นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

173
January 27, 2025

Good Community Impact

ธุรกิจที่ขับเคลื่อนวงการต่างๆ ให้เติบโต จนเกิดการสร้างพื้นที่หรือสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มของคนที่มีใจรักในสิ่งเดียวกัน

ย้อนไปเดือนนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราตั้งคำถามกับ 100 ผู้ประกอบการและตัวแทนของธุรกิจต่างๆ ว่า ‘อะไรคือทุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจที่คุณทำเติบโตมาจนถึงวันนี้’ ก่อนจะค้นพบว่าท่ามกลางคำตอบมากมาย แต่ละธุรกิจมีสิ่งที่ให้คุณค่าแตกต่างกันออกไป ไม่แน่ว่าคำตอบเหล่านั้นอาจกลายไปเป็นทุนสำคัญของธุรกิจอื่นๆ อีกต่อไป

จวบจนปัจจุบัน Capital เดินทางมาถึงขวบปีที่ 3 ผ่านการนำพาความตั้งใจที่อยากบอกเล่าเรื่องราวในโลกธุรกิจอย่างเป็นมิตรด้วยวิธีการที่หลากหลายและสร้างสรรค์ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ‘better business for good life’ เราขอเฉลิมฉลองช่วงเวลาสุดแสนพิเศษนี้ ผ่านการเชิดชูธุรกิจที่น่าจับตามองแห่งปีและทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นในหลากหลายมิติ

ผ่าน ‘CAPITAL40: 40 Businesses to Watch in 2025’  ที่พวกเราตั้งใจส่องไฟไปยัง 40 ธุรกิจที่ล้วนแล้วแต่มีผลงานอันโดดเด่นและเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ล้ำหน้า พร้อมพาไปดูว่าพวกเขาจะสร้างกระแสใหม่และเปิดขอบเขตความเป็นไปได้ของอนาคตได้ยังไง?

ไม่แน่ว่า 40 ธุรกิจนี้อาจเป็นแบรนด์ที่คุณหลงรัก อยากเปิดใจอยากทำความรู้จัก ไปจนถึงสร้างแรงบันดาลใจ เติมไฟให้คนทำธุรกิจ หรือชวนให้กลับมาขบคิดถึงแนวทางการทำธุรกิจตลอดปี 2025

HOW

HOW : THE KNOW HOW
HOW คลับคลังปัญญาไม่รู้จบของคนทำธุรกิจ

WHAT HAPPENED : 

ความสำเร็จต้องอาศัยทั้ง know-how และ know who นี่คือคำกล่าวของ โจ้–ธนา เธียรอัจฉริยะ นักการตลาดและผู้บริหารที่มีผลงานคุณภาพการันตีมากมาย โดยเขาได้ร่วมกับ กระทิง–เรืองโรจน์ พูนผล สร้างบ้านที่จะมาปรุงความรู้และมิตรภาพในชื่อว่า ‘House of Wisdom’ หรือ ‘HOW’ คลับที่เปิดให้สมัครในรูปแบบสมาชิกรายปีและสมาชิกระยะยาว ซึ่ง 300 คนแรกจะเลือกจากคนที่พวกเขารู้จักเท่านั้น และต้องมาจากหลากเจเนอเรชั่น หลายธุรกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในวันที่โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน จนความรู้ในตำราอาจไม่พอ แต่ต้องอาศัยทั้งประสบการณ์และมุมมองใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์ให้ได้มาซึ่งอินไซต์ ไปปรับใช้ได้จริงจนกลายเป็นทักษะและภูมิปัญญา ทำให้ภายใน HOW อัดแน่นไปด้วยพาร์ตที่เป็นวิชาการ กิจกรรมเวิร์กช็อป กิจกรรม networking และ activity แบบแปลกๆ แบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน คล้ายเป็นบุฟเฟต์ความรู้ให้คนในคลับมาตักตวงกันได้อย่างอิสระ ใครชอบมากก็ตักมาก

WHAT’S NEXT :

โจ้และกระทิงอยากให้ HOW เป็นคลับที่ขับเคลื่อนชีวิต ธุรกิจ และสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้น เริ่มจากเพิ่มสมาชิกน้ำดีให้มาสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ นอกจากนั้นพวกเขายังเตรียมเปิดเว็บคอนเทนต์ที่ตั้งใจส่งต่อ wisdom จากเหล่าสมาชิกออกไปในวงกว้าง ไปจนถึงภาพใหญ่อย่างการขยายบ้านของ HOW ให้ไปถึง regional เพื่อเชื่อมคอนเนกต์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพราะพวกเขาตั้งใจจะทำให้มนุษย์คนหนึ่งเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ และถ้าระดับภูมิภาคแต่ละที่ดีขึ้น ก็ทำให้โลกทั้งใบดีขึ้นได้

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Education Ecosystem สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่มากกว่าในตำรา แต่คือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แชร์อินไซต์ ที่นำไปสู่การใช้จริง และต่อยอดเป็นภูมิปัญญา

– Strong Community บ้านที่แขกแต่ละคนเป็นผู้รู้ในสาขาต่างๆ จากทั่วทุกภูมิภาค จึงมั่นใจได้ว่าบ้านแห่งนี้เป็นคอมมิวนิตี้ที่แข็งแรงจริงๆ

Lifelong Relationship ไม่ใช่คลับที่กระชับความสัมพันธ์แบบผิวเผิน แต่คือการ sharing and learning ไปด้วยกันแบบ long term

Dragonfly

Dragonfly : THE LEAD WELL
Dragonfly งานฮีลใจลีดเดอร์ให้ไปลีดองค์กรด้วยพลังบวก

WHAT HAPPENED : 

ท่ามกลางงานเสวนาพัฒนาผู้นำที่มีมากมาย แต่ Dragonfly H.E.A.L Summit ถือเป็นมิติใหม่ของไทยที่มีงาน wellness เพื่อพัฒนาผู้นำให้แข็งแรงทั้งกายใจและจิตวิญญาณ ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวของ แพม–ประนัปดา พรประภา จิราธิวัฒน์ วู้ดดี้–วุฒิธร มิลินทจินดา และซินดี้–สิรินยา บิชอพ สามผู้ก่อตั้ง Dragonfly แพลตฟอร์มขับเคลื่อนสังคมระดับภูมิภาคเอเชีย ที่ค้นพบว่าการเปลี่ยนแปลงตัวเองทำให้ชีวิตการทำงานและการนำทีมดีขึ้น ทำให้ในปีที่ผ่านมาเราได้เห็นงานนี้รวมตัวสปีกเกอร์ชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้าน leadership และ well-being เช่น Roxie Nafousi ผู้เขียนหนังสือ Manifest: 7 Steps to Living Your Best Life, Steven Bartlett ผู้ก่อตั้ง Social Chain และเจ้าของพ็อดแคสต์ The Diary of a CEO ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในยุโรป นอกจากในส่วนของทอล์กยังมีโซนที่รวมศาสตร์ของการบำบัดและการดูแลตนเองหลายแขนง เช่น เวิร์กช็อป Flower Mandala with Sound Healing จาก Chiva-Som ซึ่งมีกระแสตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 คน ที่เดินทางมาจากหลายประเทศทั่วโลก และถือเป็นมิติใหม่ที่มาเติมเต็มการเป็นผู้นำให้เต็มไปด้วยพลังบวก พร้อมพัฒนาองค์กรและสังคมต่อไป

WHAT’S NEXT :

แพม, วู้ดดี้, ซินดี้ ตั้งใจที่จะจัดงาน Dragonfly ต่อเนื่องไปทุกปี รวมถึงมี retreat และ academy ที่จัดกิจกรรมดูแลสุขภาพใจไปจนถึงเทรนนิ่งให้บริษัทต่างๆ ด้านการเป็นผู้นำแบบองค์รวมที่ดี โดยวาดฝันอยากให้แพลตฟอร์มนี้สร้างกิจกรรมและคอมมิวนิตี้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนอย่างแท้จริง และเยียวยาจิตใจผู้คนในหลากหลายมิติ เพราะเชื่อว่าผู้นำที่ดีจะเป็นผู้จุดประกายสังคมที่ดี มีความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียม และลดการแบ่งแยกทางสังคม

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Empowering Leadership สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้นำในมิติของการเยียวยาจิตใจและเสริมสุขภาพใจให้แข็งแกร่ง

– Promoting Equality สร้างความสมดุลให้ตัวเองแล้วส่งพลังสนับสนุนกันและกันเพื่อสร้างความเท่าเทียม

– Global Speaker สร้างพลังด้วยสปีกเกอร์ที่ทรงพลัง และครบคลุมทั้งมิติของ leadership และ well-being

CREATIVE TALK

CREATIVE TALK : THE CREATIVE NEXUS
CREATIVE TALK พื้นที่สังสรรค์ของเหล่าคนทำงานสร้างสรรค์

WHAT HAPPENED : 

ภาพงานเสวนาที่เห็นกันจนชินตาคือมีสปีกเกอร์ขึ้นพูดบนเวทีแล้วก็จบไป แต่ไม่ใช่กับ ‘Creative Talk’ ที่ เก่ง–สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม เชื่อว่าธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ไม่ได้เกิดจากคนเก่งเพียงคนเดียว แต่เกิดจากคนเก่งในเรื่องที่ต่างกันมารวมตัวกัน จึงตั้งใจเปิดพื้นที่ที่เป็นแหล่งพบปะพูดคุยกันของคนทำงานสร้างสรรค์หลากวงการ ทั้งธุรกิจ สตาร์ทอัพ เทคโนโลยี ครีเอทีฟ และการตลาด ผ่านการจัดงาน ‘Creative Talk Conference’ เพื่อมาอัพเดตข้อมูลสดใหม่ตามยุคสมัย สร้างแรงบันดาลใจ และเพิ่มพูนทักษะในการทำงานไปด้วยกัน อย่างในปี 2024 ที่ผ่านมามีถึง 4 เวที 60 เซสชั่น สปีกเกอร์กว่า 100 คน และยังคงคอนเซปต์จัดเต็มกิจกรรมมากกว่ามานั่งฟังเฉยๆ ด้วยการมีเวิร์กช็อปถึง 12 กิจกรรม เช่น การตลาดแบบ fandom, การทำภาพ จาก GenAI ที่ใช้งานได้จริง ทำให้ Creative Talk กลายเป็นคอมมิวนิตี้ที่มีแฟนอย่างเหนียวแน่นจากปีแรกที่มีผู้เข้าร่วมเพียง 70 คน สู่ขวบปีที่ 11 มีการจัดงาน Creative Talk Conference ไปแล้วถึง 13 ครั้ง และประสบความสำเร็จจากการมีผู้ร่วมงานมากถึง 10,000 คน

WHAT’S NEXT :

ในส่วนของการจัดงาน Creative Talk Conference เราจะเห็นสเกลที่ยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี มีข้อมูลที่สดใหม่ กิจกรรมที่ผัดเปลี่ยนตามยุคสมัย และเก่งไม่ได้อยากให้คอมมิวนิตี้นี้จบแค่ในงานเสวนา แล้วมาพบปะกันปีละครั้ง แต่ต้องการสร้าง creative economy ให้คนแต่ละวงการสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และการทำงานกันได้ เพื่อขับเคลื่อนวงการสร้างสรรค์ไปยังก้าวต่อไปที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Networking พื้นที่สังสรรค์ของเหล่าคนทำงานสร้างสรรค์หลากวงการ เพื่อมาแลกเปลี่ยนความรู้คู่ประสบการณ์ นอกเหนือจากเนื้อหาบนเวที

– Being Up-to-date เป็นที่จดจำว่าถ้าอยากหาข้อมูลสดใหม่ อัพเดตเทรนด์ก่อนใครต้องมาที่งาน Creative Talk Conference

– Expert Speaker อัดแน่นด้วยวิทยากรที่หลากหลาย พูดเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย ฟังจบเก็ตได้ทันที

Made in Songwat

Made in Songwat : MADE IN COMMUNITY
Made in Songwat พื้นที่ที่ความเก่าและความใหม่มาบรรจบกันผ่านการสร้างเครือข่าย

WHAT HAPPENED : 

ย่านที่เต็มไปด้วยตึกเก่า แต่มีมนตร์เสน่ห์จากร้านอาหาร คาเฟ่ และแกลเลอรีที่มาเติมเต็มหัวใจให้ย่านทรงวาดกลับมาเต้นแรง จนติดหนึ่งใน 40 ย่านที่คูลที่สุดในโลก มีเบื้องหลังมาจาก ‘Made in Song Wat’ เครือข่ายผู้ประกอบการทั้งเก่าและใหม่ในย่านทรงวาด นำทีมโดย อุ๊ย–เกียรติวัฒน์ ศรีจันทร์วันเพ็ญ ที่อยากปลุกปั้นบ้านเกิดและที่ทำกินของพวกเขาให้คนรู้จักในฐานะย่านผสมผสานระหว่างมรดกทางวัฒนธรรมจากอดีต และความโมเดิร์นที่ผสานรวมกับความคิดสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น Song Wat Guidebook ที่แนะนำสถานที่ต่างๆ ในย่านทรงวาด นอกจากสร้างเครือข่ายในย่านเดียวกันแล้ว ยังจับมือร่วมกับหน่วยงานภายนอก เช่น คอลแล็บกับภาพยนตร์แมนสรวง จนมีแฟนๆ และนักท่องเที่ยวมาตามรอยให้ย่านนี้คึกคักอีกครั้ง รวมไปถึงงานใหญ่อย่าง Song Wat Week ที่จะมีธีมผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละปีและทำให้ย่านนี้ป๊อปขึ้นในใจคนไทยและนักท่องเที่ยว

WHAT’S NEXT : 

ไม่ว่าในอนาคตจะมีร้านรวงอะไรใหม่ๆ ในย่านทรงวาด อุ๊ยก็ยังอยากให้เกิดการรวมตัวกันในชื่อ Made in Song Wat เพราะเขาเชื่อว่าย่านที่ดีคือย่านที่ผสานระหว่างคนเก่าและคนใหม่ในพื้นที่ให้อยู่กันอย่างเอื้อเฟื้อ และคาดว่างานใหญ่อย่าง Song Wat Week น่าจะจัดไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีสินค้าหรืออีเวนต์ใหม่ๆ เกิดขึ้นในย่านนี้ รวมไปถึงการเป็นแรงบันดาลใจให้ย่านอื่นๆ เกิดการรวมตัวของผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่น่าสนใจ นำเสนอเสน่ห์สู่สายตาชาวไทยและนักท่องเที่ยว จนเกิดย่านสุดคูลใหม่ๆ ที่น่าไปไม่แพ้ทรงวาด

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Building Relationships ทรงวาดไม่ใช่แค่สถานที่ แต่คือผู้คนที่มารวมตัวกันเพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ในย่านนี้

– Networking สร้างเครือข่ายข้างในให้แข็งแกร่ง สู่การเชื่อมโยงกับเครือข่ายข้างนอก เพื่อให้เกิดภาพกิจกรรมที่ใหญ่ยิ่งขึ้น

– Old Meets New ผสมผสานความเก่าสุดคลาสสิก เข้ากับความโมเดิร์นอย่างสร้างสรรค์

Empathy Sauce

Empathy Sauce : THE HEALING SPACE
Empathy Sauce พื้นที่ดูแลใจในวันที่อยากให้คนสื่อสารกันแบบมี empathy

WHAT HAPPENED : 

ใครที่ชอบฟังเรื่องราวฮีลใจเชื่อว่าน่าจะเคยได้ยินเสียงหรือเห็นหน้าค่าตา ดาว–ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักบำบัดและนักแสดงละครเวที ที่อีกบทบาทหนึ่งเธอคือผู้ก่อตั้ง Empathy Sauce พื้นที่ปลอดภัยสำหรับจัดเวิร์กช็อปการสื่อสารด้วย empathy และ mental well-being ให้แก่บุคคลที่ต้องการได้รับการเยียวยา และบริษัทที่ต้องการสร้างสัมพันธ์อันดีภายในองค์กร ไปพร้อมๆ กับมีบริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตแบบตัวต่อตัว แต่ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เธอจึงแยกออกมาเป็น SOULSMITH ที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และทำให้คนรู้สึกเข้าถึงง่าย เหมือนอยู่ใน co-working space มากกว่ามาคลินิกจิตเวช น่าชื่นชมที่เธออยากเปลี่ยนภาพจำว่าการมาปรึกษานักบำบัดเป็นเรื่องที่น่าอาย แต่อยากให้มองว่าเป็นไลฟ์สไตล์ที่ทำได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ต่างจากการปรึกษาใครสักคนที่ไว้ใจ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยในใจของทุกคน

WHAT’S NEXT :

ภาพฝันของดุจดาวคือเธอไม่ได้ต้องการแค่สร้าง Empathy Sauce และ SOULSMITH ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ใครๆ เข้าถึงได้เท่านั้น แต่เธออยากขยายพื้นที่พักใจในวงกว้าง ผ่านการสร้างสังคมที่ผู้คนเห็นอกเห็นใจกัน น่าจับตามองต่อว่าในอนาคตอาจจะเห็นดุจดาวจัดเวิร์กช็อปใหม่ๆ หรือสร้างคอมมิวนิตี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนสามารถมาแชร์เรื่องทุกข์ใจ ได้รับการฮีลใจ และสร้างสังคมที่รุ่มรวยไปด้วยความเข้าใจแบบที่เธอฝันถึงก็เป็นได้

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Empathic Communication ส่งเสริมการสื่อสารกันอย่างเห็นใจ เพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ต่อไป

– Mental Well-being สร้างสุขภาวะทางจิตใจให้แข็งแกร่งผ่านการจัดเวิร์กช็อปอย่างสร้างสรรค์

– Comfort Zone สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนรู้สึกว่าอยากไปปรึกษานักบำบัด ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นไลฟ์สไตล์ที่ทำได้ทุกครั้งเวลาไม่สบายใจ

Thailand Toy Expo

Thailand Toy Expo : THE TOY CULTURE
Thailand Toy Expo งานที่เปลี่ยนเรื่องเล่นๆ ให้กลายเป็นคอมมิวนิตี้ของนักสะสมของเล่น

WHAT HAPPENED : 

อย่างที่รู้กันว่าปีที่ผ่านมากระแสอาร์ตทอยมาแรงแบบฉุดไม่อยู่ แต่ถ้าย้อนไปเมื่อสิบปีก่อนในไทยมีกลุ่มที่สะสมอาร์ตทอยไม่มาก จนกระทั่งเกิดงาน Thailand Toy Expo ที่จัดขึ้นโดย จี๊ป–พงศธร ธรรมวัฒนะ หรือที่รู้จักกันในชื่อดีไซเนอร์ทอย นักสะสมตัวยงและผู้ก่อตั้ง J.P. TOYS Gallery ร้านนำเข้าและจำหน่ายอาร์ตทอยที่เต็มไปด้วยของแรร์ พร้อมคอลแล็บกับศิลปินและครีเอเตอร์หลายคน จนมีอาร์ตทอยยอดฮิตอย่าง Nong Toy ซึ่งการจัดงานของเขาถือว่ามาก่อนกาล ที่กระแสอาร์ตทอยจะบูมขนาดนี้ซะอีก ด้วยความที่งานนี้จัดให้เข้าฟรีและจัดต่อเนื่องกันทุกปี มีทั้งศิลปินไทยและศิลปินชื่อดังระดับโลก จึงเป็นเหมือนงานที่รวมเหล่าสาวกคนรักของเล่นให้มาพบปะกันไปในตัว ทำให้อุตสาหกรรมของเล่นไทยขยายวงกว้างและเจาะตลาดที่แมสมากขึ้น ซึ่งปีที่ผ่านมางาน Thailand Toy Expo เขาสู่ขวบปีที่ 12 จากพื้นที่จัดงานเล็กๆ แค่ 500 ตารางเมตร จนปัจจุบันขยายมาเป็น 7,600 ตารางเมตร และรวมของเล่นของสะสมกว่า 200 แบรนด์ จาก 14 ประเทศทั่วโลก ด้วยสเกลขนาดนี้และการจัดงานต่อเนื่องมาหลายปี ถ้าจะบอกว่างานนี้เป็นงานแรกๆ ที่ทำให้เกิดคำว่าคอมมิวนิตี้กลุ่มนักสะสมของเล่นก็คงไม่ผิดนัก

WHAT’S NEXT :

จี๊ปคิดว่าในอนาคตของเล่นจะถูกยกระดับให้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ด้วยความที่ตลาดโตขึ้นมาก มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามามาก และไม่แน่ว่าศิลปินอาร์ตทอยไทยอาจไปไกลระดับโลก โดยเขาตั้งใจจะจัดงาน Thailand Toy Expo ต่อไป โดยน่าจับตามองต่อว่างานนี้ไม่ได้เป็นแค่งานรวมตัวคนที่ชอบของเล่นเท่านั้น แต่ยังเหมือนเป็นงานที่สนับสนุนศิลปินทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ กระตุ้นเศรษฐกิจในวงการของเล่นให้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นที่น่าจับตามองต่อว่า Thailand Toy Expo ในปีนี้จะมีการเปิดตัวอาร์ตทอยใหม่ๆ อะไรอีกบ้าง โดยเฉพาะอาร์ตทอยสายมูที่มาแรงไม่มีแผ่ว รวมไปถึงว่าจะมีศิลปินชื่อดังระดับโลกคนไหนมางานอีกบ้าง

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Passion จากความหลงใหลในของเล่น สู่ความตั้งใจที่อยากให้วงการของเล่นเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

– Toy Community เปลี่ยนเรื่องเล่นๆ ให้จริงจังด้วยการทำให้เกิดคอมมิวนิตี้ของคนรักของเล่นได้มาพบปะกันทุกปี

– Special สร้างความน่าตื่นใจด้วยอาร์ตทอยลิมิเต็ดเอดิชั่น ที่ศิลปินออกแบบพิเศษเพื่องานนี้โดยเฉพาะ

Maho Rasop

Maho Rasop : THE INDIE MUSIC REVIVAL 
Maho Rasop เทศกาลดนตรีที่ปลุกให้คนฟังดนตรีนอกกระแส

WHAT HAPPENED : 

ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อนเทศกาลดนตรีในไทย มักจะจัดในทิศทางเดียวกันคือเน้นแสดงวงดนตรีที่อยู่ในกระแสหลัก และมักจัดงานในต่างจังหวัด แต่ยังไม่มีงานไหนที่ชูคอนเซปต์ดนตรีทางเลือก จนกระทั่งเกิดงาน ‘Maho Rasop Festival’ งานที่เกิดความตั้งใจของ ท้อป–ศรัณย์ ภิญญรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Fungjai, แป๋ง–พิมพ์พร เมธชนัน และกิ–กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้ก่อตั้ง HAVE YOU HEARD และปูม–ปิยสุ โกมารทัต ผู้ก่อตั้ง Seen Scene Space ที่อยากเติมเต็มช่องว่างทางดนตรีและสร้างวัฒนธรรมการฟังเพลงใหม่ๆ ให้เปิดใจยอมรับวงที่อาจจะยังไม่แมสในขณะนั้น แต่เป็นวงทางเลือกที่น่าสนใจ และทำเทศกาลดนตรีให้เป็นเหมือนบุฟเฟต์นานาชาติ ที่มีทั้งศิลปินไทยและศิลปินต่างชาติ ทั้งเบอร์ใหญ่ที่อาจจะหาดูที่ไหนไม่ได้ สลับกับการแสดงโชว์ของวงหน้าใหม่ มาเสิร์ฟให้เกิดรสชาติทางดนตรีที่หลากหลาย และสถานที่จัดงานที่ยังคงอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้งานนี้เป็นเหมือนพื้นที่รวมตัวกันของคนรักเสียงเพลงและรักดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ ชอบค้นหา ศิลปิน และดนตรีที่ตรงกับรสนิยม และแน่นอนว่าต้องรักการดูคอนเสิร์ต รวมไปถึงกลุ่ม festivalgoer จากทั่วโลกที่เดินทางมาไทย เพื่อมาอยู่ มากิน มาฟังเพลง และสัมผัสกลิ่นอายของเฟสติวัลแบบที่พวกเขารัก

WHAT’S NEXT :

ท้อป, แป๋ง, กิ และปูม พวกเขาทั้ง 4 ตั้งใจที่จะจัดงาน Maho Rasop ต่อไป แต่อยากให้เป็นมิวสิกเฟสติวัลที่ family friendly กว่าเดิม ถึงแม้ในวันนี้จะมีฐานแฟนๆ อย่างเหนียวแน่นและมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน แต่ก้าวต่อไปที่น่าจับตามองคืองานนี้อาจเป็นหมุดหมายที่คนรักเทศกาลดนตรีจากทั่วโลกลิสต์ไว้ว่าจะต้องมาสักครั้งในชีวิต และขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ เป็นที่รู้จักในฐานะเมืองดนตรีมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงการผลักดันให้วงดนตรีไทยได้ไปเล่นในเฟสติวัลระดับโลก

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Diverse Lineup เสิร์ฟดนตรีหลากหลายแนวจากศิลปินที่หลากหลายทั้งเบอร์เล็กและเบอร์ใหญ่ สร้างเทศกาลดนตรีนอกกระแสให้เป็นที่รักของคนฟังเพลง

– Specific Audience เจาะเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม แต่กลุ่มเป้าหมายต้องชัดเจน และสร้างฐานแฟนคลับให้เหนียวแน่น

– Experience ไม่เพียงแต่จัดคอนเสิร์ต แต่ส่งประสบการณ์ในงานเทศกาล ให้เหมือนมาพบปะสังสรรค์ เจอคนที่ชื่นชอบดนตรีเหมือนกัน