Fest Book

งานหนังสือในฐานะเทศกาลเก่าแก่ แฟรงก์เฟิร์ตยุคกลาง และความเฟื่องฟูจากกูร์เตนเบิร์ก

งานหนังสือเป็นอีกหนึ่งงานมหัศจรรย์ นอกจากหนังสือจะเป็นสินค้าที่มีงานแฟร์เป็นของตัวเองแล้ว งานหนังสือยังเป็นช่วงเวลาพิเศษที่คนรักหนังสือจะได้ไปรวมตัวกัน ได้ไปเจอหน้า เชื่อมต่อกับสำนักพิมพ์ผู้ผลิตหนังสือ ในงานเองก็มีลักษณะเป็นชุมชนของคนรักการอ่าน เป็นงานใหญ่ที่มีความน่ารักบางอย่างเจือปนอยู่

สำหรับบ้านเราพอพูดถึงงานหนังสือ เราก็จะต้องคิดถึงงานที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นงานสมัยใหม่ นอกจากบ้านเราแล้วในเมืองสำคัญทั่วโลกก็มีการจัดงานหนังสือของตัวเอง ในงานหนังสือหลายแห่งจึงมีลักษณะเป็นพื้นที่พบปะและประชาสัมพันธ์ของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ มีการเจรจาธุรกิจไปจนถึงจัดแสดงผลงานวรรณกรรมที่นับเป็นตัวตนหนึ่งของเมืองหรือของประเทศนั้นๆ 

แล้วงานหนังสือมาจากไหน จากงานเทศกาล จัดแสดงและจำหน่ายหนังสือร่วมสมัย อันที่จริงงานหนังสือถือเป็นอีกงานเทศกาลที่เก่าแก่มากๆ งานหนึ่งของโลก หมายความว่ากิจกรรมการอ่านการเขียนของเราเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นการผลิตหนังสือที่ผลิตได้เป็นจำนวนมากขึ้นทำให้เกิดตลาดหนังสือ มีการค้าหนังสือในระดับนานาชาติ ความเก่าของงานหนังสือหรือ book fair เก่าถึงขนาดย้อนกลับไปได้ในยุคกลาง กลับไปยังเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในเยอรมนีคือเมืองแฟรงก์เฟิร์ต 

แฟรงก์เฟิร์ตได้ชื่อเป็นจุดกำเนิดของงานหนังสือ โดยงานหนังสือสัมพันธ์กับงานแฟร์ที่สำหรับบริบทเยอรมนีในยุคกลางเกี่ยวข้องทั้งกับเทศกาลเฉลิมฉลองทางศาสนา การเกิดขึ้นของเมืองที่มีพ่อค้าและนักเดินทาง และที่สำคัญคือแฟรงก์เฟิร์ตเป็นที่มั่นและมรดกสำคัญของการเกิดขึ้นของนวัตกรรมการพิมพ์สมัยใหม่ครั้งแรกคือโยฮัน กูร์เตนเบิร์ก โรงพิมพ์ที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมหนังสือที่แมสขึ้นกลายเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงในยุโรปในยุคนั้นๆ เราจะพากลับไปดูภาพการเกิดขึ้นของหนังสือในฐานะสินค้า งานแฟร์ที่แฟรงก์เฟิร์ตเองก็มีคู่แข่งและสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ในภาพใหญ่

แฟรงก์เฟิร์ตยุคกลาง งานแฟร์และตลาดหนังสือ

เวลาเราพูดถึงจุดกำเนิดงานหนังสือ เรามักอ้างอิงกลับไปที่แฟรงก์เฟิร์ตในฐานะพื้นที่ที่จัดงานหนังสือแห่งแรกของโลก คำว่าแห่งแรกนี้ก็ถือว่าแรกจริงเพราะเชื่อมโยงย้อนกลับไปยาวนานหลัก 500 ปี พาเรากลับไปยังแฟรงก์เฟิร์ตในยุคกลางคือตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 12 การเกิดขึ้นของงานหนังสือสัมพันธ์กับบริบทหลายด้านของความเป็นเมืองยุคกลางและการเป็นเมืองสำคัญของแฟรงก์เฟิร์ตเอง

อย่างแรกที่สุดคือในสมัยกลาง เมืองต่างๆ แม้จะอยู่ห่างกัน เชื่อมต่อกันระหว่างเมืองเช่นถนน การเดินทางหรือกระทั่งการสื่อสารทำได้ค่อนข้างลำบาก แต่ในยุคกลางก็เริ่มมีการเชื่อมต่อเมืองต่างๆ เข้าหากัน เมืองในยุโรปกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ มีการเดินทางจาริกแสวงบุญและมีพ่อค้าที่เดินทางข้ามไปมาระหว่างเมืองต่างๆ แฟรงก์เฟิร์ตถือเป็นเมืองหนึ่งที่ได้ประโยชน์ด้วยการอยู่บนเส้นทางการค้าและเมืองแฟรงก์เฟิร์ตเองก็ถือว่าเป็นเมืองสำคัญลำดับต้นๆ ในมุมมองจากศาสนจักร

ก่อนที่จะเข้าสู่งานหนังสือ คำว่างานหนังสือในบริบทยุคกลางอยากเสนอประเด็นเรื่องคำว่างานแฟร์เล็กน้อย คำว่างานแฟร์เช่นในงานหนังสือของแฟรงก์เฟิร์ตจะเรียกว่า Frankfurter Buchmesse คำว่า buchmesse คำแรก buch แปลว่าหนังสือ ส่วนคำว่า messe คำหลังนี่แหละที่ถือเป็นอีกคำสำคัญที่สัมพันธ์กับยุคกลาง คือในสมัยกลางด้วยความที่เมืองสำคัญก็จริง แต่การค้าลำบาก เดินทางยาก ถนนของยุคกลางเต็มไปด้วยอันตราย สิ่งหนึ่งที่ถูกจัดขึ้นก็คือเจ้างาน messe นี่แหละ

ถ้าเราแปลในความหมายปัจจุบันก็อาจเรียกว่างานแฟร์ แต่ในบริบทเยอรมนีและยุคกลาง งานแฟร์ที่ว่าเป็นงานที่สัมพันธ์กับวันเฉลิมฉลองในพื้นที่เมืองของยุคกลาง ส่วนใหญ่จะเป็นวันฉลองนักบุญ แต่เดิมเป็นเหมือนงานรวมตัวของผู้คนให้ได้มาฉลองกันในแถวๆ พื้นที่กลางเมือง (ที่มักมีโบสถ์เป็นศูนย์กลาง) ในงานแฟร์นี้จะผสมกันระหว่างงานฉลองและงานที่เอาสินค้า ข้าวของมาจัดแสดงและขายออกร้าน ทีนี้แรกๆ งานแฟร์อาจจะจัดรายสัปดาห์ จนนานๆ เข้าก็เริ่มลดจนกลายเป็นเทศกาลใหญ่ อาจจะจัดปีละครั้งหรือสองครั้ง บางครั้งจะจัดในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวเช่นในเดือนตุลาคมหรือมีนาคมคือช่วงใบไม้ร่วงและใบไม้ผลิ เป็นทั้งช่วงพักและช่วงที่พืชผลสินค้าอุดมสมบูรณ์

ทีนี้ ด้วยความที่ยุคกลางเริ่มมีการค้าขายระหว่างเมืองซึ่งก็คือเกิดตลาดในระดับยุโรปและอาจเชื่อมไปสู่บางส่วนของโลกเช่นอินเดียและตะวันออกกลาง แต่การสื่อสารและเส้นทางยังไม่ดี เจ้าเมืองต่างๆ ก็เริ่มเห็นว่าการจัดงานแฟร์ที่ใช้แสดงสินค้า เป็นงานรื่นเริงพร้อมได้แสดงสินค้าของเมืองและเปิดรับพ่อค้านักเดินทางจากดินแดนอื่นๆ ด้วย เป็นกลยุทธ์ที่ดี เราก็ใช้งานแฟร์เป็นตัวกระตุ้นความมั่งคั่งของเมืองซะเลย อย่างแรกสุดคือการมีงานขนาดใหญ่ประจำปีเป็นเหมือนหมุดหมายที่พาคนมางานค้าขายสำคัญนี้

แฟรงก์เฟิร์ตเป็นอีกเมืองที่ทั้งได้เปรียบและเจ้านครเองก็ยินดีใช้งานแฟร์เป็นกลยุทธ์ด้วย ซึ่งแฟรงก์เฟิร์ตนอกจากจะทำเลดีแล้ว ทางนครแฟรงก์เฟิร์ตก็ไม่มีการเก็บค่าเข้าเมืองและค่าเข้างาน ในปี 1240 มีรายงานระบุว่าทางเจ้านครเมืองได้ทำการรับรองการจัดงานแฟร์อย่างเป็นทางการ คือมีการคุ้มกันและรับรองดูแลจากทางราชสำนัก แฟรงก์เฟิร์ตในยุคกลางถือเป็นเมืองการค้าและงานแฟร์ของแฟรงก์เฟิร์ตถือเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาเมืองทั้งหมด

เขียนเรื่องงานแฟร์มาอย่างยืดยาว ประเด็นสำคัญของงานแฟรงก์เฟิร์ตแฟร์คือต่อมางานหนังสือแฟรงก์เฟิร์ตเป็นส่วนหนึ่งของงานแฟรงก์เฟิร์ตแฟร์นี่แหละ โดยตั้งแต่ยุคที่มีงานแฟร์ ข้อสำคัญคือแฟรงก์เฟิร์ตในสมัยนั้นรุ่งเรืองเต็มไปด้วยสินค้าทั้งจากยุโรปรวมถึงเอเชียเช่นเครื่องแก้วจากซีเรีย เครื่องเทศจากตะวันออก โดยหนึ่งในสินค้าที่มีชื่อเสียงคือแฟรงก์เฟิร์ตเป็นตลาดของหนังสือ คือมีขายหนังสือที่ยุคนั้นเป็นหนังสือเขียนมือแหล่งสำคัญของยุโรปด้วย

นวัตกรรมการพิมพ์ โรงพิมพ์ และกิจการหนังสือริมน้ำ

พอเมืองรุ่งเรืองทางการค้าแล้ว การมีสินค้าต่างๆ ที่รวมถึงหนังสือด้วยก็ไม่แปลกมาก แต่แฟรงก์เฟิร์ตกลายเป็นจุดเริ่มต้นของงานหนังสือและตลาดหนังสือได้ ก็คือในกลางศตวรรษที่ 15 ในช่วงทศวรรษ 1450 เป็นช่วงที่กูร์เตนเบิร์กคิดค้นระบบเรียงพิมพ์ที่สามารถขยับตัวอักษรและนำกลับมาใช้ได้เรื่อยๆ โดยงานพิมพ์สำคัญแรกๆ คือการพิมพ์ไบเบิลสองเวอร์ชั่น การพิมพ์ครั้งประวัติศาสตร์เกิดขึ้นที่เมืองไมนส์ (Mainz) ใกล้ๆ กับแฟรงก์เฟิร์ต 

กูร์เตนเบิร์กได้เครดิตเรื่องการคิดค้นเทคโนโลยีการพิมพ์ที่เป็นเชื้อเพลิงสำคัญของการเปลี่ยนโลก แต่การพิมพ์ของแกไม่ได้ประสบความสำเร็จ ต่อมากูร์เตนเบิร์กมีข้อพิพาทกับผู้ช่วย แพ้คดีและเสียสิทธิ์ในโรงพิมพ์และการพิมพ์ไบเบิลไป แต่เพื่อนร่วมงานก็ได้ย้ายโรงพิมพ์และอุปกรณ์มายังแฟรงก์เฟิร์ต กลายเป็นรากฐานของตลาดหนังสือและงานหนังสือแฟรงก์เฟิร์ตในเวลาต่อมา

ในแง่ของการพิมพ์ที่สัมพันธ์กับตลาดหนังสือ หลังจากยุคกูร์เตนเบิร์ก การพิมพ์ก็แพร่ขยายไปที่เมืองต่างๆ แต่ละเมืองมีการเติบโตของตัวเอง สำหรับแฟรงก์เฟิร์ตยังถือว่าเป็นเมืองสำคัญของการค้าขายหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือภาษาละติน ในช่วงนั้นช่างพิมพ์เริ่มตั้งร้านบริเวณริมน้ำและเป็นเรื่องธรรมดาที่พ่อค้า ช่าง และกิจการที่เกี่ยวข้องกันมักจะตั้งร้านในละแวกเดียวกัน ในสมัยนั้นจะมีการส่งหนังสือมายังเมืองทางเรือและรับหนังสือไปด้วยเรือเช่นเดียวกัน 

ในราวปี 1581 ที่แฟรงก์เฟิร์ตเกิดพื้นที่ที่เรียกว่า buchgasse หรือ book valley เป็นตรอกหนังสือที่แสดงให้เห็นว่าผู้ค้า หนังสือและสำนักพิมพ์มีการตั้งที่ทำการ ร้านค้า และคลังหนังสือ

ด้วยเงื่อนไขที่แฟรงก์เฟิร์ตกลายเป็นฐานที่มั่นการพิมพ์ เป็นศูนย์กลางหนังสือ ทำให้เมืองแห่งนี้เป็นปลายทางและศูนย์กลางของการค้าหนังสือภาษาละตินจากเมืองต่างๆ ในยุโรป ด้วยงานแฟร์ประจำที่ทำหน้าที่จัดแสดงและเป็นพื้นที่เจรจาซื้อ-ขายสำคัญของเมือง การเกิดขึ้นของตลาดหนังสือก็น่าจะเริ่มเฟื่องฟูตั้งแต่เมื่อโรงพิมพ์มรดกของกูร์เตนเบิร์กย้ายมาทำการที่แฟรงก์เฟิร์ต 

ภาพของงานหนังสือที่ค่อนข้างเป็นทางการเริ่มปรากฏชัดเจนในช่วงปี 1485 (กิจการการพิมพ์ของกูร์เตนเบิร์กย้ายมาราวปี 1462) ในช่วงปีดังกล่าวเริ่มมีบันทึกเช่นช่างพิมพ์จากเมืองนูร์เรมเบิร์กที่เดินทางมายังงานแฟร์และทำการเจรจาการค้ากับสำนักพิมพ์ ช่างพิมพ์ในงาน โดยงานหนังสือที่เป็นส่วนหนึ่งของงานแฟร์ใหญ่ไม่ได้มีแค่สำหนังพิมพ์ โรงพิมพ์ แต่ยังคราคร่ำไปด้วยกิจการที่เกี่ยวข้องเช่น ช่างกระดาษ กิจการเข้าเล่ม (binders) ช่างแกะสลักไม้ (ยุคนั้นเริ่มมีภาพประกอบและใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ภาพลงไปด้วย)

สำรับแฟรงก์เฟิร์ตเอง ตลาดหนังสือหรืองานหนังสือแฟรงก์เฟิร์ตถือเป็นพื้นที่สำคัญในการกระจายความรู้ ความเป็นตลาดหนังสือในระดับภูมิภาคในยุคปลายของสมัยกลาง ตลาดหนังสือแห่งนี้ถือเป็นพื้นที่สำคัญที่นักคิด นักปรัชญาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือจากสำนักต่างๆ มารวมตัวกัน 

บรรยากาศของงานหนังสือในยุคนั้นเต็มไปด้วยความสดใหม่ บางงานเขียนก็เป็นเรื่องต้องห้าม งานเขียนสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นทางเทววิทยาไปจนถึงข้อเขียน รายงานและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากถูกนำมารวมและจำหน่ายอยู่ในงานสำคัญแห่งนั้น งานเขียนที่ต่อมาแพร่กระจายไปทั่วยุโรปและกลายเป็นแรงขับเคลื่อนในการปฏิวัติต่างๆ ตั้งแต่การปฏิรูปศาสนาถึงการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ ในยุคปฏิรูปศาสนานี้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สัมพันธ์กับตลาดหนังสือเช่นเริ่มมีการแปลหนังสือออกเป็นภาษาเยอรมันเช่นมาร์ติน ลูเทอแปลไบเบิลเป็นภาษาเยอรมัน เกิดตลาดที่คนทั่วไปเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น หนังสือเองก็มีราคาถูกลง

ในช่วงนั้นถึงงานหนังสือของแฟรงก์เฟิร์ตได้ฉายาอันงดงามว่า ‘งานของเทวีศิลปวิทยา (Fair of the Muses)’ คืออาจให้ภาพงานที่เต็มไปด้วยนักคิด ความรู้ รวมถึงเป็นงานที่สร้างแรงบันดาลใจจากหนังสือและภูมิรู้อันสดใหม่และสวยงาม ถือเป็นแรงขับและพื้นที่ทางภูมิปัญญาหนึ่งของศตวรรษที่ 16 ต่อเนื่องจนถึงสิ้นสุดศตวรรษที่ 17 งานหนังสือแฟรงก์เฟิร์ตถือเป็นงานหนังสือที่สำคัญที่สุดของยุโรป 

แฟรงก์เฟิร์ตกับดาวรุ่งดวงใหม่ และการกลับมาเป็นที่หนึ่งอีกครั้ง

ประวัติศาสตร์งานหนังสือเกี่ยวข้องกับกรอบประวัติศาสตร์หลายร้อยปี และการแพร่กระจายของการพิมพ์ หลังจากแฟรงก์เฟิร์ตกลายเป็นหมุดหมายการพิมพ์และตลาดหนังสือแรก หลังจากนั้นเมืองอื่นๆ ก็เริ่มมีการพิมพ์และเกิดตลาด ไปจนถึงงานหนังสือของตัวเอง คู่แข่งสำคัญของงานหนังสือแฟรงก์เฟิร์ตคืองานหนังสือที่เมืองไลป์ซิก (Leipzig Book Fair)

เมืองไลป์ซิกเป็นเมืองที่ค่อนมาทางเหนือของเยอรมัน บริบทเมืองนี้ถือว่าเป็นเมืองที่เปิดต่อความคิดใหม่ๆ มากกว่า งานหนังสือที่เมืองไลป์ซิกมีจุดกำเนิดราวศตวรรษที่ 15 ด้านหนึ่งเมืองแห่งนี้นับเป็นเมืองที่เปิดกว้างกว่า ในยุคร่วมกันเมืองแฟรงก์เฟิร์ตแม้จะเป็นศูนย์กลางหนังสือและความคิดใหม่ๆ แต่ที่แฟรงก์เฟิร์ตได้รับอิทธิพลจากศาสจักรโดยเฉพาะคาทอลิก 

ในช่วงศตวรรษที่ 16-17 ที่แฟรงก์เฟิร์ตมีการควบคุมและเซนเซอร์หนังสืออย่างเข้มเข้น ในขณะที่เมืองไลป์ซิกเป็นฐานที่มั่นเดิมอยู่แล้ว คือแต่เดิมเป็นที่ผลิตหนังสือและส่งมาขายที่งานแฟร์ที่แฟรงก์เฟิร์ต ภายหลังที่เมืองไลป์ซิกได้อิทธิพลจากโปรเตสแตนท์ เป็นเมืองที่เปิดต่อการปฏิรูปศาสนา การพิมพ์หนังสือที่ไลป์ซิกเป็นที่มั่นสำคัญของการพิมพ์วรรณกรรมเยอรมันและงานเขียนภาษาเยอรมันต่างๆ การเซนเซอร์หนังสือสัมพันธ์กับธรรมเนียมงานหนังสือคือการจัดทำแค็ตตาล็อกหนังสือมาให้ดูก่อน ก่อนที่จะมีการสั่งจองและจัดส่งหลังงานแฟร์ การเซนเซอร์เริ่มตั้งแต่การควบคุมแค็ตตาล็อกที่จะนำหนังสือเข้ามาขาย การเซนเซอร์นำไปสู่การบังคับให้ส่งหนังสือฟรีให้กับราชสำนัก การบังคับให้ส่งหนังสือฟรีหลายครั้งนำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่นการตรวจสอบการสั่งซื้อ การค้นร้านหนังสือหรือการเข้าไปจัดการกับสต็อกหนังสือ ทั้งหมดนี้ส่งผลกับกิจการการค้าหนังสือและทำให้แฟรงก์เฟิร์ตในฐานะตลาดหนังสือค่อยๆ เสื่อมถอยลง

ในปี 1632 งานหนังสือที่ไลป์ซิก (เป็นส่วนหนึ่งของงานแฟร์ของเมืองเหมือนกับแฟรงก์เฟิร์ต) ถือว่าเอาชนะ ขึ้นเป็นงานหนังสืออันดับหนึ่งของยุโรปได้ มีตัวเลขปริมาณหนังสือที่มากกว่าแฟรงก์เฟิร์ต 7 เท่า โดยเมืองไลป์ซิกเป็นงานหนังสืออันดับหนึ่งในช่วงปี 1700-1800 และในช่วงเวลาเดียวกันแฟรงก์เฟิร์ตเองก็ถูกรุมเร้าด้วยหลายเรื่อง เช่น ผลกระทบของสงคราม 30 ปีที่เกิดจากความขัดแย้งทางศาสนา และการเข้าควบคุมหนังสือของศาสนจักรและราชสำนักที่ส่งผลโดยตรงกับการจัดการและขายหนังสือโดยเฉพาะจากพ่อค้าต่างเมืองและต่างชาติ

ความน่าสนใจของความเฟื่องฟูของงานหนังสือค่อนข้างสัมพันธ์กับบริบททางวัฒนธรรมและการเมืองในยุคสมัย ไลป์ซิกขึ้นแท่นอยู่หลายร้อยปีจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สำคัญคือการแบ่งแยกเยอรมันในช่วงสงคราม เมืองไลป์ซิกอยู่ฝั่งเยอมันตะวันออกและกลายเป็นศูนย์กลางของเยอรมันฝ่ายตะวันออก ปกครองโดยสหภาพโซเวียต ในขณะที่แฟรงก์เฟิร์ตอยู่ฝั่งเยอรมันตะวันตก ตรงนี้เองที่ศูนย์กลางและความสำคัญของงานและกิจการเกี่ยวกับหนังสือจึงได้ย้ายกลับมาที่แฟรงก์เฟิร์ตอีกครั้งหนึ่ง

จากประวัติศาสตร์กว่า 500 ปี เราจึงกลับมาที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ตกันอีกครั้งในฐานะต้นกำเนิดและงานหนังสือที่ใหญ่ที่สุดของโลก ในปี 1949 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์เยอรมันก็ได้รวมตัวกันและฟื้นงานหนังสือแฟรงก์เฟิร์ตกลับมาได้อีกครั้ง งานหนังสือในครั้งนั้นจัดขึ้นที่โบสถ์เซนต์ปอล มีสำนักพิมพ์เข้าร่วม 205 แห่ง

สำหรับงานหนังสือแฟรงก์เฟิร์ตในปี 1949 ก็ยังคงนับเป็นต้นแบบของงานหนังสือ เป็นงานหนังสือเก่าแก่ที่จัดอย่างต่อเนื่อง หลายธรรมเนียมก็มาจากงานหนังสือที่แฟรงก์เฟิร์ตนี้ เช่น การออกแค็ตตาล็อกหนังสือออกใหม่ การมีตีม หรือการเชิญแขกคือกลุ่มหนังสือจากประเทศต่างๆ ปัจจุบันงานหนังสือแฟรงก์เฟิร์ตถือเป็นงานหนังสือที่ใหญ่ที่สุด มีผู้เข้าร่วมแสดงในงานกว่า 7,000 ราย ร่องรอยสำคัญหลายอย่างก็ยังคงสืบทอดมาเช่นการจัดงานในกลางเดือนตุลาคม ปัจจุบันจัด 5 วัน ในบางงานเช่นที่ไลป์ซิกจะจัด 2 รอบ คือช่วงมีนาคม เป็นช่วงวันอีสเตอร์ และในช่วงปลายเดือนกันยายน (งานจัดเดือนตุลาคม) เป็นวันฉลองนักบุญมิคาเอล (Michaelmas)

อ้างอิงข้อมูลจาก

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์

You Might Also Like