Make Ground for Thai Artists
ฟัง GroundControl เล่าวิธีสมดุลระหว่างธุรกิจและการเป็นสื่อที่เชื่อมศิลปะและคนในสังคม
นำเสนอทุกความเคลื่อนไหวในโลกศิลปะ
ถ้าเข้าไปในเพจ GroundControl ในเฟซบุ๊ก สิ่งแรกที่คุณจะได้เห็นคือประโยคอินโทรประโยคนี้
สกรอลล์ลงมาสักหน่อย โพสต์ที่คุณเห็นอาจเป็นการชวนไปงานนิทรรศการสักที่ บทสัมภาษณ์ศิลปินน่าจับตา อัลบั้มภาพถ่ายที่น่าแชร์ ข่าวในแวดวงคนทำงานอาร์ต เลื่อนลงมาสักหน่อยอาจเจอคอนเทนต์ที่เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์สนุกๆ ผ่านหนัง แม้กระทั่งโพสต์ชวนไปงานดนตรีที่ชาวเก๋มักไปกัน
ที่มีคอนเทนต์กว้างขวางขนาดนี้ เพราะคำว่า ‘ศิลปะ’ ในสายตาของ คริสซี่–ศิขรินทร์ ลางคุลเสน และ ผ้าป่าน–สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ สองสาวผู้ร่วมก่อตั้งนั้นไม่มีกรอบจำกัด สำหรับพวกเขา ศิลปะเป็นได้ทั้งงานศิลป์ที่เราเดินดูและกำซาบได้ในแกลเลอรี มันยังสอดแทรกในภาพเคลื่อนไหวบนจอเงิน วัฒนธรรมป๊อป และไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน
สิ่งที่เราเพิ่งรู้เมื่อได้นั่งคุยกับสองสาวคือ GroundControl เริ่มตั้งไข่ในปีแรกที่โควิด-19 เข้ามาทักทายชาวโลก และในทีแรกไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำแค่สื่อศิลปะอย่างที่ทุกคนรู้จักด้วยซ้ำ พวกเขาตั้งใจจะจับงานหลายแขนง ทั้งการเป็นเอเจนซีที่ทำแคมเปญที่เชื่อมโยงกับศิลปะ รวมถึงงาน On Ground ที่พาศิลปะไปปะทะกับผู้คน ซึ่งเมื่อโควิดซา GroundControl ก็เติบโตขึ้นและได้จับงานเหล่านั้นสมความตั้งใจ
มากกว่านั้น เป้าหมายที่ทั้งสองและทีม GroundControl มีร่วมกันคือการเปิดพื้นที่ให้ศิลปินไทยหน้าใหม่ได้เฉิดฉาย อย่างโครงการ Artists on Our Radar ที่เปิดรับงานจากศิลปินนับร้อย คัดเหลือ 12 คน ซึ่งไม่เพียงแค่มอบพื้นที่จัดแสดงงาน แต่ยังพาพวกเขาพัฒนาตัวเองผ่านการเทรนนิ่ง รวมถึงพาไปเชื่อมโยงกับแบรนด์ต่างๆ เผื่อว่าจะมีโอกาสในการทำงานร่วมกัน
ใน MMAD Gallery ที่เงียบสงบวันนี้กำลังจัดแสดงงานของศิลปิน 12 คนนั้นอยู่ดี เราจึงถือโอกาสเดินชม และชวนคริสซี่กับผ้าป่าน สองสาวผู้ก่อตั้งมาเล่าแนวคิดและความเชื่อเบื้องหลัง GroundControl ไปพร้อมกัน
ความตั้งใจของ GroundControl ในวันแรกมีหน้าตาแบบไหน
ผ้าป่าน : ตอนแรกตั้งใจว่าอยากทำบริษัทออร์แกไนซ์อีเวนต์ศิลปะ เพราะเราเคยทำงานสายแกลเลอรีและทำอีเวนต์มาก่อน เรามีโอกาสทำงานกับศิลปะรุ่นใหม่หลายคน รวมถึงแบรนด์ชั้นนำ ที่เขาสนใจจะทำงานกับศิลปินที่เป็นคนในท้องที่ จึงเห็นว่าในวงการศิลปะยังมีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้เติบโต
จุดเริ่มต้นคือเราเดินทางไปฝรั่งเศสกับคริสซี่ ด้วยบรรยากาศของเมืองแห่งศิลปะและวัฒนธรรม เราก็มองเห็นความเป็นไปได้ในประเทศเรา ประเทศไทยมีคนมีพรสวรรค์เยอะ มีราก วัฒนธรรม เรื่องเล่า และมีคนเล่าเรื่องที่เก่ง แต่สิ่งที่ขาดไปคือตัวเชื่อมตรงกลางให้ศิลปินสามารถทำอาชีพศิลปินได้ในประเทศของเรา มันไม่ได้เกี่ยวกับระบบนิเวศอย่างเดียว แต่มันคือความรู้ ความเข้าใจ ความต้องการ ไลฟ์สไตล์ของคนในสังคมที่จะชื่นชมความสวยงามด้วย
ตอนแรกเราตั้งใจจะทำอีเวนต์เพราะเป็นสิ่งที่เราสองคนถนัด เรามีคอนเนกชั่นกับศิลปินหลายคนที่เติบโตมาด้วยกันและอยากสนับสนุนเขาต่อ แต่พอโควิดมาเราก็ต้องปรับแผน แต่เราจะไปต่อทางไหนดี สิ่งเดียวที่คิดได้คือโซเชียลมีเดีย
จริงๆ สื่อเป็นสิ่งที่พวกเรารู้ว่าจะทำอยู่แล้ว เพราะคริสซี่เขาก็ถนัดด้านนี้ เคยทำงานสื่อสารให้กับค่ายหนัง GDH มาก่อน บวกกับเราก็เคยเป็นบรรณาธิการของแม็กกาซีน The Jam Factory มาก่อนด้วย ณ ตอนนั้นคือคลำหาทางกัน
ทิศทางคอนเทนต์ของเพจในยุคแรกเป็นยังไง
ผ้าป่าน : โปรเจกต์แรกของเพจ GroundControl ก็ไม่ได้เป็นคอนเทนต์นะ ตอนนั้นเราเปิดตัวด้วยโปรเจกต์ Cowith-19 ที่เราชวนคอมมิวนิตี้นักดนตรี 19 วง กับนักวาดภาพประกอบ 19 คนมาคอลแล็บกัน เพื่อทำลายหน้ากากขายและนำรายได้จากการบริจาคทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย
คริสซี่ : โปรเจกต์ถัดมาคือ Self-Quarantour ซึ่งเกิดจาก pain point ของพวกเราเองที่อยากไปเที่ยวช่วงโควิดแต่ทำไม่ได้ เรานั่งบ่นกันไปมาผ่าน Zoom แล้วตอนนั้นมันมีทัวร์เสมือนจริงผุดขึ้นมาเยอะมาก เราก็คิดว่าหวือหวาดี แต่มันจืดมากเลย เรานึกถึงวันที่พวกเราไปเที่ยวกันกับเพื่อนแล้วเขาเล่าสนุกมาก เช่นตอนที่ไปกับนักรบ มูลมานัส ไม่ว่าจะประเทศไทยหรือฝรั่งเศส เขาเล่าได้หมด เลยชวนนักรบกับคนอื่นๆ เช่น พี่ฟาโรส ครูทอมคำไทย ที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์สนุกมาช่วยกันทำไลฟ์
ผ้าป่าน : ตอนนั้นมีคนดูเยอะมาก ไม่ออกเลยตลอด 3 ชั่วโมง อาจเพราะวิธีการของเราที่พยายามจะใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปด้วย นอกจากการคัดสรรเรียบเรียงเนื้อหา เราดีไซน์มันแบบครบลูป คือมีพิธีกรบนจอ และมีพิธีกรภาคสนามในช่องคอมเมนต์ เตรียมทุกอย่างให้เล่นไปกับไลฟ์ เพราะเราหวังว่าคอนเทนต์ของเราเป็น edutainment คือ education บวก entertainment
ทำไมอยากให้ศิลปะเป็น edutainment
ผ้าป่าน : เราสองคนเชื่อเรื่องการศึกษา แต่การศึกษาศิลปะแบบไหนที่จะไม่ทำให้คนอื่นวิ่งหนีออกไป บางคนอาจรู้สึกว่าศิลปะเป็นเรื่องไกลตัว เราจึงอยากทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้น ซึ่งถามว่าใกล้ตัวต้องทำยังไง มันอาจจะต้องสนุกก่อนคนถึงจะจำและเล่าต่อได้
จริงๆ ศิลปะจะสนุกเมื่อเข้าใจประวัติศาสตร์ด้วย หากเราดูในเชิง วิชวลจะสวย อ่านคอนเซปต์ก็เข้าใจ แต่การจะเข้าใจมันอย่างลึกซึ้งมันต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ของเรื่องต่างๆ ด้วย เพราะฉะนั้น GroundControl เราจะไม่ใช่นำเสนอศิลปะอย่างเดียว แต่มันเป็นทั้งศิลปะ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์
คริสซี่ : ถึงวันนี้เราจะมีทีมมากขึ้น และทิศทางคอนเทนต์จะไม่ได้ถ่ายทอดจากมุมส่วนตัวแบบเมื่อก่อน แต่ทิศทางของเรายังเหมือนกัน นั่นคือการทำให้ศิลปะเป็นเรื่องสนุกและเข้าถึงได้ คุยกับคนเสพด้วยท่าทีว่าไม่รู้ไม่เป็นไร เรามารู้ไปด้วยกันนะ เพราะบางครั้งฉันเองก็เพิ่งรู้สิ่งนี้เหมือนกัน
คุณหาจุดสมดุลระหว่างการนำเสนอคอนเทนต์ศิลปะสำหรับสายอาร์ตจ๋าๆ กับคอนเทนต์ศิลปะที่คนทั่วไปยังเสพและบันเทิงกับมันได้ยังไง
คริสซี่ : คำว่าศิลปะจะมองว่าแคบมันก็แคบ จะมองว่ากว้างมันก็กว้าง อะไรคือศิลปะ ภาพยนตร์ ดนตรี ไลฟ์สไตล์ ทุกอย่างอยู่ในร่มของศิลปะหมด สำหรับงานบางอย่างที่อาจจะเข้าใจยาก เช่น ประวัติศิลปะหรือศิลปะ เราอาจจะลองย่อยให้เข้าใจง่ายขึ้น นั่นคือก้อนหนึ่ง อีกก้อนคือเราอาจจะพาไปเที่ยว ดูนิทรรศการ และเล่าเรื่องวัฒนธรรมป๊อปไปเลย ทำให้คนที่ชอบทั้งประวัติศาสตร์และชอบไลฟ์สไตล์ได้สนุกเหมือนกัน
นอกจากการทำคอนเทนต์ให้น่าเสพ สิ่งที่คนทำสื่อศิลปะยุคนี้ต้องคิดมีเรื่องอะไรอีก
คริสซี่ : เราใส่ใจเรื่องจรรยาบรรณ เราจะไม่ไปเหยียบเท้าใครหรือทำให้ใครต้องเจ็บปวดเพราะคอนเทนต์ของเรา บางครั้งมันมีดราม่าในวงการศิลปะ มีประเด็นที่หลายคนคุยกัน เราก็ยกขึ้นมาเพื่อเปิดพื้นที่ในการพูดคุยแบบไม่ตัดสิน ในฐานะสื่อเรามองว่าเราต้องเปิดพื้นที่ให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันมากกว่า
วิธีการทำงานของ GroundControl เรายึดตามน้องๆ ในทีม เพราะเราทำงานกับคนที่รักและอยู่กับวงการศิลปะอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราทรีตว่าทุกคนคือผู้รับสารเหมือนกัน เราจะบอกกับน้องในช่วงวางแนวทางคอนเทนต์ว่า ก่อนจะทำคอนเทนต์ไหนให้กลับมาถามตัวเองว่าคุณอยากรู้อยากพูดเรื่องอะไร ซื่อตรงกับมันถ้าคุณรู้สึกว่าเรื่องนี้ต้องเล่าจงเล่ามันออกมาในมุมมองของตัวเองภายใต้ทิศทางที่เรามีร่วมกัน
ความท้าทายของการทำสื่อศิลปะในวันนี้คืออะไร
คริสซี่ : อัลกอริทึมคือสิ่งที่ทำให้เราถอนหายใจมากที่สุด เราท้อ พยายามทำความเข้าใจ และเราก็ต้องสู้ต่อไป อีกความท้าทายคือตอนนี้มีหลายสิ่งมากที่คนยังถกเถียงกันและยังไม่มีคำตอบชัดเจน เช่น การมีอยู่ของ AI เป็นเรื่องดีหรือเปล่า การเขียนคอนเทนต์ยังไงให้เราไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง นี่คือสิ่งที่ยังถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้น
ผ้าป่าน : จริงๆ บริษัท GroundControl ไม่ได้มีแค่สื่อศิลปะเพียงอย่างเดียวที่เราอยากนำเสนอหรือใช้เป็นช่องทางเชื่อมต่อกับคนอื่น เพราะฉะนั้นในวันที่สื่อมีความไม่แน่นอนเรื่องอัลกอริทึม เราเข้าใจและยินดีกับการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ แบบ แต่สิ่งที่เราทำเพิ่มขึ้นมาคือมียูนิตอื่นๆ เพื่อสนับสนุนพื้นที่ของเราให้กว้างมากขึ้นนอกจากการเป็นพื้นที่สื่อออนไลน์อย่างเดียว
เราคิดว่าการปรับตัวไม่ใช่แค่ปรับในออนไลน์เท่านั้น แต่มีวิธีการอีกมากที่จะพัฒนามันไปพร้อมกันหรือเสริมให้แข็งแรงมากขึ้น เราจึงมีเอเจนซีที่ทำงานกับลูกค้าหลากหลาย ทำแคมเปญเกี่ยวกับศิลปะ มีพื้นที่ออฟไลน์ และอีกหลายยูนิตในอนาคตที่จะตั้งขึ้นเพื่อกระจายความรู้และความเชื่อของเรา
ในแง่ธุรกิจ คุณบริหารงานยังไงให้ทุกยูนิตสามารถอยู่รอด
ผ้าป่าน : เวลาเราทำธุรกิจ เรามองว่าแต่ละยูนิตจะสร้างผลประโยชน์ให้กับบริษัทต่างกัน เราไม่ได้มองว่าตัวเงินคือผลประโยชน์อย่างเดียวที่จะเกิดขึ้นกับ GroundControl ได้ เราไม่ได้วัดกันแค่ตัวเงิน แต่วัดที่มูลค่าของมัน ซึ่งคำว่าคุณค่าขึ้นอยู่กับว่าเราจะตีความแบบไหน เราคิดว่าคุณค่าของสื่อ นอกจากเม็ดเงิน มันคือการเป็นกระบอกเสียงและตัวตนของ GroundControl ที่ทุกคนจะรู้จัก เราคือใคร เรามีความเชื่อแบบไหน เราได้ส่งต่อความเชื่อของเราออกไปทางสื่อศิลปะ
ส่วนงานฝั่งเอเจนซี มันมีคุณค่าของมันอยู่แล้ว เราได้ทำงานกับลูกค้าที่หลากหลายซึ่งล้วนอยากทำแคมเปญเกี่ยวกับศิลปะ เป็นลูกค้าที่ให้คุณค่าในศิลปะ ให้คุณค่ากับงานของศิลปินไทย และให้คุณค่ากับความคิดสร้างสรรค์ เราต่างทุ่มกันสุดตัวเพื่อจะทำให้คนทำงานศิลปะนั้นมีชีวิตรอดได้ในวงการนี้เหมือนกัน เราเลยรู้สึกขอบคุณแบรนด์ทุกแบรนด์ที่เคยร่วมงานกันเสมอ
เราเห็น GroundControl ไปร่วมโปรเจกต์สนุกๆ หลายอย่างในปีที่ผ่านมา อย่างล่าสุดก็ได้เป็นมีเดียพาร์ตเนอร์หลักของ Thailand Biennale การได้ทำโปรเจกต์เหล่านี้ส่งผลกับคุณยังไง
ผ้าป่าน : เรามีโอกาสได้ร่วมงานกับคิวเรเตอร์ที่เก่งมากๆ และได้ทำงานกับสื่อเมืองนอก นอกเหนือจากนั้น สิ่งเหล่านี้อยู่ในทิศทางของ GroundControl ที่เราคิดว่าเราอาจยังไม่ได้เป็นสื่อที่ใหญ่โตมากนัก แต่เราก็เป็นที่รู้จักในแวดวงคนรักศิลปะ งานสร้างสรรค์ สนใจในไลฟ์สไตล์ที่สวยงามและให้คุณค่ากับมัน เราจึงพยายามเต็มที่กับการเป็นมีเดียพาร์ตเนอร์ของทุกงานศิลปะและทุกคนที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ เพราะเราไม่ได้จำกัดความว่า GroundControl คือสื่อศิลปะออนไลน์และครีเอทีฟเอเจนซี สิ่งที่เราทำคือเรารวบรวมเพื่อนๆ และคนที่มีความคิด ความเชื่อ ความสนใจแบบเดียวกันเข้ามาอยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นเราต้องเปิดพื้นที่ให้กว้างมากที่สุดให้กับทุกคน
ครั้งหนึ่งคำว่าศิลปะเคยกันคนอื่นออกไปเพราะเขาไม่ได้รู้มากหรือรู้ลึก เราจะทำยังไงให้คนที่รู้สึกว่าเขาไม่รู้สึกแบบนั้น เราว่านี่เป็นความท้าทายของพวกเรา
คริสซี่ : เหมือนการเป็นมีเดียพาร์ตเนอร์มันเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งของเราด้วย เราจะไปอยู่ในพื้นที่ที่หลากหลายอย่างเทศกาลดนตรี เฟสติวัล แอนิเมชั่น หรือครั้งหนึ่งกรุงเทพฯ ก็ชวนเราไปทำ Colorful Bangkok แคมเปญเหล่านี้เป็นสิ่งที่บอกว่าเราอยู่ที่นี่ ถ้านึกถึงศิลปะ อยากให้นึกถึงเรา
นอกจากการเป็นมีเดียพาร์ตเนอร์ในงานต่างๆ GroundControl ยังโดดเด่นเรื่องการแนะนำศิลปินไทยหน้าใหม่ให้เป็นที่รู้จัก อย่างโปรเจกต์ Artists on Our Radar ที่ชวนให้เราได้รู้จักศิลปินที่คัดสรรมา 12 คน ทำไมจึงมองว่าการผลักดันศิลปินรุ่นใหม่เป็นเรื่องสำคัญ
ผ้าป่าน : จริงๆ GroundControl ร่วมกับศิลปินหลายกลุ่ม หลายแขนง เราตั้งใจเป็นพื้นที่สนับสนุนศิลปินทุกคน เราพยายามทำสิ่งนั้น ซึ่งนอกจากการซัพพอร์ตในภาพรวมของวงการ สิ่งที่เราจะโฟกัสคือการ emerging local artist หรือสนับสนุนศิลปินไทยรุ่นใหม่จนเกิดเป็นโปรเจกต์ Artists on Our Radar ซึ่งก่อนหน้าที่เรามีการให้พื้นที่ศิลปินเหล่านี้ผ่านโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว สเตปต่อมาคือการปรับมาสู่โลกออฟไลน์บ้างผ่านงาน Ground Play
เราคิดว่าเราสามารถส่งมอบอะไรให้กับกลุ่มศิลปินเหล่านี้ได้บ้าง เพราะพวกเขาต้องการพื้นที่มากขึ้น ไม่ใช่พื้นที่ในเชิงแกลเลอรี แต่เป็นพื้นที่ในโลกการทำงาน พื้นที่ในการคอลแล็บกับแบรนด์ต่างๆ เราจึงเปิดรับสมัครช่วงปลายปี 2023 แล้วคัดเหลือ 12 คนจาก 300 กว่าคนที่ส่งผลงานมา โดยคำนึงถึงความหลากหลาย และนี่จะเป็นศิลปินที่ GroundControl จะโฟกัสตลอดปี 2024 สิ่งที่เราจะทำให้เขาเริ่มจากการจัดงานนิทรรศการเปิดตัว หลังจากนั้นคือการสร้างพื้นที่ให้พวกเขาได้ทำงานกับแบรนด์ที่เราเคยทำงานด้วย อย่างที่สามคือการเทรนนิ่งรายเดือนให้กับศิลปิน 12 คนนี้ในหัวข้อที่หลากหลาย เพราะเราเชื่อว่าศิลปินคนหนึ่งจะอยู่รอดในสังคมไทยได้เขาต้องมีทักษะหลากหลายด้านมากๆ ไม่ใช่แค่ทักษะการทำงาน แต่เป็นทักษะการจัดการ การคัดสรรผลงาน การทำสินค้า เราพยายามจะคราฟต์แต่ละคนไปตามเส้นทางที่เขาเติบโต
แต่คนที่ไม่ติดไม่ต้องน้อยใจนะ เพราะเราตั้งใจว่าจะทำ open call ทุกปี ปีถัดไปก็ยังสามารถส่งผลงานมาได้ และเราจะพยายามสนับสนุนศิลปินไทยรุ่นใหม่เสมอ
ในวันที่ GroundControl เปิดมาได้หลายปีและเป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะแล้ว สิ่งที่ทำให้คุณอยากทำงานต่อทุกวันคืออะไร
ผ้าป่าน : ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีสื่อเกี่ยวกับศิลปะหรืออีเวนต์ศิลปะเท่าทุกวันนี้ เราเคยคิดหาเหตุผลว่าทำไมคนทำสื่อถึงไม่ทำสื่อที่เจาะจงเรื่องศิลปะอย่างเดียว เพราะหลายคนอาจคิดว่าตลาดมันเล็ก แต่ส่วนสำคัญที่ทำให้เราอยากทำธุรกิจนี้คือความเชื่อของเราทั้งสองคน
เราเชื่อว่าศิลปะสามารถขับเคลื่อนผู้คน สังคม และประเทศได้ เราอยากเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ประเทศของเราขาดไป
เราเชื่อในสิ่งนี้ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้ไร้เดียงสา เราทำธุรกิจจริงๆ และมองเห็นว่าพื้นที่นี้สามารถขยายได้ต่อ มันมีอนาคตของมัน ด้วยแนวทางของโลกที่กำลังพัฒนา เทคโนโลยี การที่ผู้คนมีไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชมศิลปะมากขึ้น
คริสซี่ : เราคิดว่าอย่างนี้ พอเราทำงานโดยตั้งต้นจากความเชื่อ นั่นแปลว่าไม่มีงานไหนที่จะเหมาะสมกับเราไปมากกว่านี้แล้ว GroundControl สร้างขึ้นมาจากความฝันของพวกเรา แน่นอนว่าระหว่างทางมันก็มีอุปสรรคมาตลอดทาง เพราะตอนที่เราทำมันยังเป็นสิ่งใหม่มากๆ แต่ที่มาไกลได้ขนาดนี้เราก็ภูมิใจกับมันมาก ไม่ใช่แค่สำหรับเราสองคน แต่กับทีมที่ช่วยสร้างให้แบรนด์แข็งแรงด้วย
จากเป้าหมายในวันแรกที่อยากเป็นตัวเชื่อมระหว่างศิลปะกับผู้คนในสังคม ตอนนี้คุณคิดว่า GroundControl ประสบความสำเร็จหรือยัง
ผ้าป่าน : เรายังอยู่ระหว่างทาง หมายถึงมีสิ่งที่ทำสำเร็จ เห็นผล ทำแล้ว ทำอยู่ และทำต่อ อย่างงาน Ground Play ที่จัดที่บ้านตรอกถั่วงอก เราจัดงาน 2 วันมีคนไป 4,000 คน ซึ่งถือว่าเยอะสำหรับป่าน แต่ถามว่ามันทำให้เรารู้สึกว่าเราทำสำเร็จในการเชื่อมต่อคนกับศิลปะแล้วไหม ไม่ เพราะเป้าหมายเรามันไกลและใหญ่มาก เราถือว่ามันเป็นเป้าหมายของเราที่เรากำลังตามเช็กอยู่
คริสซี่ : ซึ่งจากวันแรกที่เราถูกขัดขาด้วยโควิด-19 แต่เรายังมาได้ขนาดนี้ สำหรับเราถือว่ามันอัศจรรย์มากนะ