1149
July 11, 2023

Book Market

ตลาดหนังสือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอกาสของ Andrew Nurnberg Associates เอเจนซีหนังสือแปลจากอังกฤษ สาขาแรกในไทย

หนึ่งในข่าวคราวที่น่าสนใจของวงการหนังสือบ้านเราคือการที่ Andrew Nurnberg Associates เอเจนซีลิขสิทธิ์หนังสือแปลสัญชาติอังกฤษตัดสินใจเปิดตัวที่ประเทศไทย รวมถึงอีกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือเวียดนาม จากแต่เดิมที่มีสำนักงานทั่วโลกเพียง 9 แห่ง

คำถามที่น่าสนใจคือภูมิภาคอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแรงดึงดูดใดจึงทำให้เอเจนซีลิขสิทธิ์ระดับโลกมาปักหลักตั้งสำนักงาน

เมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา Nora Abu-Bakar บรรณาธิการ Penguin Random House ได้ตอบคำถามสัมภาษณ์ถึงการบริโภคหนังสือว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนังสือวรรณกรรมโดยเฉพาะแนวโรแมนติกและแฟนตาซี ได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มนักอ่าน

Abu-Bakar ยังกล่าวว่าโซเชียลมีเดียเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหนังสือโตขึ้น และยิ่งมีกระแสรีวิวหนังสือผ่านอินสตาแกรมและ BookTok (กลุ่มผู้รักหนังสือใน TikTok) ร้านหนังสือบางร้านถึงขั้นอุทิศมุมหนึ่งให้แก่หนังสือที่ได้รับการรีวิวจากทั้งสองแพลตฟอร์มใหญ่นี้  

นอกจากข้อมูลที่ว่า สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยยังกล่าวถึงตลาดหนังสือในไทยว่าจำนวนปกที่สำนักพิมพ์ไทยทั้งประเทศผลิตขึ้นมาในปี 2022 นั้นน้อยกว่าปี 2021 แต่มูลค่าตลาดกลับสูงกว่าปี 2021 ทั้งยอดขายหนังสือจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2023 นั้นยังทำยอดขายไปได้สูงถึง 350 กว่าล้านบาท ถือว่าตลาดหนังสือในไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น

จากหลายเหตุผลที่สะท้อนถึงศักยภาพของตลาดเป็นเหตุผลให้ Andrew Nurnberg Associates, Bangkok (ANA Bangkok) ตัดสินใจตั้งออฟฟิศหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 2 ประเทศ นั่นคือในไทยและเวียดนาม โดยสำนักงานในไทยจะดูแลตลาดหนังสือทั้งในประเทศอินโดนีเซีย และมองโกเลียด้วย

“เอเจนซีหนังสือทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาซื้อ-ขายลิขสิทธิ์หนังสือระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์หรือนักเขียนกับสำนักพิมพ์ เอเจนซีทำให้การซื้อ-ขายลิขสิทธิ์ระหว่างสองฝั่งเกิดได้ง่ายขึ้น สำนักพิมพ์ไม่ต้องกังวลกับรายละเอียดยิบย่อยก่อนที่จะได้ลิขสิทธิ์ในการผลิตหนังสือมา นอกจากนี้งานของนักเขียนในสังกัดของเอเจนซีแต่ละบริษัท ก็จะได้ถูกใจผู้อ่านมากขึ้น หากเอเจนซีเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของแต่ละสำนักพิมพ์เป็นอย่างดี”  วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร ผู้อํานวยการสํานักงาน ANA ประเทศไทยกล่าว

ปัจจุบันเอเจนซีลิขสิทธิ์หนังสือสัญชาติไทยมีเพียง 2-3 เจ้า ขณะที่เอเจนซีหนังสือวรรณกรรมสัญชาติอื่นซึ่งมีออฟฟิศหลักตั้งอยู่ที่ต่างประเทศอาจเสิร์ฟหนังสือได้ไม่ตรงความต้องการของหนอนหนังสือชาวไทย การตัดสินใจตั้งออฟฟิศในไทยของ ANA จึงทำให้วีระวัฒน์คาดว่า ANA จะเติบโตและเสิร์ฟความต้องการของผู้อ่านชาวไทยได้ดี

“สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของตลาดหนังสือในไทยคือหนังสือแนว self-help book นั้นกำลังมาแรง ส่วนในเวียดนามที่ ANA ก็เพิ่งเปิดสาขาเช่นกันนั้นมีประเด็นที่แตกต่าง คือในเวียดนาม ตลาด audio book โตมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน การซื้อ-ขายลิขสิทธิ์การแปลของเราและเวียดนามจึงแตกต่างกันไปด้วย

“ANA เป็นสำนักงานเอเจนซีลิขสิทธิ์หนังสือเจ้าใหญ่ที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก เราจึงมีนักเขียนที่มีฝีมืออยู่เยอะพอสมควร และมีหนังสือดีๆ หลายเล่มทีเดียวที่ยังไม่ถูกนำเสนอ ผมจึงอยากคัดสรรหนังสือในมือที่มีอยู่มานำเสนอให้ตรงกับความต้องการของสำนักพิมพ์ไทยมากที่สุด” 

ตลาดหนังสือแปลจึงเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าจับตามอง ไม่ใช่ในแง่ของการนำเอาหนังสือต่างประเทศมาแปลอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการส่งออกหนังสือคุณภาพดีของคนไทยไปสู่ประชากรโลกด้วย นอกจากนั้น ยังน่าสนใจว่าการตั้งออฟฟิศในไทยโดยตรงของ ANA จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้เอเจนซีได้มากแค่ไหน

อ้างอิง 

You Might Also Like