โหรกระแส

เมื่อไหร่ที่เราอ่านดวง? ที่มาของคอลัมน์ดูดวง 12 ราศี และโหราศาสตร์ในสื่อต่างๆ

เราเป็นคนราศีสิงห์ เป็นคนไม่ชอบยุ่งกับใคร ส่วนราศีพิจิกเสน่ห์แรงเสมอ ปีใหม่ปีนี้เปิดอ่านดวงซะหน่อยว่าราศีของเราๆ จะเป็นยังไง ต้นปีก็อ่าน ต้นเดือน ต้นสัปดาห์ก็อ่านอีก

ใครๆ ก็ชอบอ่านคอลัมน์ดูดวง ในทศวรรษที่ผ่านมา เรามีหลายสื่อทั้งนิตยสารและหนังสือพิมพ์ ที่อันที่จริงแล้วเกือบทุกหัวมักจะมีคอลัมน์ดูดวงเป็นมาตรฐานของสื่อนั้นๆ เรามีคลีโอที่ค่อนข้างมีชื่อเรื่องการทำนายรายปี มีหมอทรัพย์สวนพลู ไปจนถึงดวงของคู่สร้างคู่สม ที่แต่ละที่ก็มีขึ้นชื่อเรื่องความแม่ ไปจนถึงทักษะวาทศิลป์ในการทำนายที่บางทีก็มีความแสบๆ คันๆ ให้กับเหล่าผู้อ่านที่พยายามจะหาแนวทางในการใช้ชีวิตในช่วงนั้นๆ

หัวใจหนึ่งของคอลัมน์ดูดวงคือการทำนายแบบกลางๆ โดยแบ่งคนออกเป็น 12 กลุ่มตามช่วงเวลาเกิดหรือจักรราศี แน่นอนว่าศาสตร์การทำนายหรือโหราศาสตร์เป็นศาสตร์เก่าแก่ อยู่คู่มนุษย์และวัฒนธรรมทุกวัฒนธรรมเป็นพันปีแล้ว ทว่าการทำนายแบบ 12 ราศีที่เราคุ้นเคยกันนี้ แท้จริงแล้วเป็นนวัตกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นและได้รับความนิยมจากอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์นับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่พิเศษที่เกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่ ทว่าในโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยเหตุผลและวิทยาศาสตร์นี้ ทำไมการดูดวงที่เป็นศาสตร์โบราณกลับมามีบทบาทชนิดกลายเป็นมาตรฐานของสื่อ และเป็นคอลัมน์ที่หยุดพักไม่ได้

ในช่วงต้นปีที่เราต่างเริ่มพลิกหาแนวทางคร่าวๆ เราขอชวนย้อนกลับไปหาที่มาว่าจุดเริ่มต้นของคอลัมน์ดูดวงที่แสนจะฮิตและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกได้ยังไง จากทำนายดวงอย่างเฉพาะเจาะจงในปี 1930 ในหนังสือพิมพ์ Sunday Express ของอังกฤษ จากการทำนายที่แม่นโดยบังเอิญจนบรรณาธิการขอให้เปิดเป็นคอลัมน์ และได้กลายเป็นคอลัมน์ทำนายภาพรวมโดยใช้การแบ่งตามดวงดาวซึ่งกลายเป็นรากฐานสำคัญของโลกของสื่อและโลกของการทำนายดวงในเวลาต่อไป รวมถึงคำถามที่ว่า ทำไมการดูดวงถึงสำคัญ สำคัญขนาดที่ว่าคนทั่วโลกอ่านดวง และเป็นคอลัมน์ที่ห้ามหยุดพัก ต้องลงตามกำหนดเท่านั้น

การกลับมาของโหราศาสตร์ในระดับแมส

ทุกวันนี้เรามีกระแสมู ที่หลายสื่อพยายามตอบคำถามว่าทำไมเรายิ่งก้าวสู่โลกดิจิทัล สู่ความสดใหม่ของโลกของเทคโนโลยีแล้ว แต่ความเชื่อ สิ่งที่ดูไม่เป็นเหตุเป็นผลกลับยิ่งได้รับความนิยม มีอิทธิพลกับชีวิต อันที่จริงถ้าเราย้อนดูการก่อตัวและแพร่กระจายของคอลัมน์ดูดวง ความฮิตของกระแสโหราศาสตร์ก็นับเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในช่วงที่เราเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่กันอย่างจริงจังเช่นเดียวกัน สองสิ่งที่สัมพันธ์กันซึ่งดูจะเป็นเงื่อนไขในทำนองเดียวกันคือบริบทสังคมและบทบาทของสื่อ (mass media) ความเฟื่องฟูของโหราศาสตร์เริ่มต้นเฟื่องฟูอย่างจริงจังจนกลายเป็นมาตรฐานสื่อตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากยุโรปแพร่กระจายจนกลายเป็นปรากฏการณ์ในระดับโลก

ในงานศึกษา Mass media and astrology as a reflection of the culture industry เผยแพร่ในปี 2021 พูดถึงการเติบโตขึ้นของโหราศาสตร์ที่เติบโตขึ้นอย่างสำคัญโดยมีสื่อสารมวลชนเป็นพื้นที่สำคัญในการขยายความนิยมของโหราศาสตร์และการพยากรณ์ ถ้าเรามองในภาพกว้าง โหราศาสตร์เป็นศาสตร์โบราณ บางส่วนเกี่ยวข้องกับการตอบเรื่องฝนฟ้าอากาศที่สัมพันธ์กับเกษตรกรรม บางส่วนพูดเรื่องการปกครอง เรื่องการรบ และถ้าพูดกันด้วยมุมของความเป็นสมัยใหม่ โหราศาสตร์เป็นเรื่องที่น่าจะไม่เข้ากับยุคสมัยคือการเป็นโลกวิทยาศาสตร์และการใช้เหตุผล รวมถึงนัยของโลกสมัยใหม่ที่มนุษย์เชื่อในเจตจำนงเสรี เชื่อในการกำหนดชีวิตตัวเอง แต่ทว่าทำไมความคิดเรื่องการถูกกำหนดหรือการมีอิทธิพลโดยสิ่งอื่นถึงได้กลับมาเฟื่องฟูในหน้าตาของสื่อสมัยใหม่- ในที่นี้คือการเกิดขึ้นและแพร่ขยายของหนังสือพิมพ์

คำอธิบายที่น่าสนใจหนึ่งมาจากตัวพ่อด้านความเชื่อและบริบทวัฒนธรรมของมนุษย์ คาร์ล กุสตาฟ ยุง (Carl Gustav Jung) นักจิตวิเคราะห์ผู้สนใจเรื่องเล่า ตำนาน และความเชื่อ พูดถึงโหราศาสตร์ที่กลับมาในโลกสมัยใหม่ใน The Secret of the Golden Flower (เป็นตำราเต๋าของจีนที่แปลเป็นฉบับอังกฤษ ฉบับแปลมีคอมเมนต์ของคาร์ล ยุง ที่เขียนอยู่ในนั้น) คาร์ล ยุง อธิบายว่า ‘โหราศาสตร์เป็นเหมือนการกลับมาของศาสนาในโลกสมัยใหม่ โหราศาสตร์เป็นคลังความรู้ของอดีต ในขณะมนุษย์ยุคใหม่แบบเราๆ ล้วนกำลังมองหาความหมายและเราเองก็ได้เอาศาสนากลับมาตีความในทางโลก (secular)’ พูดง่ายๆ คือศาสนาหรือความเชื่อถูกเอามาใช้ใหม่ในบริบทของเราเช่นเรื่องการค้า เรื่องชีวิตสมัยใหม่ 

สำหรับการกลับมาของโหราศาสตร์ในที่นี้คือการเริ่มต้นและความนิยมของคอลัมน์ดูดวงในหนังสือพิมพ์ การกลับมาของศาสตร์เก่าแก่ ในระดับบริบทประวัติศาสตร์ก็อาจตอบได้ว่าโหราศาสตร์หรือการมูฯ ที่กลับมากำลังตอบสนองความยุ่งเหยิงของชีวิตหรือบริบทเฉพาะของยุคสมัยยังไง

ปี 1930 กับจุดเริ่มของมาตรฐานคอลัมน์ดูดวงโลก

การก่อตัวขึ้นของมาตรฐานการดูดวง ในที่นี้คือการดูดวงของแมส คือการวางคำทำนายของคนทั่วไปโดยเฉพาะการเป็นธรรมเนียมคอลัมน์ดูดวงในสื่อ ในหนังสือพิมพ์ เรามักย้อนไปในปี 1930 โดยมีหนังสือพิมพ์ Sunday Express และนักทำนายมืออาชีพชื่อ Richard Harold Naylor 

คือก่อนจะวาร์ปไปสู่จุดเริ่มของคอลัมน์ดูดวงและการดูดวงกว้างๆ ตามราศี จริงๆ จุดเริ่มของคอลัมน์ดูดวงก็สะท้อนภาพการมีอยู่ของโหราศาสตร์ได้คือความนิยมก็พอจะมีอยู่แล้วเช่นตัวคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ตอนแรกจะขอให้นักพยากรณ์ชื่อดังในขณะนั้นชื่อ William Warner นักอ่านลายมือที่มีชื่อเสียงจากการไปศึกษาศาสตร์ทำนายจากอินเดียมาทำนายให้ แต่ทว่าไม่ว่าง คุณวิลเลียมพอเป็นนักทำนายลายมือก็เปลี่ยนชื่อใหม่ Cheiro มาจากคำว่าศาสตร์แห่งลายมือ (cheiromancy) ซึ่งแกดังมาก เป็นหมอดูลายมือแห่งยุคสมัย เคยดูดวงให้กับคนดังๆ เช่น ออสการ์ ไวลด์ ไปจนถึงมกุฎราชกุมารแห่งเวลส์ที่ต่อมาคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7

จากนักดูดวงที่ทำให้เห็นภาพว่าการพยากรณ์มีอยู่ในโลกสมัยใหม่ แต่การแมสขึ้นก็มาจากหนังสือพิมพ์ Sunday Express ในปี 1930 ทางหนังสือพิมพ์ได้ขอให้ R.H. Naylor ผู้ช่วยหมอดูเบอร์หนึ่ง ซึ่งการทำนายแรกที่สำคัญในสื่อคือการทำนายดวงของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต (Princess Margaret) ในบทความชื่อ What The Stars Foretell For The New Princess ผู้ซึ่งเพิ่งพระราชสมภพในเดือนสิงหาคม 1930 ซึ่งเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตคือพระขนิษฐาของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ที่เพิ่งสวรรคตไป

ตัวคอลัมน์ดังกล่าวจึงเป็นคอลัมน์แรกๆ ที่นักทำนายได้แสดงแผนผังดวงดาว ว่าเจ้าหญิงเกิดในอิทธิพลดวงดาวแบบไหน คำทำนายค่อนข้างให้ภาพและใช้รวมๆ คืออธิบายว่าพระองค์จะมีชีวิตที่เต็มไปด้วยเรื่องราว (eventful) นอกจากคำทำนายของเจ้าหญิงแล้วยังมีการทำนายผู้ที่เกิดวันเดียวกันด้วย

หลังจากที่คอลัมน์แรกปล่อยออกไป ปรากฏว่าชาวอังกฤษและสหราชอาณาจักรให้ความสนใจคอลัมน์ทำนายอย่างถล่มทลาย มีการขอให้มีคำนายอื่นๆ เพิ่มเติม จากคอลัมน์ทำนายชะตาของเจ้าหญิงพระองค์น้อยที่เผยแพร่ไปในวันที่ 24 สิงหาคม ในคอลัมน์ต่อมาประจำเดือนกันยายนเนย์เลอร์ก็ออกอีกคำทำนายโดยทำนายชะตาของผู้ที่เกิดในเดือนกันยายน

จุดพีคของคอลัมน์ดูดวงของเนย์เลอร์คือคำทำนายประจำเดือนตุลาคม ซึ่งวางแผงในวันที่ 5 ตุลาคม เนย์เลอร์ทำนายว่า อากาศยานของอังกฤษจะประสบภัยอันตราย (A British aircraft will be in danger.) ในเดือนวันที่ 8-15 ตุลาคม แต่พลังของเนย์เลอร์รุนแรงกว่านั้น คือวันที่ 5 วันเดียวกับคำทำนายออก ในวันนั้นเองที่อังกฤษเกิดอุบัติเหตุเครื่องบิน R101 ประสบอุบัติเหตุจากพายุและร่วงในฝรั่งเศส มีผู้เสียชีวิต 41 ราย 

สำหรับคอลัมน์ครบรอบหนึ่งเดือนแม่นระดับขนลุกและกลายเป็นที่สนใจจากสาธารณชนอย่างท่วมท้น แน่นอนว่าทางหนังสือพิมพ์ Sunday Express จึงขอให้เนย์เลอร์เปิดคอลัมน์ดูดวงรายสัปดาห์เป็นคอลัมน์ประจำ นับเป็นนักพยากรณ์แรกที่เปิดคอลัมน์ของตัวเอง มีคำทำนายสำหรับสาธารณชนอย่างเป็นทางการ

อันที่จริงการย้ายมาทำนายดวงในระดับแมส ทั้งในการลงสื่อสาธารณะคือหนังสือพิมพ์ และการปรับการทำนายจากการทำนายเฉพาะบุคคล มาสู่การทำนายในภาพรวมและคิดเผื่อผู้อ่านจำนวนมากๆ ก็นับว่าเป็นนวัตกรรม หลังจากคอลัมน์ฮิต หนังสือพิมพ์ และสื่ออื่นก็เริ่มดำเนินรอยตามคอลัมน์โหราศาสตร์ เช่น 

The People ในปี 1933 ต่อมาคือ Daily Express ในต้นปี 1938

จุดเปลี่ยนสำคัญของคอลัมน์ดูดวงที่กลายเป็นต้นแบบของคอลัมน์ดูดวงคือการดูดวงโดยใช้จักรราศีและการแบ่งผู้คนโดยสัมพันธ์เข้ากับกลุ่มดาวบนท้องฟ้า เนย์เลอร์เริ่มทำนายโดยเชื่อมโยงดวงเข้ากับกลุ่มดาวในช่วงปี 1936 คือเริ่มมีการพูดถึงการโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เข้าสู่กลุ่มดาวต่างๆ เพื่อทำนายความเป็นไป จนในปี 1937 ที่เนย์เลอร์เริ่มแยกคำทำนายของผู้คนออกเป็น 12 กลุ่มตาม 12 จักรราศี (star sign) และให้คำทำนายเป็นรายสัปดาห์ ในการทำนายจาก 12 ราศีตามช่วงเวลาที่เกิดและเชื่อมโยงเข้ากับกลุ่มจักรราศีมีชื่อคอลัมน์ใหม่ตามชื่อว่า Your Star 

คอลัมน์นี้เนย์เลอร์ใช้วิธีแยกผู้คนโดยจำแนกช่วงเวลาที่เกิดว่าเราอยู่ในช่วงที่ดวงอาทิตย์โคจรใกล้กลุ่มดาวไหน เช่นถ้าเราเกิดในช่วงที่ดวงอาทิตย์โคจรผ่านกลุ่มดาว Capricornus (กลุ่มดาวแพะทะเล) ซึ่งคือช่วง 22 ธันวาคม ถึง 19 มกราคม ในยุคนั้นจะเรียกว่าเป็น sun sign และระบุว่าเป็น Capricorn หรือชาวราศีมังกร

วิวัฒนาการคอลัมน์ดูดวงของเนย์เลอร์ถือว่าอัจฉริยะก็ว่าได้ จากการทำนายดวงโดยทั่วไป จนเริ่มมีการระบุคำทำนายในลักษณะกึ่งเฉพาะเจาะจง คือทำให้เราโยงตัวเองเข้ากับราศีหรือคำทำนายนั้นๆ ในขณะเดียวกันการทำนายก็เต็มไปด้วยศิลปะทั้งการจูงใจและการให้ภาพคำทำนายที่กว้างๆ ไม่เฉพาะเจาะจงเช่นการทำนายในสมัยก่อน

แน่นอนว่าคอลัมน์ของเนย์เลอร์ฮิตเป็นพลุแตก และกลายเป็นรากฐานคอลัมน์ดูดวงรายวัน รายสัปดาห์ในหนังสือพิมพ์สมัยใหม่และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา ความพิเศษที่เราเริ่มเห็นคือหน้าตาและบทบาทของหนังสือพิมพ์ที่ไม่ได้เป็นแค่ข่าวสาร แต่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต หนังสือพิมพ์เข้าไปอยู่ในทุกส่วนของชีวิตของผู้คน เราเห็นภาพการกินข้าวด้วยกันและการเอาดวงมาอ่าน พร้อมกันนั้นในหนังสือพิมพ์เดียวกันก็มีความบันเทิงอื่นๆ มีเกม มีครอสเวิร์ดไปจนถึงเทคนิคการดูแลบ้านประกอบอยู่

สำหรับเนย์เลอร์ ตัวแกกลายเป็นสุดยอดเหมือนหมอลักษณ์ฟันธงในยุคนี้ สัปดาห์หนึ่งมีรายงานว่าแกได้รับจดหมายอย่างน้อย 28,000 ฉบับ มีข้อสังเกตจากบรรณาธิการที่ร่วมสำนักของ Sunday Express ชี้ให้เห็นว่าคอลัมน์ดูดวงของเนย์เลอร์ทรงพลังอย่างเหลือเชื่อ และพลังนี้ส่งผลต่อแรงจูงใจไปจนถึงระบบเศรษฐกิจ ในข้อเขียนระบุว่าถ้าวันไหนเนย์เลอร์บอกว่าวันจันทร์เป็นวันที่ไม่ดีสำหรับการซื้อ ผลคือห้างร้านจะเงียบเหงาและคนซื้อจะรอวันต่อมาให้ดาวของเขาเดินดีซะก่อนค่อยทำการลงมือจับจ่ายข้าวของ

ถ้ามองจากบริบททางสังคม มีข้อสังเกตว่ายุคสมัยที่คอลัมน์ดูดวงถือกำเนิดซึ่งสอดคล้องกับความสนใจของผู้คนที่มีต่อการทำนายและการอยากหยั่งรู้อนาคต ทศวรรษ 1930 เป็นยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง เป็นยุคที่เกิดตลาดหุ้นและเป็นสมัยหลังจากที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่มสลาย ในภาวะนั้นสังคมเต็มไปด้วยความวิตกกังวล ความกลัวว่าจะตกงาน การที่สื่อมีแนวทางหรือชะตาชีวิตในภาพกว้างๆ ให้ก็นับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ยึดเหนี่ยวและการให้แนวทางในการใช้ชีวิตอย่างคร่าวๆ ได้

ในทำนองเดียวกัน จากงานศึกษาเรื่องโหราศาสตร์และสื่อสารมวลชน ข้อสังเกตเดียวกันพบว่าโหราศาสตร์ที่ได้รับความนิยมขึ้นนั้นนอกจากต้นแบบจากอังกฤษแล้ว ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คอลัมน์ในทำนองเดียวกันรวมไปถึงความสนใจของโหราศาสตร์และการพยากรณ์ก็เฟื่องฟูและแพร่กระจายไปในยุโรป และทั่วโลกในเวลาต่อมา

ความน่าสนใจของการเกิดขึ้นของคำทำนายดวงในระดับมวลชนเมื่อ 70 ปีที่แล้ว หลายอย่างมีความใกล้เคียงกันกับโลกปัจจุบัน จากการเกิดขึ้นและแพร่กระจายของหนังสือพิมพ์ จากบริบทชีวิตที่ไม่แน่นอนและน่าหวาดหวั่น สู่โลกปัจจุบันที่ธุรกิจสายมูฯ การฟังดวง ไปจนถึงช่วงดูดวงทางยูทูบ หรือแอพฯ และการดูดวงที่ใช้พลังของเทคโนโลยีการทำนาย การเปลี่ยนเบอร์มงคล การสุ่มไพ่รายวัน ไปจนถึงฐานข้อมูลดวงดาวที่เราสามารถเช็กดวงได้ทันที ความเปลี่ยนแปลงและบริบทสังคมปัจจุบันเองก็สัมพันธ์กับความรู้สึกถึงความไม่แน่นอนในชีวิต ความไม่มั่นใจในการงานและความมั่นคงที่ไม่ค่อยจะมั่นคงเท่าไหร่

สุดท้ายนี้ อ่านจบแล้ว เพื่อความสบายใจ เราเองก็อาจจะเปิดดวงรายปีดูอีกสักรอบ ถ้าไม่ค่อยดีก็ขอเชื่อครึ่งเดียวและระวังตัวบ้างเล็กน้อย ถ้าไม่สบายใจอีก ก็ลองหาช่องแม่นๆ ใหม่ๆ ฟังเพลินๆ ก่อนนอน–อยากบอกว่าหลายช่องในยูทูบ แม่นใช้ได้

อ้างอิง

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

ชื่อกล้วยค่ะ banana blah blah เป็นนักวาด บางวันจับเม้าส์ปากกา บางวันจับลูกกลิ้งทำภาพพิมพ์ สนใจ Art therapy และการวาดภาพเพื่อ Healing เชื่อว่าการทำงานที่ดีต้องทำให้เราอิ่มทั้งกายและใจ ได้มองเห็นตัวเองเติบโตภายใน

You Might Also Like