Inside Scoop

อดเหล้าเรากินไอศครีม ไอศครีมกับยุคแบนเหล้า และรสชาติของความยากเข็ญ

อากาศร้อนๆ แบบนี้ คอลัมน์ทรัพย์คัลเจอร์ขอชวนทุกท่านไปนั่งในร้านไอศครีมเย็นๆ สั่งโซดาลอยไอศครีมสักแก้ว แต่ร้านไอศครีมที่เราจะพาไปนั่งในครั้งนี้คือร้านไอศครีมในดินแดนอเมริกันช่วงทศวรรษ 1920  

ในห้วงเวลานั้นถือเป็นช่วงรอยต่อของสงครามโลกทั้งสองครั้ง เป็นช่วงที่ไฟฟ้าเริ่มกระจายไปถึงหลายพื้นที่ ประเด็นสำคัญของวัฒนธรรมไอศครีมแบบอเมริกันคือการกลายเป็นตัวตนของชาติและส่งอิทธิพลไปทั่วโลก ไอศครีมอเมริกันมีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์อเมริกันสมัยใหม่อย่างลึกซึ้ง 

ตั้งแต่ยุคแห่งการห้ามขายเหล้า (Age of Prohibition) ยุคที่เกิดการผลิตไอศครีมเป็นจำนวนมากด้วยตู้เย็นซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ และส่งท้ายด้วยร็อกกี้โร้ด รสชาติไอศครีมที่เล่าขานกันว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อปลอบใจผู้คนในยามยาก รสชาติที่อาจเป็นรสโปรดของเราในอีกซีกโลกและในอีกร้อยปีให้หลัง

ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เราเมาไอศครีม

ยุคแบนเหล้าหรือ Age of Prohibition กินเวลาระหว่างปี 1922-1930 เราเคยชวนดูว่าเมื่ออเมริกาแบนเหล้า สุดท้ายก็ทำให้เกิดทั้งผู้หญิงที่เข้าสู่อุตสาหกรรมการดื่ม เกิดบาร์คอกเทลและเกิดกระทั่งวัฒนธรรมการออกเดต 

ในยุคนี้เองที่เมื่อเหล้าลงใต้ดิน ไอศครีมกลายเป็นอาหารเยียวยาใจทดแทนเหล้าที่ขาดหายไป ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างรถขายไอศครีม และเกิดการพัฒนารสชาติไอศครีมให้หลากหลาย ตอนนี้แหละที่ไอศครีมที่แต่เดิมอาจไม่ใช่ขนมหวานสำหรับทุกชั้นชนก็เริ่มกลายเป็นอาหารอันโอชะของคนทุกชนชั้น 

ที่น่าสนใจคือผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเหล้าเบียร์รายใหญ่บางรายยังหันมาผลิตไอศครีมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงแทน เช่น Anheuser-Busch โรงเบียร์ที่ขึ้นชื่อว่ายอดฮิตที่สุดเจ้าหนึ่งก็หันมาผลิตไอศครีมและขายคอนเซปต์ชวนกินไอศครีมวันละจานทุกวัน 

หรือ Yuengling (Jüngling) โรงกลั่นเบียร์เยอรมันรายใหญ่ก็หันมาผลิตไอศครีมที่ตัดเป็นชิ้นเหมือนเค้ก ทำให้คนขายย่นเวลาการตัดและสามารถหยิบขายได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความสะดวกทำให้ขายดีและมีรายงานว่าขายได้ถึง 2 ล้านควอตซ์ภายในปี 1928

ไอศครีมกับกองทัพและเครื่องดื่มฮิตยุคอดเหล้า 

การแบนเหล้ายังส่งผลต่อความนิยมของไอศครีม กิจการห้างร้าน และธุรกิจโคนมในหลายมิติ หนึ่งในที่ที่เหล้าถูกแบนก่อนเพื่อนคือบริเวณท่าเรือและในกองทัพเรือ 

ในปี 1914 ตอนนั้นอเมริกายังร่วมอยู่ในสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพพบว่าไอศครีมกลายเป็นยาใจใหม่ของทหาร แม้ภายหลังอเมริกาจะงดแบนเหล้าแล้วและเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 กองทัพได้ลงทุนกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างโรงงานไอศครีมลอยน้ำไว้ในทะเลแปซิฟิกและในทะเลแอตแลนติก ร้านไอศครีมลอยน้ำผลิตไอศครีมได้เร็วและมากถึง 500-2,000 แกลลอนต่อวัน

ในช่วงหลังปี 1920 เครื่องดื่มประเภทโซดารวมถึงโคคา-โคล่ากลายเป็นเครื่องดื่มใหม่ที่ได้รับความนิยม สิ่งที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมไอศครีมคือตู้จ่ายโซดา และร้านที่ทำให้โซดาอร่อยสนุกขึ้นก็คือร้านไอศครีม ไอศครีมโซดา หรือโซดาโฟลตจึงกลายเป็นเครื่องดื่มฮิตที่สัมพันธ์กับยุคอดเหล้า 

บทสัมภาษณ์ผู้ผลิตไอศครีมรายหนึ่งในหนังสือพิมพ์ที่แคนซัสเมื่อปี 1922 ระบุว่าการแบนเหล้าทำให้ช็อกโกแลตไอศครีมโซดากลายเป็นเครื่องดื่มประจำชาติ และไอศครีมที่เคยเป็นขนมที่นานๆ กินทีก็กลายเป็นของหวานที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน

ในช่วงปี 1916-1933 คนอเมริกันบริโภคไอศครีมเพิ่มขึ้นถึง 55% ในปี 1929 มีการบริโภคสูงถึงวันละหนึ่งล้านแกลลอน และมีการบริโภคไอศครีมในประเทศสูงถึง 100 ล้านแกลลอนต่อปี ภายหลัง Temperance Movement กลุ่มผู้สนับสนุนการงดและแบนเหล้ายกความดีความชอบให้ตัวเองว่าพวกเขาเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น โคนม กิจการที่เกี่ยวกับนม รวมถึงไอศครีมด้วย

การมาของตู้เย็นและสถานะของไอศครีมที่ไม่จำกัดชั้นชน 

นอกจากการแบนเหล้าแล้ว วัฒนธรรมไอศครีมจะเฟื่องฟูไม่ได้เลยหากไม่มีนวัตกรรมทำความเย็นอย่างตู้เย็น ต้องย้อนกลับไปว่าอเมริกาเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930 หลังจากนั้นจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า New Deal เพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ 

ในปี 1936 เกิดกฎหมายชื่อ Rural Electrification Act ทำให้โครงข่ายไฟฟ้าในฐานะโครงสร้างพื้นฐานขยายไปแม้ในดินแดนห่างไกล สิ่งที่ไปพร้อมกับไฟฟ้านอกจากแสงสว่างก็คือตู้เย็น ยุคแห่งความสว่างไสวของอเมริกาจึงขยายตัวไปพร้อมกับรสหวานเย็นของไอศครีม

จากแต่เดิมที่เป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะต้องเอาของเหลวไปตีกับน้ำแข็ง ซึ่งน้ำแข็งในยุคที่ยังไม่มีตู้เย็นก็นับเป็นสิ่งที่หายาก และเก็บรักษาลำบาก ก็ไม่ได้ซับซ้อนขนาดนั้น แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ความรักในไอศครีมของชาวอเมริกันเริ่มถดถอยเมื่ออเมริกาเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปีเดียวกัน 

ช่วงนี้เองที่ผู้ผลิตไอศครีมพยายามสร้างแรงจูงใจให้ไอศครีมเป็นอาหารเยียวยาหัวใจในบรรยากาศของความอึดอัดตึงเครียด

ร็อกกี้โร้ด ไอศครีมขรุขระในช่วงเวลาสะบักสะบอม

ก่อนจะก้าวเข้าสู่ทศวรรษ 1930 เราขอย้อนกลับไปในปี 1922 และมองกิจการไอศครีมจากด้านของการผลิต นวัตกรรมสำคัญของวงการไอศครีมเกิดขึ้นในเมืองลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี Clarence Vogt ได้ประดิษฐ์เครื่องทำไอศครีมที่เป็นหมุดหมายของการผลิตไอศครีมแบบ mass production 

แต่เดิมที่แม้จะมีตู้เย็นแล้ว ก็ยังยากลำบากเช่นต้องใช้มือตีหรือเขย่า เครื่องทำไอศครีมเครื่องนี้จึงทุ่นแรงไปได้มากเพราะเป็นเครื่องจักรที่มีท่อหมุนพร้อมระบบทำความเย็น ทำให้การผลิตไอศครีมเป็นสินค้าในจำนวนมากทำได้จริงและทำได้ง่ายขึ้น  

ด้วยความสะดวกของเครื่องที่เราแค่เทส่วนผสมต่างๆ จนได้เนื้อไอศครีมที่ปลายท่อจึงทำให้เกิดไอศครีมหลากหลายรูปแบบ เช่น เอาส่วนผสมต่างๆ ไปผสมจนเกิดเป็นไอศครีมพร้อมวัตถุดิบอื่นๆ ขึ้นมา หนึ่งในนั้นคือไอศครีมร็อกกี้โร้ด ไอศครีมรสสำคัญซึ่งสัมพันธ์กับการออกแบบรสชาติให้ผู้คนก้าวผ่านช่วงเวลาอันขรุขระไปได้ 

ร็อกกี้โร้ดเกิดขึ้นในปี 1929 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดิ่งลงเหว เป็นจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือ Great Depression เจ้าร็อกกี้โร้ดนั้นเป็นไอศครีมรสช็อกโกแลตที่มีถั่วหักๆ อย่างวอลนัตหรืออัลมอนด์ผสม ทั้งยังมีมาร์ชแมลโลว์ช่วยเพิ่มความซับซ้อน รสชาติของวัตถุดิบชูใจทั้งหมดผสมออกมาในรูปแบบไอศครีมชวนให้ผู้คนก้าวผ่านชีวิตที่ขรุขระเหมือนผิวสัมผัสของไอศครีมที่คละเคล้าทั้งความกรอบแข็งของถั่วและความนุ่มฟูของมาร์ชแมลโลว์

ไอศครีมร็อกกี้โร้ดมีเรื่องราวถึงจุดเริ่มต้นแตกต่างกัน แต่มาจากพื้นที่เดียวกันคือที่เมืองโอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย หนึ่งในดินแดนสำคัญของการผลิตนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่องราวพูดถึงร้านไอศครีมและการคิดสูตรในคืนที่ตลาดหุ้นร่วง บางเรื่องจะพูดถึงเจ้าของร้านไอศครีมและร้านขนมหวานประเภทลูกอมที่เป็นเพื่อนกัน บ้างก็ชี้ให้เห็นว่ามีลูกอมรสร็อกกี้โร้ดก่อนจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนซึ่งทำร้านไอศครีม ตัดมาร์ชแมลโลว์ลงไปผสมกับไอศครีมและถั่ว

การผสมผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับลูกอมหรือของหวานอื่นๆ ลงในไอศครีมถือเป็นความสร้างสรรค์ที่สดใหม่มาก ในยุคนั้นการสร้างสรรค์รสไอศครีมจะเป็นการผสมรสด้วยการวางไอศครีมเป็นชั้นๆ ที่เรียกว่า Neapolitan ice cream คือเป็นรสวานิลลา สตรอว์เบอร์รี และช็อกโกแลต 

การใส่วัตถุดิบอื่นๆ ทำให้ร็อกกี้โร้ดกลายเป็นไอศครีมรสผสมรสแรกๆ ซึ่งกลายเป็นไอศครีมระดับไอคอน ร้านอื่นๆ เริ่มทำร็อกกี้โร้ดในแบบของตัวเองออกมา ไม่ว่าจะด้วยการเปลี่ยนรสไอศครีม เปลี่ยนถั่ว แต่ที่สำคัญคือต้องมีมาร์ชแมลโลว์ประกอบอยู่เสมอ

วัฒนธรรมไอศครีมของคนอเมริกัน
ในวันที่เหล้าไม่ใช่ของต้องห้าม

การเฟื่องฟูและความรักในไอศครีมของชาวอเมริกันนับจากการเป็นสิ่งทดแทนในยุคแบนเหล้า ในที่สุดกลายเป็นตัวตนและไม่ค่อยลดน้อยลง แม้แต่ในช่วงยุคเศรษฐกิจตกต่ำ การบริโภคไอศครีมก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ 

กระทั่งในความกังวลว่าถ้าการแบนเหล้าถูกยกเลิก ความนิยมของไอศครีมจะลดลงไหม แต่คำถามนั้นตอบได้ไม่ยาก เพราะเมื่ออเมริกายกเลิกการแบนเหล้าในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ การบริโภคไอศครีมยิ่งได้รับความนิยมและมีมากขึ้นไปอีก

แม้แต่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการจำกัดทรัพยากร ความรักในไอศครีมของชาวอเมริกันก็ไม่อาจหยุดยั้งได้ เช่นการสร้างเรือและยกให้การขนส่งหรือผลิตไอศครีมเป็นกิจกรรมสำคัญลำดับต้นๆ ของกองทัพ ก็เป็นอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่ฟ้องว่าเจ้าไอศครีมกลายเป็นหัวใจหนึ่งของความเป็นอเมริกันไปเรียบร้อยแล้ว

ขยับกลับมาที่ปัจจุบัน ตัวเลขการบริโภคไอศครีมของชาวอเมริกันค่อนข้างสะท้อนว่าไอศครีมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนไปแล้ว รายงานในปี 2024 ระบุว่าชาวอเมริกันบริโภคไอศครีมประมาณ 23 ปอนด์ หรือราวสิบกิโลกรัมต่อปี ชาวอเมริกัน 87% มีไอศครีมติดตู้เย็น 

จากการที่ไอศครีมกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตหวานและเย็นของชาวอเมริกัน บ้านเราเองที่ร้อนระอุเชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยที่มีไอศครีมติดอยู่เย็น หรืออันที่จริงการขยายตัวของวัฒนธรรมไอศครีมอเมริกันก็มากับแบรนด์ไม่ว่าจะเป็นร้านหรือยี่ห้อไอศครีมที่เราอาจเพิ่งเดินผ่าน หรือแวะไปทานมาเมื่อวันก่อน ไม่ว่าจะเป็นสเวนเซ่นส์ ฮาเก้น-ดาส บัดส์ หรือไอศครีมแบบกระปุกที่กลายเป็นสิ่งที่มีแทบทุกตู้เย็นทั่วโลก

อ้างอิง

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

ชื่อกล้วยค่ะ banana blah blah เป็นนักวาด บางวันจับเม้าส์ปากกา บางวันจับลูกกลิ้งทำภาพพิมพ์ สนใจ Art therapy และการวาดภาพเพื่อ Healing เชื่อว่าการทำงานที่ดีต้องทำให้เราอิ่มทั้งกายและใจ ได้มองเห็นตัวเองเติบโตภายใน

You Might Also Like