Joyful Café

Café Joyeux คาเฟ่แห่งความสุขจากฝรั่งเศสที่ขับเคลื่อนโดยคนที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา

คำที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางทั้งในโลกธุรกิจและสังคมในยุคนี้ คงหนีไม่พ้นคำว่า ความหลากหลาย หรือ diversity

นิยามของคำว่า หลากหลาย ก็มีรายละเอียดที่ไล่เรียงไปได้ตั้งแต่ความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ สีผิว วัฒนธรรม ภาษา ทุกความแตกต่างของมนุษย์เราน่าจะนิยามมันได้จากการจัดหมวดหมู่แยกคนกลุ่มหนึ่งออกจากคนกลุ่มหนึ่ง การเปิดใจของคนในสังคมที่ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้คำว่า ความหลากหลายถูกหยิบยกเอามาใช้อยู่บ่อยๆ ในโลกยุคปัจจุบัน

อย่างการสร้างหนัง ละคร ซีรีส์ของค่ายสตรีมมิงหรือบริษัทหนังรายใหญ่ๆ ที่เรามักจะเห็นความหลากหลายที่ว่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านตัวละครที่มีความแตกต่างทางสีผิวและเชื้อชาติ ทุกวันนี้เราได้เห็นซูเปอร์ฮีโร่ที่เป็นชาวเอเชียผิวสีเหลือง เราได้เห็นเจ้าหญิงแอเรียลเงือกสาวนำแสดงโดยหญิงผิวดำ นักแสดงชาวเอเชียหรือแอฟริกาเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกฮอลลีวูด 

ในโลกธุรกิจการยอมรับความหลากหลาย ก็กำลังก่อตัวขึ้นอย่างเข้มข้นเช่นกัน อย่างเช่นค่าเฟ่แห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศสที่ชื่อ Café Joyeux 

Café Joyeux แปลเป็นภาษาอังกฤษคงเขียนได้ว่า Joyful Café และถ้าจะแปลเป็นไทยอีกทีคงแปลได้ว่า คาเฟ่แห่งความสุข ที่ว่าเป็นคาเฟ่แห่งความสุข เพราะที่นี่มุ่งเน้นให้ทุกคนในสังคมมีความสุข 

แล้วการจะทำให้ทุกคนมีความสุขได้เราต้องทำยังไงบ้าง?

คำถามที่ว่าอาจไม่สามารถตอบได้แบบกระชับ แต่ถ้าจะให้ตอบแบบรวบรัดอาจจะเริ่มที่ความเท่าเทียมทางโอกาสที่ทุกคนควรจะได้รับอย่างเสมอภาคกัน ไม่เว้นแม้แต่คนที่บกพร่องทางสติปัญญา

ภารกิจหลักของ Café Joyeux คือการฝึกฝน พัฒนาและว่าจ้างเหล่าคนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เช่น ดาวน์ซินโดรม และออทิสติก หรือที่เรานิยมเรียกกันว่าคนที่มีความต้องการพิเศษให้เป็นที่มองเห็นและได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่พวกเขามีความบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการทางสังคม พวกเขาจึงเป็นกลุ่มคนที่มักจะไม่ได้รับโอกาสอย่างทัดเทียมเทียบเท่ากับคนอื่นๆ ทั้งการเข้าเรียน การทำงาน รวมถึงโอกาสอีกหลายต่อหลายอย่างในชีวิตที่พวกเขาต้องพลาดไปเพียงเพราะพวกเขาเกิดมาพร้อมความบกพร่องนั้น

ปี 2017 Café Joyeux แห่งแรกที่มีความมุ่งหวังจะพัฒนาสังคมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนที่มีความต้องการเป็นพิเศษจึงถูกเปิดขึ้น โดยคนที่มีความต้องการพิเศษกลุ่มนี้จะถูกฝึกปรือจนชำนาญในทักษะด้านต่างๆที่จำเป็นต่อการทำงานในร้านคาเฟ่ เช่น การเป็นพนักงานต้อนรับ แคชเชียร์ กุ๊ก และเด็กเสิร์ฟ 

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการฝึก พวกเขาก็จะถูกว่าจ้างให้ทำงานในร้านคาเฟ่แห่งนี้ตามแต่ทักษะที่พวกเขาถนัด และจะมีผู้จัดการร้านที่ไม่ได้เป็นคนที่มีความต้องการพิเศษเป็นผู้ดูแลกำกับกิจการต่างๆ ในร้านอีกที แต่เป้าหมายใหญ่ของคาเฟ่นี้ก็อย่างที่เล่าไป คือ ต้องการให้คนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญามีความมั่นใจมากขึ้น และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากขึ้น

Yann Bucaille-Lanrezac ผู้ก่อตั้ง Café Joyeux เล่าถึงที่มาของการก่อตั้งคาเฟ่นี้ว่า

“มีอยู่วันหนึ่ง มีชายออทิสติกอายุประมาณ 20 ปี เดินเข้ามาของานผมทำ ตอนที่เขาเดินมาคุยกับผม เขาเข้ามาด้วยท่าทีที่มีความสุขและตื่นเต้นมาก แต่พอผมปฏิเสธเขาไป เขาพูดออกมาด้วยท่าทีโกรธว่า มันไม่แฟร์เลย ผมต้องการทำงาน ผมอยากเป็นคนที่ทำประโยชน์ได้บ้าง แต่ไม่มีใครให้งานผมทำเลย”

ทันทีที่ได้ยินดังนั้น Yann เฝ้าครุ่นคิดกับตัวเองว่าเขาน่าจะทำอะไรสักอย่างเพื่อคนที่มีความต้องการพิเศษพวกนี้ได้บ้าง เพราะสิ่งที่ชายหนุ่มออทิสติกคนนั้นพูดนั้นถูกทุกอย่าง มันไม่แฟร์กับพวกเขาเลย พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิดแม้แต่น้อย แต่ดูเหมือนกับว่า สังคมกลับหันหลังให้พวกเขาทั้งๆ ที่ยังไม่ทันให้พวกเขาได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองเลยด้วยซ้ำ

และนั่นจึงเป็นที่มาของการเปิดค่าเฟ่แห่งความสุข Café Joyeux สาขาแรก

ในปัจจุบัน ฝรั่งเศสมีประชาชนที่เป็นออทิสติก 7 แสนคน และคนที่เป็นดาวน์ซินโดรม 65,000 คน แน่นอนว่าคนที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ว่างงาน ข้ามฟากมาดูที่สหรัฐอเมริกาดินแดนที่มีความเชื่ออย่างแรงกล้าเรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์ ที่อเมริกามีคนที่มีภาวะออทิสติกสเปรกตรัม 5.5 ล้านคน และเป็นดาวน์ซินโดรม 250,000 คน จากตัวเลขนี้ มีเพียง 38% เท่านั้นที่ได้รับการจ้างงาน

การเริ่มต้นของ Café Joyeux จึงอาจจะเป็นการเริ่มต้นแบบก้าวเล็กๆ แต่มีความหมายอย่างยิ่งใหญ่ต่อคนเหล่านี้ที่เป็นคนพิเศษของสังคม 

Café Joyeux นิยามตัวเองว่าเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร แต่กำไรที่ได้จากการขายอาหารและกาแฟทั้งหมดของร้านทั้ง 100% จะถูกนำไปลงทุนเปิดร้านใหม่เพื่อเพิ่มการจ้างงานคนที่มีความต้องการพิเศษไปเรื่อยๆ จนตอนนี้ Café Joyeux มีการจ้างงานคนที่มีความต้องการพิเศษไปแล้ว 83 คน และ ปัจจุบันนี้ Café Joyeux มีการขยายสาขาออกไป โดยมีทั้งหมดทั้งหมด 8 สาขาในฝรั่งเศส ทั้งในปารีส, แรนส์, บอร์โด, ลียง และอีก 1 สาขาที่ เมืองลิสบอน โปรตุเกส

Yann เคยเล่าเอาไว้ถึงเหตุผลที่เขามักเลือกโลเคชันในการเปิดร้าน  Café Joyeux ให้อยู่ในสถานที่ๆ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว หรือต้องเป็นที่ๆ ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองเพราะเขาคิดว่า คนพวกนี้สมควรได้รับโอกาสและศักดิ์ศรีที่จะได้ทำงานในที่ๆ มีความศิวิไลซ์เยี่ยงคนธรรมดาทั่วไป

“พนักงานที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้เขาทำงานดีเยี่ยมมากๆ เลยครับ พวกเขาทำอาหารเก่ง เสิร์ฟอาหารเก่ง พวกเขาภูมิใจกับงานที่ตัวเองทำ พวกเขารู้สึกซาบซึ้งกับงานที่ตัวเองทำ เพราะงานที่พวกเขาทำ พวกเขาจึงค้นพบศักดิ์ศรีของตัวเอง เพราะพวกเขาสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ พวกเขาทำงานอยู่ใจกลางเมืองที่ๆ มีความสวยงาม ทันสมัย ที่ๆ รายล้อมไปด้วยภัตตาคารอันหรูหรา พวกเขาสมควรจะได้ทำงานอยู่ท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้ครับ”

แล้วผู้ปกครองของคนที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้เขารู้สึกยังไงกันบ้าง หลังจากที่ได้รับรู้ว่าลูกหลานของพวกเขาได้ทำงานที่คาเฟ่ใจกลางเมืองอย่าง  Café Joyeux

“พวกเรารู้สึกโล่งใจที่ได้เห็นนิโคลัสมีงานทำที่  Café Joyeux พวกเรารู้สึกภูมิใจในตัวลูกชายของเรามากๆ เมื่อเห็นลูกชายเราตื่นแต่เช้าและมีความสุขในทุกๆ เช้าที่เขาไปทำงาน นิโคลัสรู้สึกภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง เขารู้สึกดีกับตัวเอง”

นี่คือคำบอกเล่าจากปากคำของพ่อแม่ของลูกจ้างที่คาเฟ่แห่งนี้ คาเฟ่ที่ไม่ได้เสิร์ฟแค่กาแฟแต่เสิร์ฟความสุขให้กับทุกคนในสังคม ทั้งลูกค้าที่มาใช้บริการ ทั้งลูกจ้างที่ทำงานให้ ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองของลูกจ้างรวมไปถึงคนที่ได้อ่านเรื่องราวของคาเฟ่แห่งนี้ 

สมกับชื่อเรียกของร้าน

Café Joyeux

อ้างอิง

Tagged:

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

You Might Also Like