Good Community Impact
ธุรกิจที่ขับเคลื่อนวงการต่างๆ ให้เติบโต จนเกิดการสร้างพื้นที่หรือสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มของคนที่มีใจรักในสิ่งเดียวกัน
ย้อนไปเดือนนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราตั้งคำถามกับ 100 ผู้ประกอบการและตัวแทนของธุรกิจต่างๆ ว่า ‘อะไรคือทุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจที่คุณทำเติบโตมาจนถึงวันนี้’ ก่อนจะค้นพบว่าท่ามกลางคำตอบมากมาย แต่ละธุรกิจมีสิ่งที่ให้คุณค่าแตกต่างกันออกไป ไม่แน่ว่าคำตอบเหล่านั้นอาจกลายไปเป็นทุนสำคัญของธุรกิจอื่นๆ อีกต่อไป
จวบจนปัจจุบัน Capital เดินทางมาถึงขวบปีที่ 3 ผ่านการนำพาความตั้งใจที่อยากบอกเล่าเรื่องราวในโลกธุรกิจอย่างเป็นมิตรด้วยวิธีการที่หลากหลายและสร้างสรรค์ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ‘better business for good life’ เราขอเฉลิมฉลองช่วงเวลาสุดแสนพิเศษนี้ ผ่านการเชิดชูธุรกิจที่น่าจับตามองแห่งปีและทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นในหลากหลายมิติ
ผ่าน ‘CAPITAL40: 40 Businesses to Watch in 2025’ ที่พวกเราตั้งใจส่องไฟไปยัง 40 ธุรกิจที่ล้วนแล้วแต่มีผลงานอันโดดเด่นและเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ล้ำหน้า พร้อมพาไปดูว่าพวกเขาจะสร้างกระแสใหม่และเปิดขอบเขตความเป็นไปได้ของอนาคตได้ยังไง?
ไม่แน่ว่า 40 ธุรกิจนี้อาจเป็นแบรนด์ที่คุณหลงรัก อยากเปิดใจอยากทำความรู้จัก ไปจนถึงสร้างแรงบันดาลใจ เติมไฟให้คนทำธุรกิจ หรือชวนให้กลับมาขบคิดถึงแนวทางการทำธุรกิจตลอดปี 2025

HOW : THE KNOW HOW
HOW คลับคลังปัญญาไม่รู้จบของคนทำธุรกิจ
WHAT HAPPENED :
ความสำเร็จต้องอาศัยทั้ง know-how และ know who นี่คือคำกล่าวของ โจ้–ธนา เธียรอัจฉริยะ นักการตลาดและผู้บริหารที่มีผลงานคุณภาพการันตีมากมาย โดยเขาได้ร่วมกับ กระทิง–เรืองโรจน์ พูนผล สร้างบ้านที่จะมาปรุงความรู้และมิตรภาพในชื่อว่า ‘House of Wisdom’ หรือ ‘HOW’ คลับที่เปิดให้สมัครในรูปแบบสมาชิกรายปีและสมาชิกระยะยาว ซึ่ง 300 คนแรกจะเลือกจากคนที่พวกเขารู้จักเท่านั้น และต้องมาจากหลากเจเนอเรชั่น หลายธุรกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในวันที่โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน จนความรู้ในตำราอาจไม่พอ แต่ต้องอาศัยทั้งประสบการณ์และมุมมองใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์ให้ได้มาซึ่งอินไซต์ ไปปรับใช้ได้จริงจนกลายเป็นทักษะและภูมิปัญญา ทำให้ภายใน HOW อัดแน่นไปด้วยพาร์ตที่เป็นวิชาการ กิจกรรมเวิร์กช็อป กิจกรรม networking และ activity แบบแปลกๆ แบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน คล้ายเป็นบุฟเฟต์ความรู้ให้คนในคลับมาตักตวงกันได้อย่างอิสระ ใครชอบมากก็ตักมาก
WHAT’S NEXT :
โจ้และกระทิงอยากให้ HOW เป็นคลับที่ขับเคลื่อนชีวิต ธุรกิจ และสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้น เริ่มจากเพิ่มสมาชิกน้ำดีให้มาสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ นอกจากนั้นพวกเขายังเตรียมเปิดเว็บคอนเทนต์ที่ตั้งใจส่งต่อ wisdom จากเหล่าสมาชิกออกไปในวงกว้าง ไปจนถึงภาพใหญ่อย่างการขยายบ้านของ HOW ให้ไปถึง regional เพื่อเชื่อมคอนเนกต์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพราะพวกเขาตั้งใจจะทำให้มนุษย์คนหนึ่งเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ และถ้าระดับภูมิภาคแต่ละที่ดีขึ้น ก็ทำให้โลกทั้งใบดีขึ้นได้
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Education Ecosystem สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่มากกว่าในตำรา แต่คือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แชร์อินไซต์ ที่นำไปสู่การใช้จริง และต่อยอดเป็นภูมิปัญญา
– Strong Community บ้านที่แขกแต่ละคนเป็นผู้รู้ในสาขาต่างๆ จากทั่วทุกภูมิภาค จึงมั่นใจได้ว่าบ้านแห่งนี้เป็นคอมมิวนิตี้ที่แข็งแรงจริงๆ
– Lifelong Relationship ไม่ใช่คลับที่กระชับความสัมพันธ์แบบผิวเผิน แต่คือการ sharing and learning ไปด้วยกันแบบ long term

Dragonfly : THE LEAD WELL
Dragonfly งานฮีลใจลีดเดอร์ให้ไปลีดองค์กรด้วยพลังบวก
WHAT HAPPENED :
ท่ามกลางงานเสวนาพัฒนาผู้นำที่มีมากมาย แต่ Dragonfly H.E.A.L Summit ถือเป็นมิติใหม่ของไทยที่มีงาน wellness เพื่อพัฒนาผู้นำให้แข็งแรงทั้งกายใจและจิตวิญญาณ ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวของ แพม–ประนัปดา พรประภา จิราธิวัฒน์ วู้ดดี้–วุฒิธร มิลินทจินดา และซินดี้–สิรินยา บิชอพ สามผู้ก่อตั้ง Dragonfly แพลตฟอร์มขับเคลื่อนสังคมระดับภูมิภาคเอเชีย ที่ค้นพบว่าการเปลี่ยนแปลงตัวเองทำให้ชีวิตการทำงานและการนำทีมดีขึ้น ทำให้ในปีที่ผ่านมาเราได้เห็นงานนี้รวมตัวสปีกเกอร์ชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้าน leadership และ well-being เช่น Roxie Nafousi ผู้เขียนหนังสือ Manifest: 7 Steps to Living Your Best Life, Steven Bartlett ผู้ก่อตั้ง Social Chain และเจ้าของพ็อดแคสต์ The Diary of a CEO ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในยุโรป นอกจากในส่วนของทอล์กยังมีโซนที่รวมศาสตร์ของการบำบัดและการดูแลตนเองหลายแขนง เช่น เวิร์กช็อป Flower Mandala with Sound Healing จาก Chiva-Som ซึ่งมีกระแสตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 คน ที่เดินทางมาจากหลายประเทศทั่วโลก และถือเป็นมิติใหม่ที่มาเติมเต็มการเป็นผู้นำให้เต็มไปด้วยพลังบวก พร้อมพัฒนาองค์กรและสังคมต่อไป
WHAT’S NEXT :
แพม, วู้ดดี้, ซินดี้ ตั้งใจที่จะจัดงาน Dragonfly ต่อเนื่องไปทุกปี รวมถึงมี retreat และ academy ที่จัดกิจกรรมดูแลสุขภาพใจไปจนถึงเทรนนิ่งให้บริษัทต่างๆ ด้านการเป็นผู้นำแบบองค์รวมที่ดี โดยวาดฝันอยากให้แพลตฟอร์มนี้สร้างกิจกรรมและคอมมิวนิตี้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนอย่างแท้จริง และเยียวยาจิตใจผู้คนในหลากหลายมิติ เพราะเชื่อว่าผู้นำที่ดีจะเป็นผู้จุดประกายสังคมที่ดี มีความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียม และลดการแบ่งแยกทางสังคม
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Empowering Leadership สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้นำในมิติของการเยียวยาจิตใจและเสริมสุขภาพใจให้แข็งแกร่ง
– Promoting Equality สร้างความสมดุลให้ตัวเองแล้วส่งพลังสนับสนุนกันและกันเพื่อสร้างความเท่าเทียม
– Global Speaker สร้างพลังด้วยสปีกเกอร์ที่ทรงพลัง และครบคลุมทั้งมิติของ leadership และ well-being

CREATIVE TALK : THE CREATIVE NEXUS
CREATIVE TALK พื้นที่สังสรรค์ของเหล่าคนทำงานสร้างสรรค์
WHAT HAPPENED :
ภาพงานเสวนาที่เห็นกันจนชินตาคือมีสปีกเกอร์ขึ้นพูดบนเวทีแล้วก็จบไป แต่ไม่ใช่กับ ‘Creative Talk’ ที่ เก่ง–สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม เชื่อว่าธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ไม่ได้เกิดจากคนเก่งเพียงคนเดียว แต่เกิดจากคนเก่งในเรื่องที่ต่างกันมารวมตัวกัน จึงตั้งใจเปิดพื้นที่ที่เป็นแหล่งพบปะพูดคุยกันของคนทำงานสร้างสรรค์หลากวงการ ทั้งธุรกิจ สตาร์ทอัพ เทคโนโลยี ครีเอทีฟ และการตลาด ผ่านการจัดงาน ‘Creative Talk Conference’ เพื่อมาอัพเดตข้อมูลสดใหม่ตามยุคสมัย สร้างแรงบันดาลใจ และเพิ่มพูนทักษะในการทำงานไปด้วยกัน อย่างในปี 2024 ที่ผ่านมามีถึง 4 เวที 60 เซสชั่น สปีกเกอร์กว่า 100 คน และยังคงคอนเซปต์จัดเต็มกิจกรรมมากกว่ามานั่งฟังเฉยๆ ด้วยการมีเวิร์กช็อปถึง 12 กิจกรรม เช่น การตลาดแบบ fandom, การทำภาพ จาก GenAI ที่ใช้งานได้จริง ทำให้ Creative Talk กลายเป็นคอมมิวนิตี้ที่มีแฟนอย่างเหนียวแน่นจากปีแรกที่มีผู้เข้าร่วมเพียง 70 คน สู่ขวบปีที่ 11 มีการจัดงาน Creative Talk Conference ไปแล้วถึง 13 ครั้ง และประสบความสำเร็จจากการมีผู้ร่วมงานมากถึง 10,000 คน
WHAT’S NEXT :
ในส่วนของการจัดงาน Creative Talk Conference เราจะเห็นสเกลที่ยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี มีข้อมูลที่สดใหม่ กิจกรรมที่ผัดเปลี่ยนตามยุคสมัย และเก่งไม่ได้อยากให้คอมมิวนิตี้นี้จบแค่ในงานเสวนา แล้วมาพบปะกันปีละครั้ง แต่ต้องการสร้าง creative economy ให้คนแต่ละวงการสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และการทำงานกันได้ เพื่อขับเคลื่อนวงการสร้างสรรค์ไปยังก้าวต่อไปที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Networking พื้นที่สังสรรค์ของเหล่าคนทำงานสร้างสรรค์หลากวงการ เพื่อมาแลกเปลี่ยนความรู้คู่ประสบการณ์ นอกเหนือจากเนื้อหาบนเวที
– Being Up-to-date เป็นที่จดจำว่าถ้าอยากหาข้อมูลสดใหม่ อัพเดตเทรนด์ก่อนใครต้องมาที่งาน Creative Talk Conference
– Expert Speaker อัดแน่นด้วยวิทยากรที่หลากหลาย พูดเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย ฟังจบเก็ตได้ทันที

Made in Songwat : MADE IN COMMUNITY
Made in Songwat พื้นที่ที่ความเก่าและความใหม่มาบรรจบกันผ่านการสร้างเครือข่าย
WHAT HAPPENED :
ย่านที่เต็มไปด้วยตึกเก่า แต่มีมนตร์เสน่ห์จากร้านอาหาร คาเฟ่ และแกลเลอรีที่มาเติมเต็มหัวใจให้ย่านทรงวาดกลับมาเต้นแรง จนติดหนึ่งใน 40 ย่านที่คูลที่สุดในโลก มีเบื้องหลังมาจาก ‘Made in Song Wat’ เครือข่ายผู้ประกอบการทั้งเก่าและใหม่ในย่านทรงวาด นำทีมโดย อุ๊ย–เกียรติวัฒน์ ศรีจันทร์วันเพ็ญ ที่อยากปลุกปั้นบ้านเกิดและที่ทำกินของพวกเขาให้คนรู้จักในฐานะย่านผสมผสานระหว่างมรดกทางวัฒนธรรมจากอดีต และความโมเดิร์นที่ผสานรวมกับความคิดสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น Song Wat Guidebook ที่แนะนำสถานที่ต่างๆ ในย่านทรงวาด นอกจากสร้างเครือข่ายในย่านเดียวกันแล้ว ยังจับมือร่วมกับหน่วยงานภายนอก เช่น คอลแล็บกับภาพยนตร์แมนสรวง จนมีแฟนๆ และนักท่องเที่ยวมาตามรอยให้ย่านนี้คึกคักอีกครั้ง รวมไปถึงงานใหญ่อย่าง Song Wat Week ที่จะมีธีมผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละปีและทำให้ย่านนี้ป๊อปขึ้นในใจคนไทยและนักท่องเที่ยว
WHAT’S NEXT :
ไม่ว่าในอนาคตจะมีร้านรวงอะไรใหม่ๆ ในย่านทรงวาด อุ๊ยก็ยังอยากให้เกิดการรวมตัวกันในชื่อ Made in Song Wat เพราะเขาเชื่อว่าย่านที่ดีคือย่านที่ผสานระหว่างคนเก่าและคนใหม่ในพื้นที่ให้อยู่กันอย่างเอื้อเฟื้อ และคาดว่างานใหญ่อย่าง Song Wat Week น่าจะจัดไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีสินค้าหรืออีเวนต์ใหม่ๆ เกิดขึ้นในย่านนี้ รวมไปถึงการเป็นแรงบันดาลใจให้ย่านอื่นๆ เกิดการรวมตัวของผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่น่าสนใจ นำเสนอเสน่ห์สู่สายตาชาวไทยและนักท่องเที่ยว จนเกิดย่านสุดคูลใหม่ๆ ที่น่าไปไม่แพ้ทรงวาด
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Building Relationships ทรงวาดไม่ใช่แค่สถานที่ แต่คือผู้คนที่มารวมตัวกันเพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ในย่านนี้
– Networking สร้างเครือข่ายข้างในให้แข็งแกร่ง สู่การเชื่อมโยงกับเครือข่ายข้างนอก เพื่อให้เกิดภาพกิจกรรมที่ใหญ่ยิ่งขึ้น
– Old Meets New ผสมผสานความเก่าสุดคลาสสิก เข้ากับความโมเดิร์นอย่างสร้างสรรค์

Empathy Sauce : THE HEALING SPACE
Empathy Sauce พื้นที่ดูแลใจในวันที่อยากให้คนสื่อสารกันแบบมี empathy
WHAT HAPPENED :
ใครที่ชอบฟังเรื่องราวฮีลใจเชื่อว่าน่าจะเคยได้ยินเสียงหรือเห็นหน้าค่าตา ดาว–ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักบำบัดและนักแสดงละครเวที ที่อีกบทบาทหนึ่งเธอคือผู้ก่อตั้ง Empathy Sauce พื้นที่ปลอดภัยสำหรับจัดเวิร์กช็อปการสื่อสารด้วย empathy และ mental well-being ให้แก่บุคคลที่ต้องการได้รับการเยียวยา และบริษัทที่ต้องการสร้างสัมพันธ์อันดีภายในองค์กร ไปพร้อมๆ กับมีบริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตแบบตัวต่อตัว แต่ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เธอจึงแยกออกมาเป็น SOULSMITH ที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และทำให้คนรู้สึกเข้าถึงง่าย เหมือนอยู่ใน co-working space มากกว่ามาคลินิกจิตเวช น่าชื่นชมที่เธออยากเปลี่ยนภาพจำว่าการมาปรึกษานักบำบัดเป็นเรื่องที่น่าอาย แต่อยากให้มองว่าเป็นไลฟ์สไตล์ที่ทำได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ต่างจากการปรึกษาใครสักคนที่ไว้ใจ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยในใจของทุกคน
WHAT’S NEXT :
ภาพฝันของดุจดาวคือเธอไม่ได้ต้องการแค่สร้าง Empathy Sauce และ SOULSMITH ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ใครๆ เข้าถึงได้เท่านั้น แต่เธออยากขยายพื้นที่พักใจในวงกว้าง ผ่านการสร้างสังคมที่ผู้คนเห็นอกเห็นใจกัน น่าจับตามองต่อว่าในอนาคตอาจจะเห็นดุจดาวจัดเวิร์กช็อปใหม่ๆ หรือสร้างคอมมิวนิตี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนสามารถมาแชร์เรื่องทุกข์ใจ ได้รับการฮีลใจ และสร้างสังคมที่รุ่มรวยไปด้วยความเข้าใจแบบที่เธอฝันถึงก็เป็นได้
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Empathic Communication ส่งเสริมการสื่อสารกันอย่างเห็นใจ เพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ต่อไป
– Mental Well-being สร้างสุขภาวะทางจิตใจให้แข็งแกร่งผ่านการจัดเวิร์กช็อปอย่างสร้างสรรค์
– Comfort Zone สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนรู้สึกว่าอยากไปปรึกษานักบำบัด ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นไลฟ์สไตล์ที่ทำได้ทุกครั้งเวลาไม่สบายใจ

Thailand Toy Expo : THE TOY CULTURE
Thailand Toy Expo งานที่เปลี่ยนเรื่องเล่นๆ ให้กลายเป็นคอมมิวนิตี้ของนักสะสมของเล่น
WHAT HAPPENED :
อย่างที่รู้กันว่าปีที่ผ่านมากระแสอาร์ตทอยมาแรงแบบฉุดไม่อยู่ แต่ถ้าย้อนไปเมื่อสิบปีก่อนในไทยมีกลุ่มที่สะสมอาร์ตทอยไม่มาก จนกระทั่งเกิดงาน Thailand Toy Expo ที่จัดขึ้นโดย จี๊ป–พงศธร ธรรมวัฒนะ หรือที่รู้จักกันในชื่อดีไซเนอร์ทอย นักสะสมตัวยงและผู้ก่อตั้ง J.P. TOYS Gallery ร้านนำเข้าและจำหน่ายอาร์ตทอยที่เต็มไปด้วยของแรร์ พร้อมคอลแล็บกับศิลปินและครีเอเตอร์หลายคน จนมีอาร์ตทอยยอดฮิตอย่าง Nong Toy ซึ่งการจัดงานของเขาถือว่ามาก่อนกาล ที่กระแสอาร์ตทอยจะบูมขนาดนี้ซะอีก ด้วยความที่งานนี้จัดให้เข้าฟรีและจัดต่อเนื่องกันทุกปี มีทั้งศิลปินไทยและศิลปินชื่อดังระดับโลก จึงเป็นเหมือนงานที่รวมเหล่าสาวกคนรักของเล่นให้มาพบปะกันไปในตัว ทำให้อุตสาหกรรมของเล่นไทยขยายวงกว้างและเจาะตลาดที่แมสมากขึ้น ซึ่งปีที่ผ่านมางาน Thailand Toy Expo เขาสู่ขวบปีที่ 12 จากพื้นที่จัดงานเล็กๆ แค่ 500 ตารางเมตร จนปัจจุบันขยายมาเป็น 7,600 ตารางเมตร และรวมของเล่นของสะสมกว่า 200 แบรนด์ จาก 14 ประเทศทั่วโลก ด้วยสเกลขนาดนี้และการจัดงานต่อเนื่องมาหลายปี ถ้าจะบอกว่างานนี้เป็นงานแรกๆ ที่ทำให้เกิดคำว่าคอมมิวนิตี้กลุ่มนักสะสมของเล่นก็คงไม่ผิดนัก
WHAT’S NEXT :
จี๊ปคิดว่าในอนาคตของเล่นจะถูกยกระดับให้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ด้วยความที่ตลาดโตขึ้นมาก มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามามาก และไม่แน่ว่าศิลปินอาร์ตทอยไทยอาจไปไกลระดับโลก โดยเขาตั้งใจจะจัดงาน Thailand Toy Expo ต่อไป โดยน่าจับตามองต่อว่างานนี้ไม่ได้เป็นแค่งานรวมตัวคนที่ชอบของเล่นเท่านั้น แต่ยังเหมือนเป็นงานที่สนับสนุนศิลปินทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ กระตุ้นเศรษฐกิจในวงการของเล่นให้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นที่น่าจับตามองต่อว่า Thailand Toy Expo ในปีนี้จะมีการเปิดตัวอาร์ตทอยใหม่ๆ อะไรอีกบ้าง โดยเฉพาะอาร์ตทอยสายมูที่มาแรงไม่มีแผ่ว รวมไปถึงว่าจะมีศิลปินชื่อดังระดับโลกคนไหนมางานอีกบ้าง
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Passion จากความหลงใหลในของเล่น สู่ความตั้งใจที่อยากให้วงการของเล่นเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
– Toy Community เปลี่ยนเรื่องเล่นๆ ให้จริงจังด้วยการทำให้เกิดคอมมิวนิตี้ของคนรักของเล่นได้มาพบปะกันทุกปี
– Special สร้างความน่าตื่นใจด้วยอาร์ตทอยลิมิเต็ดเอดิชั่น ที่ศิลปินออกแบบพิเศษเพื่องานนี้โดยเฉพาะ

Maho Rasop : THE INDIE MUSIC REVIVAL
Maho Rasop เทศกาลดนตรีที่ปลุกให้คนฟังดนตรีนอกกระแส
WHAT HAPPENED :
ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อนเทศกาลดนตรีในไทย มักจะจัดในทิศทางเดียวกันคือเน้นแสดงวงดนตรีที่อยู่ในกระแสหลัก และมักจัดงานในต่างจังหวัด แต่ยังไม่มีงานไหนที่ชูคอนเซปต์ดนตรีทางเลือก จนกระทั่งเกิดงาน ‘Maho Rasop Festival’ งานที่เกิดความตั้งใจของ ท้อป–ศรัณย์ ภิญญรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Fungjai, แป๋ง–พิมพ์พร เมธชนัน และกิ–กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้ก่อตั้ง HAVE YOU HEARD และปูม–ปิยสุ โกมารทัต ผู้ก่อตั้ง Seen Scene Space ที่อยากเติมเต็มช่องว่างทางดนตรีและสร้างวัฒนธรรมการฟังเพลงใหม่ๆ ให้เปิดใจยอมรับวงที่อาจจะยังไม่แมสในขณะนั้น แต่เป็นวงทางเลือกที่น่าสนใจ และทำเทศกาลดนตรีให้เป็นเหมือนบุฟเฟต์นานาชาติ ที่มีทั้งศิลปินไทยและศิลปินต่างชาติ ทั้งเบอร์ใหญ่ที่อาจจะหาดูที่ไหนไม่ได้ สลับกับการแสดงโชว์ของวงหน้าใหม่ มาเสิร์ฟให้เกิดรสชาติทางดนตรีที่หลากหลาย และสถานที่จัดงานที่ยังคงอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้งานนี้เป็นเหมือนพื้นที่รวมตัวกันของคนรักเสียงเพลงและรักดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ ชอบค้นหา ศิลปิน และดนตรีที่ตรงกับรสนิยม และแน่นอนว่าต้องรักการดูคอนเสิร์ต รวมไปถึงกลุ่ม festivalgoer จากทั่วโลกที่เดินทางมาไทย เพื่อมาอยู่ มากิน มาฟังเพลง และสัมผัสกลิ่นอายของเฟสติวัลแบบที่พวกเขารัก
WHAT’S NEXT :
ท้อป, แป๋ง, กิ และปูม พวกเขาทั้ง 4 ตั้งใจที่จะจัดงาน Maho Rasop ต่อไป แต่อยากให้เป็นมิวสิกเฟสติวัลที่ family friendly กว่าเดิม ถึงแม้ในวันนี้จะมีฐานแฟนๆ อย่างเหนียวแน่นและมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน แต่ก้าวต่อไปที่น่าจับตามองคืองานนี้อาจเป็นหมุดหมายที่คนรักเทศกาลดนตรีจากทั่วโลกลิสต์ไว้ว่าจะต้องมาสักครั้งในชีวิต และขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ เป็นที่รู้จักในฐานะเมืองดนตรีมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงการผลักดันให้วงดนตรีไทยได้ไปเล่นในเฟสติวัลระดับโลก
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Diverse Lineup เสิร์ฟดนตรีหลากหลายแนวจากศิลปินที่หลากหลายทั้งเบอร์เล็กและเบอร์ใหญ่ สร้างเทศกาลดนตรีนอกกระแสให้เป็นที่รักของคนฟังเพลง
– Specific Audience เจาะเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม แต่กลุ่มเป้าหมายต้องชัดเจน และสร้างฐานแฟนคลับให้เหนียวแน่น
– Experience ไม่เพียงแต่จัดคอนเสิร์ต แต่ส่งประสบการณ์ในงานเทศกาล ให้เหมือนมาพบปะสังสรรค์ เจอคนที่ชื่นชอบดนตรีเหมือนกัน