นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

ความย้อนแย้งของสินบน

จับตาดูแรงจูงใจของการติดสินบนในธุรกิจ ผ่านกลไกในเกม Santiago

ทำไมนักธุรกิจจำนวนมากจึงติดสินบน?

คนเคร่งศาสนาบางคนอาจตอบว่า ก็เพราะนักธุรกิจสมัยนี้ขาดคุณธรรมจริยธรรม แต่นักเศรษฐศาสตร์จะตอบว่า นักธุรกิจติดสินบนก็เพราะตัวเองได้ประโยชน์จากการติดสินบนมากกว่าถ้าไม่ทำ

ยกตัวอย่างเช่น ในธุรกิจที่เจ้าหน้าที่รัฐรีดไถ ‘เงินใต้โต๊ะ’ เป็นกิจวัตรมาช้านานจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวงการ นักธุรกิจต้องจ่ายสินบนเพราะไม่มีทางเลือกอื่นถ้าอยากทำธุรกิจ ในบางธุรกิจเจ้าหน้าที่อาจไม่รีดไถสินบนตรงๆ แต่ความไร้ประสิทธิภาพและช้าเป็นเต่าคลานของระบบราชการส่งผลให้นักธุรกิจหลายคนตัดสินใจจ่ายอยู่ดี เพื่อเร่งรัดกระบวนการให้ทำงานเร็วอย่างที่ควรเป็น

ธุรกิจหลายวงการมีลักษณะทั้งสองอย่างประกอบกันจนเราแยกไม่ออกอีกต่อไปว่า ตกลงนักธุรกิจจ่ายสินบนเพราะถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับหรือสถานการณ์บังคับ รู้แต่เพียงว่าสินบนกลายเป็น ‘ค่าใช้จ่าย’ ในการทำธุรกิจ

คำถามอีกสองข้อที่นักเศรษฐศาสตร์สนใจคือ การติดสินบนของนักธุรกิจ ‘คุ้มค่า’ หรือไม่เพียงใดในระยะยาว และผลลัพธ์และผลพวงวงกว้างในระยะยาวของการติดสินบนมาช้านานคืออะไร 

นักเศรษฐศาสตร์และนักวิจัยด้านบริหารธุรกิจจำนวนไม่น้อยทำวิจัยเพื่อพยายามตอบคำถามนี้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น งานของ Kimberly Eddleston, Elitsa Banalieva และ Alain Verbeke ปี 2019 เรื่อง The Bribery Paradox in Transition Economies and the Enactment of ‘New Normal’ Business Environments (ความย้อนแย้งของสินบนในเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านและการมาถึงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ‘นิวนอร์มอล’) เสนอว่า ถึงแม้ในระยะสั้นนักธุรกิจที่จ่ายสินบนอาจมี ‘ความได้เปรียบในการแข่งขัน’ (เหนือคู่แข่งที่ไม่จ่ายหรือจ่ายน้อยกว่า) ในระยะยาวผู้ประกอบการที่จ่ายสินบนอาจกลายเป็นว่าสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจชนิดใหม่ เป็น ‘นิวนอร์มอล’ ที่มีคอร์รัปชั่นและอุปสรรคกีดขวางการทำธุรกิจสูงมาก โดยเฉพาะในประเทศเปลี่ยนผ่าน (transition countries อีกชื่อเรียกของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นสมาชิกสหภาพโซเวียต และประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกที่เคยตกอยู่ใต้อิทธิพลโซเวียต–คำว่า ‘เปลี่ยนผ่าน’ ในที่นี้หมายถึงเปลี่ยนผ่านจากระบอบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์มาเป็นระบอบตลาดเสรี ซึ่งรัฐในหลายประเทศยังมีอำนาจสูงมาก) 

ทีมวิจัยเรียกสถานการณ์ที่นักธุรกิจผู้ติดสินบนได้ประโยชน์ระยะสั้น แต่กลับต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอุปสรรคมากกว่าเดิมในระยะยาวว่า ‘ความย้อนแย้งของสินบน’ (bribery paradox) และพบข้อมูลหลักฐานสนับสนุนสมมุติฐานนี้ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบริษัทขนาดเล็กและกลาง (SME) 310 บริษัทจากประเทศเปลี่ยนผ่าน 22 ประเทศ

งานวิจัยอีกชิ้นเมื่อไม่นานมานี้โดย Bernard Gauthiera, Jonathan Goyette และ Wilfried A.K. Kouaméc ชื่อ ‘Why do firms pay bribes?’ (ทำไมบริษัทจึงติดสินบน) ปี 2021 รายงานผลการศึกษาการจ่ายสินบนโดยบริษัท 18,005 แห่งในประเทศกำลังพัฒนา 75 ประเทศทั่วโลก ทีมวิจัยพบว่าวัฒนธรรมเรียกสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐอาจส่งผลให้บริษัทที่จ่ายสินบน ‘ชดเชย’ ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มในส่วนนี้ด้วยการหลบเลี่ยงภาษี และผลลัพธ์นี้ก็อาจสร้าง ‘กับดักด้อยพัฒนา’–การหลบเลี่ยงภาษีและคอร์รัปชั่นพัวพันกันเนื่องจากกลไกกำกับดูแลของหน่วยงานที่เก็บภาษีหย่อนยานและไร้ประสิทธิผล และการที่รัฐไม่ได้รับเงินภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

การสื่อสารผลลัพธ์และผลพวงระยะยาวของการจ่ายสินบนอาจเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับบอร์ดเกมที่ใช้เวลาเล่นไม่กี่ชั่วโมง แต่เกมจำนวนมากสื่อเรื่อง ‘แรงจูงใจ’ ของการติดสินบนผ่านกลไกเกม โดยไม่ต้องสอนตรงๆ ได้อย่างแจ่มชัดและสนุกสนาน เกมแนวนี้ที่ผู้เขียนชอบมากคือ Santiago โดย Claudia Hely และ Roman Pelek สองคู่หูนักออกแบบจากเยอรมนี 

Santiago เล่นง่ายและเล่นจบได้ภายใน 60-75 นาที เกมนี้ผู้เล่น 3-5 คนสลับกันประมูลแปลงพืชเศรษฐกิจมาปลูกบนกระดานกลาง จ่ายสินบนเพื่อจูงใจให้สร้างคลองชลประทานผ่านที่นาของตัวเอง นับคะแนนครั้งเดียวเมื่อจบเกม เกมจะจบเมื่อไม่มีแปลงเกษตรกรรมให้ประมูลอีกต่อไป (เล่น 9-11 ตา ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่น) คะแนนนับจากมูลค่าของแปลงพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวกันที่อยู่ติดกัน ยิ่งทำไร่นาผืนใหญ่ยิ่งได้คะแนนมาก เช่น แปลงอ้อยขนาด 6 แปลง ให้ผลผลิต (yield) รวมกันเท่ากับ 4 จะมีมูลค่า 6×4 = 24 คะแนน จากนั้นเอาตัวเลขนี้มาบวกกับเงินสดที่เหลือในมือเป็นคะแนนรวม

ในเมื่อแปลงเกษตรกรรมมีมูลค่าสูงกว่าเงินสดมาก เกษตรกรในเกมนี้ทุกคนจึงต้องพยายามขยายแปลงของตัวเองและดูแลไม่ให้แปลงนั้นขาดน้ำ เพราะแปลงไหนที่ขาดน้ำผลผลิตจะลดลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นทะเลทราย ปลูกอะไรไม่ได้อีกต่อไป

‘น้ำ’ ในเกมนี้จึงเป็นทรัพยากรที่มีค่าไม่แพ้ ‘เงิน’ 

แต่ละตาในเกมมี 7 ช่วง เริ่มจากการเปิดประมูลแปลงพืชเศรษฐกิจ ซึ่งในเกมนี้มีพืชท้องถิ่น 5 ชนิดที่ปลูกจริงบนเกาะซานติเอโกในชื่อเกมในสมัยก่อนตกเป็นอาณานิคมโปรตุเกส (ปัจจุบันเกาะนี้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐกาบูเวร์ดี ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา) ได้แก่ อ้อย กล้วย มันฝรั่ง ถั่ว และพริกแดง ทุกคนในเกมจะได้แปลงพืชไปคนละผืน -ใครเสนอเงินมากที่สุดได้เลือกคนแรก ลดหลั่นกันลงมา ใครบอกผ่านก่อนหรือเสนอเงินประมูลน้อยสุดจะไม่ได้เลือกแปลงพืช (ต้องหยิบแปลงสุดท้ายที่เหลืออยู่ หลังจากที่ทุกคนเลือกกันหมดแล้ว) แต่จะได้เป็น ‘ผู้คุมคลองชลประทาน’ (canal overseer) ประจำตานั้นๆ 

หลังจากที่ทุกคนได้แปลงพืชเศรษฐกิจแล้วก็จะผลัดกันวางแปลงของตัวเองลงในหมู่บ้าน (กระดานกลาง) โดยวางเม็ดความเป็นเจ้าของสีของตัวเองลงบนแปลงตามจำนวนผลผลิต ใครจ่ายเงินประมูลสูงสุดได้วางก่อน ในตาแรกทุกคนจะอยากวางแปลงให้ติดกับบ่อน้ำบาดาล (สุ่มวางก่อนเริ่มเกม) เพราะบ่อน้ำการันตีว่าไร่นาจะไม่ขาดน้ำ และคลองชลประทานต้องเริ่มสร้างจากบ่อน้ำ 

จากนั้นก็ถึงช่วงของ ‘การติดสินบน’ ในเกมนี้ ซึ่งก็คือการเสนอเงินให้ ‘ผู้คุมคลองชลประทาน’ ประจำตา เพื่อจูงใจให้สร้างคลองชลประทานผ่านแปลงของเรา ซึ่งแน่นอนว่าถ้าหากผู้คุมคลองเป็นเจ้าของแปลงที่อยู่ติดกับแปลงของเรา เราก็อาจไม่อยากจ่ายสินบนเลยหรือจ่ายไม่มาก เพราะคิดว่ามีผลประโยชน์ร่วมกันกับเขาอยู่แล้ว ในขณะที่ผู้เล่นคนอื่นๆ ที่แปลงของตัวเองอยู่ห่างออกไปอาจต้องทุ่มเสนอสินบนมากหน่อย 

ความสนุกของกติกาช่วงนี้ใน Santiago ก็คือ ผู้คุมคลองชลประทานประจำตาไม่จำเป็นต้องรับสินบน จะตัดสินใจสร้างคลองตามแนวที่ตัวเองอยากได้ ไม่สนข้อเสนอของใครเลยก็ได้ แต่ถ้าทำแบบนั้นต้องยอมจ่ายธนาคารมากกว่าข้อเสนอสินบนสูงสุด 1 บาท ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนเสนอสินบนสูงสุดเสนอ 5 บาท ผู้คุมคลองที่อยากสร้างไปแนวอื่นต้องจ่ายธนาคาร 6 บาท แต่เมื่อตัดสินใจรับสินบนของใครมาแล้ว ผู้คุมคลองก็ต้องสร้างคลองตามแนวที่ผู้ให้สินบนต้องการ 

เกมนี้อนุญาตให้ผู้เล่นหลายคน ‘ลงขัน’ ร่วมกันกดดันผู้คุมคลองได้ ถ้ามีผู้เล่นมากกว่า 1 คนที่อยากสร้างคลองเส้นเดียวกัน เช่น ผู้เล่นคนแรกเสนอ 3 บาทให้สร้างคลองผ่านแปลงตัวเอง อีกคนอาจประกาศว่า เขาเสนอเพิ่มเงินอีก 2 บาทให้สร้างคลองที่คนแรกอยากได้ รวมเท่ากับเสนอสินบนสำหรับเส้นนั้น 5 บาท 

โดยทั่วไปผู้คุมคลองจะไม่อยากควักตังหรือ ‘เข้าเนื้อ’ ตัวเอง เพราะการรับสินบนจากผู้เล่นคนอื่นๆ เป็นวิธีหาเงินสดวิธีหลักในเกม (ตอนจบตาทุกคนจะได้เงินสดเพิ่ม แต่ได้แค่คนละ 3 บาทเท่านั้น) ด้วยเหตุนี้การมองหาหรือสร้าง ‘ผลประโยชน์ร่วม’ เช่น สร้างแปลงพืชในแนวเดียวกันกับแปลงของผู้คุมคลอง จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในเกมนี้ ส่งผลต่อแรงจูงใจและ ‘ขนาด’ ของสินบนที่คนอยากเสนอ

หลังจากที่ผู้คุมคลองสร้างคลองในแนวที่ตัวเองต้องการ (จะรับหรือไม่รับสินบนก็ตามแต่) ผู้เล่นแต่ละคนมีโอกาสตัดสินใจว่าจะสร้างคลองของตัวเองหรือไม่ ขั้นตอนนี้ไม่ต้องใช้เงิน แต่ผู้เล่นมี ‘คลองส่วนตัว’ แค่คนละคลองเท่านั้นตลอดทั้งเกม 

ดังนั้นหลายคนก็จะอยากเก็บ ‘คลองส่วนตัว’ ไว้ใช้ในยามคับขัน และก็ต้องตระหนักว่าเมื่อใดที่ใช้คลองส่วนตัวไปแล้ว หลังจากนั้นอำนาจการต่อรองช่วงชิงคลองก็จะลดน้อยถอยลงมาก (กดดันให้อาจต้องทุ่มเงินสินบนมากกว่าเดิม)

ก่อนจบตา แปลงพืชทุกแปลงที่ไม่ได้อยู่ติดกับคลองชลประทานหรือบ่อน้ำจะค่อยๆ แห้ง และผลผลิตเริ่มลดลง (สะท้อนด้วยการดึงเม็ดความเป็นเจ้าของออก 1 เม็ด) เมื่อใดไม่มีเม็ดผลผลิตให้ดึงออกแล้วก็จะต้องพลิกไร่นาผืนนั้นให้กลายเป็นทะเลทราย

Santiago เป็นเกมเศรษฐศาสตร์ที่สื่อเรื่องแรงจูงใจของสินบนและผลประโยชน์ร่วมได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ละตาเต็มไปด้วยการตัดสินใจยากๆ เช่น เราจะอยากทุ่มเงินประมูลในช่วงแรกเพื่อเอาแปลงพืชมาขยายแปลงเดิมของตัวเองเพื่อเพิ่มมูลค่า หรือว่าจะยอมสละสิทธิ์นั้นเพื่อหาตังค์เข้ากระเป๋าหรือเพื่อให้อุ่นใจว่าตานี้แปลงจะมีน้ำผ่านแน่ๆ ในฐานะผู้คุมคลองชลประทาน 

การตัดสินใจใน Santiago ละม้ายคล้ายโลกธุรกิจจริงตรงที่การตัดสินใจที่ ‘ดี’ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราอยากทำเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการประเมินว่าคู่แข่งคนอื่นๆ อยากทำอะไร และเขามีผลประโยชน์ร่วมกับเราหรือไม่ การสร้างผลประโยชน์ร่วมกันจะคุ้มค่ากว่าการทุ่มเงินติดสินบนผู้คุมคลองหรือไม่ ฯลฯ 

กติกาของเกมนี้เขียนชัดเจนว่า ทุกช่วงเวลาผู้เล่นจะต่อรอง ขอร้อง เสนอข้อแลกเปลี่ยน หรือสัญญาอะไรกันอย่างไรก็ได้ แต่ไม่มีใครจำเป็นต้องทำสัญญา ลั่นวาจาแล้วหักหลังก็ไม่ถือว่าผิดกติกาแต่อย่างใด

กติกาและกลไกทั้งหมดนี้ทำให้ Santiago เป็นเกมสุดมันในโลกอันโหดร้ายที่ต้องลุ้นกันทุกตาจนกว่าจะจบเกม แถมยังสื่อแบบไม่สอนเรื่องบทบาทของ ‘สินบน’ ว่าทำไมมันจึงแพร่หลายนักในสังคมของเรา 

และเงื่อนไขแบบไหนกันในสังคมที่เอื้อให้การทุจริตคอร์รัปชั่นเบ่งบานเฟื่องฟูอยู่ยั้งยืนยง

Writer

นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน ที่สนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ธุรกิจที่ยั่งยืน การเงินเพื่อสังคม และสิทธิเสรีภาพออนไลน์ สฤณีเรียกตัวเองอย่างภาคภูมิใจว่า “เกมเมอร์” โดยเล่นเกมมาแล้วหลายพันเกมตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งเกมตู้ เกมคอมพิวเตอร์ และบอร์ดเกม ช่วงทศวรรษ 1998-2008 สฤณีมีชื่อเสียงระดับโลกในวงการเกมเมอร์ในฐานะผู้ก่อตั้งและรันเว็บไซต์ Home of the Underdogs กรุเกมเก่าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น ซึ่ง ณ จุดสูงสุดมีเกมให้ดาวน์โหลดมากกว่า 4,000 เกม ส่องประสบการณ์การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ของเธอได้จากเพจ Fringer on Computer Games และบอร์ดเกมได้จากเพจ Fringer on Board Games

Illustrator

Just another graphic designer

You Might Also Like