238
February 20, 2024

Calligraphy Businessไอเดียธุรกิจการสร้างมูลค่าเพิ่มจากตัวอักษร

calligraphy หรืออักษรวิจิตร คือศาสตร์การออกแบบตัวอักษรที่มักถูกมองว่าเป็นศิลปะ แต่รู้ไหมว่าศิลปะนี้สามารถสร้างรายได้และทำเป็นธุรกิจได้ไม่ต่างจากธุรกิจศิลปะและการออกแบบประเภทอื่นๆ เลย

ทุกอย่างที่มีตัวอักษรทั้งการ์ด บัตรเชิญ โปสเตอร์ โลโก้ แทตทู ป้าย บิลบอร์ด ฉลากสินค้า แพ็กเกจ ของชำร่วย งานศิลปะ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ที่สามารถออกแบบตัวอักษรได้สวยงาม เพื่อให้เห็นภา

คุณสามารถแวะเข้าไปดูผลงานในอินสตาแกรมของศิลปิน calligraphy ชาวไทยเหล่านี้ที่หลงใหล calligraphy มาอย่างยาวนาน @sorravis.p, @nari.luna, @rapigraphy แล้วจะพบว่าผลงานจากการครีเอตตัวอักษรนั้นมีหลากหลายรูปแบบที่คาดไม่ถึงจริงๆ

ส่วนใครที่พอมีทักษะในการออกแบบตัวอักษร เหล่านี้คือไอเดียและสเตปในการเริ่มต้นธุรกิจที่สามารถทำตามได้ง่ายๆ

1. Craft Your Font Style & Find Niche Market : เริ่มจากฝึกฝนสไตล์การเขียนตัวอักษรที่ไม่เหมือนใครและหาโอกาสจากตลาด niche

สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่จะขาดไปไม่ได้เช่นเดียวกับการทำธุรกิจหมวดอื่นๆ คือการสร้างจุดแตกต่าง (unique selling point) ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ถึงแม้ calligraphy จะเป็นศาสตร์ที่มีการสอนทั่วโลกแต่แน่นอนว่าลายมือของแต่ละคนย่อมออกมาไม่เหมือนกัน การออกแบบสไตล์การเขียนและเทคนิคที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเองจะช่วยสร้างความประทับใจและทำให้ผู้ติดตามจดจำเราได้ง่าย

ตัวอย่างศิลปิน calligraphy ที่โด่งดังมานานคือ CHALKBOY ชาวญี่ปุ่นที่เริ่มเขียนด้วยชอล์กจนคนจดจำได้ และพัฒนาเทคนิคอื่นๆ จนได้ร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกมากมาย หรือตัวอย่างในไทยคือศิลปินชาวเหนือนาม Tusk (@tusk6) ที่ออกแบบตัวอักษรโดยผสมกลิ่นอายความเป็นล้านนาเข้าไปทำให้ผลงานของเขาไม่ซ้ำใครและออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหมวก เสื้อผ้า ป้ายคำ ฯลฯ ที่มีกลุ่มลูกค้าเฉพาะของตัวเอง

สไตล์การเขียนตัวอักษรของศิลปินจะส่งผลต่อโมเดลธุรกิจและการเลือกกลุ่มลูกค้าเฉพาะ เช่น หากถนัดใช้ปากกาหมึกซึมเขียนตัวอักษรแบบดั้งเดิมลงบนกระดาษจริง คุณอาจเหมาะกับการทำการ์ดเชิญแบบหรูหราสำหรับงานเลี้ยง งานแต่ง และมีกลุ่มลูกค้าเป็นแขกที่กำลังจะจัดงานเหล่านี้ หรือหากถนัดใช้โปรแกรมเขียนตัวอักษรแบบออนไลน์ ลูกค้าอาจเป็นคนที่กำลังมีแผนจะทำแบรนดิ้งและทำกราฟิก เป็นต้น

2. Choose Business Model : เลือกรูปแบบการขายที่เหมาะกับทักษะและไลฟ์สไตล์ของตัวเอง

การหารายได้จาก calligraphy สามารถขายทั้งในรูปแบบสินค้าและบริการ จับกลุ่มลูกค้าได้ทั้ง B2C และ B2B อีกทั้งสามารถทำเป็นงานอดิเรกขนาดเล็กด้วยตัวคนเดียวไปจนถึงสเกลการขายให้ใหญ่ขึ้นด้วยการพาร์ตเนอร์เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้คอนเนกชั่นเพิ่มเติม ต่อไปนี้คือตัวอย่างรูปแบบการขายที่น่าสนใจ

  • สินค้าการ์ดแฮนด์เมด

ธุรกิจแฮนด์เมดนั้นสามารถเริ่มได้แบบง่ายแสนง่ายและถ้ามีทักษะศิลปะหรือออกแบบประกอบด้วยแล้วยิ่งดี ถ้าใครอยากทำแบบจริงจัง วิธีสเกลธุรกิจคือการวิเคราะห์ว่ากลุ่มลูกค้ากลุ่มไหนที่มีขนาดตลาดใหญ่และมีโอกาสมากสำหรับสินค้ารูปแบบนี้ ซึ่งหนึ่งในตลาดหลักของการ์ด calligraphy คืองานแต่งงาน ซึ่งมีองค์ประกอบที่ต้องใช้ตัวอักษรในงานมากมาย ทั้งการ์ดเชิญ, การ์ดบนโต๊ะทานข้าว, ป้ายตัวอักษรสำหรับประดับตกแต่งต่างๆ ในงาน, ของชำร่วย คุณสามารถเพิ่มมูลค่าได้ด้วยการหาพาร์ตเนอร์เป็นผู้ผลิตเครื่องเขียนหรือหาพันธมิตรเป็นออร์แกไนเซอร์จัดงานแต่งงานเพื่อให้สามารถหาลูกค้าได้ต่อเนื่อง

  • สินค้าและบริการเขียนคำคม

เหมาะกับคนที่มีไอเดียครีเอทีฟที่นอกจากเขียนสวยแล้วยังสร้างสรรค์คำคมได้ หากย้อนกลับไปหลายปีที่แล้ว นักเขียนอักษรวิจิตรมักฝึกคัดตามศาสตร์ calligraphy แบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่ปัจจุบันจะเริ่มเห็นการออกแบบตัวอักษรในรูปแบบโมเดิร์นที่หลากหลายมากขึ้น เช่น คนที่ไม่ได้ฝึกเขียนตามศาสตร์ calligraphy แต่ใช้ลายมือตัวเองเขียนคำคมในโซเชียลมีเดียที่โดนใจคนทำให้เกิดผู้ติดตาม

ในไทยหลายคนน่าจะรู้จัก ‘เตยยี่’ (@teayiiartworks) ที่มีฟอลโลว์เวอร์หลักแสนคน และต่อยอดการเขียนคำคมด้วยลายมือตัวเองจากโลกโซเชียลสู่นิทรรศการร่วมกับแบรนด์ต่างๆ มากมาย สิ่งที่ทำให้คนจดจำเตยยี่ได้คือข้อความให้กำลังใจง่ายๆ เมื่อเขียนจนสม่ำเสมอและมีฐานแฟนคลับทำให้เวลาแบรนด์ต่างๆ อยากจัดอีเวนต์ กิจกรรม นิทรรศการที่ให้กำลังใจคนและเชื่อมโยงกับผู้คนก็จะชวนเตยยี่มาเขียนให้

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ Studio Cantalove (@studio_cantalove) ที่เขียนคำคมจากลายมือตัวเองบนสินค้าต่างๆ เช่น การ์ด แก้ว ฯลฯ ข้อความที่เขียนเน้นเรียบง่ายและมินิมอลแต่เมื่อไปอยู่บนสินค้าด้วยลายมือสวยๆ ก็ให้ความรู้สึกพิเศษ เช่น ‘ค่อย ค่อย’ ‘มีแต่ตอนนี้’ ‘เชียร์อยู่นะ’ ‘เรามีเท่านี้’ เอกลักษณ์คือไม่ใช่การเขียนครั้งเดียวแล้วพิมพ์หรือสกรีนลงบนสินค้าจำนวนมากแต่เป็นงานศิลปะสุดประณีตที่ใช้ปากกาเขียนแบบสดๆ ลงบนการ์ดทีละชิ้นและแก้วทีละใบ

  1. บริการเขียนอวยพรสำหรับของขวัญ Personalized หลายคนอาจคิดว่าตัวอักษรสามารถเขียนได้แค่บนการ์ด โปสเตอร์ หรือกรอบรูปเท่านั้น แต่ตลาดที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือตลาดของขวัญ กลุ่มลูกค้าสำหรับโมเดลนี้คือกลุ่ม B2B ที่เป็นร้านค้า กิฟต์ช็อป ร้านบูทีก และแบรนด์ต่างๆ ที่ทำคอลเลกชั่นพิเศษและอยากทำการ์ดอวยพรสำหรับลูกค้า นั่นแปลว่าคุณอาจไม่จำเป็นต้องผลิตสินค้าเองก็ได้ แค่รับเขียนให้ลูกค้าที่มีสินค้าน่าขายอยู่แล้ว
  2. บริการเขียน calligraphy สำหรับงานอีเวนต์ นอกจากงานแต่งงานแล้ว โอกาสในตลาดกลุ่มงานอีเวนต์ยังมีอีกมากมาย เช่น กาล่าดินเนอร์ อีเวนต์เฉลิมฉลอง งานอีเวนต์ต้องใช้ตัวอักษรมากมายหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นป้าย signage ที่นั่ง เมนูอาหาร ใบแสดง agenda ไม่ต่างจากไอเดียในการขายการ์ดสำหรับงานแต่ง หากคุณอยากขยายธุรกิจเพิ่ม การมีพาร์ตเนอร์เป็นออร์แกไนเซอร์จัดงานอีเวนต์จะทำให้มีต้นทุนที่แข็งแกร่งในการขยับขยาย เช่น บริษัทผู้จัดงานปาร์ตี้หรือจัดโต๊ะแบบ fine dining
  3. คอร์สสอนเขียน calligraphy สำหรับผู้เชี่ยวชาญ calligraphy บางคนอาจไม่ถนัดทำสินค้าแต่สนุกในกระบวนการ ก็สามารถเปิดสอนเป็นคลาสเวิร์กช็อปแบบออฟไลน์และสามารถสเกลธุรกิจได้ด้วยการทำคอร์สออนไลน์ หรือทำสินค้าเป็น worksheet สำหรับหัดเขียน calligraphy
  • สินค้าตัวอักษรมงคล

ถ้านึกถึงตัวอักษรจีนและญี่ปุ่นที่สื่อความหมายมงคล อย่างศิลปะการเขียนพู่กันจีนตุ้ยเหลียน จะเห็นว่าโอกาสทางตลาดอีกโอกาสหนึ่งคือตลาดสินค้ามงคลและความเชื่อ ซึ่งไม่ใช่แค่ต้องเขียนสวยเท่านั้นแต่อาจต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ตัวอักษรจีนมงคลมักเขียนโดยซินแสผู้เชี่ยวชาญด้านพู่กันจีน โดยสามารถเพิ่มมูลค่าได้ด้วยการใส่กรอบรูปหรือทำเป็นของขวัญ ของตกแต่งบ้านเสริมความเฮง

3. Show Off Your Portfolio : ทำการตลาดและสร้างผู้ติดตาม

การสร้างพอร์ตโฟลิโอเพื่อโชว์ผลงานให้คนรับรู้เป็นสิ่งจำเป็น เช่นเดียวกับบริการออกแบบของนักออกแบบสายอื่นๆ การถ่ายรูปและอัพเดตผลงานเป็นประจำจะช่วยดึงดูดลูกค้าที่มีความชอบในสไตล์ตัวอักษรของเราจริงๆ

วิธีง่ายที่สุดคือการถ่ายผลงานลงโซเชียลมีเดียและสร้างคอมมิวนิตี้ผู้ติดตามที่หลงใหลใน calligraphy เหมือนกัน นอกจากผลงานสุดท้ายที่เขียนเสร็จแล้ว คุณสามารถแชร์กระบวนการทำงาน tips และ tutorials ในการเขียน เรื่องราวเบื้องหลังเพื่อให้คนรับรู้และผูกพันกับแบรนด์

ในต่างประเทศจะเห็นคนทำบล็อกสอน calligraphy ค่อนข้างเยอะ ประโยชน์ของการมีบล็อกจะทำให้ทำการตลาดได้ง่ายขึ้น เช่น ทำ SEO ใช้คีย์เวิร์ดที่คนสนใจเพื่อให้คนเสิร์ชเจอเว็บไซต์ของเรา ทำโฆษณาและการตลาดด้วยการทำคอนเทนต์เล่าวิธีหัดเขียนตัวอักษรวิจิตร วิธีนี้จะเหมาะอย่างมากสำหรับคนที่อยากทำคอร์สสอน

นอกจากช่องทางการขายและโปรโมตของตัวเองแล้ว สำหรับผลงานอย่าง calligraphy ยังสามารถขายได้ในแพลตฟอร์ม marketplace ออนไลน์ เช่น Etsy ที่มีฐานลูกค้าสนใจในงานแฮนด์เมดและมีกลุ่มลูกค้าทั่วโลกอยู่แล้ว

จะเห็นได้ว่ารูปแบบการเขียนและโมเดลการขายนั้นมีหลากหลาย และการเพิ่มมูลค่าตัวอักษรไม่เพียงแค่อาศัยทักษะการเขียนให้เก่งอย่างเดียวแต่ต้องมีทั้งทักษะการเขียน ไอเดียครีเอทีฟ การทำการตลาด การสร้างแบรนด์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่สามารถเริ่มได้ตัวคนเดียวและทำเล็กๆ แบบ solopreneur ได้ โดยบางคนอาจทำเป็นโมเดลธุรกิจที่ขายควบหลายรูปแบบ ทั้งสินค้า บริการ และเป็นอินฟลูเอนเซอร์ไปพร้อมกันเลยก็ยังได้

อ้างอิง :

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like