Molto Cycle

คุยกับผู้ก่อตั้ง Molto ไอศครีมที่เกิดจากชายผู้ทำอาหารไม่เป็นที่คิดสูตรไอศครีมร้อยกว่ารส

ไม่ว่าจะเป็นวันท้องฟ้าสดใสหรือตอนกลางคืนที่ลมพัดเฉื่อยเบา ไม่ว่าจะวันไหนหรือเดือนไหนของปีก็ดูเหมือนว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่ถูกครอบคลุมด้วยมวลอากาศแห่งความอบอ้าวและร้อนชื้นเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่เครื่องดื่มหรืออะไรที่ให้ความเย็นฉ่ำจึงมักเป็นของขายดี 

และความชื่นชอบของกินเย็นๆ ของคนไทยเองก็ได้แผ่ขยายให้โอกาสทางธุรกิจไอศครีมพลอยมากขึ้นไปด้วย

เมืองไทยมีตั้งแต่รถเข็นไอศครีม ไอศครีมแช่เย็นขายในร้านสะดวกซื้อ ร้านขายไอศครีมแบบราคาย่อมเยาหน้าโรงเรียน ไปจนถึงไอศครีมนำเข้าแบบไฮเอนด์หลากหลายยี่ห้อ ให้คุณเลือกซื้อตามแต่จำนวนเงินในกระเป๋าสตางค์ 

ถ้าจะเรียกว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่มีความวาไรตี้ของธุรกิจไอศครีมก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะนอกจากความหลากหลายทางยี่ห้อและราคาของธุรกิจไอศครีมที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้น ทุกวันนี้เราได้เห็นโมเดลธุรกิจไอศครีมแบบใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ เช่น ตู้กดไอศครีมอัตโนมัติ หรือการขายไอศครีมแบบออนไลน์ที่แน่นอนว่า เมื่อขึ้นชื่อว่าออนไลน์แล้ว ย่อมไม่เปิดโอกาสให้คุณได้ใช้ลิ้นลองชิมรสก่อนตัดสินใจซื้อ แต่คุณต้องใช้สายตาในการตัดสินใจที่จะจ่ายเงินจากรูปภาพที่คุณเห็นแทน

หนึ่งในร้านไอศครีมธุรกิจที่มาแรงบนโลกออนไลน์ในช่วงปีที่ผ่านมาคือ Molto Premium Gelato

Molto เกิดจากการขายไอศครีมบนโลกออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มองเผินๆ ไม่น่าจะเหมาะกับการเปิดกิจการใหม่โดยเฉพาะธุรกิจอย่างไอศครีม เพราะนอกจากพื้นที่ขายในห้างที่ต้องปิดลงเพื่อลดการชุมนุมของผู้คน สถานการณ์ตอนนั้นก็ยังไม่เอื้ออำนวยกับการชิมรสชาติต่างๆ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญหนึ่งในการตัดสินใจซื้อ

ฉะนั้นลูกค้าในช่วง 2 ขวบปีแรก ที่ซื้อไอศครีมกับ Molto ล้วนไม่เคยได้มีโอกาสชิมไอศครีมก่อนสั่งซื้อครั้งแรก และ Molto ก็ไม่เคยมีโอกาสเปิดบูทแนะนำตัวกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตัวเอง

ถึงอย่างนั้น Molto ยังคงแจ้งเกิดในช่วงโควิด-19 ได้อย่างสวยงาม แถมตอนนี้ยังขยับขยายกลายร่างมีป๊อปอัพบูทหลายสาขาที่หมุนเวียนไปเปิดตามห้างสรรพสินค้าทั่วกรุงเทพฯ

เราจึงนัดพบกับ ธฤษณุ คมโนภาส ชายหนุ่มผู้ร่วมก่อตั้งและบริหาร Molto ผู้ออกตัวกับเราว่าทำอาหารไม่เป็น ทำขนมไม่เป็น แต่กลับคิดค้นสูตรไอศครีมออกมากว่า 100 รส และวันนี้นำพา Molto ยืนเด่นอยู่บนแผนที่ธุรกิจไอศครีมของเมืองไทยได้ เพื่อหาคำตอบว่าเขาสามารถทำสิ่งที่เป็นไปได้ยากให้เป็นไปได้ด้วยวิธีคิดเช่นไร

อยากรู้ว่าชื่อแบรนด์ที่หลายคนน่าจะคุ้นหูตอนนี้มีที่มาจากไหน

คำว่า Molto แปลว่า มาก ในภาษาอิตาลี ซึ่งหมายถึงว่า เราจะให้คุณมากกว่าที่คุณจ่ายมาให้เรา เป็นไงครับ นั่นคือคอนเซปต์ของเรา เท่ไหม (หัวเราะ)

ถ้าย้อนไปในช่วงแรกที่เปิดร้าน นี่คือโจทย์ที่ยากที่สุดของเรา เพราะลูกค้าเขาไม่เคยชิมของเรา แล้วส่วนใหญ่ลูกค้ามักจะซื้อแบบที่ขายเป็นกล่อง กล่องละ 1,000 บาท เพราะนี่คือแพ็กเกจที่คุ้มที่สุด ซึ่งหมายความว่า ผมกำลังแบกความคาดหวังของการที่คนกำลังจะหยิบแบงก์พันมาให้ผม 1 ใบ แล้วคาดหวังว่าไอศครีมจะถูกปากเขา เพราะเขาไม่ได้ชิมก่อนจ่ายเงิน อย่างที่หลายคนรู้ว่าเราขายแบบออนไลน์ล้วนในตอนแรก ลูกค้าต้องจ่ายเงินก่อน โดยที่ไม่ได้ชิมด้วยซ้ำ

ย้อนกลับไปทำไมถึงมาทำแบรนด์ไอศครีม

ย้อนไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้เราเริ่มจากการทำไอศครีมแบบ B2B เราทำไอศครีมส่งให้ร้านอาหาร โรงแรม คาเฟ่ ร้านอาหารบุฟเฟต์ในไทย ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ แต่ถึงวันหนึ่งมันมีความจำเป็น เลยต้องมาทำแบรนด์ของตัวเอง

อะไรคือความจำเป็นที่ว่า

Molto เริ่มเพราะโควิด-19 31 มีนาคม 2020 เป็นวันที่ผมเริ่มทำ Molto ตอนนั้นทุกคนปิดหมด แล้วผมส่งให้โรงแรม ร้านอาหาร ร้านไอศครีม ร้านบุฟเฟต์ ประมาณ 200-300 แบรนด์ ทุกแบรนด์ที่เราจะสามารถนึกได้ที่จะต้องใช้ไอศครีมผมส่งให้เกือบหมด ปรากฏว่ายอดขายผมจากร้อยเปอร์เซ็นต์ พอช่วงโควิดปุ๊บเหลือ 3%

ตอนนั้นผมทำอะไรไม่ได้เลย ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา พอทุกอย่างปิด ร้านอาหารปิด ทุกคนไม่สั่งของเรา เราก็คิดกันต่อว่าเราเอาไงกันดี คือผมมีสิ่งที่ต้องแบกอยู่ ผมมี fixed cost หลังบ้าน เรามีโรงงาน เรามีลูกน้อง เรามีเอเวรี่ติงจิงกะเบล เราเลยตัดสินใจกันว่า ทำแบรนด์ไอศครีมสักแบรนด์นึงดีกว่า

พอคิดว่าจะทำแบรนด์ไอศครีมเองคุณทำยังไงต่อ

เราก็มาคิดว่า ทำไมไอศครีมถึงไม่มีขายออนไลน์เลย เราเลยคิดว่า เฮ่ย เราทำแบรนด์ไอศครีมที่ส่งแบบ door to door เลยดีกว่า ตัดปัญหาให้ลูกค้าด้วย ไอติมไม่ละลาย ลูกค้าไม่ต้องแบกไอติมเอง

หลังจากนั้นก็ซัดเลย ผมคิดสูตรเองได้ ผมผลิตเองได้ ในช่วงแรกผมทำอาร์ตเวิร์กเอง เลือกแพ็กเกจจิ้งเอง ทำกราฟิกเองหมด ก็นั่งทำเองอยู่ 7 วัน แล้วออกเลย พอออกปุ๊บ ถ้าจำไม่ผิดผมขายได้ประมาณ 30 ออร์เดอร์ หรือ 100 ออร์เดอร์ในวีคแรก ซึ่งก็ถือว่าซึมๆ นะ

ผิดหวังไหม

ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วผมไม่ได้หวังอะไรมากกับการเริ่มต้น เพราะเราไม่เคยทำเลย เพราะเราทำ B2B มาตลอด กับสิ่งที่ตอนนั้นเรากำลังจะเปลี่ยนมาทำคือ B2C เรากำลังจะเริ่มสื่อสารกับลูกค้าเองโดยตรง ตอนนั้นมันอยู่ในช่วงที่เรากำลังเรียนรู้ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง

คุณทำ customer research ก่อนไหม

จริงๆ ผมก็เหมือนได้ทำรีเสิร์ชมา 9 ปีแล้ว คือเราได้คุยได้รู้ว่าลูกค้าชอบอะไรไม่ชอบอะไรอยู่บ้างแล้ว คือเราคงบอกไม่ได้หรอกว่าเราเข้าใจทุกคนหรือเข้าใจทั้งหมด เพราะเรื่องอาหาร เรื่องขนม เรื่องของกิน มันค่อนข้างนานาจิตตัง คนนั้นชอบแบบนี้ คนนี้ชอบแบบนั้น เราไม่สามารถทำไอศครีมที่ตอบโจทย์ทุกคนได้อยู่แล้ว แต่เราพยายามมีหลากหลายรสให้ลูกค้าได้เลือกสรร คือต้องโดนเราสักรสนึงแหละ อันนี้คือสิ่งที่เราคิด

คือผมมีหน้ากระดานนึงให้คุณเลือก 20 รส มันต้องโดนใจคุณสักรส คือเราคิดแบบนี้ เราก็ทำดีที่สุดเท่าที่เราจะคิดออก ณ ตอนนั้น เพราะตอนนั้นก็ล่กมาก ทุกคนก็ล่กมาก 

ผมว่าไม่ใช่แค่ผมนะที่ล่ก โควิดน่ะ ทุกบริษัทก็ล่กหมด เพราะฉะนั้นเราก็ทำดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แค่นั้นเลย แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยๆ ดีขึ้นๆ แล้วเราก็มีทีมเข้ามาช่วยเพิ่มขึ้น ผลลัพธ์ก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ 

ความยากของการเปลี่ยนจาก B2B มาเป็น B2C คืออะไร

ขายยังไง นี่คือคำถามแรกของผม เราไม่เคยทำไง เราทำไม่เป็น เราไม่เคยขายออนไลน์ ไม่เคยเลย เราก็ต้องเดินไป ล้มไป ทำไป ต้องลองดู แค่นั้นเอง

คุณเริ่มขายไอศครีมแบบออนไลน์โดยที่ไม่มีหน้าร้าน หนักใจไหม

นี่คือโจทย์ยากสุดของผมเลย และไม่มีใครคิดว่าผมจะทำได้ด้วย คือผมเอาไอเดียการขายไอศครีมแบบออนไลน์ที่ไม่มีหน้าร้านไปคุยกับเพื่อน ไปคุยกับคนทำธุรกิจ คือเขาก็ค่อนข้างมืดเหมือนกันกับการขายไอศครีมออนไลน์ ส่วนใหญ่เขาจะบอกว่าเขาไม่เก็ต แต่เราก็ดื้อต่อ เพราะเราอยู่ในวงการนี้ เราก็ต้องทำอะไรที่เราถนัดก่อนก็คือทำไอศครีมนี่แหละ ก็ทำไปปรับไป แล้วมันก็ดีขึ้น

แต่ถ้าถามว่าตอนแรกที่กระโดดเข้ามาทำตรงนี้ จริงๆ เรารู้ไหมว่าเราต้องทำอะไรบ้าง ผมบอกเลยว่า จริงๆ ตอนแรกเรารู้น้อยมากสำหรับการทำ B2C คือพาร์ตโรงงาน เรารู้ แต่ในการขายในการมาร์เก็ตติ้งเราไม่ค่อยรู้เลย

แล้วเวลาลูกค้าถามว่าไอศครีมแต่ละรสรสชาติเป็นยังไง คุณทำยังไง

ตอนแรกผมเริ่มจากการอธิบายก่อน พอตอนหลังเราเริ่มทำไปปรับไป แล้วเราก็เริ่มมี product card ซึ่งจะเป็นสิ่งอธิบายแทนตัวเราว่า รสนี้มีนม รสนี้ไม่มีนม รสชาติเป็นยังไง ประมาณนี้

คุณเริ่มช่องทางการขายแบบออนไลน์ทางไหนบ้าง

เมื่อก่อนเรามี 2 ช่องทาง คือไลน์กับเฟซบุ๊ก ซึ่งผมตอบเองหมดเลยทุกช่องทาง ทุกขั้นตอนผมออกแบบเอง ผมตอบไลน์เอง คิดแคปชั่นเอง คิดแคปชั่นแรกเองแล้วโพสต์ ผมเขียนประมาณว่า นี่เราสั่งสมประสบการณ์มานะ นี่คือการปล่อยพลังของเราในเวฟนี้ ประมาณนี้ แล้วลูกค้าเขาก็คงจะอิน ผลตอบรับดีมาก

ในช่วงแรกๆ ตอนที่พีคๆ ผมก็งงเหมือนกัน ลูกค้าแชตมาสั่งไอศครีมกันตอนตี 2, เที่ยงคืน, ห้าทุ่ม, ตี 4 ซึ่งถ้าผมไม่เข้าไปนอนผมก็เข้าไปตอบเหมือนกัน เข้าไปรับออร์เดอร์ เพราะทุกออร์เดอร์มีความหมาย 

ที่ว่าคิดรสชาติเอง ตอนนี้ Molto มีทั้งหมดกี่รสแล้ว

จริงๆ เลย on menu เราจะมี 30-40 รส ส่วนบางรสเราจะออกมาเป็น seasonal ตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมาผมออกไปร้อยกว่ารสชาติแล้ว จะมีรสออกใหม่เดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 4-5 รส ประมาณนี้ เท่ากับว่าแต่ละเดือนจะมีไอศครีมมาให้ชิมใหม่ 2-5 รส

และที่บอกว่า seasonal คือ ของบางอย่างมันต้องกินตอนนั้น เพราะเรื่องวัตถุดิบด้วย มันไม่ได้มีตลอด มันมีแค่ตอนนั้น อย่างพวกรส seasonal ที่ขายดีเช่นพวก รสองุ่นไชน์มัสแคต, องุ่นเคียวโฮ, มะยงชิด, มะม่วงอกร่อง พวกนี้เป็นรส seasonal หมด 

ทำไมคุณต้องทำรสชาติไอศครีมออกมามากมายเป็นร้อยรส

ความคาดหวังของลูกค้าที่มาที่เรามันมีมากขึ้นเรื่อยๆ พูดตามตรงคือลูกค้าคาดหวังสิ่งใหม่ๆ จากแบรนด์เสมอ ไม่ใช่เฉพาะแบรนด์ผมนะ แต่เขาคาดหวังจากทุกแบรนด์ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่แต่ละแบรนด์ต้องทำ ทีนี้เราก็ต้องมาคิดว่าเราทำอะไรได้บ้าง ซึ่งสิ่งที่ทำได้คือเราออกรสใหม่ๆ ได้ ช่วงไหนมีวัตถุดิบอะไรเราก็เอามาทำเป็นรส seasonal 

คือตอนนี้ Molto นี่เหมือนเป็นเจ้านายผมนะ บังคับผมทำงานอยู่เนี่ย (ยิ้ม) เราต้องออกรสใหม่ทุกเดือน ทำอะไรใหม่ๆ ตลอด

แรงบันดาลใจในการคิดไอศครีมแต่ละรสมาจากไหน

โดยหลักผมจะเริ่มต้นจากการเข้าใจก่อนว่า วัตถุดิบนั้นคืออะไร เช่น ผมต้องเข้าใจก่อนว่ามัสตาร์ดรสเป็นยังไง สื่อสารออกมาแล้วจะเป็นยังไง องุ่นเคียวโฮคืออะไร แล้วคุณจะทำไอศครีมจากมันออกมาได้อร่อยไหม คือผมจะมีจินตนาการของผมว่ารสนี้ทำออกมาแล้วน่าจะทัชคนได้ไหม

ก่อนหน้านี้สักประมาณ 7 ปีที่แล้ว ผมไม่ทานชาเขียวเลย คือไม่ดื่มชาเขียว ดื่มแต่ชาเขียวแบบใสๆ เวลาไปร้านอาหารญี่ปุ่น แต่ถ้าเป็นพวกมัตฉะลาเต้ผมไม่ทานเลย เพราะผมรู้สึกว่าไม่อร่อย จนวันนึงผมต้องทำไอศครีมรสชาเขียว ผมก็ต้องตามหาว่าจริงๆ แล้วชาเขียวที่อร่อยมันเป็นยังไง 

ผมก็กินไปทั่วเลย ในไทยผมซื้อทุกแบรนด์มาชิม ไปต่างประเทศก็ไปชิม ไปญี่ปุ่นก็ไปชิม จนสุดท้ายผมไปจบที่มัลดีฟ คือชิมชาเขียวที่นั่นแล้วรู้สึกว่า เฮ่ย ร้านนี้อร่อย ทีนี้เราก็รู้แล้วว่าชาเขียวที่อร่อยมันจะรสประมาณนี้นะ คือเราต้องตามหาก่อนว่ารสชาติที่อร่อยของ raw material นั้นๆ คืออะไร ไม่งั้นเราไม่มีทางทำโปรดักต์ให้ออกมาอร่อยได้เลย เพราะเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า raw material คืออะไร 

คำว่า ‘อร่อย’ ที่ว่าคุณใช้อะไรวัด

พูดยาก นานาจิตตังเลยเรื่องของคำว่าอร่อย แต่ผมจะมีสิ่งที่ผมชอบ รสชาติที่ผมชอบ ซึ่งโชคดีมากเวลาผมเอารสที่ผมชอบมาทำกับไอศครีม แล้วมันไปทัชชิ่งกับลูกค้าได้โอเค 

คือต้องบอกว่าผมพยายามทำให้มันดีที่สุดเท่าที่ผมจะรู้สึกว่าอร่อยแล้วในตอนนี้ แล้วผมก็คาดหวังให้ลูกค้ามาชิม แล้วคิดเหมือนกัน แค่นั้น อย่างตอนแรกที่เราออกรสมัตฉะมา ก็มีหลายคนที่บอกว่ายังไม่ถึง ซึ่งจะเป็นกลุ่มคนที่ชอบทานเข้มมากๆ ดาร์กมากๆ สุดท้ายเราก็ออกอีกรสชาติมา เป็น Extra Dark Matcha เพื่อให้ทัชชิ่งคนกลุ่มนี้

แต่พอมันเข้มมากคนบางคนก็ทานไม่ได้ มันเข้มเกิน ผมก็ต้องบอกเขาว่า อ๋อ เดี๋ยวเอานมโรยนะ เอาครีมโรยนะ ซึ่งมันก็จะเจือจางความเข้มลง

นากจากรสชาติที่คิดเอง เห็นว่ามีรสชาติที่ไปคอลแล็บกับแบรนด์อื่น คุณมีหลักคิดยังไงในการคอลแล็บ 

ก็จินตนาการครับว่าถ้าเราคอลแล็บกับเขาแล้วเราจะทำไอศครีมรสอะไรออกมา แล้วมันจะน่าสนใจไหม เท่านั้นเลย

ผมยกตัวอย่าง อย่างไอศครีม Molto รสมัสตาร์ด มัสตาร์ดนี่ยากมากเลยครับ แล้วจริงๆ ผมไม่ค่อยทำของคาวเท่าไหร่ แต่เราก็ไปคอลแล็บกับบริษัท French’s ที่ขายมัสตาร์ด เราก็คิดว่ามาพิสูจน์กันหน่อยซิว่าถ้าเราทำลูกค้าจะกินไหม แล้วเราทำรสชาติถึงไหม ก็เลยลองหยิบโปรเจกต์นี้มาเล่นกันดู สุดท้ายรสนี้มันก็มีฟีลลิ่งของวานิลลา มีความเป็นมัสตาร์ด แต่ไม่ได้รุนแรงแอตแท็กสูง คือใส่มัสตาร์ดจริงลงไป บีบมัสตาร์ดจากขวด French’s ลงไปด้วย แต่มันจะมีแค่รสอาฟเตอร์เทสต์ ไม่ได้รุนแรงโจมตีคนที่ไม่ได้กินมัสตาร์ด ฉะนั้นมันเลยจะออกมาแบบละมุนๆ แบบวานิลลามัสตาร์ด แล้วผมก็หยิบเบอร์รีใส่เข้าไปด้วย ให้เป็นสแน็กที่ทานง่ายขึ้น

ถึงวันนี้คุณคิดว่าลูกค้าคาดหวังกับไอศครีมของคุณไหมเวลาออกรสใหม่

อย่างที่บอกคือ แพ็กเกจที่ผมขายดีที่สุดใน 2 ปีแรกคือแพ็กเกจขายเป็นกล่อง กล่องละพันนึง ผมว่าการที่เขาจะหยิบแบงก์พันออกมาซื้อไอศครีมมันไม่ง่าย เขาคาดหวัง ผมก็เครียดและกดดัน เราไม่รู้เลยว่าเขาจะชอบไหม แต่อย่างที่ผมบอก สิ่งที่เราพยายามทำก็คือ เราทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ผมว่ามันอร่อยแล้วนะในสายตาผม ผมก็ปล่อยออกไป ผมเคยแม้กระทั่งว่าลองเทสต์รสชาติในวันสุดท้ายก่อนที่เราจะ launch แล้วผมรู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ ผมสั่งเคลียร์ทิ้งทั้งหมดเลย แล้วสั่งเด็กผลิตใหม่ 

อันนี้คือสิ่งที่เราแบกรับความคาดหวังของลูกค้าอยู่ คือลูกค้าให้โอกาสเราแค่ครั้งเดียว ฉันให้โอกาสคุณพันนึง เราต้องทำให้ดีที่สุด

การมีบูทป๊อปอัพช่วยลดความคาดหวังก่อนซื้อของลูกค้าไหม

ทุกวันนี้ยังเป็นเหมือนเดิมนะ แต่ก็ดีขึ้น เพราะเรามีป๊อปอัพสโตร์ เราเริ่มมีให้ลูกค้าชิมแล้ว เราผ่านโจทย์มหาโหดตอนนั้นมาแล้ว ตอนนี้ก็ถือว่าดีขึ้น

ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ลูกค้าของ Molto คือใคร

ในช่วงเวฟ 2 ปีแรก ลูกค้าของ Molto คือครอบครัว คือคนส่วนใหญ่นิยมซื้อเป็นกล่อง กล่องนึงมี 4 พินต์ ซึ่ง 1 พินต์เทียบเท่า 16 ออนซ์ แปลว่าทั้งหมดจะเท่ากับประมาณ 18 สกู๊ป ลูกค้าที่จะซื้อไป 18 สกู๊ปก็ต้องเป็นลูกค้าที่เป็นครอบครัว หรือเป็นแฟนกัน ณ ช่วงเวฟนั้น 

แต่ถ้าถามผมตอนนี้ว่าลูกค้า Molto เป็นใคร ผมว่าได้หมดทุกคน เพราะผมเชื่อว่าทุกคนกินไอศครีมอยู่แล้ว แล้วไอศครีม Molto ก็ราคาไม่ได้แตกต่างจากร้านทั่วไปแล้ว เพราะฉะนั้นทุกคนสามารถกินได้ ด้วย portion ที่เล็กที่สุดของผมคือ 89 บาท 

ถ้าราคาไม่ต่าง แล้ว Molto ต่างจากไอศครีมแบรนด์อื่นในท้องตลาดยังไง

Molto ไม่ได้มีคอนเซปต์ที่ซับซ้อน ถ้าย้อนไปเมื่อ 9 ปีที่แล้วที่ผมเริ่มทำไอศครีม ตอนนั้นผมมองว่าผมยังไม่ชอบโปรดักต์ไอศครีมในเมืองไทย แต่ผมก็ยังไม่ได้อยากผลิตเองในตอนนั้น ผมแค่รู้สึกว่าผมไม่ชอบ และผมคิดว่ามันอร่อยได้มากกว่านี้ นี่คือโอกาสที่ผมเห็น

ถ้าถามว่าเราแตกต่างจากแบรนด์อื่นยังไง ผมคงไม่บอกว่าเราต่างจากแบรนด์อื่นยังไงนะ แต่ทุกวันนี้เราอยู่ในลู่ของเราที่เราอยากจะสื่อสารในแบบของเรานี่แหละ คือเราทำดีที่สุดในแบบที่เราจะทำได้ และเราสื่อสารกับลูกค้าแบบตรงไปตรงมามากๆ

อย่างถ้าวันนี้ผมอยากทำไอศครีมรสชาไทย ผมก็จะพยายามทำไอศครีมรสชาไทยที่อร่อยที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ ถ้าผมทำยูซุผมก็จะทำแบบนั้น ถ้าผมทำสตรอว์เบอร์รีชีสเค้กผมก็คิดแบบเดียวกัน ผมทำไอศครีมรสพิสตาชิโอ้ซึ่งผมคิดว่าผมไม่ค่อยเจอไอศครีมรสนี้แบบอร่อยๆ ในเมืองไทย ผมก็พยายามทำให้อร่อยแบบ Molto มันคือความตรงไปตรงมานี้เลยที่เราสื่อสารผ่าน Molto

ขายดีขนาดนี้อยากเปิดหน้าร้านจริงจังไหม

มีไอเดียอยู่ครับ ตอนนี้เรามีป๊อปอัพสโตร์อยู่ประมาณ 8-12 ที่ ในแต่ละเดือนพอยต์หลักของเราคือเราอยากให้ลูกค้าได้ชิม เพราะลูกค้าน่าจะเห็นเรามาบ้างแล้ว แต่ยังไม่เคยได้ชิม เราก็คาดหวังให้ลูกค้าได้เข้ามาสัมผัสเรามากขึ้น จนอนาคตอันใกล้เราก็มีแพลนเหมือนกันว่าเราจะเปิดร้านเป็นออฟฟิเชียลร้านแรก ก็กำลังดูทำเลอยู่ และต้องเป็นในกรุงเทพฯ ก่อนอยู่แล้ว

อย่างอนาคตอันใกล้ที่เรามองเห็น ผมคิดว่า Molto น่าจะมีหน้าร้านสัก 40-50 ที่ในไทย ส่วนเรื่องต่างประเทศเดี๋ยวค่อยมาว่ากัน อันนี้คือสิ่งที่ผมคาดหวังนะ แต่สุดท้ายเราต้องมาดูก่อนว่าเราพร้อมที่จะไปตอนไหน คือผมไม่ซีเรียสว่าเราต้องไปถึงเป้าของเราภายในระยะเวลาเท่าไหร่ เราต้องดูก่อนว่าเราพร้อมไหม คือที่สำคัญเลยคือเราต้องแข็งแรงก่อน

เขาว่ากันว่า Molto ยิงแอดฯ เก่งมากในโลกออนไลน์จริงไหม

คือผมก็ต้องทำยังไงก็ได้ให้คนเห็น เพราะเราไม่มีหน้าร้านนี่ครับในสองปีแรก เพราะฉะนั้น 2 ปีแรกหน้าร้านของเราคือสื่อ เราต้องทำยังไงก็ได้ให้คนเห็นเรา รูปเราน่ากินไหม รสชาติเราน่าสนใจไหม คือแม้เขายังไม่ได้ชิม แต่เขาก็สามารถเสพได้จากสื่อเหล่านี้แหละครับ คือเราต้องทำให้เขาเห็นจนอยากจะกิน เราพยายามบอกลูกค้าว่า เราตั้งใจทำรสนี้ออกมานะ เรามีรูปให้คุณดูนะ 

สุดท้ายคือเราพยายามทำไอศครีมที่ดีที่เราพึงจะทำได้ในต้นทุนที่เรามี สื่อสารไปหาลูกค้า นี่คือสิ่งที่เราทำ และเราทำมาตลอด 2 ปีกว่าๆ

แล้วผมก็เคยได้รับคอมเมนต์นึงของลูกค้าซึ่งผมชอบนะ เขาบอกว่าไอศครีมของเราเป็นไอศครีมที่ตรงปก 

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like