Builk-der
คุยกับ BUILK สตาร์ทอัพที่อยากแก้ปัญหาห่วย-ช้า-แพง ในวงการก่อสร้าง มากกว่าไปเป็นยูนิคอร์น
ฝันของคนทำสตาร์ทอัพส่วนใหญ่คือการเป็นยูนิคอร์น
ที่บอกว่าส่วนใหญ่เพราะไม่ใช่ว่าสตาร์ทอัพทุกรายจะตั้งเป้าหมายแบบเดียวกัน
หนึ่งในสตาร์ทอัพที่ไม่ได้อยู่ในส่วนใหญ่นั้นคือ BUILK (บิลค์)
ไม่แปลกที่ผู้บริโภคบางคนอาจจะไม่คุ้นหูกับชื่อของ BUILK สักเท่าไหร่เพราะโปรดักต์ของ BUILK ถูกสร้างมาเพื่อคนทำธุรกิจก่อสร้างเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่นโปรแกรมที่เอาไว้ตรวจไซต์งานแบบ 360 องศาโดยที่เจ้าของโครงการไม่ต้องเดินทางไปที่ไซต์งานเอง, ซอฟต์แวร์บริหารต้นทุนการก่อสร้าง, ร้านขายวัสดุก่อสร้างออนไลน์แบบ B2B หรือซอฟต์แวร์ที่เป็น home service สำหรับโครงการอสังหาฯ
เหตุผลที่เราอยากชวนผู้อ่านทุกคนมารู้จักกับบริษัทที่ดูเหมือนจะไกลตัวผู้บริโภคทั่วไปเพราะนี่คือบริษัทที่มีแนวคิดแตกต่างไม่เหมือนสตาร์ทอัพที่เราคุ้นชินกัน และความแตกต่างที่ว่าก็ทำให้ BUILK สามารถดึงดูดเงินจากนักลงทุนระดับประเทศไปได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น SCG, กรุงศรี ฟินโนเวต, บีซีเอช เวนเจอร์ส ที่เข้ามาร่วมลงทุนใน Series B+ หรือข่าวล่าสุดที่ TQM โบรกเกอร์ประกันเบอร์ 1 ของไทยได้เข้ามาซื้อหุ้นใน BUILK จำนวน 40% คิดเป็นมูลค่ากว่า 247 ล้านบาท
แต่กว่า BUILK จะก่อร่างสร้างตัวจนสามารถดึงดูดนักลงทุนอย่างที่กล่าวไปในข้างต้นได้ เส้นทางของมันเป็นอะไรที่ล้มลุกคลุกฝุ่นมามิใช่น้อย
จุดเริ่มต้นของ BUIK เกิดมาจากไอเดียของ ไผท ผดุงถิ่น หลังเรียนจบด้านวิศวะโยธาที่จุฬาฯ เขาเข้าทำงานในบริษัทค้าขายวัสดุก่อสร้างได้อยู่ราว 2-3 ปี จากนั้นจึงตัดสินใจออกมาทำธุรกิจ SME นำเข้าอุปกรณ์ก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างเป็นของตัวเองที่แม้จะไปได้ไม่สวยสักเท่าไหร่ จนเขาถึงกับนิยามตัวเองในตอนนั้นว่า “ชีวิตช่วงนั้นมันเ-ี้ยมาก”
ทว่าประสบการณ์ในครั้งนั้นก็กลายเป็นเหมือนเสาเข็มที่ทำให้ไผทได้ต่อเติมประสบการณ์และสร้างให้ BUILK กลายเป็นธุรกิจที่แข็งแรงจนกลายเป็นสตาร์ทอัพที่สามารถสร้างกำไรได้แล้วในวันนี้
ย้อนกลับไปตอนที่ทำ SME นำเข้าอุปกรณ์ก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้างของตัวเอง ที่คุณบอกว่าแย่ มันแย่ขนาดไหน
มันคือเช้ามาเอาตีนก่ายหน้าผากเลย เป็นอะไรที่เฟลกับตัวเองมาก เพราะตอนจะออกมาทำธุรกิจที่บ้านก็ไม่ได้สนับสนุนผมนะ ความเครียดตอนนั้นมันเกิดจากการที่ผมขาดประสบการณ์ บริหารจัดการสิ่งต่างๆ ไม่เป็น ทำงานได้ไม่ดี ยืมเงินที่บ้านยืมเงินคนรอบข้างเต็มไปหมด รับปากใครก็ทำไม่ได้สักอย่าง บอกเจ้าของบ้านว่างานจะเสร็จแต่สุดท้ายก็ไม่เสร็จ บอกลูกน้องจะจ่ายเงินแต่ก็ทำไม่ได้ บัตรเครดิตเต็มทุกใบ มีลูกน้องเขียนจดหมายมาด่าว่าบริษัทมันเจ๊งเพราะพี่นี่แหละ ซึ่งมันเป็นอะไรที่น่าอายมาก ตอนนั้นผมเครียดมากจนผมร่วงถึงขั้นโกนผมเลย
คือตอนนั้นผม 25 ถ้าเทียบกับคนรู้จักที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันเขาก็จะเอาเงินที่ได้จากการทำงานมาแล้วสักระยะหนึ่งไปเรียนต่อ MBA ต่างประเทศ เห็นคนอื่นมีชีวิตที่ดูดีก็ยิ่งเอามาเปรียบเทียบกับตัวเอง ตื่นมาก็เจอแต่ปัญหา แล้วกูทำอะไรอยู่วะเนี่ย
แล้วผ่านมันมาได้ยังไง
ผมว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพลังของวัยรุ่นที่ล้มแล้วยังมีแรงให้ลุกขึ้นมาได้ อีกส่วนคือก็มีรุ่นพี่ที่วิศวะคอยแนะนำให้ค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละเปลาะ รุ่นพี่เขาบอกว่าปัญหาของผมมันเป็นอะไรที่สิวๆ เลยถ้าเทียบกับคนอื่นที่เขาเพิ่งเจอต้มยำกุ้งมา
พอมาทำสตาร์ทอัพมันก็จะมีปัญหาต่างๆ อยู่แหละ มีเรื่องไม่คาดฝันอีกมากมาย มีสิ่งที่ไม่เป็นตามแผนธุรกิจเต็มไปหมด แต่ผมก็ผ่านมาได้เพราะมันไม่มีอะไรจะหนักไปกว่าตอนที่ทำบริษัทแรกของตัวเองแล้วเจ๊ง จะว่าไปมันก็เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผมมีภูมิคุ้มกันที่ดีในระดับหนึ่งเลย
ตอนที่ทำ SME เรื่องรับเหมาก่อสร้างก็ไม่สำเร็จ แล้วทำไมตอนมาเริ่มทำสตาร์ทอัพถึงยังเลือกทำในธุรกิจเดิม
ผมชอบงานนี้ ถ้าให้ไปทำอย่างอื่นก็คงจะคิดไม่ออกว่าจะทำอะไร พอทำผู้รับเหมาเจ๊งก็เลยพยายามรวบรวมประสบการณ์ที่ผิดพลาดมา แล้วก็ไปชวนเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่เขียนโปรแกรมได้มาทำงานด้วยกัน เปลี่ยนจากการทำรับเหมาเอง มาทำโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อทำให้การทำงานของผู้รับเหมาดีขึ้นให้สามารถควบคุมต้นทุนในการทำงานได้มากขึ้น
ฟังดูแล้วอาจจะตลกว่าคนที่ทำรับเหมาห่วยแต่จะมาทำซอฟต์แวร์ให้ชีวิตผู้รับเหมาดีขึ้น แต่สุดท้ายมันก็ทำได้ เพราะผมเอาประสบการณ์ห่วยๆ ของตัวเอง กับความเก่งของผู้รับเหมาคนอื่นมาใส่ แล้วธุรกิจซอฟต์แวร์ก็ไปได้ดีกว่าผู้รับเหมา เริ่มลืมตาอ้าปากเริ่มปลดหนี้ปลดสินของตัวเองได้ ก็เลยเบนเข็มมาทำซอฟต์แวร์เป็นหลัก จากบริษัทซอฟต์แวร์เล็กๆ ก็เริ่มเดินสายประกวด ผมเป็นสตาร์ทอัพที่ชอบประกวดเพราะรู้สึกว่าเวลาโดนคอมเมนต์จากกรรมการมันทำให้เราเก่งขึ้น ผมไปมาแล้ว 20 กว่าเวที แต่สมัยก่อนยังไม่มีเวทีประกวดสตาร์ทอัพในไทย ก็เลยต้องไปสิงคโปร์ ไปตามประเทศต่างๆ จนวันนึงการทำธุรกิจก่อสร้างก็ทำให้ผมได้ไปพรีเซนต์ต่อหน้านักธุรกิจที่ซิลิคอนวัลเลย์
การไปซิลิคอนวัลเลย์ครั้งนั้นเป็นยังไง
มันไม่เหมือนกับหนังสือที่อ่าน ไม่ได้มีแค่ความสวยหรูดูเท่อย่างที่ใครคิดกัน แต่ยังมีมุมล้มเหลว มีการโกง มีดราม่าเต็มไปหมดเพียงแต่เรื่องราวมุมนี้ไม่ค่อยได้ถูกหยิบยกนำมาพูดมากนัก ทุกคนพูดว่าเป็นสตาร์ทอัพถ้าได้เป็นยูนิคอร์นก็คงจะเป็นอะไรที่คูลมาก แต่ตอนนั้นผมคิดว่าตัวเองไม่ได้อยากจะเป็นยูนิคอร์นแล้วล่ะ
การเป็นยูนิคอร์นคือความฝันของคนทำสตาร์ทอัพหลายคน ทำไมตอนนั้นถึงไม่ได้อยากจะเป็นยูนิคอร์นแล้ว
นิยามของยูนิคอร์นมันคือบริษัทที่มีมูลค่าสูง ซึ่งการจะทำให้บริษัทมีมูลค่าสูงได้ใจต้องใหญ่มากๆ ต้องยอมขาดทุนมาก แล้วมันก็จะมีข้ออ้างในการขาดทุนของเราอยู่เสมอ ขาดทุนเพื่อเติบโต ขาดทุนเพื่อสร้างนวัตกรรม ซึ่งผมก็เคยเผาเงินอยู่แป๊บนึงแต่พอทำไปเรื่อยๆ ขาดทุนนานๆ เข้ามันก็นอนไม่หลับ (หัวเราะ)
อีกอย่างคือผมอาจจะเป็นคนโลภที่อยากจะทำให้มูลค่าธุรกิจกับกำไรมันโตไปพร้อมกัน ก็เลยตัดสินใจว่าถ้าอย่างนั้นเราคงไม่ใช่ยูนิคอร์นแล้วล่ะ
ไม่เป็นยูนิคอร์นแล้วจะเป็นอะไร
เป็นม้าที่แข็งแรง ที่วันนึงเข้าไปวิ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้
ย้อนกลับไปตอนนั้นทำไมตัดสินใจเริ่มทำสตาร์ทอัพหลังจากล้มเหลวมาตอนทำธุรกิจครั้งแรก
ผมเคยโดนสอนมาว่าที่ไหนมีความห่วย ช้า แพง ที่นั่นมีโอกาส
ผมมองเห็นโอกาสที่ว่านี้เต็มไปหมด อธิบายภาพรวมของวงการก่อสร้างให้เข้าใจกันก่อนว่านี่เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มากในไทย มีมูลค่าประมาณ 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ในตัวเลข 1.3 ล้านล้านบาทนี้ มีผู้รับเหมารายใหญ่ที่รับงานเมกะโปรเจกต์ที่เป็นโครงการใหญ่หรือพื้นฐานโครงสร้างทั้งหลายอยู่ 1 ใน 3 ของผู้รับเหมาทั้งประเทศ แล้วก็มีผู้รับเหมาที่เป็นรายกลางกับรายเล็กที่รับงานซ่อมออฟฟิศ รีโนเวต ไปจนถึงซ่อมห้องน้ำซ่อมบ้าน อยู่อีกประมาณ 90,000 ราย
เห็นมูลค่าเยอะแบบนี้แต่เอาจริงๆ ผมว่านี่เป็นวงการที่น่าน้อยใจมาก เพราะเป็นวงการที่คนแข่งกันทำราคาต่ำสุด อย่างถ้าเป็นวงการครีเอทีฟโฆษณาลูกค้าก็จะเลือกเจ้าที่มีความครีเอตที่สุดมากกว่าราคา แต่วงการผู้รับเหมานี่กลับกันเลย สมมติคุณอยากทำบ้านแล้วเรียกผู้รับเหมามา 3 เจ้าโดยที่มีแบบให้ ผู้รับเหมาก็จะเสนอราคาแข่งกันแล้วใครที่เสนอราคาได้ต่ำที่สุดก็จะชนะไป แต่แทนที่จะมามัวแต่นั่งน้อยใจ ผมก็เลยอยากจะยกระดับวงการนี้ให้ดีขึ้น
ยกระดับยังไง
หลายๆ อย่างที่ BUILK ทำขึ้นมาก็เกิดมาจากความคิดที่ว่าไม่อยากให้คนอื่นต้องเอาตีนก่ายหน้าผากเหมือนกับตอนที่ผมเป็นผู้รับเหมา แล้วเรื่องที่ทำให้ผมต้องเอาตีนก่ายหน้าผากในตอนนั้นก็คือการควบคุมต้นทุน
โปรแกรมที่ทำออกมาในช่วงแรกๆ ก็เลยเน้นไปที่การควบคุมเงินในการก่อสร้าง เพราะผมเชื่อว่าในตอนแรกไม่มีใครอยากทำงานคุณภาพห่วยๆ หรอก แต่พอทำไปทำมาแล้วเมาหมัด เดี๋ยวเงินก็ร่อยหรอ เดี๋ยวคนงานก็มีปัญหา พอเจอปัญหาแบบนี้จากอยากทำงานให้ดีก็กลายเป็นขอแค่ให้ทำงานเสร็จ สุดท้ายพอแค่อยากจะทำให้เสร็จ งานก็ห่วยลงตามไปด้วย
นั่นเลยเป็นที่มาของ BUILK โปรแกรมที่เอาไว้คอยบริหารจัดการต้นทุนในการก่อสร้าง เราก็เปิดให้ใช้ฟรีไปก่อน เพราะคิดถึงตอนที่ผมเป็นผู้รับเหมาถ้าให้ผมจ่ายค่าโปรแกรม 2,000 บาท ผมก็ไม่อยากจ่าย แล้วผมก็ค่อยไปหารายได้จากช่องทางอื่นแทน เช่นเอาวัสดุก่อสร้างไปขายในระบบ จนสุดท้ายก็ไปเตะตา SCG และทำให้ SCG มาลงทุนกับเรา
จาก BUILK ก็ต่อยอดไปสู่ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับผู้รับเหมาก่อสร้างอีกมากมายทั้งสำหรับผู้รับเหมาตัวเล็กและตัวใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น YELLO ร้านขายวัสดุก่อสร้างออนไลน์แบบ B2B, Pojjaman ระบบบริหารการก่อสร้างบน Cloud, KwanJai ซอฟต์แวร์ home service สำหรับโครงการอสังหาฯ หรือ BUILK iNSITE ระบบที่จะทำให้เจ้าของตรวจไซต์งานแบบออนไลน์ได้ 360 องศาโดยไม่ต้องเดินทางไปที่ไซต์ด้วยตัวเอง
เคยมีคนมาทำรีเสิร์ชว่า BUILK ทำให้ผู้รับเหมาประหยัดต้นทุนได้ 2.6% ดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่น้อย
แต่ตัวเลขแค่นี้และมีนัยสำคัญแล้วเพราะแต่ละโครงการก็มีมูลค่าสูง กำไรของคนทำรับเหมาก่อสร้างเฉลี่ยจะอยู่ที่ 8-10 เปอร์เซ็นต์ การที่เราไปช่วยให้เขามีกำไรเพิ่มมาเป็น 10-12 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่ามีนัยสำคัญบางอย่างกับผู้รับเหมาเช่นกัน
ทุกวันนี้มองไปทางไหนก็เห็นตึกรามบ้านช่องเต็มไปหมดอยู่แล้ว แล้วโอกาสในการเติบโตของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอยู่ตรงไหน
ถึงจะเห็นสิ่งก่อสร้างมากมาย แต่ธุรกิจก่อสร้างของไทยยังห่างไกลจากคำว่าอิ่มตัวอยู่เยอะ เพราะความเป็นเมืองที่เริ่มขยายตัว มีเมกะโปรเจกต์มากมาย ไหนจะมีงานรีโนเวตอีกมากมายเพราะหลายสถานที่สร้างมาเป็นสิบๆ ปีก็ยังต้องมีการซ่อมบำรุงอยู่ ยิ่งกับตอนนี้ที่ภาวะโลกร้อนก็ทำให้อาคารต่างๆ อาจจะทนต่อสภาพอากาศไม่ได้นานเท่ากับในอดีต ธุรกิจนี้เลยยังมีโอกาสอีกมาก
ที่ผ่านมา BUILK หารายได้จากทางไหน
รายได้ของ BUILK มาจาก 2 ช่องทางหลักๆ ด้วยกัน ช่องทางแรกคือรายได้ที่มาจากซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการก่อสร้างที่เราสร้างขึ้นมาเองซึ่งมีทั้งแบบให้เช่าและขายขาด เรามียอดขายจากซอฟต์แวร์ประมาณปีละ 80-100 ล้าน ส่วนอีกช่องทางคือรายได้ที่มาจากการขายวัสดุก่อสร้าง แม้กำไรในส่วนนี้จะบางเมื่อเทียบกับซอฟต์แวร์แต่มันก็ดีที่ทำให้เราไม่ต้องพึ่งแหล่งรายได้จากแค่ทางเดียว ซึ่งพอ TQM เข้ามาลงทุนเพิ่มเราก็จะมีรายได้ที่มาจากการขายประกันเช่นประกันการก่อสร้าง และการเงินที่จะปล่อยสินเชื่อให้ผู้รับเหมากู้เงินเพื่อเอามาลงทุนทำธุรกิจต่อได้
ทำไม TQM กับ BUILK ซึ่งดูเหมือนอยู่คนละวงการจึงมาพบเจอกันได้
อย่างที่บอกว่าเราเป็นสตาร์ทอัพที่ฝันอยากจะเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ก็เลยไปเข้าร่วมกับโครงการนู้นโครงการนี้ แล้วก็ได้รู้จักได้พูดคุยกับคนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หนึ่งในนั้นคือ TQM
ผมรู้สึกว่าการมี TQM เข้ามาลงทุน มันเสริมกัน 1×1 ไม่ได้เท่ากับ 1 แต่มันมากกว่านั้น ทางบอร์ดบริหารของ TQM ก็อยากจะมองหาน่านน้ำใหม่ๆ ในธุรกิจ ซึ่งการที่ประกันมาจับมือกับก่อสร้างมันเป็นอะไรที่ใหม่มาก แต่ก็เป็นสองธุรกิจที่สามารถ synergize กันได้ เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย BUILK เองก็จะได้ตลาดลูกค้าใหม่แล้วก็ช่วยลูกค้าเราได้มากขึ้น ส่วน TQM ถ้าได้ประกันด้านการก่อสร้างและอสังหาฯ ก็น่าจะทำให้พอร์ตของเขาใหญ่ขึ้นได้ แล้วผมก็หวังว่าวันนึงประกันก่อสร้างจะสามารถยกระดับขึ้นมาจนเหมือนประกันเดินทางได้
อีกอย่างที่เป็น TQM เพราะผมอยากจะทำธุรกิจกับคนที่มีความเป็น entrepreneurial spirit คือมีความเป็นเจ้าของมีความเป็นเถ้าแก่อยู่ การทำกับองค์กรใหญ่ที่ให้มืออาชีพมาบริหารก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีนะ แต่พออยู่ครบวาระเขาก็ไป นโยบายก็จะเปลี่ยนไปเป็นรอบๆ ซึ่งความเป็น entrepreneurial spirit มันไม่ได้หาได้จากผู้บริหารทุกคน
คุณมีแนวคิดในการให้คนอื่นมาลงทุนในบริษัทที่รักและปั้นมาเองกับมือยังไง
ผมว่าธุรกิจที่เป็นเถ้าแก่ทุกคนต้องเดินผ่านเส้นทางนี้ที่ตอนแรกเราเป็นเจ้าของคนเดียว เราคิดว่าเราเก่งที่สุดในองค์กร รู้ทุกอย่างในองค์กร แต่มันก็มีหลายๆ ในองค์กรที่ไปต่อไม่ได้เพราะติดอยู่ที่ลิมิตของตัวเจ้าของ
ช่วงที่ผมอยู่เวียดนามมีนักลงทุนมาเงินลงทุนให้ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผมบอกกลับไปว่าไม่เอา เอาทำไม 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผมกู้แบงก์เองก็ได้ ผ่อนต้นผ่อนดอกให้จบผมก็ยังมีความเป็นเจ้าของอยู่เหมือนเดิมด้วย
วันนั้นผมไม่เข้าใจ แต่พอได้เข้ามาอยู่ในวงการสตาร์ทอัพมากขึ้นก็ได้รู้ว่าจริงๆ แล้วธุรกิจที่เราทำมันมีคนทำคล้ายๆ กันอยู่ทั่วมุมโลก ไอเดียเราไม่ใช่อะไรที่ยูนีกขนาดนั้น อยู่ที่ว่าใครจะทำได้เร็วกว่ากัน ซึ่งความเร็วเป็นเรื่องที่สำคัญมากของการทำธุรกิจในยุคนี้ ถ้าผมจะเดินต้วมเตี้ยมด้วยกำลังที่ผมมีอยู่ไปช้าๆ มันอาจจะมีสักคนหนึ่งที่คิดไม่ต่างจากผมเท่าไหร่ แต่มีเงินทุนเยอะเขาก็อาจจะแซงหน้าไปจนอาจทำให้ธุรกิจของผมไม่มีที่ยืนเลยก็ได้ ผมก็เลยคิดว่าการมีนักลงทุนถือเป็นทางเลือกที่ดีเพราะทำให้เราเป็นผู้ชนะได้
ทฤษฎีของคนทำสตาร์ทอัพบอกไว้ว่า ถ้าคุณเป็นเจ้าของเค้กคนเดียว เค้กมันอาจจะก้อนแค่นี้ แต่ถ้าคุณเอาเงินนักลงทุนมาสัก 30% นักลงทุนจะทำให้เค้กของคุณใหญ่ขึ้น แม้คุณจะเหลือพื้นที่ของตัวเองอยู่ 70% แต่ 70% ที่ว่านั้นมันเป็นพื้นที่ที่ใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับเค้กก้อนแรกที่คุณถืออยู่คนเดียว ซึ่งผมซื้อคอนเซปต์นี้ แล้วก็ค่อยๆ เปิดใจกับนักลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ
ความรู้สึกตอนมีคนมาลงทุนด้วยเป็นยังไง
แบ่งเป็น 3 เฟสแล้วกัน เฟสแรกที่มีคนมาร่วมลงทุนด้วยก็ตื่นเต้น คิดว่าเป็นความสำเร็จอยากฉลอง แต่พอผ่านไปสักระยะก็รู้สึกว่าฉิบหายแล้ว เพราะเงินที่นักลงทุนให้มามันมาพร้อมความคาดหวังที่เยอะมาก เขาเอาเงินมาลงเพราะเชื่อในสิ่งที่เราพูด ดังนั้นเราก็ต้องส่งมอบความคาดหวังกลับไปให้เขาให้ได้ เพราะถ้าทำไม่ได้มันก็จะเป็นภาระที่หนักกับตัวเรามาก เราจะกลายเป็นแค่คนคนนึงที่ได้แค่พูดแต่ทำไม่ได้จริง ซึ่งผมเคยรู้สึกแบบนั้นตอนเป็นผู้รับเหมา มันเป็นความรู้สึกที่แย่มาก ไม่อยากจะรู้สึกแบบนั้นอีกแล้ว ก็เลยต้องพยายามทำให้ได้
เฟสที่สองคือสมัยที่เป็นเถ้าแก่ ถ้าอยากจะจ้างมืออาชีพเก่งๆ มาทำงานด้วยผมจะเสียดายตังค์มาก เพราะผมรู้สึกว่ามันเป็นเงินของผมคนเดียว จะจ้างคนเงินเดือนแสนนึงคิดแล้วคิดอีก เถ้าแก่ยังไม่ได้เงินเดือนแสนนึงเลย แต่พอมีนักลงทุนเข้ามามันทำให้ผมคิดอีกแบบ เฮ่ย เขามาให้เราโตเว้ย เขามาลงทุนกับเรา 30% แปลว่าเราก็จ่าย 70,000 นี่หว่า แต่เราได้จ้างคนเงินเดือนแสนนึง แล้วคนเงินเดือนแสนนึงทำให้บริษัทเราเปลี่ยนไปจากเดิมได้ ตอนนั้นเฟสที่สองของผมผมเข้าใจแล้วว่าเงินนักลงทุนมันเอาไว้ใช้ มันต้องเอามาใช้แล้วมาสร้างกำลังขององค์กรให้มันดีขึ้น แต่ก็ยังถือว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด
จนมาเฟสที่สามผมมาคิดได้ว่าทุกร้อยบาทที่เราเสียไป เขามาช่วยเรา 30% ก็จริง แต่เราใช้เงินตัวเองตั้ง 70% เลยนะ แล้วจะยอมขาดทุนได้ไงวะ พอคิดได้สองด้านก็รู้สึกว่ามันก็โอเคมันมีกระสุนมาให้กล้า แต่ก็ไม่ใช่ว่ากล้าบ้าบิ่นจนเกินไป เพราะไม่ว่าจะเป็น SME สตาร์ทอัพ หรือบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สุดท้ายแล้วผลตอบแทนที่ทุกคนอยากได้ก็คือกำไร ไม่มีใครอยากขาดทุนไปตลอดชีวิตหรอก
นอกจากการเป็นม้าที่เข้าไปวิ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ คุณคิดว่าอนาคตของ BUILK จะเป็นยังไงอีกบ้าง
อยากให้มันเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับให้วงการก่อสร้างดีขึ้น ให้เป็นธุรกิจที่เติบโตยั่งยืน เพราะผมชอบทำงานนี้ ไม่ได้อยากจะทำอย่างอื่นนอกจากงานที่เกี่ยวกับก่อสร้างแล้ว
แล้วถ้าวันนึงเราเป็นบริษัทที่แข็งแรงขึ้น เราก็จะได้มองเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมได้มากขึ้นด้วย เพราะการก่อสร้างเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ทำร้ายโลกเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นระเบิดภูเขาเอามาทำปูนและอะไรต่างๆ อีกมากมาย ในฐานะที่เราทำงานตรงนี้ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบกับโลกด้วย ลูกผมแคร์เรื่องนี้มาก ก็เลยทำให้ผมแคร์เรื่องนี้มากขึ้นไปด้วย ดังนั้นในวันที่แข็งแรงขึ้นก็เลยอยากจะทำอะไรบางอย่างที่ทำให้การก่อสร้างมันกระทบกับโลกน้อยลง และทำให้โลกมีอนาคตได้นานขึ้น
เหมือนจะเป็นแค่คำพูดหล่อๆ แต่ผมคิดแบบนั้นจริงๆ นะ