Talk About Creative Talk
ความเชื่อที่ทำให้ Creative Talk เติบโตมากว่า 10 ปีจนกลายเป็นคอมมิวนิตี้ที่รวมคนสร้างสรรค์นับพัน
นับเป็นปีที่ 10 พอดิบพอดีที่ Creative Talk Conference ได้จัดงานที่รวบรวมผู้คนจากหลากหลายวงการมาพูดคุยเรื่องธุรกิจและความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา
และด้วยเป็นปีแรกที่ Creative Talk ใช้หน่วยทศวรรษในการนับอายุของงาน Capital จึงถือโอกาสชวนสองผู้จัดอย่าง เก่ง–สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม ผู้ก่อตั้งบริษัท RGB72 ซึ่งเป็นผู้จัดงาน และ โจ้–ฉวีวรรณ คงโชคสมัย Managing Director บริษัท RGB72 มาพูดคุยกันว่านอกจากความคิดสร้างสรรค์ อะไรคือความเชื่อ วิธีคิด รวมไปถึงวิธีการที่ทำให้ทั้งสองสามารถนำพาให้ Creative Talk เดินทางมาได้อย่างยาวนาน ทั้งในแต่ละครั้งก็ยังพ่วงมาด้วยจำนวนผู้ร่วมเดินทาง–ในทีนี้หมายถึงจำนวนคนที่ซื้อบัตรเข้ามาในงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี
จากปีแรกที่มีผู้เข้าร่วม 70 คน กลายเป็นหลักร้อยคน ขยับมาเป็นหลักพันคน และเป็นครึ่งหมื่นคนในได้ในที่สุด จนวันนี้ Creative Talk ได้กลายมาเป็นเหมือนแหล่งพบปะพูดคุยสังสรรค์ของเหล่าคนสร้างสรรค์ของคนทำธุรกิจ สตาร์ทอัพ คนในวงการเทคโนโลยี และผู้คนอีกจากหลากหลายวงการที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงศิลปินหรือเหล่าครีเอทีฟเพียงเท่านั้น
คนมีเรื่องที่รู้อยู่สองสามเรื่อง แล้วก็มีเรื่องที่ไม่รู้อีกเป็นร้อยเรื่อง
แรกเริ่มเดิมที Creative Talk เป็นเหมือน side project ของ RGB72 บริษัทเอเจนซีของเก่ง ที่รับหน้าที่ในการผลิตงานเชิงครีเอทีฟให้กับลูกค้า และด้วยความที่คลุกคลีอยู่ในวงการสตาร์ทอัพทำให้เก่งได้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าการที่ธุรกิจหนึ่งจะประสบความสำเร็จและมีความแข็งแรงได้นั้นไม่ได้เกิดมาจากคนเก่งแค่เพียงคนเดียว แต่คือคนเก่งในเรื่องที่ต่างกันมารวมตัวกัน
อย่างธุรกิจสตาร์ทอัพเอง แม้จะมีคนเขียนโค้ดมีคนสร้างอัลกอริทึมที่เก่งขนาดไหน แต่ถ้าหากขาดดีไซเนอร์ที่ช่วยห่อหุ้มให้เทคโนโลยีเข้าถึงคนได้ง่ายมากขึ้น หรือขาดมาร์เก็ตติ้งที่คอยพิตช์เงินจากนักลงทุนไป ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะทำเทคโนโลยีเหล่านั้นกลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้
“ผมเชื่อว่าคนหนึ่งคนมีเรื่องที่ตัวเองรู้อยู่สองสามเรื่อง แล้วก็มีเรื่องอีกเป็นร้อยเรื่องที่ตัวเองไม่รู้ แม้จะบอกว่าคนนี้เก่งมากเลย แต่แน่นอนว่ามันก็ต้องมีเป็นอีกร้อยๆ เรื่องที่เขาไม่รู้
“แต่ผมว่าคนเรามันควรจะต้องรู้เอาไว้หลากหลาย แล้วก็คิดว่าความหลากหลายนี้มันสามารถที่จะแลกเปลี่ยนกันได้ด้วยการนัดหมายให้หลายๆ คนมาเจอกัน
“พอหลายคนมาเจอกันแล้วต่างก็มีความรู้ในมุมของตัวเอง มันเป็นเรื่องที่น่าสนุกไม่น้อย แล้วผมก็อยากให้คนเก่งขึ้นจริงๆ ”
เขาเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของ Creative Talk ก่อนโจ้จะอธิบายเสริมต่อไปว่า
“อย่างที่บอกว่าก่อนจะมาทำ Creative Talk เราเป็นบริษัทเอเจนซีมาก่อน เวลาไปคุยงานรับบรีฟเราก็ต้องตั้งคำถามคุยกับลูกค้าไปเรื่อยๆ แล้วพอคุยไปเรื่อยๆ มันก็กลายเป็นบทสนทนาที่ลงลึกไปมากขึ้นจนกว่าจะเจอสิ่งที่เป็นแก่นของมันจริงๆ
“แล้วลูกค้าหลายคนก็มีฟีดแบ็กกลับมาว่าเวลาได้คุยกับเรา เขาเหมือนได้คอนซัลต์ธุรกิจไปในตัวด้วย ยิ่งพอมีลูกค้าบอกว่าถ้าคุณสองคน คือเรากับพี่เก่ง จัดงานทอล์กขึ้นมาเขาจะจ่ายเงินไปดูนะ ซึ่งมันเป็นคำพูดที่เหมือนมาสะกิดให้เราอยากจัดงานขึ้นไปอีก”
ข้อดีของการวางไว้หลายแผนนี้คือทำให้ทีมปรับตัวได้เร็ว
อย่างน้อย 6 เดือน คือระยะเวลาที่เก่ง โจ้ และทีมงานใช้ในการเตรียมการกว่าจะออกมาเป็นงาน Creative Talk นานกว่าครึ่งปีเพราะการจัดงานแต่ละครั้งต้องผ่านกระบวนการมากมาย
ตั้งแต่เริ่มเซอร์เวย์ดูว่าในเวลานั้นๆ ผู้คนในสังคมและกลุ่มเป้าหมายที่จะมาร่วมงานกำลังสนใจเรื่องอะไรอยู่ แล้วนำความสนใจนั้นมาพัฒนาเป็นคอนเซปต์ของงาน จากนั้นก็ถึงขั้นตอนในการชวนสปีกเกอร์ ซึ่งกว่าจะผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ก็กินเวลาไปมากระดับหนึ่งแล้ว
โดยระหว่างเชิญสปีกเกอร์ อีกทีมหนึ่งก็จะเป็นคนทำพีอาร์โปรโมตงาน มีฝั่งโปรดักชั่นที่ต้องคิดว่าจะออกแบบเวทียังไง มีฝ่ายที่ต้องคอยหาสปอนเซอร์มาเพื่อสนับสนุนงาน
นอกจากการคิด การจัดการ การจัดอีเวนต์ยังเป็นงานที่เรียกร้องทักษะการแก้ปัญหาเป็นอย่างยิ่ง
“ตอนปี 2021 เป็นปีที่ท้าทายสุดๆ เพราะโควิดทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงทุกวัน วิธีแก้ปัญหาของเราคือวางเป็นแผน A-B-C-D เอาไว้เลย แผน A คือจัดได้ปกติ, B คือจัดเป็นออนไลน์และออนกราวด์, C คือจัดออนไลน์อย่างเดียว และ D คือไม่ได้จัดเลย
“ข้อดีของการวางไว้ 4 แผนนี้คือมันทำให้ทั้งทีมปรับตัวได้เร็ว เช่นสมมติตอนทำสัญญากับเจ้าของสถานที่จัดงาน แล้วทีมของเรากับเจ้าของสถานที่รู้แล้วว่ามีแผน D คือไม่จัดเลย ดังนั้นจะทำให้สองฝ่ายเห็นภาพแล้วว่ามันมีโอกาสที่งานจะยกเลิกได้นะ และก็ทำให้ทุกคนปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปมาได้ง่ายมากขึ้น” เก่งเล่าถึงหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาของเขาให้ฟัง
“มันคือการเอาสิ่งที่เราเคยฟังจากสปีกเกอร์ที่มาพูดในงานเราเองนี่แหละมาปรับใช้” โจ้เล่าเสริม
มองหาอนาคตแล้วทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ส่วนอดีตมีไว้เป็นบทเรียน
งานในปีนี้ Creative Talk Conference 2022 ที่จะกลับมาจัดแบบ on ground อีกครั้งพวกเขาตั้งชื่อธีมว่า ‘The Future of Everything’
เหตุผลที่ทั้งสองเลือกพูดถึงอนาคตไม่ใช่เพียงเพราะกระแสโลกดิจิทัลทั้งหลายที่ไหลบ่าเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการที่เก่งและโจ้อยากจะสร้างสังคมที่เรียกว่า forward- thinking ขึ้นมา ที่เก่งเล่าต่อไปว่า
“เราไม่อยากกลับไปถามแล้วว่าที่ผ่านมาโควิดเป็นยังไงบ้าง เพราะมันผ่านมาแล้ว แต่เราอยากจะชวนทุกคนมองไปข้างหน้ามากกว่าว่าอนาคตจะเอายังไงต่อ เพราะเวลาเราเดินส่วนใหญ่แล้วเราก็จะเดินไปข้างหน้า เราเลยอยากชวนทุกคนมองหาอนาคตแล้วทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ส่วนอดีตมีไว้เป็นบทเรียน แล้วด้วยงานของเรามีหลากหลายเซสชั่น มันก็เลยกลายเป็นที่มาของชื่อ The Future of Everything”
นอกจากธีมของงานที่เปลี่ยนไปทุกครั้ง ในทุกปีพวกเขาจะตั้งโจทย์ที่มีความท้าทายให้ต้องทำสิ่งใหม่ในแบบที่ Creative Talk ครั้งก่อนหน้ายังไม่เคยทำ
อย่างในปี 2019 ก็มีการจัดคอนเสิร์ตขึ้นมาในงาน โดยเชิญ Polycat มาเป็นศิลปินและสปีกเกอร์ ที่พูดถึงเรื่องวิธีคิดและการสร้างสรรค์งานเพลง ส่วนความท้าทายของการจัดงานในครั้งนี้พวกเขาให้โจทย์กับตัวเองเอาไว้ว่าจะต้องทำให้พื้นที่ในงานเป็น universal access
“ผมอยากจะทำให้งานของเราซัพพอร์ตผู้พิการ 3 กลุ่มคือผู้พิการทางสายตา ทางการได้ยิน และทางการเคลื่อนไหว ให้สามารถมาร่วมงานของเราได้อย่างสะดวกมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจัดสถานที่ที่ทำให้พวกเขาสามารถไปเวทีต่างๆ ได้อย่างไม่ยากลำบาก หรือการมีภาษามือเพื่อทำให้ผู้พิการทางการได้ยินเข้าใจในสิ่งที่สปีกเกอร์อธิบายได้
“ยิ่งไปกว่าทำให้พวกเขาสะดวกสบาย ผมอยากทำให้พวกเขาไม่ได้รู้สึกโดดเด่น พิเศษ หรือแตกต่างจากคนทั่วไป เพราะจากที่ได้ทำงานร่วมกับ Vulcan กลุ่ม social enterprise ที่ทำงานเกี่ยวกับคนพิการ ทำให้ผมเห็นอินไซต์ของคนกลุ่มนี้ว่าจริงๆ เขาไม่ได้ต้องการการดูแลที่พิเศษอะไรมากมาย เพราะกังวลว่าจะทำให้คนอื่นลำบากหรือเปล่า
“ดังนั้นการทำ universal access ในครั้งนี้อาจจะไม่ได้มีช่องทางสำหรับวีลแชร์โดยเฉพาะ แต่ช่องทางเดินอาจจะเป็นอะไรที่กว้างขึ้นหน่อยเพื่อให้ทั้งคนที่เดินเท้าและคนที่ใช้วีลแชร์สามารถใช้พื้นที่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน”
เก่งเล่าวิธีคิดเบื้องหลังอีกโจทย์สำคัญในงานครั้งนี้ก่อนที่โจ้จะเสริม
“เราแอบหวังว่าถ้าการทำ universal access ในครั้งนี้สำเร็จ มันจะกลายเป็นมาตรฐานในการจัดงาน Creative Talk ในครั้งต่อๆ ไป
“ทำให้ผู้พิการรู้สึกว่าถ้าเขาจะมางานนี้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ในงานได้อย่างสะดวก ถ้ามีงานนี้จัดขึ้นมาอีกเขาไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้ชีวิตในงาน เขาไปเวทีนู้นเวทีนี้ได้อย่างไม่ยากลำบาก เพราะเราก็ไม่ได้อยากจะทำ universal access แค่ครั้งเดียวแล้วต่อไปก็ไม่ทำแล้ว”
ตัวชี้วัดความสำเร็จไม่ได้มีแค่เรื่องจำนวนผู้เข้าร่วมงาน
เก่งและโจ้เล่าให้ฟังว่าในการจัดงานแต่ละครั้งพวกเขาจะมีตัวชี้วัดความสำเร็จอยู่ทั้งหมด 5 ด้านด้วยกัน
ด้านแรกคือตัวผู้จัดงานอย่างพวกเขาเองที่วัดด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมงาน ด้านที่สองคือเหล่าสปีกเกอร์ที่ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้อย่างที่ตั้งใจไว้ ด้านที่สามคือสปอนเซอร์ที่ได้รับฟีดแบ็กอย่างที่คาดหวังไว้ ด้านที่สี่คือออร์แกไนเซอร์ซึ่งเป็นทีม outsource และด้านสุดท้ายคือคนฟังที่ได้รับสาระความรู้อย่างที่ตั้งใจเอาไว้
และเมื่อได้ลองถอดหมวกจากการเป็นผู้จัดงานมาเป็นคนฟังดูบ้าง ทั้งเก่งและโจ้ต่างก็ได้รับไอเดีย ข้อคิด และสาระความรู้กลับไปจากงานด้วยเช่นกัน
“ผมชอบเรื่องแนวคิด outvert mindset ของคุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน ผู้บริหาร AP คือปกติแล้วมนุษย์เรามักจะคิดถึงตัวเองก่อนโดยธรรมชาติ แต่การคิดแบบ outvert mindset ทำให้เราคิดจากคนอื่น คิดจากข้างนอก แล้วค่อยนึกย้อนกลับมาถึงตัวเรา ฟังแล้วก็ดูเป็นแนวคิดธรรมดาทั่วไปที่ใครๆ ก็ชอบพูด แต่ผมรู้สึกว่ามันเป็นแนวคิดที่ดี โดยเฉพาะกับคนเป็นผู้บริหารที่มีพาวเวอร์เต็มเหนี่ยว การคิดแบบ outvert mindset นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ” เก่งเล่าถึงสิ่งที่ตัวเองได้รับในหมวกผู้ฟัง
ส่วนโจ้เองก็มีถ้อยคำที่เธอบอกว่าจำได้ขึ้นใจ “คำแรกเป็นที่คุณรวิศ หาญอุตสาหะ ได้แชร์เอาไว้ว่า ‘ก่อนจะไปจัดการคนอื่นต้องจัดการตัวเองให้ได้ก่อน’ เป็นประโยคธรรมดาแต่สามารถ remind ตัวเราเองได้เป็นอย่างดี
“กับอีกคำคือของคุณหมู–ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ แห่ง Ookbee ที่บอกว่า จะเป็นผู้ประกอบการจริงๆ แล้วอย่าเพิ่งไปคาดหวังว่าจะต้องเป็นยูนิคอร์น แต่ต้องเป็นแมลงสาบ คืออยู่รอดได้ทุกสถานการณ์ อยู่มาอย่างยาวนาน ผ่านอะไรนานเท่าไหร่แต่ก็ยังฆ่าไม่ตาย”
ความหลากหลายแลกเปลี่ยนกันได้ด้วยการที่หลายๆ คนมาเจอกัน
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับการทำให้งานสัมมนางานหนึ่งสามารถคงอยู่มาได้ยาวนานถึง 10 ปี
หากจะบอกว่าสิ่งที่ทำให้ Creative Talk เป็นงานเสวนาที่ยืนระยะมาจนถึงวันที่สามารถนับหน่วยทศวรรษได้นั้นเป็นเพราะหัวข้อในแต่ละปีที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่ในฐานะที่เป็นผู้ที่คลุกคลีกับงานนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น เก่งและโจ้บอกว่าอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้ Creative Talk เดินทางมาถึงทุกวันนี้ได้ คือการที่ไม่ได้ทรีตมันเป็นแค่เพียงงานสัมมนาทั่วไปที่สปีกเกอร์ขึ้นพูดแล้วก็จบ แต่คือการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนในงาน จนเกิดเป็นคอมมิวนิตี้ และเป็นเหมือนแหล่งนัดพบของคนสร้างสรรค์ในหลากหลายวงการในทุกปี
“พวกเราคิดว่าสิ่งที่ทำให้คนมางานมันไม่ได้มีแค่เรื่องของการที่จะมาเอาความรู้กลับบ้านไป แต่ยังรวมไปถึงความสนุก กิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ได้มีแค่การให้คนมานั่งฟังเฉยๆ อย่างปีนี้ก็มีการให้คนในงานเอาหนังสือที่ชอบมาแบ่งปันกัน และเหมือนเป็นที่ที่ทำให้คนที่ชอบอะไรเหมือนกันได้มาพบเจอแลกเปลี่ยนความรู้กัน
“อย่างที่บอก เราว่าคนคนนึงควรจะมีความรู้เอาไว้หลากหลาย และความหลากหลายที่ว่ามันสามารถเอามาแลกเปลี่ยนกันได้ด้วยการนัดหมายให้หลายๆ คนมาเจอกัน” ทั้งสองทิ้งท้าย
ส่วนใครที่อ่านมาถึงตรงนี้อยากจะเข้าร่วมงาน Creative Talk ไปแลกเปลี่ยนความรู้กับคนสร้างสรรค์จากหลากหลายวงการ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.CTC2022.co