ทรัพยากรส่วนรวม
‘Captains of the Gulf’ ธุรกิจกับโศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ
ในยุคที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ ‘โลกรวน’ รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แทบทุกคนเลิกถามคำถาม ‘มันคืออะไร’ (what) และ ‘เกิดจากอะไร’ (why) ไปถกกันเรื่อง ‘(แก้ไข) อย่างไรดี’ (how) แล้ว ยกเว้นคนส่วนน้อยที่ยังปฏิเสธว่ามีปัญหา (เรียกรวมๆ ว่าพวก climate change deniers) และบริษัทยักษ์ใหญ่นิสัยแย่บางแห่งที่รู้ทั้งรู้ว่ามีปัญหา แต่ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน หรือหนักข้อกว่านั้นคือสนับสนุนงานวิจัยฉ้อฉลที่ปฏิเสธหรือลดทอนความรุนแรงของปัญหานี้
นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ปัจจุบันเราก็เผชิญกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกมากมายที่หลายส่วนเกิดจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะโทษนักธุรกิจว่า ‘ไม่รับผิดชอบต่อสังคม’ ก็อาจเป็นการเหมารวมเกินไป นักธุรกิจหลายคนใส่ใจกับผลกระทบของธุรกิจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ในเมื่อผลกระทบเหล่านี้ไม่ได้ถูกนับรวมเป็น ‘ต้นทุน’ ของการทำธุรกิจ (ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ‘ผลกระทบภายนอก’ หรือ externality) ในระบบทุนนิยม ก็ยากที่ธุรกิจจะมองเห็นหรือมีแรงจูงใจที่จะจัดการอย่างเหมาะสม
นอกจากผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจะเป็น ‘ผลกระทบภายนอก’ แล้ว ธุรกิจที่ตักตวงหรือพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติยังอาจประสบปัญหา ‘ทรัพยากรหมด’ จนขาดรายได้ แต่ผู้เล่นแต่ละฝ่ายอาจไร้แรงจูงใจที่จะดูแลทรัพยากร เพราะทรัพยากรส่วนรวมที่ ‘ฟรี’ ในสายตาผู้เล่น รวมถึงผลประโยชน์ (กำไร) ระยะสั้นที่เห็นชัดๆ อยู่ตรงหน้า มักนำไปสู่ภาวะมือใครยาวสาวได้สาวเอา จนสุดท้ายทรัพยากรก็หมด คนที่อธิบายสถานการณ์นี้อย่างชัดเจนเป็นคนแรกคือ การ์เรตต์ ฮาร์ดิน ผู้เขียนบทความ ‘The Tragedy of the Common’ (โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ) ลงวารสารวิชาการ Science ในปี 1968
ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษหลังจากนั้น เราก็ได้เห็นสถานการณ์ที่ดูจะเข้าข่าย ‘โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ’ หลายกรณีทั่วโลก อาทิ การทำประมงเกินขนาด (overfishing) แพขยะขนาดยักษ์ในมหาสมุทร หรือปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าจนเหี้ยนเตียน
แล้วเรามีวิธีแก้ปัญหาโศกนาฏกรรมส่วนรวมนี้ยังไง นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจำนวนมากมองว่า ทางแก้คือต้องตัดแบ่งทรัพยากรส่วนรวมนั้นเป็นชิ้นๆ และมอบ ‘กรรมสิทธิ์’ ให้นิติบุคคลหรือปัจเจกบุคคลเป็น ‘เจ้าของ’ เพราะเมื่อมีเจ้าของชัดเจนแล้ว เจ้าของทุกคนก็ย่อมอยากดูแลทรัพยากรของตัวเองให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์อีกหลายคนก็เสนอว่า การมอบกรรมสิทธิ์ไม่ใช่วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ และการแปลงสาธารณสมบัติให้เป็นของเอกชน (privatization) ก็อาจสร้างปัญหาใหม่ที่แย่ไม่แพ้กัน เช่น เจ้าของอาจกีดกันไม่ให้คนอื่นได้เข้ามาใช้ทรัพยากรเลย กอบโกยผลประโยชน์มหาศาลอยู่คนเดียวหรือบริษัทเดียว มีวิธีแก้ปัญหาอื่นที่อาจใช้การได้ดีกว่า เช่น ให้รัฐออกกติกากำกับดูแล หรือให้ทุกคนใน ‘ชุมชน’ ร่วมกันกำหนดกฎกติกา ดังข้อเสนอและผลการวิจัยของ เอลินอร์ ออสตรอม นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่ศึกษาเรื่องนี้ในหลายประเทศ
ในศตวรรษที่ 21 ‘ต้นทุนภายนอก’ หลายอย่างเป็นสิ่งที่ธุรกิจรับรู้และตระหนักดีกว่าในอดีต เพราะผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากธุรกิจตัวเองนั้นไม่เพียงแต่ทำให้เสียชื่อเสียง ตกเป็นเป้าโจมตี และเผชิญกับเสียงเรียกร้องให้ ‘รับผิดชอบต่อสังคม’ (ที่ไม่ใช่กิจกรรมซีเอสอาร์) เท่านั้น แต่ผลกระทบเหล่านี้หลายครั้งยังส่งผลต่อผลประกอบการทางการเงินด้วย ดังที่โศกนาฏกรรมสาธารณสมบัติชี้ให้เราเห็น
Captains of the Gulf เป็นบอร์ดเกมแนวเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุดในความเห็นของผู้เขียน ในแง่การฉุกให้คิดถึงแรงจูงใจของธุรกิจในการจะรับมือ หรือไม่รับมือกับปัญหาโศกนาฏกรรมสาธารณสมบัติ
เกมนี้ให้เราเล่นเป็นชาวประมงรายย่อยในรัฐลุยเซียนาตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งอาหารแนวเคจัน (Cajun) อันเป็นเอกลักษณ์ของแถบนี้ ปรุงด้วยวัตถุดิบจากอ่าวเม็กซิโกอย่างปู หอยนางรม และกุ้ง ซึ่งเราจะได้ตกสัตว์น้ำทั้งสามชนิดนี้ในเกม เป้าหมายของเราในเกมนี้ไม่ต่างจากเกมแนวนี้ทั่วไป–ใครสะสมเงินได้มากที่สุดตอนจบ 8 ตาคือผู้ชนะ
เราหาเงินในเกมนี้อย่างเรียบง่ายด้วยการจับกุ้ง ปู และหอยนางรมในอ่าว จากนั้นก็เดินเรือไปขายสัตว์น้ำเหล่านี้ที่ท่าของเมืองปากอ่าว 3 เมือง อยู่ไกลกันคนละฝั่ง แต่ละเมืองมีแถบ ‘ชื่อเสียง’ ที่มอบให้กับพ่อค้าที่ไปขายสัตว์น้ำให้ เราต้องให้น้ำหนักกับการขายสัตว์น้ำกับทั้ง 3 เมืองพอๆ กัน เพราะตอนจบเกมถ้าเราขายสัตว์น้ำสะสมให้เมืองไหนไม่ถึงขั้นต่ำที่กำหนด เราจะต้องเสียเงิน แต่ถ้าขายสัตว์น้ำได้เยอะมาก เราจะได้เงินเพิ่มเป็นโบนัส นอกจากนั้นยังได้โบนัสเพิ่มจากการมีชื่อเสียงผ่าน ‘ดาว’ ระดับเดียวกันบนเส้นชื่อเสียงด้วย ยิ่งผ่านดาวระดับเดียวกันมากกว่าหนึ่งเมืองยิ่งได้เงินมาก
การเล่นเกมนี้ไม่ยาก แต่ก็เหมือนบอร์ดเกมดีๆ ทั่วไป คือเล่นให้ดีไม่ง่ายเลย ผู้เล่น 2-4 คนจะผลักดันทำแอ็กชั่นโดยเลือกจาก ‘วงเวียนแอ็กชั่น’ (rondel) บนกระดาษ แอ็กชั่นมีอาทิ แล่นเรือ (ไปตกปลา), เทียบท่า, อัพเกรดเรือหรือลูกเรือ, ขายสัตว์น้ำในท้องเรือ (ต้องเทียบท่าอยู่) และเติมน้ำมัน เป็นต้น ไม่นับแอ็กชั่นพิเศษที่เราจะอยากเก็บไว้ใช้ในจังหวะที่เหมาะสม หลังจากที่ผู้เล่นเวียนกันทำแอ็กชั่นรอบวงเวียนไปหลายรอบ หนึ่งตาก็จะจบลง เตรียมตัวสำหรับตาต่อไป เปิดไพ่ ‘เหตุการณ์’ ออกมาดูว่าจะเจออะไรบ้าง และจากนั้นระบบนิเวศในมหาสมุทรก็จะปรับตัว–ด้วยกลไกชาญฉลาดที่จะกล่าวถึงต่อไป
การเล่น Captains of the Gulf ไม่ยาก แต่การตัดสินใจว่าจะเลือกทำอะไร และทำอะไรก่อน-หลัง เป็นเรื่องยากตั้งแต่เปิดเกม ยกตัวอย่างเช่น การใช้ไพ่ ไพ่ในเกมนี้แต่ละใบใช้ได้หลายแบบ จะใช้เป็น ‘ใบอนุญาต’ จับสัตว์น้ำชนิดใดชนิดหนึ่ง (ถ้าไม่มีก็จับไม่ได้) ก็ได้ ถ้าเลือกทางนั้นก็เสียบไพ่ไว้ด้านบนของกระดานผู้เล่น หรือจะเลือกอัพเกรดลูกเรือ (เสียบทางซ้าย) หรืออัพเกรดตัวเรือ (เสียบทางขวา) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ นอกจากนั้น เวลาจะจับสัตว์น้ำเรายังต้องทิ้งไพ่ที่มีรูปสัตว์น้ำชนิดนั้นๆ จากมือลงมาด้วย ไม่ใช่ว่ามีใบอนุญาตแล้วจะจับได้เลย
เราสามารถคำนวณ ‘รายได้’ ล่วงหน้าจากการดูราคารับซื้อที่ท่าต่างๆ แต่สิ่งที่ท้าทายกว่านั้นคือการวางแผน ยกตัวอย่างเช่น เราไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมันที่ต้องใช้ในการเดินเรือ แต่การเดินเรือในทะเลทุกช่องต้องใช้น้ำมัน และต้องเผื่อน้ำมันสำหรับขากลับเข้าฝั่งด้วย คู่แข่งของเราอาจโฉบมาจับหอยนางรมไปต่อหน้าต่อตาระหว่างที่เราลอยลำในทะเล นอกจากนี้การอัพเกรดเรือและลูกเรือเพื่อเพิ่มทั้งผลิตภาพและประสิทธิภาพ หรือแม้แต่เพิ่มความสามารถบางอย่างก็สำคัญไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราสร้างห้องครัวในเรือ เราจะสามารถปรุงสัตว์น้ำเป็นอาหารสุก ทำให้ขายได้เงินมากขึ้น หรือถ้าเราไม่ลงทุนซื้อตู้เย็นติดเรือเพิ่ม เราก็จะเก็บสัตว์น้ำได้เพียง 2 ลังเท่านั้น ถ้าจะจับปูจากจุดที่มีปู 3 ลัง อย่างมากก็จับได้ 2 ลังเพราะมีตู้เย็นไม่พอ ต้องถ่อเข้าฝั่งไปขายก่อนแล้วกลับมาใหม่ ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้นคนอื่นอาจคว้าไปแล้ว เป็นต้น
กลไก ‘โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ’ ในเกมนี้ทำงานอย่างเรียบง่ายแต่สมจริง และกระตุกให้เราคิดถึง ‘อนาคต’ ได้อย่างแจ่มชัดกว่าธุรกิจในโลกจริง กลไกนี้ทำงานตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ทุกครั้งที่เราจับสัตว์น้ำ เราต้องวางโทเคนเครื่องหมาย ‘ลบ’ ในจุดที่เราจับสัตว์น้ำ ตามจำนวนที่เราจับ เช่น ถ้าจับกุ้ง 2 ลัง ก็ต้องวางโทเคน ‘ลบ’ 2 อัน เป็นต้น
- ตอนจบตา เราจะต้องทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
- หาว่าในทะเลมีจุดไหนบ้างที่มีโทเคน ‘บวก’ โดยไม่มี โทเคน ‘ลบ’ อยู่เลย ในจุดเหล่านี้จะเกิดประชากรสัตว์น้ำใหม่ (สะท้อนว่าระบบนิเวศฟื้นฟูตัวเอง) แต่ละจุดให้ใช้วิธีสุ่มไพ่จำนวนประชากร (2-4) และสุ่มทิศของการเกิด เช่น อาจมีหอยนางรมเกิด 3 ลัง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจุดเดิม จากนั้นดึงโทเคน ‘บวก’ อันนั้นคืนกองกลาง ก่อนไปจุดต่อไป
- หลังจากที่สัตว์น้ำเกิดใหม่ทั้งอ่าวแล้ว (ไม่มีโทเคน ‘บวก’ เหลือ) ให้หาว่าจุดไหนบ้างที่มีโทเคน ‘ลบ’ เพียง 1 อัน ให้พลิกโทเคน ‘ลบ’ เหล่านั้นกลับข้างเป็น ‘บวก’ (แปลว่าจะมีสัตว์น้ำเกิดใกล้กับจุดเหล่านั้นในช่วงจบตาหน้า ตราบใดที่ไม่มีโทเคน ‘ลบ’ มาเติมระหว่างตา)
- สุดท้าย ดึงโทเคน ‘ลบ’ ออก 1 อัน จากทุกจุดที่มีโทเคนมากกว่า 1 อัน (นับทั้งโทเคน ‘บวก’ และ ‘ลบ’) (สะท้อนว่าทะเลค่อยๆ ฟื้นตัว)
กลไกข้างต้นทำให้เรามองออกตลอดเวลาว่า สภาพแวดล้อมในทะเลเป็นอย่างไร เราจะถูกผู้เล่นคนอื่นเขม่นทันทีที่ไปจับสัตว์น้ำในจุดที่มีโทเคน ‘บวก’ อยู่แล้ว เพราะนั่นหมายความว่าจับแล้วจะต้องวางโทเคน ‘ลบ’ เท่ากับว่าทรัพยากรในทะเลร่อยหรอลงไปอีก จบตานี้แทนที่จะได้เพิ่มประชากรสัตว์น้ำ จะต้องดึงโทเคน ‘ลบ’ อันนั้นออกไปก่อน แล้วรอลุ้นว่าจะได้เพิ่มประชากรในตาถัดไปอีก
กลไกที่เรียบง่ายชุดนี้ทำให้เรามองเห็นอย่างชัดเจนว่า ถ้าผู้เล่นทุกคนกระเหี้ยนกระหือรือเห็นแก่ตัวชนิดสายตาสั้น คือไม่แยแสต่อสถานการณ์ทรัพยากร เดินหน้าจับสัตว์น้ำจนหมดทะเลอย่างรวดเร็ว (วางโทเคน ‘ลบ’ หลายอันทุกจุด) โดยไม่เหลือสัตว์น้ำให้ฟื้นฟูตัวเองเลย ก็เป็นไปได้ที่ตาต่อไปเราจะ ‘แห้ว’ ไม่มีสัตว์น้ำให้จับกันทั้งโต๊ะ
Captains of the Gulf จึงบังคับเรากลายๆ ให้ชาวประมงหาทางร่วมมือกันเป็นนัยๆ (“ฉันจะจับตรงนี้นะ แกไปจับตรงโน้น เหลือสัตว์น้ำวัยอ่อนให้โตด้วย!”) หรืออย่างน้อยก็ทำการประมงอย่างยั้งคิด ไม่มักง่ายสายตาสั้น อย่างน้อยก็ก่อนจะถึงตาสุดท้าย–ตาที่อาจไม่มีใครสนใจแล้วว่าทะเลจะเป็นอย่างไร เพราะจบตานี้ต้องนับคะแนนแล้ว สถานการณ์ของทะเลไม่นับเป็นคะแนน!
น่าเสียดายที่ทรัพยากรส่วนรวมในโลกจริงมักไม่เผยให้เราเห็นข้อมูลปริมาณและแนวโน้มความร่อยหรออย่างชัดเจนเท่ากับในเกมนี้ และผู้เล่นในโลกจริงก็มีมากมายหลายหลากกว่าในเกมมาก อย่างไรก็ดี Captains of the Gulf ก็เป็นเกมเศรษฐศาสตร์ชั้นเยี่ยมที่ไม่เพียงสื่อสารความสำคัญของการวางแผนธุรกิจ การลงทุนเพิ่มผลิตภาพ และ ‘จังหวะ’ ที่เหมาะสมในการทำสิ่งเหล่านี้ (เกมนี้ให้เรา ‘กู้เงิน’ ได้ด้วยถ้าต้องการ) ทว่ากฎกติกาเกี่ยวกับทรัพยากรส่วนร่วมที่สามารถสื่อสาร ‘โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ’ ได้อย่างทรงพลัง ก็ช่วยกระตุกเราเป็นอย่างดีให้เห็นคุณค่าของการร่วมมือกัน ไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม และการมองการณ์ไกลไปถึงอนาคตของธรรมชาติ
ซึ่งก็หมายถึงอนาคตของลูกหลานเราเองด้วย