Think Now, Pay Later
ดาบสองคมของ BNPL ธุรกิจที่กำลังคืบคลานเข้ามาในไทยมากขึ้น
เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงให้หลายอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป–หนึ่งในวงการที่เห็นได้อย่างเด่นชัดนั่นคือ ‘การเงิน’ กับการมาของสิ่งที่เรียกว่า financial technology หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า FinTech
FinTech ได้เข้ามาสร้างแรงสั่นสะเทือนให้ธนาคารต้องปรับตัวกันยกใหญ่ นอกจากคริปโตเคอร์เรนซีที่แทบจะไม่ต้องอธิบายแล้วว่ามันคืออะไร อีกหนึ่งเทรนด์ในโลกการเงินยุคใหม่ที่น่าสนใจและกำลังคืบคลานเข้ามาในไทยเรื่อยๆ คือสิ่งที่เรียกว่า ‘BNPL’
ยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวคือเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเพื่อนของเรากำลังช้อปปิ้งอยู่ในร้านเครื่องสำอางมัลติแบรนด์ระดับพรีเมียมแห่งหนึ่ง พนักงานในร้านก็เดินเข้ามาพูดคุยต้อนรับ เป็นการพูดคุยที่ไม่ได้พูดถึงเครื่องสำอางคอลเลกชั่นใหม่หรือสีลิปสติกที่เข้ากับใบหน้า แต่เข้ามาแนะนำให้สมัครและชำระค่าสินค้าที่หน้าเคาน์เตอร์ผ่าน QR Code บน ‘Atome’ แอพฯ สีเหลืองจากประเทศสิงคโปร์ เพื่อที่จะได้รับโปรโมชั่น โค้ดส่วนลด และการผ่อนชำระรายเดือนแบบไร้ดอกเบี้ย
โดย Atome เป็นหนึ่งในแอพฯ ที่ให้บริการแบบ BNPL ที่ย่อมาจากคำว่า Buy Now, Pay Later แปลตรงตัวก็คือ ‘ซื้อก่อนแล้วค่อยจ่ายทีหลัง’ บางเจ้าก็ให้ผ่อนฟรี บางเจ้าก็คิดดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละราย
นอกจาก Atome แล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็ยังมีแอพฯ จากสิงคโปร์อีกรายที่ใช้ชื่อว่า ‘Pace’ มาบุกตลาดในไทยด้วยเช่นกัน โมเดลของ Pace นั้นแทบไม่ต่างจาก Atome คือเน้นผ่อนสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ซึ่งแบรนด์ที่มีอยู่ในระบบของ Pace ก็ล้วนแต่เป็นที่รู้จักไม่ว่าจะเป็น Victoria’s Secret, Nike หรือ Bath & Body Works
ส่วน Atome เองด้วยความที่ทำตลาดในไทยมาก่อนหน้า จึงมีแบรนด์ดังอยู่ในระบบมากกว่า ทั้ง Greyhound, Vickteerut, Charles & Keith, Freitag หรือแม้แต่แพลตฟอร์มจองที่พักอย่าง agoda ก็มีใน Atome ด้วยเช่นกัน
หรือที่เราคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดีอย่าง Shopee ก็หันมาเล่นในเกม BNPL นี้ ผ่านฟีเจอร์ที่เรียกว่า SPay ที่จะอนุมัติสินเชื่อในเวลาอันสั้นเพื่อให้ลูกค้าได้นำเงินสินเชื่อนั้นมาช้อปปิ้งบน Shopee ต่อได้ ส่วน Grab เองแม้จะยังจำกัดบริการให้แค่คนขับในระบบเท่านั้นที่จะสามารถเลือกซื้อสินค้าแล้วค่อยมาจ่ายเงินทีหลังได้ แต่ก็นับว่า Grab ได้ก้าวขาเข้ามาสู่ BNPL แล้วเช่นกัน
ทั้งผู้เล่นรายใหญ่และผู้เล่นหน้าใหม่กำลังเล่นในเกมเดียวกันแบบนี้ นับเป็นสัญญาณที่น่าจับตามองไม่น้อยว่า BNPL จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงของวงการเงินในบ้านเราได้มากน้อยเพียงใด
เพราะความน่าสนใจของ BNPL ไม่ได้มีแค่เวทมนตร์การตลาดที่ดึงดูดใจเหล่านักช้อปได้ของไปใช้ก่อนแล้วค่อยเอาเงินมาจ่ายเงินทีหลัง แต่ยังรวมไปถึงการเข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่กว้างมากในไทย
ถามว่ากว้างขนาดไหนนะหรือ?
คนไทยมีประชากรราว 70 ล้านคน แต่มีจำนวนบัตรเครดิตในระบบอยู่ประมาณ 25 ล้านใบ ซึ่งอย่าลืมว่าแต่ละคนก็ไม่ได้ถือบัตรเครดิตเพียงแค่ใบเดียว นั่นหมายความว่ายังมีคนอีกจำนวนหลายสิบล้านที่ไม่มี ทีนี้ก็ลองคิดดูสิว่ามันเป็นโอกาสของธุรกิจ BNPL มากเพียงใดกับการ ‘เข้าไปถึง’ คนที่ ‘เข้าไม่ถึง’ นี้
จะว่าไปแล้วการซื้อก่อนแล้วจ่ายทีหลังนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะในศตวรรษที่ 19 นั้นก็มีการจ่ายเงินที่ให้ผ่อนแบบทั้งรายสัปดาห์และรายเดือนแล้ว ตัวอย่างก็เช่นจักรเย็บผ้ายี่ห้อ Singer กับกลยุทธ์การขายที่เรียกว่า “dollar down, dollar a week.” แม้จักรของซิงเกอร์จะไม่ใช่ของที่ดีที่สุดหรือถูกที่สุดในเวลานั้น แต่ก็ขายดิบขายดีเพราะสามารถจูงใจผู้คนให้มาซื้อได้ด้วยการผ่อน
ขยายภาพของผลลัพธ์การจูงใจให้คนซื้อด้วยการผ่อนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็คงต้องขอยกบางช่วงบางตอนของ Money, Explained : Credit Cards สารคดีที่สร้างสรรค์โดย Vox มาขยายความให้ฟัง ตัวสารคดีได้พูดถึงงานวิจัยที่ว่าด้วยเรื่องของ ‘ความเจ็บปวดเวลาจ่าย’ ได้อย่างน่าสนใจ ว่าการจ่ายเงินในรูปแบบต่างๆ นั้นมีความเจ็บปวดทางจิตวิทยาไม่เท่ากัน และมีการศึกษาหนึ่งที่พบว่าสมองส่วนที่เกี่ยวกันกับความเจ็บปวดและความกลัว มีแนวโน้มจะทำงานเวลาเห็นคนจ่ายด้วยเงินสด มากกว่าเวลาเห็นคนจ่ายด้วยบัตรเครดิต
เมื่อตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ก็ย่อมทำให้ร้านค้าขายของได้ดีขึ้นตามไปด้วย และผลตอบแทนจากความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อนั้นก็จะกลับมาในรูปแบบของค่าธรรมเนียมบัตรรายปี แต่นั่นก็เป็นผลตอบแทนที่ไม่มากเท่าเมื่อเทียบค่าจ่ายเงินไม่ตรงเวลาของคนรูดบัตรที่เรียกว่าดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากร้านค้า จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมร้านค้าเล็กๆ มักจะขอบวกเพิ่ม 3 เปอร์เซ็นต์จากยอดบิล นั่นก็เพื่อให้สามารถหักลบกลบกับจำนวนที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทบัตรเครดิตได้
ด้วยรูปแบบธุรกิจที่คล้ายกันแต่ทำให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายกว่า รวดเร็วกว่า แถมไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมบัตรรายปี จึงไม่แปลกที่หลายคนจะคิดว่า BNPL นั้นจะเข้ามาดิสรัปต์บัตรเครดิต เพราะอย่างที่เล่าไปตอนต้นว่าคนไม่มีบัตรเครดิตนั้นมีมากกว่าคนมีบัตรเครดิตเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองกันต่อไปในอนาคตว่า BNPL จะเข้ามาทำให้โลกการเงินแบบเดิมสั่นสะเทือนหรือเปลี่ยนไปในทิศทางใด
ทั้งนี้ยังมีการคาดการณ์กันอีกว่าภายในปี 2025 หรืออีกแค่ 3 ปีข้างหน้าการทำธุรกรรมผ่าน BNPL จะมีมูลค่าสูงถึง 680 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็ต้องมาดูกันต่อไปว่าการเติบโตของ BNPL จะทำให้ 3 ตัวอักษรหลังอย่าง N P และ L ที่ย่อมาจากคำว่า non-performing loan หรือหนี้เสีย–การที่คนเป็นหนี้ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของ BNPL ด้วยหรือไม่
และสำหรับในมุมผู้บริโภค ในวันที่การ ‘ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง’ เริ่มกลายเป็นเทรนด์สำคัญในวงการการเงินที่เขยิบเข้ามาใกล้ตัวผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ
การ ‘คิดก่อนจ่ายทีหลัง’ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
Reference
- cnbc.com/2021/08/10/buy-now-pay-later-instalment-plans-may-cause-consumer-credit-card-debt-to-rise
- forbes.com/sites/robertfarrington/2021/08/17/the-dangerous-rise-of-buy-now-pay-later
- abc.net.au/news/2021-12-06/debt-christmas-buy-now-pay-later-afterpay-zip
- library.hbs.edu/hc/credit/credit4b.html
- washingtonpost.com/business/how-old-style-buy-now-pay-later-became-trendy-bnpl-quicktake/2021/11/30/089feec0-51ff-11ec-83d2-d9dab0e23b7e_story
- cnbc.com/2021/09/21/how-buy-now-pay-later-became-a-100-billion-industry