความพิเศษของตัวเอง

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like