เกมนี้ที่รักษ์
ยูโร 2024 กับการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่กว่านัดชิงชนะเลิศ และประตูชัยของเกมไม่ใช่ประตูทองแต่เป็นประตูเขียว!
Date : 14 มิถุนายน 2024
Match : ซูเปอร์แมตช์ฟุตบอลยูโร 2024
นี่คือศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024 หรือ ‘ยูโร 2024’ มหกรรมลูกหนังที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก เป็นรองเพียงแค่ฟุตบอลโลกรายการเดียวเท่านั้น
ด้วยศักดิ์ศรีทำให้ทุกทีมที่ผ่านเข้ารอบมาต่างจัดทีมที่ดีที่สุดเพื่อลงสนาม นำโดยซูเปอร์สตาร์ลูกหนังอย่างคริสเตียโน โรนัลโด, คีลิยัน เอ็มบัปเป, จู๊ด เบลลิงแฮม, เวอร์จิล ฟาน ไดค์, เควิน เดอ บรอยน์ และอีกมากมายเต็มไปหมด
แต่ยูโร 2024 นี้ยังมีแมตช์พิเศษระดับโลกที่ยิ่งใหญ่อีกเกม ซึ่งคนที่ต้องลงสนามนั้นไม่ใช่นักเตะดาวดังคนไหนเลย แต่เป็นแฟนบอลทุกคนที่จะลงสนามไปช่วยโลกกันในเกมนี้
หยิบสตั๊ดแล้วลงสนามไปลุยด้วยกันเลยครับ!
0-1 (น.1) kick off! carbon footprint ยิงนำต้นเกม
ฟุตบอลยูโร 2024 ครั้งนี้จัดขึ้นที่ประเทศเยอรมนีครับ ถือเป็นการแข่งขันครั้งที่ 17 นับตั้งแต่เริ่มต้นการแข่งขันครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศสในปี 1960 หรือกว่า 64 ปีมาแล้ว
โดยทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันในปีนี้มีจำนวน 24 ทีมด้วยกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทีมระดับชั้นนำของวงการฟุตบอลยุโรปเลยทีเดียวครับ
ในทางเศรษฐกิจนั้นมีการประเมินกันว่าการแข่งขันระยะเวลา 1 เดือนเต็มนี้เจ้าภาพจะสามารถโกยรายได้ (commercial revenues) ได้มหาศาลถึงกว่า 2.4 พันล้านยูโร หรือ 96,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าฟุตบอลยูโร 2016 ที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพถึง 26% และคาดว่าจะทำกำไรได้ถึงเกือบ 2,000 ล้านยูโร หรือ 78,000 ล้านบาทซึ่งก็เป็นสถิติใหม่อีกเช่นกัน
ตัวเลขเหล่านี้มาจากหลายส่วนด้วยกันครับ เช่น ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ตั๋วเข้าชมการแข่งขัน สปอนเซอร์ การจำหน่ายสินค้าที่ระลึก รวมถึงส่วนที่มีความสำคัญมากๆ ต่อมหกรรมกีฬาแบบนี้คือรายได้ที่มาจากแฟนฟุตบอลที่เดินทางมาร่วมสนุกไปด้วยกัน
ยูโรหนนี้มีการจำหน่ายตั๋วเข้าชมทั้งหมด 2.7 ล้านใบสำหรับ 51 เกมที่จัดแข่งขันกันใน 10 เมืองของเยอรมนี
เท่านั้นไม่พอการท่องเที่ยวเยอรมนี (German National Tourist Board) ยังประเมินว่าจะมีแฟนฟุตบอลอีกร่วม 7 ล้านคนที่เดินทางมาร่วมมหกรรมลูกหนังครั้งนี้แม้จะไม่มีตั๋วเข้าชมการแข่งขัน เพราะมีการจัด Fanzone หรือตามผับและบาร์ให้ทุกคนได้เชียร์ฟุตบอลไปด้วยกัน
ถ้าใครได้ชมการถ่ายทอดสดหรือติดตามข่าวคงจะพอเห็นภาพของสีสันและบรรยากาศจากเหล่ากองเชียร์ของทั้ง 24 ชาติที่มาร่วมมหกรรมลูกหนังครั้งนี้ก็สดสวยสมเป็น ‘The Beautiful Game’ จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นสีส้มสดใสของ ‘Oranje’ กองเชียร์ทีมชาติเนเธอร์แลนด์อันขึ้นชื่อลือชา หรือเหล่า ‘Tartan Army’ กองทัพลูกหนังจากสกอตแลนด์ที่มาพร้อมกับเสียงปี่สกอตอันเป็นเอกลักษณ์ หรือกองกำลังสีแดงจากตุรกีที่ทรงพลัง
มันเป็นการย้ำเตือนที่ดีมากๆ ครับว่า ‘ฟุตบอลที่ไร้แฟนบอล’ ไม่มีความหมายอะไรเลย (Football without fans is nothing.)
แต่ปัญหาคือจำนวนคนมากมายมหาศาลขนาดนี้
วันนึงที่ทุกคนเดินทางกลับไป พวกเขาไม่ได้กลับไปตัวเปล่า
นอกจากความทรงจำแล้ว ยังมี carbon footprint หลงเหลือเอาไว้มากมายมหาศาลด้วย
และนั่นคือปัญหาใหญ่ของเกมนี้ พวกเราเสียประตูตั้งแต่นาทีแรกของเกมเลย
1-1 (น.44) ประตูนี้สีเขียว
สิ่งที่อาจจะทำให้หลายคนไม่เข้าใจคือ ฟุตบอลจะสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ยังไงเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษให้แก่โลกใบนี้
ความจริงแทบทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตามสามารถสร้าง carbon footprint ได้ทั้งนั้น ซึ่งเกมฟุตบอลก็ไม่แตกต่างกัน
ด้วยความที่เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีการประเมินว่าอุตสาหกรรมกีฬาฟุตบอลสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงกว่าปีละ 30 ล้านตัน หรือเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ คือจำนวนเทียบเท่ากับประเทศเดนมาร์กประเทศนึงเลยทีเดียว
ฟุตบอลจึงเป็นหนึ่งในเกมกีฬาที่ถูกจับตามองว่าจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก (climate change) ได้
ทางยูฟ่า (UEFA) ในฐานะเจ้าของรายการแข่งขันฟุตบอลยูโรเองก็ตระหนักในเรื่องนี้และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อม และเป็นหนึ่งในเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาชาติเจ้าภาพที่มีการเปิดให้ยื่นข้อเสนอกันในปี 2018
สุดท้ายเยอรมนีเป็นชาติที่ได้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพ เพราะในข้อเสนอนั้นมีเรื่องของสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก
นอกจากจะตั้งใจให้เป็นมหกรรมฟุตบอล ‘ขาวสะอาด’ ที่สุดในแง่ของเกมกีฬาแล้ว พวกเขาตั้งใจจะทำให้ยูโร 2024 เป็นมหกรรมฟุตบอลที่ ‘เขียวสะอาด’ ที่สุดในเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย โดยมีการบรรจุกลยุทธ์ ESG (environmental, social, and governance) หรือสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลอยู่ในแผนงาน ซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2023 เป็นเหมือนสัญญาประชาคม
ใน ESG มี 3 เสาหลักที่จะเชื่อมโยงกับการทำงานใน 11 ส่วน ซึ่งแยกออกเป็น 28 หัวข้อ, 48 เป้าหมาย และ 83 ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพ เรียกได้ว่าละเอียดยิบ
ยูฟ่าและเจ้าภาพเยอรมนียังได้ก่อตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมและจัดการแก้ปัญหา carbon footprint ที่เกิดในเกมลูกหนัง โดยกองทุนนี้มีสโลแกนเพราะๆ ว่า “United by Football – Together for Nature”
“เป็นหนึ่งเดียวด้วยฟุตบอล ร่วมกันเพื่อธรรมชาติ”
เป็นประตูตีเสมอที่สวยงามทีเดียว
ที่สำคัญประตูนี้สีเขียว (green goals) ด้วย
1-2 (น.47) ความมุ่งมั่นฉบับเยอรมัน
เสียงนกหวีดดังขึ้นอีกครั้งเป็นสัญญาณการเริ่มต้นเกมครึ่งหลัง และสถานการณ์ทำท่าเหมือนจะพลิกผัน
ความมุ่งมั่นฉบับเยอรมันของเจ้าภาพคือตัวแปรที่สำคัญ
ด้วยความเป็นชนชาติที่ชื่อว่าทำอะไรก็ต้องเป๊ะ ในการวางแผนเรื่องสิ่งแวดล้อมในยูโร 2024 จึงมีการศึกษามาเป็นอย่างดี และพบว่าสิ่งที่สร้าง carbon footprint เอาไว้มากที่สุดคือเรื่องของการเดินทาง เพราะไม่ใช่แค่ทีมฟุตบอลที่ต้องเดินทางไปทำการแข่งขันยังสนามต่างๆ แต่ยังมีหมู่มหาประชาชนลูกหนังอีกนับล้านที่จะเดินทางตามไปเชียร์ด้วย
เหมือนอย่างเช่นในเกมเปิดสนามระหว่างเยอรมนีกับสกอตแลนด์ มีแฟนบอล Tartan Army (สมญาของแฟนสกอตเขา) หลายแสนคนเดินทางมายังเมืองเบอร์ลิน ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายแค่สนามโอลิมปิกสตาดิโอน ที่ใช้เป็นสนามเปิดการแข่งขัน แต่ยังรวมถึงตาม Fanzone ที่ไว้รวมพลแฟนๆ มานั่งลุ้นด้วยกัน
อย่างที่บอกครับว่าทุกก้าวคือ carbon footprint ที่เหลือไว้ทั้งนั้น ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเยอรมนีได้มีการประเมินว่าจะมีปริมาณก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gases – GHGs) ที่เกิดขึ้นในช่วงของการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 (14 มิถุนายน – 14 กรกฎาคม) ถึง 490,000 ตัน
โดยกว่า 80% หรือกว่า 400,000 ตันจะเกิดขึ้นจากการเดินทาง
ตัวเลขนี้อาจจะฟังดูเยอะแต่เมื่อเทียบกับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่เรียกตัวเองว่าเป็นรายการฟุตบอล ‘ที่เป็นกลางทางคาร์บอน’ (carbon neutrality) แต่สร้างก๊าซเรือนกระจกถึง 3.6 ล้านแล้วก็ถือว่าน้อยลงเยอะมากแล้ว แต่ก็ยังต้องจัดการอยู่ดี
ด้วยเหตุนี้ทำให้เจ้าภาพเยอรมนีร่วมกับยูฟ่า วางแผนรับมือด้วยการรณรงค์ให้แฟนบอลเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการเดินทาง
สำหรับแฟนบอลที่ถือบัตรเข้าชมการแข่งขันแมตช์ใดก็ตาม จะสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะท้องถิ่นได้ฟรีเป็นเวลา 36 ชั่วโมง เช่น มีตั๋วนัดที่แข่งในเมืองเบอร์ลินก็เดินทางในเบอร์ลินได้ฟรี ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ, รถเมล์, รถราง รวมถึงยังสามารถซื้อตั๋วรถไฟเดินทางระหว่างเมือง (เผื่อไปเที่ยวเมืองอื่นๆ) ได้ในราคาแค่เที่ยวละ 29 ยูโร (1,100 บาท) ซึ่งถือว่าถูกมากสำหรับชาวยุโรป
ส่วนแฟนบอลที่ไม่มีบัตรก็ไม่ต้องน้อยใจไป เพราะจะได้รับส่วนลดค่าเดินทาง 25% โดยยูฟ่าเป็นผู้ที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้
โดยที่การรถไฟเยอรมัน (Deutsche Bahn) ร่วมอำนวยความสะดวกด้วยการเพิ่มที่นั่งบนขบวนรถไฟความเร็วสูงวันละ 10,000 ที่นั่งในวันที่มีการแข่งขัน
ขณะที่ทีมฟุตบอลที่เข้าร่วมนั้น มีการจัดโปรแกรมการแข่งขันในแต่ละวันแบ่งออกเป็น 3 ภูมิภาคคือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยแต่ละทีมจะลงเล่น 2 ครั้งในโซนนั้น ซึ่งจะช่วยลดเรื่องของการเดินทางระหว่างเมืองโดยไม่จำเป็นสำหรับทั้งทีมและแฟนบอล อีกทั้งแต่ละทีมยังได้รับการเชิญชวนให้เดินทางด้วยรถไฟหรือรถโค้ช แทนการเดินทางด้วยเครื่องบินด้วย
เรื่องนี้ทำได้เพราะระบบขนส่งสาธารณะของเยอรมนีครอบคลุมทั่วประเทศ และทางรถไฟเยอรมนีก็เชื่อมโยงกับแทบทุกชาติในยุโรป
การเดินทางที่เป็นหัวใจของการแก้ไขปัญหาจึงช่วยได้มาก
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายอย่างที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นการไม่สร้างสนามแข่งแห่งใหม่เลยแม้แต่แห่งเดียว, การจำกัดการใช้ไฟสนามไม่ให้มากเกินไป, จำกัดการใช้พลังงานในศูนย์สื่อมวลชน และการใช้พลังงานหมุนเวียนในสนาม
ใน Fanzone ยังมีการเปลี่ยนมาใช้แก้วเครื่องดื่ม (ก็เบียร์นั่นแหละ) แบบนำมาใช้ใหม่ได้ (ซึ่งมีการออกแบบให้น่ารักสวยงามเหมาะกับการเก็บเป็นที่ระลึกสุดๆ) ขณะที่อาหารที่มีการจำหน่ายซึ่งแข่งที่เยอรมนีจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากไส้กรอก Bratwurst ก็มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สิ้นเปลืองทรัพยากรที่นำมาใช้ผลิตแพ็กเกจน้อยที่สุด และยังมี Bratwurst แบบวีแกนเป็นทางเลือกด้วย
ทุ่มเทขนาดนี้ต้องได้ผลบ้างแล้วไหม!
2-2 (น.85) ลูกยิงลวงตา
ถึงแผนทุกอย่างจะออกแบบมาดีแค่ไหน แต่สิ่งที่ต้องทำใจคือมันอาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดทั้งหมด
เรื่องของการคำนวณค่าการปล่อยมลพิษที่แท้จริง (actual emissions) นั้นจะมีการคำนวณอีกครั้งเมื่อการแข่งขันจบลงโดยรัฐบาลของสหพันธ์รัฐต่างๆ ของเยอรมนีและยูฟ่าซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดเผยตัวเลขที่แท้จริงภายในสิ้นปี
อย่างไรก็ดีตัวเลขในโปรเจกต์ที่มีการคำนวณนั้นอิงจากรายการยูโร 2016 ที่ประเทศฝรั่งเศส (ไม่สามารถใช้ยูโร 2020 ได้เพราะกระจายการจัดการแข่งขันทั่วยุโรป ดังนั้นมี carbon footprint เต็มแผ่นดินแน่นอน) ซึ่งเป็นตัวเลขเก่าเมื่อ 8 ปีที่แล้ว การคำนวณอาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้ แม้จะคาดหวังว่าจะเคลื่อนไปในทางที่ดีที่อาจจะสร้างมลพิษได้น้อยกว่าครั้งนั้นมากเพราะมีมาตรการต่างๆ ที่จริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับยูฟ่าที่ผ่านมามีความพยายามในการพัฒนาเครื่องมือคำนวณค่า carbon footprint ของตัวเองด้วยวิธีการแบบของตัวเองโดยคำนวณจาก “Football-focused methodology” ซึ่งจะดูจากปริมาณน้ำที่ใช้, การจัดการขยะของเสีย และประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน รวมถึงเรื่องของการเดินทาง
เครื่องมือนี้จะถูกแจกจ่ายให้แก่สโมสรทุกแห่งในยุโรปเพื่อที่จะเป็นเข็มทิศนำทางสโมสรฟุตบอลแต่ละแห่งในเรื่องของการดูแลจัดการและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
ทั้งหมดนี้ฟังดูเหมือนจะดี แต่สิ่งที่ยูฟ่าทำคือการเพิ่มจำนวนแมตช์การแข่งขันในรายการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็รวมถึงฟุตบอลยูโรที่มีความคิดที่จะเพิ่มจำนวนทีมเป็น 32 ทีมในอนาคตแม้จะยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ก็ตาม
ไม่นับเครื่องหมายคำถามถึงสปอนเซอร์หลักของยูโร 2024 ที่บางบริษัทเผชิญคำครหาในเรื่องของสิ่งแวดล้อม
อาการปากว่าตาขยิบขององค์กรที่ความจริงมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลคือสิ่งที่นักสิ่งแวดล้อมกังวล เช่นเดียวกันกับสโมสรต่างๆ ไม่ว่าจะระดับยักษ์ใหญ่หรือยักษ์เล็ก
“เราต้องการวิสัยทัศน์ใหม่สำหรับเกมฟุตบอล ที่ทุกคนจะมีส่วนร่วมด้วยอย่างจริงจัง”
2-3 (90+3) ชัยชนะเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่
ถึงยูฟ่าจะดูน่าสงสัยในท่าทียังไง แต่งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม 32 ล้านยูโร (1,200 ล้านบาท) ถือว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นเรื่องของสิ่งแวดล้อมในเกมลูกหนังได้ไม่น้อย
เฉพาะในยูโร 2024 ยูฟ่าจะจ่ายเงิน 25 ล้านยูโร (980 ล้านบาท) ให้กองทุนสิ่งแวดล้อม (climate Fund) สำหรับการปล่อยมลพิษที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่เกิดขึ้นระหว่างจัดการแข่งขันปริมาณ 1 ล้านตัน และมีการประเมินว่าเงินสนับสนุนจะเริ่มที่ 7 ล้านยูโร (270 ล้านบาท) ขึ้นอยู่กับแผนการป้องกันการปล่อยมลพิษในช่วงก่อนเริ่มการแข่งขัน
แต่สิ่งที่ดีจริงๆ คือการเปิดโอกาสให้สโมสรท้องถิ่นที่เป็นสโมสรระดับสมัครเล่นในเยอรมนีได้เข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย โดยสโมสรสามารถเขียนโครงการเพื่อของบสนับสนุนได้เลยที่ 25,000 ยูโร หรือขอได้สูงสุดถึง 250,000 ยูโร
เงินจำนวนนี้จะถูกนำไปปรับปรุงเรื่องของการจัดการพลังงาน, การจัดการน้ำ, การจัดการขยะ ไปจนถึงการเดินทางอย่างชาญฉลาดขึ้น (อาทิ รถบัสพลังงานไฟฟ้า) หรือแล้วแต่ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ที่จะเสนอ ขอเพียงแค่ช่วยรับผิดชอบและดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
เรียกว่าในฟุตบอลเยอรมันจะเขียวตั้งแต่ระดับ ‘ฟุตบอลรากหญ้า’ (Grassroots–ฟุตบอลระดับท้องถิ่นในระดับเยาวชน) เลยทีเดียว โดยสมาคมฟุตบอลเยอรมัน (DFB) ให้คำมั่นว่าจะทำให้ฟุตบอลในประเทศเป็น ‘Energiewende’ หรือ ‘จุดเปลี่ยนพลังงาน’ ที่จะทำให้ลีกฟุตบอลในประเทศเป็นลีกที่เขียวสะอาดที่สุดในโลก และจะเป็นต้นแบบให้ลีกประเทศอื่นเดินตามในอนาคตด้วย
เป็นการยิงประตูในระดับตำบล แต่ส่งผลถึงระดับโลก (Local goals, global impacts)
แต่สิ่งที่เป็นความหวังจริงๆ ไม่ได้อยู่แค่เรื่องสโมสรหรือองค์กร แต่เป็นแฟนฟุตบอลทุกคนที่ได้รับรู้ และเรียนรู้เรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างง่ายๆ เพียงแค่เปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่คุ้นชิน เริ่มตั้งแต่การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ, การคืนแก้วเบียร์ ไปจนถึงสิ่งละอันพันละน้อยต่างๆ
มันอาจเป็นชัยชนะเล็กๆ ระหว่างเกม เหมือนการตัดบอลได้หน้าประตูตัวเอง
แต่รู้ไหมว่าชัยชนะในจังหวะเล็กๆ แบบนี้แหละที่นำไปสู่การโต้กลับ การช่วยกันเล่นสอดประสาน และการจบสกอร์เป็นประตูชัยในท้ายที่สุดสำหรับทุกคนได้
นี่คือแมตช์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยูโร 2024
ด้วยความหวังว่าชัยชนะที่ยิ่งใหญ่นี้จะเป็นของเราทุกคน
อ้างอิง
- uefa.com/news-media/news/0283-188326de8f76-4c9b33544372-1000–uefa-euro-2024-aims-to-set-benchmark-with-environmental-
- abmagazine.accaglobal.com/global/articles/2024/jun/business/green-goals-at-the-euros.html
- forbes.com/sites/vitascarosella/2023/10/24/uefa-euro-2024-aims-to-be-the-most-sustainable-football-tournament
- carboncredits.com/uefas-green-goals-7-6m-climate-fund-for-euro-2024-carbon-footprint
- linkedin.com/pulse/euro-2024-vs-sustainability-katrin-zeiler-w82wc
- medium.com/@eddie.hc.tsui/uefa-euro-2024-a-new-era-of-sustainability-in-sports-1fec9dc59079
- cleanenergywire.org/news/euro-2024-most-sustainable-football-championship-all-time
Match facts
- ยูฟ่าประกาศเมื่อปี 2020 ว่ามีความตั้งใจที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร กิจกรรม และการจัดแข่งฟุตบอลภายในยุโรปให้ได้ 50% ภายในปี 2030 และเป้าหมายสูงสุดคือ Net zero ให้ได้ภายในปี 2040
- ในการแข่งขันยูโร 2020 ทีมที่ปล่อยมลพิษมากที่สุดคือสวิตเซอร์แลนด์จากการเดินทางถึง 20,000 กิโลเมตร