คนที่ใช่

Floc แพลตฟอร์มแมตช์งานสร้างสรรค์ที่เชื่อว่าการหางานและฟรีแลนซ์ที่ใช่ไม่ต้องพึ่งคอนเนกชั่น

งานสนุกแต่เงินน้อย, ผลงานเด่นแต่ไร้คอนเนกชั่น 

เชื่อว่าเหล่าฟรีแลนซ์ โดยเฉพาะฟรีแลนซ์ในแวดวงสร้างสรรค์ต้องเคยเจอปัญหานี้มาบ้าง เพราะงานสร้างสรรค์นั้นวัดผลลัพธ์ยาก การจ้างงานส่วนใหญ่จึงมักมาจากความเชื่อใจ ราคากลางของวงการนี้ยังซับซ้อนเหมือนต้องงมเข็มกลางมหาสมุทร  

ในฟากฝั่งของผู้ว่าจ้างเองก็เจ็บหนัก การจะหาคนทำงานที่ตรงจริตและราคาโดนใจนั้นไม่ง่าย ส่วนใหญ่การจ้างงานจึงวนเวียนในแวดวงคนรู้จัก บ้างเป็นเพื่อนของเพื่อน บ้างเป็นรุ่นน้องมหาวิทยาลัย สุดท้ายคนที่เสียไม่ใช่แค่ฟรีแลนซ์ที่งานดีแต่คอนเนกชั่นไม่เด่น แต่งานในวงการสร้างสรรค์ของไทยก็อาจไม่มีอะไรแปลกใหม่ เพราะติดกับดักคอนเนกชั่นที่ฝังรากลึกในวงการนี้มานาน

เพราะปัญหาเหล่านี้ และอีกสารพัดเรื่องกวนใจที่ทั้งฟรีแลนซ์และผู้ว่าจ้างเจอแล้วจ๋อย ปัณดา ปุณโณทก จึงก่อตั้ง Floc (floc.is) แพลตฟอร์มแมตช์งานที่ช่วยให้ฟรีแลนซ์ทุกสายงานสร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างที่มาพร้อมโจทย์งานคุณภาพได้เจอกัน 

“Floc ไม่ใช่เพียงแพลตฟอร์มน้องใหม่ที่โฟกัสเเค่การแมตช์คนให้เกิดการจ้างงานที่เหมาะสม แต่ Floc ยังตั้งใจเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนวงการสร้างสรรค์ ผ่านการสร้างรูปแบบการทำงานที่มืออาชีพที่รักในอิสรภาพอย่างฟรีแลนซ์สามารถต่อยอดสายงาน และมีความมั่นคงร่วมกัน” ปัณดานิยาม

สิ่งที่น่าสนใจคือ Floc เป็นบริษัทในเครือของ ตาชำนิ หรือ Chamni’s eye บริษัทโปรดักชั่นที่ทำงานสร้างสรรค์ทุกรูปแบบมาอย่างยาวนาน ซึ่งจะว่าไปโมเดลธุรกิจย่อยแบบ Floc นี้ เป็นสิ่งที่ตาชำนิไม่เคยกระโดดลงมาทำ การก่อตั้ง Floc จึงเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่ท้าทาย แต่ปัณดาเชื่อมั่นว่าคงไม่ยากเกินความตั้งใจ เพียงอาศัยความเชื่อมั่น ความร่วมมือกันของทีม และความเชื่อใจว่า Floc ไม่ได้ผลักดันเพียงลำพัง เเต่มีทุกคนด้วย 

ท่ามกลางสงครามราคาอันดุเดือดและหยาดเหงื่อของฟรีแลนซ์ ปัณดาสร้าง Floc บนความท้าทายของสายงานนี้ยังไง ความตั้งใจของ Floc, ปัณดา และทีมงานคืออะไร In Good Company ตอนนี้มีคำตอบ

ท่ามกลางทางแยกมากมาย ทำไมโมเดลธุรกิจย่อยของตาชำนิถึงต้องเป็น Floc

เราใช้เวลาค้นหาอยู่หลายเดือนว่าจะทำอะไร เพราะมันเป็นคำถามที่ใหญ่มากสำหรับคนจะทำธุรกิจ เราตั้งแกนว่าสิ่งที่ทำมันไม่พ้นจากวงการสร้างสรรค์แน่ๆ จากนั้นจึงเริ่มทำความเข้าใจตลาดก่อนแล้วค่อยมาดู pain point ว่าคนทำงานในวงการเขาเจออะไร

เราสัมภาษณ์เกินร้อยคน ตั้งแต่เอเจนซี คนทำงานแต่ละสาย หรือคนในโปรดักชั่นเฮาส์ สุดท้ายจากไอเดียกว่า 100 ไอเดีย จนคัดเหลือ 5 และกลายมาเป็น Floc หรือ job matching platform ด้วยเทรนด์ที่ชัดมากๆ ว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้อยากเป็นพนักงานประจำ บริษัทไม่ได้อยากจ้างพนักงานเพื่อเพิ่ม fixed cost เราเองและคนรอบตัวก็รับฟรีแลนซ์มาเยอะและเห็นชัดมากว่าความเจ็บปวดที่ฟรีแลนซ์คนนึงเจอมันคืออะไรบ้าง 

เราเลยมุ่งหน้ามาแก้ปัญหาให้กับฟรีแลนซ์สายสร้างสรรค์กันดีกว่า

ใน 5 ไอเดียนั้น ทำไมถึงมองว่าสิ่งนี้น่าจะช่วยเติมเต็มชำนิได้ 

เรามองว่า Floc สามารถพาชำนิไปแตะในพื้นที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน ทั้งงานที่สเกลเล็กลงและงานต่างประเทศ อย่างที่สอง Floc ทำให้ชำนิและเครือชำนิอายที่จริงๆ มีธุรกิจอื่นๆ ในวงการสามารถสเกลเซอร์วิสตัวเองได้แบบที่ไม่ต้องรับพนักงานประจำเพิ่มตลอดเวลา 

อีกสิ่งสำคัญ เรามองว่า Floc เป็นหนึ่งในวิธีการดูแลคนที่เราทำงานด้วยอยู่แล้ว ทุกๆ กองโปรดักชั่นมี ฟรีแลนซ์เยอะมากๆ  ฟรีแลนซ์แต่ละคนก็อยู่กับชำนิมา 10-20 ปี เราเห็นปัญหาที่เขาเจอ และเราเองก็อยากให้เขาเป็นหนึ่งคนที่เติบโตไปกับบริษัทไปเรื่อยๆ  

pain point ที่คุณ ฟรีแลนซ์ของชำนิ และผู้บริหารชำนิอินคือ pain เรื่องไหนบ้าง

มันหลากหลายมิติมาก แต่อยากชวนมองจาก root cause แล้วค่อยๆ สะท้อนขึ้นมาถึงปัญหาที่คนเจอ

อย่างแรก ความสร้างสรรค์นั้นวัดผลยากและใช้เวลา สอง–วงการนี้ ไม่มีมาตรฐาน ทั้งราคา วิธีการทำงาน และ scope of work ที่ถ้าถาม 10 คน อาจจะตอบ 10 แบบ ขึ้นอยู่กับว่าเขาเล่นอยู่ในสนามไหนในวงการ  เมื่อความ subjective ของงาน มาเจอกับการไม่มีมาตรฐานที่เห็นพ้องต้องกันทุกคน ทำให้คุณค่าของเนื้องานนั้นเบลอขึ้นไป นึกภาพสายงานอื่นๆ ที่รู้เลยว่าจ่ายเท่านี้ ได้คุณภาพงานเท่านี้ แต่พอเป็นสายเราคุณภาพของเนื้องานจะวัดด้วยอะไร และหลายๆ ครั้งผลลัพธ์ของงานมันก็ไม่ได้วัดได้ทันที

มันเลยมาที่ ‘ความเชื่อใจ’ และความเชื่อใจก็แน่นอนว่ามักจะมาจากการรู้จักกัน มันเลยเกิด pain point หนึ่งคือ ถ้าคุณเป็นคนเก่งแต่ไม่ได้มีคอนเนกชั่นเยอะ การเติบโตในสายงานจะท้าทายกว่า แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเรียนจบคณะดังๆ ที่มีเพื่อนพี่น้องที่พร้อมอุ้มชูกันในสายงาน และไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นเด็กกิจกรรมที่คนโน้นคนนี้ในคณะจำชื่อได้ ซึ่งการที่คอนเนกชั่นน้อยมันไม่ได้แปลว่าเขาไม่เก่งเลย 

อย่างที่สาม–ถ้าเจาะเรื่องฟรีแลนซ์โดยเฉพาะ เรามองว่าฟรีแลนซ์ไม่มี support system หากเทียบกับพนักงานประจำที่เขามีชื่อตำแหน่งคอยบอกว่าคุณอยู่เลเวลไหน โตไปไหนต่อได้ มีหัวหน้างานคอยสอนงาน มีแผนก HR คอยดูแลเรื่องเอกสาร มีแผนก People คอยใส่ใจเรื่องจิตใจ ตัดภาพมาที่ฟรีแลนซ์ เขาต้องดูแลตัวเองหมดเลย ซึ่งมันไม่ง่ายเลยจริงๆ ที่ต้องบริหารทุกมิติของการทำงานด้วยตัวเอง

ในเมื่อมาตรฐานมันสร้างยาก ปัญหานี้ก็อยู่มานาน หนักใจไหมที่จะสร้างระบบขึ้นมา  

ต้องบอกว่า Floc ไม่ได้จะเข้ามาสร้างมาตรฐานให้วงการหรอก เราว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่มันเป็นการค่อยๆ แก้ไปทีละจุด ผ่านการที่เราเป็น creative job matching platform ที่หางานฟรีแลนซ์ดีๆ ในแวดวงสร้างสรรค์ให้กับฟรีแลนซ์หรือที่เราเรียกว่าทาเลนต์บนแพลตฟอร์มได้

เราพยายามทำให้ชิ้นเค้กที่คนกำลังแย่งกันหั่นมันใหญ่ขึ้นด้วยการฉายคุณค่าของงานในวงการสร้างสรรค์ให้คนที่อาจไม่ได้ทำงานในวงการนี้ได้เข้าใจ 

แล้วนิยามของงานที่ดีเป็นแบบไหน

งานที่ดีมันก็หลากหลายมิติเหมือนกัน ฉะนั้นงานบน Floc จะมีงานที่หน้าตาหลากหลายแบบสำหรับหลายสายงาน 

บางทีงานที่ดีมันคืองานที่แพสชั่นตรงกัน บางทีงานที่ดีมันคืองานที่ได้ทำงานกับคนเก่ง บางทีงานที่ดีมันคืองานที่ได้ราคาดี บางทีงานที่ดีมันคืองานที่ฉันได้แสดงตัวตนของฉันออกมาโดยไม่ต้องยึดบรีฟ 100% 

แล้วการแก้ไขไปทีละจุดของ Floc นั้นเป็นยังไง

อย่างแรก คุณภาพของฟรีแลนซ์บน Floc ต้องมืออาชีพ เราเลยมีการคัดกรองผ่านระบบ referral only ที่เขาต้องได้รับคำเชิญจากคนที่อยู่บนแพลตฟอร์มก่อน หรือกรอกข้อมูลสมัครเองและมี creative board คอยรีวิว และหากผ่านจะได้ referral code ที่เขาสามารถสร้างโปรไฟล์ที่สะท้อนผลงานตัวเองให้คนได้รู้ว่าเขามีจริตแบบนี้ ทำงานแบบนี้ แล้วเขาก็สมัครงานที่สนใจใน Floc ได้เช่นกัน

เราไม่ได้มีการคัดกรองผู้จ้างก็จริง แต่เราเข้าไปรีวิวงานที่เขาโพสต์อย่างสม่ำเสมอ ถ้ามีงานไหนที่เรียกค่าตอบแทนถูกเกินไป ไม่ใช่มาตรฐานของ Floc เราก็ไม่ให้อยู่บนแพลตฟอร์มเหมือนกัน  ตัวทาเลนต์ก็มั่นใจได้ระดับหนึ่งว่ามี Floc คอยตรวจเช็กให้นะ ส่วนตัวคนจ้างเอง ก็สบายใจว่าทุกคนมืออาชีพและมีประสบการณ์การทำงานจริง 

ถ้ากรณีที่เขาไม่อยากโพสต์งานเพราะมันยังเป็นความลับ เขาก็สามารถเลือกดูฟรีแลนซ์บน Floc แล้วติดต่อเองได้ นึกภาพคล้ายๆ ทินเดอร์ 

เราจะหาชนิดปลาที่เราต้องการในทะเลที่มันกว้างใหญ่มหาศาลได้ยังไง หาคนทำงานสร้างสรรค์ที่ตรงจริตจริงๆ ทั้งไทม์ไลน์ ทักษะ วิธีการพูดคุย ราคา จนกระทั่งเคมีที่เข้ากัน มันยากนะ แต่ Floc ทำสิ่งนั้นให้เขาได้

ในเมื่อแพลตฟอร์มหางานอื่นๆ ก็อาจทำหน้าที่คล้ายๆ กันได้ แล้วทำไมต้องเป็น Floc

ในมุมทาเลนต์ Floc เป็นที่ที่จะทำให้คุณได้เข้าถึงโอกาสงานดีๆ ทั้งหลายที่มีอยู่ทุกวันนี้ โดยที่ไม่ต้องรองานจากคอนเนกชั่น แต่เขาคว้าโอกาสงานได้ด้วยตัวเอง เรายังมีคอมมิวนิตี้ที่ให้คนมาแลกเปลี่ยนกัน มาแชร์ว่าทุกวันนี้เขาเจออะไร หรืออย่างที่ผ่านมาก็มีการจัดเวิร์กช็อปเรื่องภาษีให้กับคนทำงานฟรีแลนซ์​

ฝั่งคนจ้าง เราว่า Floc หาคนที่ใช่ที่สุดให้กับโปรเจกต์ของคุณได้ ที่ผ่านมาเขาอาจจะหาเองได้แต่กว่าจะเจอคนคนนั้น คุณต้องเข้าออกแอพฯ นั้นนี้ ส่องคนนี้เสร็จไปส่องอีกคน ติดต่อพูดคุยทีละคน คนไหนได้ คนไหนไม่ได้ คนนี้พอร์ตปลอม คนนี้สิแท้ ถ้าเขามาที่ Floc ทีเดียวแล้วโพสต์งาน 1 ที Floc ก็แนะนำทาเลนต์ให้ได้ทันที 5 คน มันประหยัดเวลากว่ามาก 

เราว่ากับคนจ้างงาน คำว่า ‘เวลา’ มันมีความหมายมาก แทนที่เขาจะเอาเวลา 4 ชั่วโมงมาเลือกหว่านหาคนจากกี่แสนคนก็ไม่รู้ เขาเอาเวลาไปทำอย่างอื่นแล้วให้ Floc ช่วยหาคนที่ใช่ตรงนี้ เราว่ามันน่าจะดีกว่านะ 

แล้วทำไมถึงเป็นแค่แพลตฟอร์มไม่ได้ แต่ต้องเป็นคอมมิวนิตี้ด้วย

เมื่อเราอยากทำให้ชิ้นเค้กของโอกาสงานสร้างสรรค์ที่ดีนี้ใหญ่ขึ้น ไม่ใช่เป็นที่ที่คนเข้ามาบี้ตัดราคาตัวเองเพียงเพื่อได้ชิ้นเค้กเล็กๆ นั้นไป  ถ้าเราเป็นแพลตฟอร์มเฉยๆ แต่สุดท้ายความเข้าใจที่ทั้งผู้จ้าง ทั้งคนทำงานมีต่องานสร้างสรรค์มันเท่าเดิม มันก็จะไม่มีอะไรต่างจากเดิม 

Floc จึงมีคอมมิวนิตี้ที่ให้คนสร้างสรรค์ได้มาแชร์ประสบการณ์ ต่อยอดความรู้ความเข้าใจ เพื่อผลักดันกันและกัน และวงการไปข้างหน้า

ความท้าทายของการทำสิ่งนี้คืออะไร 

เราต้องเข้าใจผู้คนและตลาดอย่างต่อเนื่อง เราต้องทำแคมเปญ ทำคอมมิวนิตี้ที่ลื่นไหลและปรับให้ทันเทรนด์ที่เปลี่ยนไปเร็ว แต่ก็ต้องไม่สูญเสียตัวตนของ Floc ไป เราต้องมีคนจ้าง มีทาเลนต์ แล้วก็ต้องมีงานอีก คำถามคือเราจะเอาซัพพลายมาก่อนหรือจะเอาดีมานด์มาก่อน เหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน 

ถามว่า ณ วันนี้เราเจอท่าที่เวิร์ก 100% หรือยัง ก็ยังไม่เจอ มันยังเป็นความท้าทายในทุกๆ วัน ที่จะหางานดีๆ เข้ามาบน Floc แต่ส่วนตัวคิดว่าการสื่อสารสำคัญมากๆ คือทั้งทาเลนต์และผู้ว่าจ้างก็ต้องรู้สึกเชื่อมโยงกับแบรนดิ้งและความตั้งใจของ Floc เหมือนกัน เราถึงจะหาท่านั้นเจอ

คิดว่าแบรนดิ้งที่เซตไว้มัน niche ไหม 

จริงๆ มันไม่ควร niche เลย การมาใช้ Floc ต้องเป็นอะไรที่เข้าถึงได้ง่ายในคนหมู่มาก เพราะเราอยากขับเคลื่อนวงการ แต่ถ้าขับเคลื่อนแบบ niche แรงกระเพื่อมมันก็จะต่ำ แต่ปัจจุบันนี้ Floc เองก็ยังไม่ได้ตะโกนออกไปไกลมาก ด้วยสเตจของธุรกิจที่เราวิ่งอยู่ เรียกได้ว่ามีพื้นที่ต้องวิ่งไปอีกเยอะมากๆ   

แล้วอะไรที่ทำให้ Floc แมสได้ 

หลักๆ น่าจะมี 3 คีย์เวิร์ดคือต้องรู้จัก ต้องเชื่อใจ และต้องไว้ใจ

ทั้งทาเลนต์และผู้จ้างต้องรู้จัก Floc ต้องเชื่อว่า Floc จะสามารถหาคนที่ใช่ หางานที่ดีให้เขาได้จริงๆ และต้องรู้สึกไว้ใจว่า Floc เกิดมาเพื่อเขา เพื่อช่วยผลักดันวงการไปข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ได้ มันก็มาจากเป้าหมายที่ชัดเจน การกระทำที่สม่ำเสมอ และการสื่อสารที่เฉียบคม

ในเชิงโมเดลธุรกิจ Floc จะสร้างรายได้หรือทำให้ชำนิแข็งแกร่งขึ้นได้ยังไง 

เร็วๆ นี้เราจะเริ่มคิดค่าบริการจากบริษัทที่มาหาฟรีแลนซ์ เพราะจากการสำรวจมากมาย มันชัดว่าคนให้คุณค่ากับการเจอคนที่ใช่เพราะคนที่ใช่มันโคตรตอบโจทย์ โคตรประหยัดเวลา แล้วคุณค่านี้แหละที่เราคิดว่า Floc สามารถคิดเงินได้แบบไม่เขินเลย  

นอกจากนี้ เราวางแผนทำบริการอื่นๆ ในอนาคตเพื่อแก้ปัญหาให้ฝั่งทาเลนต์ในวงการด้วย 

ในตลาดนี้ถือว่ามีคู่แข่งเยอะไหม  

เทียบกับแพลตฟอร์มหางานอื่นๆ จุดยืนและกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างต่างกัน ดังนั้นถ้าถามเป็นคำว่า ‘คู่แข่ง’ เราว่าไม่เยอะ แต่สิ่งเดียวที่เราแข่งอยู่ด้วยคือคอนเนกชั่นซึ่งไม่ง่าย

เคยคิดไหมว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นเรื่องหินและยาก

ยาก แต่ก็ไม่ยาก (หัวเราะ) จริงๆ มันไม่มีอะไรง่ายนะ แต่เราเป็นคนแบบนั้นที่ไม่มีอะไรยากแล้วก็ไม่มีอะไรง่าย มันคือการแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ เพราะมันมีเหตุผลเสมอว่าทำไมสิ่งที่เราทำอยู่ไม่เคยมีใครทำแล้วสำเร็จมาก่อน เราเชื่อว่านี่เป็นหนึ่งในไอเดียแรกๆ ของผู้คนมากมายที่เขาพยายามทำแต่ต้องล้มเลิกไป

ตัว Floc เองก็ต้องทำความเข้าใจว่าทำไมเขาถึงเฟล ทำไมเขาถึงหยุด แล้ว Floc จะเดินไปในเส้นทางไหนให้เราไม่เดินไปแล้วเจอกำแพงแบบที่คนอื่นเจอ อย่างล่าสุดแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ของต่างประเทศก็เพิ่งปิดตัวไป ซึ่งมันคือเคสที่ให้บทเรียนแก่เราว่าเขาปิดเพราะอะไร เราจะได้พยายามไม่เดินไป

ถ้าไม่ได้คิดว่าง่าย ไม่ได้คิดว่ายาก แล้วคุณทำ Floc ขึ้นด้วยความรู้สึกแบบไหน 

เราว่ามันคือ realistic hope มันมีโควตนึงของมิเชลล์ โอบามา ที่อ่านเจอเมื่อหลายปีมาแล้วคือ “Do we settle for the world as it is, or do we work for the world as it should be?” โควตนี้โคตร inspire เราเลย อ่านแล้วมีไฟที่จะทำเพื่อโลก แต่มันก็ยากอย่างที่เห็น (หัวเราะ) เพราะเบื้องหลัง Floc มันก็มีความเครียดและปัญหามากมายเกิดขึ้น 

แต่เราว่ามันคือสิ่งนั้น มันคือ hope นั้นที่เราหวังว่าสิ่งที่เป็นอยู่รอบตัวในวงการสร้างสรรค์มันดีกว่านี้ได้ ขณะเดียวกันมันก็ต้องเป็นความหวังที่เรียลลิสติก นั่นคือการหาคำตอบให้ได้ว่าเราจะทำให้มันดีกว่านี้ด้วยวิธีไหนได้บ้าง 



  • เพื่อนร่วมงานที่ดีมีความหมายกับชีวิตมาก ทั้งชีวิตของบริษัทและชีวิตส่วนตัว เราคือมนุษย์ปกติที่เก่งบางอย่าง พอทำได้บางอย่าง และอีกหลายอย่างมากๆ ที่ไม่รู้เลย แต่ Floc โชคดีที่มีแต่คนที่เก่งในสิ่งที่ตัวเองทำ ที่แคร์ในเรื่องเดียวกัน และที่สำคัญคือเป็นคนจิตใจดี มันทำให้เรื่องยากไม่ยากขนาดนั้นก็ได้


  • อย่าคิดว่าตัวเองรู้แล้ว เพราะว่าจริงๆ แล้วเราไม่มีวันรู้พอหรอก วงการครีเอทีฟเป็นวงการที่ซับซ้อนมากๆ มันมีวงการในวงการลงไปอีกเยอะ (หัวเราะ) เรามองว่า Floc และการทำ Floc คือการเดินทาง ที่ยิ่งได้ลงมือทำ ได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ Floc ก็จะแก้ปัญหาได้ถูกจุดยิ่งขึ้น 
  • Writer

    กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

    Photographer

    ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

    You Might Also Like