Kintaam อัธยาศัย

หลัก 4P+1 ของ Kintaam แบรนด์ไอศครีมแซนด์วิชที่สร้างสรรค์ตามอัธยาศัย ให้คุณกินตามอัธยาศัย

เรียกว่าเป็นความบังเอิญก็ได้ แต่ในวันที่เราสัมภาษณ์แบรนด์ไอศครีมแซนด์วิชสัญชาติเชียงใหม่อย่าง ‘Kintaam’ หรือ ‘กินตาม’ วันนั้นเป็นวันที่ร้อนที่สุดในรอบปีพอดี

แค่การลิ้มลองไอศครีมรสชาติดีเยี่ยม ที่ถูกประกบด้วยขนมปังแข็งกรอบเคี้ยวสนุก ความเย็นและความอร่อยที่เราได้ก็ทำให้หัวใจกลับมาชุ่มฉ่ำแล้ว แต่เมื่อผสมเรื่องเล่าและวิธีคิดของ น้ำทิพย์ ไชยจินดา และน้ำอบ ไชยจินดา สองพี่น้องเจ้าของแบรนด์ Kintaam นั่นยิ่งทำให้ทุกอย่างออกมากลมกล่อมเข้าไปใหญ่

“Kintaam มาจากคำว่า ‘กินตามอัธยาศัย’ เป็นคำที่บ้านเรามักใช้พูดกันเป็นประจำ” ทั้งสองสาวพี่น้องเกริ่นแนะนำเราก่อนสัมภาษณ์ ก่อนเริ่มเล่าถึงความเป็นมาของแบรนด์ และหลักคิดในแง่มุมต่างๆ ที่ทำให้ Kintaam เป็น Kintaam แบบทุกวันนี้

ซึ่งหลังจากนี้แหละ ที่เราอยากชวนทุกคนมาฟังน้ำทิพย์และน้ำอบไปพร้อมกัน

แต่ไม่ต้องเกร็งนะ สบายๆ

อ่านได้ตามอัธยาศัยเลย

Product
กินตามใจอยาก

ย้อนกลับไปในวันเวลาแรกเริ่ม แบรนด์ Kintaam ถือเป็นหนึ่งในหลายแบรนด์ที่เกิดจากการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในช่วงโควิด-19 เพราะถ้าย้อนความกันไปก่อนหน้านั้น ทั้งน้ำอบและน้ำทิพย์ไม่มีใครทำธุรกิจหรือเกี่ยวข้องกับอาหารเป็นอาชีพเลย

น้ำอบเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ส่วนน้ำทิพย์ทำงานอยู่ในวงการภาพยนตร์หลังเรียนจบ แต่เพราะโลกที่เปลี่ยนไปช่วงโควิด-19 ทำให้น้ำทิพย์เลือกกลับบ้านที่เชียงใหม่ ซึ่งช่วงเวลานี้แหละที่ไอเดียของ Kintaam เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

“Kintaam เกิดขึ้นมาจากการหาทำค่ะ” น้ำทิพย์เริ่มต้นเล่าพร้อมรอยยิ้ม “ก่อนหน้านั้นเราเป็นคนชอบทำขนม แต่ไม่เคยทำจริงจัง ทำกินอยู่บ้านเสียมากกว่า แต่พอกลับมาอยู่เชียงใหม่แล้วว่าง ความอยากเล่าเรื่องที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากการเรียนหนังก็เริ่มส่งผลให้เรามองหากิจกรรมใหม่ๆ เลยนึกถึงงานอดิเรกที่ชอบอย่างการทำขนม จึงเอ่ยปากชวนแม่ว่าไหนๆ ก็มีเวลาแล้ว งั้นเรามาลองทำขนมขายกันดูไหม”

แต่ขนมที่ว่าจะเป็นอะไรดีล่ะ? นั่นเองคือคำถามที่ต่อมาน้ำทิพย์ต้องมานั่งคิดต่อ ซึ่งบังเอิญว่าความอยากหาทำที่ว่านี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนพอดี อากาศที่ร้อนจัดเลยทำให้เธอคิดถึง ‘ขนมเย็นๆ’ ขึ้นมาเป็นไอเดียแรก

และเมื่อนึกถึงขนมเย็นๆ ที่ครองใจคน แถมสามารถใส่รายละเอียดเรื่องเล่าต่างๆ ลงไปได้ จะมีอะไรดีไปกว่า ‘ไอศครีม’ อีกล่ะ

“ถ้าอยากหาทำช่วงเดือนธันวาที่อากาศหนาวๆ ป่านนี้ได้ทำร้านหมูกระทะไปแล้ว” น้ำอบเสริมพร้อมเรียกเสียงหัวเราะได้ครืนใหญ่ ก่อนเธอเล่าต่อถึงการเข้ามาร่วมในแบรนด์นี้

“หลังจากน้ำทิพย์ศึกษาและทดลองได้สักพัก น้องมาชวนให้เราลองมาทำร่วมกัน ซึ่งด้วยความที่ตอนนั้นเป็นช่วงโควิด เราเลยพอมีเวลา จึงได้มาช่วยน้องตั้งแต่ต้นๆ ปรึกษากันตลอดว่าโปรดักต์ควรเป็นยังไง ทำยังไงดีให้ไอศครีมของเราแตกต่าง

“แต่ทั้งหมดนั้นไม่ได้มีพื้นฐานจากความคิดเชิงธุรกิจเลยนะคะ มันยังคงตั้งอยู่บนความหาทำของเราสองคน แต่หาทำที่ว่านี้เราก็อยากสนุกและแตกต่างจากคนอื่นด้วย เพราะถ้าทำเหมือนกับคนอื่นก็ไม่รู้ทำทำไม”

จากตรงนั้นเอง น้ำทิพย์ที่อยู่เชียงใหม่ และน้ำอบที่ยังอยู่กรุงเทพฯ ก็ร่วมพัฒนาแบรนด์ ‘Kintaam’ ขึ้นมาจากศูนย์ ไอเดียตั้งต้นแค่คำว่า ‘ไอศครีม’ เลยค่อยๆ ได้รับการเสริมแต่ง ศึกษา และทดลองไปเรื่อยๆ 

จนวันหนึ่งคำว่า ‘ไอศครีม’ ที่ว่า ก็กลายเป็น ‘ไอศครีมแซนด์วิช’ ในที่สุด

กินตามใจคิด

“เราลองผิดลองถูกกันเยอะมาก กว่าจะออกมาเป็นอย่างที่ทุกคนเห็นกัน” น้ำทิพย์เริ่มย้อนถึงความเป็นมาให้เราฟัง

“จากแรกเริ่มที่อยากทำเพราะแค่ความสนใจ เนื่องจากไอศครีมแซนด์วิชส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่เมนูเสริมของร้านใหญ่ แต่พอได้มาลองทำจริง เราเจอข้อเท็จจริงหลายข้อมาก ว่าทำไมก่อนหน้านี้คนถึงวางไอศครีมแซนด์วิชไว้ตรงจุดนั้น เพราะนี่คือเมนูที่ประกอบไปด้วยความยากหลายอย่างมาก ที่ถ้าไม่ลองทำคงนึกไม่ออกเลย”

น้ำทิพย์ยกตัวอย่างหนึ่งในความยากให้เราฟัง นั่นคือการอยู่ร่วมกันระหว่างส่วนที่เป็นไอศครีมและแซนด์วิช เธอเล่าว่าแค่การหาคุ้กกี้หรือขนมปังที่พอดี ไม่อ่อนเกินจนดูดน้ำไอศครีมแล้วเละ และไม่แข็งเกินจนกินกับไอศครีมไม่ได้ นั่นก็ถือเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานานมากแล้ว ทำเสียไปก็เยอะ จนกระทั่งมาเจอกับ ‘บิสกิต’ ที่เนื้อไม่กรอบแข็งจนเกินไป พอๆ กับไม่หนุบหนับ รสสัมผัสอยู่ตรงกลาง เวลากินกับไอศครีมแล้วเคี้ยวสนุกแถมเข้ากันได้เป็นอย่างดี

“หรืออย่างรสชาติก็ยาก ด้วยความที่เราไม่เคยทำมาก่อน ตอนตั้งต้นเราเลยไม่คิดอะไรมากไปกว่าการทำให้อร่อย พอๆ กับใส่เรื่องที่เราอยากเล่าลงไปให้ได้ สุดท้ายมันเลยมาจบที่การตั้งต้นรสชาติด้วยคอนเซปต์ก่อนเสมอ กล่าวคือเราอยากสื่อสารเรื่องอะไร เราค่อยคิดค้นรสชาติให้ออกมาตรงกับความต้องการนั้น”

สิ่งที่น้ำทิพย์เล่า น้ำอบอธิบายต่อพร้อมยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากวิธีคิดดังกล่าวให้เราฟัง เช่นซีรีย์แรกของ Kintaam ในช่วงเปิดร้าน ที่พวกเธอตั้งต้นจากสถานการณ์บ้านเมืองที่การเมืองเข้มข้นมาก จนเกิดเป็นรสชาติอย่างรสกล้วย ที่ชื่อเต็มว่ากล้วยหอมทองผ่องอำไพ หรือรสช็อกแสบที่มีส่วนผสมของพริกเกลือ สื่อถึงการเผาพริกเผาเกลือด้วยความโกรธแค้น เป็นต้น 

“แน่ล่ะ ว่าสุดท้ายสิ่งที่ผู้คนจะได้ทานต้องเป็นไอศครีมแซนด์วิชแสนอร่อย นั่นคือค่ามาตรฐานที่ต้องทำให้ได้ แต่ในฐานะคนทำ แบรนด์เราตั้งต้นจากเรื่องที่อยากสื่อสารเสมอ คล้ายกับการตั้งโจทย์ไปเรื่อยๆ ให้ตัวเองได้ลองแก้ เพราะนี่คือรูปแบบการทำงานที่เหมาะกับเรามากกว่า

“หรืออย่างด้านอื่นๆ ในการทำธุรกิจก็เป็นแบบนี้เช่นกัน ที่เราสองคนต้องเรียนรู้กันใหม่หมดเพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทุกวันช่วงนั้นเลยเป็นเหมือนการตื่นขึ้นมาและเคลียร์ปัญหาไปทีละด่านแบบไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าได้  คล้ายการเล่นเกมที่ต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อก้าวข้ามแบบทดสอบ ดังนั้นเป็นช่วงที่ยาก แต่เราก็รู้สึกถึงความท้าทายและสนุกกับการทดลองมากด้วยเช่นกัน” น้ำอบย้อนถึงความรู้สึกให้เราฟัง ก่อนน้ำทิพย์จะทิ้งท้ายถึงอีกหนึ่งความจริงในช่วงนั้นที่เรียกเสียงหัวเราะได้อีกครั้ง

“ช่วงนั้นพ่อแม่ทดลองกินไอศครีมทุกวันเลย ลองจนเขาทานไม่ไหว ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่กล้าพาพวกเขาไปตรวจน้ำตาลเลย”

Price
กินตามความเหมาะสม

ถ้าเคยได้ลิ้มลองหรือดูจากภาพ จะเห็นว่านอกจากหน้าตาผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่และรสชาติแสนอร่อย อีกหนึ่งอย่างที่น่าจะสะดุดตาทุกคนคือ ‘ขนาด’ ของไอศครีมแซนด์วิชหนึ่งชิ้นของ Kintaam เพราะมันช่างพอดีมือ หยิบง่าย กินง่ายเสียเหลือเกิน

ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นรูปร่างอย่างที่เห็นนี้ น้ำทิพย์เล่าให้เราฟังว่านี่ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาไม่รู้ตั้งกี่ครั้ง เพราะนอกจากความสะดวกสบายของผู้ทานที่เป็นปัจจัยหลักแล้ว เรื่องความเหมาะสมของราคาก็เป็นอีกหนึ่งข้อที่ทั้งคู่ต้องคำนวณจนส่งผลต่อผลิตภัณฑ์อย่างที่เห็น

“เป็นความตั้งใจของเราตั้งแต่แรก ที่อยากใช้ของคุณภาพดีมาเป็นวัตถุดิบ ไอศครีมของเราเลยประกอบไปด้วยวัตถุดิบท้องถิ่นจากเชียงใหม่ที่ล้วนน่าสนับสนุน อีกทั้งเรายังหลีกเลี่ยงการใช้ของสำเร็จรูป และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แบบวันต่อวันแทน อะไรเหล่านี้เราขบคิดและพยายามหาสมดุลในการผลิตอยู่เสมอ เพื่อให้ไอศครีมแซนด์วิชออกมาตรงตามคุณภาพที่อยากได้ ขนาดกำลังดี โดยยังอยู่ในราคาที่กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึง”

จากตรงนั้น ในการเปิดขายครั้งแรก น้ำอบและน้ำทิพย์จึงเคาะราคาต่อชิ้นออกมาอยู่ที่ 65 บาท ก่อนจะปรับขึ้นเป็น 75 บาทตามสถานการณ์ราคาวัตถุดิบที่ปรับขึ้นทั่วโลก ก่อนที่จะยึดราคานี้มาจนถึงปัจจุบัน

แต่อีกอย่างหนึ่งที่เราสงสัย คือท่ามกลางแต่ละเมนูที่ดูใช้วัตถุดิบที่น่าจะมีราคาตั้งต้นไม่เท่ากัน แต่ Kintaam เลือกขายราคา 75 บาทในทุกเมนู เราจึงถามถึงประเด็นนี้ออกไปก่อนได้รับคำตอบที่คาดไม่ถึงทั้งในแง่ของการเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม

“อ๋อ เราขี้เกียจจำค่ะ (หัวเราะ) เน้นจำง่ายไว้ก่อน เอาราคาเดียวหมดเลยแล้วกัน แต่กลายเป็นว่านั่นทำให้อีกหนึ่งความตั้งใจของเราเด่นขึ้นมาด้วยอย่างที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน นั่นคือการสื่อสารว่าที่แห่งนี้ คุณจ่ายราคาเดียวแบบง่ายๆ เลย ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ แล้วได้ผลิตภัณฑ์ที่กินง่าย ถือง่าย เกิดเป็นความสุขและสดชื่นแบบง่ายๆ ใน 5 นาทีเท่านั้น”

Place
กินตามนั่นตามนี่

เมื่อได้โปรดักต์และราคาที่ตรงอย่างใจ แน่นอนว่าขั้นตอนต่อไปของธุรกิจคือการนำออกมาขาย 

แต่ในยุคนี้ การนำออกมาขายหรือทดลองตลาดนั้นง่ายกว่าแต่ก่อนมากด้วยช่องทางและเทคโนโลยีที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ค้า เช่นเดียวกับ Kintaam ที่พวกเธอไม่เลือกเปิดเป็นหน้าร้านแต่แรก แต่เลือกขั้นตอนแบบค่อยเป็นค่อยไปในการพาสินค้าไปอยู่ในที่ต่างๆ มากกว่า

“เราเริ่มต้นโดยการขายแบบเดลิเวอรีกันก่อน ทั้งที่เชียงใหม่และกรุงเทพฯ คือผลิตที่เชียงใหม่แล้วจำหน่ายที่นี่ พร้อมแบ่งอีกส่วนส่งไปที่กรุงเทพฯ ให้พี่น้ำอบเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขาย” น้ำทิพย์เล่า

แต่ในเวลานั้น สองพี่น้องบอกกับเราตามจริงว่าถึงพวกเธอจะชอบโปรดักต์แล้ว แต่การตอบรับจากตลาดในโลกออนไลน์นั้นอยู่ในขั้นกลางๆ มีวันขายดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่อย่างหนึ่งที่สังเกตเห็นคือที่กรุงเทพฯ มักขายดีกว่าที่เชียงใหม่ นั่นเองจึงตามมาด้วยข้อสันนิษฐานว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเธออาจมี ‘กลุ่มลูกค้า’ ที่ค่อนข้างจำเพาะอยู่ เลยนำมาซึ่งความอยากทดลองเพิ่ม นั่นคือการเอาผลิตภัณฑ์ไปลองขายตามงานแบบ on-ground เพื่อลองตลาดและลูกค้า

“ถึงเรามั่นใจในโปรดักต์แค่ไหน แต่เราก็ได้ค้นพบสัจธรรมของแบรนด์ ว่าแต่ละแบรนด์ล้วนมีสถานที่ที่เหมาะสมของตัวเอง อย่างในกรณีของ Kintaam ถือว่าเราโชคดีที่การออกงานครั้งแรกเราเลือกงาน Bangkok Design Week”

น้ำอบเล่าให้เราฟังว่าก่อนไปออกงานครั้งนั้น เธอไม่ได้คาดหวังด้วยซ้ำว่าลูกค้าจะต้องเยอะมากมายอะไร พวกเธอแค่อยากลองและเจอฟีดแบ็กของลูกค้าแบบต่อหน้าบ้าง แต่กลายเป็นว่าผลลัพธ์ที่ได้เกินกว่าที่คิดไปมากเอาการ

“มีจุดหนึ่งที่เราไม่รู้ตัวเลย มัวแต่ทำไอศครีมไปเรื่อยๆ จนเงยหน้าขึ้นมาอีกที คนต่อแถวหน้าบูทของเรายาวมาก มันเลยทำให้เราค่อยๆ เริ่มเห็นว่าลูกค้าที่เข้าใจในโปรดักต์ของเราคงเป็นคนแบบเรานี่แหละ คือคนที่ชื่นชอบในงานออกแบบ พอๆ กับชอบกินของอร่อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าเฉพาะตอนที่ลูกค้าเยอะเท่านั้นนะ ที่ทำให้เราได้เรียนรู้แบบนั้น เพราะหลังจากครั้งแรกครั้งที่สองที่เราได้ไปออกบูทในห้างดัง นั่นก็เป็นประสบการณ์ที่ทำให้ได้เรียนรู้ในอีกด้านหนึ่งอยู่เหมือนกัน”

น้ำอบเล่าให้เราฟังว่าหลังจากประสบความสำเร็จในการออกบูทครั้งแรก พวกเธอได้ใจและอยากเรียนรู้ต่อ เลยลองพา Kintaam ไปปรากฏตามที่อื่นๆ จนมาจบที่ห้างดังกลางสยามห้างหนึ่ง ภายใต้สัญญาเช่าบูท 2 อาทิตย์ ซึ่งกลายเป็นว่าผลที่ตามมาช่างแตกต่างกับครั้งแรกอย่างสิ้นเชิง

“เรารู้ตั้งแต่วันแรกเลยว่าการมีอยู่ของเราตรงนั้นคือผิดที่ผิดทางสุดๆ สายตาของคนที่มองเข้ามาก็ไม่น่าใช่อย่างที่ต้องการ ซึ่งนั่นไม่มีใครผิดเลยนะ เราไม่ได้มองว่าเป็นความผิดของใคร มันแค่ย้อนกลับไปที่ความจริงที่ว่าแต่ละแบรนด์มีพื้นที่ที่เหมาะสมกับตัวเอง  ทำให้สุดท้ายเราก็อยู่ที่นั่นแค่วันเดียว แต่ก็เป็นวันเดียวที่ไม่เสียดาย เพราะเราได้เรียนรู้มากขึ้นแล้ว ว่าแบรนด์ควรอยู่ตรงไหน”

หลังจากนั้น ด้วยปัจจัยเรื่องต้นทุนและสถานการณ์โควิด-19 ที่ค่อยๆ ดีขึ้น Kintaam จึงใช้ความรู้จากการลองผิดลองถูกในช่วงแรกมาลองเปิดป๊อปอัพสโตร์ที่เชียงใหม่ โดยพวกเธอจะเซ็นสัญญากับสถานที่ระยะสั้นแค่ 3 เดือน เพราะยังคงเชื่อในการทดลองและหาสถานที่ที่เหมาะสมไปเรื่อยๆ

จนสุดท้ายหลังจากวนเวียนในเชียงใหม่อยู่คครึ่งปี Kintaam ก็ได้มาลงหลักปักฐานที่บริเวณหน้าร้าน Rubber Killer นิมมานซอย 11 แบบในปัจจุบัน

“เหมือนเราค่อยๆ ทำความรู้จักแบรนด์และลูกค้าไปเรื่อยๆ จนประสบการณ์ในแต่ละสถานที่ค่อยๆ สั่งสมเป็นบทเรียน ว่าที่ตรงไหนเหมาะสมทั้งในแง่ของกลุ่มลูกค้าและคนที่เดินผ่านไปผ่านมา จนเราได้มาเจอที่ที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่ของความถูกต้องและยอดขาย เราเลยปักหลักอยู่ตรงนี้มาเรื่อยๆ พร้อมกับมีส่งขายตามที่ต่างๆ ในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ บ้าง” 

Promotion
กินตามไอเดีย

ถ้าว่ากันถึงเรื่องโปรโมชั่น ด้วยความที่แบรนด์เพิ่งมีอายุ 2 ปีแถมเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ตลอดเวลาที่ผ่านมา Kintaam เลยไม่ได้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘โปรโมชั่น’ ที่ออกแนวลดแลกแจกแถมขนาดนั้น

แต่ถึงกระนั้นถ้าว่ากันถึงเฉพาะคำว่า ‘ส่งเสริมการขาย’ Kintaam ถือเป็นแบรนด์ที่ใช้จุดเด่นของตัวเองออกมาได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ ‘ไอเดียสนุกๆ’ ที่ต่อยอดเกิดเป็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับแบรนด์ผ่าน 2 ช่องทาง 

ทางแรกคือ ‘รสชาติประจำเดือน’ ที่ Kintaam เคยเปิดโหวตในโพลอินสตาแกรมว่าเดือนหน้าเหล่าลูกค้าอยากให้แบรนด์ทำรสชาติใหม่ไหนบ้าง ซึ่งในครั้งแรกที่ใช้วิธีนี้ ผลโหวตออกมาคือรสช็อกโกบานานา ก่อนตามมาด้วยรสอะโวคาโดกับขนมปังเนย ราดด้วยน้ำผึ้งและกราโนล่า โดยในแต่ละครั้งยอดขายถือว่าตามเป้าทุกครั้ง

แต่ในอีกช่องทางหนึ่ง ที่ในตอนนี้น้ำอบกับน้ำทิพย์กำลังสนุกกับการแก้โจทย์มากๆ นั่นคือการ collaboration หรือการพาโปรดักต์ไอศครีมแซนด์วิชไปผสมเข้ากับแบรนด์อื่นๆ ที่หลายครั้งก็คาดไม่ถึง แต่ก็ได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องของแบรนดิ้งและรายได้

ยกตัวอย่างการร่วมมือแรกกับแบรนด์ขายหนังไก่ทอดอย่าง ‘ขันทอง’ ที่เราไม่อาจนึกออกเลยว่าหน้าตาจะออกมาเป็นแบบไหน แต่สุดท้ายจากการแลกเปลี่ยนและทดลองของสองพี่น้อง ไอศครีมแซนด์วิชที่ได้ไอเดียจากเมนู ‘วาฟเฟิลไก่ทอด’ จึงเกิดขึ้น คือประกอบไปด้วยส่วนของแซนด์วิชที่ทำมาจากวาฟเฟิล ไอศครีมที่เป็นรสเมเปิลไซรัป และหนังไก่ทอดที่โรยอยู่ด้านบน ตอบโจทย์แบรนด์ขันทองและยังแสดงจุดเด่นของ Kintaam ได้เป็นอย่างดี

“หรืออย่างการร่วมมือล่าสุดกับทาง Rubber Killer ก็เป็นโจทย์ที่สนุกมาก เพราะหลังจากอยู่หน้าร้านมาได้สักพัก เราก็ชักชวนกันไปมาจนเกิดเป็นการ collaboration ที่ตั้งใจใช้ ‘ยางรถยนต์’ อ้างอิงถึงจุดเด่นของแบรนด์ Rubber Killer 

“แต่ความเป็นยางรถยนต์จะมาอยู่ในอาหารได้ยังไงล่ะ แค่พูดแค่นี้ก็ยากแล้ว แต่ก็อย่างที่บอกว่าเราสองคนเหมือนถูกขับเคลื่อนด้วยความสนุกในการแก้โจทย์ยากๆ สุดท้ายเราก็ได้ไอเดียว่าสัมผัสหนืดๆ เหนียวๆ ของยาง มันน่าจะมาประยุกต์ใช้กับส่วนแซนด์วิชได้ เลยเกิดเป็นการทดลองจนได้ขนมปังชาร์โคลสีดำ ที่มีความยืดๆ เหนียวๆ เคี้ยวเพลินมากกว่าปกติ พร้อมใช้เครื่องทำวาฟเฟิลกดให้เป็นรอยยางรถยนต์ ผสมเข้ากับไอศครีมรัมเรซิน เกิดเป็นอีกหนึ่งโปรดักต์ใหม่ที่ทำออกมาขายจริงและขายดีในตอนนี้” น้ำทิพย์เล่าพร้อมยกตัวอย่าง

เราลองชิมแล้ว เอาเป็นว่าถ้าได้มาที่หน้าร้าน อย่าลืมสั่งมาลองกันให้ได้ เพราะทั้งเคี้ยวสนุก อร่อย และสดชื่นสุดๆ

Process
กินตามอัธยาศัย

ถ้าลองสังเกตเรื่องราวของทั้งสองตลอดการพูดคุย จะพบว่าทั้งน้ำทิพย์และน้ำอบ พูดคำว่า ‘ทดลอง’ หรือ ‘ลองผิดลองถูก’ บ่อยครั้ง

ดังนั้นเมื่อเราถามถึง P สุดท้ายที่ประกอบสร้างจนเป็น Kintaam ทั้งคู่จึงเลือกคำว่า process หรือกระบวนการเป็นคำตอบ เพราะตลอดทางที่ผ่านมา ในความเห็นของทั้งสองการลองผิดลองถูกที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการทั้งหมดนี้เอง ที่ทำให้ Kintaam เป็น Kintaam แบบทุกวันนี้

“ตลอดเวลาที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ เราว่าอย่างหนึ่งที่ทำให้ Kintaam มีเส้นทางอย่างที่เห็น คือการที่เราสองคนไม่ได้คิดถึงทางข้างหน้าเยอะ เราเริ่มต้น ลงมือ และทดลองกับทุกขั้นตอนของแบรนด์ด้วยความสนุก จนเราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมากที่เหมาะกับแบรนด์ คล้ายกับเราค่อยๆ ทำความรู้จัก Kintaam ผ่านกระบวนการไปพร้อมๆ กับการเติบโต

“ดังนั้นทุกอย่างและทุกวันจึงสำคัญสำหรับเราหมดนะ ไม่ว่าจะประสบการณ์ดีหรือแย่ ถ้าขาดกระบวนการไหนไปสักขั้นตอน แบรนด์จะไม่ออกมามีหน้าตาแบบในปัจจุบันนี้เลย หรือถ้าสลับขั้นตอนอย่างสมมติเราไปออกบูทที่ห้างดังก่อน Bangkok Design Week เราอาจหมดกำลังใจและแยกย้ายกันไปทำอาชีพอื่นแล้วก็ได้ ดังนั้นทุกวันให้อะไรกับเราเสมอ และทุกกระบวนการที่เกิดขึ้นก็ถูกต้องแล้ว” น้ำทิพย์กล่าวสรุปความก่อนส่งต่อให้น้ำอบทิ้งท้าย

“อีกหนึ่งข้อคือเราว่าถึงจะมีสิ่งที่ไม่ชอบบ้างในกระบวนการเหล่านั้น แต่เราสองคนยังคงใช้ความสนุกเป็นสัญชาตญาณนำเสมอ มันเป็นดีเอ็นเอที่ปลูกฝังมาจากบ้านจนพาเรามาสู่จุดนี้ ซึ่งก็เคยมีคนถามเหมือนกันนะ ว่าถ้าใช้ความสนุกนำ แล้วถ้าวันหนึ่งเกิดไม่สนุก แบรนด์ Kintaam จะเป็นยังไง

“เราเอามานั่งคิด นั่งคุยกับน้ำทิพย์ จนได้คำตอบเหมือนกันเลย ว่าด้วยความเป็นเราสองคน เราไม่ปล่อยให้ตัวเองเจอกับวันนั้นแน่ๆ ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เบื่อนะ แต่เรารู้จักตัวเองกันมากพอในการตัดสินใจแต่ละครั้ง ว่าเราจะต้องสนุก ดังนั้นถ้าไม่สนุก เราคงไม่เลือกหรือปล่อยตัวเองไปสู่จุดนั้นตั้งแต่แรก 

“เพราะถึงยังไงเราก็จะยังสนุกกันตามอัธยาศัยในทุกกระบวนการของชีวิต สำหรับเรา นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดแล้ว”

You Might Also Like