Sustainable Fashion
แผนรวมคนตัวเล็กในวงการแฟชั่นยั่งยืนของ SC Grand เพราะแฟชั่นที่แฟร์จริงๆ ต้องมีที่ยืน
ไกลตัวจัง อาจเป็นความรู้สึกของเราตอนได้ยินคำว่า ‘แฟชั่นเพื่อความยั่งยืน’ เป็นครั้งแรก จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้คำคำนี้ค่อยๆ กระเถิบเข้ามาใกล้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเราโดยไม่รู้ตัว
ภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องใหม่ เช่นเดียวกับ sustainable fashion ที่ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ที่ผ่านมาแล้วผ่านไป แต่คือสิ่งที่เราเห็นผลกระทบของมันชัดเจน หลายคนอาจจะเคยเห็นสถิติของ UN ที่บอกว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นสร้างก๊าซเรือนกระจกมากถึง 706,000 ล้านกิโลกรัมต่อปี (คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณก๊าซทั้งหมด) หรือข้อมูลที่บอกว่าการผลิตเสื้อยืดด้วยผ้าฝ้ายแค่ตัวเดียวต้องใช้น้ำมากกว่า 2,000 ลิตร เพียงพอให้คนหนึ่งคนอาบน้ำได้ 2 ปีครึ่ง!
ได้ยินแล้วไม่กล้าซื้อเสื้อผ้าใหม่ไปเป็นปี
สถิติเหล่านี้ทำให้คนในอุตสาหกรรมแฟชั่นต่างหนาวๆ ร้อนๆ เพราะต้องปรับตัวกันยกใหญ่ (แน่สิ) นี่คือเหตุผลที่ ISSUE ซีรีส์บทความซึ่งเล่าเรื่องเทรนด์ธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ตามแบบฉบับของ Capital สนใจในอุตสาหกรรมแฟชั่น ด้วยความสงสัยว่ายุคที่เราได้ยินคำว่ายั่งยืนกันจนเฝือ อนาคตของคำคำนี้ในวงการแฟชั่นจะเป็นไปในทิศทางไหน
เรานัดกับตัวจริงของวงการสิ่งทอเพื่อความยั่งยืน วัธ–จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด หรือ SC GRAND ทายาทรุ่นสามของโรงงานปั่นด้ายซึ่งเชี่ยวชาญการรีไซเคิลขยะแฟชั่นให้กลับมาเป็นผ้าใหม่ และเจ้าของแบรนด์ Circular ที่จริงจังกับการดีไซน์เสื้อผ้าพอๆ กับการดูแลสิ่งแวดล้อม
เทรนด์แฟชั่นเพื่อความยั่งยืนเปลี่ยนโลกของแฟชั่นไปมากน้อยแค่ไหน จิรโรจน์รอเราอยู่พร้อมคำตอบ
RE-CAP
อุตสาหกรรมแฟชั่นยั่งยืนในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ถ้าให้เปรียบว่า SC Grand คือใครในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมแฟชั่น ธุรกิจที่จิรโรจน์ได้เข้ามารับช่วงต่อนี้น่าจะเป็นทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ พวกเขารับเอาของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น ทั้งเศษผ้า เศษด้าย เศษฝ้าย ที่ไม่มีใครเหลียวแลมารีไซเคิลใหม่ ผ่านกระบวนการคัดแยกสี แปรสภาพเป็นผ้าใหม่ เพื่อนำไปผลิตเป็นเครื่องแต่งกาย เคหะสิ่งทอ (home textile) และสินค้ารีไซเคิลอื่นๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร
ในสายตาของคนในวงการอย่างจิรโรจน์ เขามองว่าในปีที่ผ่านมา สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เป็นหนึ่งในพอยต์สำคัญที่ทำให้หลายคนตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาจเพราะผลกระทบของโรคระบาดที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตของเรานั้นมองเห็นได้ชัดเหลือเกิน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมแฟชั่นซึ่งได้รับผลกระทบไม่น้อย
- 2021 เป็นอีกปีที่ผู้บริโภคตระหนักถึงชุดที่สวมใส่มากขึ้น เมื่อไหร่ที่อยากจะ cf เสื้อผ้าใหม่ นอกจากจะต้องมั่นใจว่าชุดที่จะซื้อเป็นตัวที่อยากได้จริงๆ ก็ต้องเมคชัวร์ด้วยว่ามันจะใส่ได้นานและใส่ซ้ำได้หลายๆ ครั้ง
- คนดังมีส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันเทรนด์แฟชั่นเพื่อความยั่งยืน ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้ภาพลักษณ์จากการสวมใส่ด้วยเช่นกัน อย่างนักการเมืองบางรัฐในสหรัฐอเมริกานั้นเลือกใส่เสื้อผ้าแบรนด์ Patagonia เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- แน่นอนว่าโจทย์นี้ส่งผลถึงคนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ หลายแบรนด์ธุรกิจเสื้อผ้าทั้งในไทยและต่างประเทศมีการปรับตัวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บ้างมีวัสดุรีไซเคิลและอัพไซเคิลมาเป็นส่วนผสมของเสื้อผ้า (แม้จะไม่กี่เปอร์เซ็นต์ก็ยังดี) บ้างปรับกระบวนการฟอกย้อมให้ไม่ใช้น้ำสะอาดเลย บ้างมีการจัดการของเสียจากการฟอกย้อมเสื้อผ้าก่อนปล่อยลงทะเล
- บางแบรนด์เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำอย่างการปลูกฝ้าย โดยลงทุนปลูกฝ้ายในแล็บทดลองซึ่งลดการใช้พื้นที่ น้ำสะอาด และทรัพยากรธรรมชาติได้มากกว่า มีการใช้น้ำฝนในการรดน้ำต้นฝ้าย บางแบรนด์ก็มีการจับมือกับคนในชุมชนเพื่อขอซื้อผ้าท้องถิ่นแล้วนำไปดีไซน์ให้เตะตาคนรุ่นใหม่ และบางแบรนด์ก็หยิบผ้าเหลือใช้จากคอลเลกชั่นที่แล้ว (หรือกระทั่งหยิบคอลเลกชั่นที่แล้ว) มาดีไซน์ใหม่เลย
- หรืออย่างแบรนด์ที่เน้นการรีไซเคิลของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมสิ่งทออย่าง SC Grand ของจิรโรจน์ ก็ได้รับการติดต่อเจรจาจากคู่ค้าและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตเส้นด้ายที่นำไปสร้างสรรค์เป็นยูนิฟอร์มที่ใส่สวยและยั่งยืนอีกที
- นอกจากแบรนด์ธุรกิจที่ดีไซน์เสื้อผ้าและมีกำไรจากการขาย ปีที่แล้วและหลายปีก่อนหน้า ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อซัพพอร์ตแฟชั่นเพื่อความยั่งยืนในทางอื่นที่ถนัด อย่าง Moreloop แบรนด์ตัวกลางที่รวบรวมและคัดสรรผ้าค้างสต็อก (deadstock) และผ้าที่ผลิตมาเกิน (surplus fabric) จากหลายโรงงานมาจำหน่ายแก่ผู้ผลิตรายย่อยเพื่อลดการผลิตผ้าใหม่, Reviv บริการเย็บซ่อมเสื้อผ้าเก่าขาดให้กลับมาใช้ได้เหมือนใหม่ หรือจะปรับแต่งเสื้อผ้าให้เก๋ไก๋ตามใจผู้ใส่ก็ได้เหมือนกัน หรือ Loopers แพลตฟอร์มส่งต่อเสื้อผ้ามือสองที่ผู้ซื้อและผู้ขายทำได้ง่ายๆ ผ่านแอพฯ
- ในอุตสาหกรรมสิ่งทอยังมีคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมารวมกลุ่มกันผลักดันเรื่องแฟชั่นเพื่อความยั่งยืนอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทั้งการเป็นกระบอกเสียงที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคอย่างเราตั้งคำถามกับเสื้อผ้าที่เราใส่อยู่ทุกวัน อาทิ Fashion Revolution ผู้ริเริ่มแฮชแท็กดังในโลกออนไลน์ #WhoMadeMyClothes ที่ชวนชาวเน็ตใส่ชุดกลับด้านแล้วถ่ายรูปลงโซเชียลฯ เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของแบรนด์ออกมาตอบคำถามถึงเบื้องหลังแรงงานว่ามีจริยธรรมหรือกำลังกดขี่ใครอยู่หรือเปล่า
PLANNER
วงการแฟชั่นเพื่อความยั่งยืนในปี 2022
“จริงๆ แบรนด์ของเราไม่ได้ใหญ่ขนาดจะสามารถกำหนดได้ว่าจะไปทางซ้ายหรือขวา แต่อยากแชร์ในมุมของคนตัวเล็กๆ ในอุตสาหกรรมแฟชั่นแล้วกัน” จิรโรจน์ถ่อมตัว เมื่อเราลองให้เขาเดาเทรนด์ของแวดวงแฟชั่นเพื่อความยั่งยืนปี 2022
สนุก คือคำจำกัดความสั้นๆ จากปากเขา
สนุกเลือก
แน่นอนว่าการซื้อเสื้อผ้าใหม่แบบถี่ๆ คือข้อห้ามสำคัญของสายกรีน แต่จิรโรจน์ก็มองว่านี่คือปีที่หลายคนจะได้เลือกช้อป (หรือเลือก swap เสื้อผ้า) สนุกขึ้นแน่ๆ เพราะสังเกตได้จากหลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีโรคระบาด แต่ก็มีร้านเสื้อผ้าเพื่อความยั่งยืนโดยเฉพาะเกิดขึ้นมากมาย ปีนี้อาจจะมีร้านใหม่ๆ ทั้งมือหนึ่งและมือสองมาตั้งแผงแข่งกันบนโซเชียลกันสนุกสนาน ความดีงามคือเราจะได้เห็นเสื้อผ้าเพื่อความยั่งยืนที่หลากหลายทั้งสไตล์และราคา ผู้บริโภคสายกรีนจะไม่ต้องเป็นท้อกับเสื้อผ้ารักษ์โลกรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไป
มากกว่านั้น เราอาจได้เห็นธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ได้เน้นขายแต่ซัพพอร์ตความยั่งยืนเหมือนกัน อย่างแบรนด์ซ่อมเสื้อผ้าที่รณรงค์ให้คนนำเสื้อผ้าเก่ามาดีไซน์ใหม่เพื่อลดการซื้อ หรือแบรนด์จำหน่ายวัตถุดิบรักษ์โลก อาทิ surplus fabric ที่มีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้น
สนุกสร้างสรรค์
นอกจากกิจกรรม swap แลกเสื้อผ้ากันที่ผู้บริโภคจัดกันเอง แบรนด์เสื้อผ้าหลายๆ แบรนด์ก็อาจหันมาทำกิจกรรมเพื่อซัพพอร์ตความยั่งยืนได้ด้วยเหมือนกัน อย่าง SC Grand เองก็มีกิจกรรม Circular T-Shirt Club ที่เปิดให้ลูกค้านำเสื้อยืดตัวเก่ามาแลกส่วนลด 100 บาทเพื่อซื้อเสื้อใหม่ของ Circular
นอกจากนี้ เราอาจได้เห็นการ collaboration ที่หยิบจับวัตถุดิบเพื่อความยั่งยืนไปทำอะไรสนุกๆ กับสิ่งอื่นนอกจากเสื้อผ้า อาทิ การนำผ้าเก่าหรือผ้าทอในชุมชนไปทำเฟอร์นิเจอร์ที่ดูสวยแปลกตา แต่ในขณะเดียวกันก็ได้สนับสนุนคนในชุมชน ดังเช่นที่ไม่นานมานี้ SC GRAND ก็ไปจับมือกับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ YOTHAKA ให้ ‘สุวรรณ คงขุนเทียน’ เจ้าของแบรนด์ออกแบบ home textile หรือสิ่งทอสำหรับเครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้านออกมาเป็นคอลเลกชั่นสุดเก๋
สนุกส่อง
พ้นไปจากการแข่งขันทางอ้อมกับกิจกรรมเช่า แลก ยืมของผู้บริโภคที่ทำให้อัตราการซื้อน้อยลง แบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ ยังต้องแข่งกับตัวเอง ด้วยตัวเลือกของร้านค้าที่หลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน การซื้อเสื้อผ้าเพื่อความยั่งยืนคือส่วนหนึ่งในเทรนด์ guilt-free living หรือการใช้ชีวิตอย่างปราศจากความรู้สึกผิด (หรือรู้สึกผิดน้อยที่สุด) ทำให้ผู้บริโภคจริงจังกับการสอดส่องดูรายละเอียดว่าผ่านกระบวนการ sustain จริงไหม สนับสนุนการกดขี่แรงงานที่ไม่เป็นธรรมหรือเปล่า ก่อนจะตัดสินใจซื้อเสื้อผ้าสักตัว
ผลกระทบต่อผู้คนในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ
ในแวดวงแฟชั่น จะมีคนกระโดดเข้ามาทำสินค้าเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น และเพราะการถูกจับจ้องจากผู้บริโภคมากขึ้น แบรนด์ต่างๆ ต้องตั้งใจปรับตัวที่ทำให้เกิดความยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ
“แต่ไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่ต้องปรับตัวเหมือนกันหมด ควรปรับตัวจากจุดแข็งที่แตกต่างกัน บางคนเลือกใช้เทคโนโลยีฟอกย้อมแบบไม่ใช้น้ำ บางทีลงทุนกับเทคโนโลยีที่ลดมลพิษในทะเล หรืออย่าง SC GRAND เลือกรีไซเคิลของเสียหรือขยะแฟชั่น”
จิรโรจน์เน้นย้ำว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนคือความโปร่งใส ให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ มีการวัดอิมแพกต์ต่อสิ่งแวดล้อมที่เห็นผล รับรองโดยสถาบันที่มีมาตรฐาน อย่างแบรนด์ SC GRAND และ CIRCULAR เองก็มีการทำงานร่วมกับองค์กรนักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมในแคนาดา ที่ช่วยวัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (impact measurement) ซึ่งเป็นองค์กรที่แบรนด์แฟชั่นเพื่อความยั่งยืนระดับโลกเลือกใช้ ความโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูลที่เชื่อถือได้นี่แหละที่จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจสนับสนุนได้ง่ายขึ้น
“ตรวจสอบ carbon credit ได้, เป็นพลังงานหมุนเวียนจริงไหม, รีไซเคิลจริงไหม, sustain จริงไหม ต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้”
ส่วนด้านผู้บริโภคที่มีตัวเลือกในมือมากมาย การตรวจสอบและตั้งคำถามอาจเป็นสิ่งที่จำเป็น เมื่ออยากสอยเสื้อผ้าใหม่สักตัว อาจกลับไปนอนคิดสักคืนว่าอยากซื้อจริงไหม ลองแกล้งๆ เช็กในเว็บ goodonyou.eco ที่ให้คะแนนแบรนด์แฟชั่นต่างๆ ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า ตรวจสอบให้แน่ใจว่าแบรนด์ที่สนับสนุนไม่ได้ทำการย้อมเขียวหรือ greenwashing เราก่อนจะกดซื้อก็ไม่สาย
“สุดท้ายแล้วถ้าคุณมีความตั้งใจที่ดี คุณไม่จำเป็นต้องซื้อแบรนด์แพง แบรนด์ sustain เท่านั้น แต่อาจจะเลือกซื้อเพราะชอบจริงๆ และคิดว่าอาจจะใส่ตัวนี้ได้นาน หรือถ้าจะทิ้งตัวไหน ไม่ใส่แล้ว ก็อาจจะดูว่าสามารถเอาไปขายมือสองได้ไหม ซ่อมก่อนได้ไหม สุดท้ายถ้าไม่ใส่จริงๆ เดี๋ยวผมรีไซเคิลให้” จิรโรจน์ยิ้ม
3 สิ่งสำคัญที่จะทำให้อยู่ในวงการ sustainable fashion ได้อย่างยั่งยืน
1. มีเจตนาที่ดี
“ไม่ว่าคุณจะเป็นตัวเล็กหรือตัวใหญ่ในวงการ เจตนาที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น ผู้นำ และพนักงานในองค์กรล้วนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะทำให้ความยั่งยืนเกิดขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ”
2. จริงใจกับลูกค้า
“ไม่ทำ greenwashing ลงทุนกับสิ่งที่สร้างอิมแพกต์ให้กับโลกให้น้อยที่สุด และเผยแพร่ให้ลูกค้าได้เชื่อมั่นว่าเราไม่ได้นั่งเทียนทำขึ้นมา มีข้อมูลทุกอย่างที่สามารถพิสูจน์ได้”
3. ชัดเจนในคุณค่าของแบรนด์
“แบรนด์ต้องมี value ที่ชัดเจนว่าคุณกำลังส่งมอบอะไรให้ลูกค้า อะไรที่ represent แบรนด์ของคุณ อย่าง Circular ของเราเองซึ่งทำเสื้อผ้าจากเส้นด้ายรีไซเคิล ถ้ามองดีๆ จะเห็นด้ายหลายๆ สีมาผสมกัน เวลาที่คนคิดถึงเสื้อยืดที่เนื้อผ้ามีสีไม่เท่ากัน เราอยากให้คิดถึง Circular นั่นคือสิ่งที่เราอยากสื่อสาร ที่สำคัญคือแบรนด์ต้องมีการปรับตัวและพัฒนาตามจุดแข็งของแต่ละแบรนด์เสมอ”
อ้างอิง
นิตยสาร a day ฉบับ World-Life Balance ประจำเดือนมกราคม 2563
นิตยสาร GM
adaymagazine.com/moreloop-circular-economy