BE@R in mind

ชีวิตของ ทัตสึฮิโกะ อาคาชิ ผู้หลงใหลในของเล่นสู่ผู้ก่อตั้ง MEDICOM TOY และ BE@RBRICK

ในวันนี้ อาร์ตทอย (art toy) มีสถานะเป็น สินทรัพย์ประเภทศิลปะแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย หลังตลอดหลายปีที่ผ่านมา มักมีกระแส ‘ของเล่นฟีเวอร์’ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เฟอร์บี้ (Furby), ครายเบบี้ (Crybaby), ลาบูบู้ (Labubu) ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน

แต่หากจะย้อนไปถึงอาร์ตทอยรุ่นแรกๆ ที่ได้รับความนิยมและผันเปลี่ยนเป็นของเล่นเชิงธุรกิจระดับโลกเช่นนี้ คงต้องพูดถึง BE@RBRICK ฟิกเกอร์หมีหลากลวดลายของทัตสึฮิโกะ อาคาชิ (Tatsuhiko Akashi) ประธานจาก MEDICOM TOY 

น่าสนใจไม่น้อย จากตุ๊กตาโมเดลไร้ลวดลาย เหตุใดจึงถูกแต่งแต้มด้วยศิลปะและเรื่องราว จนวันนี้ในบางคอลเลกชั่นมีมูลค่าหลายล้านบาท 

“ในความเป็นจริง ทุกอย่างมันเริ่มจากความหลงใหลอันสุดแสนธรรมดาอย่าง การชอบเล่นของเล่นของตัวเองก่อนเลยครับ จากนั้นจึงพัฒนาไปสู่เรื่องธุรกิจ” อาคาชิย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่แท้จริง ในวันที่เดินทางมาเปิดตัวนิทรรศการ ‘AKASHIC RECORDS in Bangkok’ แล้วเราได้พบกัน

แม้อาคาชิจะเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ BE@RBRICK ว่าทุกอย่างเกิดจากความหลงใหลในการทำตุ๊กตาที่เรียบง่าย ขยับข้อต่อได้เพียง 9 ส่วนซึ่งหากพิจารณาคุณลักษณะเพียงเท่านี้ ก็แทบมองไม่เห็นภาพเลยว่า โมเดลดังกล่าวจะได้รับความนิยม และทำเงินได้ยังไง ในโลกที่ของเล่นและตุ๊กตามีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด 

ทว่าอาคาชิมีแผนการที่ชาญฉลาด ด้วยการชักชวนศิลปิน แบรนด์สินค้า ที่บางเจ้าอาจดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งด้วยซ้ำ มาร่วมสร้างผลงานกับ BE@RBRICK ด้วยการแต่งแต้มลวดลายเข้าไป จนทำให้ตุ๊กตาหมีที่เคยจัดอยู่ในหมวดของเล่นที่ผลิตจากโรงงาน กลายเป็นผลงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนผู้คนต่างให้ความสนใจและซื้อสะสมเก็บไว้เป็นจำนวนมาก 

“ในตอนนั้นผมมีไอเดียทางธุรกิจอย่างหนึ่งนะ ว่าจะไม่จะพึ่งพาการตลาดแบบเดิมๆ ผมเลยใช้วิธีชวนคนที่ผมรู้สึกเคารพและอยากทำงานด้วยในวงการศิลปะมาร่วมออกแบบ BE@RBRICK

“ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทของผมเลยไม่ได้คาดหวังเรื่องผลกำไรเท่าที่ควร แต่กลับเป็นเรื่องการสร้างอะไรบางอย่าง หรือได้ทำอะไรที่มันตอบสนองความต้องการด้านศิลปะของตัวผม ดังนั้นตั้งแต่ศิลปินคนแรกจนถึงคนปัจจุบัน ไม่มีชิ้นไหนดีไปกว่ากัน ทั้งหมดยอดเยี่ยมและสำคัญสำหรับตัวผมมากที่สุดในแต่ละช่วงเวลาของมัน” อาคาชิพูดถึงความเชื่อส่วนตัวอันเป็นแรงผลักดันให้ BE@RBRICK มีความพิเศษไม่เหมือนใคร

และตอนนั้นเองที่ BE@RBRICK ได้เชื่อมศิลปะบนโลกทั้งใบ มาอยู่บนตัวของตุ๊กตาหมีได้สำเร็จ 

สิ่งที่น่าสนใจคือจุดเริ่มต้นของแนวคิดและไอเดียเช่นนี้คืออะไร แล้วเหตุใดปัจจุบัน  BE@RBRICK ยังมีมูลค่าทั้งในเชิงศิลปะและการซื้อ-ขายเก็บสะสมอยู่

หากจะพูดถึงจุดเริ่มต้นคงต้องย้อนกลับไปในปี 1996 ช่วงเวลานั้น ทัตสึฮิโกะ อาคาชิ (Tatsuhiko Akashi) ยังเป็นพนักงานบริษัททั่วไป ผู้ใช้ชีวิตมนุษย์เงินเดือนเป็นกิจวัตร วันหนึ่งขณะเขาเดินเล่นในย่านชิบูย่า และได้เข้าไปดูสินค้าใน ZAAP ร้านขายของเล่นสัญชาติอเมริกันโดยบังเอิญ

ในวันนั้นอาคาชิได้ตัดสินใจซื้อโมเดลของคนเหล็กจากหนังเรื่อง Terminator และ Batman ซูเปอร์ฮีโร่จากค่าย DC Comics ติดมือกลับบ้านมา แม้ว่าราคาของเล่นทั้งสองชิ้นนั้นจะมีมูลค่าเท่ากับเงินเก็บทั้งหมดที่มีอยู่ของเขาก็ตาม

“เดิมทีผมทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และมีรายได้ที่ดีพอควรเลยนะ แต่ก็แลกมากับเวลาว่างที่ไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งผมก็ไม่ได้มองเป็นปัญหาอะไร ยังคงอยากทำงานแบบนี้ไปตลอด จนวันหนึ่งที่ได้ไปเดินเล่นย่านชิบูย่า และไปเห็นร้านขายของเล่นเข้า ตอนนั้นเองที่ผมเริ่มคิดกับตัวเองว่า

“จะเป็นยังไงนะถ้าได้มาทำงานกับของเล่นซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองรักมาตลอด มันคงต้องสนุกแน่ๆ เลย วันนั้นผมมีความคิดแบบนี้เข้ามาในหัว”

ว่าแต่อะไรคือเบื้องหลังการตัดสินใจทุ่มหมดหน้าตักเช่นนี้ 

นอกจากเหตุผลข้างต้น อาคาชิได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า การได้เห็นโมเดลทั้งสอง ทำให้เขาตระหนักถึงตัวตนว่าผูกพันกับของเล่นมากเพียงใด โดยเขาได้เคยกล่าวบางประโยคที่สะท้อนถึงความหลงใหลที่มีต่อสิ่งสิ่งนี้

“ชีวิตที่ไร้ซึ่งของเล่นนั้นมันไม่ใช่ชีวิตเลยแม้แต่นิดเดียว”

เรื่องราวทั้งหมดนำพาไปสู่การที่อาคาชิตัดสินใจเปิดบริษัทจำหน่ายของเล่น ภายใต้ชื่อ MEDICOM TOY เขาได้เปลี่ยนพื้นที่บริเวณ 6 ตารางเมตร เป็นร้านจำหน่ายตุ๊กตาประเภท Kubrick โมเดลตุ๊กตาที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผู้กำกับชื่อดังอย่างสแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) โดยคำว่า Ku ยังออกเสียงคล้ายกับตัวเลข 9 ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งอ้างอิงถึงการที่โมเดลตุ๊กตาสามารถขยับข้อต่อได้ถึง 9 ส่วน

 ในตอนนั้นกิจการของ MEDICOM TOY ในการจำหน่ายตุ๊กตา Kubrick ก็ดำเนินไปได้ด้วยดี จนกระทั่งช่วงเวลาที่ภาพยนตร์เรื่อง Planet of the Apes ของผู้กำกับทิม เบอร์ตัน (Tim Burton) เตรียมเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ช่วงปี 2001 ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ ต้องการให้ MEDICOM TOY ผลิตของที่ระลึกสำหรับผู้ซื้อตั๋วภาพยนตร์ล่วงหน้า ซึ่งมีปริมาณออร์เดอร์จำนวนมาก ชนิดที่ล้นกำลังการผลิตของบริษัทในตอนนั้น อาคาชิจึงตัดสินใจเปลี่ยนรูปส่งของตุ๊กตา Kubrick ให้กลายเป็นตุ๊กตาหน้าตาเหมือนหมี ไม่มีลวดลายและสีสันฉูดฉาดแต่อย่างใด เพื่อความสะดวกในการผลิตสินค้า ซึ่งตัวเขาระบุว่า ได้รับอิทธิพลจากกระแสของตุ๊กตา Teddy Bear ในเวลานั้น และเปลี่ยนชื่อเป็น BE@RBRICK เพื่อให้สอดคล้องกับรูปร่างของโมเดลตุ๊กตามากยิ่งขึ้น

“จะบอกว่าผมชอบตุ๊กตาหมีขนาดนั้นไหม ก็ไม่ใช่นะ แต่ผมเห็นรูปทรงประเภทตุ๊กตาหมีมาแทบทั้งชีวิตแล้ว ซึ่งพอได้มาทำงานตรงนี้ ได้มาศึกษาก็เลยได้รู้ว่ามันมีมายาวนานเป็น 100 ปี ดังนั้นในวันที่ต้องตัดสินใจสร้างแพตเทิร์นของตุ๊กตาให้มันง่ายต่อการผลิตในปริมาณที่มาก ผมเลยตัดสินใจใช้รูปทรงหมี เพื่อที่จะสืบทอด ความเป็นของเล่นหมีต่อไป”

ปรากฏว่าของที่ระลึกดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก ตั๋วหนังที่จำหน่ายล่วงหน้าของเรื่อง Planet of the Apes ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทำให้ชื่อของ Kubrick เป็นที่พูดถึงในแวดวงโมเดลตุ๊กตาญี่ปุ่น ต่อยอดไปสู่การได้ร่วมงานอื่นๆ ตามมา ในงาน World Character Convention และศิลปินและแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น KAWS, Nike, Chanel, Bape ในเวลาต่อมา

คำถามคือ อะไรที่ทำให้ BE@RBRICK เป็นที่นิยมขึ้นมา และเหตุใดศิลปินหรือแบรนด์ต่างๆ ให้ความสนใจร่วมงานกับโมเดลตุ๊กตาหมีตัวนี้ เรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน 

หนึ่ง–ความเรียบง่ายที่เปิดรับทุกโอกาส

หากพูดถึง BE@RBRICK เอง ในความเป็นจริงแล้ว มันคือตุ๊กตาหมีพลาสติกสีธรรมดาเพียงเท่านั้น ทว่าความเรียบง่ายตรงนี้เองก็ถือเป็นโอกาสอันดีในการเชิญชวนศิลปินและแบรนด์ต่างๆ มาถ่ายทอดศิลปะเพื่อสะท้อนตัวตน 

จึงทำให้วันนี้ BE@RBRICK มีสถานะเหมือนผ้าใบผืนหนึ่ง มีผู้คนมากหน้าหลายตาเข้ามาออกแบบ ดีไซน์ และสร้างสรรค์ตุ๊กตาหมีในแบบเฉพาะของตนเองตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

สอง–จำนวนที่จำกัด เพื่อเพิ่มมูลค่าการถือครองให้กับผู้ซื้อ

ปัจจุบัน BE@RBRICK มีการผลิตในจำนวนจำกัดแบบลิมิเต็ดเอดิชั่น ซึ่งเมื่อจำหน่ายหมดในแต่ละซีรีส์แล้วจะไม่มีการผลิตเพิ่มอีก อีกทั้งในบางซีรีส์มีวางจำหน่ายแค่บางประเทศหรือเป็นการจำหน่ายแบบพรีออร์เดอร์ในเวลาที่จำกัดเท่านั้น

จึงทำให้เหล่าคนที่ชื่นชอบ BE@RBRICK หรือนักสะสมผลงานศิลปะต่างมีความต้องการที่จะได้ครอบครองตุ๊กตาหมีอันจำกัดเช่นนี้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังส่งผลให้มูลค่าของตุ๊กตาพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัวในบางคอลเลกชั่น

สาม–ความลิมิเต็ด ที่ทำให้รู้สึกว่าตุ๊กตาหนึ่งชิ้นช่างสำคัญเหลือเกิน

นอกจากจำนวนที่จำกัดแล้ว BE@RBRICK ยังมีลูกเล่นทางการตลาดเพิ่มเติมอย่างการผลิตกล่องแบบสุ่ม (blind box)  ที่ผู้ซื้อจะไม่รู้ว่าตุ๊กตาที่อยู่ข้างในเป็นสีอะไรและมีลวดลายแบบไหน รวมไปถึงตุ๊กตาประเภท Secret Types ซึ่งเป็นลายที่จะมีแค่ 0.52% จากจำนวนที่ผลิตทั้งหมดในแต่ละคอลเลกชั่น ซึ่งวิธีแบบนี้ก็ถือเป็นการชักชวนนักสะสมให้มาซื้อตุ๊กตา BE@RBRICK ได้มากยิ่งขึ้น 

โดยในปัจจุบันตุ๊กตา BE@RBRICK จะวางแผนออกคอลเลกชั่นใหม่เพียงแค่ 2 ครั้งต่อปี โดยจะแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบในซีรีส์นั้นๆ คือ

1. Basic ตุ๊กตาหมีจำนวน 9 ตัว ไม่มีลวดลายใดๆ แต่จะมีการปั๊มตัวอักษร B / E / @ / R / B / R / I / C / K ในตุ๊กตาแต่ละตัว 

2. Standard ตุ๊กตาที่จะมีธีมในแต่ละคอลเลกชั่น ยกตัวอย่างเช่นรูปแบบ jellybean ที่โปร่ง มีสีสดใส สามารถมองทะลุได้, Flag ที่มีลวดลายเป็นธงชาติประเทศต่างๆ เป็นต้น

3. Artists ตุ๊กตาที่ BE@RBRICK เชิญเหล่าศิลปินหรือแบรนด์สินค้ามาร่วมงาน เช่น Kaws, Stüssy หรือ  COMME des GARÇONS เป็นต้น

4. Secrets ตุ๊กตา BE@RBRICK ที่ไม่มีการเปิดเผยรูปร่างก่อน ซึ่งได้รับความนิยมจากเหล่านักสะสม

นอกจากนี้ BE@RBRICK ยังถูกผลิตออกมาหลายขนาด ตั้งแต่ 50% ที่มีขนาดเท่าพวงกุญแจ  ไปจนถึง 1,000% ที่สูงถึง 70 เซนติเมตร ซึ่งใช้สำหรับเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านได้

ขนาดที่หลากหลาย พื้นผิวที่เป็นเหมือนผ้าใบของงานศิลปะ และจำนวนที่จำกัดเหมาะสำหรับการสะสม เหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้  BE@RBRICK ได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังทำให้ราคาของตุ๊กตารูปร่างหมีเช่นนี้มีราคาที่พุ่งกระโดดในหลากหลายคอลเลกชั่น 

ยกตัวอย่าง ในคอลเลกชั่น Bearbrick x Yue Minjun (Qiu Tu) ที่ได้รับการออกแบบลวดลายโดย เยี่ยหมิ่นจวิน (Yue Minjun) ศิลปินชาวจีนสไตล์ป๊อปอาร์ตและเซอร์เรียลริสม์ ซึ่งเปิดตัวในปี 2008 แต่ในปัจจุบันโมเดลที่มีสัดส่วน 1,000% ของคอลเลกชั่นดังกล่าวกลับมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 7 ล้านบาท  หรือในคอลเลกชั่นที่ร่วมงานกับศิลปินชื่อดังอย่าง KAWS เอง ก็มีราคาขายส่วนใหญ่สูงกว่าราคาเดิมเฉลี่ย 7-1,800%

แต่ถึงแม้มูลค่าของ BE@RBRICK จะพุ่งสูงขึ้นจนหลายคนมองว่าเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่น่าลงทุน แต่สำหรับอาคาชิเองเขาไม่เคยมองเรื่องตัวเลขหรือผลกำไร เป็นเป้าหมายหลักของการผลิตตุ๊กตาแต่ละชิ้นเลยแม้แต่น้อย

“ถ้าคุณไม่ตั้งความหวังไว้ที่เรื่องตัวเลขกำไรหรือยอดทางการตลาด ความหวังก็จะไม่ทำให้คุณรู้สึกแย่ ผมยึดถือเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญในการทำงานนะ” อาคาชิเล่า “สำหรับผมแล้วมองว่าการทำงานหนึ่งชิ้นมันจะต้องตอบโจทย์กับตัวเองและศิลปินที่ร่วมงานกัน ว่าสุดท้ายแล้ว BE@RBRICK ที่ออกมามันเป็นไปตามไอเดีย ความต้องการที่เคยคุยไว้ได้หรือไม่ ถ้ามันทำได้ งานชิ้นนั้นก็สำเร็จแล้วสำหรับผม”

นอกจากนี้ อาคาชิ และ MEDICOM TOY เอง ยังมีแผนการตลาดที่ทำมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ด้วยการเดินสายโปรโมตรอบโลก เพื่อจัดแสดง BE@RBRICK  ที่ได้รับการคัดเลือกมาแล้วว่าเป็นคอลเลกชั่นที่หายาก ลิมิเต็ด และมีมูลค่าทางการตลาด อีกทั้งยังได้จัดแสดงเป็นงานในแกลเลอรีแสดงนิทรรศการเป็นครั้งคราว เพื่อถ่ายทอดมุมมองเชิงศิลปะที่อยู่เบื้องหลังตุ๊กตาหมี และเปิดโอกาสให้นักสะสมได้ซื้อตุ๊กตาคอลเลกชั่นที่หายากอีกด้วย

ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่อาคาชิได้นำ BE@RBRICK คอลเลกชั่นต่างๆ มาจัดแสดงให้แฟนคลับชาวไทยได้รับชม โดยล่าสุด MEDICOM TOY ก็เพิ่งจับมือร่วมกับคิง เพาเวอร์ มหานคร นิทรรศการ ‘AKASHIC RECORDS in Bangkok’  เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา

ภายในงานวันนั้น ทัตสึฮิโกะ อาคาชิ ได้คัดเลือกตุ๊กตามาจัดแสดงภายใต้คอนเซปต์ ‘การสำรวจทางศิลปะ ที่ครอบคลุมทั้งในแง่โลกวิทยา ฟิสิกส์ และแนวคิดเจตนาวิญญาณ’ โดยมีไฮต์ไลต์สำคัญคือการจัดแสดงคอลเลกชั่น BE@RBRICK ที่ออกแบบโดยศิลปินประเทศไทย ได้แก่ ‘BE@RBRICK เบญจรงค์’ และ ‘BE@RMUG แก้วมัคเบญจรงค์’ ผลงานของ ปิ่นสุวรรณ เวนเจอร์ กรุ๊ป ที่นำลวดลายของเบญจรงค์ อันบ่งบอกถึงความเป็นไทยในช่วงศตวรรษที่ 18 มาสร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่บนตัว BE@RBRICK อีกทั้งยังมีแก้ว BE@RMUG ที่มีลวดลายเบญจรงค์ให้เลือกถึง 7 สีด้วยกัน

ส่วนอีกชิ้นคือ BE@RBRICK King Power Mahanakhon ผลงานจากความร่วมมือของ MEDICOM TOY และ คิง เพาเวอร์ มหานคร ในการสร้างสรรค์ผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากรูปทรงของตึกคิง เพาเวอร์ มหานคร จุดชมวิวที่สูงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะเป็น Pixel Skyscraper หรือตึกรูปทรงพิกเซล ตั้งสูงระฟ้าสะท้อนความสวยงามของวิวเมืองกรุงเทพฯ จนกลายมาเป็น ตุ๊กตาหมีสีน้ำเงิน ประดับประกายดาวสีเงิน โดยมีรูปตึกคิง เพาเวอร์ มหานคร ถูกวาดอยู่บนพื้นผิว BE@RBRICK เป็นลวดลายอยู่รอบลำตัว

ก่อนที่เราจะแยกย้าย อาคาชิเองได้เล่าถึงบทเรียนที่ได้รับมาตลอดในเส้นทางการทำธุรกิจกับสิ่งที่รักอย่างของเล่นและศิลปะ ว่าจะไม่เกิดขึ้นเลยหากเขาไม่เริ่มตัดสินใจและลงมือทำ

“ย้อนกลับไปก่อนหน้า แม้ผมจะรู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนชื่นชอบของเล่นมาตลอด แต่ผมก็ไม่เคยคิดตัดสินใจสักครั้งว่าจะผลิตตุ๊กตาเป็นของตัวเอง จนวันนั้นแหละ วันที่ผมไปเดินที่ชิบูย่า ผมเชื่อว่าวันนั้นถ้าผมไม่ตัดสินใจ ไม่เริ่มเรียนรู้ ไม่เริ่มลงมือทำ ในวันนี้ก็อาจไม่มี BE@RBRICK เกิดขึ้นมา และผมจะยังคงทำงานเป็นพนักงานบริษัทอยู่เช่นเดิม 

“ดังนั้นหากมีเป้าหมายและความฝันอะไร จงอย่าลืมตัดสินใจและเริ่มลงมือทำให้มันเป็นจริงขึ้นมา”

Writer

KFC ฟิลเตอร์สตอรี่ไอจี และ Tame Impala คือสิ่งที่ทำให้ทุกวันนี้อยากมีชีวิตอยู่

You Might Also Like