Good Client of Illusion CGI Studio

ความมืดในเขาวงกตและแสงสว่างในการทำงานของ สุรชัย พุฒิกุลางกูร แห่ง Illusion

หลายคนเรียก สุรชัย พุฒิกุลางกูร แห่ง Illusion ว่าเป็น llustrator หรือคนทำภาพประกอบงานโฆษณาอันดับ 1 ของโลก

แต่หลังจากที่บทสนทนากว่า 3 ชั่วโมงจบลง ผมอยากเรียกเขาว่า นักหาทางออกจากเขาวงกตในความมืด

ในทุกช่วงชีวิต สุรชัยเคยติดชะงักอยู่ในเขาวงกตอันมืดมิดไม่ต่างจากคนอื่น–ในความหมายของเส้นทางที่ชวนสับสน มองไม่เห็นทางออก

แทนที่จะทนเดินวนอยู่ในนั้นอย่างไร้จุดหมาย ทุกครั้งเขาจะตั้งคำถามที่เป็นคล้ายแสงสว่าง และพาตัวเองออกมาจากเขาวงกตที่ปกคลุมไปด้วยความมืดได้เสมอ

ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ยังศึกษาเล่าเรียนที่ตั้งคำถามว่าเส้นทางที่เลือกถูกต้องหรือยัง จนเลือกหันเหเส้นทางมาเลือกศึกษาในสาขาที่ตัวเองเชื่อ ตอนเริ่มทำงานที่ตั้งคำถามว่าในวงการโฆษณาอะไรจะมาดิสรัปต์การถ่ายภาพนิ่งและการรีทัช จนได้คำตอบและเป็นที่มาของการก่อตั้ง ‘Illusion CGI Studio’ ที่สร้างภาพประกอบงานโฆษณาด้วยเทคนิค CGI ตั้งแต่วันที่ยังไม่มีใครเชื่อในวิธีการนี้

หรือแม้ในยามที่ประสบความสำเร็จจนคล้ายไม่มีสิ่งใดให้ไขว่คว้า ถึงวันนี้ Illusion ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Lürzer’s Archive ให้เป็น Illustrator อันดับ 1 ของโลกมา 11 ปีติดต่อกัน กวาดรางวัลจากทั่วโลกมากว่า 2,700 รางวัล และคว้ารางวัล Grand Prix ซึ่งถือเป็นเกียรติยศสูงสุดในวงการประกวดโฆษณามาแล้วถึง 39 รางวัล เขาก็ยังตั้งคำถามว่ารูปแบบการทำงานที่ดีควรเป็นเช่นไร ทั้งในองค์กรและการทำงานกับลูกค้า

‘วิธีหาทางออกจากเขาวงกตในความมืด’ คือหนึ่งในเรื่องที่อยากอธิบายมากๆ แต่ยังไม่มีโอกาสสักที

ประโยคข้างต้นคือส่วนหนึ่งที่สุรชัยพิมพ์เอาไว้ในสเตตัสเฟซบุ๊กส่วนตัวก่อนที่เราจะนัดเจอกันที่ออฟฟิศของเขาในวันรุ่งขึ้น 

แม้เขาจะเคยบรรยายในหลายประเด็น แต่ประเด็นที่เกริ่นไว้เป็นสิ่งที่เขาอาจจะไม่เคยพูดบนเวทีไหนมาก่อน และมันน่าจะเป็นแสงไฟเล็กๆ ในการทำงานให้ใครหลายคน ไม่ว่าจะอยู่ในฟากฝั่งลูกค้าหรือผู้ให้บริการ

เราพบกันในช่วงรอยต่อของเวลาระหว่างเย็นย่ำกับค่ำมืด แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา

เพราะสถานที่ที่เรานั่งสนทนามีแสงสว่าง

หลายคนที่ฟังบรรยายคุณบ่อยๆ น่าจะเข้าใจว่าในงานที่ทำคุณน่าจะเอาอยู่ทุกอย่าง ในชีวิตจริงการทำงานมันราบรื่นแบบนั้นไหม

แน่นอน มันเป็นเพราะกระบวนการของผม 

ในชีวิตผมจะล้มเหลวสั้นๆ เสมอ ตอนเด็กๆ ผมล้มเหลวมาเยอะนะ ในความหมายของผมคือสมมติเปรียบเทียบกับคนรอบข้าง เราเรียนสายวิทย์อยู่ แล้วทุกคนที่เรียนต้องไปทางเดียวกัน แต่ผมหยุดกึกแล้วบอกว่า ไม่แล้ว ผมจะไม่ไปทางนี้แล้ว กูจะไปอีกทางนึง ซึ่งมันจะเป็นแบบนี้ทุกๆ ช่วงชีวิตเลย

หรือสมมติตอนเรียน เวลาอาจารย์ให้ทำงานโปรเจกต์นึงเขาก็จะเริ่มจากให้ขายคอนเซปต์ แล้วก็ขายสเกตช์ครั้งที่ 1, 2, 3 แล้วก็ขายขั้นตอนงาน แล้วก็ทำงานไปจนจบ แต่คุณรู้ไหมว่าวันแรกที่ขายคอนเซปต์ไปแล้ว พอเดินออกจากห้องผมก็คิดว่ากูเปลี่ยนคอนเซปต์ดีมั้ย เพราะฉะนั้นตอนที่เพื่อนคนอื่นเขาข้ามไปขายสเกตช์ครั้งที่ 1 ผมต้องย้อนกลับมาขายคอนเซปต์ใหม่

แล้วพอขายผ่านเริ่มทำไปสักพัก ไม่เอาว่ะ กูเปลี่ยนใหม่ได้ไหม ฉะนั้นในขณะที่คนเก่งๆ เขาคิดแค่ครั้งเดียว แล้วเขาทำตาม process ไปเรื่อยๆ แต่นึกดู ผมนี่โคตรได้เปรียบเลย ผมทำงานนึงผมคิดคอนเซปต์ใหม่ 5-6 รอบ (หัวเราะ) นี่ไงคือสิ่งที่ผมเรียกว่าผมล้มเหลว ก็คือว่าถ้าคิดตามเกณฑ์ในระบบ สุดท้ายงานผมก็จะได้ประมาณสักเกรด D หรือ D+

คุณไม่ใช่คนที่เก่งที่สุดมาตั้งแต่เด็ก

ไม่ใช่แน่นอน อาจจะมีบางโมเมนต์ที่ประสบความสำเร็จ แต่อย่างที่บอก ผมเป็นคนที่คล้ายๆ จะล้มเหลวแบบสั้นๆ ก็คือทำตามระบบไม่ได้ ตอนประมาณสักปี 5 ตอนทำสัมมนาศิลปะ ผมพบว่าผมมีปัญหา คือผมไม่อยากทำงานนั้นนานๆ พอผมคิดเสร็จ วาดไปแล้วหนึ่งชิ้น แล้วคิดว่ามันไม่ใช่ว่ะ ผมก็อยากเปลี่ยนงานแล้ว ทุกคนก็เลยบอกว่า อ๋อ มึงจับจดไง นี่แหละ ผมว่าคำเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้พวกเราทุกคนไม่ไปไหน เพราะเรากลัวคำเหล่านี้ที่บอกว่าจับจด ถ้าเปลี่ยนเยอะๆ ก็จะกลายเป็นเราจับจด ถูกมั้ย เพราะฉะนั้นมึงต้องฝืนทำไปในแบบที่ไม่ต้องเจอคำพูดแบบนี้ หลายคนก็เลยใช้ชีวิตแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่เคยตั้งคำถาม แล้วก็ไม่เปลี่ยนแปลงมัน

คนจะมองว่าเป็นความอดทน

ใช่ คนก็จะบอกว่าเราต้องอดทน ต้องทำแบบนี้ไปก่อน แต่ผมบอกไม่ เพราะฉะนั้นผมจึงมาทำงานโฆษณาไง เพราะว่ามันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โจทย์มันเปลี่ยน แล้วผมรู้สึกว่าแบบนี้แหละคือใช่กูที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นที่คุณถามว่ามันราบรื่นขนาดนั้นไหม ผมถึงบอกว่ามันราบรื่นไง เพราะว่ามันเหมาะกับคาแร็กเตอร์เรา วันนี้ทำโฆษณาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิว อีกวันนึงทำโฆษณารถ อีกวันนึงทำโฆษณาบ้านจัดสรร โอ้โห มันสนุก นี่คือทางที่ผมเลือก ถามว่าทำไมผมถึงเคลียร์ ราบรื่น เพราะผมเข้าใจตัวผมเอง ผมรู้ว่าผมชอบอะไร ผมไม่ถนัดอะไร ผมเก่งอะไร ผมไม่เก่งอะไร และจะไม่เก่งอะไรด้วย พอมันเคลียร์หมด มันแทบจะไม่มีปัญหาอะไรเลย นอกจากเราจะแก้ปัญหาตามที่เกิด ณ เวลานั้นไปเรื่อยๆ

ก่อนที่จะทำงานอย่างราบรื่น Illusion เคยเจอปัญหาอะไรบ้างไหมในการทำงานกับลูกค้า

ที่ผ่านมาผมว่าปัญหามันเกิดจากเราไม่เข้าใจวิธีการทำงาน คือเราทำงานมาประมาณสัก 20 กว่าปีแล้ว วันนึงก็พบว่าทำไมงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้มันเหมือนเป็นงานแก้ แก้ แก้ แก้แล้วแก้อีก แก้แล้วแก้อีก แก้แล้วแก้อีก ช่วงแรกมันอาจจะเป็นงานตกแต่ง มีการสร้างใหม่ แต่ระยะหลังๆ ทำไมมันมีแต่งานที่ต้องแก้แล้วแก้อีก มันวนอยู่แบบนั้น นั่นหมายความว่ามันต้องมีมายด์เซตอะไรที่ผิดแล้วล่ะ

คือในช่วง 20-30 ปีนี้ อาชีพ photo retouching มันเข้ามาในอุตสาหกรรมการทำโฆษณาภาพนิ่ง แล้วได้สร้างมายด์เซตทั้งตัวคนทำงานเองและลูกค้าโดยอัตโนมัติว่ามันคือการแก้ไข พอมันคือการแก้ไขนั่นก็หมายความว่า เมื่อถึงขั้นตอนโปรดักชั่น ตอนเราถ่ายนางแบบ เสื้อผ้าหน้าผม หรือถ่ายอะไรไม่ได้ เราก็มองว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวไปแก้ที่รีทัช พร็อพทำไม่เรียบร้อย ชุดตัดไม่พร้อมเราก็ถ่ายให้ได้ แล้วจากนั้นไปแก้ในขั้นตอนรีทัช เพราะฉะนั้นมันเกิดลูปแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทุกคนก็เลยคิดว่าเดี๋ยวไปแก้ที่หน้าจอ เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันเลยวิ่งมาที่นี่

แล้วมันเป็นขั้นตอนสุดท้าย ที่มักมาในตอนที่ไม่เหลือเวลาอีกแล้ว ทุกอย่างมันอัดตูมมา แล้วที่อัดลงมามันก็ไม่ใช่สิ่งที่แม่นยำด้วยนะ ขณะที่มานั่งดูหน้าจอ อาร์ตไดเรกเตอร์ก็อยากจะเป็นคนรีทัช ตรวจงานละเอียดยิบ ดูนั่นดูนี่ ตรวจนั่นตรวจนี่ พอลูกค้ามาตรวจงาน ลูกค้าก็อยากเป็นครีเอทีฟ ทุกคนทำหน้าที่ทับกัน โดยที่ไม่ยอมที่จะให้แต่ละตำแหน่งมีพื้นที่ให้ตัวเองเล่น เรียกว่าไม่ซื้อความเป็นโปรเฟสชันนอลของแต่ละคน มันก็เลยทำให้ทุกคนทำงานซ้ำซ้อน ทับๆ กันไปเรื่อย

แล้วปัญหาที่ว่าในอุตสาหกรรมโฆษณามันเกิดจากอะไร

สิ่งที่เราทำทุกครั้งเวลาจะแก้ปัญหาคือเราจะมองว่ามันคล้ายอะไร เพื่อที่จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ แล้วผมเลยรู้สึกว่า มันเหมือนเราเดินในเขาวงกตที่มันมืดๆ แล้วคนถือไฟดันอยู่หลังสุด

คิดดูว่าเวลาทำงานจะมีหัวหน้า มีครีเอทีฟ ครีเอทีฟก็ส่งอาร์ตไดฯ มานั่งทำงานกับเราสองสามวัน แล้วบนหน้าจอพออาร์ตไดฯ เห็นก็บอกว่าพี่สวยมากเลย พอส่งไปให้ครีเอทีฟดู ครีเอทีฟก็บอก เฮ่ย มันไม่ใช่ว่ะ อารมณ์ภาพมันไม่ใช่ ก็รื้อ แก้กันไปแก้กันมา ครีเอทีฟมาดู ผ่านแล้วก็ส่งไปให้ ECD (Executive Creative Director) ECD ก็บอกมันไม่ใช่ แบบผิด พอแก้เสร็จปุ๊บ บอกว่าเอาประมาณนี้แหละขายลูกค้า ลูกค้าที่อาจจะไม่ใช่ตำแหน่งใหญ่สุด ไม่ใช่คนตัดสินใจ ก็บอกให้แก้อีก ขอปรับสี ปรับดีเทล ปรับๆๆ สุดท้ายส่งไปให้หัวหน้าใหญ่ หัวหน้าบอกไม่ใช่ รื้ออีก ผมก็เลยรู้สึกว่า ทำไมคนตัดสินใจมันอยู่คนหลังสุดเลยวะ แล้วไอ้แสงที่เขามีมันไม่ส่องมา เราก็ตรอมตรมกันอยู่ในเขาวงกตที่มันมืดอย่างนี้เป็นเวลาหลายๆ วัน มันคืออะไร

แล้วเราก็วนอยู่แบบนี้ โอ้โห ชีวิต มันมีแต่คนเครียด พนักงานก็เครียด คือบางครั้งการทำโปรเซสต่างๆ มันต้องมีกระบวนการเตรียมเพื่อที่จะทำให้ได้ตามที่ต้องการ เพราะฉะนั้นแล้วการที่มันเปลี่ยนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วเวลาเหลือน้อยมากๆ แล้วก็ต้องไปในอีกทิศทางนึง มันไม่ใช่หนักแค่กับคนพรีเซนต์ แต่มันลามไปถึงคนเตรียมงาน ทุกคนมันเหนื่อยล้าไปหมด ผมรู้สึกว่ามันคือสงครามที่ไม่รู้ว่าเราจะชนะหรือเปล่า ซึ่งการที่เราทำตรงนี้ แบบนี้ 10 ปี 20 ปีผมว่ามันเบิร์นเอาต์ได้

สิ่งที่คุณว่ามาเหมือนมันไม่ใช่แค่ Illusion ต้องเผชิญ

ใช่ มันคือทั้งหมดเลย แล้วมันเป็นอย่างนี้ทุกจ็อบเลยนะ ผมเลยรู้สึกว่ามันมีปัญหานึงที่คนอาจจะไม่เข้าใจ ก็คือเวลาเรามองตำแหน่งเราจะมองภาพตำแหน่งที่สูงขึ้นในแนวดิ่งหรือแนวตั้ง ก็คือเป็นจูเนียร์ เป็นซีเนียร์ เป็นกรุ๊ปเฮด เป็นไดเรกเตอร์ จนถึงระดับ C-level ก็คือไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นแนวดิ่ง โดยที่ทุกคนไม่ได้คิดว่ามันมีการทำงานในระดับแนวราบอีก

แนวราบคืออะไร อย่างผมชอบดูหนังสงคราม แล้วเวลาเราย้อนกลับไปดูหนังสงครามยุคเก่าๆ ยุคแรกๆ เราจะเห็นว่าหัวหน้าจะอยู่หน้าสุดเลย ทีนี้ก็เริ่มดูมาเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าตำแหน่งผู้นำมันเปลี่ยน ในขณะที่ยังสู้กันแค่สองมือและมีชุดเกราะ ตำแหน่งผู้นำจะอยู่ข้างหน้า แล้วหลังจากนั้นพอมนุษย์เริ่มคิดค้นเรื่องปืน อาวุธ ขีปนาวุธหรืออะไรก็แล้วแต่ ตำแหน่งผู้นำจะถอยลงมาข้างหลังเรื่อยๆ จน ณ วันนี้ ตำแหน่งผู้นำเวลาเกิดสงครามเราจะไม่รู้เลยว่าอยู่ที่ไหน อันนี้คือการถอยร่นลงมาของตำแหน่ง 

ขณะที่เราโตขึ้นไปในแนวดิ่ง ในแนวตั้ง แต่ทุกคนไม่เห็นแนวราบนี้ เพราะฉะนั้นทุกคนจะไม่รู้เลยว่า ถ้าคุณถอยออกมาขนาดนี้ คุณจะบัญชาการสงครามนี้ให้ชนะต้องทำยังไง เรารู้แค่ว่าเราขึ้นไปเป็นหัวหน้า แต่เราไม่รู้วิธีการทำงานจริงๆ ว่า สมมติว่าถ้าเราเป็นหัวหน้าในกลุ่มเล็กๆ เราอาจจะพูดปลุกใจแค่ครั้งเดียวแล้วก็ลุยกันเลย เพราะทุกคนได้ยิน communication ในกลุ่มเล็กๆ มันทำได้ แต่เมื่อกองทัพใหญ่ขึ้น เมื่อคุณถอยไปเรื่อยๆ โดยที่คุณไม่ communication กับทีม ยังไงก็ตาย ไม่มีทางที่ทั้งกองทัพจะรู้ว่าคุณคิดอะไร เหมือนอย่างที่ผมบอกว่าเหมือนเดินในเขาวงกตที่มันมืดแล้วคนถือไฟอยู่หลังสุด

สิ่งที่ผมจะบอกก็คือยิ่งคุณถอยออกมาไกลเท่าไหร่ คุณจะต้องให้ไฟเขา หรือไม่ก็ให้ความสว่างเขา ถ้าเราจะเดินเข้าเขาวงกต คุณต้องให้สิทธิเขาถือไฟ ถึงแม้มันจะเป็นดวงเล็กๆ แต่มันจะทำให้การเดินทางของเราไม่เปลืองเวลา ไม่สูญเสียเวลา ไฟของผมในความหมายนี้คือเครดิตของวิชาชีพแต่ละวิชาชีพ หรือคุณจะอยู่หลังสุดก็ได้ แต่ส่องไฟมาให้เราเห็นทางหน่อย พวกเราจะได้เดินไม่หลงทาง นั่นหมายความว่า หัวหน้าคนที่ตัดสินใจใหญ่สุด ต้องอยู่ในโปรเซสของสงครามนั้น ไม่ใช่มาถึงตอนสุดท้ายแล้วค่อยมาบอกว่าไหนดูซิ ตอนนี้รบกันไปถึงไหนแล้ว แบบนี้ไม่ได้

สิ่งที่เราทำทุกครั้งเมื่อมีลูกค้าใหม่คือเราจะอธิบายวิธีการทำงาน พร้อมตัวอย่างการทำงาน เพื่อให้เขาเห็นภาพว่าขั้นตอนจะเป็นยังไง จุดไหนเป็นทางเลี้ยวที่สำคัญที่เอเจนซีต้องให้ลูกค้าตัดสินใจด้วย เพราะถ้าผ่านจุดนี้ไปแล้ว การกลับมาแก้จะมีค่าใช้จ่าย มากน้อยตามความเสียเวลาและยาก-ง่าย วิธีนี้ช่วยให้คนตัดสินใจมาอยู่รวมกัน ณ จุดสำคัญๆ ได้ แก้ปัญหาที่ต้องเดินในเขาวงกตที่มืดมิดได้

ทุกวันนี้เวลาเราสั่งของ ซื้อของ เรายังสามารถแทร็กได้ว่าอยู่ที่ไหน มันคือการมอนิเตอร์ง่ายๆ ที่เราใช้ในชีวิต เวลาทำงานก็เหมือนกัน คนที่มีอำนาจตัดสินใจเขาต้องอยู่ในโปรเซส จะมากจะน้อยอยู่ที่วิธีการจัดการ เราถึงตัดสินใจในเวลาที่ฉับพลันได้

คือสุดท้ายถ้าไม่ให้คนอื่นถือไฟ คุณก็ต้องส่องไฟให้กับคนอื่นๆ ได้เห็นทางตลอดเวลา

ใช่ ความหมายผมก็คือว่า เราทำงานในเลเวลระดับสูงโดยที่เราไม่ทำงานในระนาบเดียวกัน ถ้ามันเป็นระนาบเดียวกันมันจะมีการแทร็กกิ้ง มีการมอนิเตอร์ตลอดเวลา

มีอยู่ช่วงนึงผมดูฟุตบอล เวลาเขาทำโทษโค้ชเขาจะไล่ไปนั่งบนอัฒจันทร์ ตอนนั้นผมก็หัวเราะว่า ลงโทษแค่นี้เองเหรอวะ แต่มันมีผลมากจริงๆ นัดนั้นถ้าโค้ชไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกัน ไม่ได้สั่งงานในระนาบเดียวกัน ทีมตายเลย ถึงจะฝากคนอื่นสั่งลูกทีมยังไงมันก็ไม่มีทางเรียลไทม์ ในการทำงานก็คล้ายๆ กัน ในความหมายของผมก็คือ ระยะที่มันใกล้พอดีและ communication โคตรสำคัญเลย ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งคุณต้องหาเอาเองว่าระยะพอดีของคุณคือตรงไหน สำหรับฟุตบอลก็คือข้างสนาม

ย้อนกลับมาพูดในมุมคนถือไฟ การจะให้สิทธิใครสักคนถือไฟแสดงว่าคนคนนั้นก็ต้องทำให้เชื่อมั่นด้วยว่าจะไม่พาไปผิดทาง

ใช่ คือมันทั้งสองฝ่าย อย่างที่ผมบอกเสมอว่า คุณต้องถามตัวเองก่อนว่าคุณเป็นผู้ให้บริการที่ดีพอหรือยัง ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นครีเอทีฟหรืออาร์ตไดเรกเตอร์ก็ต้องถามตัวเองว่าเราเข้าใจโปรดักต์เขามากพอหรือยัง มันเป็นทอดๆ มันเกี่ยวข้องกันหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมมักจะบอกก็คือว่า การที่เราทำงานมันไม่ใช่แค่เราจะไปชี้คนอื่นว่ามึงผิด มึงไม่เข้าใจ แต่เราต้องถามตัวเองด้วยว่าเราเข้าใจจริงๆ ไหม แล้วเขาจะรู้ว่าอันนี้เขาให้คนนี้ถือไฟได้ แต่ถ้าเขาไม่มั่นใจคุณ เขาจะอนุญาตให้คุณใช้ไฟไหม เขาก็ไม่ยอม เขาก็บอกเดี๋ยวรอกูตัดสินใจ

พอคุณเข้าใจเรื่องเขาวงกตในความมืด คุณปรับการทำงานใน Illusion ยังไง

วิธีง่ายๆ เลย ก็ออกจากเขาวงกตสิ เพราะเรารู้ว่าไม่มีทางแก้ได้ สุดท้ายในบ้านเรายังไงมันก็ต้องมีโปรเซสแบบที่ว่า ถ้าอย่างนั้น สมมติฐานต่อมาก็คือ ถ้าเราไม่เดินในเขาวงกตที่มันมืดแบบนี้ล่ะ ถ้าเราไปเดินในเขาวงกตที่มันสว่างล่ะ ทำได้ไหม มันต้องมีสิ เราเชื่อว่ามันจะต้องมีระบบการทำงานที่ดี

แล้วเหมือนมันเป็นโชคช่วยด้วย พอเราได้ทำงานกับทางครีเอทีฟต่างประเทศ พอได้ทำงาน ‘Heaven and Hell’ ของ Samsonite ที่ครีเอทีฟเขาเป็นคนสิงคโปร์แล้วไปอยู่จีน เมื่อเราได้ทำงานกับเขา เรารู้สึกว่า เฮ่ย เราสามารถจุดไฟเดินได้ว่ะ เขาให้สเปซเรา เขาให้เรานำทางเขาด้วยซ้ำไป สมมติฐานที่เกิดขึ้นก็คือว่า ถ้าอย่างนั้นหมายความว่า งานที่ทำกับครีเอทีฟต่างประเทศมันมีโอกาสที่จะเป็นแบบนี้ใช่ไหม เราก็เริ่มทำเยอะขึ้นๆ แล้วมันก็เริ่มพิสูจน์แล้วว่ามันใช่ เขาอนุญาตให้เราจุดไฟเอง เผลอๆ เราบอกว่าน่าจะไปทางซ้ายเขาก็เชื่อด้วยซ้ำไป อันนี้คือสิ่งที่แตกต่างมากๆ ดังนั้นผมก็เลยขยายตลาดต่างประเทศให้มากขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้ลูกค้าประมาณ 99.99 เปอร์เซ็นต์ของ Illusion คือลูกค้าต่างประเทศ

ถ้าชวนวิเคราะห์ คุณคิดว่าทำไมลูกค้าต่างประเทศถึงไม่มีปัญหาอย่างที่ว่ามา

เขาก็อาจจะมีบ้าง แต่อย่างที่บอกก็คือ ในบ้านเรา เราอาจจะไม่ได้ถูกสอนมาให้แต่ละคนเป็นโปรเฟสชันนอลแล้วก็ไม่ได้ยอมรับในความสามารถของอีกฝ่ายหนึ่งพอที่จะวางใจว่า อ๋อ นี่คือหน้าที่คุณ อย่างที่บอกว่าเวลาอาร์ตไดฯ มาดูหน้าจอคนรีทัช อาร์ตไดฯ ก็จะทำตัวเหมือนเป็นคนรีทัช ลูกค้ามาดูงานครีเอทีฟก็จะดูงานเหมือนสายตาครีเอทีฟทั้งที่ตัวเองไม่ได้มีความสามารถทางด้านนี้ ก็คือต่างคนต่างทับหน้าที่ แล้วใช้ในส่วนที่ตัวเองไม่มีมาทับ เพราะฉะนั้นพอมันทับๆ กันอย่างนี้ มันก็เลยมีปัญหา ผมรู้สึกว่าแบบนี้มันไม่ใช่ คุณแค่บอกสิว่าคุณต้องการอะไร แล้วผมก็ทำงานให้อย่างที่บอก

มีตัวอย่างนึง ตอนที่ทำงาน ‘Civilization’ ของ Maxam ที่เป็นฟัน (เอเจนซี JWT Shanghai) ชิ้นนั้นตอนแรกไอเดียมันคือ อย่าให้แบคทีเรียมันสร้างอาณาจักรในฟันของคุณ ผมก็มีภาพในหัวของผมว่า ภาพนี้ต้องเหมือนเราส่องไฟเข้าไปในปากแล้วเราเห็นฟันมันผุอยู่ ผมก็ทำเลยนะ ทำเป็นฟันผุ ส่งไปให้หยาง (Yang Yeo, Chief Creative Officer) เขาเห็นก็บอกว่า “ไม่ใช่ สุรชัย ผิดทางแล้ว ไม่ใช่ทางนี้ เพราะมันตายเหมือนฟันเน่าๆ เลย” แล้วเขาก็บอกแค่ว่า “สุรชัย มันจะต้องเป็นฟันที่ยังมีชีวิตอยู่ และแบคทีเรียยังมีชีวิตอยู่” เขาพูดแค่นี้เอง ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องบอกว่าสุรชัยเดี๋ยวตรงนี้ทำแบบนี้ เดี๋ยวเอาเรเฟอเรนซ์ให้ เขาพูดแค่นี้ว่า สุรชัย ไม่ใช่ ทางนี้ไม่ใช่ ไปอีกทางนึง นี่แหละ ผมรู้สึกว่านี่คือไฟของกู มันทำให้เรากลับมาทบทวนตัวเองว่า เฮ่ย ทำไมเราไม่เข้าใจวะ อันนี้มันเป็น advertising ภาพมันจะต้องน่าดูสิ ผมเรียกว่านี่คือความมืด พอเขาสาดสปอตไลต์มาเราเลยรู้ว่าเราหลงอยู่ สุดท้ายงานชิ้นนี้ก็เป็นงานที่ประสบความสำเร็จในความรู้สึกผมนะ เพราะว่ามันเป็นการทำของน่าเกลียดให้เป็นของน่ามองได้

นี่คือคอมเมนต์ในอุดมคติของสุรชัย

ใช่ ไม่ใช่บอกว่าตรงไหนสีอะไร ตรงไหนทำแบบไหน หรือเอาเรเฟอเรนซ์มาให้ดู การที่เอาเรเฟอเรนซ์มาให้ดูผมรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ เพราะว่าสุดท้ายเราก็ไม่ได้สิ่งใหม่ เราก็ได้แต่สิ่งที่เหมือนเดิม ซึ่งเขามาหาเราเขารู้อยู่แล้วว่าเขาต้องการสิ่งใหม่ ถ้าเขาเอาเรเฟอเรนซ์มาให้เขาก็โง่แล้ว ถูกไหม แต่นี่เขาโคตรฉลาดเลย

ผมรู้สึกว่าวิธีการแบบนี้ต่างชาติจะเป็นกัน ก็คือว่าเวลาเราไปผิดทิศผิดทาง เขาจะใช้ประโยคเป็นก๊อบปี้ ไม่ใช่ใช้รูปหรืออะไรมาบังคับเรา สิ่งนี้มันทำให้เราเห็นด้วยตาของเราเอง มันทำให้เราพัฒนามาจากสเตปนึงไปอีกสเตปนึงด้วยความเข้าใจที่ชัดเจนจากความล้มเหลวของเรา

คุณคิดว่าทำไมเขาจึงสามารถคอมเมนต์งานได้อย่างแหลมคม

เพราะเขาเป็นครีเอทีฟ เขาก็ทำหน้าที่ครีเอทีฟ เขามีหน้าที่อะไรเขาก็ทำหน้าที่ของเขา แค่นั้น แล้วผมทำงานกับที่ไหนก็แล้วแต่ ครีเอทีฟทั้งโลกก็จะถามว่า แล้วทีม Illusion คิดยังไง คิดว่ามันใช่หรือยัง ส่วนใหญ่เขาก็จะพูดแบบนี้ ผมก็จะรู้สึกว่า ผมเจอลูกค้าที่ใช่แล้ว เขาซื้อความเป็นมืออาชีพของเรา เขาซื้อตาเรา เขาซื้อทักษะเรา 

แล้วเขาจ่ายในราคาที่เหมาะสมด้วย เราก็พัฒนาการบริการของเราได้ไปเรื่อยๆ มันจะมีแต่ข้อดี มันส่งเสริมซึ่งกันและกัน แต่พอบ้านเรามันไม่เกิดอย่างนี้ ทุกคนทำในสิ่งที่เราไม่ถนัด แล้วก็ไม่ซื้อความเป็นมืออาชีพในแต่ละตำแหน่ง มันก็เลยทับถมกันอยู่อย่างนี้ อย่างที่บอกคือ เราทรีตโปรดักชั่นเฮาส์เป็นโปรดักชั่นเฮาส์ แล้วก็บอกว่ามึงทำตามสิ่งที่กูบอกสิ มันก็เลยทำให้วัฒนธรรมการทำงานของเรามันเป็นแบบนี้

ในเมืองไทยสมัยก่อน ก่อนที่จะมี Illusion ก็จะมีโปรดักชั่นเฮาส์ ภาพนิ่ง มีพี่ๆ หลายคน แต่พอผ่านระยะนึงงานเขาก็จะน้อยลงๆ ซึ่งฝีมือเขาไม่ได้น้อยลงนะ ผมก็ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนที่เก่งถึงไม่มีงานทำ สรุปก็คือเป็นเรื่องราคา ตอนนั้นลูกค้าไม่สามารถที่จะจ่ายในราคาที่สูงได้ โดยพื้นฐานเขาไม่ได้เลือกคุณภาพก่อน เขาเลือกราคา บ้านเรายังใช้วิธีคิดแบบเปิดซองของราชการ ใครถูกเอางานไป เพราะฉะนั้นถ้าเราพิตชิ่งด้วยราคา สิ่งที่น่ากลัวคือจะไม่มีใครพัฒนาเป็นโปรเฟสชันนอลขึ้นไปได้ นี่คืออีกเหตุผลนึงที่ผมต้องออกไปตลาดต่างประเทศ เพราะผมเชื่อว่าวันนึงผมจะต้องเจอแบบนั้นแน่ๆ เพราะราคาของเราอาจจะสูงเกินไป

อย่างที่บอกก็คือผมเสียดาย จริงๆ แล้ว Illusion เกิดขึ้นมาจากการเรียนรู้แล้วก็ได้รับการสั่งสอนจากวงการโฆษณาไทย เราเติบโตมาแบบนั้น แต่แล้ววันนึงผลผลิตนี้มันไม่ได้ย้อนกลับไปช่วยอุตสาหกรรมโฆษณาไทย เราต้องออกไปหากินข้างนอก

นอกจากเรื่องวิธีการทำงาน เรื่องค่าจ้าง มีเหตุผลไหนอีกไหมที่ทำให้คุณเลือกรับงานลูกค้าต่างชาติ

จริงๆ เราต้องมองว่างานภาพนิ่งมันน้อยลงทั้งโลก ไม่ใช่แค่ไทย สุดท้ายถ้าเรายังมองแค่ในเมืองไทยมันเหมือนเราจับแค่ปลาในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งวันนี้แม่น้ำเจ้าพระยาอาจจะหดลง แต่ถ้าเรามองทั้งโลกได้ ทำให้ตลาดทั้งโลกเป็นตลาดของเรา มันก็จะมีปริมาณปลามากพอให้เราจับ อันนี้คือเรื่องสเกล เรื่อง proportion ของมัน เพราะฉะนั้นมันคล้องจองกันในเวลาที่พอดี ถ้าเรามองว่าการทำงานที่เป็นอยู่ในช่วง 20 ปีมันเป็นการเดินอยู่ในเขาวงกตในความมืด เราเลยคิดว่าถ้าไปรับงานต่างประเทศแล้วทำให้โอกาสในทางธุรกิจของเรายังสามารถที่จะเติบโตได้ มันก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี 

อย่างที่บอกว่าตอนแรกมันเป็นแค่สมมติฐาน แล้วเราก็เริ่มทดลองทำ ทดลองหาลูกค้า จากนั้นก็เริ่มมี represent หรือตัวแทนเข้ามาติดต่อเรา บอกว่าอยากจะเป็นตัวแทนรับงานของ Illusion ในภาคพื้นยุโรป ในฝรั่งเศส ในอังกฤษ ในอเมริกา แล้วเขาก็กินเปอร์เซ็นต์ไป ผมก็คิดว่ามันก็เป็นช่องทางนึงของเรา เหมือนเขาเป็นโชว์รูมแล้วเราเป็นโรงงานผลิต ดังนั้นโอกาสที่เราจะทำงานตลาดโลกมันก็เป็นไปได้

ฟังดูอาจจะพูดง่าย แต่ในความเป็นจริงต้องทำยังไงจึงจะได้งานจากลูกค้าทั่วโลกแบบ Illusion

นี่ไง ใครจะมาใช้คุณ ถ้าคุณไม่ดัง ถ้าคุณไม่พรูฟว่าฝีมือคุณดี คุณเก่ง

ผมอาจจะไม่เหมือนหลายๆ คน ผมไม่ทำงานด้วยระบบคอนเนกชั่น ความสัมพันธ์ไม่ใช่ปัจจัยในการรับงาน ทุกวันนี้ Illusion ทำงานกับต่างประเทศ ลูกค้าแทบจะไม่รู้จักสุรชัยเลย 

ผมใช้แบรนด์ชนแบรนด์ business to business ฉะนั้นเราจะต้องทำงานให้มันอยู่ในระดับที่เขาเห็นว่า เขาสามารถฝากชีวิตกับเราได้ อย่าลืมว่าครีเอทีฟที่ติดต่องานกับเราก็เป็นลูกจ้างคนนึงในบริษัทที่ต้องดูแลลูกเมีย ครอบครัว เพราะฉะนั้นการที่เขาจะเอาชีวิตมาฝากไว้กับเรา เราต้องพรูฟอะไร อันนั้นต่างหากคือสิ่งที่คุณต้องตอบ Illusion ใช้คุณภาพของงานขายตัวมันเอง เพราะฉะนั้นผมโฟกัสแค่งาน ถ้าคุณภาพมันถึงมันจะแสดงตัวมันเอง เพราะว่าผมเชื่อว่าในโลก ไม่ว่าจะเป็นการรับจ้างทำของ หรือการผลิตโปรดักต์อะไรก็แล้วแต่ คุณภาพสำคัญที่สุด นั่นเป็นเหตุผลที่ Illusion ถึงต้องทำงานส่ง award ผมพรูฟมันด้วยรางวัล

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ Illusion พยายามคว้ารางวัลระดับโลกมาครองให้มากที่สุด

เป็นเหตุผลเดียวที่ง่ายที่สุดเลย

ไม่ได้บ้ารางวัลหรืออยากดัง แต่มีเหตุผลทางธุรกิจ

ไม่ใช่บ้ารางวัล ถ้าผมอยากได้รางวัลหรืออยากดัง รายการทุกรายการในประเทศไทยที่เชิญผมไปออกรายการผมต้องไปทั้งหมด แต่ผมแทบไม่เคยไปเลย เพราะผมไม่ได้อยากดัง แต่ครีเอทีฟต้องรู้จักเรา ต้องรู้จัก Illusion เพราะถ้าครีเอทีฟไม่รู้จัก Illusion อันนี้เป็นปัญหาของผม แต่ถ้าคนข้างบ้านไม่รู้จักว่าสุรชัยเป็นใครผมไม่เคยแคร์ ผมไม่เคยสนใจว่าผมจะต้องดัง สิ่งที่ Illusion ปรากฏในสายตาของลูกค้าทั้งโลกคือเราต้องการสร้างความเชื่อมั่นหรือ belief ให้เขาเชื่อว่า ถ้าเขาเอาชีวิตมาฝากไว้ที่ Illusion งานต้องมีคุณภาพแน่ๆ ซึ่งวิธีทำให้เขาเชื่อมันทำได้ 2 แบบ ไม่โฆษณาก็พรูฟมัน และสิ่งที่ผมทำคือพรูฟมัน ผมจะทำให้เขารู้สึกว่า มันได้รางวัลอีกแล้วเหรอ ทำไมมันได้อีกแล้ว ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งมันก็คือโฆษณาแบบนึงแหละ มันคือกลยุทธ์แบบเดียวกัน คือทำให้เขาเห็นซ้ำๆ ซ้ำๆ จนเขาเชื่อเรา

ผมเชื่อว่าในสนามประกวด ครีเอทีฟที่เป็นลูกค้าผมเขาโฟกัสอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถสร้างความเชื่อแบบนี้ให้ครีเอทีฟเขาเชื่อ เขาก็จะมาใช้เรา มันคือการสร้างโอกาสทางธุรกิจ วิธีคิดมันไม่ได้ซับซ้อนเลยนะ แต่โปรเซสมันยากเท่านั้นเอง

เหมือนรางวัลคือการโฆษณาที่ทรงพลังที่สุดของ Illusion

แล้วก็ง่ายที่สุด ใช้เงินน้อยที่สุด

ได้เงินด้วย

ใช่ (หัวเราะ) ได้เงินด้วย แล้วสนุกด้วย มันท้าทาย มันอัพเลเวลเรา มันทำให้เราเก่งขึ้นเพราะเราเจอโจทย์ที่มันยากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือสนามที่ผมหวงมาก

ทุกวันนี้ Illusion มีภาพจำว่ารับแต่งานที่ได้รางวัล แล้วจริงๆ คุณรับงานอื่นที่ไม่ใช่งานรางวัลด้วยไหม

รางวัลมันเป็นมันเป็นแค่การ communication แบบนึงเท่านั้นเอง แต่งานที่เป็น pure business ผมไม่เคยแชร์ จริงๆ Illusion เราอยู่เพื่อซัพพอร์ตเอเจนซี ไม่ว่าเขาจะทำงาน award หรือเขาจะทำงานเพื่อมาร์เก็ตติ้ง เพราะฉะนั้นต่อให้เป็นงานขายของเราก็ซัพพอร์ตเขาอยู่ดี มันอยู่ที่เขาสู้ราคาที่เราประเมินไปไหมแค่นั้นเอง ถ้าเขาคิดว่าราคานั้นเหมาะสมแล้วเขาจ่ายได้ ก็ทำ

อย่างที่บอกว่า ถ้าเราจะ communication กับครีเอทีฟทั้งโลก ให้เขา belief ในสิ่งที่เราทำแล้วเขาจ้างเรา เราต้อง promise อะไรบางอย่างกับเขา มันคือวิถีที่เรา promise กับครีเอทีฟทั้งโลกว่าเราจะทำมาสเตอร์พีซให้คุณนะ ผมหวังแค่ครีเอทีฟทั้งโลกแต่ละคนอยากมีมาสเตอร์พีซ แล้วส่งงานมาให้ผมทำ ชาตินี้ผมก็ทำไม่หมดแล้ว ถูกไหม ซึ่งมาสเตอร์พีซเกิดได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นงานรางวัลหรืองานทำมาหากิน

คุณบอกว่าการทำงานของคุณไม่ได้มีความสัมพันธ์กับลูกค้า แล้วความอิ่มเอมในการทำงานร่วมกันมันอยู่ตอนไหน

ถ้าลองไปอ่านในเว็บไซต์ของ Illusion มันจะมีคำที่ครีเอทีฟทุกคนพูดถึงเมจิกโมเมนต์ที่เขาทำงานกับ Illusion คือทุกเมลที่เราส่งไปหาลูกค้าตลอดการทำงานจะต้องสร้างความประทับใจให้เขามากขึ้นๆ เหมือนดูหนังเลย เพราะเขาเฝ้ารอว่า ไอ้สเกตช์ที่เขาส่งมาให้เรา เราทำให้มันมีชีวิตยังไง แล้วทุกอีเมลที่เราส่งไปมันจะเหมือนงานค่อยๆ มีชีวิตขึ้นมา มันเหมือนค่อยๆ เจริญเติบโต ค่อยๆ งอกเงยจนได้สิ่งใหม่ บางคนพูดถึงขั้นว่า เวลาเปิดเมลของ Illusion เหมือนเวลาเปิดของขวัญวันคริสต์มาสเลย คือในเมลแต่ละเมลของเรา เราจะใส่มูลค่าเพิ่มเข้าไป นี่คือทริกที่เราไม่ต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเลย เราแค่ส่งงานที่ดี ส่งงานที่เหมือนเขาได้เห็นเด็กที่เจริญเติบโต มันคือสิ่งใหม่ที่ทำให้เขาเห็นว่างานเขาดีขึ้นทุกๆ ครั้งที่เขาเปิดเมล มันเป็นความสุขอีกแบบนึง คือเมื่อเขามีความสุขแบบนั้นเราก็มีความสุข

แต่จริงๆ ผมก็ไม่ได้ต้องการความสุขอะไรขนาดนั้นหรอก ความสุขผมคือ billing ของบริษัท (ยิ้ม)

เวลาชวนคุยเรื่องความสุขการทำงานไม่ค่อยได้ยินใครตอบเรื่องเงิน หรือแม้กระทั่งฟังคุณบรรยายมาหลายที่ก็ไม่ค่อยได้ยินเรื่องนี้

มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็คุณทำธุรกิจให้อยู่มาได้ 20 ปี ถ้าคุณไม่พูดถึง billing ก็บ้าแล้ว ผมว่าเรื่องเงินไม่ใช่เรื่องน่าเกลียด billing มันเป็นหัวใจ ไม่อย่างนั้นเด็กในทีมของผมจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ยังไง เพราะเขาก็ต้องเติบโต เขามีลูกมีเมีย มีบ้านมีรถ เราต้องไม่ไปกดราคาเขา ทุกคนถึงถามผมว่าทำไมถึงมีพนักงานอยู่กับ Illusion นานถึง 10 ปี 20 ปี 

ส่วนใหญ่คนที่ทำงานวงการนี้เขาก็จะบอกกันว่าคนเปลี่ยนงานกันบ่อย คำถามคือคุณจ่ายให้เขาพอหรือเปล่า คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้นไหม ซึ่งเงินก็คือปัจจัยนึงที่ทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ถูกไหม แต่เวลาผมไปพูดข้างนอกจะบอกว่า billing ของบริษัทเยอะก็พูดไม่ได้หรอก คนหมั่นไส้ตายเลย แต่พอมาสัมภาษณ์เรื่องธุรกิจ ยังไงเราก็ต้องยืนอยู่บนความเป็นจริง

ไม่ใช่พูดแต่ในมุมการสร้างงานที่ดี

อันนั้นเป็นหน้าที่ของคุณอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องวิเศษอะไรเลย มันคือเรื่องของมาตรฐาน ถ้าจะทำธุรกิจ ให้คนอื่นจ่ายเงินให้คุณ คุณต้องทำงานให้ได้มาตรฐานก่อน อันนี้มันคือเรื่องธรรมดา


Good Client of Illusion CGI Studio

กำพล ลักษณะจินดา

Executive Creative Director, Ogilvy Bangkok

“Illusion เกิดขึ้นมาภายใต้กรอบของผมคือเราเป็น tool ให้ครีเอทีฟ ซึ่ง tool นี้จะทำให้เขาประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นมันก็เลยทำให้ผมนิยามลูกค้าของ Illusion ชัดเจนว่า ลูกค้าของเราจะต้องเป็นเอเจนซีเท่านั้น เราจะทำซัพพอร์ตครีเอทีฟเท่านั้น

“คือในทุกวิชาชีพมันมีความเป็นโปรเฟสชันนอลของมันอยู่ ในความหมายก็คือว่า ถ้าเป็นเจ้าของแบรนด์เองเลย ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน ผมก็เชื่อว่าเขาพูดภาษาอีกภาษานึง ทำไมเราถึงมีตำแหน่งในอาชีพต่างๆ ล่ะ มันก็คือการ communication ผมถึงบอกว่า Illusion อยู่เพื่อครีเอทีฟ เพราะเราเชื่อว่าเราพูดภาษาเดียวกัน เราชี้สิ่งสิ่งนี้ว่ามันเป็นสีดำ มันคือสีดำ เราชี้ว่าอันนี้คือแก้ว มันคือแก้ว แต่ขณะที่ลูกค้าที่เป็นเจ้าของโปรดักต์เขาจะพูดอีกภาษานึง ตีความเป็นอีกความหมายนึง ผมถึงจะไม่รับลูกค้าตรงที่เป็นเจ้าของแบรนด์

“ผมเหมือนเป็นลูกปิงปอง เจ้าของแบรนด์เปรียบเหมือนมือ เขาต้องไปหาไม้ปิงปองมา ซึ่งคือเอเจนซี มาตีผม ผมไม่ยอมให้เอามือมาตีลูก เพราะผมเชื่อว่าไม้ปิงปองที่ดีมันนุ่ม มันจะ precision มาก ซึ่งการทำ advertising มันคือเรื่อง precision คือการคอนโทรลทั้งหมด รูปๆ นึงถูกคอนโทรลทุกอย่างเพื่อที่จะทำให้ communication ได้อย่างที่ครีเอทีฟต้องการ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมเห็นมันคือกีฬา มันคือสิ่งที่ต้องแม่นยำ

“ถ้ามองว่าครีเอทีฟคนไหนที่สร้างเราขึ้นมาก็ต้องย้อนกลับไปก่อนที่เราจะมีวันนี้ อย่างที่เคยบอกว่าเราอยากทำ CGI เพราะผมเชื่อว่ามันจะมาแทนการถ่ายรูปและรีทัช แต่ว่าในช่วงสิบปีแรกมันเป็นช่วงที่เราไม่มีคนที่มีความรู้ความเข้าใจพอ ผมมีแค่ความเชื่อว่ามันจะมา แต่สกิลเราก็ยังไม่มี เครื่องไม้เครื่องมือ คอมพิวเตอร์ก็ยังไม่เร็วพอ เราก็แค่สร้างทีมทดลองทำ ในขณะที่เรากำลังทดลองก็มีลูกค้าที่ให้โอกาสเราได้ลองทำก็คือ พี่ป้อม–กำพล ลักษณะจินดา ที่ Ogilvy Bangkok สมัยก่อนยังเป็นลักษณะแบบใช้ความสนิทสนม คือพอเราเห็นว่ามีไอเดียแบบนี้ก็เสนอว่าน่าจะลองใช้ CGI ไหม ก็ลองทำกันมา เดี้ยงบ้าง ถูกด่าบ้าง พอช่วงแรกที่มันเดี้ยงเขาไม่กล้าใช้

“จนสักประมาณปี 2008-2009 ผมเริ่มกลับมาแล้วก็บอกว่า ผมเริ่มทำได้แล้วนะ พี่เขาก็ให้โอกาสแล้วก็ทดลองทำกันมา โดยเริ่มทำงานที่มันเป็นงาช้างแกะของ WWF ที่ทำให้โอกิลวี่ แล้วงานชิ้นนี้เองที่ทาง JWT เซี่ยงไฮ้ทำออกมาเป็นเรเฟอเรนซ์ตอนทำงาน Samsonite ที่สร้างชื่อให้เรา มันมีสเตปที่ซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน 

“สุดท้ายพอเราเริ่มขยับไกลขึ้น เราก็เริ่มทดลองทำอะไรทุกอย่างกับโอกิลวี่ กับพี่ป้อม กำพล คือเติบโตมาด้วยกัน ในความหมายว่า เขาให้โอกาสเราในการที่จะเรียนรู้ว่า เราใช้ CGI ในการทำงานซัพพอร์ตไอเดียเขาได้ไหม เขามองเราเป็นพาร์ตเนอร์ เราก็มองเขาเป็นพาร์ตเนอร์ คือเรามีโปรดักต์ใหม่เราก็ไปนำเสนอว่า solution แบบนี้น่าสนใจไหม แล้วก็ลองกันมา

“จริงๆ ลูกค้าที่ดีสำหรับเรา ข้อแรกคือยอมจ่ายเราในราคาที่เหมาะสม เพราะผมถือว่านี่คือการ respect กัน ข้อที่สองก็คือ จ่ายตรงเวลา แต่ในเมืองไทยมันก็ยากนิดนึงเพราะมันเป็น B2B แต่พูดถึงโอกิลวี่มันคือข้อที่ 3 นั่นคือ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา ที่ Illusion มีวันนี้ ถ้าถามว่ามองย้อนกลับไปใครเป็นคนสร้างเราขึ้นมา ใครเป็นคนที่ให้โอกาสเรามากที่สุด ใครทำให้เราลืมตาอ้าปาก กล้าที่จะเสนอ CGI เป็นอีกทางเลือกนึง คำตอบก็คือโอกิลวี่”

Writer

บรรณาธิการบริหาร Capital เจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 6 เล่ม เล่มล่าสุดชื่อ Between Hello and Goodbye ครู่สนทนา

You Might Also Like