1047
July 17, 2023

Guide of Character Licensing Business

10 ขั้นตอนการเริ่มต้นทำธุรกิจคาแร็กเตอร์ลิขสิทธิ์จากตัวอย่างความสำเร็จของ กรชนก ตรีวิทยานุรักษ์ ผู้ผลิตตุ๊กตา Moomin, Mr. Men & Little Miss, LINE FRIENDS ฯลฯ

สำหรับคนที่มีคาแร็กเตอร์การ์ตูนในดวงใจและอยากทำธุรกิจน่าจะเคยฝันถึงการเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าคาแร็กเตอร์สุดน่ารักที่ตัวเองชื่นชอบ ข้อดีของธุรกิจนี้คือมีตลาดรองรับเพราะหากคาแร็กเตอร์เป็นที่รู้จัก นั่นแปลว่ามีกลุ่มแฟนคลับที่มีความชอบเหมือนคุณซึ่งตั้งตารอซื้อสินค้าอยู่แล้ว
.
เราขอรวบรวม 10 ขั้นตอนการเริ่มต้นทำธุรกิจคาแร็กเตอร์ลิขสิทธิ์ให้สำเร็จและยืนระยะได้อย่างแข็งแกร่ง จากตัวอย่างของอาณาจักรธุรกิจตุ๊กตาสุดน่ารักทั้ง Moomin, Mr. Men & Little Miss, Miffy, We Bare Bears, LINE FRIENDS, Looney Tunes ฯลฯ ที่ ทอย–กรชนก ตรีวิทยานุรักษ์ ถือลิขสิทธิ์ภายใต้หลายบริษัท ทั้งบริษัท CODEC Creation, Present Tale และ CODY Factory

มาดูขั้นตอนตั้งแต่เริ่มจนขั้นตอนการพัฒนาธุรกิจกันเลยว่าคุณเหมาะไหมที่จะก้าวเข้ามาในธุรกิจนี้

1. เลือกตัวการ์ตูนจากความชอบและไทม์มิ่งที่เหมาะสม

สิ่งที่ทำให้คาแร็กเตอร์จะรอดหรือร่วงคือจังหวะเวลาที่เหมาะสม การเลือกตัวการ์ตูนที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วจะทำให้ขายง่าย หากการ์ตูนที่เราชอบยังไม่ดังในตอนนั้น ก็ต้องรอเวลาจนกว่าคาแร็กเตอร์นั้นจะดังขึ้น อย่าง Mr. Men & Little Miss ที่ซื้อลิขสิทธิ์ก่อนที่คนจะรู้จักแพร่หลายราว 5-6 ปี  

2. ติดต่อเจ้าของลิขสิทธิ์และหาพาร์ตเนอร์ที่ช่วยเสริมจุดแข็ง

ในการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ ต้องยื่นข้อมูลโปรไฟล์บริษัทว่าเราคือใคร ทำสินค้าแบบไหน หากมีโรงงานเป็นของตัวเองและแหล่งการขายอยู่แล้วจะได้เปรียบในการนำเสนอจุดแข็งของบริษัท สามารถหาพาร์ตเนอร์ที่ช่วยเสริมจุดแข็งด้านการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์และการผลิตมาช่วยเราได้ 

3. ศึกษาคาแร็กเตอร์จากไกด์ไลน์โดยเจ้าของลิขสิทธิ์

ส่วนใหญ่เจ้าของลิขสิทธิ์จะมีข้อแนะนำในการนำคาแร็กเตอร์ไปใช้ เป็นไกด์หรือหนังสือเกี่ยวกับคาแร็กเตอร์นั้นๆ สำหรับให้ศึกษา ก่อนผลิตสินค้าจึงควรศึกษาข้อแนะนำเหล่านี้ให้ละเอียด

4. เตรียมใจในการแก้แบบที่ต้องใช้เวลาและมีต้นทุนสูง

การส่งแบบให้เจ้าของลิขสิทธิ์ตรวจต้องเผื่อเวลาในการพัฒนาและแก้แบบ อย่างตุ๊กตาของกรชนกถูกแก้มาแล้วมากกว่า 20 ครั้ง และหนึ่งคอลเลกชั่นใช้เวลาราว 6-8 เดือนในการพัฒนา ใส่ใจรายละเอียดทุกจุด ต้องถ่ายวิดีโอทุกมุมและส่งสินค้าไปให้เจ้าของลิขสิทธิ์ตรวจ

5. หากอยากออกแบบให้ทำท่าพิเศษต้องเสนอเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน

การออกแบบให้คาแร็กเตอร์ทำท่าพิเศษที่ถูกใจคนไทยจะทำให้สินค้ามีความน่าสนใจ เช่น ตุ๊กตาท่ายกมือไหว้ ใส่ชุดไทย หรือทำท่าต่างๆ ที่เจ้าของคาแร็กเตอร์ยังไม่เคยทำ แต่ต้องเสนอเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน

6. เล่าสตอรีให้คนรักและอินกับคาแร็กเตอร์

เลือกคาแร็กเตอร์ที่มีเรื่องราวและเล่าเรื่องราวเหล่านั้นให้คนรัก ไม่ว่าจะเป็นคาแร็กเตอร์นี้เป็นใคร มาจากไหน มีเนื้อเรื่องอะไร มีนิสัยแบบไหน เพราะคนมักชอบตัวละครจากสตอรีที่ตรึงใจ

7. พาคาแร็กเตอร์ไปอยู่ในที่ที่คนเห็นบ่อยๆ

ทำให้คนเห็นบ่อยๆ เช่น ใช้การตลาดแบบอินฟลูเอนเซอร์เข้าช่วย วางขายที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง
เมื่อคนเห็นผ่านตาบ่อยครั้งจะทำให้คนรู้สึกว่าตัวละครตัวนี้มีกระแสและอยากรู้จักคาแร็กเตอร์นั้นเพิ่มเติม

8. ทำโปรดักต์หลายแบบให้คนซื้อซ้ำได้

เพิ่มโอกาสให้คนซื้อซ้ำได้เพราะสินค้าบางอย่างอาจไม่ได้ซื้อตลอดเวลา เช่น ตุ๊กตา เลือกประเภทสินค้าที่มีข้อได้เปรียบด้านการผลิตจะได้เปรียบ เช่น จากการผลิตตุ๊กตาเป็นหลักก็ขยายไลน์สินค้าเป็นโปรดักต์ที่ทำจากผ้ามีขน เช่น รองเท้าสลิปเปอร์ พวงกุญแจ กระเป๋า

9. ทำโปรดักต์หลายช่วงราคาให้คนเข้าถึงได้

การทำสินค้าชิ้นเล็กจะทำให้สามารถขายในราคาที่ถูกลงและเข้าถึงคนได้มากขึ้น อย่างพวงกุญแจขนาดเล็กที่มีราคาไม่แพงและเข้าถึงเด็กๆ ได้ง่าย

10. ซื้อลิขสิทธิ์คาแร็กเตอร์อื่นๆ เพิ่มเพื่อสะสมความน่าเชื่อถือ

นอกจากการขยายคาแร็กเตอร์ในพอร์ตให้มีหลายตัวจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการขายแล้ว ยังช่วยเพิ่มความเชื่อถือในเวลาที่อยากซื้อลิขสิทธิ์เพิ่ม หาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจเพิ่ม หรือแตกแบรนด์เพื่อขยายธุรกิจ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ capitalread.co/codec-creation

You Might Also Like