ฮาวทูไม่ทิ้ง
“คู่แข่งของเราคือถังขยะ” Flashfood และ Too Good to Go แอพฯ ต่อชีวิตให้อาหารก่อนถูกทิ้ง
หากเรานับเศษอาหารหรือขยะอาหารที่รวมกันทั้งโลกเป็นประเทศ มันจะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับสามของโลก รองจากอเมริกาและจีนเพียงเท่านั้น เพราะจากอาหารที่ปลูกและผลิตทั้งหมดทั่วโลกแล้ว จากรายงานของ World Wildlife Fund (WWF–องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล) ในปีที่แล้วบอกว่ากว่า 40% ของมันกลายเป็นเศษอาหารและขยะที่ไม่ได้ถูกกินหรือใช้งาน และเมื่อขยะอาหารเหล่านี้ไปกองอยู่ในหลุมฝังกลบ มันก็จะสร้างก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมหาศาล
เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่ช่วงหลังๆ เราเห็นบริษัทสตาร์ทอัพทางเทคโนโลยีต่างๆ ออกมาช่วยกันพยายามแก้ไขปัญหาตรงนี้กันเยอะขึ้น ตั้งแต่แอพฯ ที่ให้คนซื้ออาหารเหลือจากร้านในราคาที่ถูกลง หรือซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรที่ไม่สวยงามตามมาตรฐานของซูเปอร์มาร์เก็ตได้โดยตรงจากฟาร์ม แอพฯ เหล่านี้ได้รับความสนใจอย่างมากโดยเฉพาะกับกลุ่มที่เป็นลูกค้ายุคใหม่ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องสภาพแวดล้อมและตระหนักถึงผลกระทบของเศษอาหารที่เหลือ ไม่ใช่แค่ในอเมริกาหรือประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น ตอนนี้ในหลายๆ ประเทศ หรืออย่างบ้านเราเองก็มีเช่นเดียวกันอย่างเช่นแอพฯ ที่ชื่อ Yindii
ความสนใจนี้ถูกแชร์ลงบนแพลตฟอร์มออนไลน์อยู่บ่อยๆ ทั้งทาง TikTok หรือ Reddit ที่จะคอยพูดถึงวิธีการลดขยะอาหารหรือแชร์เรื่องราวที่พวกเขาสามารถกอบกู้ชีวิตของอาหารที่จะเหลือทิ้งจากร้านอาหารหรือซูเปอร์มาร์เก็ตให้กลับมามีประโยชน์อีกครั้ง
ลูซี่ แบสช์ (Lucie Basch) ผู้ร่วมก่อตั้ง Too Good to Go สาขาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสตาร์ทอัพจากประเทศเดนมาร์กที่ก่อตั้งในปี 2015 กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Guardian ว่า
“ไอเดียของแอพฯ ที่เป็นเทคโนโลยีของโลกดิจิทัลทุกวันนี้ คือการเชื่อมต่อถึงกันและกัน และนั่นคือโอกาสของคุณที่จะสร้างความแตกต่างได้อย่างมาก”
เมื่อดูตัวเลขของขยะอาหารที่ผลิตขึ้นมากลายเป็นขยะไป 40% เราอาจคิดว่าเหตุผลคือร้านอาหารทำมาแล้วขายไม่หมด แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุเดียวของขยะอาหารที่เกิดขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอันยิ่งใหญ่เท่านั้น เพราะมันเกิดขึ้นตั้งแต่หน้าฟาร์ม ตั้งแต่ผลิตมากเกินไปไม่มีผู้รับซื้อ ราคารับซื้อในตลาดต่ำเกินไปจนไม่คุ้มค่าแรงพนักงานในการเก็บเกี่ยวจึงปล่อยให้เน่าเสียไป ผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ไม่สวยงาม ไม่มีคนรับซื้อ การแพ็กของและสายการบรรจุที่ทำงานผิดพลาด การขนส่งที่ล่าช้าทำให้ของเน่าเสีย สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสาเหตุของความเสียหายตั้งแต่ยังไม่ถึงที่จุดจำหน่ายเลยด้วยซ้ำ
เมื่อไปถึงปลายทางสินค้า ขึ้นขายบนชั้นหรือกลายเป็นวัตถุดิบตามร้านอาหาร บ่อยครั้งที่ขายไม่ได้หรือขายไม่หมดสุดท้ายก็ต้องทิ้ง สำหรับส่วนของครัวเรือนบางครั้งไปซื้อของที่ตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตมาใส่ตู้เย็น ซื้อมาเกินความพอดี เยอะเกินไป กินไม่ทัน หมดอายุหรือเน่าเสียก่อนก็ต้องโยนทิ้ง สิ่งเหล่านี้ยิ่งซ้ำเติมปัญหาขยะอาหารมากขึ้นไปอีก
แอพฯ ต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาจะมอบโอกาสให้กับลูกค้าได้บอกกับร้านค้าหรือร้านอาหารว่าพวกเขาพร้อมจะซื้อสินค้าหรืออาหารที่ยังทานได้ นอกจากจะลดขยะอาหารแล้วยังสามารถประหยัดเงินค่าอาหารไปได้ด้วยในเวลาเดียวกัน
อย่างเช่นแอพฯ Flashfood ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2016 จากการที่น้องสาวของจอช โดมิงเกส (Josh Domingues) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ได้รับจัดงานเลี้ยงแห่งหนึ่งแล้วโทรมาบอกเขาว่าเธอต้องทิ้งอาหารมูลค่ากว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐเพราะคนกินเหลือ โดมิงเกสรู้สึกว่ามันเป็นปัญหาที่ใหญ่ไม่น้อยและเริ่มศึกษาจริงจังกับเรื่องนี้ ช่วงนั้นใต้คอนโดของโดมิงเกสมีซูเปอร์มาร์เก็ตพอดีและเขาก็เริ่มสงสัยว่าแต่ละอาทิตย์มีขยะอาหารที่ทิ้งไปเท่าไหร่กันนะ เขาจึงลองสังเกตและคำนวณดูก็พบว่าสูงถึงราวๆ 5,000-10,000 ดอลลาร์สหรัฐ
นี่คือเหตุผลและจุดเริ่มต้นของ Flashfood ที่เป็นแอพฯ ให้ลูกค้าสามารถกดเลือกซื้อของที่ใกล้วันหมดอายุ หรือถ้าบ้านเราก็คือสินค้าที่ติดป้ายแดงได้จากแอพฯ ในมือถือ และโดยส่วนใหญ่แล้วอาหารหรือสินค้าเหล่านี้จะราคาลดมากกว่า 50% โดมิงเกสอยากยกระดับประสบการณ์การซื้อสินค้าที่ลดราคาตามซูเปอร์มาร์เก็ตให้สะดวกขึ้น เพียงกดเปิดแอพฯ แล้วเลือกซื้อ จ่ายเงิน แล้วก็ไปรับที่ซูเปอร์ได้เลย ตอนนี้ Flashfood มีพาร์ตเนอร์มากกว่า 1,500 ร้านค้าและลดขยะอาหารไปแล้วกว่า 23 ล้านกิโลกรัม
จอช โดมิงเกส บอกว่า “สิ่งที่เราต้องการคือทำให้ลูกค้าสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยกระเป๋าเงินของตัวเอง และนั่นก็สร้างผลกระทบอย่างมากเลย เราช่วยลูกค้าประหยัดเงินไปแล้วหลายสิบล้านดอลลาร์จากการไปซื้อของ
“มันต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านเพื่อจะแก้ปัญหาตรงนี้ มันไม่มีทางที่คนเดียวจะทำได้ ต้องใช้การผสมผสานของคนที่มีความต้องการที่ดีมาร่วมมือกัน” ซึ่งแบสช์แห่ง Too Good to Go ก็บอกเหมือนกันว่า “คู่แข่งเดียวของเราคือถังขยะ”
ปัจจุบัน Too Good to Go ให้บริการใน 5 ประเทศและ 13 เมืองในยุโรปและอเมริกา โดยเริ่มต้นเปิดตัวที่ยุโรปในปี 2015 ก่อนขยายตลาดมาเรื่อยๆ จนเปิดในอเมริกาเมื่อปี 2020 ตอนนี้พวกเขามีบริการแล้วในเมืองอย่างออสติน,ชิคาโก้, ลอสเอนเจลิส, ซีแอตเทิล และฟิลาเดลเฟีย แบสช์บอกว่าโดยประมาณแล้วพวกเขาลดขยะอาหารนับเป็น 300,000 มื้อต่อวันเลยทีเดียว
ลูกค้าของ Too Good to Go สามารถเปิดแอพฯ ขึ้นมาแล้วค้นหาร้านอาหาร เบเกอรี่ และร้านซูเปอร์มาร์เก็ตในแอพฯ และซื้อถุง ‘Surprised Bags’ ที่ทางร้านจะเตรียมไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็นขนมปัง เบเกิล ผัดไทย หรือผักผลไม้สดที่ยังคุณภาพดี (แต่ตามกฎหมายระบุไว้ว่าต้องทิ้งเมื่อหมดวัน) ใส่ไว้ในนั้นให้ ราคาต่อถุงก็ประมาณ 3-5 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ของที่อยู่ในนั้นอย่างน้อยจะมีมูลค่ามากกว่า 3 เท่าของที่จ่ายไป เพราะฉะนั้นถือว่าเป็นดีลที่ดีมากๆ สำหรับลูกค้า
แม้จะยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่ก็เป็นการสร้างการรับรู้ให้กับลูกค้าว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นมีผลกระทบทางบวกกับโลกใบนี้ยังไง แบสช์กล่าวว่า “ทั้งสายการผลิตของอาหารนั้นล้วนสร้างขยะทั้งสิ้นและเราต้องช่วยกัน แต่สำหรับเรา เริ่มจากการทำให้ลูกค้าตระหนักก่อนโดยการใช้แอพฯ ง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถดาวน์โหลดและเริ่มใช้ได้เลยวันนี้ นี่คือโอกาสที่จะสร้างความแตกต่างของเราเอง”
แน่นอนยังมีแอพฯ อื่นๆ ที่มุ่งแก้ปัญหาที่ต้นน้ำอย่าง Misfits Market ที่ขายผลิตภัณฑ์ที่รูปร่างหน้าตาไม่สวย ซึ่งปกติแล้วซูเปอร์มาร์เก็ตจะไม่รับซื้อเพราะขายไม่ได้ พวกเขาก็เอามาขายออนไลน์ ส่งตรงจากชาวสวนชาวไร่ถึงหน้าบ้านแบบระบบสมาชิกที่ราคาจะถูกกว่าในซูเปอร์ประมาณ 30-50%
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ตัมมารา โซมา (Tammara Soma) ผู้ช่วยศาสตราจารย์และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของห้องปฏิบัติการระบบอาหารที่คณะการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ Simon Fraser University กล่าวว่าแอพฯ ต่างๆ เหล่านี้แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่พอ
“มันช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อและสื่อสารกันมากขึ้น แต่มันไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุของขยะและความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติที่ไม่มีประสิทธิภาพ
“มันเป็นเรื่องที่ยากมากเลยที่แอพฯ จะจัดการกับปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติที่ไม่ดี จริงอยู่ที่ว่าแอพฯ เหล่านี้สามารถช่วยลดและหลีกเลี่ยงการเป็นขยะในทางหนึ่ง อย่างเช่นฟาร์ม ร้านขายของ หรือร้านอาหาร แต่มันก็ไม่ชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วอาหารเหล่านี้จะถูกกินทั้งหมดรึเปล่าหรือมันก็ลงไปในถังขยะอยู่ดี”
โซมาอธิบายว่าเมื่อเราพูดถึงขยะอาหาร ต้องแยกออกเป็นสองส่วนคือ หนึ่ง ‘food loss’ ขยะที่เกิดขึ้นที่ต้นน้ำ ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงหน้าประตูบ้านและร้านขายของ และสอง ‘food waste’ ความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ปลายน้ำ จากร้านขายของไปยังร้านอาหาร และต้นทุนของขยะอาหารนั้นไม่ได้มีแค่อาหารเท่านั้น ต้องมองไปถึงแรงงาน เวลา การขนส่ง น้ำ ปุ๋ย ยา และอะไรอีกมากมายที่ทำให้อาหารเหล่านี้มาถึงมือของลูกค้าได้
นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมที่จริงแล้วปัญหาของขยะอาหารนั้นควรเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ เป็นการ ‘ป้องกัน’ ไม่ให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก เพื่อไม่ให้มีการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยสูญเปล่าในภายหลัง แต่การป้องกันเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย เพราะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบวงจรของอาหารทั้งหมดที่ต้องแก้ไขเรื่องของการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองและการผลิตที่มากจนเกินไป
โซมาบอกว่าตอนนี้มีแอพฯ อย่าง LiteFarm ที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ชาวสวนไร่สามารถติดตามผลผลิตและยอดขายของตัวเองก็กำลังเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น มันยังช่วยทำให้การวางแผนการจ้างงานและจัดการผลผลิตที่ขายไม่ได้และเป็นขยะได้ดีมากขึ้นด้วย
นอกจากแอพฯ ที่ช่วยชาวสวนชาวไร่จัดการผลผลิตและลดขยะอาหารที่ต้นเหตุอย่าง LiteFarm แล้ว โซมาก็บอกว่ามันจะเป็นเรื่องที่ดีมากหากมีแอพฯ ที่ช่วยเชื่อมผู้ผลิตในท้องถิ่นกับคนในท้องถิ่นโดยตรง ลดการขนส่งและวงจรทั้งหมดลง สร้างความสัมพันธ์ระหว่างอาหารที่เราทานทุกวันกับคนที่สร้างจะทำให้สังคมที่อยู่นั้นให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นด้วย
ปัญหาขยะอาหารคือปัญหาใหญ่ และมันไม่ใช่ปัญหาที่คนคนเดียว หรือแอพฯ เพียงไม่กี่แอพฯ จะทำได้ แม้ว่าจุดประสงค์หรือเป้าหมายของแอพฯ เหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่ดี แต่สุดท้ายมันก็ต้องอาศัยความร่วมมือ การตระหนักรู้ของทุกคน การปรับโครงสร้างของสังคม ตั้งแต่การผลิตและเข้าใจความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ตั้งแต่ทรัพยากรไปจนถึงขยะอาหารที่ถูกทิ้งลงถัง
ก็เหมือนอย่างที่โดมิงเกสบอกว่า ต้องใช้ทุกคนทั้งหมู่บ้านเพื่อแก้ปัญหานี้ด้วยกัน และถ้าทำได้โลกใบนี้ก็จะน่าดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่มากทีเดียว
อ้างอิง
- worldwildlife.org/stories/food-waste-warriors
- toogoodtogo.com/en-us/blog/losangeles
- litefarm.org
- flashfood.com
- theguardian.com/environment/2022/nov/19/food-waste-app-restaurant-too-good-to-go
- washingtonpost.com/dc-md-va/2022/09/17/apps-flashfood-inflation-food-waste
- forbes.com/sites/chloesorvino/2022/07/14/food-waste-costs-us-taxpayers-billions-of-dollars-a-year