Let’s Cross Over Here

คุยกับ ‘กัมพ์’ ในวันที่เปิด GUMP’s Cross เจริญนครเพื่อสร้างแลนด์มาร์กที่มีเอกลักษณ์ในย่าน

ในยุคที่เต็มไปด้วยคาเฟ่และ cafe hopper ธุรกิจที่เราจะพลาดชวนคุยไปไม่ได้คือคอมมิวนิตี้สเปซที่รวม
ร้านอาหารสุดป๊อปและคาเฟ่ฮอตฮิตไว้ด้วยกัน หากใครไปเยือนย่านอารีย์เป็นประจำน่าจะเห็นความฮอตของ GUMP’s ที่เต็มไปด้วยร้านที่มีแบรนดิ้งและคาแร็กเตอร์โดดเด่น มีมุมถ่ายรูปที่ดึงดูดให้วัยรุ่นอยากมาเช็กอิน
หลายแบรนด์ที่เริ่มเปิดธุรกิจที่ GUMP’s เติบโตจากแบรนด์เล็กๆ จนมีผู้ติดตามมากขึ้นในโลกโซเชียล บางแบรนด์ก็เติบโตจนขยับขยายไปเปิดในห้าง หนึ่งในเหตุผลที่ เอ๋–ธิวาภรณ์ พัฒนะรวีโรจน์ ผู้ก่อตั้ง
Gump’s
ทำธุรกิจให้ปังขนาดนี้ได้ก็เพราะมีเส้นทางการทำธุรกิจจากการเริ่มต้นเป็นบริษัทออกแบบให้ธุรกิจคาเฟ่และร้านอาหาร

ความเชี่ยวชาญพิเศษของเอ๋ทำให้รู้อินไซต์ว่าเจ้าของร้านและลูกค้าที่มาใช้บริการต้องการอะไร จนสามารถปั้น GUMP’s Ari ให้กลายเป็นคอมมิวนิตี้สุดฮิป ทั้งภายใน 5 ปีของการเปิดสาขาแรกก็ได้เตรียมขยายสาขาอีก 2 สาขา คือ GUMP’s Cross ย่านเจริญนคร และ Gump’s Siam Life ที่สยามแสควร์

ในวาระที่เพิ่งเปิดตัวสาขาใหม่ย่านเจริญนคร ขอชวนตามไปฟังว่าความแตกต่างของ GUMP’s คืออะไร ธุรกิจสุดฮิปนี้ทำยังไงให้สามารถสร้างแลนด์มาร์กท่ามกลางสมรภูมิดุเดือดของธุรกิจคาเฟ่ที่มีร้านใหม่แข่งกันเปิดตลอดเวลาได้

เส้นทางการเริ่มต้นธุรกิจของคุณเป็นยังไง 

เราเริ่มทำธุรกิจจากการทำบริษัทออกแบบตั้งแต่สิบปีที่แล้ว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ เราเป็นวิศวกรที่มองเห็นโอกาสว่าคาเฟ่น่าทำดี เลยเปิดธุรกิจเป็นผู้เชี่ยวชาญการออกแบบร้านอาหารและคาเฟ่เท่านั้น ซึ่งสิบปีที่แล้วยังไม่มีใครทำ 

ทีนี้พอทำมาเรื่อยๆ ก็ขยายทีมแบรนดิ้ง ทีมการตลาด และพีอาร์จนครบวงจรหมดเลย จนเมื่อถึงปีที่ 5 ก็อยากพัฒนาต่อยอดธุรกิจจากสิ่งที่เรามี เพราะมองว่าที่ผ่านมาเราเก็บข้อมูลมาได้เยอะมากว่าผู้บริโภคอยากได้พื้นที่แบบไหน พร้อมจ่ายในงบเท่าไหร่ ไปจนถึงพฤติกรรมว่าอยากเข้ามาใช้บริการร้านแบบไหน จึงเป็นที่มาของการออกแบบโครงการ GUMP’s ของตัวเองให้ตอบโจทย์ทั้งคนเช่าและลูกค้า 

เนื่องจากออฟฟิศออกแบบของเราอยู่แถวอารีย์อยู่แล้ว จึงมองว่าอารีย์เป็นพื้นที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจคาเฟ่ ซึ่งช่วง 4-5 ปีที่แล้วก็จะมีคาเฟ่เปิดเยอะในย่านนี้ แต่ด้วยความที่อารีย์เป็นโซนกว้างทำให้คาเฟ่เปิดแบบกระจัดกระจาย เราเลยอยากสร้างแลนด์มาร์กสักอย่างขึ้นมาในย่านเพื่อเป็นจุดศูนย์รวมของคนที่มา hopping คาเฟ่ย่านอารีย์ 

คุณให้คำนิยาม GUMP’s ไว้ยังไง

เราเริ่มจากอยากทำ café community ที่ยังไม่มีคำจำกัดความในยุคนั้นเลยว่าคืออะไร เมื่อย้อนกลับไป 4-5 ปีที่แล้ว บอกตรงๆ ว่าตอนนั้นเราก็ยังให้คำจำกัดความตัวเองไม่ได้ เราแค่รู้สึกว่าร้านอาหารและคาเฟ่สไตล์นี้เขาน่าจะมาอยู่ด้วยกันได้ แชร์พื้นที่ร่วมกันได้

เราไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นอเวนิว เราไม่ใช่คอมมิวนิตี้มอลล์ ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้า สุดท้ายเลยให้คำจำกัดความว่าเราเป็นสตาร์ทอัพในเชิงคอมมิวนิตี้สเปซ ซึ่งทำให้เราสร้าง GUMP’s โดยไม่มี reference จากที่ไหนเลย งานของเราไม่มีแบบแผนและฉีกกฎทุกอย่างเลย

คุณมองว่า Gump’s ฉีกกฎที่แตกต่างจากห้างสรรพสินค้าและคอมมิวนิตี้มอลล์อื่นๆ ยังไง 

อันดับแรกเลยคือ sizing ของห้างจะใหญ่กว่าเรา กลยุทธ์การวางลูกค้าของห้างหรือคอมมิวนิตี้มอลล์อื่นๆ จะมีแบรนด์ใหญ่เพื่อหาจุดดึงดูดให้คนเข้าโครงการ แต่เราใช้กลยุทธ์ที่สวนทางกัน จากที่เราเคยเป็นผู้ออกแบบให้แบรนด์ใหญ่หลายแบรนด์ทำให้รู้ว่าห้างสรรพสินค้าไม่ได้เปิดรับทุกแบรนด์เพราะมีพื้นที่จำกัด ต้องโฟกัสการเปิดรับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมาก่อนแล้ว

เราเลยรู้สึกว่ามีช่องว่างในการสร้างพื้นที่สำหรับร้านที่มีแพสชั่นแต่ยังไม่เคยได้รับโอกาส เพราะในตลาดยังมีแบรนด์เหล่านี้อีกมากมายที่ดังในอินสตาแกรมหรือดังในโลกออนไลน์มาก่อนแต่ยังไม่มีหน้าร้าน

ดังนั้นจะเห็นว่า GUMP’s ไม่มีแบรนด์ที่มีสาขาเยอะหรือแบรนด์ใหญ่เลย เราให้ความสำคัญกับ local brand ที่เป็นคาเฟ่และร้านอาหารขนาดเล็กโดยจะเชิญแบรนด์ที่น่าสนใจ มีการออกแบบคาแร็กเตอร์แบรนด์หรือผลิตภัณฑ์เข้ากับกลุ่มลูกค้าของเรา มาเปิดหน้าร้านกับเรา และจะเลือกร้านไม่ซ้ำกัน เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ในเทรนด์หรืออยู่ในกระแส เราชอบคิดสวนทาง ถ้าทุกคนนั่งเราจะยืน ถ้าทุกคนยืนเราจะนั่ง (ขำ) แต่การสวนทางของเรามันไม่ใช่การต่อต้าน แค่เป็นการหาจุดที่ธุรกิจเรายืนได้ ที่ไม่เป็นคู่แข่งกับใครและไม่มีใครมาเป็นคู่แข่งกับเรามากกว่า ตอนนั้นช่องว่างตรงนี้ก็เป็น segment ที่นักธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ได้มอง และในตลาดไม่มีใครเปิดรับแบรนด์เหล่านี้

คอนเซปต์ของธุรกิจที่แตกต่างส่งผลต่อการออกแบบสเปซและแบรนดิ้งยังไง 

เราอยากเป็นชาวอารีย์ที่อยู่ย่านอารีย์ ไม่ได้อยากเป็นห้างสรรพสินค้าที่มาตั้งอยู่ใจกลางอารีย์ จึงเลือกเอาองค์ประกอบของบ้านที่มีทั้งหน้าบ้าน หลังบ้าน และพื้นที่สาธารณะตรงกลางมาอยู่ในสเปซให้คนที่เข้ามารู้สึกกลมกลืนและรู้สึกว่าที่นี่สร้างความทรงจำที่ดีกับสถานที่ได้จริงๆ  

ในการทำแบรนดิ้งไม่ได้มีอะไรยาก แต่มันยากตรงที่จะทำยังไงให้คนจดจำได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบชื่อ โลโก้ ออกแบบฟอนต์ให้เข้ากับสถานที่นั้นเพื่อให้คนจำได้ง่าย ตอนตั้งชื่อเรามีโจทย์ว่าต้องการชื่อที่ไม่เกิน 2-3 ประโยค ไม่เอาคำที่พูดยากและคนทั่วไปสะกดไม่ได้ ต้องเป็นคำภาษาอังกฤษที่มีความหมายและติดหู ทั้งคนไทยคนต่างประเทศอ่านได้ จนได้ออกมาเป็นคำว่า GUMP’s ซึ่งมีความหมายว่า Grab Ur Memory Place  

สังเกตว่าเวลาเราเปิดโครงการที่ไหน เราจะไม่มีแพตเทิร์นเลยว่าหน้าตาสเปซของแต่ละสาขาต้องเป็นแบบไหน แบรนด์ภาพรวมของเราคือ GUMP’s แต่ว่าแท็กไลน์ของแต่ละสาขาจะแตกต่างกันออกไป ไม่ว่า GUMP’s ไปอยู่ที่ไหนก็จะมีชื่อห้อยตามซึ่งเป็นคอนเซปต์ของสเปซนั้นตลอด เราอยากให้ภาพจำของเราสื่อสารออกไปว่า คนไม่ได้มาคาเฟ่ ไม่ได้มาเฉพาะร้านใดร้านหนึ่งแต่คนมาที่ GUMP’s

สาขาใหม่ที่เตรียมเปิดเต็มตัวมีคอนเซปต์แตกต่างกันยังไง 

สองสาขาใหม่ของเราอยู่ที่เจริญนครและใจกลางสยามสแควร์ สำหรับ GUMP’s Cross ที่เจริญนครจะมีคอนเซปต์ว่า Let cross over here คือการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาเจอกัน ด้วยความที่เจริญนครอยู่ใกล้แม่น้ำ ถ้าใช้คำว่า river จะดูซ้ำกับร้านอื่นในย่านนี้เพราะทุกที่นิยมใช้คำว่า river เลยพลิกมาใช้คำว่า cross ดีกว่า ดังนั้นมู้ดและโทนในการออกแบบจะใช้คอนเซปต์ความโปร่งใส แสงสี การสะท้อนของน้ำ ในการออกแบบสเปซซึ่งเป็นคนละมู้ดกับที่อารีย์เลย 

ส่วนสาขาสยามเราเรียกว่า GUMP’s Siam Life เพราะอยากให้เป็น The Iconic Life Space ด้วยความที่วัยรุ่นในยุคนี้อยู่ในโลกไลฟ์สไตล์กับโลกออนไลน์ ที่นี่เลยมีทั้ง working space และสเตชั่นกิจกรรมต่างๆ ด้วย 

ทำไมถึงเลือกย่านเจริญนครและสยาม

เหตุผลของการเลือกย่านเจริญนคร ถ้ามองย้อนกลับไปก็เหมือนตอนที่เราเลือกทำ GUMP’s ที่อารีย์ คือเลือกย่านซึ่งเป็นที่รู้จักแล้ว อยู่ในช่วงก้ำกึ่งระหว่างกำลังจะดัง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีทั้งผู้อยู่อาศัย คอนโด ห้างสรรพสินค้า สิ่งที่เราอยากทำก็คล้ายกับตอนเริ่มทำที่สาขาอารีย์เลย คืออยากทำแลนด์มาร์กให้เป็นที่น่าจดจำ ถ้าคุณไปย่านนั้น นอกจากห้างใหญ่ๆ แล้ว คุณก็ยังมีพื้นที่ของเราที่เข้าไปใช้เวลาได้

ส่วนสาขาสยามต้องขอบคุณทางทรัพย์สินจุฬาฯ ที่ให้โอกาสและชวนเราเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแลนด์มาร์กสยามสแควร์ เรารู้สึกว่าสยามสแควร์ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ใครๆ ก็เข้าไปอยู่ตรงนั้นได้ รู้สึกว่าการที่เขาเชิญเรามาวันนั้นเป็นการมองเห็นภาพตัวตนของเราว่าถ้าเราไปอยู่สยามจะเป็นยังไง ก็เลยตกลงรับโอกาสไว้และตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

นอกจากคอนเซปต์การออกแบบและแบรนดิ้ง แต่ละสาขามีความแตกต่างยังไงบ้าง

กลุ่มเป้าหมายของแต่ละโครงการไม่เหมือนกันเลย ซึ่งมาจากการพิจารณาจากตำแหน่งพื้นที่และข้อมูลของพื้นที่แถวนั้น อย่าง GUMP’s Cross มีลูกค้าหลักเป็นผู้อยู่อาศัยย่านนั้น กลยุทธ์การวางร้านค้าในนั้นก็จะเป็นร้านของคนในพื้นที่ในคอนเซปต์ Everytime Everyday ที่ลูกค้าหลักของเราเข้ามาใช้ได้ทุกวัน 

ส่วนกลุ่มเป้าหมายรองก็จะเป็นนักท่องเที่ยว ส่วนสาขาสยามเป็นกลุ่มนักเรียน-นักศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่อารีย์จะเน้นนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจแวะมาเป็นที่เที่ยวโดยเฉพาะ เพราะตรงนี้ไม่ใช่ที่ที่จะเดินผ่านมาได้ 

ความท้าทายในการบุกย่านใหม่คืออะไร 

ด้วยความที่ GUMP’s ไม่ได้มองหาพื้นที่ที่มีศักยภาพแต่มองว่าอยากสร้างศักยภาพให้พื้นที่นั้น ความท้าทายในงานของเราจึงเป็นมุมว่าจะทำยังไงให้พื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นจุดสนใจของย่าน ซึ่งการที่จะสร้างคอมมิวนิตี้ให้สำเร็จคือมันต้องเป็นที่รู้จักและมีคนมา 

ความเสี่ยงของ GUMP’s คือเราไม่ได้เลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพ เราไม่ได้ใช้พื้นที่เทียร์ 1 แต่เราใช้พื้นที่ในซอยที่เป็นเทียร์ 2-3 ทำให้มีความเสี่ยงเยอะมากๆ ตอนแรกที่จะเปิดก็ไม่มีใครเห็นด้วยกับเราเลย 

สิ่งที่คนอื่นมักตั้งคำถามกับคุณในการทำ Gump’s คืออะไร 

เราเจอหลายคำถามว่าการที่คาเฟ่เปิดใหม่เยอะส่งผลกระทบต่อเราไหม เราก็จะตอบว่า แบรนด์ GUMP’s ไม่ใช่คาเฟ่แต่เป็นพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการคาเฟ่และร้านอาหาร เราจึงชอบด้วยซ้ำที่มีคาเฟ่เปิดใหม่เยอะเพราะยิ่งทำให้พื้นที่ของเราสนุกมากขึ้น ไม่ได้คิดว่าเป็นคู่แข่งกันเลย

วันที่เรามาเปิดที่อารีย์ ร้านในโซนนี้ยังไม่ได้เยอะขนาดนี้ แต่พอเรามาเพิ่มศักยภาพให้พื้นที่ตรงนี้ก็มีร้านอื่นอยากตามมาเปิดด้วย และพฤติกรรมของผู้บริโภคก็ไม่ได้ตั้งใจมาร้านเดียวอยู่แล้ว หลายคนจะมาเดินเล่นแล้วแวะไปหลายร้าน เพราะแต่ละคาเฟ่ก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างและไม่เหมือนกันเลย ถึงแม้มีคาเฟ่อยู่ใน GUMP’s 20 ร้านแต่ก็ไม่เหมือนกันสักร้าน

คุณมีมายด์เซตในการป้องกันความล้มเหลวยังไง 

เราศึกษาข้อมูลทุกอย่างว่าอะไรจะทำให้เราเฟลได้ ไม่ใช่แค่ศึกษาว่าอะไรจะทำให้เราสำเร็จ ซึ่งรวมถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น ทำไมคนถึงไม่เดินขึ้นชั้น 2 เราก็ไปศึกษาจากคนที่ทำแล้วเฟลมาก่อนว่าเวลาคนไม่เดินขึ้นชั้น 2 เป็นเพราะอะไร 

อันนี้ก็เป็นสาเหตุที่เราวางป้ายและแลนด์มาร์กต่างๆ ไว้ที่ชั้น 2 เพื่อให้คนขึ้นไปตามหาและถ่ายรูป รวมถึงออกแบบบันไดให้อยู่ด้านหน้า คนจะได้โฟกัสการเดินขึ้นไปชั้นบน ซึ่งก็ช่วยเราแก้ pain point ได้ จนช่วงแรกคนไปเดินเล่นชั้น 2 มากกว่าชั้น 1 ด้วยซ้ำ ถ้ามองในดีเทลก็จะเห็นมุมเล็กมุมน้อยเหล่านี้ที่เราใส่รายละเอียดเข้าไป 

คุณมองว่าร้านอาหารและคาเฟ่ควรมีองค์ประกอบอะไรบ้างที่หากชวนมาเปิดร้านแล้วปังแน่ 

การมีมุมถ่ายรูปสำคัญ องค์ประกอบอย่าง circulation และฟังก์ชั่นการใช้งานในร้าน ทุกอย่างต้องสัมพันธ์กันหมดและออกแบบเพื่อให้ใช้งานได้จริง รวมถึงมู้ดแอนด์โทนการออกแบบก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะจะทำให้ลูกค้ารู้สึกเป็นอย่างแรกว่าอยากเข้าร้านและสังเกตเห็นผลิตภัณฑ์ ต้องมีจุดที่ดึงดูดคนว่าทำไมเขาถึงอยากเข้าร้านนี้ 

สิ่งสำคัญในการบริหารจัดการโครงการคอมมิวนิตี้สเปซให้สำเร็จคืออะไร

ความเข้าใจในกันและกัน เราอาจจะไม่ใช่ property management เจ้าใหญ่ที่มีกฎตายตัว 1 2 3 แต่เราจะบอกไว้ตั้งแต่แรกว่าเราช่วยแบรนด์คุณได้และจะช่วยกันในหลายมุม ในการบริหารที่นี่ ถ้าแบรนด์ไหนอยากจัดอีเวนต์ เราก็มีพื้นที่ส่วนกลางให้ซึ่งเราไม่ได้มีกฎตายตัวเลยว่าห้ามทำอะไร 

เราเหมือนเป็นเพื่อนบ้านกันมากกว่า เรายังปรับตัวตามเทรนด์ตลอด โดยจะปรับแต่ละมุมและหมุนเวียนร้านตลอด เช่นรู้สึกว่ามุมนี้มันนานแล้วคนเริ่มเบื่อแล้วก็จะเปลี่ยน เพราะเราอยากให้ GUMP’s เป็นที่ที่คนมาแล้วกลับมาอีกซ้ำๆ ได้ 

สิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากการทำธุรกิจคอมมิวนิตี้สเปซคืออะไร 

จากแต่ก่อนเราเป็นแค่บริษัทออกแบบที่ได้เจอลูกค้าที่ทำคาเฟ่แค่ฝั่งเดียว ทุกวันนี้เราต้องเรียนรู้จากทั้งลูกค้าฝั่งเรา ฝั่งผู้ใช้บริการ หรือแม้กระทั่งเรียนรู้ด้านการบริหารโครงการทั้งหมดในเชิง property management ด้วย มันก็ทำให้เราได้ต่อยอดขึ้นไปอีกกับสิ่งที่เราทำ มันก็มีความยากยิบย่อยและปัญหาที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องเรียนรู้ในทุกส่วน 

มีภาพในฝันไหมว่าอนาคตอยากให้ GUMP’s เติบโตไปยังไง 

อยากให้ GUMP’s เป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ ไม่ใช่คอมมิวนิตี้อย่างเดียว เป็น top-of-mind ของคนรุ่นใหม่ที่อยากออกมาใช้ชีวิตอย่างมีไลฟ์สไตล์ 

สาขาของ GUMP’s ก็น่าจะมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่เราก็มองเห็นการต่อยอดธุรกิจในรูปแบบอื่นด้วย เช่น โรงแรมหรือสถานที่ท่องเที่ยวในเครือของ GUMP’s ทั้งหมดซึ่งเป็นโปรเจกต์ในอนาคต 

อยากให้คนจดจำ GUMP’s ว่าเป็นยังไง

อยากให้คนตามไปดู GUMP’s ด้วยตัวเองมากกว่า อยากให้มีความลุ้นในทุกสาขาของ GUMP’s ที่จะเปิดว่าหน้าตาจะเป็นยังไง มันอาจจะเป็นกลยุทธ์ที่แปลกเมื่อเทียบกับห้างที่มีภาพจำในเรื่องของตึกหรือองค์ประกอบต่างๆ ที่คงความคล้ายกัน แต่ภาพจำของเราอยากให้คนจดจำมากกว่านั้น ถึงความพิเศษที่ไม่เหมือนกันในแต่ละที่ เลยอยากให้ตามไปดูกันเอง 

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like