What’s NEXT for Lifestyle & Consumer Behavior

วิเคราะห์ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในโลกธุรกิจจากพฤติกรรมผู้บริโภคปี 2024 กับ FutureTales LAB

อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ผู้ประกอบการหลายคนรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว แต่จะดีกว่าไหมหากเราในฐานะคนทำธุรกิจสังเกตเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงก่อนเพื่อให้เราสามารถปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยง หรือคว้าโอกาสก่อนล่วงหน้า

สำหรับคนทำธุรกิจ เทรนด์ไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมผู้บริโภคคือสิ่งที่หลายคนให้ความสนใจติดตามอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือข้อมูลจาก FutureTales LAB ศูนย์วิจัยอนาคตที่เผยแพร่งานวิจัยและบทวิเคราะห์เทรนด์ใหม่ๆ สู่สาธารณะอยู่เสมอ

สำหรับใครที่ไม่รู้จักพวกเขา ขอแนะนำอย่างย่นย่อว่า FutureTales LAB คือศูนย์วิจัยอนาคตภายใต้บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เชื่อว่าทุกสรรพสิ่งในโลกสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน (For All Well-Being) งานของ FutureTales LAB จึงเป็นทั้งนักวิจัยที่เฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คำปรึกษาในการออกแบบและเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์ และเป็นแพลตฟอร์มสาธารณะที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอนาคต เพื่อเผยแพร่ให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ได้  

การมองอนาคตของพวกเขาไม่ได้ใช้เพียงการพยากรณ์โดยตัวเลข (forecast) เท่านั้น แต่ยังใช้กระบวนการคาดการณ์อนาคต (foresight) อย่างเป็นระบบเป็นเครื่องมือเพื่อวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงในการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ณัฐวุฒิ กุลแก้ว นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต FutureTales LAB บอกกับเราว่า หลักที่นักอนาคตศาสตร์ (futurist) ใช้คือการยอมรับว่าอนาคตมีความไม่แน่นอน มีความเป็นไปได้หลายรูปแบบ 

สิ่งที่ FutureTales LAB ทำคือการจับสัญญาณหรือการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ทั้งจากเหตุการณ์ วิจัย และข่าวรอบโลกจากแพลตฟอร์มข้อมูลที่มี มองเห็นการเชื่อมโยงสัญญาณเหล่านี้ในอดีตกับปัจจุบัน หากกลุ่มสัญญาณมีรูปแบบและแนวโน้มในการกำหนดทิศทางอนาคต พวกเขาจะเรียกว่า ‘เทรนด์’ และหากผ่านเวลาไปแล้ว ผู้บริโภคเปลี่ยนมุมมอง ภาคธุรกิจปรับกลยุทธ์ และภาครัฐประกาศนโยบาย มันกลายเป็น ‘เมกะเทรนด์’ ทั้งนี้ทีมนักวิจัยจะต้องมีการตรวจสอบและติดตามทั้งภายในทีมและร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอยู่เสมอว่าสัญญาณและเทรนด์ใดเด่นชัดมากขึ้น อ่อนลง หรือมีสิ่งใดเกิดขึ้นใหม่ และจะมีนัยที่ส่งผลต่ออนาคตอย่างไรบ้าง

“เวลาที่นักอนาคตศาสตร์คุยกัน เราไม่ได้จะมองแต่เพียงว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แต่เราพยายามทำความเข้าใจมัน เราพิจารณาข้อมูล แนวโน้ม และปัจจัยที่ไม่แน่นอนว่า อนาคตแต่ละแบบกำลังนำไปสู่โอกาสและความเสี่ยงอย่างไร สิ่งสำคัญจึงเป็นการนำเทรนด์และภาพอนาคตไปใช้งานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับองค์กร ” เขาบอก

เทรนด์และพฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2024 จะเคลื่อนไปในทิศทางไหน นั่นคือเหตุผลที่บ่ายวันนี้ เราหอบความสงสัยทั้งหมดมาหาคำตอบกับณัฐวุฒิ

บทเรียน แผลใจ และ Game Changer จากปี 2023

โดยปกตินักอนาคตศาสตร์ที่ FutureTales LAB มักมองอนาคตผ่าน 6 มิติ ได้แก่ สังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม นโยบาย และค่านิยม หากให้วิเคราะห์ถึงไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมของลูกค้า ณัฐวุฒิจัดว่าเป็นมิติของสังคมและค่านิยมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป 

ก่อนจะทำความเข้าใจปี 2024 ณัฐวุฒิชวนคิดถึงการทำความเข้าใจทศวรรษ 2020-2030 กันก่อน ทีมนักวิจัยตั้งชื่อทศวรรษนี้ว่า The Great Reset หรือการรีเซตครั้งใหญ่ หลังจากโควิด-19 ระบาดและส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลก ทุกคนคิดใหม่ ทำใหม่ ในทุกมิติของชีวิต

หลังโควิดเป็นต้นมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2023 เป็นช่วงเวลาที่คนทำธุรกิจปรับตัวและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ผู้ประกอบการหลายคนต้องการลุกขึ้นมายืนให้ได้ด้วยตัวเอง เราสังเกตเห็นวัฒนธรรมการเตรียมความพร้อมเด่นชัดมากขึ้นในสังคมไทย เราได้พบทั้งบทเรียน แผลใจ หมากพลิกเกม (game changer) และประเด็นอื่นๆ ที่ต้องจับตามองกันต่อไป ซึ่งเราขอสรุปมาให้ฟังดังต่อไปนี้

  • โควิดทำให้คนไทยพยายามพึ่งพาตัวเอง และมองอนาคตข้างหน้ามากขึ้น หนึ่งในตัวอย่างนั้นคือการหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ ผลสำรวจล่าสุดระบุว่า 93% ของคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพเป็นอันดับหนึ่ง มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
  • 58% ของคนไทยใช้อุปกรณ์ติดตามข้อมูลสุขภาพ แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีการเปลี่ยนความคิดจากการมาหาหมอหลังป่วยเป็นการหาทางป้องกันไม่ให้ป่วยมากขึ้น
  • ในปี 2024 การดูแลสุขภาพคงจะถูกยกระดับขึ้นไปอีกเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ที่น่าสนใจ คือเราสังเกตเห็นการกระจายบริการสุขภาพจากโรงพยาบาลใหญ่ออกไป ในช่วงปี 2020-2023 มีคลินิกและโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้น 150% ทั้งยังมีคลินิกขนาดเล็กไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งในห้างสรรพสินค้าและชุมชน เช่นเดียวกับเรื่อง Telemedicine และ self-care delivery ที่จะพัฒนาขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัย ‘อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576’ ที่ทีม FutureTales LAB เคยศึกษาไว้ และงานวิจัย ‘อนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย พ.ศ. 2576’ ที่พวกเขากำลังจะเผยแพร่ในปีนี้
  • คนทั่วโลกใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น 32.5% จากช่วงโควิด ทำให้ปัจจุบันมีคน 8.1 พันล้านคนหรือ 65% ใช้อินเทอร์เน็ต และเป็นที่น่าสนใจมากว่าคนไทยได้รับการจัดอันดับโดย IMD ให้มีความสามารถในการแข่งขันดิจิทัลเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 40 เป็นอันดับที่ 35 และกลายเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนระหว่างปี 2022-2023 และเราติดอันดับประเทศที่ใช้งานโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ กระเป๋าเงินคริปโต และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ 1-5 อันดับแรกอยู่เสมอ
  • นอกจากโควิดจะทำให้คนหันมาสนใจสุขภาพและใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น อีกหนึ่งปรากฏการณ์จาก ‘แผลใจ’ ที่เราต่างประสบจากโควิดคือ การถูกพรากโอกาสในการมีประสบการณ์ชีวิตบางอย่างไป เพราะฉะนั้น experience economy หรือประสบการณ์ใดก็ตามที่ช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจะยิ่งเป็นที่นิยมมากขึ้น
  • หากมองในด้านการท่องเที่ยว เราเห็นปรากฏการณ์เที่ยวล้างแค้น (revenge travel) ซึ่งถือเป็นเรื่องดีสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด และคาดว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวจะกลับมาใกล้เคียงปกติมากขึ้นในปี 2024 และน่าจับตาดูการท่องเที่ยวในกลุ่มเมืองรองเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม จากนโยบายของประเทศจีนที่ต้องการให้คนจีนเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก ปี 2024 อาจเป็นปีที่ผู้ประกอบการในไทยได้มีโอกาสทบทวนกลุ่มเป้าหมายหลักอีกครั้ง เช่นนักท่องเที่ยวภายในประเทศหรือนักท่องเที่ยวจากอาเซียนด้วยกันเอง
  • ปี 2023 เป็นปีที่ธุรกิจต่างๆ ออกสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่น้อย แต่ที่โดดเด่นกว่าคือบริการที่ช่วยสร้างประสบการณ์ เราได้เห็นการสร้างประสบการณ์ที่ทำได้จากที่บ้าน เช่น แอพพลิเคชั่นโยคะ Virtual Fitness ทำสมาธิ เป็นต้น ในปี 2024 มองว่าจะเห็นความสมดุลของการออกผลิตภัณฑ์และบริการมากขึ้น
  • Experience Economy จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่เทคโนโลยี VR / AR ที่ตอบโจทย์การมองเห็น งานวิจัยโดย Ericsson คาดการณ์ว่า Internet of Senses หรือการรับประสบการณ์ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 อาจเกิดขึ้นได้จริง ดังที่เห็นกรณีศึกษาและการทดลอง เช่น การสังเคราะห์กลิ่น ตะเกียบเพิ่มรสเค็มในอาหาร ชุดสำหรับสวมใส่เพื่อรับรู้สัมผัสและอุณหภูมิจากในแพลตฟอร์มโลกเสมือน เป็นต้น
  • ถึงแม้คำว่า Metaverse อาจจะเลือนหายไป (และอาจกลับมาเมื่อระบบโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และตลาดพร้อม) แต่แนวคิดเรื่อง extended reality และการผสมผสานประสบการณ์โลกจริงกับโลกเสมือนยังคงอยู่ ปี 2024 จะเป็นปีที่เราเฝ้าจับสังเกตการปล่อยผลิตภัณฑ์ บริการ หรือโมเดลธุรกิจที่ยกระดับประสบการณ์ที่เข้ามามีผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนอย่างแท้จริง เช่น การทำ digital twin สำหรับการออกแบบ ติดตาม และควบคุมการดำเนินการภายในอาคาร ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังสร้างอาคารเสร็จ เป็นต้น
  • เทคโนโลยีจะยังเป็น game changer ที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ ปีที่ผ่านมามีการศึกษา วิเคราะห์ และคาดการณ์ศักยภาพของ AI จนตระหนักแล้วว่ามันทำอะไรได้บ้างและเริ่มวางแผนเกี่ยวกับ AI ปีนี้คงจะเป็นปีที่หลายองค์กรเริ่มดำเนินการเพื่อยกระดับองค์กร ระบบการทำงาน สิ่งแวดล้อมการทำงาน และการจัดการแรงงานใหม่ แน่นอนว่าผู้บริโภคเองก็คาดหวังว่าผลิตภัณฑ์และบริการในตลาดจะเข้าใจความต้องการ สามารถตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลแบบยิ่งยวด (hyper-personalization) และทำให้ชีวิตของพวกเขาสะดวกสบายมากขึ้น FutureTales LAB มองว่า AI จะเป็นทั้งเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพงาน เพื่อนคู่คิด เครื่องมือบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และคู่ค้า
  • โควิดทำให้คนทั่วไปรู้จักวัคซีนจาก mRNA แต่เทคโนโลยีชีวภาพ โอมิกส์ และพันธุวิศวกรรมเป็นสิ่งที่หลายประเทศเริ่มลงทุนมาพักใหญ่แล้ว เช่นเดียวกับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมอย่างการดักจับและใช้ประโยชน์จากมลพิษคาร์บอน เทคโนโลยีควอนตัม และเทคโนโลยีอวกาศ แม้ว่าบทบาทของประเทศไทยในปัจจุบันอาจยังไม่ใช่ผู้นำในเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผลิตภัณฑ์และบริการจากเทคโนโลยีดังกล่าวจะไม่ได้เข้ามาส่งผลกระทบต่อชีวิตคนไทย และหากมองไกลกว่านั้น เทคโนโลยีเหล่านี้ยังขาดแรงงานเข้ามาเติมเต็ม ปัจจุบันมีบุคลากรที่มีความสามารถทำงานเหล่านี้น้อยมาก จากข้อมูลที่มี ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้เชี่ยวชาญด้าน BioTech เพียง 1,600 คนเท่านั้น ในขณะที่ผลสำรวจของ LinkedIn ในช่วงปี 2015-2021 พบว่ามีความต้องการผู้มีทักษะด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นถึง 38.5% แต่ทั่วโลกกลับมีผู้มีความสามารถดังกล่าวเพียง 13% 
  • จะเห็นได้ว่าแม้เทคโนโลยีจะเป็น game changer เพราะสามารถเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไป แต่ยังต้องอาศัยระยะเวลาและการลงมือทำอย่างจริงจัง หากมองกรณีศึกษา เช่น ญี่ปุ่นที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน หรือกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ที่กำลังโดดเด่นขึ้นมาในตอนนี้ จะพบว่ายังมีอีกหลายเรื่องมากที่ต้องพูดคุยเกี่ยวกับเทคโนโลยี ทั้งการพัฒนา การกำกับดูแลและจริยธรรม และการนำไปใช้งานต่อยอด
  • ปี 2023 เป็นปีที่คนทำธุรกิจหลายคนจำเป็นต้องลดทุนและการใช้เงินลง ขณะที่ภาคประชาชนก็มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นขึ้นมา ซึ่งบางครั้งเป็นค่าใช้จ่ายที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าต้องจ่าย และบางครั้งอาจไม่ใช่ในรูปแบบเงินตรา แต่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่เรามอบให้ผู้อื่น
  • ธุรกิจบางประเภทที่ยึดการทำธุรกิจแบบดั้งเดิมจำเป็นต้องปรับตัว และหากปรับตัวไม่ได้ก็อาจถูกกดดันจนต้องล้มหายตายจากไป อีกประเด็นที่ควรระมัดระวังคือ หลายธุรกิจพยายามเป็นผู้นำโดยการเอาเทคโนโลยีล่าสุดมาใช้ โดยไม่รู้ว่าเหมาะสมกับธุรกิจจริงหรือเปล่า

สิ่งที่น่าจับตามองในปี 2024

เมื่อสนทนากันถึงเรื่องไลฟ์สไตล์และผู้บริโภค เราคงต้องพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องก่อน อย่างไรก็ตาม FutureTales LAB เน้นย้ำว่าไม่อยากให้ผู้ประกอบการละเลยหรือมองข้ามประเด็นอื่นที่จะเข้ามาส่งผลกระทบในทางอ้อมเช่นกัน

  • การจับจ่ายใช้สอยของคนไทยในปี 2024 จะถูกกำหนดโดยสภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก แม้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นจาก 2.5% ในปี 2023 เป็น 3.4% แต่ยังถือว่าเติบโตน้อยกว่าประเทศอื่น และอาจไม่มากพอให้คนไทยกล้าควักกระเป๋าใช้จ่ายอย่างใจป้ำ ยิ่งประกอบกับการพิจารณาหนี้ครัวเรือนในปี 2023 ซึ่งสูงถึง 90-91% ของ GDP ก็ยิ่งน่าเป็นกังวล ผู้ประกอบการยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่น เช่น การคงอัตราดอกเบี้ยที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 2.5% ตลอดปี อัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 2.6% เป็นต้น ทั้งนี้ต้องติดตามนโยบายรัฐและแรงกดดันฝั่งอุปทานโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เช่น เอลนีโญ เป็นต้น 
  • หมากพลิกเกมตัวสำคัญที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจไทยในปี 2024 คงเป็นโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นจนได้ แต่หากประสบความสำเร็จ จะเป็นการอัดฉีดเงิน 3 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เกิดการออกมาใช้จ่าย และคาดว่าจะสามารถยกระดับ GDP เพิ่มขึ้นอีก 1.5-2% ซึ่งมากกว่าการเติบโตเฉลี่ยในรอบ 10 ปีของไทย ขณะเดียวกันก็มีข้อกังวลอีกมากที่จะตามมา เช่น หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้น เป็นต้น จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
  • นอกจากนี้ อยากให้ผู้ประกอบการจับตาเรื่อง ภูมิรัฐศาสตร์และสงครามอย่างใกล้ชิด ทั้งการเลือกตั้งกว่า 70 ที่รอบโลก เช่น ไต้หวัน สหราชอาณาจักร อินเดีย อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น และประเด็นเรื่องสงคราม เช่น ยูเครน-รัสเซีย, อิสราเอล-ฮามาส, เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การกีดกันทางการค้า กำแพงภาษี และเส้นทางห่วงโซ่อุปทานที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของคุณแล้ว อยากให้จับตามองการอพยพของกลุ่มผู้มีรายได้สูงหรือนักลงทุน (high-net-worth Individual) ที่อาจโยกย้ายมาพำนักในประเทศไทยและกลายเป็นคู่ค้ากลุ่มใหม่ ดังเช่นในปี 2022 ที่มีการอพยพของเศรษฐีจำนวนมากกว่า 88,000 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรัสเซียและจีนไปยังประเทศอื่น หากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีกครั้ง ภาคธุรกิจจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร และจะบริหารความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่อย่างไร
  • อีกประเด็นที่ต้องพูดคุยอย่างจริงจังคือ การดำเนินธุรกิจและการจัดการแบรนด์ให้สอดคล้องกับค่านิยมของผู้บริโภค ผู้บริโภค 87% ยินดีจะสนับสนุนแบรนด์ที่มีความเชื่อและผลักดันประเด็นทางสังคมเดียวกันกับพวกเขา ในขณะที่มีคนไทย 28% ประกาศชัดว่าจะบอยคอตแบรนด์ที่ไม่มีจริยธรรมอย่างจริงจัง ทุกวันนี้ผู้บริโภคมีความตระหนักรู้ประเด็นทางสังคมมากขึ้น มีการตรวจสอบแบรนด์ที่ไม่ได้ดูแลสิ่งแวดล้อมจริง (greenwashing) ไม่ได้สนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายอย่างแท้จริง (rainbow-washing) มีการรวบรวมรายชื่อและรณรงค์ให้ผู้บริโภคด้วยกันเองไม่สนับสนุนแบรนด์ที่เป็นแหล่งที่มาทางการเงินของการก่อสงคราม เพราะฉะนั้นนับจากปี 2024 เป็นต้นไป องค์กรและธุรกิจที่มีความคิดต้องการเติบโตหรือเป็นที่ยอมรับในสังคมวงกว้างจะต้องพูดจริงทำจริง หยุดการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่ฉาบฉวยและไม่โปร่งใส และต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบของการตัดสินใจและการดำเนินธุรกิจของตนเองต่อสังคมในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงในกรอบระยะเวลาสั้น ๆ แต่ต้องมองไปถึงผลกระทบในระยะยาว
  • ถ้าถามว่าธุรกิจอะไรน่าลงทุนในปีนี้และปีถัดไป คำตอบที่เรียบง่ายคือธุรกิจที่สามารถแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตและประสบการณ์ให้กับผู้คนได้ ในระดับเล็กเราสังเกตเห็นการเกิดขึ้นและเติบโตของอาชีพแปลกใหม่ (odd jobs) มากขึ้น หลายสิบปีก่อนตัวอย่างอาจเป็นติวเตอร์สอนพิเศษ ที่ปัจจุบันกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่และสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายประการ ปัจจุบันและในอนาคตก็เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น งานรับจ้างกินเจ พาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่น รับจ้างเป็นคู่ควงออกงานในโอกาสสำคัญ อย่างวันรวมญาติ งานเลี้ยงเชิงธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งแพลตฟอร์มหางานในไทยยังไม่มีอาชีพเหล่านี้ นอกจากนี้ ในภาพใหญ่เรากำลังจับตามองการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขึ้นไปและสามารถกลับมาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน เช่น ระบบฐานข้อมูลเพื่อคาดการณ์ภัยพิบัติอย่าง Urban Hazard Studio 
  • หากผู้ประกอบการจะเรียนรู้อะไรจากเทรนด์เหล่านี้ ณัฐวุฒิให้ความเห็นว่า เรากำลังอยู่ในยุคแห่งความท้าทายและไม่แน่นอน การเรียนรู้และปรับตัวเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ทั้งสำหรับบุคคลและในฐานะองค์กร วิธีการหรือแนวคิดที่เคยใช้ได้ผลในอดีตอาจไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเดิมในปัจจุบัน และอาจไม่สามารถนำองค์กรไปสู่อนาคตที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้ สิ่งที่ผู้ประกอบการควรมีคือการครุ่นคิดถึงอนาคตอยู่เสมอ โดยไม่ตื่นตระหนกหรือหวาดกลัว แต่เป็นการพิจารณาความเป็นไปได้เพื่อหาแนวทางการรับมือ และเพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ยังไม่ถูกเขียนขึ้น อนาคตจึงมีทั้งความเสี่ยง ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาส ไม่ใช่สำหรับผู้ที่มองเห็นแล้ววางเฉย แต่อนาคตที่ดีเป็นของผู้ที่ลงมือทำอย่างรอบคอบในปัจจุบัน

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด

You Might Also Like