LOUDER THAN WORDS

ภาษากายใน CODA ที่สร้างที่ทางให้คนหูหนวกในฮอลลีวูดและโลกธุรกิจ

1.

ฉันเป็นคนร้องไห้ให้กับหนังได้ง่าย บางทีอาจจะง่ายกว่าร้องไห้ในชีวิตประจำวันด้วยซ้ำ สำหรับฉัน การร้องไห้ให้หนังนับเป็นการร้องไห้ที่ดี หนังบางเรื่องเรียกความทรงจำที่ฉันเคยหลงลืมไปกลับคืนมา บางตัวละครทำให้ฉันรู้สึกว่าไม่ได้ผ่านสถานการณ์ยากลำบากเพียงลำพัง และซีนบางซีนก็ช่วยเตือนความจำฉันว่า ใช่ ที่ฉันร้องไห้เพราะฉันยังเป็นมนุษย์ มีหัวใจ ไม่ได้ตายด้านทางความรู้สึก

ซีนล่าสุดที่ทำให้ฉันเสียน้ำตาคือซีนสุดท้ายของ CODA เจ้าของรางวัลหนังยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ปี 2022

ขอสปอยล์ตรงนี้เลยแล้วกัน ในฉากนี้ Ruby ตัวเอกของเรื่องจะไปเรียนต่อในเมืองใหญ่ เธอจึงจำเป็นต้องโบกมือลาพ่อ แม่ กับพี่ชายผู้หูหนวก–กลุ่มคนที่รูบี้ต้องช่วยเหลือมาตลอด 17 ปีในฐานะคนเดียวในครอบครัวที่หูดี

ตอนจะไป รูบี้ทำท่าเหมือนการจากลานั้นเป็นเรื่องง่าย ไม่ค่อยได้แสดงความรู้สึกอ่อนไหวมาก แต่พอออกรถไปได้ไม่ทันไร เธอก็บอกให้เพื่อนจอด กระโดดลงจากรถแล้วทุ่มตัวกอดครอบครัวแรงๆ อีกที คือกอดที่แทนคำว่าห่วงใย เป็นห่วง และรักจนไม่อยากไปจากพวกเขา

ในฐานะเด็กเชียงใหม่ที่ต้องย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ฉันเข้าใจความรู้สึกของรูบี้เป็นอย่างดี แถมยังเคยมีซีนคล้ายๆ กันนี้กับครอบครัวของตัวเอง

วินาทีที่ Frank พ่อของเธอพูด–ซึ่งเป็นคำพูดเดียวที่เราได้ยินจากปากเขาว่า “ไปเถอะ” รูบี้น้ำตาไหล ฉันเองก็ไม่ต่าง

2.

CODA กลายเป็นหนึ่งในหนังที่อยู่ ‘ใกล้ใจ’ ฉันมากที่สุด ความหมายคือมันทั้งรู้สึกใกล้ตัวและจับใจ สำหรับฉันมันไม่ได้เป็นหนังที่ยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบไปทุกด้าน แต่ก็ทำให้ฉันเพลิดเพลินได้อย่างหนังสนุกๆ เรื่องหนึ่งพึงจะทำ

สรุปเรื่องราวอย่างย่นย่อ CODA เล่าเรื่องเด็กสาวหูดีที่เติบโตมาในครอบครัวคนหูหนวก ผู้ต้องรับบทบาทคนแปลภาษามือให้ครอบครัวมาตั้งแต่เกิด เธอฝันอยากเรียนต่อด้านการร้องเพลง แต่ไม่เคยบอกใครเพราะคิดว่าฝันคงไม่มีวันเป็นจริง จนปีสุดท้ายของไฮสคูล รูบี้จับพลัดจับผลูเข้าไปอยู่ในชมรมประสานเสียง Mister V อาจารย์ประจำชมรมมองเห็นความเป็นดาวในตัวเธอเลยเสนอตัวจะฝึกให้ไปสอบชิงทุน ในเวลาเดียวกัน ที่บ้านก็อยากขยายธุรกิจประมงของตัวเองให้ใหญ่โตขึ้น รูบี้จึงต้องเลือกระหว่างการตามความฝันที่จะเป็นนักร้อง หรือจะเป็นล่ามประจำครอบครัวไปตลอดกาล 

ขณะที่ต้อนคนดูให้เปิดใจกับหนังทีละนิดจากเสียงเพลง บรรยากาศการออกทะเลหาปลา การได้มองดูความฝันและความรักของรูบี้ผลิบานในชมรมร้องประสานเสียง หนังก็ฉายภาพให้เห็นสิ่งที่เธอต้องรับมือจากการเป็นคนหูดีคนเดียวของบ้าน รวมถึงสิ่งที่คนอื่นๆ ในครอบครัวต้องปรับจูนเข้าหาเธอ บ้างก็ตลกขบขัน บ้างก็ทำให้เข้าใจหัวอกของทั้งสองฝ่าย

อย่างซีนที่แม่สารภาพกับเธอว่าตอนที่หมอทำคลอดมาแจ้งว่ารูบี้ไม่ได้หูหนวก แม่เสียใจมาก กลัวว่าตัวเองจะกลายเป็นแม่ที่แย่ เพราะการได้ยินปกติอาจกลายเป็นกำแพงที่ทำให้แม่กับเธอสื่อสารกันได้ไม่เต็มที่จนไม่สนิทกันเหมือนแม่กับยาย (ซึ่งเป็นคนหูดี) อาจฟังดูเห็นแก่ตัวไปหน่อย แต่มันก็เป็นมนุษย์มากๆ เช่นกัน

3.

มากกว่าการเป็นหนังแนวอบอุ่นเข้าถึงง่าย ฉันคิดว่าสิ่งที่ทำให้ CODA ชนะใจคนดูหลายคนจนได้รางวัลจากทั้งซันแดนซ์และออสการ์ คือการเป็นหนังที่โอบรับและให้ที่ทางกับกลุ่มคนที่มักถูกมองข้ามอย่างคนหูหนวก

เริ่มตั้งแต่ให้ที่ทางกับคนหูหนวกที่เป็นนักแสดง อันที่จริง CODA รีเมคมาจาก La Famille Bélier หนังฝรั่งเศสปี 2014 ที่โดนคอมมิวนิตี้ของคนหูหนวกสับเละ เพราะเล่าเรื่องของคนหูหนวกแต่นักแสดงนำเป็นคนหูดีทั้งสิ้น พอได้มายกเครื่องทำใหม่ CODA ก็ไม่เดินทางซ้ำรอยเดิม เพราะบทบาทของคนหูหนวกในครอบครัวทั้งสามคนคือพ่อ แม่ และพี่ชายล้วนแสดงโดยนักแสดงหูหนวกทั้งหมด 

ซึ่งหลายคนมองว่านี่แหละคือสิ่งที่ควรจะเป็น การมีภาพแทนที่แสดงโดยคนในคอมมิวนิตี้จริงๆ ช่วยเปิดโอกาสให้นักแสดงหูหนวกที่มีความสามารถอีกหลายคนได้ถูกมองเห็น พอได้ออกฉายในโรงใหญ่ CODA ก็เลือกฝังซับไตเติลไปกับหนัง เพื่อให้คนดูที่หูหนวกได้เพลิดเพลินกับหนังได้ไม่ต่างจากคนหูดี

4.

สิ่งที่ฉันสนใจเป็นพิเศษแต่หนังไม่ได้เล่ามาก คือการทำธุรกิจของคนหูหนวก 

ตอนที่รูบี้ยังอยู่กับครอบครัว เธอเป็นทั้งปากและหูของที่บ้าน ไม่เกินจริงถ้าจะบอกว่าที่บ้านพึ่งพาเธอมากเกินไปด้วยซ้ำ ถึงขนาดว่าจุดหนึ่งของเรื่องที่รูบี้ (เกือบ) ตัดสินใจว่าจะไม่ไปร้องเพลงเพราะอยากเป็นล่ามให้ที่บ้านต่อ พี่ชายของเธอหัวเสียอย่างรุนแรง แสดงให้เห็นว่าเขาไม่เห็นด้วยชัดเจน 

พี่ชายมองว่าการตัดสินใจของรูบี้เป็นสิ่งที่งี่เง่า สิ่งหนึ่งที่สะกิดใจฉันคือคำพูดที่ว่า “ก่อนจะมีเธอ พวกเรา (พ่อ แม่ และพี่ชาย) ก็อยู่กันได้” เมื่อรูบี้ถามว่าถ้าไม่มีเธอแล้วพวกเขาจะอยู่กันยังไง จะปรับตัวเข้าหาสังคมรอบข้างยังไง พี่ชายก็บอกว่า “ช่างสิ ให้พวกคนหูดีปรับตัวเข้ามาหาพวกเราสิ”

ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกความจริง ปัจจุบันในสังคมที่เจริญแล้ว มีกฎหมายห้ามแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ อาทิ Americans with Disabilities Act (ADA) ปี 1990 ที่กลายเป็นหลักไมล์สำคัญให้คนอเมริกันได้เข้าใจและโอบรับคนหูหนวกและคนพิการแขนงอื่นๆ ด้วยการให้การศึกษา ตลอดจนถึงให้โอกาสในการทำงาน 

อย่างที่รูบี้ถามพี่ชายว่า “ถ้าไม่มีเธอ ครอบครัวจะอยู่ได้ยังไง?” นอกเหนือจากธุรกิจล่ามภาษามือทั่วไป คำตอบสำคัญคือ ‘เทคโนโลยี’ ที่มีส่วนอย่างมากในการสนับสนุนให้ธุรกิจของคนหูหนวกประสบความสำเร็จ เพราะความท้าทายที่คนหูหนวกจะต้องก้าวผ่านให้ได้คือกำแพงของการสื่อสาร

ก่อนหน้านี้คนหูหนวกใช้เครื่องแฟกซ์และ teletypewriter (เครื่องพิมพ์ดีดสำหรับคนหูหนวกไว้ติดต่อกันผ่านสายโทรศัพท์) พบว่าปัญหาคือทำให้สื่อสารช้าและไม่ค่อยจะถูกต้องสักเท่าไหร่ ทว่าในปัจจุบัน มีเทคโนโลยีที่มาซัพพอร์ตคนหูหนวกมากมายอย่าง

VRS (Video Relay Service) เทคโนโลยีที่มีตัวกลางช่วยแปลภาษามือของคนหูหนวกมาอธิบายเป็นคำพูดให้คนหูดีเข้าใจ เช่น บริการของ SignVideo ในอังกฤษที่อ่านภาษามือของคนหูหนวกระหว่างที่พวกเขาประชุมติดต่อกับคู่ค้า

VRI (Video Remote Interpreting) เทคโนโลยีที่ช่วยให้คนหูหนวกและคนหูดีสามารถสื่อสารกันได้ผ่านตัวกลางเหมือน VRS แต่อาจสะดวกกว่าเพราะสามารถคุยกันได้แม้จะอยู่คนละสถานที่กัน

Ava แอพพลิเคชั่นที่ช่วยสร้างแคปชั่นให้คนหูหนวกอ่านขณะที่พูดคุยกับผู้อื่น ทั้งยังสามารถจำแนกได้ว่าใครพูด ผ่านแท็กและสีของแคปชั่น 

ยังไม่นับรวมองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนคนหูหนวกทำธุรกิจโดยตรง เช่น Deaf Business Academy ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการหูหนวกได้เรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจด้วยคอร์สคุณภาพและเฉพาะเจาะจง

จากผลสำรวจปี 2017 มีคนหูหนวกในอเมริกาได้ทำงานมากกว่าครึ่ง เกิดธุรกิจที่คนหูหนวกเป็นเจ้าของมากกว่า 1,000 ธุรกิจในอเมริกา แน่นอนว่ามีธุรกิจของคนหูหนวกที่ประสบความสำเร็จมากมายในทุกวงการ เช่น Mozzeria ร้านอาหารดังในซานฟรานซิสโก, By Mara แบรนด์เสื้อผ้าในนิวยอร์ก รวมถึงวงการไลฟ์โค้ช คราฟต์เบียร์ ไปจนถึงวงการดนตรี

หันกลับมาที่ประเทศไทยเรา มีหลายธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อซัพพอร์ตคนหูหนวกเช่นกัน อาทิ Mute Mute Café คาเฟ่บอร์ดเกมและ co-working space ที่ให้บริการโดยผู้พิการทางการได้ยิน และหวังว่าในอนาคตเราจะได้เห็นคนหูหนวกมากขึ้นในอีกหลายแวดวง

5.

หากอ้อมกอดในตอนจบคือกอดที่แทนคำว่าห่วงใย เป็นห่วง และรักจนไม่อยากแยกจากของรูบี้

ฉันคิดเองว่าบางทีนะ บางที คำพูดของพ่อที่บอกว่า “ไปเถอะ” ในอีกความหมายหนึ่ง มันแปลว่า พวกเขาจะอยู่ได้

พวกเขาจะอยู่ด้วยตัวเองได้ในที่สุด ในฐานะมนุษย์ที่มีคุณค่าเท่ากับมนุษย์คนอื่น

อ้างอิง
entrepreneur.com
hearinglikeme.com
121captions.com
vox.com
today.com

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

You Might Also Like