นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Thumbs Up

Coco Thumb แบรนด์ที่คิดนวัตกรรมเพื่อให้กินน้ำมะพร้าวจากลูกได้ง่ายๆ ที่ส่งออกราว 10 ล้านลูกต่อปี

ปัญหาส่วนใหญ่ของคนชอบกินน้ำมะพร้าวจากลูกแบบสดๆ คงหนีไม่พ้นการเฉาะมะพร้าว ซึ่งถือเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน

ด้วยปัญหาที่ว่าจึงกลายเป็นที่มาของ Coco Thumb แบรนด์ที่จะทำให้ทุกคนกินน้ำมะพร้าวได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วกดก็สามารถเอาหลอดจิ้มเข้าไปดูดมะพร้าวน้ำหอมจากผลสดๆ ได้ทันที 

ทว่ากว่าจะกลายมาเป็นน้ำมะพร้าวที่ให้ผู้คนกินกันได้ง่ายๆ แบบนี้ ที่มาที่ไปของมันนั้นกลับไม่ได้ง่ายอย่างที่เห็น ต้องผ่านการคิดและพัฒนาจากไอเดียแรกมาแล้วหลายดราฟต์ เพราะไม่ใช่แค่ทำให้เปิดกินน้ำมะพร้าวได้ง่าย แต่การทำ Coco Thumb ยังตั้งอยู่บนโจทย์ธุรกิจมากมาย ทั้งเรื่องต้นทุนการผลิต การรักษาความสดของมะพร้าวให้อยู่ได้นาน หรือการควบคุมสิ่งที่ควบคุมได้ยากอย่างสินค้าเกษตร 

แต่สุดท้าย Coco Thumb ก็สามารถทำได้ และทำให้แบรนด์มะพร้าวของคนไทยมีพื้นที่วางขายใน DON DON DONKI ที่ญี่ปุ่น, มี vending machine ตั้งอยู่ในสิงคโปร์, มีพื้นที่วางบนเชลฟ์เครื่องดื่มในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ดูไบ, ได้รับความนิยมในอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตมะพร้าวได้มากที่สุดของโลก รวมๆ แล้ว Coco Thumb ส่งออกมะพร้าวราว 10 ล้านลูกไปขายใน 20 ประเทศ 

ก่อนจะไปหาคำตอบว่าพวกเขาทำยังไงถึงทำให้แบรนด์มะพร้าวไทยส่งออกไปขายเป็นสิบล้านลูกต่อปีได้ เราอยากชวนทุกคนไปรู้จักกับ K Fresh ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลัง Coco Thumb กันก่อน 

จากจุดเริ่มต้นของ เข็มทัศน์ มนัสรังษี ชายผู้เติบโตมาในครอบครัวที่ค้าขายน้ำตาลมะพร้าวมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าตั้งแต่สมัยที่ยังแจวเรือขาย แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คนนิยมขึ้นตาลมะพร้าวน้อยลง เข็มทัศน์จึงค่อยๆ ปรับจากน้ำตาลมะพร้าวแบบดั้งเดิมมาเป็นการทำมะพร้าวที่เป็นอุตสาหกรรมมากขึ้นจนกลายมาเป็นแบรนด์ที่ใช้ชื่อว่า K Fresh ในปี 2547 หรือเมื่อราว 18 ปีที่แล้ว 

ไม่แปลกที่คนไทยจะไม่คุ้นหูกับชื่อ K Fresh มากนัก เพราะ K Fresh ทำธุรกิจส่งออกมะพร้าวน้ำหอมร้อยเปอร์เซ็นต์ และด้วยความที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับมะพร้าวตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ปลูก วิจัย ไปจนถึงทำโปรดักต์ของตัวเอง ทำให้ K Fresh ใช้ความเชี่ยวชาญที่ตัวเองมีขยายไปยังธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับมะพร้าวอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมะพร้าวน้ำหอมแปรรูปภายใต้แบรนด์ All Coco หรือกับ Coco Thumb ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้

โดยบุคคลสำคัญที่ทำให้ Coco Thumb เข้าไปมีพื้นที่วางขายบนเชลฟ์ในซูเปอร์มาร์เก็ตของต่างประเทศได้ก็คือ วราภรณ์ มนัสรังษี ผู้ซึ่งเป็นภรรยาของเข็มทัศน์ เพราะนอกจากแผนธุรกิจ กลยุทธ์ทางการตลาด ตัวที่กดสีแดงที่อยู่บนตัวมะพร้าวของ Coco Thumb ก็เกิดมาจากไอเดียของเธอคนนี้ด้วยเช่นกัน 

ย้อนกลับไปตอนที่ทำ Coco Thumb คุณเห็นโอกาสอะไร

จุดเริ่มต้นมาจากการที่เราทำ K Fresh มานาน ทำให้เรามีคู่ค้าที่เป็นชาวต่างชาติจำนวนมาก แล้วก็มีคู่ค้าชาวอเมริกันของเราคนนึงมาบอกให้เราช่วยไปคิดวิธีที่ทำให้เขาได้กินน้ำมะพร้าวจากผลสดๆ แบบง่ายๆ หน่อยได้ไหม เพราะชาวต่างชาติอย่างเขาไม่ได้คุ้นชินกับการใช้มีดอีโต้เหมือนอย่างคนในบ้านเรา

แล้วด้วยความที่เราเป็นคนชอบประดิดประดอยอยู่แล้ว (ในห้องทำงานที่ออฟฟิศของเธอมีจักรเย็บผ้าตั้งอยู่) ก็เลยทำให้เราคิดนู่นทำนี่ขึ้นมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นที่เปิดมะพร้าวหลายๆ เวอร์ชั่น 

เริ่มจากเวอร์ชั่นแรกคือใช้สเตนเลสที่เป็นฟู้ดเกรดมาช่วยในการเจาะมะพร้าว ถัดมาก็ทำเป็นเหมือนที่เปิดขวดไวน์ ทำเป็นสามเหลี่ยมที่ลงไปที่ตัวกะลาของมะพร้าว ทำเป็นเครื่องสี่เหลี่ยมที่เอาไว้เปิดมะพร้าว แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันกลับไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องราคาและการกินมะพร้าวของผู้คนจริงๆ ส่วนจะให้เอาเลเซอร์เจาะมะพร้าวแล้วเอาฝาเบียร์ติดอย่างที่เห็นกันในอินเทอร์เน็ต ความร้อนของเลเซอร์ก็จะทำลายอายุของตัวมะพร้าวให้สั้นลงไปอีก 

สุดท้ายเราก็นั่งคิดนั่งประดิดประดอยอย่างที่ชอบทำ ทำอะไรกระจุกกระจิกไปเรื่อย เอาทีมงานมาช่วยคิดช่วยพัฒนา จนได้มาเป็นตัวกดสีแดงที่อยู่บน Coco Thumb อย่างที่เห็น ตอบโจทย์คนกินเพราะเพียงแค่เอามือกดลงไปตรงตัวสีแดงก็ทำให้กินน้ำมะพร้าวได้ทันที ไม่ต้องมีอุปกรณ์เสริมอย่างอื่นให้ยุ่งยาก และตัวที่กดก็เป็นพลาสติกแบบ degradable ที่ย่อยสลายได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะเทรนด์รักษ์โลกกำลังมา ถ้าเราไม่คิดเรื่องเหล่านี้เผื่อเอาไว้แล้ววันหน้าหลายประเทศเขาไม่ยอมรับอะไรที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็คือจบเลยนะ มันก็เลยต้องคิดเผื่อเอาไว้เยอะๆ เลย

พอคิดได้แล้วตอนผลิต Coco Thumb แต่ละลูกยุ่งยากกว่าเดิมไหม

พอมะพร้าวจากสวนของเราเองหรือสวนของเกษตรกรที่อยู่ในเครือข่ายของเรามาส่งที่โรงงาน เราก็จะทำการคัดเลือกมะพร้าวไปพร้อมๆ กับทำความสะอาด ตกแต่งเปลือก ติดตั้งตัวที่กดสีแดง ห่อแพ็กเกจจิ้งใส่กล่องให้เรียบร้อย ทั้งหมดนี้ใช้เวลาแค่วันเดียวก็เสร็จ จากนั้นก็นำไปขนส่งต่อให้กับประเทศต่างๆ ทางเรือ 

นับตั้งแต่วันแรกที่มาถึงโรงงานมะพร้าวของ Coco Thumb จะมีอายุอยู่ได้นาน 70 วัน

ทำไม Coco Thumb ถึงไม่ทำตลาดในประเทศไทยมากนัก

การทำตลาดในไทยถือว่าเป็นอะไรที่ยาก เพราะเราขับรถไปไม่เท่าไหร่ก็เจอมะพร้าวเต็มไปหมด แล้ว K Fresh เองก็ถนัดทำธุรกิจส่งออกมาเป็นสิบปีแล้วเราเลยไม่ได้โฟกัสตลาดในประเทศมากนัก 

จนมาวันนึงมีเพจของคนไทยไปเอาคลิปจากจีนมาโพสต์ เป็นคลิปที่คนจีนรีวิว Coco Thumb ของเรานี่แหละ แล้วก็มีคนไทยเข้ามาคอมเมนต์ในโพสต์นั้นมากมายว่า เนี่ย ดูนี่สินวัตกรรมคนจีนนะ มันเจ๋งอย่างโน้นอย่างนี้นะ คือเขาไม่รู้ว่าที่ดูอยู่นั่นเป็นของคนไทย พอเราเห็นแบบนี้ก็เลยกลับมาคุยกับที่บ้านว่าไม่ได้แล้ว เราต้องมาทำตลาดในเมืองไทยบ้างแล้ว ก็เลยเอา Coco Thumb ไปวางขายใน Gourmet, Villa, Makro, SIAM Takashimaya และช่องทางออนไลน์ของเรา ขายลูกละ 50-59 บาท

ตามตลาดขายลูกละ 20 บาท แล้วอะไรที่ทำให้ Coco Thumb ขายมะพร้าวลูกละ 50-59 บาทได้ 

สิ่งที่ทำให้เราขายได้ก็คือความใหม่ ความง่ายในการกินน้ำมะพร้าว แต่ถึงอย่างนั้นการขาย Coco Thumb ในไทยเราไม่ได้คาดหวังเรื่องกำไรมากไปกว่าการทำให้คนไทยได้รู้ว่าไอเดียที่หลายคนเห็นกันนั้นไม่ใช่ของต่างชาตินะ แต่เป็นคนไทยด้วยกันเองนี่แหละที่คิดขึ้นมา 

ที่ว่าเน้นส่งออก ตอนนี้ Coco Thumb ส่งออกไปขายที่ไหนบ้าง

จะมีที่อเมริกา แคนาดา จีน อินโดนีเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ดูไบ เนเธอร์แลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย และอีกหลายประเทศในยุโรปที่เราเพิ่งไปเปิดตลาดมาได้

คุณทำยังไงให้แต่ละประเทศยอมรับในผลิตภัณฑ์

ที่เอา Coco Thumb เข้าไปวางขายได้ส่วนหนึ่งก็เพราะมีคู่ค้าจากตอนที่ทำ K Fresh อยู่แล้ว อีกส่วนเราก็ต้องไปโน้มน้าวให้เขาเปิดรับสิ่งใหม่ๆ บอกเขาว่าการที่เราทำให้มะพร้าวมันกินได้ง่ายขึ้นก็ทำให้เขามีโอกาสที่จะขายได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป

อย่างที่สิงคโปร์ที่ vending machine กำลังได้รับความนิยม เราก็มี vending machine ของ Coco Thumb ตั้งอยู่ 40 จุดทั่วประเทศ นอกจากจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนที่นั่น ตัว vending machine ก็ยังช่วยรักษาอุณหภูมิสินค้าได้ดี เวลาคนเดินผ่านไปผ่านมาก็กดมะพร้าวน้ำหอมเย็นๆ จากตู้ได้ตลอดเวลา 

ที่ดูไบเราไปวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่บนเชลฟ์เดียวกับที่เป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่มไม่ใช่ผลไม้ที่ต้องปอกเปลือกหรือชั่งกิโลขาย ที่จีนเรามีจำหน่ายตามร้านอาหารกับช่องทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Alibaba หรือ Taobao ที่ญี่ปุ่นเรามีวางขายใน DONKI

ส่วนอินโดนีเซีย แม้นี่จะเป็นประเทศที่ผลิตมะพร้าวได้มากที่สุดในโลก แต่เราก็เข้าไปอยู่ในตลาดนี้ได้ เพราะมะพร้าวส่วนใหญ่ที่อินโดนีเซียผลิตได้จะเป็นมะพร้าวกะทิหรือมะพร้าวที่ใช้ทำ virgin oil แต่ Coco Thumb เข้าไปด้วยมะพร้าวน้ำหอม แล้วก็มีอินฟลูเอนเซอร์ชาวอินโดนีเซียเอา Coco Thumb ไปรีวิวก็เลยทำให้สินค้าของเราเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมที่นั่น

รวมๆ แล้วปีนึง Coco Thumb ส่งออกไปขายมากแค่ไหน

ประมาณ 10 ล้านลูกต่อปี แล้วก็เป็นโปรดักต์ที่ทำให้ยอดขายโดยรวมของบริษัทเติบโตขึ้น อย่างปี 2564 ที่ผ่านมา Coco Thumb ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้น 23 เปอร์เซ็นต์

นอกจากความใหม่ของโปรดักต์ การทำให้กินง่าย คิดว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ Coco Thumb ขายดีอีกบ้าง

อย่างแรกเลยคือความหอมหวานของมะพร้าวน้ำหอมที่ต่างชาติจะชอบกันมากๆ เพราะเป็นมะพร้าวที่มีกลิ่นหอมและรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะมาจากจังหวัดที่เหมาะกับการปลูกมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งก็จะมีอยู่ 4 จังหวัดด้วยกันคือ ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาครที่เรานั่งคุยกันอยู่ตรงนี้ ทั้ง 4 จังหวัดตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสาย ดินในบริเวณนี้เลยอุดมสมบูรณ์ด้วย มีแร่ธาตุที่ดี มีแดดตลอดทั้งปี เหมาะกับการปลูกมะพร้าวน้ำหอมอย่างมาก ซึ่งมะพร้าวของ Coco Thumb มีโลโก้ Geographical Indication หรือ GI ติดอยู่ด้วย*

ต่อมาก็คงจะเป็นการที่เรามาถูกจังหวะ พอคิดเสร็จก็จดสิทธิบัตรตอนปี 2561 เริ่มปล่อยล็อตแรกปี 2562 จากนั้นปี 2563 ก็เจอโควิดพอดี Coco Thumb เลยมาตอบโจทย์การกินมะพร้าวแบบ new normal คือแค่กดลงไป เอาหลอดเจาะก็กินได้ทันที ไม่ต้องไปผ่านมือให้คนอื่นช่วยแกะมากมาย ด้วยความใหม่มันก็เลยกลายเป็นกระแสที่อินฟลูเอนเซอร์ต่างชาติเอาไปรีวิวกัน 

สุดท้ายก็น่าจะเป็นเรื่องที่เราคอยเข้าไปคุยกับลูกค้าอยู่ตลอด อย่างลูกค้าต่างชาติที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าขายส่งเราก็จะชวนให้เขาทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ไปด้วยกัน เพราะโลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปไวมาก จะมัวทำแต่แบบเดิมๆ มันก็คงไม่ใช่ โอเค มะพร้าวแบบเดิมที่เขาเคยรับจากเราไปขายถ้ามันขายดีอยู่แล้วก็ขายไป แต่ถ้ามีอะไรใหม่เข้ามาที่จะทำให้คุณขายได้มากขึ้น ได้เรียนรู้การทำธุรกิจแบบใหม่ๆ ด้วย แบบนี้แล้วคุณจะไม่ทำเหรอ

อีกอย่างก็คือการมองให้มันต่างออกไป ยกตัวอย่างเช่นที่ญี่ปุ่น ปกติแล้วเขาจะซื้อมะพร้าวในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนซึ่งถือเป็นช่วงซัมเมอร์ แล้วซัมเมอร์คนก็ชอบกินน้ำมะพร้าวกัน มันเลยทำให้มะพร้าวมักจะขาดตลาดในช่วงนี้ แต่เราสามารถส่งมะพร้าวเข้าไปในญี่ปุ่นได้ตั้งแต่ช่วงธันวาคม ทำให้เขากินมะพร้าวน้ำหอมตอนหน้าหนาวได้ เพราะเราไม่ได้สื่อสารไปในแนวทางของ tropical fruit แต่เลือกที่จะสื่อสารไปในแนวทางที่ว่าถ้าหน้าหนาวแล้วไปแช่ออนเซ็นกัน พอขึ้นมาจากออนเซ็นก็จิบน้ำมะพร้าวเย็นๆ เพิ่มความสดชื่นให้ร่างกาย มันก็เลยทำให้เราขายมะพร้าวดีได้แม้จะเป็นช่วงหน้าหนาวก็ตาม และตอนนี้เราก็กำลังมองหาพื้นที่ใหม่ๆ ให้ Coco Thumb ได้เข้าไปอยู่ในฟิตเนส เวลาคนออกกำลังกายเสร็จเหนื่อยๆ ก็กินมะพร้าวน้ำหอมเติมความสดชื่น 

เมื่อสินค้าเกษตรเป็นของที่ขึ้นอยู่กับดิน ฟ้า อากาศอย่างมาก แล้วคุณมีวิธีทำธุรกิจกับสิ่งที่ควบคุมได้ยากเหล่านี้ยังไง 

สินค้าเกษตรเนี่ยมีอยู่สองคำ คือไม่ขาดก็ล้น พอเราอยู่กับมะพร้าวมาเป็นสิบๆ ปีก็เลยอยากจะทำให้วงการมะพร้าวในบ้านเรามัน sustainable ให้มันอยู่ในระยะยาวได้อย่างมีสมดุลแบบไม่ขาดไม่เกิน ให้มันไปด้วยกันได้ทั้ง supply chain ซึ่งการจะทำให้มันไม่ขาดไม่เกินได้ก็ต้องมีภาคอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยจัดการตรงนี้ 

นี่เลยเป็นเหตุผลที่ว่าเราไม่เคยปิดโรงงานไม่รับมะพร้าวเลย ไม่ว่าช่วงนั้นจะมีผลผลิตล้นทะลักมาแค่ไหนก็ตามเพราะเรามีอุตสาหกรรมรองรับ ทำโปรดักต์ทำธุรกิจใหม่ๆ ออกมาเพื่อรองรับมะพร้าวในทุกช่วงเวลา ทั้งการเป็นซัพพลายเออร์ส่งออก raw material ให้กับแบรนด์น้ำมะพร้าวหลายแบรนด์ในโลก ทำแบรนด์น้ำมะพร้าวพร้อมดื่มของตัวเองอย่าง All Coco หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับมะพร้าวน้ำหอมไทยแทนที่จะมัวไปพูดถึงแต่เรื่องตัดอ่อนตัดแก่อย่างเดียว เพราะสิ่งที่จะทำให้สินค้าเกษตรอยู่ได้คือความต่อเนื่อง 

แล้วความต่อเนื่องก็ส่งผลไปถึงคู่ค้าของเราด้วย เพราะถ้าเราเดี๋ยวขายเดี๋ยวไม่ขาย เดี๋ยวมีของส่งเดี๋ยวไม่มี แบบนี้ใครอยากจะมาค้าขายกับเรา

ที่สำคัญเลยคือเรื่องคุณภาพ เพราะถ้าเราส่งของไม่ดีไป แล้วใครจะอยากมาสั่งซ้ำ หนำซ้ำเขายังต้องเสียเวลาเสียเงินในการจัดการเอาไปทิ้งอีก การควบคุมคุณภาพตั้งแต่การปลูกก็เลยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งภาพทั้งหมดทั้งมวลนี้มันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีการจัดการ supply chain ที่ดีพอ

อะไรคือความสนุกในการทำธุรกิจกับมะพร้าวของคุณ

คือแม้จะเป็นแค่ผลไม้ชนิดเดียวแต่มันมีสิ่งให้เราเรียนรู้ไม่จบ ทั้งเรื่องการจัดการ supply chain ให้มะพร้าวมีคุณภาพ การดีไซน์แพ็กเกจจิ้ง การคิดนวัตกรรมที่ทำให้มะพร้าวขายดีขึ้นได้ การไปบุกตลาดใหม่ๆ และอะไรอีกมากมาย

แค่มะพร้าวอย่างเดียวก็เลยมีเรื่องให้เรายังรู้สึกสนุกกับมันอยู่ตลอดเวลา 


*Geographical Indication หรือ GI คือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นตัวบอกว่าสินค้าที่มาจากแหล่งนี้มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่นข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ไข่เค็มไชยา มะขามหวานเพชรบูรณ์ สับปะรดภูแลเชียงราย เป็นต้น

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like